วันพฤหัสบดี, มีนาคม 14, 2556

Oscar 2013: ปีแห่งการแบ่งปันความสุข



บทสรุปของออสการ์ปีนี้ไม่ถือว่ายากต่อคาดเดาในแง่ที่ว่ารางวัลถูกกระจายแจกจ่ายไปอย่างทั่วถึง เมื่อพิจารณาว่ามันเป็นปีที่เต็มไปด้วยหนังแข็งๆ มากมาย แต่กลับไม่มีเรื่องใดถูกใจคณะกรรมการแบบโดดเด้ง สังเกตได้จากรางวัลใหญ่ 4 สาขาได้แก่ ภาพยนตร์, ผู้กำกับ, นำชาย และนำหญิง ตกเป็นของหนัง เต็งแถวหน้า อย่าง Argo, Life of Pi, Lincoln และ Silver Linings Playbook ตามลำดับ ส่วนรางวัลสมทบชายและหญิงก็ตกเป็นของนักแสดงจากหนัง พระรองที่ได้เข้าชิงสาขาสูงสุดอีกสองเรื่อง คือ Django Unchained และ Les Miserables จากนั้นเมื่อผนวกเข้ากับรางวัลลำดับเสียงยอดเยี่ยมของ Zero Dark Thirty และรางวัลหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมของ Amour ก็ปรากฏว่า Beasts of the Southern Wild กลายเป็นหนังเรื่องเดียวที่ต้องกลับบ้านมือเปล่าจากการเข้าชิง 4 สาขา (ซึ่งถือว่าน้อยสุดในบรรดา 9 เรื่อง)

น่าตลกตรงที่ก่อนหน้านี้ Beasts of the Southern Wild เคยเป็นผู้ชนะที่ใครๆ ก็กล่าวถึงในวันประกาศรายชื่อผู้เข้าชิง เมื่อผลงานอินดี้เล็กๆ เรื่องนี้เบียดเข้าชิงในสาขาสำคัญๆ อย่าง ผู้กำกับและนักแสดงนำหญิงได้สำเร็จ เขี่ยตัวเก็งรุ่นใหญ่อย่าง มาริยง โกติญาร์ (Rust and Bone) เฮเลน เมียร์เรน (Hitchcock) เบน อัฟเฟล็ค  (Argo) และ แคธลีน บิเกโลว์ (Zero Dark Thirty) ได้ชนิดเหนือความคาดหมาย... แต่พอถึงวันประกาศผล มันกลับพลิกสถานะมาเป็นผู้แพ้ (คราวนี้ตามความคาดหมายของทุกคน) ไปซะงั้น

รางวัลผู้กำกับอาจเป็นที่เซอร์ไพรซ์ของคนหลายคน แต่ไม่ใช่ในหมู่บล็อกเกอร์ออสการ์ ซึ่งกลับลำมายกให้อังลีเป็นเต็งหนึ่งในช่วงโค้งสุดท้าย เมื่อปรากฏว่ากระแส Lincoln เริ่มแผ่วลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน หากจะมองกันตามเนื้อผ้าแล้ว ผลลัพธ์ดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะ Life of Pi เป็นหนังที่ต้องพึ่งพา วิสัยทัศน์ตลอดจนความกล้าหาญของนักทำหนังอย่างชัดเจน เป็นผลงานของผู้กำกับอย่างแท้จริง ดังนั้นมันจึงได้คะแนนท่ายากเหนือคู่แข่ง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหนังนิ่งๆ เนือยๆ และสิ้นไร้ ความเป็นสปีลเบิร์กแบบ Lincoln

นอกจากนี้ อาจกล่าวได้ว่ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมถือเป็นของสมนาคุณตบท้ายแด่อังลี ที่ผลักดันให้ Life of Pi ซึ่งดัดแปลงจากนิยายที่หลายคนยืนกรานว่า ไม่สามารถทำเป็นหนังได้กลายเป็นภาพยนตร์สุดฮิตแห่งปี (ทำเงินทั่วโลกสูงสุดในบรรดาหนังทั้ง 9 เรื่องที่เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วยตัวเลข 570 ล้านเหรียญ ทิ้งห่างอันดับสองและสาม คือ Les Miserables กับ Django Unchained ราว 200 ล้านเหรียญ) ทั้งที่ก่อนหน้านี้หลายคนเชื่อว่าด้วยทุนสร้างมากกว่า 120 ล้าน มันมีสิทธิ์จะกลายเป็นหายนะบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศเนื่องจากเนื้อเรื่องที่เบาบางเกี่ยวกับประเด็นศรัทธา  ความคลุมเครือของฉากจบ และการปราศจากนักแสดงที่คนดูพอจะรู้จัก

รางวัลที่เซอร์ไพรซ์กว่า คือ คริสตอฟ วอลซ์ ในสาขาสมทบชาย จริงอยู่ เขาอาจคว้าลูกโลกทองคำกับ BAFTA มาครอง แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าสาขานี้น่าจะเป็นการฟาดฟันกันระหว่าง โรเบิร์ต เดอ นีโร ซึ่งออกมาเดินสายโปรโมตอย่างหนัก และ ทอมมี ลี โจนส์ ซึ่งได้ SAG ที่สำคัญ ทั้งสองไม่ได้เพิ่งคว้ารางวัลออสการ์สาขาเดียวกันนี้มาครองเมื่อ 3 ปีก่อนเหมือนวอลซ์จากการแสดงที่คล้ายคลึงกันมาก แค่พลิกจากบทตัวร้ายมาเป็นคนดี อีกรางวัลที่น่าแปลกใจไม่น้อย คือ Brave ในสาขาหนังการ์ตูนยอดเยี่ยม ทั้งนี้เพราะมันไม่ใช่ผลงานพิกซาร์ที่แข็งแกร่ง ขณะเดียวกันคู่แข่งคนอื่นๆ ก็ดูจะได้เปรียบกว่าในแง่เสียงสนับสนุนจากนักวิจารณ์

เส้นทางสู่ออสการ์ของ Argo นั้นเรียกได้ว่าวกวน ขึ้นๆ ลงๆ ราวกับรถไฟเหาะ เริ่มต้นจากการพีคถึงขีดสุดในเทศกาลโตรอนโต ก่อนจะค่อยๆ แผ่วลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมการเปิดตัวของหนังที่แนวทางใกล้เคียงกัน แต่จริงจังและเป็นที่ชื่นชอบของนักวิจารณ์มากกว่าอย่าง Zero Dark Thirty แต่เมื่อหนังของ แคธลีน บิเกโลว์ ถูกขัดขาด้วยข่าวอื้อฉาวและการเรียกสอบสวน Lincoln, Life of Pi กับ Silver Linings Playbook ก็ฉวยโอกาสตีตื้นด้วยการได้เข้าชิงออสการ์ครบทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม แต่แล้ว (ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนเริ่มรู้สึกเห็นใจ เบน อัฟเฟล็ค ที่ถูกกรรมการออสการ์กลุ่มผู้กำกับมองข้าม) Argo กลับถีบตัวขึ้นมาพีคอีกครั้งเป็นรอบที่สองด้วยการกวาดรางวัลสำคัญๆ มาครองอย่างครบถ้วน ทั้งลูกโลกทองคำ, SAG, DGA, WGA และ BAFTA จนทำให้การคว้ารางวัลสูงสุดบนเวทีออสการ์กลายเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว

สำหรับภาพรวมของงานในปีนี้ ดูเหมือนว่าพิธีกร เซ็ธ แม็คฟาร์เลน จะโดนสวดยับจากการเล่นมุกตลกที่ค่อนข้างต่ำ เกรียน และไร้รสนิยม (สำหรับมาตรฐานของงานออสการ์) แต่การที่บางคนถึงขนาดบอกว่าเขาเป็นพิธีกรที่ห่วยที่สุดในประวัติศาสตร์ออสการ์ก็ออกจะเป็นข้อกล่าวหาที่เกินจริงไปสักหน่อย ทั้งนี้เพราะ แอนน์ แฮทธาเวย์ กับ เจมส์ ฟรังโก้ สร้างมาตรฐานต่ำตมไว้สูงลิ่วชนิดที่ใครก็ยากจะเอาชนะได้ อย่างไรก็ตาม มุกตลกแว๊นๆ ของแม็คฟาร์เลนไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสักเท่าไหร่ พิจารณาจากผลงานในอดีตของเขา และคงเป็นความตั้งใจด้วยซ้ำ เนื่องจากออสการ์ในช่วงสามสี่ปีหลังพยายามอย่างสุดชีวิตที่จะดึงดูดกลุ่มคนดูวัยรุ่น จนบางครั้งก็ลืมไปว่าชื่อรางวัล คือ ออสการ์ ไม่ใช่ MTV Movie Awards (เรตติ้งของงานปีนี้สูงกว่าปีก่อน 3% ส่วนหนึ่งคงต้องยกประโยชน์ให้บรรดาหนังที่ได้เข้าชิง ซึ่งป็อปปูล่ากว่าหนังเต็งในปีก่อนอย่าง The Artist, Hugo และ The Descendants อยู่หลายเท่า)

สิ่งที่ควรจะถูกวิพากษ์มากกว่า คือ การกำกับซึ่งถ้าเทียบไปแล้วก็เหมือนหนังที่จังหวะแปรปรวน ขาดความลื่นไหลอย่างสิ้นเชิง เช่น ช่วงเปิดตัวที่นานเกินไป (เกือบ 20 นาที) ความยืดย้วยซ้ำซ้อนของการร้องเพลง (นี่ไม่ใช่งานประกาศรางวัลโทนี่นะ) เสียงออร์เคสตร้าที่ดังจนแทบจะกลบเสียงร้องของอเดล (เรียกง่ายๆ ว่า เสียของ”) การที่กล้องไม่ยอมตัดภาพไปยังปฏิกิริยาของผู้คนในงาน (และเมื่อตัด ก็ดันตัดผิดซะอีก เช่น เมื่อ รีส วิทเธอร์สพูน แนะนำหนังเรื่อง Beasts of the Southern Wild กล้องดันตัดภาพไปยังทีมนักแสดง Silver Linings Playbook) การแนะนำหนังยอดเยี่ยมแบบเป็นแพ็คสามเรื่องควบ ฯลฯ ซ้ำร้าย คนประกาศรางวัลในปีนี้ก็ขาดสีสัน หรือตัวตลกที่จะมาขโมยซีนในแบบ วิล เฟอร์เรล หรือ เบน สติลเลอร์ หรือ (ในอดีต) จิม แคร์รี ตรงกันข้าม เรากลับได้ทีมนักแสดงจาก The Avengers ที่มาแบบมึนๆ และการจับคู่แบบฝืดๆ ของ พอล รัดด์ กับ เมลิสสา แม็ธคาธีย์


นาทีแห่งความประทับใจ

ต้องขอบคุณชุดกระโปรงบานและฟูฟ่องราวกับชุดแต่งงานของ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ เพราะภาพที่เธอเดินสะดุดตรงบันได (แบบสวยๆ พอเป็นพิธี ไม่ได้หน้าคะมำจนเลือดตกยางออก) ระหว่างขึ้นไปรับรางวัลสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จะกลายเป็นช็อตคลาสสิกของงานออสการ์ไปอีกนานแสนนาน นอกจากนี้ อุบัติเหตุดังกล่าวยังกลายเป็นมุกเด็ดให้เธอใช้ถ่อมตนจากการลุกขึ้นยืนปรบมือของคนทั้งหอประชุมได้อย่างน่ารัก (“พวกคุณลุกขึ้นยืนเพราะแค่รู้สึกแย่ที่ฉันสะดุดล้ม มันน่าอายมากๆ แต่ก็ขอบคุณค่ะ”) สุนทรพจน์ของเธอค่อนข้างสั้น (เธอลืมกล่าวถึง เดวิด โอ. รัสเซลล์ แต่ไม่ลืมอวยพรวันเกิดให้ เอ็มมานูเอล ริวา คู่แข่งคนสำคัญ) ฟังดูไม่เยอะ (aka เบน อัฟเฟล็ค) และจริงใจ... ใครหลายคนอาจตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของเธอในการคว้ารางวัลนี้มาครอง แต่ทุกคนต่างเห็นตรงกันเกี่ยวกับบุคลิกน่ารัก ติดดิน และปราศจากความเฟคของเธอ (ถึง แอนน์ แฮทธาเวย์... ดูไว้เป็นตัวอย่างนะจ๊ะ เพราะน้ำเสียงตอนหนูพูดว่า มันกลายเป็นจริงแล้ว ฟังดูไม่เนียนอย่างแรง จนไม่น่าเชื่อว่าจะหลุดจากปากของนักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ อีกอย่างเลิกท่องรายชื่อคนแบบไม่จบไม่สิ้นเสียทีเถอะ เพราะนี่ไม่ใช่เกมทดสอบความจำ)  

* น้ำเสียงของ บาร์บรา สตรัยแซนด์ อาจไม่ใสปิ๊งเหมือนก่อน แต่เมื่อเธอออกมาครวญเพลง The Way We Were เพื่อรำลึกถึงการจากไปของ มาร์วิน แฮมลิช นักแต่งเพลงระดับตำนาน (A Chorus Line เป็นละครเพลงที่ทำให้เขาได้รางวัลโทนีและพูลิทเซอร์ เพลง The Way We Were ที่เขาแต่งให้กับหนังชื่อเดียวกันคว้ารางวัลออสการ์มาครอง นอกจากนี้ เขายังเคยได้รางวัลเอ็มมี่จากการกำกับ Barbra: The Concert อีกด้วย) มนตร์เสน่ห์ของฮอลลีวู้ดก็พลันแผ่กระจายไปทั่ว

ไม่น่าเชื่อว่า แชนนิง ทาทัม (อดีตนักเต้นระบำเปลื้องผ้า) กับ ชาร์ลีซ เธรอน (เคยเรียนบัลเลต์มาก่อน) จะสวมวิญญาณเป็น เฟร็ด แอสแตร กับ จิงเจอร์ โรเจอร์ส ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ท่ามกลางเสียงเพลง The Way You Look Tonight (จากภาพยนตร์เรื่อง Swing Time) ที่ร้องโดย เซ็ธ แม็คฟาร์เลน (ผู้เคยเข้าชิงรางวัลแกรมมีสาขา Best Traditional Pop Vocal Album จากอัลบั้มรวมเพลงเก่าในยุค 1950 ชื่อ Music Is Better Than Words)... และแน่นอน โรบิน (โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์) กับ แฮร์รี พ็อตเตอร์ (เดเนียล แรดคลิฟ) ก็คล่องแคล่วไม่เลวเช่นกันกับเพลง High Hopes

มุกตลกหลายมุกของ เซ็ธ แม็คฟาร์เลน อาจแป๊กชนิดหน้าทิ่ม อีกหลายมุกอาจถูกก่นด่าว่าเหยียดเพศ เหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ และไร้รสนิยม แต่ต้องยอมรับว่าการจำลองฉากเครื่องบินตกใน Flight ด้วยหุ่นมือทำจากถุงเท้า (โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากหุ่นมือถูกปั่นในเครื่องซักผ้า) และมุกตลกแนะนำ คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ ด้วยการจำลองฉากไคล์แม็กซ์ใน The Sound of Music นั้นเรียกเสียงฮาได้พอสมควร เช่นเดียวกับตอนที่แม็คฟาร์เลนพูดว่า ผู้ประกาศรางวัลคนต่อไปไม่จำเป็นต้องได้รับการแนะนำใดๆจากนั้นเขาก็จ้ำอ้าวเข้าหลังเวที พร้อมกับการปรากฏตัวขึ้นของ เมอรีล สตรีพ

สุนทรพจน์ที่ดีที่สุดในงาน ได้แก่ ตอนที่ เดเนียล เดย์-ลูว์อิสต์ ขึ้นไปรับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม เขาผสานความถ่อมตัว ความจริงใจ และอารมณ์ขันได้อย่างลงตัว... ใครจะคิดว่า บิล เดอะ บุทเชอร์ กับ แดเนียล เพลนวิล ก็เล่นมุกกับเขาเป็นเหมือนกัน (“เมื่อสามปีที่แล้วก่อนเราสองคนจะตัดสินใจสลับบทบาทกัน ผมตอบตกลงว่าจะเล่นเป็น มาร์กาเรต แทตเชอร์ และเมอรีล คือ ตัวเลือกแรกของสปีลเบิร์กสำหรับบทลินคอล์น ผมอยากดูหนังเวอร์ชั่นนั้นจริงๆ”)


ช่วงเวลา นี่มันอะไรกัน!”

*  มิเชล โอบามา โผล่มางานออสการ์ (ผ่านทางจอ) ?! เธอไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ไม่ใช่แม้กระทั่งแฟนหนังตัวยง อะไรดลใจทีมงานให้ติดต่อเธอมาทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศรางวัลในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม หรือนี่เป็นอีกหนึ่งความพยายามอย่างสิ้นหวังของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ที่จะผลักดัน Lincoln แบบเดียวกับการเชิญ บิล คลินตัน มาพูดแนะนำหนังบนเวทีลูกโลกทองคำ? จริงอยู่ ออสการ์ควรจะเปลี่ยนคนประกาศรางวัลสูงสุดได้แล้ว แทนการวนเวียนอยู่กับหน้าเดิมๆ อย่าง แจ๊ค นิโคลสัน, สตีเวน สปีลเบิร์ก และ ทอม แฮงค์ แต่ มิเชล โอบามา เนี่ยนะ?!? การเมืองควรถูกจำกัดอยู่แค่วอชิงตัน ไม่ใช่ลามปามมายังฮอลลีวู้ด แน่นอน เธอพูดตามบทได้อย่างคล่องแคล่ว เปี่ยมอารมณ์แบบมืออาชีพ แต่ความพยายามจะสรุปหนังยอดเยี่ยมทั้ง 9 เรื่องให้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ด้วยน้ำเสียงกระตุ้นความฮึกเหิมราวกับกำลังหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง ทำให้นักวิจารณ์ฝรั่งบางคนตั้งคำถามว่า หนังอย่าง Amour สอนให้เราก้าวข้ามอุปสรรคประเภทใดหรือ ความตาย? ภาวะเส้นเลือดในสมองแตก? อันที่จริง ถ้าหนังที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่าง Amour หรือ Silver Linings Playbook ได้รางวัลไป บางทีเราอาจได้เห็นใบหน้าหงายเงิบของสตรีหมายเลข 1 ก็เป็นได้

* อเดล กับ นอราห์ โจนส์ ได้ขึ้นเวทีมาร้องเพลงประกอบที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงจากหนังเรื่อง Skyfall และ Ted ตามลำดับ เช่นเดียวกับ ฮิวจ์ แจ๊คแมน ที่ขึ้นมาร้อง ช่วงหนึ่งของเพลง Suddenly ก่อนทีมนักแสดง Les Miserables จะยกโขยงมาแหกปากแข่งกันในเพลง One Day More แต่อีกสองเพลงที่เข้าชิงออสการ์อย่าง Pi’s Lullaby กับ Before My Time จาก Life of Pi และ Chasing Ice กลับถูกตัดเป็นแค่คลิปภาพพร้อมเสียงร้อง... ห๊ะ!? อะไรคือเหตุผลเบื้องหลังกันแน่ สการ์เล็ต โจแฮนสัน รู้ตัวล่วงหน้าว่าจะโดนล้อในเพลง We Saw Your Boobs เลยตอบปฏิเสธ?  ทีมงานอยากกระชับพิธีการไม่ให้ยืดยาว เลยตัดเพลงที่พวกเขาคิดว่าคงเป็นได้แค่ไม้ประดับออก? 

ถ้าจะสดุดีหนังเพลงทั้งที ทำไมต้องเลือกแค่หนังเพลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แล้วแทนค่าด้วยผลงานทั้งหมด 3 เรื่อง??!! หรือนี่เป็นแค่ข้ออ้างที่จะโต้กลับว่าออสการ์คิดถูกแล้วที่เลือก Chicago เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยม? (ถึงจะยังตอบไม่ได้แน่ชัดว่ากาลเวลามีเมตตากับหนังเรื่องนี้มากแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ คือ มันโหดร้ายกับสองนักแสดงนำหญิงมาก) หลายคนเริ่มตั้งสมมุติฐานว่านี่อาจเป็นหนึ่งในแผนโปรโมตตัวเองของสองโปรดิวเซอร์งานออสการ์ นั่นคือ เกร็ก เซแดน และ นีล เมรอน เพราะทั้งสองดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหารของหนังเรื่อง Chicago ส่วน เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน ก็เคยปรากฏตัวมากกว่าหนึ่งครั้งในซีรีย์ชุด Smashซึ่งทั้งสองเป็นผู้อำนวยการสร้างเช่นกัน (ถึงฮัดสันจะผอมเพรียวลงหลายระดับ แต่พลังเสียงของเธอในการบดขยี้กระดูกค้อน โกลน ทั่งกับเพลง And I Am Telling You I’m Not Going ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง) พูดถึงวิธีสดุดีแบบขอไปที...  ใครจะคิดว่าการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของหนังชุด เจมส์ บอนด์ จะประกอบไปด้วยคลิปรวมภาพจากหนัง การปรากฏตัวของ ฮัลลี เบอร์รี และ เชอร์รีย์ บาสซีย์ ที่ออกมาร้องเพลง Goldfinger… แค่นี้?!?  เอาล่ะ ถ้าไม่คิดจะเชิญนักแสดง เจมส์ บอนด์ รุ่นต่างๆ มาร่วมงาน อย่างน้อยก็น่าจะขนนักร้องคนอื่นที่เคยร้องเพลง เจมส์ บอนด์ มาด้วย ไม่ใช่แค่บาสซีย์ เพราะเท่าที่เห็นและเป็นอยู่ มันดูสุกเอาเผากินอย่างบอกไม่ถูก

จริงอยู่ คนดูส่วนใหญ่ไม่ชอบเวลาผู้ชนะพล่ามขอบคุณเอเยนต์ หรือผู้จัดการส่วนตัวอย่างไร้ศิลปะ แต่มันถึงขนาดต้องใช้เพลงธีมจาก Jaws สำหรับขับไล่พวกเขาลงจากเวทีกันเลย? มันเป็นอีกหนึ่งอารมณ์ขันที่ก้ำกึ่งระหว่างหยอกเอินกับหยาบคาย ปฏิกิริยาของ นิโคล คิดแมน ตอนทีมเทคนิคพิเศษด้านภาพของ Life of Pi โดน ฉลามไล่งาบ น่าจะบอกความรู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออกได้เป็นอย่างดี


เก็บตกสถิติ

แคธลีน เคนเนดี้ ครองสถิติเป็นโปรดิวเซอร์ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์มากที่สุด แต่ยังไม่เคยคว้ารางวัลมาครอง โดยก่อนหน้า Lincoln เธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก E.T. The Extra-Terrestrial, The Color Purple, The Sixth Sense, Seabiscuit, Munich, The Curious Case of Benjamin Button และ War Horse (8 = 0) อันดับรองลงมา ได้แก่ สแตนลีย์ เครเมอร์ ซึ่งเข้าชิงจาก High Noon, The Cain Mutiny, The Defiant Ones, Judgment at Nuremberg, Ship of Fools และ Guess Who’s Coming to Dinner (6 = 0)

* Argo เป็นหนังเรื่องที่ 4 ในประวัติศาสตร์ที่คว้ารางวัลออสการ์สูงสุดมาครองโดยไม่ได้เข้าชิงในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมตามหลัง Wings, Grand Hotel และ Driving Miss Daisy

*  เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ในวัย 22 ปีกลายเป็นเจ้าของรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมที่อายุน้อยที่สุดอันดับสอง ส่วนเจ้าของสถิติตลอดกาลยังคงเป็น มาร์ลี แม็ทลิน จาก Children of a Lesser God ซึ่งคว้ารางวัลมาครองขณะอายุได้ 21 ปี

เดเนียล เดย์-ลูว์อิสต์ คือ คนแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้ารางวัลออสการ์มาครอง 3 ครั้งในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม โดยก่อนหน้า Lincoln เขาเคยได้ออสการ์จาก My Left Foot และ There Will Be Blood

อังลีกลายเป็นผู้กำกับคนที่สามในประวัติศาสตร์ที่ได้รางวัลในสาขากำกับภาพยนตร์สองครั้ง แต่หนังของเขากลับชวดรางวัลสูงสุดทั้งสองครั้ง โดยสองคนก่อนหน้านี้ได้แก่ แฟรงค์ บอร์ซาจ ซึ่งชนะรางวัลจาก Bad Girl กับ Seventh Heaven แต่หนังยอดเยี่ยมตกเป็นของ Grand Hotel กับ Wings และ จอร์จ สตีเวนส์ ซึ่งชนะรางวัลจาก Giants กับ A Place in the Sun แต่หนังยอดเยี่ยมตกเป็นของ Around the World in Eighty Days กับ An American in Paris (หมายเหตุ: จอห์น ฟอร์ด เคยได้ออสการ์สาขาผู้กำกับ สามครั้งโดยที่หนังของเขาชวดรางวัลออสการ์ แต่ How Green Was My Valley สามารถคว้าชัยมาครองได้สำเร็จทั้งสองสาขาในปี 1942)

* โรเจอร์ ดีกินส์ ยังคงเดินหน้าสร้างสถิติต่อไปด้วยการเข้าชิงในสาขากำกับภาพ 10 ครั้ง แต่ยังไม่เคยคว้ารางวัลมาครอง โดยตอนนี้เขาติดอยู่อันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ ตามหลังผู้กำกับภาพ จอร์จ ฟอลซีย์ ที่เคยเข้าชิงทั้งหมด 13 ครั้งและไม่เคยคว้ารางวัลมาครอง (หมายเหตุ: พึงสังเกตว่าในยุคก่อนมีการแบ่งแยกสาขากำกับภาพเป็น 2 สาขา คือ กำกับภาพหนังสีและกำกับภาพหนังขาวดำ ฟอลซีย์จึงมีโอกาสเข้าชิงมากกว่าดีกินส์ และมีอยู่สองปีที่เขาได้เข้าชิงควบทั้งจากทั้งหนังสีและหนังขาวดำ ส่วนดีกินส์นั้นเคยเข้าชิงจากหนังสองเรื่องในปีเดียวกัน นั่นคือ ปี 2008 จากหนังเรื่อง No Country for Old Men และ The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford)

* ก่อนหน้า Argo หนังออสการ์เรื่องล่าสุดที่คว้ารางวัลมาครองเพียง 3 ตัว คือ Crash (2005) โดยหนังทั้งสองเรื่องได้รางวัลหนังยอดเยี่ยมมาครองควบคู่กับรางวัลบทภาพยนตร์ (บทดั้งเดิมในกรณีของ Crash และบทดัดแปลงในกรณีของ Argo) และลำดับภาพยอดเยี่ยม

การได้รางวัลคู่กันของ Skyfall และ Zero Dark Thirty ในสาขาตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม ถือเป็น การได้คะแนนเท่ากันครั้งที่ 5 ในประวัติศาสตร์ ตามหลังสาขาภาพยนตร์ขนาดสั้นยอดเยี่ยมในปี 1994 (Franz Kafka’s It’s Wonderful Life กับ Trevor) สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมในปี 1986 (Artie Shaw: Time Is All You’ve Got กับ Down and Out in America) สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในปี 1968 (แคธารีน เฮปเบิร์น จาก The Lion in Winter กับ บาร์บรา สตรัยแซนด์ จาก Funny Girl) และสาขาภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยมในปี 1949 (A Chance to Live กับ So Much for So Little) ส่วนในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในปี 1931/32 นั้นไม่รับรวมเป็นการเสมอกัน (tie) อย่างแท้จริง เพราะ เฟรดริค มาร์ช (Dr. Jekyll and Mr. Hyde) ได้คะแนนมากกว่า วอลเลซ เบียรีย์ (The Champ) หนึ่งคะแนน แต่เนื่องจากกฎในสมัยนั้นระบุว่าหากผู้ชนะได้คะแนนมากกว่าผู้เข้าชิงคนใดคนหนึ่งไม่เกิน 3 คะแนน ผู้เข้าชิงคนนั้นๆ จะต้องได้รางวัลไปด้วย ต่อมาจึงมีการเปลี่ยนกฎดังกล่าว โดยผู้ชนะต้องมีคะแนนเท่ากันพอดีเท่านั้นถึงจะได้รางวัลทั้งคู่

ไม่มีความคิดเห็น: