วันอังคาร, สิงหาคม 28, 2550

แต่งแต้มอารมณ์ด้วยสปีดภาพ (1)


นอกเหนือจากการเลือกใช้โฟกัส (ชัดลึก/ชัดตื้น) และสร้างสัมพันธ์ระหว่างโฟร์กราวด์กับแบ็คกราวด์แล้ว อีกหนึ่งกลวิธีสำคัญในการสื่อความหมาย เล่าเรื่องราว และเสริมสร้างอารมณ์ผ่านงานถ่ายภาพ (cinematography) คือ สปีดของภาพที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นการเร่งความเร็ว (fast motion) ลดความเร็ว (slow motion) หรือกระทั่งการหยุดภาพนิ่ง (freeze-frame) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเทคนิคที่แฟนหนังส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดี

ความเร็ว/ช้าของภาพที่ปรากฏบนจอย่อมขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการถ่ายภาพ (กล้อง) และการฉายภาพ (เครื่องฉาย) โดยทั้งสองจะคิดคำนวณเป็นจำนวนเฟรมภาพต่อวินาที ในยุคหนังเงียบ ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ถ่ายทำด้วยอัตราความเร็วอันหลากหลายระหว่าง 16-20 เฟรมต่อวินาที แต่เมื่อระบบการบันทึกเสียงถูกคิดค้นขึ้นมาในช่วงปลายทศวรรษ 1920 จึงมีความจำเป็นที่ผู้สร้างจะต้องบันทึกภาพและเสียงในอัตราความเร็วที่สอดคล้องเพื่อพวกมันจะได้ “ซิงค์” กัน ดังนั้นในยุคหนังเสียง ภาพยนตร์ส่วนใหญ่มักถ่ายทำและฉายในอัตราความเร็วตามมาตรฐานสากล นั่นคือ 24 เฟรมต่อวินาที

เพื่อให้ภาพเคลื่อนไหวบนจอดูสมจริง อัตราความเร็วของการถ่ายทำและการฉายจะต้องสอดคล้องกัน ปกติเราคุ้นเคยกับการดูหนังเงียบที่กระตุกและมีความเคลื่อนไหวรวดเร็วกว่าปกติเล็กน้อย จนพลอยทึกทักไปว่าสมัยนั้นเขาถ่ายทำภาพยนตร์กันแบบนี้ แต่ความจริงอาการกระตุกดังกล่าวโดยส่วนมากเป็นผลจากการถ่ายหนังด้วยอัตราความเร็ว 16 ถึง 20 เฟรมต่อวินาที แล้วถูกนำมาฉายด้วยเครื่องฉายแบบ 24 เฟรมต่อวินาที ตรงกันข้าม หากหนังเงียบถูกฉายโดยเครื่องฉายที่เหมาะสม (แบบ16-18 ภาพต่อวินาที หรือแบบสามารถปรับสปีดภาพได้ตามต้องการ) ความเคลื่อนไหวบนจอจะราบรื่นเหมือนจริง

กล้องถ่ายหนัง 35 ม.ม.ในปัจจุบันสามารถปรับอัตราความเร็วได้หลากหลาย ตั้งแต่ 8 เฟรมต่อวินาที (ซึ่งจะสร้างความเคลื่อนไหวแบบรวดเร็ว) จนถึง 64 เฟรมต่อวินาที (ซึ่งจะสร้างความเคลื่อนไหวแบบเชื่องช้า) หากคุณถ่ายฉากหนึ่งของหนังด้วยความเร็ว 48 เฟรมต่อวินาที แล้วนำไปฉายด้วยอัตราความเร็วปกติ นั่นคือ 24 เฟรมต่อวินาที ภาพที่ปรากฏบนจอจะเคลื่อนไหวช้ากว่าปกติครึ่งหนึ่ง เนื่องจากแต่ละเฟรมจะถูกฉายซ้ำกันสองครั้ง เราเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า slow motion

ภาพแบบ slow motion จะเปี่ยมประสิทธิผลอย่างยิ่งในการกระตุ้นอารมณ์ถวิลหาอดีต เช่น ในหนังเรื่อง The Pawnbroker ผู้กำกับ ซิดนีย์ ลูเม็ต เลือกใช้มันถ่ายทอดภาพความคิดของตัวเอก ขณะหวนรำลึกถึงชีวิตครอบครัวอันงดงามก่อนการสังหารหมู่ชาวยิว ทุกอย่างช่างสวยงาม เพอร์เฟ็กต์เกินกว่าจะยั่งยืนยาวนาน ในหนังเรื่อง Dead Poets Society ความรู้สึกเบาหวิว เหนือจริงของภาพแบบ slow motion ผนวกกับการตัดเสียงประกอบออกอย่างสิ้นเชิง ช่วยกระตุ้นคนดูให้คาดการณ์ถึงโศกนาฏกรรมที่กำลังจะตามมา ขณะ นีล (โรเบิร์ต ฌอน เลียวนาร์ด) ค่อยๆ หยิบมงกุฎกิ่งไม้ขึ้นมาสวมศีรษะ จริงอยู่คนดูอาจไม่เห็นเขาลั่นไกปืน หรือกระทั่งได้ยินเสียงปืน แต่ไม่นานต่อมาเมื่อพ่อของเขาวิ่งตรง (อย่างช้าๆ) ไปยังร่างของลูกชายข้างหลังโต๊ะทำงาน (คนดูจะได้เห็นเพียงแขนของเขาที่ยื่นออกมาและควันปืนที่ลอยกรุ่น) เราก็พลันตระหนักในทันทีว่าทุกอย่างเป็นไปตามที่นึกหวาดกลัวจริงๆ



หนึ่งในจุดมุ่งหมายหลักของ slow motion คือ การยืดห้วงเวลาแห่งความตึงเครียดหรือเขม็งเกลียวทางอารมณ์ให้ยาวนานออกไป ส่งผลให้พลังดราม่าของหนังพุ่งทะยานถึงขีดสุด เนื่องจากภาพลักษณะนี้จะดึงความสนใจของผู้ชมให้จับจ้องอยู่กับเหตุการณ์สั้นๆ ชั่วขณะหนึ่ง ไม่ว่ามันจะเป็นความสุขแห่งชัยชนะ หรือความเจ็บปวดของการสูญเสีย ดังเช่นฉากที่ แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ (เดเนียล แรดคลิฟฟ์) ตกตะลึงกับการจากไปของ ซีเรียส แบล็ค (แกรี่ โอลด์แมน) ใน Harry Potter and the Order of the Phoenix หรือฉากที่เหล่าพันธมิตรแห่งแหวนสูญเสีย แกนดาล์ฟ (เอียน แม็คเคลแลน) ไป (แบบชั่วคราว) ใน The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring หรือในฉากสำคัญช่วงท้ายเรื่องของ Million Dollar Baby เมื่อ แม็กกี้ (ฮิลารี สแวงค์) ถูก บิลลี่ “เดอะ บลู แบร์” (ลูเซีย ริจเคอร์) ลักชกจนล้มลงกระแทกเก้าอี้ เหตุการณ์ดังกล่าวถูกตัดแทรกเป็นระยะด้วยภาพแบบ slow motion เพื่ออัดฉีดอารมณ์ลุ้นระทึก อาการช็อก และความเจ็บปวด




นอกจากใช้เพิ่มพลังดราม่าแล้ว ภาพแบบ slow motion ยังสามารถใช้แต่งเติมความพยายาม ความเหนื่อยล้า และความคับแค้นใจของตัวละครให้เข้มข้น เกินจริงด้วย พวกเราหลายคนอาจเคยฝันเห็นภาพแบบ slow motion ว่าตัวเองกำลังวิ่งหนีจากอันตราย หรือไขว่คว้าวัตถุสุดปรารถนา แต่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็วดังใจเพราะแข้งขาเกิดแข็งทื่อขึ้นมาในฉับพลัน ดังนั้นเราจึงสามารถเข้าถึงอารมณ์ของตัวละครที่ทุ่มเทแรงกายเต็มกำลัง หรือรู้สึกเหนื่อยล้า แต่จำทนกัดฟันสู้ต่อได้อย่างถ่องแท้ ตัวอย่างเช่น ฉากที่ อีริค ลิดเดล (เอียน ชาร์ลสัน) ถูกเบียดออกจากลู่วิ่งจนล้มคว่ำลงบนสนามหญ้าในหนังเรื่อง Chariots of Fire การล้มคะมำของเขาและความพยายามจะลุกขึ้นมาวิ่งต่อถูกขยายความให้ดูหนักแน่น เหนือจริงด้วยภาพแบบ slow motion

และในหนังเรื่องเดียวกัน ผู้กำกับ ฮิวจ์ ฮัดสัน ได้เลือกใช้ความแตกต่างของสปีดภาพอย่างฉลาดเพื่อกระตุ้นอารมณ์ลุ้นระทึกของผู้ชม โดยฉากดังกล่าวฉายให้เห็นภาพเหล่านักวิ่งโอลิมปิกในลักษณะ slow motion ขณะพวกเขาเดินไปยังสนามแข่งเพื่อเตรียมพร้อม ความตึงเครียดค่อยๆ ทวีความเข้มข้นขึ้น เมื่อพวกเขาถอดชุดวอร์ม บิดร่างกาย ใช้เท้าขุดช่องดินในลู่ และทำท่าพร้อมออกสตาร์ท จากนั้นบรรยากาศแห่งการรอคอยอย่างใจจดใจจ่อก็ขาดผึงในฉับพลันพร้อมกับเสียงปืน เหล่านักวิ่งพุ่งทะยานจากตำแหน่งด้วยภาพในลักษณะปกติ (24 เฟรมต่อวินาที) ความขัดแย้งระหว่างสถานการณ์ตึงเครียดของการเฝ้ารอและเตรียมตัวกับการเริ่มออกวิ่งปรากฏให้เห็นเด่นชัดผ่านการเลือกใช้สปีดภาพที่แตกต่าง


ความสง่า สวยงามในท่วงท่าแห่งการเคลื่อนไหวของมนุษย์หรือสัตว์อาจถูกเน้นย้ำให้โดดเด่นด้วยภาพแบบ slow motion ซึ่งย่อมส่งผลให้ฉากโดยรวมได้อารมณ์เหมือนฝัน เหนือจริง ในภาพยนตร์เพลงเรื่อง Hair ภาพแบบ slow motion ถูกนำมาใช้ในฉากเต้นเพื่อสะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเหล่าตัวละครทั้งหลาย การออกแบบท่าเต้นอันไร้ระเบียบ ขาดเอกภาพ แต่เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาของ ไทลา ธาร์ป สอดคล้องกับเรื่องราวในหนังอย่างเหมาะเจาะ เพราะมันพูดถึงไลฟ์สไตล์อันเปี่ยมไปด้วยอิสระและปัจเจกภาพของบรรดาฮิปปี้ยุคบุปผาชน


ทำนองเดียวกัน ผู้กำกับ กัส แวน แซนต์ เลือกใช้ภาพแบบ slow motion อยู่สองสามครั้งในหนังเรื่อง Elephant ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์สังหารหมู่ในโคลัมไบน์ เพื่อกระตุ้นคนดูให้ตระหนักถึงความงดงามแห่งกิจวัตรประจำวัน ณ โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ซึ่งโดยผิวเผินอาจดูสามัญ น่าเบื่อหน่าย แต่ไม่ควรถูกมองข้าม เพราะห้วงเวลาเหล่านั้นอาจถูกกระชากไปอย่างโหดเหี้ยมและฉับพลัน



หนังตลกก็สามารถใช้ประโยชน์จากภาพแบบ slow motion ได้เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากฉากเปิดตัว พิม (เบญจวรรณ อาร์ตเนอร์) ในภาพยนตร์ไทยเรื่อง ยังไงก็รัก รูปร่างอวบอัดสุดเซ็กซี่ของเธอ ตลอดจนท่วงท่าการเดินอันเย้ายวน และชุดสวยโดดเด่นสะดุดตา พร้อมชายผ้าปลิวไสว ถูกเน้นย้ำให้ดูเหมือนฝัน... เปียก (ในชีวิตจริงเราคงไม่เห็นพนักงานขายแต่งตัวแบบนี้มาทำงานในตอนกลางวัน) ด้วยภาพแบบ slow motion ท่ามกลางบรรยากาศห้องทำงานที่แห้งแล้ง ไร้สีสัน และเหล่าพนักงานชายประเภทหมาเห่าเครื่องบิน


เมื่อครั้งที่ อาร์เธอร์ เพนน์ เลือกใช้ภาพแบบ slow motion ในการถ่ายทอดความรุนแรงชนิดเลือดสาดในหนังคลาสสิกเรื่อง Bonnie and Clyde ผู้คนจำนวนไม่น้อยต่างวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบและมองว่ามันเป็นการเรียกร้องความสนใจจนเกินพอดี แต่ไม่นานเมื่อหนังเรื่องอื่นๆ เริ่มเจริญรอยตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานหลายชิ้นของผู้กำกับ แซม แพ็คกินพาห์ (The Wild Bunch) และ จอห์น วู (A Better Tomorrow) ซึ่งสร้างอารมณ์ “โรแมนติก” ให้กับ “มหกรรมบัลเล่ต์แห่งความตาย” คนดูส่วนใหญ่ก็เริ่มคุ้นชิน (จุดมุ่งหมายของแพ็คกินพาห์ในการสร้างความงามให้กับพฤติกรรมอันสุดแสนอัปลักษณ์ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเหตุใดมนุษย์จึงเสพติดความรุนแรง ทั้งที่มันปราศจากมรรคผลอันใด คล้ายคลึงกับนิยายของ เออร์เนส เฮมมิ่งเวย์) ปัจจุบันการใช้ภาพแบบ slow motion ในฉากความรุนแรงหรือการทำลายล้างถือเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณเป็นแฟนหนัง ไมเคิล เบย์ (Transformers) และสองพี่น้องวอชอว์สกี้ (The Matrix) ทว่านัยยะในเชิงวิพากษ์กลับค่อยๆ จางหายไปตามกาลเวลา ตามความ “เกร่อ” ของการทำซ้ำ จนดูเหมือนว่าภาพ slow motion เหล่านั้นถือกำเนิดขึ้นเพียงเพื่อเหตุผลเดียว นั่นคือ “It’s cool”

หว่องกาไว (2046, In the Mood for Love, Happy Together) เป็นนักทำหนังอีกคนที่นิยมใช้ภาพแบบ slow motion อย่างสม่ำเสมอ บ่อยครั้งไม่ใช่เพื่อสร้างอารมณ์ดราม่า หรือเพื่อสะท้อนความงามแห่งการเคลื่อนไหว แต่เป็นเพราะมันดูจะสอดคล้องกับโทนอารมณ์โดยรวมของหนัง (เหงาหงอย โดดเดี่ยว แปลกแยก ทุกข์ระทม) รวมไปถึงประเด็นเกี่ยวกับการโหยหาอดีต การค้นหาตัวตน ความเปลี่ยนแปลงระหว่าง “ก่อน” กับ “หลัง” และสถานะของตัวละครซึ่งมักติดกับอยู่ ณ พื้นที่ตรงกลาง เมื่อเวลาหยุดนิ่งอยู่ หรือถูกแช่แข็งไว้ชั่วคราว ก่อนสุดท้ายจะพ่ายแพ้แก่วันหมดอายุ ความพยายามจะหยุดห้วงเวลาในหนังของหว่องกาไวส่งผลให้กล้องมักอ้อยอิ่ง (ด้วยภาพแบบ slow motion) อยู่กับช็อตบางช็อต (บางทีก็ซ้ำไปซ้ำมา) ราวกับเพื่อจะค้นหาความแตกต่างในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ

ไม่มีความคิดเห็น: