วันพุธ, มีนาคม 13, 2556

Oscar 2013: Oscar Overlooks



จอห์น ฮอว์คส์ (The Sessions)

เมื่อครั้งที่ผู้กำกับ เบน เลวิน กำลังเริ่มมองหานักแสดงที่จะมารับบทนำใน The Sessions ดัดแปลงจากเรื่องจริงของ มาร์ค โอเบรียน นักข่าวและกวีที่ป่วยเป็นโปลีโอตั้งแต่ยังเด็กจนต้องใช้ชีวิตโดยอาศัยปอดเหล็ก หัวหน้าฝ่ายคัดเลือกนักแสดงเสนอชื่อ จอห์น ฮอว์คส์ ขึ้นมา แต่เลวินไม่รู้จัก จึงไปหา Winter’s Bone มาดู ในหนังเรื่องนั้น (ซึ่งทำให้ฮอว์คส์ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก) เขารับบทเป็นพ่อค้ายาเสพติด ซึ่งดูคุกคาม ชวนให้ขนหัวลุก และแตกต่างจากหนุ่มพิการในหนังของเลวินราวฟ้ากับเหว หลังจากดูหนังจบในหัวเขาคิดแค่ว่า บ้าหรือเปล่า ไอ้ผู้ชายท่าทางน่ากลัวคนนี้เนี่ยนะ?แต่เมื่อได้ชมผลงานเรื่องอื่นๆ ของนักแสดงวัย 53 ปี ความรู้สึกของเลวินก็เปลี่ยนไป ผมคิดว่าเขาเป็นนักแสดงที่วิเศษมาก สามารถสวมบทเป็นตัวละครได้หลากหลายเหลือเกิน

ไม่ได้มีแค่เลวินที่นึกหน้าของฮอว์คส์ไม่ออก แม้เขาจะเวียนว่ายอยู่ในวงการมานานหลายปี (ผลงานทางทีวีของเขารวมถึงซีรีย์อย่าง Wings, 24 และ Deadwood) แต่ทุกอย่างดูเหมือนจะเริ่มเปลี่ยนไปนับจาก Winter’s Bone ตอนนี้เขาไม่ใช่หน้าใหม่อีกต่อไป และผลงานน่าประทับใจในเวลาต่อมาอย่าง Martha Marcy May Marlene ก็ช่วยตอกย้ำความเป็นนักแสดงคุณภาพของเขาให้ยิ่งเด่นชัด

ฮอว์คส์คิดว่าเขามักจะ เตรียมตัวเกินพอดีเมื่อตอบตกลงเล่นหนังเรื่องใดก็ตาม และ The Sessions ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เพื่อให้เข้าถึงสภาพจิตใจของโอเบรียน ซึ่งมีความรู้สึกในร่างกาย แต่ไม่สามารถขยับอวัยวะส่วนใดได้นอกจากกล้ามเนื้อที่เท้าขวา คอ และกราม ฮอว์คส์ยินดีทำทุกอย่างตั้งแต่นั่งดูสารคดีขนาดสั้นเรื่อง Breathing Lessons: The Life and Work of Mark O’ Brien ไปจนถึงใช้เวลานานนับสัปดาห์นอนราบบนโซฟา แล้วฝึกฝนตัวเองให้สามารถกดโทรศัพท์โดยใช้ไม้ที่คาบไว้ในปาก และเมื่อถึงเวลาถ่ายทำจริง บทก็เรียกร้องให้เขาต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันนอนแน่นิ่ง พร้อมกับเอียงคอทำมุม 90 องศา การนอนโดยไม่เคลื่อนไหวร่างกายตั้งแต่ส่วนคอลงมาถือเป็นความท้าทายไม่น้อยฮอว์คส์สารภาพ แต่ข้อจำกัดดังกล่าวไม่ได้ขัดขวางเขาในการเปิดเผยความรู้สึกเบื้องลึกของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นความหวัง หรือความกลัว ออกมาอย่างเด่นชัดผ่านทางสีหน้าและแววตา จนส่งผลให้เขากวาดคำชมจากนักวิจารณ์ชนิดเป็นเอกฉันท์นับแต่หนังเปิดตัวในเทศกาลซันแดนซ์เมื่อช่วงต้นปี 2012

ขณะเดียวกัน The Sessions ยังถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอาชีพการแสดงที่ยาวนานกว่า 26 ปี ไม่ใช่เพียงเพราะมันเป็นบทนำอันโดดเด่นเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะมันค่อนข้างใกล้เคียงกับตัวตนที่แท้จริงของฮอร์คส์อีกด้วย โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาฮอว์คส์มักจะได้แสดงเป็นตัวละครมีปัญหา และหลายครั้งค่อนข้างหยาบกระด้าง เป็นมนุษย์ประเภทที่เราพยายามหลบหลีกเมื่อพบเจอบนท้องถนน จอห์นเป็นคนตลกและอ่อนโยนผู้กำกับเลวินกล่าว เช่นเดียวกับ มาร์ค โอเบรียน จอห์นชอบผู้หญิง เขาชอบที่จะหยอกเย้าและยิงมุกตลก ผมรู้สึกว่าเขาได้นำบุคลิกส่วนตัวมาปรับใช้กับตัวละครค่อนข้างมาก


เฮเลน เมียร์เรน (Hitchcock)

เฮเลน เมียร์เรน หาได้มีพลังวิเศษใดๆ แต่ไม่น่าแปลกใจหากหลายคนจะคิดว่าเธอมี เพราะนับแต่คว้าออสการ์จากการรับบทพระนางเจ้าอลิซาเบ็ธที่ 2 ในหนังเรื่อง The Queen มาครอง เธอได้กลายเป็นหนึ่งในนักแสดงชั้นนำของฮอลลีวู้ด โดยตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เธอเล่นหนังทั้งหมด 11 เรื่อง (สองในนั้นเป็นหนังฮิตอย่าง Red และ National Treasure: Book of Secrets) เข้าชิงออสการ์อีกหนึ่งครั้งจาก The Last Station และกลายเป็นขาประจำตามลิสต์คนดังสุดเซ็กซี่ตามหน้านิตยสารสำหรับผู้ชายทั้งหลาย ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ กับนักแสดงหญิงวัย 67 ปีในดินแดนที่เทิดทูนความอ่อนเยาว์อย่างฮอลลีวู้ด อันที่จริงการถูกมองในฐานะสัญลักษณ์ทางเพศไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับเมียร์เรน เพราะสถานะดังกล่าวติดตัวเธอมาตั้งแต่เมื่อครั้งนำแสดงหนังเรื่อง Age of Consent ของ ไมเคิล พาเวลล์ ในบทเด็กสาวบ้านนอกที่กลายเป็นนางแบบให้กับจิตกรชาวออสเตรเลีย

ภาพลักษณ์นั้นแตกต่างจากบทบาทล่าสุดของเธออย่างมาก เนื่องจาก อัลมา เรวิลล์ ไม่เพียงจะเป็นแค่หญิงร่างเล็ก หน้าตาไม่ได้สวยสะดุดตาอะไร แต่เธอยังต้องใช้ชีวิตอยู่ใต้เงาอันใหญ่โต (ทั้งในแง่ร่างกายและในแง่ชื่อเสียง การยอมรับ) ของสามี ซึ่งเป็นผู้กำกับชื่อก้องโลกอย่าง อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก อีกด้วย จริงอยู่ หนังเรื่อง Hitchcock อาจโฟกัสไปยังเรื่องราวเบื้องหลังการสร้างหนังสยองขวัญสุดคลาสสิกเรื่อง Psycho (ความสำเร็จทางด้านรายได้และคำวิจารณ์ของ North by Northwest ทำให้ฮิทช์ค็อกต้องการทดลองหาสิ่งแปลกใหม่ แต่ทางสตูดิโอไม่เล่นด้วย เขาจึงต้องสร้าง Psycho โดยใช้ทุนส่วนตัวจากการนำบ้านไปจำนอง) แต่น้ำหนักส่วนหนึ่งโอนเอียงไปยังบทบาทของอัลมาต่อขบวนการสร้างสรรค์ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างสองสามีภรรยาที่ค่อนข้างซับซ้อน และเจือไปด้วยอารมณ์หึงหวง (เธอไม่ค่อยไว้ใจความหื่นของเขาต่อเหล่าสาวผมบลอนด์ทั้งหลาย ส่วนเขาก็อิจฉาความสนิทสนมของเธอกับคนเขียนบท วิทฟิลด์ คุก) จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเมียร์เรนถึงกลายเป็นที่จับตามองในช่วงเทศกาลแจกรางวัล

เช่นเดียวกับอัลมา เมียร์เรนแต่งงานอยู่กินกับผู้กำกับชื่อดัง เทย์เลอร์ แฮ็คฟอร์ด แต่พวกเขาไม่เคยต้องประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันแต่อย่างใด ตอนฉันมาแอลเอกับเทย์เป็นครั้งแรก มันค่อนข้างทำใจลำบาก เพราะไม่มีใครรู้จักฉันเลย เวลาไปงานปาร์ตี้ หรือไปพบฝ่ายแคสติ้ง ทุกคนแทบจะมองผ่านฉันไป แต่เขาเห็นอกเห็นใจฉันเสมอและไม่เคยข้องใจในแรงปรารถนาที่จะทำงานของฉัน

เมียร์เรนเล่าถึงการเตรียมตัวเพื่อรับบทเป็นภรรยาผู้ซื่อสัตย์ของฮิทช์ค็อกกว่า 50 ปีว่า ความเศร้าสูงสุดของฉันอยู่ตรงที่เธอเป็นคนร่างเล็ก อัลมา เรวิลล์ สูงไม่ถึงห้าฟุตด้วยซ้ำ และคนตัวเล็กเหมือนนกดันมาเป็นภรรยาของผู้ชายร่างใหญ่ยักษ์ ฉันชอบเวลาพวกเขาต้องเข้าฉากด้วยกันมากๆ เธอเป็นคนเดียวที่สามารถควบคุมเขาได้ เธอดุดัน กระตือรือร้น เป็นหญิงร่างเล็กที่สุดยอดจริงๆ ซึ่งฉันไม่สามารถจะเป็นได้ เพราะฉันไม่ใช่คนตัวเล็ก ฉะนั้นฉันจึงต้องหาทางอื่นในการเข้าถึงตัวละคร นั่นคือ การอ่านหนังสือที่ลูกสาวของเธอเขียน ตอนแรก แพ็ทธิเซีย ฮิทช์ค็อก อยากตั้งชื่อหนังสือว่า Alma Reville แต่สุดท้ายสำนักพิมพ์กลับเลือกใช้ชื่อ Alma Hitchcock: The Woman Behind the Man มันเป็นแหล่งข้อมูลหลักของฉัน ฉันพยายามจะเข้าถึงจิตวิญญาณของอัลมาผ่านใจความที่ฉันจับได้จากหนังสือ ทั้งความรักของเธอต่อฮิทช์ค็อกและต่อภาพยนตร์” 

ความตลกของชะตากรรมอยู่ตรงที่เมียร์เรนรู้สึกไม่ถูกโฉลกกับฮิทช์ค็อกตัวจริงเท่าไหร่ ตอนเธอไปทดสอบหน้ากล้องให้หนังเรื่อง Frenzy ในปี 1970 “เขาไม่เลือกฉัน เขาไม่ชอบฉันเอาซะเลย อันที่จริง ฉันก็ไม่ค่อยชอบเขาเท่าไหร่ เขาดูน่าหวั่นเกรง ชายร่างใหญ่นั่งอยู่ด้านหลังโต๊ะ ฉันไม่อยากถ่ายหนังกับเขา ตอนนั้นฉันค่อนข้างยโสและมีอารมณ์แบบเด็กๆ ฉันรู้สึกว่าเขาไม่ใช่ผู้กำกับที่ฉันอยากร่วมงานด้วยในขณะนั้นแต่เวลาต่อมา เธอก็เริ่มนับถือเขาจากการชมหนังคลาสสิกอย่าง Notorious และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Vertigo ซึ่งเธอให้ความเห็นว่า สุดขีดมากๆ


ราเชล ไวซ์ (The Deep Blue Sea)

ทันทีที่ชื่อของ ราเชล ไวซ์ ถูกประกาศให้เป็นผู้ชนะรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมของสมาคมนักวิจารณ์นิวยอร์ก เหล่ากูรูออสการ์ทั้งหลายก็เริ่มเหลียวตามามองเธอว่าอาจกลายเป็นม้ามืดในช่วงโค้งสุดท้าย แน่นอน ผลรางวัลดังกล่าวไม่มีใครคาดคิดมาก่อน แม้กระทั่งตัวไวซ์เอง ฉันตกตะลึงและประหลาดใจยิ่งกว่าใครทั้งหมด จู่ๆ มันก็เกิดขึ้นจนฉันไม่ทันตั้งตัว เธอกล่าว และลงเอยด้วยการเปิดไวน์ชั้นดีดื่มฉลองกับสามี เดเนียล เครก (ทั้งสองพบกันในกองถ่ายหนังเรื่อง Dream House ก่อนเธอจะประกาศแยกทางกับผู้กำกับ ดาร์เรน อาร์โรนอฟสกี้)  ซึ่งกำลังไปได้สวยในแง่อาชีพการงานเช่นกัน เมื่อหนัง เจมส์ บอนด์ ตอนล่าสุดของเขาทำเงินถล่มทลาย และกวาดคำชมจากนักวิจารณ์ไปอย่างท่วมท้น

อันที่จริงข่าวดังกล่าวไม่ควรจะเป็นเซอร์ไพรซ์สำหรับนักแสดงหญิงระดับแนวหน้า ผู้เคยคว้ารางวัลออสการ์มาครองจาก The Constant Gardener แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธ คือ The Deep Blue Sea เปิดฉายในอเมริกาแบบจำกัดโรงไปตั้งแต่เดือนมีนาคม ก่อนจะถูกถอดโปรแกรมไปแบบเงียบๆ จนไม่น่าเชื่อว่าจะมีใครจดจำมันได้สำหรับเทศกาลแจกรางวัลช่วงปลายปี (ยิ่งไปกว่านั้นหลายคนอาจยังไม่มีโอกาสได้ชมหนังอินดี้เล็กๆ เรื่องนี้ด้วยซ้ำ) แน่นอน เครดิตสำคัญต้องยกให้กับงานแสดงอันทรงพลังของไวซ์ ในบทเฮสเตอร์ หญิงสาวชาวอังกฤษในยุค 1950 ที่ยอมทิ้งชีวิตสมรสอันสุขสบาย แต่ปราศจากรัก แล้วหนีตามชู้รักหนุ่ม อดีตนักบินรบ ไปอยู่ในอพาร์ตเมนต์คับแคบ

เธอตกหลุมรักอย่างหัวปักหัวปำ แล้วก็ทำสิ่งที่น่าละอายโดยไม่อาจควบคุมตัวเอง เธอโดนบีบบังคับโดยหัวใจ จิตวิญญาณ และความต้องการทางเพศไวซ์ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับตัวละคร ผู้คนพากันก่นด่าพฤติกรรมของเธอ และเธอเองก็รู้ดีว่ากำลังทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ฉันไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นกับตัวเองแน่ๆ แต่ในแง่ดรามา มันเป็นสถานการณ์น่าสนใจที่ชวนให้ดำดิ่งลงไปค้นหา มองในอีกแง่หนึ่ง เฮสเตอร์เป็นผู้หญิงที่กล้าหาญและหัวสมัยใหม่ เธอตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตโดยไม่สนใจบรรทัดฐานทางสังคม คนเรามักไม่ชอบความหลงใหล คลั่งไคล้ ซึ่งนั่นยังคงเป็นจริงในประเทศอังกฤษ ผู้กำกับ เทอร์เรนซ์ เดวีส์ กล่าว พวกเขาเห็นมันเป็นเรื่องหยาบกระด้าง

นักดูหนังส่วนใหญ่อาจรู้จักไวซ์จากหนังฮิตชุด The Mummy แต่เธอยินดีจะแสดงในหนังอินดี้ หรือหนังอาร์ตหลากหลายสไตล์ หากบทมีรายละเอียดบางอย่างที่น่าสนใจ หรือดึงดูดใจเธอ ไม่ว่าจะเป็น The Shape of Things หรือ The Fountain และ The Constant Gardener (เธอถ่ายทำหนังเรื่อง To the Wonder เพราะต้องการร่วมงานกับ เทอร์เรนซ์ มาลิก แต่สุดท้ายบทของเธอถูกตัดออกทั้งหมด) เช่นเดียวกัน เธอตอบตกลงรับเล่นหนังเรื่อง The Deep Blue Sea ทันทีที่ได้อ่านบทและได้รับโทรศัพท์จากเดวีส์ ผู้สร้างชื่อเสียงจากหนังเรื่องเยี่ยมอย่าง Distant Voices, Still Lives แน่นอน การตัดสินใจของเดวีส์ได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ วิธีที่เธอค่อยๆ ลดเสียงจนแทบจะกระซิบ จากนั้นก็หลบสายตาลง พระเจ้า ผมชอบชะมัดเลย คุณไม่สามารถกำกับให้ใครแสดงแบบนั้นได้ คุณแค่ต้องปล่อยให้มันไหลออกมาเองตามธรรมชาติเขากล่าว พร้อมเปรียบเทียบการแสดงของไวซ์ว่ายอดเยี่ยมไม่แพ้ ซีเลีย จอห์นสัน ในหนังคลาสสิกเรื่อง Brief Encounter เพราะมันสะท้อนให้เห็นพายุอารมณ์โหมกระหน่ำอยู่ภายใน แต่ถูกควบคุมเอาไว้ไม่ให้แสดงออกมา ซึ่งนั่นยิ่งทำให้มันทรงพลังมากขึ้นอีก


มาริยง โกติยาร์ (Rust and Bone)

หลังคว้ารางวัลออสการ์มาครองจากบท อีดิธ เพียฟ ในหนังเรื่อง La Vie en Rose (ออสการ์ตัวแรกสำหรับการแสดงในหนังที่พูดภาษาฝรั่งเศส) มาริยง โกติยาร์ ก็กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ที่คนดูหนังชาวอเมริกันส่วนใหญ่เริ่มคุ้นหูคุ้นตาจากการรับบทในหนังดังอย่าง Midnight in Paris และ The Dark Knight Rises ถ่ายแบบขึ้นปกนิตยสาร Vogue ตลอดจนเป็นนางแบบให้กับโฆษณาของ Lady Dior แต่ขณะเดียวกัน เธอก็ยังไม่บอกลาตลาดหนังอาร์ตในยุโรปเสียทีเดียว ที่ฝรั่งเศส เธอกับสามีนักแสดง/นักทำหนัง กีล์โยม คาเนต์ (Tell No One) โด่งดัง เป็นที่กล่าวขวัญถึงในฐานะ แบรนเจลินาแห่งดินแดนน้ำหอม

Rust and Bone ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้และคำวิจารณ์ในประเทศบ้านเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงแบบทุ่มสุดตัวของมาริยงกับบท สเตฟานี หญิงสาวที่สูญเสียขาทั้งสองข้างตั้งแต่หัวเข่าลงไปจากอุบัติเหตุระหว่างฝึกวาฬเพชฌฆาต และประสบการณ์ดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงตัวเธอทั้งภายนอกและภายใน เช่นเดียวกับความรักของเธอต่ออดีตนักมวยเรือพ่วง ผู้กำกับ ฌาคส์ ออดิอาร์ด ดัดแปลงเรื่องราวจากหลากหลายเรื่องสั้นของนักเขียนชาวแคนาดา เกร็ก เดวิดสัน เพื่อสะท้อนให้เห็นความสุขอันเกิดจากการเปิดใจให้กับความรัก

โกติยาร์ต้องเตรียมพร้อมร่างกายหลายอย่างเพื่อให้เข้าถึงบท ตั้งแต่การฝึกฝนวิธีขยับร่างกายให้ดูเหมือนตัวละครที่เพิ่งถูกตัดขาทั้งสองข้าง เข้าคอร์สว่ายน้ำในระหว่างช่วงพักเบรกจากการถ่ายหนังเรื่อง The Dark Knight Rises ที่พิทส์เบิร์ก ไปจนถึงใช้เวลานับสัปดาห์เรียนรู้ที่จะออกคำสั่งปลาวาฬ นอกจากนี้ เธอยังศึกษาการเคลื่อนไหวของผู้พิการทางขาจากคลิปวิดีโออีกด้วย แน่นอน เทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟฟิกอาจช่วยเพิ่มความสมจริงได้อย่างยอดเยี่ยม (ระหว่างถ่ายทำเธอต้องสวมถุงเท้ายาวถึงเข่าสีเขียว) แต่การขยับร่างกายส่วนอื่นๆ ก็จำเป็นต้องสอดคล้องไปด้วยกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับนักทำหนัง การเลียนแบบคนพิการให้เหมือนเปี๊ยบไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุด เพราะนี่ไม่ใช่หนังสารคดี ตัวอย่างเช่น มาริยงเลือกจะใช้ไม้เท้าในการช่วยทรงตัวหลังจากสเตฟานีใส่ขาเทียมแล้ว แม้ว่าในชีวิตจริงคนพิการที่ใส่ขาเทียมจะไม่จำเป็นต้องใช้ไม้เท้าช่วยในการทรงตัวก็ตาม แต่บนจอหนังไม้เท้าช่วยย้ำเตือนคนดูถึงสภาวะพิการของตัวละคร

สำหรับนักแสดงสาววัย 37 ปี ความท้าทายที่แท้จริงของบทนี้ไม่ใช่แง่มุมทางด้านกายภาพ หากแต่เป็นการเข้าถึงสภาวะล่องลอยทางจิตวิญญาณของสเตฟานี ในช่วงต้นเรื่อง ชีวิตของเธอว่างเปล่า เธอไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร หรือทำไมถึงยังมีชีวิตอยู่เธอกล่าว เธอตายด้านทางอารมณ์ ไม่รู้สึกรู้สาอะไร ฉันเองก็เคยมีประสบการณ์ทำนองนั้นในบางช่วงของชีวิต คล้ายกับอาการช็อกจนเสียศูนย์ และตัดขาดจากความเป็นจริงรอบข้าง

ตารางการทำงานอันแน่นเอี้ยดของโกติยาร์ทำให้เธอไม่สามารถพูดคุย ซักซ้อมกับออดิอาร์ดได้มากนักก่อนเปิดกล้อง เขาจึงเลือกใช้วิธีถ่ายทำมากเทคขึ้น เธอตีความตัวละครเองตามที่เธอเข้าใจ การทำงานแบบนี้ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับผมเขากล่าว เพื่อค้นหาจังหวะอารมณ์ที่เหมาะสม ทั้งสองถ่ายทำฉากที่สเตฟานีฟื้นคืนสติในโรงพยาบาลทั้งหมด 8 เทคด้วยกัน มาริยงถ่ายทอดภาพลักษณ์ของตัวละครช่วงต้นเรื่องในแง่มุมที่น่าเศร้ามากๆ เธอทำให้ผมนึกถึงนักแสดงหญิงในยุคหนังเงียบ ใบหน้าเธอเปิดเผยอารมณ์อย่างชัดเจน บทพูดแทบจะไม่มีความจำเป็น เราสามารถตัดมันทิ้งได้เลย

การได้ชม La Vie en Rose กลายเป็นแรงกระตุ้นให้ออดิอาร์ดอยากร่วมงานกับนักแสดงสาวเจ้าของรางวัลออสการ์ เขาชื่นชมความสามารถของเธอที่จะลืมตัวตนที่แท้จริง แล้วกลายเป็นตัวละครอย่างสมบูรณ์แบบ แต่สำหรับโกติยาร์ เธอไม่ใช่นักแสดงที่ถูกวิญญาณของ อีดิฟ เพียฟ หลอกหลอนอยู่นานกว่า 8 เดือนหลังปิดกล้องอีกต่อไป ฉันอยากเข้าถึงบทบาทอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ก็ไม่มีสาเหตุที่จะต้องแสดง แต่ฉันไม่คิดว่าเหตุการณ์แบบ อีดิฟ เพียฟ จะเกิดขึ้นกับฉันอีกแล้วเธอกล่าว ชีวิตฉันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก เมื่อกลับมาถึงโรงแรมหลังถ่ายฉากใน Rust and Bone เสร็จแต่ละวัน ฉันต้องเลี้ยงดูลูกทารก ทันใดนั้นการแยกชีวิตจริงออกจากบทที่ฉันกำลังแสดงก็กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น เพราะลูกชายอายุ 5 ขวบต้องการฉันอย่างหมดหัวใจ ไม่ใช่ฉันกับงานของฉัน


แคธรีน บิเกโลว์ (Zero Dark Thirty)

มายา ตัวละครเอกใน Zero Dark Thirty หนังเรื่องล่าสุดของ แคธรีน บิเกโลว์ ถูกจำกัดความจากงานที่เธอทำ คนดูไม่อาจรู้ว่าอะไรเป็นเหตุผลผลักดันเธอ หรือว่าเธอมีแฟนกับเขาบ้างมั้ย คำถามหลังสุดปรากฏในหนังอยู่ฉากหนึ่ง แต่ถูกมายาบอกปัดอย่างเรียบๆ ถ้าคุณได้รู้จักกับบิเกโลว์ ตัวละครมายาจะดูคลับคล้ายคลับคลาอย่างน่าประหลาด มันเป็นเรื่องยากที่จะไม่นึกเปรียบเทียบบิเกโลว์กับมายา แม้เจ้าตัวจะไม่สนับสนุนสมมุติฐานดังกล่าวสักเท่าไหร่ โดยอ้างว่าหนังของเธอมีตัวละครเป็นผู้หญิงแกร่งอยู่หลายคน เช่น แอนเจลา บาสเซ็ท ใน Strange Days และสาเหตุหลักๆ ที่เธอสนใจสร้าง Zero Dark Thirty หาใช่มายา แต่เป็นเพราะบทภาพยนตร์ชั้นยอดของ มาร์ค โบว

ในฐานะหนึ่งในผู้กำกับหญิงเพียงไม่กี่คนบนโลกที่เชี่ยวชาญการสร้างหนังแอ็กชั่นแมนๆ และยังเป็นผู้กำกับหญิง คนแรกที่คว้ารางวัลออสการ์มาครองจาก The Hurt Locker แคธรีน บิเกโลว์ มักจะถูกนิยามด้วยเพศสภาพมากกว่าผลงานที่ปรากฏบนจอ ซึ่งนั่นสร้างความรู้สึกหงุดหงิดให้เธอไม่น้อย แต่ก็รู้ดีว่าเธอไม่อาจทำอะไรได้นอกจากพยายามโน้มนำความสนใจให้กลับมายังตัวภาพยนตร์ และทันทีที่คุณหลุดปากถามเรื่องส่วนตัว เช่น ประสบการณ์ในการปีนเขาคิลิมันจาโร เธอจะวางท่าเย็นชาและเริ่มตั้งการ์ดทันที

การปรับโฟกัสให้จำกัดอยู่แค่ทักษะภาพยนตร์ที่แม่นยำ หรือความเชี่ยวชาญในการเล่าเรื่องของ Zero Dark Thirty นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้เพราะบิเกโลว์ประสบความสำเร็จ (บางทีอาจมากเกินไปด้วยซ้ำ) ในการชักนำคนให้หันมาสนใจประเด็นการทรมานนักโทษของอเมริการะหว่างสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ฉากเหล่านั้นถูกใส่เข้ามาโดยปราศจากจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน ส่งผลให้คนดูแต่ละคนตีความกันไปต่างๆ นานา และนำไปสู่การทักท้วงด้วยข้อหาส่งเสริมพฤติกรรมไร้ศีลธรรม บิเกโลว์ไม่ต้องการจะพูดถึงประเด็นดังกล่าว ส่วนหนึ่งเพราะเธออยากให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ อีกส่วนหนึ่งเพราะเธอไม่ต้องการจะราดน้ำมันลงบนกองไฟ ตรงกันข้าม ท่ามกลางความสำเร็จของหนัง ที่เดินหน้ากวาดรางวัลนักวิจารณ์มาอย่างมากมาย เธอเลือกจะยกเครดิตให้เหล่าทีมงาน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบงานสร้างของ เจเรมี ฮินเดิล ซึ่งเนรมิตแหล่งหลบซ่อนของบินลาดินในปากีสถานได้อย่างสมจริง และ พอล อ็อตโตสัน คนตัดต่อเสียงที่สร้าง เสียงลับๆของเฮลิคอปเตอร์สำหรับใช้บุกถล่มบ้านของบินลาดิน (เขาอธิบายว่ามันเป็นส่วนผสมของเสียงแมวร้องและเสียงเบาๆ ของเครื่องตัดหญ้า) บิเกโลว์เล่าว่า พอลลงทุนจ้างช่างบันทึกเสียงในปากีสถานเพื่อบันทึกเสียงอึกทึกของตลาดในเมืองจริงๆ ที่เกิดเหตุ ฉันหมายถึง ใครเขาทำกันขนาดนั้น

นอกจากนี้เธอยังกล่าวชื่นชมคนตัดต่อ บิลลี โกลเดนเบิร์ก ที่ต้องซอยฟุตเตจยาวกว่า 370 ชม. ให้เหลือแค่ 2 ½ ชม. และตากล้อง เกร็ก ฟราเซอร์ ที่ถ่ายทำฉากไคล์แม็กซ์ด้วยเทคโนโลยี ไนท์-วิชชั่น ได้อย่างยอดเยี่ยม หลังเธอตัดสินใจถ่ายหนังโดยไม่ใช้การจัดแสงเพื่อความสมจริง พอถึงจุดนี้ มาร์ค โบว ต้องรีบขัดขึ้นโดยบอกว่า แคธรีน คุณจะให้เครดิตตัวเองบ้างก็นะได้ การถ่ายทำแบบนั้นถือเป็นเรื่องเสี่ยง ไม่เคยมีใครใช้เทคนิคนี้มาก่อน แต่คุณกับเกร็กก็กล้าพอจะยอมเสี่ยงร่วมกัน

คงมีผู้กำกับระดับโลกเพียงไม่กี่คนหรอกที่จะถ่อมตัวและให้เกียรติเพื่อนร่วมงานมากเท่าบิเกโลว์ เธอเป็นผู้กำกับที่ใจกว้างที่สุดคนหนึ่ง เอมี พาสคาล ผู้บริหารของโซนี สตูดิโอที่ทำหน้าที่จัดจำหน่าย Zero Dark Thirty กล่าว ทุกคนที่ได้ร่วมงานกับเธอต่างก็หลงรักเธอกันทั้งนั้นแรกทีเดียวบิเกโลว์ไม่ได้ตั้งใจจะทำหนังเกี่ยวกับกองทัพติดกันเป็นเรื่องที่สอง เธอสนใจอยากกำกับ Triple Frontier หนังเขย่าขวัญเกี่ยวกับยาเสพติดในอเมริกาใต้ แต่สตูดิโอไม่ค่อยกระตือรือร้นกับไอเดียดังกล่าวสักเท่าไหร่ บิเกโลว์กับโบวจึงวางแผนสร้างหนังเกี่ยวกับความล้มเหลวของการตามล่าบินลาดินแทน และต้องเปลี่ยนบทไปอีกทาง เมื่อบินลาดินถูกสังหารในที่สุด ฉันอยากให้คนดูเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเหล่าชายหญิงที่ทำงานในการตามล่าครั้งนี้ แสดงให้เห็นความกล้าหาญและเสียสละของผู้คนเหล่านั้นบิเกโลว์กล่าว


เบน อัฟเฟล็ก (Argo)

เบน อัฟเฟล็ค บอกว่าประสบการณ์ในการกำกับหนังสองเรื่องแรก (Gone Baby Gone และ The Town) ช่างเต็มไปด้วยความยากลำบาก ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับหนังเรื่องที่สาม Argo ถึงแม้ว่าคราวนี้เขาจะต้องรับมือกับรายละเอียดที่ซับซ้อนมากมาย จากข้อเท็จจริงที่ว่ามันเป็นหนังย้อนยุค ต้องถ่ายทำในลอสแองเจลิส วอชิงตัน และอิสตันบูล (ขณะที่หนังสองเรื่องแรกถ่ายทำกันที่บอสตัน บ้านเกิดของเขา) แถมอารมณ์หนังยังต้องผสมมุกตลกเสียดสีวงการบันเทิง เข้ากับความตื่นเต้น ลุ้นระทึกแบบหนังสายลับให้กลมกลืน ลงตัว ผมคิดว่าสาเหตุคงเป็นเพราะครั้งนี้ผมรู้แน่ชัดว่าจะถ่ายทอดเรื่องราวออกมาอย่างไร อัฟเฟล็คกล่าว

แน่นอนความสำเร็จของหนังสองเรื่องแรกคงช่วยให้อัฟเฟล็คมีความมั่นใจมากขึ้นด้วย และนั่นส่งผลเป็นรูปธรรมชัดเจนในผลงานชิ้นล่าสุด ซึ่งเล่าเรื่องได้กระชับและเร้าอารมณ์ได้เปี่ยมประสิทธิภาพสูงสุด มันช่วยฉุดเขาให้ก้าวขึ้นมายืนแถวหน้าในฮอลลีวู้ดอีกครั้ง หลังจากล้มเหลวในฐานะนักแสดงอยู่พักใหญ่จากหนังอย่าง Gigli และ Daredevil โดยจุดตกต่ำสุดคงหนีไม่พ้นเมื่อสำนักข่าวล้อเลียนพาดหัวว่า เบน อัฟเฟล็ค หวังแสดงเป็นสมุน เจสัน บอร์น ในหนังภาคใหม่ อ้างอิงถึงความสำเร็จในฐานะนักแสดงของ แม็ท เดมอน (The Bourne Trilogy) เพื่อนสนิทของเขาที่โด่งดังมาพร้อมๆ กันจากการเขียนบทหนังรางวัลออสการ์เรื่อง Good Will Hunting อัฟเฟล็คกลายเป็นหัวข้อฮ็อตฮิตตามหน้าหนังสือซุบซิบดาราอยู่พักใหญ่จากพฤติกรรมเพลย์บอยและการประกาศหมั้นกับ เจนนิเฟอร์ โลเปซ แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ลงเอยด้วยการแต่งงานกับเจนนิเฟอร์อีกคน (นามสกุลการ์เนอร์) และมีลูกด้วยกันสามคน ตอนนี้ทุกอย่างดูเหมือนจะลงตัวอย่างสวยงาม เมื่อ Argo เดินหน้ากวาดรางวัลและทำเงินได้อย่างมากมายเหนือความคาดหมาย

อาชีพผู้กำกับของอัฟเฟล็คเริ่มต้นขึ้นเมื่อเขาตัดสินใจเขียนบทหนังดัดแปลงจากนิยายของ เดนนิส ลีเฮน ชื่อ Gone Baby Gone เกี่ยวกับการหายตัวไปอย่างลึกลับของเด็กสาวคนหนึ่ง โน้มน้าวสตูดิโอให้ยอมให้เขาทำหน้าที่กำกับ และถ่ายทำโดยใช้ทุนสร้างประมาณ 19 ล้านเหรียญ ผมรู้ว่าไส้กรอกทำอย่างไร”เขาเล่าถึงประสบการณ์ในกองถ่าย “แต่ผมไม่รู้ว่าไส้กรอกที่ผมทำจะออกมาดีหรือไม่

คนที่ไม่เคยแปลกใจในทักษะผู้กำกับของอัฟเฟล็ค คือ แมท เดมอน ซึ่งเล่าว่าเพื่อนเขาเริ่มหัดกำกับหนังตั้งแต่สมัยวัยรุ่นแล้ว อย่างน้อยก็ในหัวเขา เพราะทุกครั้งที่ทั้งสองไปดูหนังด้วยกัน ระหว่างเดินทางกลับอัฟเฟล็คจะอธิบายได้เป็นชุดๆ ว่าส่วนไหนของหนังที่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ เขาเก่งเรื่องนี้มากๆ เดมอนกล่าว เช่น หนังเรื่อง The Town ผมเคยอ่านบทแรกของมันและตอบปฏิเสธในทันที พอรู้ว่าเบนตัดสินใจจะกำกับหนังเรื่องนี้ ผมรีบโทรหาเขาเพื่อถามว่า นายบ้าไปแล้วเหรอ บทหนังเรื่องนี้มันห่วยจะตาย แต่เขากลับตอบว่า ไม่หรอก ต่อไปนี้ คือ หกสิ่งที่ฉันจะทำ อัฟเฟล็กใช้เวลาแก้ไขบทภาพยนตร์อยู่พักหนึ่ง และลงเอยด้วยการมีเครดิตเป็นหนึ่งในผู้เขียนบท

ในบทฉบับร่างแรกของ Argo ตัวละครเอก โทนี เมนเดซ ถูกวางให้เป็นชายแก่ที่กำลังพบจุดตกต่ำสุดของชีวิต แต่เมื่อผู้กำกับตัดสินใจโดดลงมานำแสดงเองด้วย คริส เทอริโน จึงต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางอย่างให้สอดคล้อง เพราะอัฟเฟล็กเป็นคนหน้าตาดี และดูห่างไกลจากพวกขี้แพ้ ด้วยเหตุนี้หนังจึงต้องหันมาสร้างปมเพิ่มด้วยการให้เมนเดซหย่าขาดจากภรรยาและห่างเหินจากลูกชาย ผลลัพธ์ทำให้ Argo ไม่เพียงเข้มข้นในแง่ภาพสะท้อนความขัดแย้งทางการเมือง สนุกสนานในแง่ภาพล้อเลียน (และคาราวะ) ฮอลลีวู้ดเท่านั้น แต่ยังน่าประทับใจในแง่การสดุดีความรักของคนเป็นพ่ออีกด้วย


นิโคล คิดแมน (The Paperboy)

ถึงแม้จะมีเวลาบนจอค่อนข้างจำกัด แต่ทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า The Paperboy ถูกยึดครองโดยการแสดงอันกล้าหาญและไม่มีลิมิตของ นิโคล คิดแมน ในบทสาวใหญ่ใจกระสันนักโทษต้องคดีร้ายแรง ความสุดโต่งของหนังและพฤติกรรมตัวละครถูกคานน้ำหนักกับความเป็นมนุษย์ที่คิดแมนสอดแทรกไว้อย่างแนบเนียน เธอใส่ความสมจริงให้อารมณ์หมกมุ่น ให้จิตใจที่บิดเบี้ยว จนบางครั้งก็ทำให้ความวิปริตดูอ่อนโยนได้อย่างไม่น่าเชื่อ ฉากเธอเต้นรำกับเด็กหนุ่มที่ลุ่มหลงเธอท่ามกลางสายฝนให้ความรู้สึกเหมือนการเต้นรำของสองดวงวิญญาณที่แตกหัก ส่วนฉากเธอฉี่รดใบหน้าเขาเพื่อบรรเทาอาการแพ้จากพิษของแมงกระพรุนก็ดูเหมือนพฤติกรรมซึ่งถือกำเนิดจากความรัก ความห่วงใยอย่างแท้จริง เธอเก็ท ชาร์ล็อต เบลส เธอเข้าใจผู้หญิงคนนี้ผู้กำกับ ลี เดเนียลส์ กล่าวถึงนักแสดงนำหญิงของเขา และเธอเข้าใจความบ้าคลั่งของผม

ความทุ่มเทแบบนั้นเป็นสิ่งที่คิดแมนทำกับทุกบทที่เธอรับเล่น นับแต่เริ่มสถาปนาตัวเองเป็นนักแสดงหญิงชั้นนำเมื่อ 11 ปีก่อนตอนตัดสินใจเล่น Eyes Wide Shut หนังเรื่องสุดท้ายของ สแตนลีย์ คูบริค สองปีต่อมาเธอก็คว้ารางวัลออสการ์มาครองจาก The Hours ในบท เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ที่ไม่เพียงน่าตื่นเต้นจากการแปลงโฉมภายนอกจนแทบไม่มีใครจำได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการสะท้อนภาวะจิตใจอันแปรปรวนของนักเขียนสาวชื่อดังได้อย่างแม่นยำอีกด้วย ความเสี่ยงดูจะเป็นสิ่งที่คิดแมนขวนขวาย ผ่านบทที่ไม่เพียงแต่ท้าทายความสามารถของเธอในฐานะนักแสดง แต่ยังท้าทายภาพลักษณ์ของเธอในสายตาของนักดูหนังอีกด้วย จนไม่น่าแปลกใจเมื่อคิดแมนบอกว่าเธอเทิดทูน อิสซาเบลล์ อูแปรต์ นักแสดงหญิงชาวฝรั่งเศส เป็นแบบอย่าง ฉันชอบอันตรายในอาชีพของเธอคิดแมนกล่าว

นิโคลเป็นทั้งนักแสดงมืออาชีพและซูเปอร์สตาร์ผู้กำกับ บาซ เลอห์แมน ซึ่งเคยร่วมงานกับเธอใน Moulin Rouge! และ Australia กล่าว มันเป็นส่วนผสมที่หาได้ยากยิ่ง แต่สำหรับในชีวิตจริง เขาบอกว่าคิดแมนเป็นคนติดดินอย่างเหลือเชื่อ ชอบพูดจาตรงไปตรงมา มีนิสัยรักสนุกและไม่ถือสาอะไรจริงจัง เพื่อนนักแสดงชาวออสซี่ นาโอมิ วัตส์ ชื่นชมความสามารถของคิดแมนในการสร้างสมดุลระหว่างการเลือกเล่นหนังอิสระและหนังตลาด ซึ่งปรากฏชัดผ่านเครดิตหนังอย่าง Dogville, Birth, The Others และ Cold Mountain “เธอเป็นผู้หญิงที่น่าตื่นเต้น เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และนั่นยิ่งทำให้ผลงานของเธอลึกล้ำ น่าสนใจ

ฉันอยากทำงานกับผู้กำกับที่จะพาฉันไปสัมผัสด้านลึกๆ ของตัวเองที่ฉันไม่ตระหนักว่ามีอยู่นักแสดงที่เกิดในฮาวายและเติบโตในซิดนีย์ (ปัจจุบันเธอถือสองสัญชาติ) กล่าวถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเลือกเล่นหนังอย่าง The Paperboy ลี เดเนียลส์ ซึ่งไม่นิยมซ้อมบทก่อนถ่ายทำ ตอบสนองความกระตือรือร้นดังกล่าวด้วยการถ่ายฉาก ฉี่รดหน้า ตั้งแต่วันแรก แซ็ค เอฟรอน หนุ่มน้อยเจ้ากรรมที่จะต้องถูกกระทำในฉากดังกล่าว กล่าวชื่นชมความทุ่มเทที่จะไปสุดทางของคิดแมน (เธอตบหน้าเขาเต็มแรง ขณะพยายามจะปลุกเขาให้ฟื้นจากพิษแมงกะพรุน ก่อนจะกล่าวขอโทษเขาในภายหลัง) “เธอไม่กลัวอะไรเลย และปล่อยตัวไปกับบทแบบปราศจากกำแพงขวางกั้นใดๆ

ความพยายามจะท้าทายตัวเองอยู่ตลอดเวลาของคิดแมนพิสูจน์ได้จากผลงานชิ้นต่อไป ซึ่งเธอจะรับบทเป็นเจ้าหญิง เกรซ เคลลี ในหนังเรื่อง Grace of Monaco ถ้าจะมีใครสักคนเป็นขั้วตรงข้ามของ ชาร์ล็อตต์ เบส คนๆ นั้นคงหนีไม่พ้น เกรซ เคลลี  ขณะเดียวกันคิดแมนกำลังพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะหาเวลาว่างไปเล่นบทเล็กๆ ใน The Nymphomaniac ผลงานชิ้นล่าสุดของ ลาร์ส ฟอน เทรียร์ ซึ่งเธอเคยร่วมงานด้วยใน Dogville ถึงแม้ผู้กำกับชาวเดนมาร์กจะค่อนข้างขึ้นชื่อเรื่องทำงานด้วยลำบาก ฉันทำงานเข้าขาได้ดีกับผู้กำกับที่สุดโต่ง ลาร์สทำหนังได้ไม่เหมือนใคร และไม่ว่าคุณชอบหรือเกลียดหนังของเขา ก็ต้องยอมรับว่าทักษะภาพยนตร์ของเขานั้นยอดเยี่ยมคิดแมนกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: