วันเสาร์, ธันวาคม 10, 2559

February: ปีศาจอย่าจากฉันไป



หลังจากการถือกำเนิดของผลงานสุดคลาสสิกอย่าง The Exorcist (1973) ภาพยนตร์เกี่ยวกับการเข้าสิง (possession) ก็ กลายเป็นตระกูลย่อยที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่นักดูหนังและนักทำหนังสยองขวัญกระแสหลัก ตัวอย่างเด่นชัดของหนังแนวนี้ในยุคหลังที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง คือ The Conjuring (2013) ดัดแปลงจากเรื่องจริงของ เอ็ด กับ ลอร์เรน วอร์เรน คู่สามีภรรยาชาวอเมริกันที่ร่วมกันสืบสวนคดีเหนือธรรมชาติทั้งหลาย และ Paranormal Activity (2007) ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ เรื่องจริง แต่เลือกจะสร้างความ เหมือนจริงด้วยการถ่ายทำในลักษณะ found footage ที่กลายเป็นเทรนด์ยอดนิยมอยู่พักใหญ่หลังความสำเร็จอย่างล้นหลามของ The Blair Witch Project (1999) นี่ยังไม่นับรวมหนังผีเข้า ขับไล่ซาตานอื่นๆ อีกหลายสิบเรื่องที่เดินตามรอยสูตรสำเร็จในสไตล์ The Exorcist แต่ไม่ค่อยโด่งดัง หรือน่าจดจำสักเท่าไหร่ อาจพูดได้ว่ามันเป็นหนึ่งในตระกูลย่อยที่โดนสำรวจ ตรวจสอบ หรือหักเห เบี่ยงเบนความคาดหวังแทบจะครบทุกกระบวนท่า จนยากที่จะเซอร์ไพรส์ หรือหลอกล่อคนดูให้หวาดกลัวอีกต่อไป

น่าสนใจว่าวงการหนังอินดี้อเมริกันในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมากลับปรากฏผลงานในแนวทางนี้ ซึ่งให้ผลลัพธ์ค่อนข้างน่าพอใจในแง่คุณภาพพร้อมกันถึงสองเรื่อง เรื่องแรกได้แก่ The Witch ของ โรเบิร์ต เอกเกอร์ส ซึ่งผูกโยงภาวะผีเข้า (ถูกล่อหลอก ชักจูงโดยซาตาน) เข้ากับมนตร์ดำโดยตรงและปรากฏการณ์การล่าแม่มดโดยนัยยะ หนังดำเนินเหตุการณ์ในยุคบุกเบิก เมื่อชาวยุโรปเดินทางมาลงหลักปักฐานในอเมริกาช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ส่วนเรื่องที่สองได้แก่ February (ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็น The Blackcoat’s Daughter ด้วยเหตุผลทางการตลาด) ซึ่งสร้างความรู้สึกแปลกใหม่ในระดับหนึ่งผ่านการเล่าเรื่องสองส่วนที่ดูจะไม่เกี่ยวข้องกัน ก่อนค่อยๆ หลอมรวมเป็นหนึ่งในตอนท้าย (หนังแบ่งเป็นสามบทตามชื่อตัวละครหญิงสามคน โดยสองคนดำเนินเหตุการณ์ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนอีกคนจะแยกเป็นเอกเทศ)

หนังทั้งสองเรื่องอาจเหมาะจะถูกจัดให้อยู่ในหมวด อาร์ตเฮาส์” มากกว่าหนังกระแสหลัก แม้ว่ามันจะดำเนินรอยตามตระกูลสยองขวัญอย่างชัดเจนก็ตาม ทั้งนี้เพราะพวกมันเลือกเล่าเรื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป เน้นสร้างบรรยากาศกดดันถึงความไม่ชอบมาพากลมากกว่าเล่นจังหวะ “ตุ้งแช่โครมครามแบบหนังสยองขวัญกระแสหลักมักชอบตกหลุมพราง (ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกว่า The Witch จะได้เกรดจากผู้ชมค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ เนื่องจากพวกเขาคงเดินเข้าโรงหนังด้วยความคาดหวังจะดู The Conjuring ไม่ใช่ Don’t Look Now) ที่สำคัญในกรณีของ February หนังมีบทสรุปแบบปลายเปิดซึ่งน่าจะสร้างความงุนงงให้กับผู้ชมทั่วไปอยู่ไม่น้อย

จะเห็นว่าวิกฤติหลักในหนังทั้งสองเรื่องเริ่มต้นจากเหตุผลเดียวกัน นั่นคือ ความโดดเดี่ยว ครอบครัวใน The Witch ถูกขับไล่จากอาณานิคมให้ออกมาอยู่ตามลำพังที่ชายป่าห่างไกลผู้คนและอารยธรรม ส่วน แคท (เคียร์แนน ชิปกา) ใน February ต้อง ติดแหง็กอยู่ในโรงเรียนคาทอลิกหญิงล้วนช่วงปิดกลางภาคหน้าหนาว เพราะพ่อแม่ไม่มารับ และที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าคือ พวกเขายังไม่ติดต่อมาด้วย ก่อนหน้านี้แคทฝันร้ายว่าพ่อแม่เธอประสบอุบัติเหตุรถยนต์ ขณะที่เสียงลึกลับในโทรศัพท์ก็ยืนยันว่าพวกเขาไม่มาแล้ว บางทีฝันร้ายดังกล่าวอาจเป็นลางบอกเหตุบางอย่าง ครูใหญ่กอร์ดอน (ปีเตอร์ เจมส์ ฮาวอร์ธ) ฝากฝังแคทไว้กับ โรส (ลูซี บอยน์ตัน) นักเรียนสาวรุ่นพี่ ซึ่งพ่อแม่ไม่มารับเช่นกันเพราะจำวันผิด แต่คนดูจะตระหนักในเวลาต่อมาว่าโรสจงใจบอกวันผิดกับพ่อแม่ เพื่อเธอจะได้มีเวลาสะสางปัญหากับแฟนหนุ่ม (ปีเตอร์ เจ. เกรย์) ที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น (เธอหวาดวิตกว่าอาจตั้งท้องกับเขา) โรสไม่ค่อยยินดีกับภาระพี่เลี้ยง จึงแกล้งแคทด้วยการเล่าตำนานสยองว่าบรรดาแม่ชีในโรงเรียนกินนอนแห่งนี้ล้วนบูชาซาตาน พวกเธอจะโกนขนทั่วร่างและเคยมีศิษย์เก่าเห็นพวกเธอลงไปทำพิธีประหลาดในห้องหม้อไอน้ำ

แคทหาได้สะทกสะท้านกับเรื่องเล่าดังกล่าว (ตรงข้ามกับคนดู) แต่ดูเหมือนมันจะเป็นแรงบันดาลใจบางอย่างให้เธอ คืนหนึ่งโรสกลับจากนัดพบแฟนหนุ่มมาเจอแคทกำลังคำนับบูชาบางสิ่งในห้องหม้อไอน้ำ เธอคิดหาเหตุผลมาอธิบายว่าบางทีแคทอาจเดินละเมอลงไปในห้องนั้น แต่เมื่อฝ่ายหลังเริ่มพูดว่าที่พ่อกับแม่ไม่มารับเธอเพราะพวกเขาตายแล้ว โรสกลับเริ่มเป็นฝ่ายหวาดกลัวและกลับเข้าห้องนอนพร้อมกับเลื่อนเก้าอี้มาดันประตูไว้

เช่นเดียวกับหนังเข้าสิงเรื่องอื่นๆ คนดูสัมผัสได้ทันทีว่ามีบางอย่างผิดปกติเกี่ยวกับแคท แม้จะไม่ชัดเจนในระดับหมุนหัวได้ 360 องศา หรือไต่ไปบนเพดานก็ตาม เธอได้ยินเสียงแว่วและมีท่าทางเหม่อลอย ในฉากต้นเรื่องเมื่อคุณพ่อไบรอัน (เกร็ก เอลวานด์) ถามเธอว่าขำอะไร เธอกลับไม่รู้ตัวแล้วตอบว่า “หนูยิ้มเหรอ ความผิดปกติทางพฤติกรรมและร่างกายปรากฏให้เห็นบ้างไม่ต่างจากกรณีของ The Exorcist ทั้งการอาเจียน สบถคำหยาบ หรือการเล่นโยคะท่ายากบนเตียงนอน แต่ทั้งหมดถูกรักษาระดับเอาไว้ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ได้ก้าวข้ามไปสู่เทคนิคด้านภาพอันซับซ้อน ทั้งนี้เพื่อคงไว้ซึ่งนัยยะก้ำกึ่งระหว่างการโดนซาตานเข้าสิงกับภาวะจิตเภท ซึ่งนิยามด้วยอาการเห็นภาพหลอน ได้ยินเสียงพูดคุยในหัว โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภทมักจะสารภาพว่า ความรู้สึกและการเคลื่อนไหวของฉันถูกควบคุมโดยผู้อื่น และ พวกเขาใส่ความคิดในหัวฉัน มันไม่ใช่ความคิดของฉันเอง ส่วนภาพหลอนที่เห็นก็มักจะเกิดจากตัวกระตุ้นในสภาพแวดล้อมจริง ดังนั้นพฤติกรรมแปลกๆ ของแคทในห้องหม้อไอน้ำก็อาจถูกกระตุ้นจากเรื่องเล่าของโรส

นอกจากนี้หนังดูจะขับเน้นความแปลกแยกของแคทอย่างเด่นชัด เธอดูเงียบขรึม เย็นชา ไม่มีเพื่อนให้พูดคุยด้วย ต่างจากโรสซึ่งในแวบแรกอาจดู เรจินา จอร์จ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ให้ความรู้สึกน่าขนลุกควบคู่ไปกับน่าสงสารในเวลาเดียวกันเหมือนแคท งานด้านภาพของ จูลี เคิร์ควู้ด จับบรรยากาศของความโดดเดี่ยว อ้างว้าง และมีบางอย่างไม่ชอบมาพากลได้อย่างยอดเยี่ยมผ่านการจัดวางเฟรมภาพในหลายช็อตให้ตัวละครอยู่ริมขอบ ห่างจากกึ่งกลาง และหลายครั้งก็ถูกแย่งความสนใจจากโฟร์กราวด์หรือแบ็คกราวด์ขนาดใหญ่ เช่น ผ้าห่มในช็อตแรกของหนัง หน้าต่าง ผนัง เปียโน หรือช็อตที่แคทพูดคุยกับคุณพ่อไบรอัน กล้องก็จับภาพเธอในระยะ two shot นั่งอยู่ริมซ้ายของภาพ ขณะที่ริมขวาเป็นเก้าอี้ว่างเปล่า พร้อมกันนั้นหนังยังแทรกภาพโถงทางเดินและห้องเรียนที่ไม่มีคนเข้ามาเป็นระยะเพื่อเสริมความรู้สึกโดดเดี่ยว เหมือนติดกับ ไม่สามารถขอความช่วยเหลือได้ ทั้งโรงเรียนเหลือเพียงแคท, โรส และแม่ชีที่เป็นพยาบาลอีกสองคนเท่านั้น ขณะเดียวกันหิมะกองสุมรอบโรงเรียนก็ยิ่งช่วยตอกย้ำบรรยากาศคุกคาม ไร้ทางออกไปในตัว

พูดถึงภาวะจิตเภท เรื่องราวอีกส่วนที่ถูกตัดสลับเข้ามาเป็นระยะ คือ เรื่องราวของ โจน (เอ็มมา โรเบิร์ตส์) คนไข้ที่หนีออกมาจากคลินิก หรือโรงพยาบาลโรคจิต เธอต้องการเดินทางไปยังแบรมฟอร์ด เมืองซึ่งที่ตั้งของโรงเรียนที่แคทกับโรสพักอยู่ แต่กลับต้องมาติดแหง็กที่สถานีรถทัวร์กลางดึกท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ จนกระทั่ง บิล (เจมส์ เรมาร์) ชายวัยกลางคน เสนอว่าจะขับรถพาเธอไปส่งจุดหมาย เพราะเขากับภรรยา (ลอเรน ฮอลลี) ต้องขับไปทางนั้นอยู่แล้ว แรกทีเดียวคนดูรู้สึกไม่ไว้ใจบิล เพราะเขาพูดจาแปลกๆ เช่น เธอทำให้ฉันนึกถึงลูกสาว และ เธอเชื่อในพระเจ้าหรือเปล่าในสถานการณ์ชวนอึดอัดเมื่อโจนอยู่ในสภาพกึ่งเปลือยหลังจากเพิ่งอาบน้ำเสร็จ ดนตรีประกอบดูจะช่วยเพิ่มความหวาดระแวงอย่างได้ผล แต่เมื่อหนังเริ่มเปิดเผยรายละเอียด คนดูก็พลันตระหนักว่าโจนส์ต่างหากที่เป็นตัวอันตรายที่แท้จริง

บทเฉลยของหนังว่าโจนกับแคทเป็นตัวละครเดียวกันและสองเหตุการณ์ดำเนินเรื่องห่างกัน 9 ปีแต่ถูกนำมาตัดต่อราวกับเกิดขึ้นพร้อมกันอาจถูกมองว่าเป็นลูกไม้ล่อหลอกคนดูแบบตื้นเขินเพื่อสร้างอารมณ์เขย่าขวัญ (เพราะถ้าหากหนังใช้นักแสดงคนเดียวกันเล่นเป็นทั้งโจนและแคท ความลึกลับทั้งมวลก็จะมลายหายไปทันที) แต่ในแง่หนึ่งก็สามารถอธิบายได้ว่าตัวละครโจนเป็นเสมือนภาพตัวแทนในหัวแคท หลังจากเธอลงมือฆ่าและขโมย ตัวตน ของหญิงสาวชื่อ โจน มาร์ช ซึ่งหน้าตาในใบขับขี่ก็ไม่ใกล้เคียงกับ เอ็มมา โรเบิร์ตส์ ภาพแฟลชแบ็คชั่วแวบในบางช็อตบอกใบ้คนดูถึงจุดหักมุมอยู่กลายๆ เช่นเดียวกับรอยแผลเป็น และฉากที่โจนหลุดขำในความบังเอิญของชะตากรรม เมื่อเธอทราบความจริงว่าบิลเป็นพ่อของโรส และช่อดอกไม้บนเบาะหลังรถก็สำหรับวางรำลึกที่หลุมศพเธอ

นี่เป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของ ออสกู้ด ออซ เพอร์กินส์ ลูกชายแท้ๆ ของ แอนโทนีย์ เพอร์กินส์ นักแสดงผู้ทำให้ นอร์แมน เบทส์ กลายเป็นตำนานที่ทุกคนจดจำ และแนะนำลูกชายให้รู้จักกับโลกแห่งภาพยนตร์ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราจะมองเห็นอิทธิพลบางอย่างจากหนังเรื่อง Psycho เช่น การสังหารโรสหลังจากเธอเพิ่งค้นพบข่าวดีว่าตนไม่ได้ตั้งท้อง ซึ่งทำให้นึกถึงการสังหาร เจเน็ต ลีห์ หลังจากตัวละครตัดสินใจจะนำเงินที่ขโมยมาไปคืน หนังใช้เวลาเต็มที่ในการโน้มน้าวคนดูให้รู้สึกเห็นใจ หรืออย่างน้อยก็ตระหนักรับรู้ในความอึดอัดคับข้องของตัวละคร ก่อนจะทรมานคนดูอย่างโหดเหี้ยมด้วยการกำจัดตัวละครทิ้งแบบไร้เยื่อใย ขณะที่เธอเพิ่งค้นพบทางสว่าง และแน่นอนอาวุธสังหารได้แก่ มีด ซึ่งใช้จ้วงแทงเหยื่อนับครั้งไม่ถ้วน ความแตกต่างสำคัญอาจอยู่ตรงที่คนดูช็อกกับการตายของ เจเน็ต ลีห์ เพราะเธอเป็นตัวละครหลัก และหนังก็เพิ่งเดินเรื่องไปได้ไม่ถึงครึ่งทาง ส่วนการตายของโรสถูกคาดการณ์ล่วงหน้าไว้แล้วหลังจากหนังเฉลยปมสำคัญในส่วนของโจน

พ่อกับแม่ของเพอร์กินส์จากไปอย่างกะทันหันทั้งคู่ (แอนโธนีย์เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ในปี 1992 จากนั้นอีก 9 ปีต่อมา เบอร์รี เบเรนสัน ก็เสียชีวิตระหว่างเหตุการณ์ 9/11 โดยเธอเป็นหนึ่งในผู้โดยสารบนเครื่องบินที่พุ่งชนตึก เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์) บางที February อาจเป็นเหมือนภาพวาดที่บิดเบี้ยวเพื่อรับมือกับความสูญเสียดังกล่าว เพราะท่ามกลางบรรยากาศคุกคาม หลอกหลอน อีกอารมณ์หนึ่งที่คนดูสามารถสัมผัสได้เด่นชัด คือ ความโดดเดี่ยว เปลี่ยวเหงา ตลอดจนความเศร้าของการถูกทอดทิ้งให้ต้องอยู่บนโลกเพียงลำพัง แคทเริ่มต้นด้วยการสูญเสียพ่อแม่จากอุบัติเหตุ ก่อนต่อมาจะสูญเสียปีศาจ (ซึ่งถูกถ่ายทอดเป็นเงาดำคล้ายแฟรงค์ ในหนังเรื่อง Donnie Darko) หรือเสียงในหัวจากพิธีไล่ผี

9 ปีผ่านไป เธอ (ในร่างของโจน) พยายามจะเรียกปีศาจให้กลับมาอีกครั้งด้วยการบูชายัน แต่ไม่สำเร็จ... ฉากสุดท้ายของหนังจบลงด้วยภาพโจนยืนอยู่เพียงลำพังท่ามกลางหิมะขาวโพลน หลั่งน้ำตาและกรีดร้องอย่างสิ้นหวัง  

ไม่มีความคิดเห็น: