วันจันทร์, ธันวาคม 20, 2564

Nomadland: ชีวิตติดล้อ

เมื่อมองจากโครงสร้างแล้วอาจพูดได้ว่า Nomadland เป็นหนังในแนวทางวิเคราะห์ตัวละคร เผยให้เห็นแง่มุมชีวิตช่วงหนึ่งของสาวใหญ่วัยใกล้เกษียณที่ใช้ชีวิตตะลอนไปทั่วอเมริกาเพื่อหางานและพบปะผู้คนมากหน้าหลายตาระหว่างทาง หนังปราศจากพล็อต หรือการผูกเรื่องและชุดเหตุการณ์เพื่อนำไปสู่ประเด็นที่ต้องการนำเสนออย่างชัดเจน เป็นขั้นเป็นตอน แต่ท่ามกลางภาพรวมแบบ เล่าไปเรื่อยมันกลับสะท้อนให้เห็นการล่มสลายของความฝันแบบอเมริกันและผลกระทบของระบบทุนนิยมเสรีซึ่งกัดกร่อนปัจเจกชนที่ไม่อาจบรรลุ ความสำเร็จหรือไม่ปรารถนาจะเดินทางตามเส้นทางดังกล่าวได้อย่างเสียดแทง หนังเริ่มต้นด้วยคำบรรยายว่าเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2011 โรงงานผลิตผนังยิปซัมในเมืองเอ็มไพร์ รัฐเนวาดาได้ประกาศปิดตัวลงเนื่องจากยอดความต้องการผลิตภัณฑ์ลดน้อยถอยลงหลังจากเปิดดำเนินกิจการมานานถึง 88 ปี และพอถึงเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันรหัสไปรษณีย์ของเมืองเอ็มไพร์ก็ถูกตัดออกจากสารบบ ส่งผลให้เมืองถูกทิ้งร้าง ผู้คนต้องอพยพแยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง

นี่เป็นภาพที่มักพบเห็นได้บ่อยครั้งในอเมริกา เมืองบ้านนอกเล็ก ๆ ต้องถึงคราวล่มสลาย เมื่อทุนขนาดใหญ่ในรูปของโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่ธาตุ ถ่านหินล้มเลิกกิจการเพราะความเปลี่ยนแปลงทางสังคม/เทคโนโลยี เช่น การเข้ามาของพลังงานสะอาด หรือตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นเพื่อลดต้นทุน หรือเมื่อระบบเศรษฐกิจเกิดพังพินาศ (หนังดำเนินเหตุการณ์ในช่วงหลังวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ระหว่างปี 2007-2008) ผลพวงที่ตามมา คือ บรรดาคนตัวเล็กตัวน้อยในฐานล่างสุดของห่วงโซ่กลายเป็นกลุ่มคนที่ต้องแบกรับความเดือดร้อนสูงสุด เฟิร์น (ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์) คือ หนึ่งในนั้น หลังจากสูญเสียสามีให้กับโรคร้าย เธอต้องย้ายออกจากบ้านที่เมืองเอ็มไพร์ (ซึ่งตอนนี้กลายเป็นเมืองร้าง) มาอยู่ในรถแวนแล้วตระเวนรับจ้างเป็นพนักงานชั่วคราวไม่ต่างจากพวกโนแมด หรือกลุ่มคนเร่ร่อนในชุมชนที่หาเลี้ยงชีพด้วยการเก็บของป่าขายบ้าง รับจ้างซ่อมเครื่องใช้ตามบ้านบ้าง หรือไม่ก็ต้อนฝูงสัตว์ไปหากินตามท้องทุ่ง หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ ในแต่ละปีเพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว

เช่นเดียวกัน งาน ประจำปีของเฟิร์น คือ รับจ้างแพ็คสินค้าในโกดังของแอมะซอนช่วงฤดูช้อปปิ้ง (สามสี่เดือนก่อนเทศกาลคริสต์มาส) จากนั้นตลอดปีที่เหลือเธอจะเดินทางไปหางาน (และอากาศอบอุ่น) ตามจุดต่าง ๆ ทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นอุทยาน ร้านอาหาร หรือไซต์ก่อสร้าง ในฉากหนึ่งเราจะเห็นเจ้าหน้าที่จัดหางานแนะนำให้เฟิร์นเกษียณก่อนวัย (ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองผนวกกับอายุอานามของเธอทำให้การหางานเป็นหลักแหล่งค่อนข้างยาก) แต่เธอบอกปัดข้อเสนอดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่าเงินสงเคราะห์ที่จะได้นั้นไม่พอยาไส้ และที่สำคัญ ฉันอยากทำงาน ฉันชอบทำงานสถานะของเฟิร์นคงไม่ต่างจากเพื่อนร่วมงานของเธอในแอมะซอนอย่าง ลินดา เมย์ สักเท่าไหร่ ลินดาเล่าว่าเธอทำงานตั้งแต่อายุ 12 จนตอนนี้อายุ 62 แล้ว แต่กลับเหลือเงินชดเชยจากประกันสังคมแค่ 550 เหรียญ ก่อนหน้านี้ในปี 2008 เธอเคยคิดจะฆ่าตัวตายหลังจากไม่สามารถหางานทำได้ จนกระทั่งต่อมาเธอจะได้รู้จัก บ็อบ เวลส์ กับวิถีชีวิตทางเลือกของชุมชนโนแมดที่ตะลอนไปทั่วอเมริกาในรถบ้าน รถคาราวาน

บ็อบมองระบบทุนนิยมและกลไกตลาดเสรีว่าเป็นดังทรราชย์ กดขี่แรงงาน หรือ ม้างาน ให้ต้องหักโหมชั่วชีวิตก่อนพวกเขาจะโดนเฉดหัวส่งให้ไปตายเอาดาบหน้าเมื่ออายุมากเกินกว่าจะทำงานไหว เราไม่เพียงยอมรับการกดขี่ดังกล่าว แต่ยังอ้าแขนโอบกอดมันอีกด้วย เรายินดียกแอกขึ้นมาสวมให้ตัวเองและแบกรับน้ำหนักของมันไปชั่วชีวิต เขากล่าว ต่างคนต่างขวนขวายกระเสือกกระสนเพื่อให้ได้ครอบครองบ้านและทรัพย์สินที่เปรียบเสมือนโล่ประกาศเกียรติคุณความสำเร็จแต่สุดท้ายอาจไม่เหลือเวลาชื่นชมความสำเร็จ หรือดื่มด่ำชีวิตเลยด้วยซ้ำ ดังจะเห็นได้จากคำสารภาพหน้ากองไฟของสมาชิกหญิงคนหนึ่งในกลุ่มเกี่ยวกับเพื่อนของเธอที่ทำงานอยู่บริษัทเดียวกัน เขาเสียชีวิตก่อนจะได้เกษียณเพียงแค่หนึ่งสัปดาห์ ไม่มีโอกาสได้ทำตามแผนที่วางไว้สักอย่าง ก่อนตายเขาบอกฉันว่า อย่ามัวเสียเวลาไปวัน ๆ เพราะงั้นฉันจึงตัดสินใจว่าจะรีบเกษียณโดยเร็วที่สุด ฉันไม่อยากให้เรือใบของฉันยังจอดแน่นิ่งอยู่หน้าบ้านตอนฉันตาย และฉันก็ทำสำเร็จ ตอนนี้เรือใบของฉันออกมาโลดแล่นในทะเลทรายแล้ว เธอเล่า

กองคาราวานของบ็อบประกอบไปด้วยเหล่าผู้คนที่บอบช้ำทางร่างกายและจิตใจ บ้างก็เป็นทหารผ่านศึกที่ประสบภาวะโรคเครียด บ้างก็เป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่กำลังรอวันตาย ส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนชายขอบที่พ่ายแพ้แก่ระบบทุนนิยม กระทั่งบ็อบเองก็เต็มไปด้วยบาดแผลทางใจที่รอวันเยียวยา เราถูกสั่งสอนให้ดิ้นรนขวนขวายเพื่อครอบครองวัตถุ แต่สุดท้ายกลับเคว้งคว้างทางจิตวิญญาณ ซึ่งปริมาณวัตถุมากเพียงใดก็ไม่อาจเติมเต็ม พวกเขาโหยหาความรู้สึกเชื่อมโยง ความเป็นชุมชน หรือกระทั่งพยายามค้นหาความหมายของชีวิต แม้ว่าจะต้องแลกด้วยความสะดวกสบาย ผู้กำกับ โคลอี เจา ไม่ได้สร้างภาพโรแมนติกให้วิถีชีวิตของพวกโนแมด แต่เลือกนำเสนออย่างตรงไปตรงมาจนบางครั้งอาจดูใกล้เคียงกับภาพยนตร์สารคดี ทั้งจากการใช้ คนจริง มารับบทที่คล้ายตัวเอง (ธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติมาตั้งแต่หนังเรื่องก่อน The Rider) หรือการรักษาระยะห่างอย่างสมดุลระหว่างคนดูกับตัวละคร ไม่พยายามจะเก็บแต้มดรามา หรือบีบเค้นความเห็นอกเห็นใจ กระนั้นก็ตามผลงานของเธอออกจะให้อารมณ์โอนเอียงมาทางอิมเพรสชันนิซึมมากกว่าเรียลริสซึม คนดูอาจได้เห็นความยากลำบากของชีวิตบนถนน ตั้งแต่เรื่องขับถ่าย ไปจนถึงค่ำคืนอันเงียบเหงาหนาวเหน็บ (ฉากหนึ่งสแวงกีตักเตือนเฟิร์นว่าการไม่มียางรถสำรองอาจหมายถึงความเป็นความตายได้เลย) แต่ในเวลาเดียวกันนาทีอันน่าอัศจรรย์จากความเรียบง่ายก็เผยตัวให้เห็นอยู่เป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นช็อตลองเทคตอนที่เฟิร์นเดินทักทายเหล่านักตั้งแคมป์ในยามเช้า หรือเมื่อเธอนอนเปลือยกายแช่ตัวอยู่กลางลำธารใสสะอาด  

ขณะเดียวกันในมุมตรงข้ามเราก็ได้พบปะกับผู้คนที่สามารถเอาตัวรอดและสุขสบายอยู่ในระบบ เมื่อเฟิร์นกลับมาเยี่ยม (และยืมเงิน) น้องสาว ณ บ้านชานเมืองน่าอยู่ เพื่อน ๆ สามีเธอซึ่งเป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์พากันบ่นอุบว่าเสียดายที่ไม่ได้เหมาซื้อทรัพย์สินเอาไว้ตอนเศรษฐกิจล่มด้วยวิกฤติซับไพรม์ เพราะตอนนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังใกล้จะฟื้นตัว ความเหลื่อมล้ำของระบบทุนนิยมชนิดมือใครยาวสาวได้สาวเอาได้สร้างช่องว่างที่นับวันจะยิ่งกว้างขึ้นจนน่าใจหายระหว่างคนที่เหมารวบทุกอย่างกับคนที่แทบจะไม่เหลืออะไรสักอย่างติดตัว คนที่ถือครองทรัพย์สินและที่ดินมหาศาลกับคนที่แม้แต่หลังคาคลุมหัวก็ยังไม่มี นอกจากนี้คำโต้แย้งของเฟิร์นซึ่งกล่าวหาพวกนายหน้าค้าว่าหลอกขายฝันให้ผู้คนใช้เงินเก็บทั้งชีวิตทุ่มซื้อบ้านที่พวกเขาไม่มีปัญญาผ่อนยังนำไปสู่การตั้งคำถามอีกว่า บ้าน จำเป็นต้องผูกมัดกับสิ่งปลูกสร้างเท่านั้นหรือ ในฉากหนึ่งนักเรียนที่เฟิร์นเคยสอนบอกว่าแม่เธอพูดถึงเฟิร์นในฐานะ คนไร้บ้าน (homeless) แต่เฟิร์นกลับแก้ว่าเธอเป็นแค่ คนไร้ที่พักอาศัย (houseless) ช่วงต้นเรื่องเพื่อนร่วมงานในแอมะซอนคนหนึ่งได้อวดรอยสักกับเฟิร์น หนึ่งในนั้นเป็นเนื้อเพลงของมอร์ริสซีย์ที่ว่า บ้าน ก็แค่คำหนึ่งคำ หรือเป็นบางสิ่งที่ติดตัวคุณไป

ต้นกำเนิดของหนังเริ่มจากบทความในนิตยสารของ เจสซิก้า บรูเดอร์ เมื่อปี 2014 ที่พูดถึงสถานการณ์เลวร้ายของกลุ่มคนวัยชราจำนวนมากในอเมริกาซึ่งไม่สามารถจะเกษียณตัวเองได้และจำเป็นต้องรับทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวแลกกับค่าแรงขั้นต่ำให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแอมะซอน จากนั้นเธอก็ใช้เวลาสามปีครึ่งในการเก็บข้อมูล ถึงขั้นลงไปใช้ชีวิตคลุกคลีกับกลุ่มโนแมดร่วมสมัยเพื่อนำมาเขียนหนังสือสารคดีเรื่อง Nomadland: Surviving America in the Twenty-First Century โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ ลินดา เมย์ คุณยายวัย 64 ที่อาศัยอยู่ในรถจี๊ปมือสองและตระเวนรับงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวเพื่อหวังจะเก็บเงินไปสร้างฝันให้เป็นจริง นั่นคือ ซื้อที่ดินสักผืนไว้สร้างบ้านจากขยะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อ โคลอี เจา นำหนังสือมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ เธอได้สร้างตัวละครเอกขึ้นใหม่จากประสบการณ์หลากหลายที่ได้รับรู้ระหว่างรวบรวมข้อมูล และมอบหน้าที่ให้แม็คดอร์มานด์ ซึ่งควบตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างของหนัง (เธอเป็นคนซื้อลิขสิทธิ์หนังสือและนำโครงการมาเสนอกับเจาหลังจากได้ดู The Rider แล้วประทับใจในฝีมือของผู้กำกับหญิง) รับบทบาทท่ามกลางโนแมดตัวจริง ซึ่งนั่นถือเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดอย่างยิ่งเพราะแม็คดอร์มานด์เป็นหนึ่งในนักแสดงหญิงเกรดเอไม่กี่คนในฮอลลีวู้ดที่ดูน่าเชื่อถือในบทคนชายขอบ เธอสามารถถ่ายทอดความดื้อดึง ขบถ และความอบอุ่นออกมาพร้อมกันได้อย่างทรงพลัง หลายครั้งกล้องสามารถจับจ้องไปยังใบหน้าเธอ แล้วสื่อสารประสบการณ์ชีวิต ความยากลำบาก หรืออารมณ์หลากหลายที่เอ่อท้นอยู่ข้างในตัวละครได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยบทพูดใด ๆ

จากการอ่านบทสัมภาษณ์บรูเดอร์ดูเหมือนบุคลิกเข้ากับคนง่ายของลินดาจะถูกส่งผ่านมายังเฟิร์น คนดูจะเห็นเธอพูดคุยและทำความรู้จักคนแปลกหน้า ไม่ว่าจะเด็กหนุ่มวัยรุ่น หรือหญิงสาววัยชรา เป็นเรื่องปกติ เปลือกนอกเธอไม่ได้แข็งกระด้าง แต่กลับดูอบอุ่น ร่าเริง นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอผูกสัมพันธ์กับเดฟ (เดวิด สตาร์แทร์น) ได้อย่างรวดเร็ว แต่ลึก ๆ ข้างในอีกด้านหนึ่ง เฟิร์นเป็นตัวละครที่ซับซ้อน น่าค้นหา และเมื่อพิจารณาจากการที่เธอบอกปัดข้อเสนอเดฟอย่างไร้เยื่อใยก็ไม่น่าแปลกใจที่นักวิจารณ์บางคนจะเปรียบเธอกับ บ็อบบี้ ดูพี (แจ๊ค นิโคลสัน) ใน Five Easy Pieces คนงานในแท่นขุดเจาะน้ำมันที่เคยวิ่งหนีจากครอบครัวชนชั้นกลางและอาชีพนักเปียโน ฉากที่เฟิร์นโควตโคลงของเชคสเปียร์กับเด็กหนุ่มเร่ร่อนให้อารมณ์คล้ายคลึงกับฉากที่ดูพี (ก่อนหนังจะเปิดเผยพื้นเพเขา) กระโดดขึ้นไปเล่นเปียโนบนรถขนย้าย ความงามที่ดูเหนือจริงของฉากดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ผลักดันให้หนังของเจาก้าวข้ามแนวทางเรียลริสซึม

เช่นเดียวกับดูพี เฟิร์นไม่อาจหวนคืนสู่ชีวิตก่อนหน้า ทั้งอดีตไกลโพ้น (ข้อเสนอให้ย้ายมาอยู่ด้วยกันของน้องสาว) และอดีตที่ผ่านมาไม่นาน (สามีเธอตายจากไปแล้วพร้อม ๆ กับเมืองเอ็มไพร์) กระนั้นในเวลาเดียวกันเธอก็ปราศจากหนทางที่เป็นไปได้ในการก้าวต่อไปสู่อนาคตข้างหน้า และลงเอยด้วยการติดแหง็กอยู่ตรงกลางระหว่างปัจจุบัน เมื่อต้องมานอนค้างในบ้านน้องสาว หรือบ้านเดฟ เธอกลับดูอึดอัด เก้อเขินกว่าเวลาต้องใช้ชีวิตอยู่บนถนน หรือท่ามกลางกลุ่มโนแมด (ที่บ้านเดฟเธอถึงขั้นหลบหนีจากเตียงนุ่ม ๆ ออกมานอนในรถแวน) ชีวิตครอบครัวแบบดั้งเดิมไม่อาจสวมใส่เข้ากับตัวตนเธอได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ ดังจะเห็นได้จากความเงอะงะ ไม่สะดวกใจของเธอเมื่อต้องอุ้มเด็กทารกไว้ในอ้อมแขน (เช่นเดียวกับดูพี) ตรงกันข้าม เดฟกลับปรับตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวใหม่ได้อย่างราบรื่นจนเขาไม่ทันสังเกตด้วยซ้ำว่า บ้านเดิม ของตนจอดยางแบนอยู่หน้า บ้านใหม่

Nomadland เปิดเรื่องหลังจากเฟิร์นสูญเสียที่พักอาศัย แล้วต้องขนย้ายทุกอย่างมาเก็บไว้ในโกดัง ก่อนจะคัดเลือกสิ่งสำคัญไม่กี่อย่าง เช่น อัลบั้มรูปถ่าย ถ้วยชามเซรามิกของพ่อ มาไว้ในบ้านติดล้อซึ่งเธอตั้งชื่อว่า แวนการ์ด (เมื่อช่างยนต์เสนอว่าการซื้อรถคันใหม่อาจจะคุ้มกว่าการซ่อม เธอกลับปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่ารถคันนี้เป็นบ้านของเธอ) เธอเริ่มออกมาใช้ชีวิตบนท้องถนนเพื่อความอยู่รอด แต่ลงเอยด้วยการค้นพบบ้านจากเหล่าผู้คนที่พบเจอ จากความช่วยเหลือเกื้อกูลในแบบชุมชนที่หยิบยื่นให้โดยปราศจากข้อผูกมัดหรือความคาดหวัง จากประสบการณ์ระหว่างการเดินทางที่ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงจุดหมาย มองในแง่หนึ่งหนังอาจเป็นเรื่องราวของตัวละครที่พยายามวิ่งหนีจากความเศร้า ไม่สามารถทำใจเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ แต่การที่ โคลอี เจา ยืนกรานถึงความแข็งแกร่งของตัวละคร (เฟิร์นไม่จำเป็นต้องให้ใครมาช่วยกอบกู้ ไถ่ถอนเธอจากปมปัญหาในใจ) ไม่ฉกฉวยโอกาสที่จะสร้างความสงสารเห็นใจในชีวิตอนาถาของเธอ แต่เข้าใจและตระหนักถึงความยากลำบาก ความเปลี่ยวเหงาของสถานการณ์ที่เธอเผชิญ ทำให้หนังก้าวข้ามแนวทางวิเคราะห์ตัวละครไปสู่ภาพสะท้อนของสังคมยุคใหม่ภายใต้ระบบทุนนิยมเสรีที่บีบบังคับให้ผู้คนจำนวนมากรู้สึกสับสนหลงทางไม่ต่างจากเฟิร์น พวกเขาไม่พอใจกับสภาพในปัจจุบัน แต่มองไม่เห็นหนทางว่าควรจะไปทางไหน เราอาจไม่ได้เผชิญวิกฤติในแบบเดียวกับเฟิร์น แต่สามารถเข้าใจความอึดอัดคับข้อง ความไม่แน่นอน ความรู้สึกไม่เติมเต็มได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่น จะเรียกว่าเหล่านั้นเป็นอารมณ์ร่วมแห่งยุคสมัยก็คงไม่ผิดจากความเป็นจริงนัก

ไม่มีความคิดเห็น: