วันพฤหัสบดี, มีนาคม 14, 2556

Silver Linings Playbook: โลกสวยด้วยมือเรา



ผู้กำกับ เดวิด โอ. รัสเซลล์ เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาสนใจสร้างหนังเรื่อง Silver Linings Playbook ซึ่งดัดแปลงจากนิยายของ แม็ทธิว ควิค สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะลูกชายเขาก็มีอาการโรคอารมณ์สองขั้วแบบเดียวกับตัวละครเอก ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเขาจะรู้สึกมีอารมณ์ร่วมอย่างรุนแรงกับเรื่องราวของชายหนุ่ม ที่สามารถฉุดตัวเองขึ้นจากหุบเหวแห่งความล้มเหลวและหลุมพรางทางอารมณ์ แล้วค้นพบความสุข ความสำเร็จด้วยแรงสนับสนุนของทุกคนรอบข้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวเขา แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่อาจปฏิเสธว่าหลากหลายพฤติกรรม ตลอดจนพัฒนาการของ แพ็ท จูเนียร์ (แบรดลีย์ คูเปอร์) ก็สะท้อนชีวิตจริงของรัสเซลล์อยู่กลายๆ และบางทีการคิดบวก หรือพยายามมองหาสิ่งดีๆ จากสภาพแวดล้อมอันหดหู่ มืดมนไร้ทางออกอาจเป็นทฤษฎีที่รัสเซลล์เองยินดีรับมาปฏิบัติตาม ส่งผลให้หนังสองเรื่องหลังของเขายืนกรานที่จะสร้างความรู้สึกดีๆให้แก่ผู้ชม เพื่อให้เรามองชีวิตด้วยแววตาที่อ่อนโยนขึ้น

นี่เป็นสารที่ห่างไกลจากภาพลักษณ์ของชายที่ตะโกนด่านักแสดง และพังทำลายฉากในระหว่างการถ่ายทำหนังตลกเกี่ยวกับอัตถิภาวนิยมเรื่อง I Heart Huckabees อยู่มากโข แต่ไม่ยากต่อการคาดเดา หลังจากหนังปูพื้นไว้ตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องเมื่อแพ็ทระบายความหงุดหงิดต่อ เออร์เนส เฮมมิงเวย์ โดยการเขวี้ยงนิยาย A Farewell to Arms ทะลุกระจกหน้าต่าง หลังพบว่าตัวละครเอกต้องสูญเสียคนรักอย่างกะทันหันจากภาวะตกเลือดขณะคลอดลูก โลกนี้มันอยู่ยากขึ้นทุกวัน ทำไมเราถึงไม่รู้จักมองแง่บวก แล้วค้นหาฉากจบที่ให้ความหวังกับเรื่องราวบ้างเขากล่าว

ข้อติติงของแพ็ทต่อ A Farewell to Arms และอาจหมายรวมถึงนิยายอย่าง Lord of the Flies ด้วยนั้น (เขาพยายามจะเอาชนะใจภรรยาด้วยการอ่านหนังสือนอกเวลาทุกเล่มที่เธอใช้สอนนักเรียน) ได้รับการโต้กลับจากทิฟฟานี (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) ซึ่งเขียนจดหมายในนามของภรรยาแพ็ทว่า ผลงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่เหล่านั้นสะท้อนความจริงว่าบางครั้งชีวิตอาจเต็มไปด้วยความลำบากยากเข็ญ ความผิดหวัง ความมืดหม่น และการสอนมันในโรงเรียนจะช่วยเตรียมเด็กให้พร้อมสำหรับแง่มุมอันไม่น่าพิสมัยของชีวิต

หลังจากดำรงตำแหน่งขวัญใจวงการหนังอินดี้อยู่พักใหญ่ผ่านผลงานอย่าง Spanking the Monkey และ Flirting with Disaster และสร้างหนังพิลึกพิลั่นที่กลายเป็นขวัญใจคนกลุ่มน้อยอย่าง I Heart Huckabees รัสเซลล์ก็ห่างหายจากวงการไปนานกว่า 6 ปี ก่อนจะหวนคืนวงการด้วยภาพลักษณ์ใหม่ (ทัศนคติใหม่?) โดยผลงานสองชิ้นล่าสุดของเขาดำเนินเรื่องอยู่ภายใต้สูตรสำเร็จที่ชัดเจน สะท้อนมุมมองต่อโลกในแง่ดีขึ้น เข้าถึงคนดูกระแสหลักได้มากกว่า  และไม่ได้ท้าทายคนดูด้วยการผสมผสานแนวทางภาพยนตร์ (genre) หรือนำเสนอประเด็นสุ่มเสี่ยงต่อศีลธรรมเหมือนในผลงานยุคแรก ตรงกันข้าม อาจกล่าวได้ว่า The Fighter คือ การนำเอาเหล้าเก่า (aka Rocky) มากรอกใส่ขวดใหม่ที่อาจให้ความรู้สึกสมจริงมากกว่าผ่านตัวละครชนชั้นล่าง ประเด็นการติดยา กลิ่นอายของสไตล์สารคดี แม้ว่าโดยเนื้อแท้แล้วจะปรุงแต่งทางอารมณ์เพื่อให้คนดูฮึกเหิม อิ่มเอมไปกับความสำเร็จของตัวละครไม่แพ้กัน

เป้าหมายถัดมาของรัสเซลล์ คือ แนวทางตลก-โรแมนติก แต่เห็นได้ชัดว่า Silver Linings Playbook ห่างไกลจากหนังที่นำแสดงโดย แคทเธอรีน ไฮเกล หรือ เคท ฮัดสัน ราวกับอยู่คนละโลก แล้วเฉียดใกล้ผลงานสไตล์ screwball comedy ซึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงทศวรรษ 1930 มากกว่า  โดยเฉพาะจากบทสนทนาอันพลุ่งพล่าน โต้ตอบไปมาอย่างรวดเร็ว และการนำเสนอบุคลิกของตัวละครอย่างทิฟฟานี ที่แกร่งกล้า ปากจัด เธอรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และไม่กลัวที่จะไขว่คว้ามาครอบครอง

แต่เช่นเคย รัสเซลล์ไม่ลืมที่จะสอดแทรกความชอบส่วนตัวของเขาเข้ามาในรูปแบบอันคุ้นเคย เพื่อสร้างความรู้สึกสดใหม่ให้กับเหล้าขวดเก่า เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับความผิดปกติในครอบครัว ซึ่งครั้งนี้อาจไม่ได้รุนแรงเหมือนกรณี Spanking the Monkey (การสมสู่ร่วมสายโลหิต) แต่ก็กล่าวได้ว่าครอบครัวโซลิทาโนใน Silver Linings Playbook นั้น สติแตกได้ไม่แพ้ครอบครัว วอร์ดใน The Fighter กันเลยทีเดียว ทั้งลูกชายที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้ว และพ่อ (โรเบิร์ต เดอ นีโร) ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ แถมยังหมกมุ่นกับเรื่องโชคลาง ฟุตบอล และการพนัน โดยต่างก็พร้อมจะระเบิดอารมณ์เข้าใส่กันได้ทุกเวลา นอกจากนี้ รัสเซลล์ยังคงเอกลักษณ์ของสไตล์งานด้านภาพเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ผ่านการเคลื่อนไหวที่วูบวาบด้วยสเตดิแคมผสมแฮนด์เฮลด์ โดยบางครั้งกล้องก็เคลื่อนเข้าประชิดตัวละครอย่างฉับพลัน บ้างก็หมุนวนไปรอบๆ และบางครั้งกลับถอยห่างอย่างรวดเร็วจนเปรียบได้กับอารมณ์วูบวาบ ขึ้นๆ ลงๆ ของตัวละคร ซึ่งเป็นทั้งเสน่ห์น่าสนใจ และสร้างความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยให้คนดูในเวลาเดียวกัน

ความมืดหม่นและเจ็บปวดที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังสถานการณ์ ซึ่งอาจดูตลกขบขัน เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยยกระดับ Silver Linings Playbook เหนือผลงานสูตรสำเร็จชวนฝันเรื่องอื่นๆ กล่าวคือ มันอาจยืนกรานที่จะนำเสนอการมองโลกในแง่ดี แต่ก็ไม่ได้มองข้ามความยากเข็ญของชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง อารมณ์โกรธขึ้ง คับแค้นที่รอนนี (จอห์น ออร์ทิซ) เพื่อนสนิทของแพ็ท พยายามเก็บกดเอาไว้ภายใน จากการถูกภรรยาจอมบงการควบคุมและกดดันทุกฝีก้าวอาจดูน่าหัวเราะ แต่ในเวลาเดียวกันก็น่าเศร้าและเจ็บปวดอยู่ลึกๆ หนัง screwball comedy มักเจือแง่มุมความขัดแย้งระหว่างชนชั้นเอาไว้ ส่วนความขัดแย้งที่เห็นเด่นชัดใน Silver Linings Playbook ไม่ได้เกี่ยวกับสถานะทางสังคม หากแต่เป็นความแตกต่างระหว่างมาตรฐานกับคนนอกกรอบ หรือพูดชัดๆ ลงไปอีกอย่าง คือ ระหว่างคนดีกับคนบ้า โดยมีเพียงเส้นบางๆ กั้นอยู่ตรงกลาง

ฉากที่เวโรนิกา (จูเลีย สไตล์ส) พาแพ็ทกับทิฟฟานีเดินทัวร์บ้านแสนสวยของเธอเปรียบเหมือนความพยายามจะเกทับของคนกลุ่มแรก เช่นเดียวกับฉากเจค (เชีย วิคแกม) คุยโวถึงความสำเร็จต่างๆ นานาของตนต่อหน้าน้องชายที่ล้มเหลวในแทบทุกด้าน แต่เนื่องจากหนังโน้มน้าวให้คนดูอยู่ข้างเดียวกับฝ่ายหลัง จึงไม่แปลกที่ ความปกติเหล่านั้น (บ้านที่เต็มไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกฟุ้งเฟ้อ และความทะเยอทะยานในอาชีพการงาน) จะดูไร้สาระ และบางทีอาจก้าวเข้าข่ายบ้าคลั่งอยู่กลายๆ (อย่างน้อยมันก็แทบจะทำให้รอนนีก้าวผ่านจากกลุ่มแรกไปอยู่กลุ่มหลังอยู่รอมร่อ) แน่นอน สำหรับแพ็ทและทิฟฟานี ลำพังแค่การรับมือกับพายุอารมณ์ตัวเองก็ถือว่ายากลำบากเพียงพอแล้ว พวกเขาย่อมไม่เหลือเวลาพอสำหรับเตาผิงติดผนัง หรือพอร์ตต่อไอพ็อดเข้ากับลำโพงในทุกๆ ห้องของบ้าน

ปัญหาของแพ็ทไม่ได้อยู่แค่โรคอารมณ์สองขั้วเท่านั้น ความมุ่งมั่นที่จะคิดบวก ทำให้เขามองข้ามความจริงซึ่งทุกคนรอบข้างเห็นได้ถนัดชัดเจน แต่เขากลับมืดบอด เช่น การพยายามจะขอคืนดีกับภรรยา ทั้งๆ ที่เธอนอกใจเขากับครูสอนประวัติศาสตร์ ซึ่งลงเอยด้วยการที่เขาซ้อมชายชู้จนปางตาย ถูกศาลตัดสินให้เข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลโรคจิต และสั่งห้ามเข้าใกล้ภรรยาในระยะ 500 ฟุต กระนั้นแพ็ทก็ยังคิดว่าตัวเองไม่ดีพอสำหรับเธอ จนต้องเริ่มฟิตหุ่น หรืออ่านหนังสือที่เธอสอนในโรงเรียน เขามองตัวเองไม่ต่างจากถึงขยะที่เขาสวมใส่เพื่อนเรียกเหงื่อทุกครั้งที่ออกไปวิ่ง เขาโทษความผิดทุกอย่างไปยังโรคร้าย ไปยังเหตุระเบิดอารมณ์ แค่ครั้งเดียวโดยไม่ไตร่ตรองถึงความบาดหมาง หรือเหินห่างก่อนหน้าจนนำไปสู่การนอกใจ เขาพยายามจะเอาชนะปีศาจในใจด้วยการลืมทุกความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้วเริ่มต้นใหม่ แทนการเรียนรู้ที่จะทำใจยอมรับข้อจำกัดของตน แล้วใช้ชีวิตร่วมกับมันอย่างสงบสุข

คงไม่มีใครเข้าใจแพ็ทได้ดีไปกว่าทิฟฟานี เพราะเธอก็เคยผ่านช่วงเวลาเหยียบย่ำตนเองมาแล้ว หลังสูญเสียสามีไปกับอุบัติเหตุรถชน เธอคิดว่าเซ็กซ์จะช่วยเติมเต็มความรู้สึกว่างเปล่า บรรเทาความเศร้าภายในจิตใจ เธอนำเสนอเรือนร่างให้คนแปลกหน้าเพื่อจะได้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เป็นที่ต้องการ แม้จะเพียงช่วงเวลาประเดี๋ยวประด๋าวก็ตาม แน่นอน วิธีรับมือกับความสูญเสียของเธอย่อมต้องแลกด้วยราคาค่อนข้างสูง ทั้งการถูกไล่ออกจากงาน และถูกมองเป็นเพียงวัตถุทางเพศที่ปราศจากหัวจิตหัวใจ พร้อมกันนั้นเธอได้สร้างบุคลิกจัดจ้านก่อเป็นกำแพงภายนอก ทั้งการแต่งหน้าเข้ม หรือวิธีพูดจาแบบขวานผ่าซากเพื่อปกปิดความเปราะบางภายใน และอารมณ์โหยหาความรัก ความเอาใจใส่

ตรงตามสูตรสำเร็จ วิกฤติต่างๆ ซึ่งดูหนักหน่วง สาหัสพอตัวในช่วงต้นเรื่อง กลับค่อยๆ คลี่คลายได้อย่างราบรื่นในตอนท้าย สองจิตวิญญาณที่บาดเจ็บได้ช่วยกันเยียวยา เติมเต็มกันและกัน และต่างเรียนรู้ที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างสุขสม แม้กระทั่งหายนะทางด้านการเงินภายในครอบครัว (พ่อตกงาน ถูกตัดบำนาญ และสูญเงินก้อนโตที่เก็บสะสมไว้เปิดร้านอาหารไปกับการพนันฟุตบอล) ก็ได้รับการเยียวยาไปพร้อมๆ กันผ่านฉากไคล์แม็กซ์ที่ช่วยเติมเต็มความหวังและเรียกเสียงเชียร์จากคนดูได้อย่าง หมดใจ

เช่นเดียวกับหนัง screwball comedy ซึ่งเจริญงอกงามในช่วงยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่ก่อนหน้าการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง Silver Linings Playbook อาจเป็นความบันเทิงที่เหมาะสำหรับปลอบประโลมอเมริกาในขณะนี้ เมื่อสภาพเศรษฐกิจกำลังดิ่งลงเหว ภาวะข้าวยากหมากแพงแพร่กระจายทั่วทุกหัวระแหง บ้านถูกเวนคืน ผู้คนถูกไล่ออกจากงาน (หนังกล่าวถึงสิ่งเหล่านี้แบบผ่านๆ) เช่นนี้แล้วเราจะใช้ชีวิตท่ามกลางความผันผวน หดหูเช่นนี้ได้อย่างไร หากไม่รู้จักค้นหาแง่งามจากความสิ้นหวัง การลงเอยด้วยความสุขสันต์อาจเป็นแค่ปุ่มทำงานอัตโนมัติของหนังตลก-โรแมนติกหลายๆ เรื่อง แต่บางทีสำหรับหนังเรื่องนี้ อาจกล่าวได้ว่ามันคือความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

ไม่มีความคิดเห็น: