วันจันทร์, ธันวาคม 20, 2564

อนธการ: ดำดิ่งสู่ความมืดมิด

หนังเปิดตัวด้วยภาพ ตั้ม (อรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์นอนตะแคงอยู่บนสนามกีฬาหลังถูกกลุ่มนักเรียนเจ้าหนี้รุมซ้อมโทษฐานไม่ยอมคืนเงินที่ยืมไป เส้นแบ่งเขตสีขาวของสนามแบ่งครึ่งจอภาพเป็นสองด้านซ้ายขวา ราวกับว่าหนังกำลังส่งสัญญาณเกริ่นนำก่อนจะพาคนดูเข้าไปสัมผัสเรื่องราวการขับเคี่ยวกันระหว่างด้านมืดกับด้านสว่าง เหยื่อกับผู้กระทำ รักร่วมเพศกับรักต่างเพศ และความจริงกับความฝัน โดยภาพรวมของหนังก็ไม่แตกต่างจากสภาพของตั้มในช็อตเปิดเรื่อง นั่นคือ คาบเกี่ยวอยู่ใกล้ๆ เส้นแบ่ง ซึ่งค่อนข้างเลือนลางจนบางครั้งก็ไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่าอะไรเป็นอะไร

หากมองโดยโครงเรื่องหลักแล้ว อนธการมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับภาพยนตร์ในแนวฟิล์มนัวร์อยู่ไม่น้อย เนื่องจากมันพาคนดูไปสำรวจลึกถึงประเด็นเกี่ยวกับกิเลส ราคะ ความโลภ และการฆาตกรรม โดยตัวละครอย่างภูมิ (โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์มีกลไกเชิงโครงสร้างใกล้เคียงกับตัวละครผู้หญิงอันตราย (Femme fatale) ในหนังฟิล์มนัวร์ ซึ่งมักจะชักนำตัวละครเอกไปสู่โลกแห่งความรุนแรง เสื่อมทราม ผ่านภาพลักษณ์ของเด็กหนุ่มหน้าตาดี มีเสน่ห์เย้ายวน มั่นใจในตัวเอง และในเวลาเดียวกันก็ดูลึกลับ น่าค้นหา นอกจากนี้ หนังยังเลือกเปิดตัวภูมิขณะเขายืนสูบบุหรี่อยู่หลังเสา จนชวนให้นึกถึงฉากเปิดตัว แคธลีน เทอร์เนอร์ ในหนังโมเดิร์นฟิล์มนัวร์ชื่อดังอย่าง Body Heat (1981)

ส่วนตั้มก็คงไม่แตกต่างจากแมงเม่าที่หลงบินเข้าเล่นในกองไฟด้วยการชักนำแห่งกิเลส ตัณหา และการดำดิ่งสู่โลกมืด ตลอดจนความเน่าเปื่อยผุพังแห่งศีลธรรมจรรยาก็ถูกสื่อสารเป็นรูปธรรมชัดเจนผ่านฉากหลังอันโดดเด่นอย่างสระว่ายน้ำรกร้าง รวมถึงลานทิ้งขยะ (ตั้มค้นพบสถานที่ทั้งสองแห่งจากการชี้นำของภูมิซึ่งใช้จุดนัดพบในการพลอดรักและพูดคุยถึงอนาคตอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังสดใส แต่เฉกเช่นตัวละครเอกในหนังฟิล์มนัวร์ทั้งหลาย ตั้มอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรืออ่อนต่อโลกจนถูกล่อลวงเข้าสู่โลกแห่งอาชญากรรม ทว่าเขาก็หาใช่เหยื่อบริสุทธิ์ที่ขาวใสไร้มลทินเสียทีเดียว จริงอยู่ว่าเขาอาจถูกทรมานทั้งด้านร่างกายและจิตใจจากคนในครอบครัว แต่เขาเองก็ด่างพร้อย ไม่ซื่อสัตย์ขนาดสามารถขโมยสมบัติในบ้านไปขาย แล้วโกหกหน้าตายว่าตนเองไม่ได้เอาไปด้วยเหตุผลเพียงว่าก็กูไม่มีเงินใช้ แล้วอีกอย่างกูก็เลวในสายตาเขาอยู่แล้ว” ตั้มเริ่มต้นแก้แค้นด้วยการขโมยของรักของพ่อไปขาย ก่อนสถานการณ์จะค่อยๆ ลุกลามไปไกล เมื่อตัวละครยิ่งถลำลึกเข้าสู่โลกมืดของอาชญากรรมและความรุนแรงอย่างเต็มตัว

จุดเด่นที่แตกต่างจากภาพยนตร์แนวฟิล์มนัวร์ทั่วไปอยู่ตรงที่อนธการไม่ได้ให้ความสำคัญกับความคืบหน้าของพล็อตเรื่องสักเท่าไหร่ บรรยากาศ ตลอดจนการสำรวจสภาพจิตใจตัวละครเปรียบเสมือนหัวใจหลัก อันที่จริงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนฆาตกรรมเพิ่งจะถูกเปิดเผยในช่วง 20 นาทีสุดท้ายของหนังด้วยซ้ำ ผ่านฉากนัดพูดคุยกับกลุ่มมือปืน พร้อมต่อรองราคากันสั้นๆ จากนั้นหนังก็กระโดดข้ามไปยังผลพวงหลังเสร็จสิ้นภารกิจเลย ปราศจากการเร้าอารมณ์ด้วยฉากบุกสังหาร ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้วน่าจะกลายเป็นไคล์แม็กซ์ของหนัง

จะว่าไปแล้วอาจพูดได้ว่าแรงจูงใจในการจ้างวานฆ่าของตั้มกับภูมิก็ถูกนำเสนอในลักษณะค่อนข้างคลุมเครืออยู่ไม่น้อย แน่นอน เงินมรดกน่าจะเป็นเป้าหมายหลัก มิเช่นนั้นแล้วพวกเขาคงไม่วางแผนฆ่าทุกคนเพื่อรับประกันว่าจะเหลือเพียงตั้มเป็นเจ้าของทรัพย์สินทุกอย่างแต่เพียงผู้เดียว แต่หนังดูเหมือนจะให้น้ำหนักกับประเด็นการถูกกดขี่ ข่มเหงมากกว่าความโลภโมโทสัน ด้วยเหตุนี้ความรุนแรงในตอนท้ายจึงให้อารมณ์เหมือนเป็นการ “เอาคืน” มากกว่าแค่ฆ่าเพื่อชิงทรัพย์สมบัติ ดังจะเห็นได้จากปฏิกิริยาเรียบเฉยของตั้ม ขณะเดินสำรวจ “ผลงาน” โดยไม่รู้สึกหวาดกลัว หรือตื่นตระหนกกับสภาพหดหู่ หรือชวนสยองที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าเลยแม้แต่น้อย

ผู้กำกับ อนุชา บุญยวรรธนะ นำเสนอตัวละครและเหตุการณ์ต่างๆ โดยปราศจากการตัดสิน เช่นเดียวกับนัยยะจากชื่อหนังภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาสั้นๆ ที่เชื่อมต่อระหว่างกลางวันกับกลางคืน ทุกอย่างช่างดูขมุกขมัว เป็นสีเทาๆ เกินกว่าจะสามารถแยกขาวออกจากดำ ไม่แตกต่างจากผืนน้ำซึ่งอาจมีฝุ่นผงลอยปะปนอยู่บ้าง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เน่าเสียจนไม่อาจมองทะลุขึ้นไปยังท้องฟ้าเบื้องบน ตั้มไม่ได้ถูกวาดภาพให้เป็นปีศาจร้าย เขาตกเป็นเหยื่อถูกกระทำมากพอๆ กับเป็นอาชญากรใจโหด นอกจากนี้หากหลายฉากที่สระว่ายน้ำเปรียบเสมือนภาพความฝันเพื่อสำรวจลึกถึงจิตใต้สำนึกของตั้ม หนังก็สื่อเป็นนัยให้เห็นว่าเขาหาได้เฉยชาต่อสิ่งเลวร้ายที่ตนกระทำ หรือวางแผนจะทำอย่างสิ้นเชิง คราบสกปรกรูปทรงคล้ายคนก็ไม่ต่างจากความรู้สึกผิด ความหวาดกลัวการถูกตัดสิน หรือความกลัวว่าจะถูกจับได้ ซึ่งเขาพยายามจะลบล้างออก แต่ก็ไม่สำเร็จ และสุดท้ายมันคงตามหลอกหลอนเขาไปตลอดดุจเดียวกับผีที่เขามองไม่เห็น

กระนั้นการกระทำของตั้มก็ห่างไกลจากความชอบธรรมเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวอร์ชั่นหนังยาวซึ่งบทบาทของแม่ (ดวงใจ หิรัญศรีถูกใส่เพิ่มเข้ามาจากเวอร์ชั่นหนังสั้นในซีรีส์ชุด เพื่อนเฮี้ยน..โรงเรียนหลอน อย่างเห็นได้ชัด คนดูจะได้เห็นว่าเธอหาใช่แค่กระบอกเสียงของ “พ่อ” แบบในเวอร์ชั่นหนังสั้น เพราะลึกๆ แล้วเธอรักและเป็นห่วงตั้ม คอยดูแลเขายามป่วยไข้ อีกทั้งยังพร้อมเปิดใจต้อนรับเพื่อนชายของลูก เพียงแต่เธออ่อนแอเกินกว่าจะขัดใจหัวหน้าครอบครัว แง่มุมอ่อนโยนที่เพิ่มเข้ามาทำให้อาชญากรรมของตั้มทวีความรุนแรงและสะเทือนขวัญยิ่งขึ้น รวมไปถึงช็อตสุดช็อกซึ่งแน่นอนว่าถูกตัดออกจากเวอร์ชั่นหนังสั้น เมื่อเขาพลิกใบหน้าแม่ที่นอนตายขึ้นมา เผยให้เห็นสภาพที่ชวนสลดและชวนสยองในเวลาเดียวกัน เธออาจไม่ใช่คุณแม่ตัวอย่างที่เปิดใจยอมรับและยืนหยัดเคียงข้างลูกชาย แต่ความไม่สมบูรณ์แบบเยี่ยงมนุษย์ปุถุชนทั่วไปดังกล่าวทำให้เธอคู่ควรกับชะตากรรมอันโหดร้ายขนาดนั้นหรือ

หากมองในความเป็นภาพยนตร์รักร่วมเพศ เปลือกนอกของอนธการอาจดูเหมือนซ้ำซาก หัวโบราณเนื่องจากมันยืนกรานให้ตัวละครรักร่วมเพศประสบชะตากรรมอันหม่นเศร้า ไร้ความสุข ไม่เป็นที่ยอมรับ และแปลกแยกจากสังคม แต่ความแปลกใหม่ น่าตื่นเต้น ซุกซ่อนอยู่ในพลังโกรธขึ้ง คับแค้น ซึ่งคุกรุ่นอยู่ภายใต้ผืนน้ำอันสงบนิ่ง ก่อนจะระเบิดออกมาเป็นความสุดโต่งแบบที่แทบไม่เคยปรากฏในภาพยนตร์ไทยมาก่อน ขณะเดียวกันการไม่คำนึงว่าจะต้องนำเสนอรักร่วมเพศในเชิงบวกยังทำให้หนังสามารถถูกจัดเข้ากลุ่ม New Queer Cinema ในยุค 90 ได้อย่างแนบเนียน

ภูมิทัศน์อันรกร้างว่างเปล่า แต่เจือความเป็นส่วนตัว เปรียบเสมือนความเปลี่ยวเหงา แปลกแยกของรักร่วมเพศที่ถูกกีดกันออกจากสังคมรักต่างเพศ ส่วนความเน่าเปื่อย ผุพัง ของสถานที่เหล่านั้นก็สะท้อนสภาพบอบช้ำทางจิตใจของรักร่วมเพศที่ถูกกดขี่ บีบคั้น ให้รู้สึกผิดต่อเพศวิถีอันแตกต่างด้วยคำพูด ซึ่งเปลือกนอกอาจดูเคลือบฉาบไว้ด้วยความน่าสงสาร แต่ภายในกลับแฝงการกดทับ กีดกันอย่าง “เปลี่ยนได้มั้ย” และ “แม่เลี้ยงตั้มไม่ดีใช่มั้ย” ราวกับว่าหากพวกเขาไม่อาจปรับตัวให้กลมกลืนกับบรรทัดฐานแห่งรักต่างเพศ ชีวิตก็จะต้องประสบกับความฉิบหายวายวอดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ด้วยเหตุนี้ฉากพลอดรักระหว่างสองตัวละครเอกทั้งในห้องน้ำสกปรกและกองขยะจึงให้ความรู้สึกอ่อนโยน งดงามไปพร้อมๆ กับอารมณ์สลด หดหู่ เมื่อมนุษย์สองคนได้ร่วมแบ่งปันความโดดเดี่ยว เปิดเผยบาดแผลทางจิตใจ แต่ความใกล้ชิดและการแสดงความรักดังกล่าวกลับถูกบีบให้ปราศจากพื้นที่ในสังคมจนต้องถอยร่นเข้าหาซอกหลืบที่ถูกปล่อยทิ้งให้เสื่อมโทรม

น้ำตาถูกใช้เป็นอาวุธสำหรับประหัตประหารน้ำใจจนนำไปสู่ปมเกลียดตัวเอง เช่นเดียวกับวาทกรรมซึ่งภูมิเอ่ยอ้างถึงในฉากหนึ่งว่า คนเป็นเกย์มักถูกกดดันให้ต้องพยายามให้มากขึ้น ทำดีให้มากขึ้น เพื่อพิสูจน์ตัวเองให้พ่อแม่ได้เห็นว่าพวกเขาก็สามารถทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจได้ ราวกับว่ารสนิยมอันแตกต่างเป็นความผิด เป็นอาชญากรรมที่คุณก่อ และต้องลบล้างตราบาปนั้นด้วยการ “ทำดี” ให้มากขึ้น “นี่ถ้ากูเป็นเกย์แล้วกูไม่ประสบความสำเร็จ กูแม่งโคตรเลวเลยใช่เปล่าวะ แบบนี้แม่งโคตรไม่ยุติธรรมเลยว่ะ” เขาสรุปตบท้าย

สิ่งเดียวที่น่าหวาดกลัว น่ารังเกียจอย่างแท้จริงในหนัง คือ บรรทัดฐานแห่งรักต่างเพศและปิตาธิปไตย ซึ่งมีตัวแทนเป็น “ผีบังตา” และพ่อของตั้ม เพราะทั้งสองเป็นตัวละครที่คนดูไม่มีโอกาสได้เห็นใบหน้า แต่กลับแสดงอำนาจบาตรใหญ่ในการชี้เป็นชี้ตายชะตากรรมของมนุษย์ เมื่อมองผ่านเลนส์แห่งรักร่วมเพศ การฆ่ายกครัวจึงหาใช่เพียงการฆ่าเพื่อหวังมรดกเท่านั้น แต่ยังเป็นดังสัญลักษณ์ของการรื้อทำลายบรรทัดฐานรักต่างเพศ ซึ่งเจริญงอกงามจากแนวคิดครอบครัวแบบพ่อแม่ลูกที่โดนครอบงำอีกชั้นด้วยสถานะแบบชายเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้าครอบครัว

ในทางตรงกันข้าม เกมดำน้ำของภูมิ ซึ่งมองเผินๆ อาจไม่ต่างจากความพยายามที่จะหลบหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงอันเจ็บปวด แม้จะเพียงชั่วครู่ชั่วยามก็ตาม แต่โดยนัยยะแล้วเปรียบได้กับการเชิดชูมนุษย์ในฐานะปัจเจกชน แล้วปลดปล่อยพวกเขาจากความคาดหวัง ความโหยหาที่จะเป็นส่วนร่วม พร้อมกับมองทุกคนในฐานะหนึ่งหน่วยที่แตกต่างหลากหลาย แต่มีความเท่าเทียมกัน หนึ่งหน่วยที่มีสิทธิ์จะเลือกทางเดินของชีวิต พร้อมกับรับผลอันเกิดจากการตัดสินใจเลือกเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ ฉากจบที่ลงตัวอย่างหมดจดงดงามจึงเป็นภาพภูมิกับตั้มค่อยๆ ดำดิ่งลงในลำธาร ก่อนหนังจะปิดท้ายด้วยช็อตแทนสายตาตัวละครมองผ่านผืนน้ำขึ้นไปยังท้องฟ้า... ผืนน้ำที่มีฝุ่นตะกอนขุ่นมัวและท้องฟ้าที่ปราศจากเส้นแบ่งเขต

ไม่มีความคิดเห็น: