วันเสาร์, มกราคม 19, 2556

หนังแห่งความประทับใจ


Moneyball: ฉลาด ซับซ้อน และซาบซึ้งในเวลาเดียวกัน ถ้าเราให้โอกาสกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่มักจะถูกมองข้าม บางทีผลตอบแทนที่ได้กลับมาอาจคุ้มค่าเกินคาด และถึงแม้ บิลลี่ บีน จะคว้าแชมป์ที่เขาใฝ่ฝันมาครองไม่สำเร็จสักที แถมยังตอบปฏิเสธเงินก้อนโต แต่เขากลับห่างไกลจากคำว่า “ขี้แพ้” ไม่ว่าจะในเกม หรือในชีวิตส่วนตัว

Tinker Tailor Soldier Spy: ทักษะการเล่าเรื่องในระดับสุดยอด มาพร้อมกับบรรยากาศเย็นชา คุกคาม เต็มไปด้วยความไม่น่าไว้วางใจ เทคนิคภาพยนตร์อันซับซ้อน แพรวพราวของหนังเรื่องนี้เหมาะจะนำไปใช้สอนในคลาสวิชาภาพยนตร์ และน่าประหลาดตรงที่ถึงแม้คุณจะตามเรื่องไม่ทันในบางช่วง แต่นั่นกลับไม่เป็นอุปสรรคขัดความความบันเทิง ความน่าติดตามของหนังแต่อย่างใด

The Skin I Live In: เป็นหนังในแนว rape-revenge ที่สุดติ่งมากๆ การแก้แค้นใดจะสะใจเท่าการให้เหยื่อได้ลิ้มลองรสชาติเดียวกับกรรมที่เขาก่อไว้ ขณะเดียวกัน ใครจะคิดว่าพล็อตทำนอง Frankenstein จะถูกดัดแปลงเพื่อถ่ายทอดประเด็นเกี่ยวกับตัวตนทางเพศและความขัดแย้งระหว่างภายในกับภายนอกได้อย่างพิสดารขนาดนี้

Moonrise Kingdom: สไตล์การทำหนังแบบ เวส แอนเดอร์สัน ไม่เคยถูกนำมาใช้ให้สอดคล้องกลมกลืนกับเนื้อหาได้มากขนาดนี้มาก่อน มันสะท้อนความอัศจรรย์แห่งวัยเด็ก อุดมคติ การผจญภัย และรักครั้งแรกได้บาดลึก พอๆ กับความจริงอันเจ็บปวดแห่งวัยผู้ใหญ่

A Simple Life: มีแนวโน้มจะไถลไปสู่โหมดเมโลดรามาบีบน้ำตาได้ง่ายๆ แต่หนังกลับคงความสงบนิ่ง ไม่ฟูมฟายไว้โดยตลอด และก็เช่นเดียวกับชีวิต ท่ามกลางความเรียบง่ายทั้งหลาย มีความงามซุกซ่อนอยู่ เพียงแต่เราจะมองเห็นและสัมผัสได้หรือไม่เท่านั้น


นักแสดงชาย

แบรด พิทท์ (Moneyball) การผสมผสานที่ลงตัวในระดับสุดยอดระหว่างพลังดาราและฝีมือการแสดง สายตาที่เขานั่งมองลูกสาวร้องเพลงในร้านขายกีตาร์มันบ่งบอกอารมณ์ได้อย่างหลากหลาย ทั้งเซอร์ไพรส์ ภูมิใจ และผิดหวังที่ตนไม่มีส่วนร่วมในชีวิตของเธอได้มากกว่านี้ ความหนักแน่นของฉากดังกล่าวมีผลอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้การตัดสินใจตอนท้ายของตัวละครดูน่าเชื่อถือ

ไรอัน กอสลิง (The Ides of March) เด็กฝึกงานที่ไหนบ้างจะไม่อยากหลับนอนกับเจ้านายหน้าตาแบบนี้ เขาทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องน่าหลงใหล ใคร่รู้

แกรี โอลด์แมน (Tinker Tailor Soldier Spy) ตัวอย่างของการเล่นน้อยแต่ได้มาก ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับบทบาทสายลับที่ต้องสงวนท่าทีเพื่อไม่ให้ใครรู้ว่าตนกำลังถือไพ่อะไรไว้ในมือ

เท็ด (Ted) ส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความน่ารักและอัปรีย์

วาควิน ฟีนิกซ์ (The Master) เป็นงานแสดงที่กล้าหาญมาก เต็มไปด้วยการใช้อากัปกิริยาภายนอกเพื่อถ่ายทอดตัวตน ความรู้สึกภายในออกมา ไม่ว่าจะเป็นท่าเท้าสะเอวแบบแปลกๆ สีหน้าอันบิดเบี้ยว หรือเสียงหัวเราะกึ่งฝืน ราวกับจะบอกว่าเฟร็ดดี้เป็นตัวละครที่ไม่อาจควบคุมร่างกายของตัวเองได้มากพอๆ กับสภาพจิตใจอันเสียสมดุล


นักแสดงหญิง

มิเชล วิลเลียมส์ (My Week With Marilyn) ชอบการตีความของเธอในการรับบทเป็น มาริลีน มอนโร เธอรู้ว่าการเลียนแบบตัวจริงเป็นเรื่องยากเพราะเธอดูไม่เหมือนมาริลีนเลยสักนิด ดังนั้นจึงหันมาใช้วิธีปลุกความรู้สึกของเราที่มีต่อมาริลีน นั่นคือ ส่วนผสมระหว่างความไร้เดียงสาและเซ็กซ์ซิมโบล เสน่ห์ดึงดูดใจแบบซูเปอร์สตาร์และความอ่อนแอ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเองเวลาไม่ได้อยู่ต่อหน้ากล้อง ซึ่งในจุดนี้เธอทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ทิลด้า สวินตัน (We Need to Talk About Kevin) ถึงออสการ์จะไม่รัก แต่เรารักเธอเสมอ ขอกราบงามๆ 3 ทีให้กับงานแสดงอันทรงพลัง

คีรา ไนท์ลีย์ (A Dangerous Method) เคยชอบเธอจากหนังโรแมนติกย้อนยุคอย่าง Pride and Prejudice และ Atonement แต่ไม่คิดว่าเธอจะมีลูกบ้าและความมั่นใจมากพอจะเล่นอะไรแบบนี้ให้ดูบนจอ การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อของเธอทำให้นึกถึงสัตว์ที่กำลังติดกับดักนายพราน มันทรมาน ดิ้นพล่าน และใช้สัญชาตญาณเบื้องลึกจากความหวาดกลัว ตื่นตระหนก

นิโคล คิดแมน (The Paperboy) ยัยนี่ก็บ้า และเสียสติไม่แพ้กัน อาจกล่าวได้ว่าคิดแมนเป็นนักแสดงชื่อดังเพียงไม่กี่คนที่กล้าพอจะรับบทเสี่ยงๆ คาบลูกคาบดอก เธอไม่กลัวที่จะก้าวย่างเข้าสู่ดินแดนที่หลายคนไม่เคยแม้แต่จะคิดฝัน และแน่นอนทุ่มเทให้กับบทนั้นๆ อย่างหมดใจ

เพ็ญพักตร์ ศิริกุล (ไม่ได้ขอให้มารัก/ Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ) คงเป็นหนึ่งในนักแสดงไทยเพียงไม่กี่คนที่สามารถคาดหวังมาตรฐานในระดับสูงได้

ความคิดเห็น

ผมอยากจะเขียนถึงหนังไทยเหมือนเช่นเคย แต่รู้สึกว่าปีนี้ยังตามดูหนังที่คนเขาชื่นชมกันได้ไม่ครบเลย ส่วนเรื่องที่ได้ดูก็ไม่ค่อยจะมีอะไรดีๆ ให้น่าจดจำสักเท่าไหร่ โดยมากถ้าไม่สุกเอาเผากิน ก็มักติดหล่มอยู่ในกรอบความคิด หรือวิธีการสร้างแบบเดิมๆ ส่วนเรื่องที่พยายามจะสลัดตัวออกจากกรอบก็ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ ผมมีความรู้สึกว่าวงการหนังไทยกำลังเติบโตตรงปลายสุดของสองด้าน ระหว่าง high-end กับ low-end กล่าวคือ เรามีหนังอาร์ต หนังอินดี้ไปฉายตามเทศกาลต่างๆ กวาดรางวัลมามากมาย กับหนังตลาดสุดโต่งจำพวกหนังตลก หนังผี ที่ไม่เน้นความสำคัญของเนื้อหา หรือสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ แต่เน้นการคั้นเสียงหัวเราะและอาการสะดุ้ง เส้นกระตุกตามเสียงดนตรีประกอบที่ดังจนหูดับ โดยสิ่งที่เราขาดแคลนจริงๆ คือ หนังกระแสหลักที่ฉลาดในเนื้อหาและการนำเสนอ มีความซับซ้อนซ่อนอยู่ในความเรียบง่าย ซึ่งคนส่วนใหญ่สามารถเข้าใจและเอ็นจอยได้ ขณะเดียวกัน ในกลุ่มหนังอาร์ตเองก็เริ่มจะมีรูปแบบทางด้านสุนทรียะที่ใกล้เคียงกันมากไปจนขาดความหลากหลาย (พล็อตน้อยๆ เดินเรื่องช้าๆ แช่กล้องนานๆ เต็มไปด้วยสัญลักษณ์และความคลุมเครือ) และอาจพูดได้ว่ามัน (อย่างน้อยก็ในสายตาของคนดูหนังคนนี้) ใกล้จะถึงจุดอิ่มตัวเต็มที...

ไม่มีความคิดเห็น: