วันอังคาร, มิถุนายน 06, 2560

I Am Not Madame Bovary: เธอผิดหรือไม่ผิด


ระหว่างนั่งดู I Am Not Madame Bovary ไปได้เกือบสองชั่วโมง ผมได้แต่นึกตั้งคำถามกับตัวเองในใจว่า เหตุใดเราถึงไม่ค่อยรู้สึกสงสาร หรือเห็นอกเห็นใจตัวละครเอกอย่าง หลีสั่งเหลียน (ฟ่านปิงปิง) สักเท่าไหร่ แม้เธอจะต้องประสบกับสารพัดความเลวร้าย เฮงซวยของเหล่าผู้มีอำนาจในระบบราชการ ซึ่งสักแต่แก้ปัญหาแบบขอไปที หรือกระทั่งมองเห็นชาวบ้านที่ทุกข์ร้อน เดินทางมาร้องขอความเป็นธรรมถึงหน้าหน่วยงาน และกระโดดมาขวางรถประจำตำแหน่งเป็นเหมือนแมลงหวี่แมลงวันที่น่ารำคาญจนต้องหาทางกำจัดให้พ้นสายตาโดยเร็ว พวกเขาพยายามทำทุกทาง ยกเว้นถามไถ่ถึงปัญหาที่แท้จริง แล้วพยายามช่วยเหลือ หรือหาทางคลี่คลายปมขัดแย้ง หนึ่งในกลยุทธ์ที่พวกเขาใช้ คือ วางอำนาจบาตรใหญ่ ข่มขู่ให้ประชาชนตัวเล็กๆ หวาดกลัวด้วยการเชิญ ตัวการ ไปปรับทัศนคติในคุก (ฟังดูคุ้นๆ ไหม) แต่ไม่ว่าจะด้วยความแค้น หรือความหน้าด้านหน้าทนก็ตาม กลยุทธ์ดังกล่าวใช้ไม่ได้ผลกับหลีสั่งเหลียน ตรงกันข้าม มันกลายเป็นเหมือนการราดน้ำมันลงกองเพลิง จนสุดท้ายปัญหาเล็กๆ จากเรื่องไม่เป็นเรื่องในเมืองบ้านนอกกลับลุกลามบานปลายไปถึงคนใหญ่คนโตในพรรคคอมมิวนิสต์ และข้าราชการท้องถิ่นหลายคนก็ต้องกระเด็นออกจากตำแหน่ง

เหตุผลแรกที่แวบเข้ามาในหัวคงเพราะหนังจงใจจะเสียดสี เยาะหยันระบบการทำงานอันไร้ประสิทธิภาพของรัฐ รายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครจึงถูกละทิ้งไป ทำให้เธอขาดมิติพอจะให้คนดูสามารถจับต้อง หรือเชื่อมโยงได้ ที่สำคัญ สไตล์ภาพของหนัง ซึ่งตีกรอบให้ตัวละครอยู่ในเฟรมวงกลม (น่าจะเพื่อสร้างสร้างอารมณ์เหมือนภาพวาดโบราณของชาวจีน) ยิ่งทำให้คนดูรู้สึกห่างเหิน เข้าไม่ถึงตัวละครมากขึ้นไปอีก เพราะโดยธรรมชาติแล้วเวลาเห็นเฟรมวงกลมแบบนี้ปรากฏบนจอ เราก็มักจะนึกถึงช็อตแทนสายตาเวลาตัวละครใช้กล้องส่องทางไกล หรือกล้องจากเรือดำน้ำ ดังนั้นคนดูจึงได้อารมณ์ของผู้สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ ไปโดยปริยาย นอกจากนี้ หนังยังตอกย้ำการรักษาระยะห่างด้วยเสียงเล่าเรื่องของบุคคลที่สามในแบบของการเล่าถึงนิทาน หรือตำนานอีกด้วย

พร้อมกันนี้หนังลดทอนช็อตโคลสอัพ ซึ่งมักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับดึงอารมณ์ร่วมจากคนดู จนแทบจะเหลือศูนย์ จึงไม่แปลกถ้าคนดูจะไม่รู้สึก อินกับภารกิจ หรือความคับแค้นใจของหลีสั่งเหลียนมากเท่าที่ควร อันที่จริง การตัดสินใจดังกล่าวอาจถือได้ว่าสอดคล้องกับโทนอารมณ์โดยรวมของหนังซึ่งออกแนวเบาสมองมากกว่าจะจริงจัง แม้ว่าพล็อตที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดสุ่มเสี่ยงความเป็นเมโลดรามาอยู่บ้าง (สามีภรรยาวางแผนหย่าหลอกๆ เพื่อให้ได้ครอบครองห้องอพาร์ตเมนต์ในเมือง ซึ่งเป็นสิทธิสำหรับคนโสดเท่านั้น แล้วค่อยกลับมาแต่งงานกันใหม่ แต่สุดท้ายผู้ชายลงเอยด้วยการมีเมียใหม่ ส่งผลให้การหย่าหลอกๆ กลายเป็นจริงในที่สุด)

อีกหนึ่งเหตุผลที่มีส่วนไม่น้อยในการยับยั้งคนดูไม่ให้รู้สึกเข้าข้างหลีสั่งเหลียนอย่างหมดใจ คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าเธอเล่นไม่ซื่อด้วยการฉกฉวยโอกาสจากช่องโหว่ของระบบเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ใส่ตัว (อพาร์ตเมนต์ในเมือง) แต่สุดท้ายดันแค้นเคืองเมื่อพบว่าระบบไม่สามารถมอบความเป็นธรรมให้เธอได้ (โมฆะการหย่าปลอมๆ) จริงอยู่ อาจเป็นข้อจำกัดของระบบ (ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ หรือศาลก็ตาม) ในการเปิดโปงความจริงที่แท้ เพราะต่อให้นายทะเบียนอำเภอรู้ว่านี่เป็นการหย่าปลอมๆ เพื่อหวังฮุบห้องอพาร์ตเมนต์ เขาจะกล้ายอมรับต่อหน้าศาลหรือ การยอมรับย่อมหมายถึงเขาจะกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในทันที ถ้าพวกเธอโกหกฉัน ก็หมายความว่าพวกเธอโกหกรัฐบาลน่ะสิเขาเถียงหลีสั่งเหลียนในศาล มองเช่นนี้แล้ว ถือเป็นความผิดของผู้พิพากษาหรือที่ตัดสินไปตามหลักฐานรูปธรรม นั่นคือ ลายเซ็นบนใบหย่าเป็นลายเซ็นของหลีสั่งเหลียนจริง ฉะนั้นการหย่าย่อมมีผลผูกพันตามกฎหมายไปแล้ว ไม่ว่าเบื้องหลังสองสามีภรรยาจะตกลงกันว่าอย่างไรก็ตาม หากจะเทียบง่ายๆ ก็คงเหมือนการที่เราทำข้อตกลงปากเปล่ากับใครสักคน แล้วจู่ๆ ถูกบุคคลดังกล่าวหักหลัง ผิดสัญญา เมื่อไม่มีหลักฐานพิสูจน์ในชั้นศาล เราก็จำเป็นต้องทำใจยอมรับว่าตัวเอง เสียเหลี่ยมให้กับนักต้มตุ๋นรายนั้น ถึงแม้เราจะรู้สึกว่าระบบไม่อาจมอบความเป็นธรรมอย่างแท้จริงให้กับเราได้ก็ตาม เพราะเราถูกโกงจริง ถูกเบี้ยวสัญญาจริง แต่ขณะเดียวกันเราคงไม่อาจกล่าวโทษศาลที่ต้องตัดสินตามหลักฐาน ทำได้แต่เพียงโทษตัวเองที่ไว้ใจอีกฝ่าย แล้วไม่ยอมร่างสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร

แต่ดูเหมือนหลีสั่งเหลียนจะไม่เข้าใจในจุดนี้ เธอ เสียเหลี่ยมให้กับอดีตสามี (หนังไม่ได้เล่ารายละเอียดในส่วนนี้ว่าเขาจงใจหลอกเธอแต่แรก หรือเพิ่งมาพบผู้หญิงใหม่ในช่วงการหย่า) เธอควรจะโทษคินอู๋เฮ (หลีซองฮาน) ซึ่งผิดสัญญา และโทษตัวเองที่โง่โดนหลอก ตรงกันข้าม เธอกลับหมายหัวบุคคลในระบบรัฐตั้งแต่นายอำเภอ ยันอัยการ ผู้พิพากษา และนายกเทศมนตรีที่ไม่ยอมให้ความเป็นธรรมกับเธอแบบเดียวกับ อาร์ยา สตาร์ค ในซีรีส์ Game of Thrones จดบัญชีดำของศัตรูเพื่อเตรียมชำระแค้น ต่างกันแค่ว่าคนดูสามารถเข้าข้างอาร์ยาได้อย่างเต็มใจมากกว่า

ที่จริงทุกอย่างคงไม่ลุกลามใหญ่โต หากคินอู๋เฮ จำเลยที่แท้จริง ยอมรับความผิด หรืออย่างน้อยก็แสดงท่าทีเสียใจสักนิดต่อสิ่งที่เขาทำลงไป แต่เมื่อหลีสั่งเหลียนเดินไปเผชิญหน้า เขากลับกล่าวหาว่าเธอเสียความบริสุทธิ์มาก่อนจะแต่งงานกับเขา ด่าว่าเธอเป็นพานจินเหลียน (ที่มาของชื่อหนัง) ทำให้ไฟแค้นของหลินสั่งเหลียนยิ่งโหมประโคม นำไปสู่ความดันทุรังที่กินเวลายาวนานนับสิบปี สร้างความเสียหายให้กับคนหลายคน (หนังดัดแปลงจากนิยาย ซึ่งแปลตรงตัวตามภาษาจีนได้ว่า ฉันไม่ใช่พานจินเหลียนพันจินเหลียนเป็นตัวละครจากนิยายอีโรติกที่คบชู้สู่ชายและวางแผนฆ่าสามีตัวเอง ต่อมาชื่อดังกล่าวกลายเป็นเหมือนคำด่าผู้หญิงแพศยาในลักษณะเดียวกับวันทอง หรือกากีของเมืองไทย และกลายเป็นมาดาม โบวารีเมื่อแปลงตามบริบทฝรั่ง)

หลายคนที่ได้ดู I Am Not Madame Bovary ย่อมอดไม่ได้ที่จะคิดเปรียบเทียบไปถึงหนังรางวัลสิงโตทองคำของจางอี้โหมวเรื่อง The Story of Qiu Ju เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการจับฟ่านปิงปิงมาแปลงสภาพเป็นหญิงบ้านนอก (แบบเดียวกับที่จางอี้โหมวทำกับกงลี่) หรือพล็อตเกี่ยวกับการตามล่าหาความยุติธรรมของหญิงสาวในสังคมชายเป็นใหญ่ รวมไปถึงความคล้ายกันแม้กระทั่งในรายละเอียดของสไตล์ (หนังของเฝิงเสี่ยวกังอาจเอนเอียงไปทางตลกมากกว่า และไม่ได้เน้นความสมจริงในสไตล์นีโอเรียลลิสต์เท่าหนังของจางอี้โหมว แต่ทั้งสองเรื่องล้วนไม่พยายามเร้าอารมณ์ กันคนดูให้เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ และใช้ภาพโคลสอัพอย่างจำกัดจำเขี่ย) และจุดหักเหบางอย่างของหนัง (ใน The Story of Qiu Ju เหตุการณ์ที่ จุดไฟแค้นให้กับชิวจี้ คือ เมื่อหัวหน้าหมู่บ้านไม่ยอมขอโทษ หรือนึกเสียใจสักนิดที่ทำร้ายร่างกายสามีเธอ แถมเมื่อถูกกฎหมายบังคับให้ต้องจ่ายค่าเสียหาย เขากลับขว้างเงินลงพื้นเพื่อหวังจะให้ชิวจี้ก้มลงเก็บ แต่เธอเลือกจะรักษาศักดิ์ศรีแล้วเดินหน้าทวงถามความยุติธรรมแบบกัดไม่ปล่อย)

จุดร่วมของทั้งสองเรื่องไม่ได้อยู่แค่เปลือกนอกอย่างพล็อต หรือสไตล์การนำเสนอเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประเด็นแก่นหลักของหนัง ซึ่งวิพากษ์กฎเกณฑ์และนโยบายของรัฐอย่างเจ็บแสบ แม้เฝิงเสี่ยวกังอาจเคลือบน้ำหวานไว้ชั้นหนึ่งจากการให้คนระดับบิ๊กในพรรคคอมมิวนิสต์มองเห็นข้อบกพร่องในการแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็นความไร้ประสิทธิภาพ หรือการมองข้ามความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน แต่ในแง่ภาพรวมวงกว้างแล้ว หนังยังคงส่องแสงแง่ลบไปยังรัฐ ซึ่งมีลักษณะแบบเผด็จการ ดำเนินนโยบายโดยไม่เห็นหัวประชาชน หรือตระหนักในความหลากหลายและความเป็นปัจเจก นั่นต่างหากที่เป็นต้นเหตุของความวุ่นวายทั้งปวงในหนัง

อย่างที่บอกไปตอนต้นเหตุผลของหลีสั่งเหลียนในการแหกกฎระเบียบเพียงเพราะต้องการอพาร์ตเมนต์อาจฟังไม่ค่อยขึ้นสักเท่าไหร่ มันคุ้มเหรอกับการดันทุรังต่อสู้มานานนับสิบปี มันเป็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชนคนอื่นหรือเปล่า (คนโสดจริงๆ ที่ต้องการห้องนั้น) ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนส่งผลผลักดันคนดูให้ถอยห่างจากตัวละคร... แต่แล้วในช่วง 10 นาทีสุดท้าย ซึ่งหนังเปลี่ยนรูปแบบการถ่ายทำจากเฟรมวงกลมมาเป็นภาพเต็มจอปกติ ราวกับกำลังจะบอกกล่าวคนดูอยู่กลายๆ ว่าคุณจะได้เห็นภาพในมุมกว้างขึ้นของเรื่องราว บทได้มอบแง่มุมมนุษย์ให้กับตัวละครอย่างหลีสั่งเหลียน เมื่อเธอเฉลยเหตุผลแท้จริงว่าสาเหตุของการหย่าปลอมๆ ก็เพราะทั้งสองอยากมีลูกอีกคน ซึ่งสมัยนั้นไม่สามารถทำได้เนื่องจากฎหมาย ลูกคนเดียวของรัฐบาลจีน (1979-2015) แต่แล้วเธอกลับแท้งลูกหลังทราบข่าวว่าสามีนอกใจ หักหลังเธอไปอยู่กินกับหญิงอื่น ฉันไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเอง แต่เพื่อลูกที่ไม่ได้ลืมตามาดูโลกเธอกล่าว

แน่นอน เหตุผลดังกล่าวฟังขึ้นกว่า ดูน่าเห็นอกเห็นใจกว่า แม้ว่าสุดท้ายแล้วอาจไม่ได้ฟอกขาวให้กับความจงใจหลอกลวงรัฐและฉกฉวยโอกาสจากช่องโหว่ทางกฎหมาย แต่ที่สำคัญกว่านั้น บทเฉลยทำให้คนดูตั้งคำถามต่อนโยบายรัฐ ซึ่งเข้ามาก้าวก่ายชีวิตส่วนตัวของประชาชนมากเกินไป ปัญหาทั้งหมดคงไม่เกิด หากรัฐไม่เข้ามาบังคับขืนใจอิสรภาพของประชาชนอย่างเกินขอบเขต

เช่นเดียวกัน รากเหง้าปัญหาใน The Story of Qiu Ju ก็เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัฐกับปัจเจกชน ชิวจี้กับสามีอยากจะสร้างโรงเก็บของในที่ดินของตัวเอง แต่หัวหน้าหมู่บ้านไม่อนุญาตบอกว่ากฎหมายระบุให้ปลูกพืชพันธุ์การเกษตรเท่านั้น สามีชิวจี้จึงไม่พอใจ ด่ากลับหัวหน้าหมู่บ้านว่าไม่มีน้ำยาทำลูกชาย เลยได้แต่ลูกสาวเต็มบ้าน จนนำไปสู่การทำร้ายร่างกาย ข้อกล่าวหาของสามีชิวอี้ไม่เพียงสะท้อนความเชื่อของคนจีนที่กดขี่เพศหญิงเท่านั้น (ลูกชายย่อมดีกว่าลูกสาวเพราะพวกเขาสามารถสืบเชื้อสายของต้นตระกูลได้) แต่ยังบ่งบอกถึงปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียมกันอีกด้วย เพราะเส้นสายในรัฐบาลทำให้หัวหน้าหมู่บ้านสามารถมีลูกสาวได้มากกว่าหนึ่งคน ขณะที่ชาวบ้านธรรมดาทั่วไปอย่างชิวอี้กับสามีจำเป็นต้องเล่นตามกฎ

ด้วยเหตุนี้เมื่อเปรียบไปแล้วการต่อสู้ของทั้งชิวจี้และหลีสั่งเหลียนจึงไม่ใช่การต่อสู้ด้วยเหตุผลส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพสะท้อนการต่อสู้ของปัจเจกชนเพื่อปฏิเสธการเข้ามาควบคุมทุกแง่มุมในชีวิตส่วนตัว (ความต้องการจะมีลูก หรือการใช้ประโยชน์จากที่ดินตัวเอง) เพราะหากศักดิ์ศรีของความเป็นคนไม่ได้รับการเคารพ หรือเห็นคุณค่าแล้ว ก็ยากที่สังคมจีนจะก้าวเข้าสู่ความเจริญก้าวหน้าได้อย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น: