วันจันทร์, กรกฎาคม 27, 2552

Short Replay: Dancer in the Dark


ลาร์ ฟอน เทรียร์ อาจเชื่อจริงๆ ว่าเขาเป็น “ผู้กำกับที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก” และคงมีคนหลายคนพร้อมจะสนับสนุนความคิดนั้น แม้ว่าหนังของเขามักจะเรียกเสียงโห่ได้มากพอๆ กับเสียงปรบมือ แต่สองสิ่งที่เราคงปฏิเสธไม่ได้ คือ ฟอน เทรียร์ ไม่ใช่ผู้กำกับ “ขี้ขลาด” และหนังทุกเรื่องของเขาก็ไม่เคย “น่าเบื่อ” ตรงกันข้าม มันท้าทายความรู้สึกคนดูอย่างต่อเนื่อง กระตุ้นให้คนดูตั้งคำถาม โต้เถียง และนำเสนอความแปลกใหม่ ตลอดจนความกล้าหาญที่จะทดลอง

Dancer in the Dark เจ้าของรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากคานส์ ถือเป็นหนังปิดไตรภาค “หัวใจทองคำ” ของผู้กำกับชาวเดนมาร์กต่อจาก Breaking the Waves และ The Idiots เล่าถึงวิบากกรรมของโอชิน เอ๊ย เซลมา (บียอร์ก) สาวโรงงานที่กำลังจะตาบอดและเหลือเป้าหมายเดียวในชีวิต คือ เก็บเงินทุกบาททุกสตางค์ (ใส่กระป๋องสังกะสี) เพื่อให้ลูกชายได้ผ่าตัดดวงตาและหลุดพ้นจากความทุกข์แบบเดียวกับเธอ ถ้าคุณเคยดูละครหลังข่าวมาบ้าง คุณคงพอเดาออกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเงินก้อนนั้น และถ้าคุณคิดว่าบทสรุปของเบสใน Breaking the Waves เศร้าสลดมากพอแล้ว คุณจะต้องมาเห็นสิ่งที่เซลมาเผชิญในหนังเรื่องนี้ ซึ่งใช้นิยาม “ชีวิตบัดซบ” ได้เป็นอย่างดี

ภาพสั่นส่ายเพื่อสร้างอารมณ์สมจริงเหมือนหนังสารคดีให้ความรู้สึกตัดกันแบบฉึบฉับกับพล็อตเรื่องสไตล์เมโลดราม่า ประเภทคนดีก็ดีใจหาย คนร้ายก็ชั่วช้าสารพัน รวมไปถึงฉากร้องเพลงเต้นรำ ซึ่งเน้นตั้งกล้องนิ่งและเพิ่มสีสันให้ฉูดฉาด การวางฉากหลังให้เป็นกรุงวอชิงตัน (และต่อมายังสร้างหนังอย่าง Dogville และ Manderlay) ส่วนตัวละครเอกเป็นชาวต่างชาติที่ความฝันแบบอเมริกันถูกเหยียบย่ำทำลายส่งผลให้ ฟอน เทรียร์ ถูกวิพากษ์ว่าเขาไม่เพียงจะแอนตี้ผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังแอนตี้อเมริกาอีกด้วย (ล่าสุดเขาเพิ่งประกาศตัวผ่านเครดิตหน้าจอในหนังใหม่ว่า Lars von Trier - Antichrist)

วันอังคาร, กรกฎาคม 07, 2552

Short Replay: Hostel


การถือกำเนิดขึ้นของ Hostel ได้ส่งผลให้หนังสยองขวัญยุคใหม่เริ่มแตกหน่อตระกูลย่อยออกเป็นภาพยนตร์ “ทรมานกระสัน” หรือ Torture Porn คำนิยามซึ่งคิดค้นขึ้นโดย เดวิด อีเดลสไตน์ แห่ง New York Magazine สำหรับอธิบายผลงานหนังซึ่งเต็มไปด้วยภาพการทรมานสารพัดวิธี การเฉือนอวัยวะ ตลอดจนการฆ่าแบบแปลกๆ ราวกับจะชักชวนคนดูให้กลายเป็นพวกซาดิสต์ ชื่นชอบความรุนแรง เช่น Hostel ทั้งสองภาค, Saw ทั้งห้าภาค, Wolf Creek, The Devil’s Reject หรือกระทั่ง The Passion of the Christ

อีไล รอธ ผู้กำกับ Hostel ให้สัมภาษณ์หลายครั้งหลายคราว่าหนังของเขาเป็นเสมือนบทวิพากษ์การทรมานนักโทษชาวอีรักในคุกอาบูการิบ แต่น่าแปลกตรงที่ “เหยื่อ” ในหนังของเขากลับเป็นกลุ่มชายชาวอเมริกัน ซึ่งเดินทางไปท่องเที่ยวยังต่างแดน (สโลวาเกีย) แล้วถูกหลอกล่อไปสู่ความสยองโดยสมาคมลับที่นิยมจับนักท่องเที่ยวมาให้พวกเศรษฐีทรมานเล่น จนสุดท้ายเหยื่อรายหนึ่งตัดสินใจลุกขึ้นสู้ พร้อมกับล่าสังหารพวกพรานมนุษย์เหล่านั้นอย่างสาสม น่าคิดว่าพล็อตเรื่องและการนำเสนอของรอธ ซึ่งโน้มนำให้คนดูเอาใจช่วยตัวละครเอก (ชายผิวขาว) พร้อมทั้งรู้สึก “สะใจ” เมื่อเขาตอบโต้ความรุนแรงแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน เป็นเสียง “วิพากษ์” นโยบายต่างประเทศของ จอช บุช หรือสนับสนุนความพยายามจะสร้างภาพลักษณ์บริสุทธิ์ให้กับอเมริกากันแน่ บางทีความไร้เดียงสาของรอธต่อประวัติศาสตร์การเมืองอาจสะท้อนชัดผ่านคำสัมภาษณ์ที่ว่า “ทุกคนรักอเมริกันชน พวกเราป็อปปูล่ามาก ใครๆ ก็ชอบหนังของเรา พวกเขารักเรา เราคอยช่วยเหลือทุกคน... ทันใดนั้น จอช บุช ขึ้นครองอำนาจ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เราเริ่มรู้สึกได้ถึงความเกลียดชัง... เหมือนทุกคนอยากจะฆ่าพวกเรา และหนังเรื่อง Hostel ได้นำความกลัวนั้นมานำเสนอ”