วันพฤหัสบดี, มีนาคม 14, 2556

Oscar 2013: Best Actor



แบรดลีย์ คูเปอร์ (Silver Linings Playbook)

ภาพลักษณ์เดิมๆ ของ แบรดลีย์ คูเปอร์ ซูเปอร์สตาร์จากหนังชุด The Hangover (ภาค 3 กำลังถ่ายทำกันอยู่) และหนุ่มเซ็กซี่ที่สุดแห่งปี 2011 ของนิตยสาร People             กำลังถูกทำลายลงอย่างราบคาบพร้อมกับการมาถึงของหนังเรื่อง Silver Linings Playbook ซึ่งเขารับบทเป็น แพ็ท โซลิทาโน ชายหนุ่มที่เพิ่งออกจากรพ.โรคจิตมาอาศัยอยู่กับพ่อแม่ และมีความตั้งใจสูงสุดที่จะเอาชนะใจอดีตภรรยาเพื่อให้เธอหันกลับมาคืนดีกับเขา บุคลิกแมนๆ ดูมั่นใจในตัวเองแบบที่คนดูคุ้นเคยถูกแทนที่ด้วยอารมณ์เปราะบางและไม่มั่นคง โซลิทาโนถือเป็นตัวละครที่ห่างไกลจาก โซนปลอดภัยของคูเปอร์ ซึ่งยอมรับว่า ครั้งแรกที่ได้อ่านบท ผมไม่คิดว่าตัวเองจะเล่นบทนี้ได้ ผมรู้สึกกลัวๆ ไม่แน่ใจว่าจะสามารถเปลือยอารมณ์ แล้วจมดิ่งไปกับสถานการณ์อันสุดโต่งได้หรือเปล่าแต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในฐานะนักแสดง และแน่นอน ผลลัพธ์ที่ออกมานับว่างดงามเกินความคาดหมาย

ผู้กำกับ เดวิด โอ รัสเซลล์ รู้จักคูเปอร์เป็นครั้งแรกจากหนังเรื่อง Wedding Crashers ซึ่งเขารับบทหนุ่มนักกีฬาจอมยโส เขาดูเป็นคนโมโหร้ายรัสเซลล์กล่าว นับเป็นคุณสมบัติที่เหมาะกับตัวละครนี้มาก เพราะแพ็ทมักจะทำให้คนรอบข้างรู้สึกอึดอัด เขามีความมุ่งมั่นรุนแรงจนดูน่ากลัว

คูเปอร์เชื่อว่าเขาได้เชื้อนักแสดงมาจากพ่อ ซึ่งชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจและเป็นคนแนะนำให้ลูกชายวัยเด็กได้รู้จักกับผลงานคลาสสิกอย่าง Apocalypse Now, The Deer Hunter และที่ติดตาติดใจคูเปอร์มากที่สุด คือ The Elephant Man “ผมอายุ 12 ตอนพ่อเปิดหนังเรื่องนั้นให้ดู มันกลายเป็นความหมกมุ่นของผมในเวลาต่อมาเขากล่าว หนังเรื่องนั้นทำให้คูเปอร์ตัดสินใจได้ว่าอยากเป็นนักแสดงและลงคอร์สเรียนใน Actors Studio ที่นิวยอร์กหลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ในวอชิงตัน คูเปอร์เล่าว่าพ่อกับแม่อยากให้เขาทำงานในแวดวงการเงิน จนกระทั่งทั้งสองได้มาดูฝีไม้ลายมือของเขาในละครเวทีเรื่อง The Elephant Man ที่ Actors Studio กับบทชายผู้มีความผิดปกติทางกระดูกและผิวหนังจนรูปร่างหน้าตาบิดเบี้ยวผิดมนุษย์มนา (เขาจะกลับมารับบทนี้อีกครั้งในช่วงฤดูร้อน) ความแตกต่างระหว่างละครกับหนังอยู่ตรงที่ในเวอร์ชั่นละครนักแสดงไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เทคนิคการเมคอัพเข้าช่วย แต่ต้องอาศัยน้ำเสียง วิธีการพูดและการเคลื่อนไหวเพื่อสื่อสารถึงความพิกลพิการทางร่างกายของตัวละครเอก

แรกเริ่มเดิมทีบท แพ็ท โซลิทาโน จะตกเป็นของ มาร์ค วอห์ลเบิร์ก (หนังเรื่องนี้วางแผนสร้างก่อน The Fighter) แต่จากการได้พูดคุยเกี่ยวกับหลากหลายโปรเจ็คระหว่างรัสเซลล์กับคูเปอร์ (หนึ่งในนั้น คือ หนังไฮบริดชื่อ Pride and Prejudice and Zombies) ทำให้ผู้กำกับมั่นใจว่าเขาเหมาะจะรับบทแพ็ทยิ่งกว่าใครๆ แรงกระหายและความมุ่งมั่นของแพ็ทที่จะปรับปรุงตัวเองก็ไม่ต่างจากความมุ่งมั่นของแบรดลีย์ในฐานะนักแสดง เขายังไม่มีโอกาสได้เปิดเผยมิติอื่นๆ ให้คนได้ประจักษ์ เขาต้องการอย่างยิ่งที่จะให้ผู้คนมองเขาเป็นนักแสดงมากกว่าแค่ดาราหน้าตาดีรัสเซลล์กล่าว ความเชื่อมั่นของผู้กำกับทำให้คูเปอร์ล้วงลึกเข้าไปสำรวจอารมณ์ภายในของตนเอง ทั้งความโกรธขึ้งและความว่างเปล่า ซึ่งเขาไม่เคยตระหนักมาก่อน จนการรับบท แพ็ท โซลิทาโน กลายงานแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตของเขาอย่างไม่ต้องสงสัย


ฮิวจ์ แจ๊คแมน (Les Miserables)

เพื่อให้สามารถสวมวิญญาณ ฌอง วัลฌอง อดีตนักโทษที่เข้าร่วมขบวนการปฏิวัติฝรั่งเศสในหนังเพลง ซึ่งดัดแปลงมาจากละครบรอดเวย์สุดคลาสสิกเรื่อง Les Miserables ได้อย่างแนบเนียน ฮิวจ์ แจ๊คแมน ยินดีจะทำทุกอย่างที่จำเป็น รวมถึงการซ้อมร้องเพลงระหว่างยกเวทเพื่อฟิตหุ่น ทั้งนี้เพราะตามบทแล้ววัลฌองต้องมีรูปร่างแข็งแกร่งเหมือนสัตว์จากการใช้แรงงานหนักในคุกเป็นเวลา 19 ปี แต่ขณะเดียวกันในความเป็นหนังเพลง สิ่งสำคัญที่เขาไม่อาจมองข้ามได้ คือ เสียงร้องอันทรงพลัง นักแสดงวัย 44 ปีให้เหตุผลว่า หากเขาไม่ร้องเพลงไปพร้อมๆ กับกิจกรรมฟิตร่างกาย (พร้อมควบคุมอาหารเพื่อให้รูปร่างเหมาะสมกับบทนักโทษที่ต้องอดๆ อยากๆ) อาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณคออาจทำให้เขาไม่สามารถร้องเพลงให้ตรงคีย์ได้

เสียงร้องกลายเป็นเรื่องที่เขาไม่อาจมองข้าม หลังจากผู้กำกับ ทอม ฮูเปอร์ ตัดสินใจถ่ายหนังโดยให้นักแสดงทุกคนร้องเพลงจริงๆ ในทุกเทค แทนการบันทึกเสียงไว้ก่อนแล้วค่อยลิปซิงค์เวลาถ่ายทำแบบหนังเพลงทั่วๆ ไป ซึ่งนั่นบังคับให้เขาต้องสามารถร้องเพลงต่อเนื่องกันได้วันละ 12 ชม. ฉะนั้นการดูแล บำรุงรักษา ตลอดจนหมั่นบริหารเส้นเสียงจึงกลายเป็นกิจวัตรจำเป็น นั่นหมายถึงเขาต้องหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ วอร์มอัพเสียงอย่างน้อย 15 นาทีต่อวัน พกลูกอมแก้ไอตลอดเวลา ดื่มน้ำวันละกว่า 7 ลิตร นั่งผ่อนคลายในห้องอบไอน้ำ 3 ครั้งต่อวัน นอนแช่ในน้ำเย็บเฉียบ และคลุมใบหน้าด้วยผ้าขนหนูบีบหมาดทุกครั้งที่เดินทางโดยเครื่องบิน ผมต้องสูดความชื้นเข้าร่างกายตลอดเวลาเขากล่าว เส้นเสียงของคุณจะต้องมีลักษณะเหมือนป่าร้อนชื้น

นักดูหนังส่วนใหญ่อาจรู้จัก ฮิวจ์ แจ๊คแมน จากบทซูเปอร์ฮีโร่นาม วูฟเวอรีน ในหนังฮิตถล่มทลายชุด X-Men แต่ความจริงแล้วแจ๊คแมนเริ่มหลงใหลในละครเพลงมาตั้งแต่ช่วงเรียนชั้นมัธยม เมื่อเขาเห็น ฮิวโก วีฟวิง (สมัยยังไม่ดัง) รับบทนำในละครเพลงเรื่อง Man of La Mancha จากนั้นแจ๊คแมนก็เดินหน้าตามความฝัน และเริ่มต้นเส้นทางสู่บรอดเวย์ด้วยการรับบทศาตราจารย์ฮิกกินส์ในละครเพลงของโรงเรียนเรื่อง My Fair Lady แต่ความฝันของเขาเกือบจะต้องหยุดชะงักกลางทางเมื่อถูกพี่ชายล้อว่าเป็นตุ๊ด เนื่องจากเขาแสดงเจตจำนงว่าจะลงเรียนคอร์สเต้นรำ ผมอยากให้เรื่องลงเอยแบบ Billy Elliot แต่ผมขี้ขลาดเกินไปแจ๊คแมนเล่า แต่โชคดีที่พี่ชายเขาเปลี่ยนใจ ก่อนจะเอ่ยปากขอโทษเขาหลังทุกคนในครอบครัวเดินทางไปดูละครเพลงเรื่อง 42nd Street ด้วยกัน วันรุ่นขึ้นแจ๊คแมนตัดสินใจสมัครเรียนการเต้นแท็ป จากนั้นอีก 18 ปีต่อมา เขาก็ลงเอยด้วยการชนะรางวัลโทนี่จากละครเพลงเรื่อง The Boy from Oz

ประสบการณ์อันช่ำชองในแวดวงละครเพลงทำให้แจ๊คแมนไม่ลืมการฝึกฝนอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กัน และมีผลอย่างยิ่งในการช่วยให้เขาเข้าถึงความรู้สึกภายในของตัวละคร มันเป็นแบบฝึกหัดที่เขาเรียนรู้มาจากผู้กำกับละครเวทีชื่อก้อง เทรเวอร์ นันน์ ตอนทั้งสองร่วมงานกันในละครเพลงเรื่อง Oklahoma! โดยในช่วง 3 สัปดาห์แรกนันน์จะไม่ยอมให้นักแสดงร้องเพลงแม้แต่ประโยคเดียว แต่ต้องพูดทุกคำร้องราวกับมันเป็นบทสนทนาปกติในชีวิตประจำวัน นั่นเป็นสิ่งที่ผมทำก่อนเข้าฉากในหนังเรื่อง Les Miserablesแจ๊คแมนเล่า ผมจะคัดลอกคำร้องลงบนกระดาษและอ่านเป็นเหมือนบทพูด เพราะถ้าไม่มีเหตุผลที่ตัวละครจะพูดออกมา ก็ไม่มีเหตุผลที่เขาจะร้องมันเป็นเพลงบางทีนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมการแสดงของเขาในหนังที่มีแต่ฉากร้องเพลงล้วนๆ จึงลื่นไหลอย่างเป็นธรรมชาติ


วาควิน ฟีนิกซ์ (The Master)

หลังจากการแปลงโฉมสุดอื้อฉาว (เพิ่มน้ำหนัก ไว้หนวดเคราเฟิ้ม และสร้างวีรกรรมสติแตกกลางที่สาธารณะ) เพื่อโปรโมตหนังสารคดีเรื่อง I’m Still Here ซึ่ง วาควิน ฟีนิกซ์ ยอมรับว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอาชีพนักแสดงของเขา และช่วยขยายโลกทัศน์ของเขาต่อเทคนิคการแสดง นักแสดงหนุ่มวัย 37 ปีก็ห่างหายจากวงการไปนานเกือบสองปี ความพยายามจะเปลี่ยนแปลงตัวเองทำให้ฟีนิกซ์ตัดสินใจปฏิเสธบทหนังหลายเรื่อง จนกระทั่งได้รู้จักกับตัวละครอย่าง เฟร็ดดี้ เควล อดีตนายทหารจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในหนังเรื่อง The Master ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกร่ำลือว่าเล่าถึงชีวิตช่วงต้นๆ ของ แอล. รอน ฮับบาร์ด ผู้ก่อตั้งลัทธิ Scientology แต่การณ์กลับปรากฏว่านั่นเป็นเพียงฉากหลังจางๆ ให้กับประเด็นการสำรวจสัญชาตญาณความเป็นสัตว์ของมนุษย์ ตลอดจนอารยธรรมและความล้มเหลวของมัน ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างคนจิตหลุดอย่างเฟร็ดดี้กับผู้นำลัทธิ แลนแคสเตอร์ ด็อดด์ (รับบทโดย ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน)

ผู้กำกับ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน เขียนบทด็อดด์ให้กับฮอฟฟ์แมน นักแสดงขาประจำของเขา โดยเฉพาะ และตระหนักชัดตั้งแต่แรกว่าจำเป็นต้องหานักแสดงฝีมือทัดเทียมกันมารับบทคู่ปรับ/ลูกศิษย์/คนรัก? ของด็อดด์อย่างเฟร็ดดี้ โอกาสที่จะได้ร่วมงานกับฟีนิกซ์ทำให้ทั้งแอนเดอร์สันและนักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์จาก Capote รู้สึกตื่นเต้นอย่างมาก วาควินทำให้ผมขนหัวลุก... ในความหมายที่ดีนะฮอฟฟ์แมนกล่าว

ทักษะการแสดงของฟีนิกซ์เป็นที่ยอมรับตั้งแต่อายุ 21 เมื่อเขากลายเป็นดาราในชั่วข้ามคืนจากหนังเรื่อง To Die For และก้าวพ้นเงื้อมเงาของพี่ชาย ริเวอร์ ฟีนิกซ์ อย่างเต็มตัว ต่อจากนั้นเขาก็เริ่มต้นสร้างชื่อเสียงในฐานะนักแสดงที่จริงจังและดุดันที่สุดคนหนึ่งของฮอลลีวู้ดอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมีหลักฐานพิสูจน์ คือ การถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สองครั้งจากบทวายร้ายใน Gladiator และบทนักร้องชื่อดัง จอห์นนี่ แคช ใน Walk the Line แต่เครดิตทั้งหลายเหล่านั้นไม่อาจเตรียมใจใครให้พร้อมรับมือกับงานแสดงอันรุนแรงของเขาใน The Master “ผมรู้ว่าเขาเป็นนักแสดงชั้นยอด แต่ผมไม่คาดคิดมาก่อนว่าเขาจะทำได้ขนาดนี้แอนเดอร์สันกล่าว ระดับความคิดสร้างสรรค์และพลังงานที่ไหลทะลักมาจากตัวเขาทำเอาผมตั้งตัวไม่ทัน รวมไปถึงวินัยในการทำงานของเขาด้วย

ตั้งแต่ก่อนเปิดกล้อง ฟีนิกซ์บอกกับแอนเดอร์สันว่าเขาจะไม่ยั้งมือในทุกทิศทาง เขาอยากตีแผ่แง่มุมแห่งสัญชาตญาณเบื้องลึก และบทเรียนจาก I’m Still There เป็นแรงบันดาลใจให้เขากล้าจะทดลอง โดยระหว่างถ่ายทำเขาจะพยายามตีความบทพูด ตลอดจนสถานการณ์ในแต่ละฉากแตกต่างกันออกไปหลายรูปแบบ บางครั้งถึงขั้นลงมือทำในสิ่งที่คนอาจมองว่าไร้สาระ ดูงี่เง่า ไม่เป็นเหตุเป็นผล หรือกระทั่งหลุดจากบุคลิกของตัวละคร แอนเดอร์สันบอกว่าฟีนิกซ์ สวมวิญญาณตัวละครตลอดการถ่ายทำ ซึ่งเป็นคำนิยามที่นักแสดงหนุ่มไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ แต่เขาก็ยอมรับว่าการรักษาระดับความเข้มข้นทางอารมณ์ของตัวละครเอาไว้ตลอดถือเป็นสิ่งสำคัญ เฟร็ดดี้เป็นคนสุดโต่งเขากล่าว ผมไม่สามารถปล่อยร่างกายให้ผ่อนคลาย จากนั้นก็บิวท์ตัวเองให้กลับไปอยู่ในระดับอารมณ์แบบเดิม

การแสดงโดยอาศัยสัญชาตญาณมักจะส่งผลให้เทคแรกเป็นเทคที่ยอดเยี่ยมที่สุด ส่งผลให้แอนเดอร์สันต้องเตรียมพร้อมเสมอเพื่อให้เทคแรกสมบูรณ์แบบในแง่รายละเอียดอื่นๆ รอบข้าง และบางครั้งความพยายามจะถ่ายทอดจิตใต้สำนึกของเฟร็ดดี้ทำให้ฟีนิกซ์ปล่อยใจไปกับสถานการณ์อย่างลืมตัวจนเล่นนอกเหนือจากบท เช่น ในฉากที่เฟร็ดดี้อาละวาดพังข้าวของในห้องขังและกระแทกศีรษะกับเตียง ฟีนิกซ์บอกว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากวิดีโอบันทึกพฤติกรรมของสัตว์ป่าที่ถูกกักขังอยู่ในกรง คุณจะเห็นว่าสมองของพวกมันดูเหมือนจะไม่ทำงานอีกต่อไปเขากล่าว มันเป็นปฏิกิริยาตอบโต้แบบเฉียบพลันผ่านทางกล้ามเนื้อ พวกมันทำตัวเองเจ็บ แต่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ราวกับมีบางอย่างในหัวคอยย้ำเตือนซ้ำไปซ้ำมาว่า ต้องออกไปจากที่นี่ ต้องออกไปจากที่นี่แอนเดอร์สันชื่นชอบการด้นสดดังกล่าว ตัดสินใจเลือกใช้เทคดังกล่าว และผลลัพธ์สำหรับคนดู คือ หนึ่งในฉากทรงพลัง และน่าจดจำที่สุดของหนัง


เดนเซล วอชิงตัน (Flight)

ศิลปะการแสดงเป็นเรื่องชวนพิศวง กระทั่งเหล่านักแสดงชื่อดัง หรือบรรดาเพื่อนร่วมงานที่ชื่นชมการแสดงของพวกเขาเหล่านั้น ก็ไม่อาจอธิบายได้ว่าเหตุใดพวกเขาจึงทำอย่างที่เห็นบนจอ เมื่อคุณได้ชมการแสดงของ เดนเซล วอชิงตัน ใน Flight คุณจะรู้สึกอยากทราบข้อมูลในเบื้องลึก เพื่อทำความเข้าใจว่าความอัศจรรย์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมมันถึงสามารถทรงพลังอยู่ได้นานกว่า 2 ชม. ตรึงคุณให้ไม่อาจละสายตาจากจอได้ แต่ต่อให้คุณถามเจ้าตัวเอง บางครั้งเขาก็ไม่สามารถเล่าขั้นตอนให้ชัดเจนได้ อย่างดีที่สุดก็แค่พยายามพูดแบบกว้างๆ โดยใช้การเปรียบเทียบ หรือสัญลักษณ์ จอห์น กู๊ดแมน หนึ่งในทีมนักแสดงของหนังเรื่อง Flight กล่าวว่าวอชิงตันเตรียมทำการบ้านมาดี แต่การเตรียมตัวต้องลงทุนถึงขั้นไหน ในเมื่อช่วงต้นเรื่อง คนดูจะเห็นวอชิงตันสะลึมสะลือลุกจากเตียงขึ้นมาดวดเบียร์และสูดโคเคนก่อนจะออกไปทำงานขับเครื่องบินโดยสาร สำหรับกู๊ดแมน หนึ่งในการบ้านที่เขาหมายถึงคงเป็นการใช้เวลาหลายชั่วโมงกับเครื่องจำลองการบิน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฉากนำเครื่องลงจอดฉุกเฉินในช่วงต้นเรื่อง

คุณจำเป็นต้องรู้สึกคุ้นเคยกับห้องคนขับ ต้องรู้ว่ากิจวัตรประกอบไปด้วยอะไรบ้างวอชิงตันอธิบายสาเหตุ ทุกรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จะช่วยสร้างความรู้สึกสมจริงให้กับคนดู นักบินคนหนึ่งที่ผมร่วมงานด้วยยอมให้ผมยืมกระเป๋ามาใช้ ผมเลยถือกระเป๋าเก่าๆ ใบนั้นเข้าฉากด้วย

แต่การเตรียมตัวดังกล่าวคงไม่สามารถใช้อธิบายได้ว่า เหตุใดเขาจึงทำให้คนดูตระหนักได้อย่างชัดเจนถึงความไม่พร้อมทางด้านร่างกายของ วิป วิทล็อก พร้อมๆ กับความเชื่อมั่นว่าทักษะอันเป็นเลิศ ความเป็นมืออาชีพ และประสบการณ์ที่เชี่ยวกรากจะช่วยให้เขานำเครื่องลงจอดได้อย่างปลอดภัยในที่สุด กล่าวคือ เขาต้องแสดงทั้งอารมณ์มั่นใจว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามจะควบคุมสติตัวเอง ซึ่งแน่นอนถูกลดทอนศักยภาพลงจากภาวะมึนเมาด้วยเหล้าและยาเสพติด ผู้กำกับ นอร์แมน จีวินสัน ซึ่งเป็นคนมอบบทเด่นบทแรกให้วอชิงตันจากหนังเรื่อง A Soldier’s Story และบทที่ทำให้เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเป็นครั้งที่ 2 จากหนังเรื่อง The Hurricane เล่าว่า เดนเซลเป็นนักแสดงที่มีสมาธิสุดยอด และช่างวิเคราะห์ ตอนถ่ายหนังเรื่อง A Soldier’s Story ผมเห็นชัดว่าเขาสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงกับกล้อง เขารับบทนี้ในเวอร์ชั่นละครเวที และเมื่อถ่ายเวอร์ชั่นหนังไปได้สักพัก ผมก็เห็นเขาเริ่มทอนการแสดงลงระดับหนึ่ง เพื่อให้ดูลุ่มลึกและไม่โอเวอร์มากไป

ตอนยังเป็นเด็ก อาชีพนักแสดงไม่เคยอยู่ในหัวของวอชิงตันเลย และเมื่อตัดสินใจเบนเข็มสู่วงการมายา ละครเวที คือ เป้าหมายสูงสุดของเขา หาใช่ฮอลลีวู้ด ตอนได้แสดงหนังโทรทัศน์เป็นครั้งแรก (เรื่อง Wilma ในปี 1977)  เขารู้สึกประหม่ามาก พอกล้องเคลื่อนเข้ามาใกล้ ผมก็จะเริ่มถอยหลังเพื่อหลบออกไปให้พ้นทาง ผมไม่คุ้นชินกล้องและการมีกลุ่มคนมาห้อมล้อมในระยะใกล้ แต่สุดท้ายผมก็ก้าวผ่านความกลัวนั้นมาได้ไม่เพียงเลิกประหม่าต่อหน้ากล้องเท่านั้น ตลอดหนึ่งทศวรรษต่อมา เขายังกลายเป็นนักแสดงระดับแนวหน้าที่ทุกคนนับถือในฝีมืออีกด้วย และสองรางวัลออสการ์จาก Glory และ Training Day น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าเขาก้าวมาไกลจากจุดเริ่มต้นมากแค่ไหน


เดเนียล เดย์-ลูว์อิสต์ (Lincoln)

ไม่มีใครคาดคิดว่า อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีที่คนรู้จักมากที่สุดของอเมริกา และถูกนำมาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นตัวละครบนจอภาพยนตร์บ่อยครั้งชนิดนับไม่ถ้วน ล่าสุดในหนังแอ็กชั่นทุนสูงอย่าง Abraham Lincoln: Vampire Hunter จะถูกตีความได้อย่างลุ่มลึก สมจริง และละเอียดลออสูงสุดโดยนักแสดงที่เติบโตมาในประเทศอังกฤษและไอร์แลนด์ แต่ในเวลาเดียวกันมันก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกสักเท่าไหร่ เนื่องจากเขาผู้นั้นได้รับการยกย่องในฐานะนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งแห่งยุค

เดเนียล เดย์-ลูว์อิสต์ เคยคว้ารางวัลออสการ์นักแสดงนำชายมาแล้ว 2 ครั้งจาก My Left Foot และ There Will Be Blood ตัวที่ 3 อาจมาถึงเร็วกว่าที่คิดจากผลงานแสดงอันอ่อนโยน เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณในหนังเรื่อง Lincoln  ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ลินคอล์นของเดย์-ลูว์อิสต์ไม่ได้ดูเหมือนซอมบี้แบบใน Abraham Lincoln หรือมุ่งมั่น ฝีปากกล้าเหมือนใน Young Mr. Lincoln รูปร่างสูงชะลูด ผ่ายผอม และคอยาว ทำให้เดย์-ลูว์อิสต์ดูใกล้เคียงกับลินคอล์นตัวจริงมากกว่าในเวอร์ชั่นอื่นๆ เขาไม่ต้องสวมรองเท้าส้นตึกเพื่อยืดตัวให้สูงขึ้นเหมือน คริส คริสตอฟเฟอร์สัน ในหนังทีวีเรื่อง Tad แต่ทันทีที่เดย์-ลูว์อิสต์อ้าปากพูด คนดูอาจรู้สึกตกใจเล็กน้อย เพราะเสียงของเขาไม่ได้ทุ้มนุ่มเหมือนภาพลักษณ์ลินคอล์นที่ผ่านๆ มา (และที่เราทุกคนคุ้นเคยกันดี) แต่กลับค่อนข้างแหลมสูง เจือไปด้วยความกระตือรือร้น

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในยุคหลังๆ ระบุว่าลินคอล์นตัวจริงมีเสียงค่อนข้างสูง และในความรู้สึกส่วนตัวของเดย์-ลูว์อิสต์ เขาเชื่อว่าเสียงที่สูงขึ้นจะดูน่าฟังและดึงดูดใจกว่าเวลาต้องพูดต่อหน้ากลุ่มคนกลุ่มใหญ่ ข้อมูลหลักฐานดูเหมือนจะผกผันไม่แน่ชัด ไม่มีใครสามารถระบุได้อย่างมั่นใจว่าเสียงของลินคอล์นควรเป็นอย่างไร ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องโชคดีสำหรับผมนักแสดงวัย 55 ปีกล่าวพร้อมรอยยิ้ม ผมคิดว่าการค้นพบเสียงของลินคอล์นคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญสุดและแน่นอน ด้วยความเป็นนักแสดงสายเมธ็อด เดย์-ลูว์อิสต์ยืนกรานที่จะพูดจาด้วยเสียงนั้นตลอดเวลาระหว่างถ่ายทำ นอกจากนี้ นักแสดงชาวอังกฤษและทีมงานคนอื่นๆ ก็ได้รับคำขอร้องไม่ให้พูดคุยกับเขาด้วยสำเนียงอังกฤษอีกด้วย คนเขียนบท โทนี คุชเนอร์ เล่าถึงวันที่เขาแวะไปเยี่ยมกองถ่ายและมีโอกาสได้เห็นการถ่ายทำฉากลินคอล์นพูดต่อหน้าคณะรัฐมนตรีถึงความสำคัญของการประกาศกฎหมายเลิกทาสว่า ทุกคนถึงกับอ้าปากค้าง มันเป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่ผมเคยพบเห็นมา การจะสวมบทบาทตัวละครได้แบบนั้น คุณจำเป็นต้องหลุดเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ และดำรงรักษาสมาธิเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

เดย์-ลูว์อิสต์เป็นนักแสดงที่ขึ้นชื่อเรื่องการเลือกบท บางครั้งเขาจะทิ้งช่วงจากแวดวงมายาไปหลายปี และปลีกตัวไปใช้ชีวิตอยู่กับภรรยา รีเบคกา มิลเลอร์ ลูกสาวของ อาร์เธอร์ มิลเลอร์ (ทั้งสองพบรักกันระหว่างการถ่ายทำหนังเรื่อง The Crucible) และลูกชายทั้งสองคน (เดย์-ลูว์อิสต์มีลูกชายอีกคนกับนักแสดงชาวฝรั่งเศส อิสซาเบลล์ แอดจานี) จนดูเหมือนเขาตัดสินใจเกษียณตัวเองจากการแสดง แล้วหันไปประกอบอาชีพเป็นช่างซ่อมรองเท้า  (The Boxer และ Gangs of New York ทิ้งช่วงห่างกัน 5 ปีเต็ม) นอกจากนี้ สิ่งที่เขาขึ้นชื่อไม่แพ้กัน คือ ขั้นตอนการ ทำงานของเขา เช่น ระหว่างถ่ายทำ The Last of the Mohigans เขาสอนตัวเองให้รู้จักสร้างเรือแคนู ดักจับและถลกหนังสัตว์ป่า ในระหว่างถ่ายทำ My Left Foot เขาฝึกตัวเองให้สามารถเปิดแผ่นเสียงได้โดยใช้นิ้วเท้า เลือกจะนั่งอยู่ในรถเข็นระหว่างเทค และขอให้ทีมงานช่วยป้อนข้าวให้ ในระหว่างการถ่ายทำ The Boxer เขาเรียนรู้วิธีชกมวยแบบมืออาชีพจนกระทั่งจมูกหัก และได้รับบาดเจ็บที่หลัง

การพูดคุยถึงหนังชีวประวัติลินคอล์นระหว่างสปีลเบิร์กกับเดย์-ลูว์อิสต์เริ่มต้นขึ้นในปี 2003 แรกทีเดียวฝ่ายหลังตอบปฏิเสธไม่ยอมรับเล่นบทนี้เพราะเขาไม่ชอบบทร่างแรก จนกระทั่งฝ่ายแรกนำเสนอบทร่างใหม่จากฝีมือการเขียนของคุชเนอร์ ซึ่งโฟกัสไปยังช่วง 4 เดือนสุดท้ายของลินคอล์น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกฎหมายเลิกทาส แต่กระนั้นเดย์-ลูว์อิสต์ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจ ผมคิดว่ามันเป็นบทที่ดี... แต่สำหรับนักแสดงคนอื่นเขากล่าว ความไม่แน่ใจยังคงวนเวียนอยู่ แม้กระทั่งเมื่อเขาตอบตกลงรับเล่นแล้วก็ตาม ก่อนจะค่อยๆ จางหายไปเมื่อเขาเริ่มต้นค้นคว้าหาข้อมูลด้วยการอ่านหนังสือ นั่งศึกษาภาพถ่ายของลินคอล์น และนั่งครุ่นคิดถึงตัวละครเป็นเวลานานนับปี ตอนนั้นเองที่เขาถูกดึงดูดให้เข้าไปอยู่ในโลกของลินคอล์น เข้าใจความคิด ความรู้สึก ความไม่แน่ใจ ตลอดจนสภาพการณ์รอบข้างตัวละคร และถ่ายทอดพวกมันออกมาบนจอภาพยนตร์ได้อย่างงดงาม

ไม่มีความคิดเห็น: