วันศุกร์, กันยายน 22, 2549

Syriana: อเมริกันอัปลักษณ์


ท่ามกลางกระแสหนังสารพัดเรื่องโดนแบน (หนังตลกที่คนลาวขำไม่ออก) เกือบโดนแบน (หนังตลกที่คนคลั่งศาสนาขำไม่ออก) หรือกึ่งโดนแบน (หนังผีที่สร้างความโกรธแค้นให้เหล่านายแพทย์ผู้อ่อนไหว) ในไทย ตลอดจนข่าวนายกรัฐมนตรีประกาศฟ้องสื่อฯ และกลุ่มผู้ต่อต้านแบบรายวัน การที่หนังวิพากษ์รัฐบาลสหรัฐอย่าง Syriana สามารถหาทุนสร้าง แล้วเข้าฉายในอเมริกาได้อย่างเอิกเกริก (แถมคว้าออสการ์ดาราสมทบชายมาครองด้วย) ถือเป็นเรื่อง “ชวนช็อค” อย่างยิ่ง

ข้อเท็จจริงดังกล่าวช่วยพิสูจน์ให้เห็นว่า สิทธิ (รวมถึงการเคารพสิทธิ) ในการแสดงออกของบ้านเรายังล้าหลังประเทศตะวันตกอยู่มาก หรือบางทีอาจเป็นเพราะกลุ่มผู้บริหารในวอชิงตันงุนงงกับเรื่องราวอันซับซ้อนในหนังจนไม่สามารถจับต้นชนปลายได้ถูกว่ากำลังโดนด่า!?!

เราสามารถแบ่งโครงเรื่อง Syriana ออกได้เป็นสี่ส่วนด้วยกัน โดยทั้งหมดถูกตัดสลับไปมาและเต็มไปด้วยรายละเอียดอันยอกย้อนจนอาจสร้างความสับสนให้กับคนดูได้ง่ายๆ ส่วนแรกเล่าถึงเรื่องราวของ บ็อบ (จอร์จ คลูนี่ย์) ซีไอเอวัยกลางคนที่ปรารถนาจะทำงานนั่งโต๊ะ แทนการปฏิบัติภารกิจเสี่ยงภัยอยู่ในตะวันออกกลาง แต่เขากำลังทำให้บรรดาผู้บริหารหลายคนอึดอัด หลังจากเขาแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับจรวดมิสซายลูกหนึ่งที่หายไประหว่างการติดต่อซื้อขายกับพ่อค้าอาวุธในกรุงเตหะราน อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลหลักของรัฐบาลสหรัฐกลับอยู่ตรงการที่เจ้าชาย นาเซียร์ อัลสุไบ (อเล็กซานเดอร์ ซิดดิก) ยกสัมปทานขุดเจาะน้ำมันให้กับชาวจีน แทนบริษัทคอนเน็กซ์ในอเมริกา

เพื่อปกป้องแหล่งพลังงานสำคัญในอ่าวเปอร์เซีย ซีไอเอได้มอบหมายงานชิ้นสุดท้ายให้บ็อบ และถ้าเขาทำสำเร็จ เขาก็จะได้ทำงานนั่งโต๊ะแบบที่เขาต้องการมานาน ภารกิจสุดท้ายของเขา คือ การลอบสังหารเจ้าชายนาเซียร์ ซึ่งทางซีไอเอพยายามวาดภาพให้เป็นผู้ร้าย (“แม่ของเขาซื้ออาวุธสงครามที่อาจถูกนำมาใช้กับอเมริกา”) บ็อบรับงานมาทำโดยไม่ตั้งคำถามใดๆ เช่นเคย แต่เมื่อปฏิบัติการของเขาเกิดผิดพลาด ส่งผลให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลอบสังหารเสี่ยงต่อการรั่วไหล ทำลายเครดิตของรัฐบาลสหรัฐ บ็อบจึงถูกซีไอเอปล่อยเกาะ

เรื่องราวส่วนที่สองโฟกัสไปยัง ไบรอัน (แมท เดมอน) นักวิเคราะห์พลังงานชาวอเมริกัน ที่ประจำการอยู่ในเจนีวา เขาและครอบครัวได้รับเชิญไปร่วมงานเลี้ยงส่วนพระองค์ของกษัตริย์ อาเม็ด อัลสุไบ (นาดิม ซาวัลลา) พระบิดาของเจ้าชายนาเซียร์ ไบรอันเดินทางไปในนามของบริษัทเพื่อยื่นข้อเสนอทางธุรกิจ แต่เขากลับไม่ได้รับความสนใจจากพระราชา (พระองค์ส่งตัวแทนมารับฟังข้อเสนอ) ซึ่งกำลังวุ่นโชว์ระบบทีวีวงจรปิดภายในบ้านกับนักธุรกิจชาวจีนผู้ชนะการประมูลสัมปทาน

หลังอุบัติเหตุในสระน้ำ ซึ่งนำไปสู่ความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของไบรอัน เจ้าชายนาเซียร์ ผู้รู้สึกผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ยื่นข้อเสนออันหอมหวานให้กับบริษัทของไบรอัน พร้อมทั้งตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนตัว ซึ่งเขาตอบรับในทันที เจ้าชายนาเซียร์ปรารถนาจะแปลงความมั่งคั่งทางน้ำมันเป็นประโยชน์สุขของคนทั้งประเทศ เขาอยากพัฒนารากฐานทางเศรษฐกิจให้มั่นคง เพื่อความอยู่รอดหลังทรัพยากรธรรมชาติเริ่มร่อยหรอ เขาต้องการสร้างสภาผู้แทนราษฎร ให้สิทธิผู้หญิงในการโหวต ลดความแตกต่างทางชนชั้น และหยุดยั้งอิทธิพลของชาติตะวันตกในเขตตะวันออกกลาง ไบรอันเชื่อมั่นในอุดมการทางการเมืองของเจ้าชายนาเซียร์ ถึงขนาดยกย่องให้เขาเป็น “โมแซเดคคนต่อไป” (โมแซเดคคืออดีตผู้นำหัวก้าวหน้าของอิหร่าน ที่ถูกซีไอเอกำจัดทิ้งจากอำนาจในปี 1954 แล้วแทนที่ด้วยพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา พาห์ลาวี ซึ่งเป็นมิตรกับสหรัฐมากกว่า)

พล็อตในส่วนที่สาม เล่าถึงการเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบการรวมตัวกันระหว่าง คอนเน็กซ์ ที่เพิ่งสูญเสียสัมปทานในตะวันออกกลางให้กับชาวจีน กับ คิลลีน บริษัทน้ำมันขนาดเล็กกว่าที่เพิ่งได้สัมปทานในคาซาคสถาน ของ เบนเน็ทท์ (เจฟฟรีย์ ไรท์) ทนายความหนุ่ม การรวมตัวดังกล่าวทำให้คอนเน็กซ์-คิลลีนกลายเป็นบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ของโลก แต่กระทรวงยุติธรรมยังไม่ยอมอนุมัติการรวมตัวดังกล่าว เนื่องจากสงสัยว่าคิลลีนอาจจ่ายเงินใต้โต๊ะก้อนโตเพื่อแลกกับสัมปทานน้ำมัน

ข้อสงสัยดังกล่าวปรากฏว่ามีมูล เมื่อเบนเน็ทท์ค้นพบการคอรัปชั่นครั้งใหญ่ แต่หน้าที่ของเขาหาใช่การเปิดโปงมันสู่สาธารณชนเพื่อธำรงคุณธรรมในสังคม ตรงกันข้าม ภายใต้คำสั่งจาก ดีน ไวติ้ง (คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์) หุ้นส่วนใหญ่ของสำนักกฎหมายที่เขาทำงานอยู่ หน้าที่หลักของเบนเน็ทท์ คือ ดำเนินการให้อภิมหาดีลครั้งนี้ประสบความสำเร็จ นั่นหมายถึงการหา “แพะ” สองสามตัวเพื่อให้สำนักอัยการเชือด โดยหวยรางวัลที่หนึ่งตกอยู่กับ แดนนี่ ดาลตัน (ทิม เบลค เนลสัน) เจ้าหน้าที่ระดับล่างขององค์กร แต่เมื่อทางกระทรวงยุติธรรมแสดงความไม่พอใจในเครื่องบูชายัน ซึ่งน้อยและหางแถว เกินไป หวยรางวัลที่สองจึงไปตกอยู่กับ ซิดนีย์ ฮิววิทท์ (นิกกี้ เฮนสัน) ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานกฎหมายและหัวหน้าของเบนเน็ทท์

ขณะเดียวกันนั้น ดีน ไวติ้ง ก็พยายามกดดันกษัตริย์อาเม็ดให้ยกเลิกสัญญาที่ทำกับคนจีน แล้วรวมหัวกับ เจ้าชาย เมชาล อัลสุไบ (อัคบาร์ เคอร์ธา) พระอนุชาของเจ้าชายนาเซียร์ ซึ่งว่านอนสอนง่าย รักชีวิตสุขสบาย และโปรอเมริกัน เพื่อกีดกันเจ้าชายนาเซียร์ออกจากบัลลังก์อำนาจทุกวิถีทาง

ลูกโซ่สุดท้ายของเรื่องราวเล่าถึงชีวิตของ วาซิม (มาซาร์ มูเนียร์) คนงานหนุ่มชาวปากีสถานที่เดินทางมาทำงานในตะวันออกกลางพร้อมกับพ่อของเขา การรวมตัวกันของบริษัทคอนเน็กซ์กับคิลเลนทำให้พวกเขาตกงาน วีซ่าถูกเพิกถอน และเสี่ยงต่อการถูกส่งตัวกลับประเทศ ซึ่งหมายถึงการกลับไปเผชิญหน้ากับความยากจนข้นแค้น วาซิมพยายามดิ้นรนหางานใหม่ แต่พบอุปสรรคมากมายเพราะเขาพูดภาษาอาราบิกไม่ได้และปราศจากเส้นสาย เมื่อเขาตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกในโรงเรียนอิสลาม แนวคิดสุดโต่งทางศาสนาก็เริ่มซึมซับเข้าไปในจิตวิญญาณของเขา เช่นเดียวกับความเชื่อที่ว่าปัญหาในตะวันออกกลางหาได้เกิดจากการแทรกแซงโดยชาติตะวันตกเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะชนชั้นปกครองชาวอิสลามที่ยอมให้เกิดการแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ความยากลำบากในชีวิตและความคับแค้นในชะตากรรมทำให้วาซิมถูกล้างสมองจนกลายเป็นหน่วยระเบิดพลีชีพ

คนดูจะได้เห็นเส้นทางชีวิตของตัวละครในแต่ละพล็อตเรื่องตัดผ่านกัน เช่น ชายลึกลับชาวอาหรับ ซึ่งได้ครอบครองมิสซายที่บ็อบ “ทำหาย” ถูกเฉลยตัวตนในเวลาต่อมา เมื่อเขาผูกมิตร และปลูกฝังแนวคิดทางศาสนากับวาซิม ก่อนจะชักชวนให้เด็กหนุ่มใช้มิสซายถล่มโรงกลั่นน้ำมัน หรือในฉากหนึ่ง เมื่อบ็อบถาม สแตน (วิลเลี่ยม เฮิร์ท) พันธมิตรเดียวที่เหลืออยู่ของเขาในซีไอเอหลังภารกิจลอบสังหารล้มเหลว ว่าใครอยู่เบื้องหลังการสอบสวนของเอฟบีไอจนทำให้บ็อบตกที่นั่งลำบาก คำตอบที่เขาได้รับ คือ ดีน ไวติ้ง ดังนั้น บ็อบจึงเดินทางไปเยี่ยมเศรษฐีชราในยามวิกาลเพื่อยุติปัญหา

แต่นอกจากการเชื่อมโยงในแง่รูปธรรมข้างต้นแล้ว บทหนังยังสอดประสานเรื่องราวทั้งสี่เข้าด้วยกันในเชิงลึกอีกด้วย ผ่านธีมเกี่ยวกับวิกฤติสัมพันธ์ของ “พ่อกับลูกชาย”

บ็อบเป็นพ่อที่ทุ่มเทชีวิตให้กับงาน โดยไม่ทันฉุกคิดถึงความต้องการของลูกชาย ร็อบบี้ (แม็กซ์ มิงเกลล่า) ผู้โหยหา “ชีวิตปรกติ” แบบเด็กวัยรุ่นอเมริกันทั่วไป (“ผมอยากดูเคเบิลช่องซีเนแม็กซ์และไปงานพรอม พ่อรู้มั้ยว่างานพรอมในเตหะรานเป็นยังไง มันห่วยแตกสุดๆ”) ชั่วแวบแรก ไบรอันดูจะเป็นพ่อที่รักและเอาใจใส่ครอบครัว แต่เมื่อมองให้ลึกลงไป เขากลับพร้อมจะเลือกความก้าวหน้าในอาชีพก่อนเสมอ เช่น เมื่องานเลี้ยงของกษัตริย์อาเม็ดถูกจัดขึ้นในวันเดียวกับงานฉลองครบรอบวันเกิดของ แม็กซ์ (สตีเวน ฮินเคิล) ลูกชายคนโต หรือเมื่อภรรยาของเขา จูลี่ (อแมนดา พีท) ยื่นคำขาดว่าเธอกับลูกจะเดินทางกลับอเมริกา

การเขม่นและชิงดีชิงเด่นกันระหว่างเจ้าชายนาเซียร์กับเจ้าชายเมชาลสะท้อนให้เห็นถึงการล้มละลายของสถาบันครอบครัว ที่เงินทองและอำนาจบารมีไม่อาจเยียวยา ส่วนคนเป็นพ่อก็ดูจะไม่ใส่ใจ หรือกระทั่งตระหนักในรอยร้าวดังกล่าวจนมันพัฒนาไปสู่ความรุนแรง แต่ครอบครัวชนชั้นล่างก็ใช่ว่าจะดีกว่าสักเท่าไหร่ ชีวิตปากกัดตีนถีบได้กัดกร่อนความผูกพันและเพิ่มระยะห่างให้กับความสัมพันธ์ของวาซิมกับพ่อ ซาลีม (ชาฮิด อาห์เม็ด) ฝ่ายแรกเริ่มสนิทสนมกับกลุ่ม “เพื่อนใหม่” โดยที่ฝ่ายหลังไม่ทันระวังหรือรับรู้

บทหนังไม่ได้แจกแจงชัดเจนถึงเหตุผลแห่งความบาดหมางระหว่างเบนเน็ทท์กับพ่อ (วิลเลี่ยม ซี. มิทเชลล์) แต่เห็นได้ชัดว่าลูกชายยังเป็นห่วงพ่อ แม้จะแสดงท่าทีรังเกียจพฤติกรรมขี้เหล้าของเขาอย่างโจ่งแจ้ง และเช่นเดียวกับไบรอัน ความทะเยอทะยานในแบบ อเมริกัน ดรีม ได้ปิดกั้นเบนเน็ทท์ไม่ให้คลี่คลายปัญหา ซ้ำร้ายกลับเหมือนจะหล่อเลี้ยงมันให้เจริญเติบโตไปเรื่อยๆ อีกด้วย กล่าวคือ เบนเน็ทท์ยินดีไปรับพ่อจากบาร์เหล้าเวลาเขาเมาจนหมดสติ แต่ขณะเดียวกันก็ยังขยันซื้อเบียร์มาใส่ตู้เย็นไว้ไม่ขาด (ในฉากสุดท้าย คนดูจะเห็นเบนเน็ทท์พาพ่อที่นั่งเมาอยู่บนขั้นบันไดเข้าไปในบ้าน โดยบอกพ่อให้ทิ้งขวดเบียร์ไว้ตรงนั้น แต่สุดท้ายเขากลับเดินออกมาเก็บมันเข้าไปข้างใน)

ความสัมพันธ์ระหว่างเบนเน็ทท์กับพ่อ นอกจากจะช่วยสร้างภาพรวมให้กับ “วิกฤติพ่อลูก” แล้ว มันยังเปรียบดังอุปมาถึงความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับตะวันออกกลางอีกด้วย กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งจำต้อง “พึ่งพา” อีกฝ่ายเพื่อเข้าถึงน้ำมันดิบ แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ต้องการจ่ายเงินซื้อในราคาแพง เนื่องจากพวกเขาบริโภคน้ำมันในเปอร์เซ็นต์มหาศาล ดังนั้นพวกเขาจึงต้องแทรกแซง แล้ว “เลี้ยงไข้” อีกฝ่ายไม่ให้พัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีรากฐานเข้มแข็ง เพื่อจะได้ดำรงสถานะเด็กแคระต่อไป

จะเห็นได้ว่าผู้กำกับ-เขียนบท สตีเฟน กาแกน ฉลาดในการใส่รายละเอียดทางดราม่าเข้ามาสร้างสมดุลให้กับประเด็นทางการเมือง ทำให้ภาพรวมของหนังไม่เย็นชา หรือหนักหน่วงเกินไป แต่ถึงที่สุดแล้วจุดมุ่งหมายหลักของเขายังคงเป็นการเรียกร้องให้คนดูพิเคราะห์สถานการณ์ในแง่ “มหภาค” มากกว่า “จุลภาค” เนื่องจากหนังในแนวนี้ (หลากหลายตัวละคร หลากหลายเรื่องราว) ย่อมมีข้อจำกัดในการสร้างความรู้สึกร่วมระหว่างคนดูกับตัวละคร ตลอดจนการพัฒนาตัวละครในเชิงลึก

ถึงแม้เหตุการณ์ 11 กันยายนจะไม่ถูกเอ่ยอ้างถึงตรงๆ แต่ Syriana กลับสื่อนัยยะถึงมันอย่างชัดเจน โดยการถอยห่างออกมาสิบก้าว แล้ววิเคราะห์ “ความเป็นไปได้” แห่งเหตุปัจจัยที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมในครั้งนั้น มันไม่ใช่คำแก้ต่างให้กับกลุ่มก่อการร้าย และไม่ได้นำเสนอภาพคนเหล่านั้นในรูปลักษณ์ของปีศาจ หรือฮีโร่ แต่เป็น “เหยื่อ” ของระบบทุนสามานย์ ของแนวคิดสุดโต่งทางศาสนา ของกลุ่มหัวรุนแรง ที่ต้องการต่อต้านการครอบงำของโลกตะวันตก ซึ่งแผ่ขยายอิทธิพลผ่านกลยุทธ์แบบ “เล่นไม่ซื่อ” สารพัดชนิด เช่น การแทรกแซงทางทหาร การกดดันทางเศรษฐกิจ การเมือง และการลอบสังหาร

ต้นตอแห่งปัญหาเกิดจากการที่คนเราส่วนใหญ่มักเลือกจะมองในมุมแคบ แล้วละเลยต่อผลกระทบแห่งการกระทำของตนในวงกว้าง ดังเช่นเหล่าตัวละครทั้งหลายในหนังเรื่องนี้ พวกเขาทำทุกอย่างตามหน้าที่ ตามคำสั่ง ตามสัญชาตญาณแห่งความทะยานอยาก โดยไม่คำนึง หรือคิดทบทวนว่าการกระทำนั้นๆ จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างกับผู้อื่น จนกระทั่งเมื่อผลแห่งการกระทำนั้นหวนคืนสนอง

การก่อการร้าย คือ “ราคา” ที่อเมริกันชน (และอาจหมายรวมถึงชาวอังกฤษในปัจจุบัน) จำเป็นต้องจ่ายเพื่อแลกกับความมั่งคั่ง

นอกจากนโยบายต่างประเทศของอเมริกาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ Syriana วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก คือ ระบบทุนสามานย์ ซึ่งคำนึงถึงผลกำไรสูงสุด แล้วขจัดการแข่งขันออกจากตลาดผ่านขั้นตอนการคอรัปชั่นอันเป็นระบบ มันงอกเงยและดูดกลืนวิญญาณ ศีลธรรม และสามัญสำนึกอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเนื้อร้าย เมื่อเบนเน็ทท์เดินทางมาพบกับ จิมมี่ โพป (คริส คูเปอร์) ผู้ก่อตั้งบริษัทคิลลีนเพื่อบอกว่ากระทรวงยุติธรรมต้องการแพะมากกว่าหนึ่งตัว โพปได้เตือนเบนเน็ทท์ให้ระวัง เพราะ “คุณอาจพบ 3 ศพจากการขุดหลุมลึก 6 ฟุต แต่ถ้าคุณขุดลึก 12 ฟุต บางทีคุณอาจพบ 40 ศพ” แต่เมื่อโพปยื่นโอกาสแห่งความก้าวหน้าให้ เบนเน็ทท์กลับรีบกระโดดคว้ามันในทันที เขาอาจมองมองคดีตรวจสอบดังกล่าวเป็นแค่บันไดไต่เต้าทางอาชีพ แต่การแกล้งหูหนวกตามืดบอดต่อคอรัปชั่น แล้วปล่อยให้ดีลคอนเน็กซ์-คิลลีนหลุดรอดการตรวจสอบ แน่นอนย่อมจะส่งผลกระทบในวงกว้าง ตามความเชื่อที่ว่า “ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงถึงกัน”

“คอรัปชั่นคือเกราะป้องกันของเรา คอรัปชั่นช่วยให้เราอบอุ่นและปลอดภัย คอรัปชั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงชนะ” แดนนี่ ดาลตัน โต้ตอบเบนเน็ทท์อย่างเผ็ดร้อน เมื่อถูกกล่าวหาว่าติดสินบนเจ้าหน้าที่พนักงาน

อบอุ่น? ... อาจจะใช่

ปลอดภัย? … หลายคนคงไม่เห็นด้วยกับความคิดนั้นหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน

วันพฤหัสบดี, กันยายน 21, 2549

Mulholland Drive: ปริศนาแห่งความฝัน


หลังจากเปลี่ยนแนวทางไปสร้างหนังเรียบง่ายสไตล์ดีสนี่ย์เรื่อง A Straight Story แล้วประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง สุดท้ายผู้กำกับจอมเพี้ยนโดยสันดานอย่าง เดวิด ลินช์ ก็อดไม่ได้ที่จะหันมาทรมานเซลสมองคนดูอีกครั้งใน Mulholland Drive ผลงานเหนือจริงกึ่งสยองขวัญกึ่งฟิล์มนัวร์ ซึ่งแม้จะมีเนื้อหาโดยตรงเกี่ยวโยงถึงโรงงานผลิตฝันอย่างฮอลลีวู้ด แต่รูปแบบการนำเสนอกลับห่างไกลจากสูตรสำเร็จเหมือนนรกกับสวรรค์ โดยสิ่งเดียวที่คนดูพอจะคาดเดาได้ล่วงหน้าก็คือ ‘โลกของลินช์’ น่าจะใกล้เคียงกับสถานที่แรกมากกว่าสถานที่หลัง… และนั่นถือเป็นคำทำนายซึ่งไม่ผิดจากความจริงเท่าใดนัก

ลินช์เป็นนักเล่าเรื่องที่ใจเย็นและสนใจการสร้างบรรยากาศมากกว่าการเดินเรื่องจากเหตุการณ์หนึ่งไปสู่อีกเหตุการณ์หนึ่ง หนังของลินช์มักให้ความสำคัญกับอารมณ์เหนือเหตุผล ความสอดคล้อง หรือความต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 90 เป็นต้นมา ลินช์ใช้เวลาส่วนใหญ่ทดลองทำหนังแหกกฎเกณฑ์การเล่าเรื่องแบบดั้งเดิมผ่านผลงานเด่นๆสามชิ้นคือ Twin Peaks: Fire Walk With Me (1993) Lost Highway (1996) และ Mulholland Drive (2001) ในหนังทั้งสามเรื่อง เขาไม่ได้นำเสนอความจริงเชิงภววิสัยไว้เป็นหลักให้คนดูยึดเกาะเฉกเช่นธรรมเนียมปฏิบัติ หากแต่เล่าความจริงเชิงอัตวิสัยผ่านสายตาของตัวเอกซึ่งมีสภาพจิตไม่มั่นคง จนพร้อมจะตกสู่ภวังค์แห่งภาพหลอนและความฝันได้ทุกขณะ เพื่อหลีกเลี่ยงการรับมือกับวิกฤติการณ์อันเลวร้ายในชีวิตจริง ด้วยเหตุนี้ความจริงและจินตนาการจึงมักผสมปนเปกันจนแยกไม่ออกในหนังของลินช์ คนดูไม่อาจยึดเกาะข้อมูลหรือเหตุการณ์ใดๆได้เลย เนื่องจากสุดท้ายมันอาจกลับกลายเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา

เศษเสี้ยวแห่ง ‘ความจริง’ ใน Mulholland Drive ถูกเปิดเผยออกมาในช่วงเวลาครึ่งชั่วโมงสุดท้าย เรื่องราวชีวิตบัดซบของ ไดแอนน์ เซลวิน นักแสดงหางแถวผู้มองไม่เห็นความก้าวหน้าในอาชีพการงาน เธอเดินทางจากเมืองเล็กๆของประเทศแคนาดามายังฮอลลีวู้ดเพื่อหวังจะเป็นดาราหลังชนะการประกวดเต้นรำจิตเตอร์บัก คุณป้าของเธอ ซึ่งทำงานอยู่ในวงการบันเทิง เสียชีวิตและทิ้งเงินไว้ให้เธอก้อนหนึ่ง เธอได้รู้จัก คามิลล่า โรเดส ก่อนจะตกหลุมรักหล่อนในเวลาต่อมา จากการทดสอบหน้ากล้องของหนังเรื่อง The Silvia North Story คามิลล่าได้บทนำนั้นไป กลายเป็นดาราดัง และคอยช่วยเหลือไดแอนน์ให้ได้เล่นเป็นตัวประกอบในหนังเรื่องอื่นๆของเธอ แต่สุดท้ายชีวิตรักของไดแอนน์ก็จบลงอย่างมืดหม่น เมื่อคามิลล่ายื่นคำขาดขอเลิกความสัมพันธ์ เนื่องจากเธอกำลังวางแผนจะแต่งงานกับ อดัม เคชเชอร์ ผู้กำกับหนุ่มในหนังเรื่องใหม่ของเธอ ด้วยความแค้นชั่ววูบไดแอนน์จึงตัดสินใจนำเงินไปจ้างมือปืนฆ่าคามิลล่า จากนั้นก็ทนความรู้สึกผิดบาปไม่ได้และยิงตัวตาย

ก่อนจะข้ามไปพูดถึงฉากความฝัน ซึ่งกินเวลาเกือบสองชั่วโมงแรกของหนังทั้งเรื่อง ข้อสังเกตประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ลินช์จะนำเสนอเรื่องราวในช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายด้วยลีลาจริงจัง และที่สำคัญดู ‘เหมือนจริง’ โดยตลอด (อย่างน้อยก็ก่อนการปรากฏตัวของชายจรจัด กล่องสีน้ำเงิน และหญิงชายชราภาพคู่หนึ่งซึ่งมีรูปร่างหดเล็กเท่าแมลงสาบ) ตรงกันข้ามกับฉากความฝันที่ให้บรรยากาศค่อนข้าง ‘เหนือจริง’ อย่างเห็นได้ชัด แต่เขาก็จงใจทำให้มัน ‘ย่อยยาก’ พอๆกันด้วยภาพชุดแฟลชแบ็คซ้อนแฟลชแบ็คอันชวนให้พิศวงงงงวย พร้อมกับ ‘ลวง’ คนดูให้เข้าใจว่าเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่องกันด้วยเทคนิคเชื่อมโยงวัตถุ (แก้วกาแฟ/แก้วเหล้า) และเสียงประกอบ (เสียงโทรศัพท์ กับ เสียงชามแตก)

ช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายของหนังเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ ‘ปัจจุบัน’ เมื่อไดแอนน์ลุกขึ้นจากเตียง สวมเสื้อคลุม เดินไปเปิดประตูให้อดีตเพื่อนร่วมห้องเข้ามาหยิบที่เขี่ยบุหรี่คืน กล้องเลื่อนไปโคลสอัพกุญแจสีน้ำเงินบนโต๊ะรับแขก (มือปืนบอกกับไดแอนน์ว่าเธอจะเห็นกุญแจสีน้ำเงิน หลังจากเขาสังหารคามิลล่าสำเร็จแล้ว) เธอเห็นภาพหลอนของคามิลล่า ชงกาแฟ และเดินถือถ้วยกาแฟมาที่โซฟา จากนั้นภาพชุดแฟลชแบ็คก็เริ่มต้นขึ้นตรงนี้ ลินช์หลอกคนดูให้สับสนด้วยการตามติดแผ่นหลังของไดแอนน์ในชุดเสื้อคลุมมา แต่พอกล้องลอยข้ามโซฟาไป มันกลับเผยให้เห็นคามิลล่านอนเปลือยอกอยู่ ไดแอนน์วาง ‘แก้วเหล้า’ ไม่ใช่ถ้วยกาแฟ ลงบนโต๊ะรับแขก เธอเปลือยอก ใส่กางเกงขาสั้น และไม่ได้สวมเสื้อคลุม นั่นหมายถึงหนังได้นำคนดูมายังเหตุการณ์ในอดีตแล้วโดยไม่ตัดภาพ

ต่อมาคือภาพชุดแฟลชแบ็คเรียงตามลำดับได้ดังนี้

1) คามิลล่าบอกเลิกกับไดแอนน์บนโซฟาขณะทั้งสองกำลังจะมีอะไรกัน ฝ่ายหลังพูดขึ้นว่า “เป็นเพราะไอ้หมอนั่นใช่ไหม”

2) แฟลชแบ็คซ้อนแฟลชแบ็คไปยังฉากอดัมจูบกับคามิลล่าในโรงถ่าย ท่ามกลางฉากหลังย้อนยุคของหนังเรื่องที่อดัมกำกับและคามิลล่านำแสดง โดยมีไดแอนน์ (ซึ่งเล่นเป็นตัวประกอบ) ยืนมองน้ำตาคลอเบ้าอยู่ไม่ไกล หากเรียงตามลำดับเวลา นี่คือเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ที่หนึ่ง

3) ตัดกลับมายังเหตุการณ์ต่อเนื่องจากเหตุการณ์ที่หนึ่ง ไดแอนน์ปิดประตูไล่คามิลล่าอย่างโกรธแค้นหลังถูกขอเลิก

4) ไดแอนน์ช่วยตัวเองไป ร้องไห้ไป เพราะคิดถึงคามิลล่า เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เธอหันไปมอง ตัดภาพ

(5) เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่สี่ด้วยเสียงโทรศัพท์ แต่ไม่ต่อเนื่องกันทางเวลา (อาจเป็นคืนวันเดียวกันนั้น หรือสองสามวันถัดมา) ไดแอนน์เดินมารับโทรศัพท์ในชุดราตรีสีดำ คามิลล่าชวนเธอไปงานเลี้ยงที่บ้านอดัม ในงานเลี้ยง ก่อนอดัมกับคามิลล่าจะประกาศข่าวดี มีเสียงชามแตกดังขึ้น ไดแอนน์หันไปมอง ตัดภาพ

(6) เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่ห้าด้วยเสียงชามแตก แต่ไม่ต่อเนื่องกันทางเวลา ไดแอนน์กำลังนัดคุยกับมือปืนที่ร้านวิงค์กี้
จากนั้นหนังก็ตัดกลับมายังเหตุการณ์ในปัจจุบันอีกครั้ง ไดแอนน์ในชุดเสื้อคลุมกำลังนั่งจ้องมองกุญแจสีน้ำเงินบนโต๊ะกาแฟ และจบลงด้วยการยิงตัวตายบนเตียงนอน

ขณะที่ช่วงครึ่งชั่วโมงหลังของหนังเชื่อมโยงเหตุการณ์โดยไม่เรียงตามลำดับเวลา สองชั่วโมงแรกของหนัง ซึ่งเป็นภาพความฝันของไดแอนน์ กลับเล่าโครงเรื่องหลักอย่างตรงไปตรงมา แต่บรรดาชุดเหตุการณ์ย่อยที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับโครงเรื่องหลักเลยก็สามารถทำให้ผู้ชมรู้สึกสับสนได้ไม่แพ้ช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้าย

เรื่องราวหลักเริ่มต้นขึ้นบนถนน มัลฮอลแลนด์ ไดรฟ ยามค่ำคืน หญิงสาวคนหนึ่ง (คามิลล่า) กำลังจะถูกมือปืนยิงตายในรถลีมูซีนคันหรู แต่รอดมาได้อย่างหวุดหวิด เมื่อรถอีกคันพุ่งตรงมาชนรถลีมูซีนอย่างจัง อุบัติเหตุดังกล่าวทำให้หญิงสาวสูญเสียความทรงจำ เธอเดินโซซัดโซเซเข้าไปซ่อนตัวในบ้านหลังหนึ่ง เจ้าของบ้าน คือ คุณป้าของ เบ็ตตี้ (ไดแอนน์) ซึ่งเดินทางไปที่อื่น และอนุญาตให้หลานสาวมาพักอยู่เป็นการชั่วคราว เบ็ตตี้ฝันอยากจะเป็นดารา เธอเดินทางมาฮอลลีวู้ดพร้อมกับความหวังเต็มเปี่ยม ตอนแรกเธอคิดว่าหญิงสาวที่กำลังอาบน้ำอยู่ในบ้านเป็นเพื่อนของคุณป้า แต่เมื่อปรากฏว่า ริต้า (หญิงสาวได้ชื่อมาจากโปสเตอร์หนังเรื่อง Gilda นำแสดงโดย ริต้า เฮย์เวิร์ธ) ไม่เคยรู้จักป้าของเธอมาก่อน แถมยังจำไม่ได้ด้วยว่าตัวเองเป็นใคร หรือชื่ออะไร เบ็ตตี้จึงยื่นมือเข้าช่วยเหลืออย่างเต็มที่

สมบัติติดตัวเพียงอย่างเดียวของริต้าคือกระเป๋าถือซึ่งอัดแน่นไปด้วยเงินสดและกล่องสีน้ำเงินที่ปราศจากกุญแจไข พนักงานเสิร์ฟชื่อ ไดแอนน์ ในร้านวิงค์กี้ทำให้ริต้าฉุกคิดได้ว่าเธอรู้จักคนชื่อ ไดแอนน์ เซลวิน ร่องรอยดังกล่าวนำพาทั้งสองไปยังอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง อดีตเพื่อนร่วมห้องของไดแอนน์บอกว่าเธอไม่ยอมเปิดประตูรับใครมาสองสามวันแล้ว ดังนั้นริต้ากับเบ็ตตี้จึงแอบปีนเข้าไปข้างในและพบศพเน่าเฟะนอนตายอยู่บนเตียง คืนนั้นเบ็ตตี้กับริต้ามีเซ็กซ์เร่าร้อนร่วมกันเป็นครั้งแรก ริต้าละเมอเป็นภาษาสเปนในตอนกลางดึก พร้อมทั้งชักชวนเบ็ตตี้ไปยังคลับแห่งหนึ่งชื่อ ไซเรนซิโอ ที่นั่นพวกเขาค้นพบกุญแจสำหรับไขเปิดกล่องสีน้ำเงิน และหลังจากกล่องสีน้ำเงินถูกเปิดออก (กล้องซูมเข้าไปยังความมืดด้านในกล่อง) หนังก็เฉลยให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในช่วงสองชั่วโมงแรกเป็นเพียงภาพฝันของไดแอนน์

เมื่อมองย้อนกลับไป คนดูจะพบว่าลินช์ได้สอดแทรกเบาะแสสู่ความจริงดังกล่าวเอาไว้แล้วตั้งแต่ในช็อตที่สองของหนัง ซึ่งเป็นภาพกล้องค่อยๆเคลื่อนที่ลงไปยังหมอนบนเตียงนอน ส่วนบรรยากาศ ‘แปลกๆ’ เช่น ตอนเบ็ตตี้เดินออกจากสนามบิน หรือตอนเธอไปทดสอบบท รวมถึงบรรดาตัวละครพิลึกพิลั่นทั้งหลาย ก็ล้วนบ่งบอกความรู้สึก ‘เหนือจริง’ ของเรื่องราวอยู่เป็นนัยๆ และเช่นเดียวกับรูปแบบความฝันของมนุษย์ Mulholland Drive ตลอดสองชั่วโมงแรกอัดแน่นไปด้วยซีเควนซ์ปลีกย่อยมากมายซึ่งไม่สมบูรณ์ในตัวเอง อีกทั้งยังไม่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นเหตุเป็นผลอีกด้วย เช่น ฉากนายตำรวจสองคนตรวจสอบซากรถจากอุบัติเหตุบนถนน มัลฮอลแลนด์ ไดรฟ ฉากชายคนหนึ่งเล่าความฝันให้ชายอีกคนหนึ่งฟังในร้านวิงค์กี้ ฉากชายคนหนึ่งฆ่าเพื่อนตายเพื่อแย่งชิงหนังสือปกดำมาครอง ก่อนต่อมาจะไปสอบถามโสเภณีนางหนึ่งถึงผู้หญิงผมดำ และซับพล็อตที่ค่อนข้างโดดเด่นเกี่ยวกับผู้กำกับ อดัม เคชเชอร์ ถูกกลุ่มอิทธิพลมืดกดดันให้รับนักแสดงสาวผมบลอนด์ชื่อ คามิลล่า โรเดส มาเป็นดารานำในหนังเรื่องใหม่

หลายฉากหลายตอนที่คำพูดหรือรายละเอียดเล็กๆน้อยๆในฉากความฝันแฝงความหมายซ้อน เป็นเบาะแสให้กับผู้ชม เมื่อย้อนมาทบทวนเหตุการณ์ในช่วงสองชั่วโมงแรกอีกครั้ง อาทิ ตอนเบ็ตตี้พูดกับริต้าว่า “ฉันอยู่ในโลกของความฝัน” เธอไม่ได้หมายความแค่ฮอลลีวู้ดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังกินนัยยะถึงสองชั่วโมงแรกของหนังทั้งเรื่องอีกด้วย หรือตอนทั้งสองโทรศัพท์หา ไดแอนน์ เซลวิน เพราะคิดว่านั่นคือชื่อจริงของริต้า เบ็ตตี้ตั้งข้อสังเกตว่า “แปลกดีนะที่ต้องโทรศัพท์ไปหาตัวเอง” ในความเป็นจริง เบ็ตตี้ต่างหากที่กำลังโทรศัพท์หาตัวเอง ข้อสังเกตข้างต้นได้รับการสนับสนุนจากคำพูดของริต้า หลังได้ยินเสียงเครื่องตอบรับดังมาตามสาย “นั่นไม่ใช่เสียงของฉันนี่” เธอกล่าว “แต่ฉันรู้จักหล่อน” (เสียงจากเครื่องตอบรับถูกนำมาเปิดซ้ำอีกรอบช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายในฉากที่คามิลล่าโทรมาชวนไดแอนน์ไปงานเลี้ยง) หรือตอนเบ็ตตี้เดินไปหาริต้าที่ห้อง หลังทราบข่าวว่าหล่อนไม่ใช่เพื่อนของคุณป้า มุมกล้องแทนสายตาเบ็ตตี้ให้อารมณ์คุกคามดุจฆาตกรโรคจิตกำลังออกล่าเหยื่อรายต่อไป เหตุใดหญิงสาวที่มองโลกในแง่ดีและบริสุทธิ์สดใสอย่างเบ็ตตี้ถึงได้ถูกแทนที่ด้วยมุมกล้องอันน่าสะพรึงกลัวเช่นนั้น? การเปิดเผยความจริงในช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายว่า เบ็ตตี้กับไดแอนน์คือคนๆเดียวกันและเธอเป็นคนจ้างมือปืนฆ่าคามิลล่า/ริต้า ช่วยอธิบายข้อสงสัยดังกล่าวให้กระจ่างแจ้ง
เช่นเดียวกับ Lost Highway เรื่องราวของชายที่ถูกตัดสินประหารชีวิตจากคดีฆาตกรรมภรรยาและจินตนาการไปว่าตนเองได้กลายร่างเป็นชายอีกคนหนึ่งซึ่งหนุ่มกว่า เป็นที่รักในหมู่เพื่อนฝูง ครอบครัว และมีชีวิตที่น่าสนใจมากกว่า เพื่อหลีกหนีจากความจริงอันหดหู่ ไดแอนน์ ใน Mulholland Drive ก็ได้ ‘แก้ไข’ ชีวิตบัดซบของเธอเสียใหม่ในภาพความฝัน ไดแอนน์ผู้หดหู่ ขมขื่น กลายร่างเป็นเบ็ตตี้ผู้ร่าเริง บริสุทธิ์ สดใส และเปี่ยมพรสวรรค์ทางการแสดง ส่วนคามิลล่าผู้เชื่อมั่น กร้าวแกร่ง ก็กลายร่างเป็นริต้าผู้สูญเสียความทรงจำและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ นอกจากนั้นทุกสิ่งทุกอย่าง (สิ่งของ/เหตุการณ์/ตัวละคร/ชื่อคน) ในฉากความฝันยังล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของไดแอนน์แทบทั้งสิ้น

เบ็ตตี้เป็นชื่อพนักงานเสิร์ฟในร้านวิงค์กี้ที่ไดแอนน์นัดพบกับมือปืน ชายหนุ่มคนที่เล่าความฝันให้ชายอีกคนฟังคือชายคนเดียวกับที่ไดแอนน์เหลือบไปเห็นว่ากำลังยืนต่อคิวจ่ายเงินอยู่ตรงเคาน์เตอร์ร้านวิงค์กี้ โคโค่ แม่ของอดัมที่ไดแอนน์พบในงานเลี้ยง กลายเป็นผู้ดูแลอพาร์ตเมนต์ของป้าเบ็ตตี้ เมื่ออดีตเพื่อนร่วมห้องของไดแอนน์บอกว่ามีนักสืบสองคนกำลังตามหาเธออยู่ (เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการตายของคามิลล่า) ไดแอนน์จึงจินตนาการพวกเขาเป็นนายตำรวจสองคนที่มาตรวจสอบจุดเกิดอุบัติเหตุบนถนน มัลฮอลแลนด์ ไดรฟ ในฉากความฝัน มือปืนกลายร่างเป็นชายที่ฆ่าเพื่อนเพื่อแย่งชิงหนังสือปกดำ (เล่มเดียวกับที่ไดแอนน์เห็นว่าเป็นของมือปืน) กระเป๋าหนังบรรจุเงินของไดแอนน์กลายเป็นกระเป๋าในครอบครองของริต้า ฉากไดแอนน์นั่งลีมูซีนไปงานเลี้ยงที่บ้านอดัมและประโยค “จอดรถทำไม ยังไม่ถึงจุดหมายนี่” ถูกนำมาฉายซ้ำในฉากเปิดเรื่องบนถนน มัลฮอลแลนด์ ไดรฟ คู่รักหญิงผมบลอนด์ของคามิลล่า กลายมาเป็น คามิลล่า โรเดส นักแสดงที่พวกมาเฟียพยายามบีบให้อดัมคัดเลือกเป็นดารานำในหนังเรื่องใหม่ ภาพถ่ายโคลสอัพของคามิลล่า (ผมดำ) ที่ไดแอนน์ยื่นให้มือปืนพร้อมกับพูดว่า “ผู้หญิงคนนี้แหละ” กลายมาเป็นภาพถ่ายของคามิลล่า (ผมบลอนด์) ที่พวกมาเฟียยื่นให้อดัมพร้อมกับพูดว่า “ผู้หญิงคนนี้แหละ” แขกคนหนึ่งซึ่งไดแอนน์เหลือบไปเห็นในงานเลี้ยงกลายเป็นมาเฟียที่จู้จี้เรื่องกาแฟในฉากความฝัน

ถึงจะดึงรายละเอียดส่วนใหญ่มาจากชีวิตจริง แต่ภาพฝันของไดแอนน์ก็บ่งบอกความนัยบางอย่างเกี่ยวกับสภาพจิตใจในเบื้องลึกของเธอ เธอฝันว่า ริต้า ‘รอดชีวิต’ จากการลอบสังหารในรถลีมูซีน นั่นหมายถึง เธอรู้สึกผิดและอยากจะแก้ไข แต่สายเกินไป

ในความฝัน อดัมกับเบ็ตตี้ได้พบกันครั้งหนึ่ง ขณะฝ่ายแรกกำลังทดสอบหน้ากล้องเพื่อค้นหาดารานำหญิงในหนังเรื่องใหม่ ส่วนฝ่ายหลังเพิ่งเสร็จจากการโชว์พรสวรรค์ชั้นยอดให้ทุกคนประจักษ์ในการทดสอบบทอีกแห่งหนึ่ง ทั้งสองจ้องตากันอย่างถูกโฉลก แต่สุดท้ายเบ็ตตี้ก็ต้องขอตัวกลับก่อนเพราะนัดริต้าไว้ ส่วนอดัมก็ตัดสินใจยอมทำตามคำสั่งของมาเฟียด้วยการเลือก คามิลล่า (ผมบลอนด์) เป็นดารานำ ฉากดังกล่าวสะท้อนทัศนคติเบื้องลึกของไดแอนน์ต่อความตกต่ำในอาชีพนักแสดง เธอโทษว่าเพราะอำนาจมืดบางอย่างทำให้เธอไม่ได้บทนำและผลักดันคามิลล่าเป็นดาราดัง ไดแอนน์เชื่อว่า หากตั้งใจจริง เธออาจกลายเป็นผู้หญิงคนที่อดัมเลือกก็ได้ แต่เธอกลับเลือกจะเสียสละและให้ความสำคัญแก่หญิงคนรักเหนืออื่นใด มองในแง่หนึ่ง ไดแอนน์โทษว่า เนื่องจากเธออุทิศตนให้แก่คามิลล่า อาชีพนักแสดงของเธอจึงไม่ก้าวหน้าไปไหน… ใน Mulholland Drive ชีวิตส่วนตัวกับอาชีพการงานผสมผสานกันจนแยกไม่ออกเช่นเดียวกับความจริงและความฝัน

ลินช์เปรียบเทียบแรงปรารถนาที่จะหวนคืนสู่ความบริสุทธิ์ผุดผ่องอีกครั้งของไดแอนน์ ผ่านภาพลักษณ์ของหนังยุค 50 สมัยที่อเมริกายัง ‘ไร้เดียงสา’ และยังไม่เคยรู้จักกับประเทศเล็กๆในทวีปเอเชียชื่อเวียดนาม หนังซึ่งอดัมกำกับเป็นหนังเพลงย้อนยุค ส่วนการเต้นรำจังหวะจิตเตอร์บัก ซึ่งลินช์ใส่เข้ามาเป็นภาพแรกของหนัง ก็สะท้อนบรรยากาศแห่งยุคสมัย ฉากเบ็ตตี้เดินทางมาถึงฮอลลิวู้ด หลังชนะการประกวดเต้นรำจิตเตอร์บักพร้อมชายหญิงชราคู่หนึ่ง (ซึ่งน่าจะเป็นกรรมการตัดสิน) สะท้อนถึงจิตวิญญาณอันใสสะอาดของไดแอนน์ในระยะเริ่มแรก ก่อนเธอจะค่อยๆดำดิ่งลงไปพัวพันกับตัณหา ราคะ แรงริษยา ความผิดหวัง และฆาตกรรม ทั้งสองคือตัวแทนความดีงามในอดีตที่หายไปของไดแอนน์ ดังนั้นเมื่อตระหนักว่าตนเองได้กระทำสิ่งที่เลวร้ายเกินให้อภัยลงไป (ฉากนั่งจ้องมองกุญแจสีน้ำเงินบนโต๊ะรับแขก) ไดแอนน์จึงนึกเห็นภาพหลอนของพวกเขา ตัวเล็กเท่าแมลงสาบ ค่อยๆลอดผ่านช่องประตูเข้ามา แล้วขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ วิ่งไล่เธอจากห้องรับแขกไปยังห้องนอน ก่อนสุดท้ายจะผลักดันเธอให้หยิบปืนในลิ้นชักออกมายิงตัวตาย

วิกฤติตัวละครในหนังของลินช์ คือ การไม่สามารถทำใจยอมรับความจริงอันเจ็บปวดได้และพยายามผันแปลงทุกสิ่งให้กลายเป็นภาพฝันอันบิดเบือน บางอย่างอาจดูใกล้เคียงความจริง แต่ไม่ใช่ความจริงเสียทีเดียว ซึ่งหากมองในอีกแง่หนึ่ง มันคือบทวิพากษ์ความจอมปลอมของฮอลลีวู้ดที่ภายนอกอาจดูสวยงามและเหมือนจริง แต่โดยเนื้อแท้แล้วกลับเป็นเพียงภาพลวงตาที่วันหนึ่งย่อมต้องพังทลายลงในที่สุด แล้วเผยให้เห็นแก่นอคติภายในว่ามันคือโลกของชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงจำเป็นต้องยอมโอนอ่อนผ่อนตามและใช้เสน่ห์ทางเพศให้เป็นประโยชน์ มิเช่นนั้นแล้วก็เตรียมจูบลาอนาคตอันสดใสได้เลย เลสเบี้ยนอย่างไดแอนน์ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ดี แต่ก็ปฏิเสธที่จะเล่นตามน้ำเหมือนคามิลล่า ดังนั้นในความฝัน เราจึงได้เห็นเบ็ตตี้ใช้เสน่ห์สาวสวยบวกกับพรสวรรค์ทางการแสดงชั้นเลิศ เอาชนะใจบรรดาเฒ่าหัวงูทั้งหลายได้สำเร็จในฉากที่เธอเดินทางไปทดสอบบท

ถึงแม้จะทำหน้าที่เปิดโปงภาพลักษณ์ด้านมืดของฮอลลีวู้ด แต่ขณะเดียวกันหนังของลินช์ก็ผูกติดกับฮอลลีวู้ดและหนังฮอลลีวู้ดอย่างแน่นแฟ้น เขาอ้างอิงถึงผลงานที่คนดูคุ้นเคยมากมายอย่าง The Godfather (ฉากมาเฟียบีบให้ผู้สร้างหนังเลือกดาราตามคำสั่ง), Wizard of Oz (การที่บุคคลในชีวิตจริงปรากฏเป็นตัวละครในฉากความฝัน), Pulp Fiction (อารมณ์ขันของฉากที่ชายผมบลอนด์ฆ่าเพื่อนเพื่อแย่งชิงหนังสือปกดำ), Vertigo (ฉากเบ็ตตี้จับริต้าใส่วิกผมบลอนด์) และ Sunset Boulevard (ชื่อที่คล้ายคลึงกัน เนื้อหามืดหม่นเกี่ยวกับวงการบันเทิง และวิธีการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครที่ตายไปแล้ว) พร้อมทั้งสร้างความแปลกประหลาดด้วยการสวนทางสูตรสำเร็จนานับประการ อาทิ เล่าเรื่องในลักษณะแตกกระจาย แทนรูปแบบคลาสสิกทำนอง ‘เก็บเล็กผสมน้อย’ ซึ่งสุดท้ายนำไปสู่ภาพรวมอันเป็นเอกภาพ มอบบท femme fatale ให้แก่ คามิลล่า สาวผมดำเชื้อสายเม็กซิกัน ทั้งที่ตามธรรมเนียมฮอลลีวู้ดบทลักษณะนี้มักตกเป็นของดาราสาวผมทอง การดำเนินเรื่องตามแนวทางฟิล์มนัวร์ แต่กลับปล่อยให้ผู้หญิงเป็นตัวผลักดันเรื่องราว และการเริ่มต้นหนังด้วยภาพความฝัน ก่อนจะนำไปสู่ฉากเฉลยความจริงในตอนจบ (กลับตาลปัตรจาก The Wizard of Oz) เป็นต้น

กลเม็ด ‘ลวง’ คนดูของลินช์ไม่ได้หยุดอยู่แค่การเชื่อมโยงแฟลชแบ็คให้ต่อเนื่องกันและสอดแทรกชุดเหตุการณ์ย่อยซึ่งดูเหมือนไม่เกี่ยวโยงกับพล็อตหลักเท่านั้น หากแต่เขายังใช้วิธีอีกหลากหลาย ตั้งแต่ระดับขั้นเรียบง่าย (ฉากเบ็ตตี้ซ้อมอ่านบทกับริต้า) ไปจนถึงระดับขั้นลึกซึ้งอย่างร้ายกาจ (ไมเคิล แอนเดอร์สัน คนแคระจาก Twin Peaks รับบทเป็น มิสเตอร์โร้ก หัวหน้ามาเฟีย โดยที่ศีรษะของเขาถูกนำมาต่อกับร่างมนุษย์ปรกติบนรถเข็น) เพื่อเน้นย้ำแนวคิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็น ก่อนจะไปสรุปความคิดรวบยอดใน คลับ ไซเรนซิโอ เมื่อนักร้องหญิงนางหนึ่งออกมาครวญเพลง Crying เป็นภาษาสเปนอย่างซาบซึ้งกินใจ แล้วเป็นลมล้มพับไป แต่เพลงยังคงดำเนินต่อ ดุจดังที่พิธีกรประกาศก่อนหน้าการแสดงว่า “มันถูกบันทึกไว้หมดแล้ว… มันเป็นเทป… มันเป็นสิ่งลวงตา”

แทนที่จะนำเสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมา Mulholland Drive กลับล่อลวงคนดูให้ฉงนสนเท่ห์ ซ้อนทับความจริงเข้ากับความฝัน ทำให้พวกเขาตกอยู่ในสภาพตื่นตระหนกและสับสนเช่นเดียวกับไดแอนน์ โดยภาวะล่องลอยอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนดังกล่าวได้สะท้อนถึงเอกลักษณ์ประการหนึ่งในหนังของลินช์ นั่นคือ ความหวาดกลัวที่แท้จริงมักหยั่งรากลึกลงไปมากกว่าสิ่งที่ปรากฏเบื้องหน้า ในภาพยนตร์ส่วนใหญ่ อารมณ์ของผู้ชมมักพุ่งสูงขึ้นในระดับเดียวกันกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ตามท้องเรื่อง แต่ในหนังของลินช์ เหตุการณ์ที่ปรากฏกลับไม่อาจเทียบเท่าอารมณ์รุนแรงที่ผู้ชมได้รับ หนังของเขามักสร้างความรู้สึกหวาดระแวงว่ามีบางสิ่งบางอย่างเลวร้ายยิ่งกว่าซุกซ่อนอยู่ภายใน บางสิ่งบางอย่างซึ่งอยู่เหนือความเข้าใจของเราและน่าสะพรึงกลัวเกินกว่าจะถ่ายทอดเป็นรูปธรรม หรือ คำอธิบาย

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าปีศาจร้ายใน Mulholland Drive ปราศจากตัวตน

เช่นเดียวกับ Twin Peaks: Fire Walk With Me เรื่องราวของหญิงสาวผู้ไม่อาจทำใจยอมรับความจริงได้ว่าพ่อบังเกิดเกล้าของเธอคือบุคคลที่ข่มขืนเธอ ดังนั้นเธอจึงสร้างปีศาจร้ายตนหนึ่งขึ้นมาเป็นตัวแทนเขา ชายจรจัดใน Mulholland Drive ก็เปรียบดังสัญลักษณ์แทนความชั่วร้าย เป็นจิตวิญญาณอันบุบสลาย เน่าเฟะของไดแอนน์ หลังเธอตัดสินใจกระโดดลงไปคลุกโคลนตมแห่งอาชญากรรม (ตามเครดิตชายจรจัดรับบทโดยนักแสดงหญิง) เขาปรากฏตัวครั้งแรกในฉากที่ชายหนุ่มคนหนึ่งเล่าความฝันให้ชายอีกคนฟังว่า เขากำลังหวาดกลัว ‘บางสิ่ง’ เกินคำพรรณนา ใบหน้าของมันน่ากลัวจนเขาไม่อยากจะพบเห็นอีกเลย ไม่ว่าจะในความฝันหรือในชีวิตจริง จากนั้นเขาก็เดินตรงไปยังตรอกหลังร้านวิงค์กี้เพื่อพิสูจน์ดูว่าทุกอย่างจะเป็นเหมือนในความฝันหรือไม่ แล้วจู่ๆชายจรจัดก็โผล่หน้าออกมาจากด้านหลังกำแพง ทำให้ชายหนุ่มตกใจช็อคตาย เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความหวาดกลัวของไดแอนน์ที่จะสัมผัสกับตัวตนอันแท้จริงของเธอ ซึ่งกำลังผุกร่อนเกินเยียวยาไม่ต่างจากศพที่เบ็ตตี้และริต้าพบในอพาร์ตเมนต์

เมื่อไดแอนน์ถามมือปืนว่ากุญแจสีน้ำเงินใช้สำหรับเปิดอะไร เขากลับหัวเราะแทนคำตอบ ปริศนาที่ไม่ได้รับการคลี่คลายของกุญแจสีน้ำเงิน ทำให้ไดแอนน์วาดฝันไปว่ามันใช้สำหรับเปิดกล่องปริศนาสีน้ำเงินใบหนึ่งซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างความจริงกับความฝัน กล่องดังกล่าวคือสัญลักษณ์บ่งชี้ถึงการกระทำอันเลวร้ายของไดแอนน์ (กุญแจสีน้ำเงินจะปรากฏเมื่อคามิลล่าถูกสังหารแล้ว) ดังนั้นในฉากที่กล่องกำลังจะถูกริต้าเปิดออก เมื่อความจริงกำลังจะผุดขึ้นมาเหนือภาพฝัน เมื่อไดแอนน์กำลังจะถูกบีบให้ต้องตื่นขึ้นมาตระหนักในความจริงอันโหดร้าย เบ็ตตี้จึงหายตัวไปอย่างฉับพลัน และในเวลาเดียวกันมันจึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นชายจรจัด (วิญญาณอันผุพังของไดแอนน์) เป็นผู้ครอบครองกล่องสีน้ำเงิน ซึ่งภายในบรรจุชายหญิงชราภาพคู่หนึ่ง (ความบริสุทธิ์ที่สูญสลายไป) ผู้ต่อมาได้ตามหลอกหลอนไดแอนน์ให้เจ็บปวดจนไม่อาจทนมีชีวิตต่อไปได้

เช่นนี้แล้วจะพบว่า แต่ละเหตุการณ์ ตัวละคร หรือกระทั่งสิ่งของนานาชนิด ใน Muholland Drive ล้วนเชื่อมโยงเข้าหากันอย่างมีหลักการ เพียงแต่หลักการดังกล่าวหาใช่รูปแบบที่ตายตัวไม่ ใครอีกคนสามารถจัดระเบียบมันเสียใหม่ แล้วสร้างรูปแบบอันแตกต่าง แต่เป็นเหตุเป็นผลได้ไม่แพ้กัน

และบางทีนั่นเองคือความงามอันน่าตื่นตาที่ไม่แตกต่างจากความฝันของ Mulholland Drive

นักวิชาการเคยให้คำนิยามความฝันไว้ว่า มันพยายามจะบอกอะไรเราบางอย่าง แต่ความหมายกลับไม่เด่นชัดและถ่ายทอดผ่านภาษาที่แปลกแตกต่าง แม้ขณะเดียวกันจะให้ความรู้สึกคุ้นเคยอย่างประหลาด ความฝันคือปริศนา หาใช่คำแถลงการณ์ มันส่งทอดคำถามเพื่อให้เราได้ค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ความฝันช่วยเปิดโลกทัศน์ของเราให้กว้างไกลขึ้น ช่วยสอนเราถึงสิ่งที่อาจจะอยู่เหนือความเข้าใจ ถ้าความฝันบอกกล่าวกับเราอย่างตรงไปตรงมา ในขณะที่เรามีสติสัมปชัญญะครบถ้วน เช่นนั้นแล้วทุกอย่างก็จะง่ายดายและปราศจากขั้นตอนของการค้นพบ ด้วยเหตุนี้ความฝันจึงจำเป็นต้องถือกำเนิดในรูปของปริศนาลึกลับ ตีแผ่จิตใต้สำนึก และทำให้เราเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น

Mulholland Drive ไม่เพียงจะเล่าถึงสัมพันธภาพระหว่างความจริงกับความฝันเท่านั้น หากแต่ยังดำเนินเรื่องตามรูปแบบของคำนิยามข้างต้นอีกด้วย หนังเป็นปริศนาที่สามารถค้นพบคำตอบได้ในบางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด ผู้ชมไม่สามารถมองย้อนกลับมาแล้วเชื่อมโยงทุกรายละเอียดให้เป็นเหตุเป็นผลกันได้อย่างครบถ้วน เช่นเดียวกับภาพความฝันที่ไม่ปะติดปะต่อกันโดยตลอด ความท้าทาย น่าสนใจของมัน จึงไม่ได้อยู่ตรงคำเฉลย หากแต่อยู่ตรงขบวนการค้นหา ซึ่งหากเราใส่ใจพอ ก็จะพบว่ามันสะท้อนเศษเสี้ยวของความจริงได้อย่างลึกซึ้ง เหลือเชื่อ มันผสมผสานความคิดแปลกใหม่เข้ากับสูตรดั้งเดิมอันคุ้นเคยได้อย่างกลมกลืน และมันเป็นผลงานกำกับภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของ เดวิด ลินช์ นับแต่ Blue Velvet

วันอังคาร, กันยายน 19, 2549

จะ (เซ็น) เซ่อไปถึงไหน


เมื่อวันก่อน ผมนั่งดูหนังเรื่อง Hostel ด้วยความหงุดหงิดใจเป็นพิเศษ

เนื่องจากมันเป็นวีซีดีลิขสิทธิ์ ดังนั้นทุกฉากที่ตัวละครดื่มเหล้า คำเตือนจึงปรากฏขึ้นบนหน้าจอแบบเด่นชัดทำนองว่า “การดื่มสุราเป็นอันตรายต่อสุขภาพ” พอตัวละครหยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ ภาพโมเสกกลุ่มหนึ่งก็จะขยับยึกยักไปมาตรงบริเวณนั้น (ราวกับว่าเพียงแค่นี้ “พวกเขา” ก็สามารถหลอกคนดูให้งงเป็นไก่ตาแตกได้แล้วว่าไอ้เจ้าสิ่งที่ตัวละครกำลังคีบอยู่ในมือนั้นมันเป็นอะไรกันแน่) และแน่นอน เมื่อผู้หญิงเปลี่ยนเสื้อ หน้าอกหน้าใจ ของเจ้าหล่อนก็จะถูกหมอกบดบังในทันที (ส่วนหัวนมของผู้ชายนั้น “พวกเขา” ถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้ เลยปล่อยผ่าน... ขอบใจนะ)

ทีนี้ คุณลองนึกภาพหนังสยองขวัญไร้สมองสักเรื่อง ที่มีตัวละครเอกเป็นกลุ่มวัยรุ่นชายหื่นกามจำนวนสามคน แน่นอนจุดขายของหนัง คือ เซ็กซ์และความรุนแรง โดยอาจจะมียาเสพติดเข้ามาปนบ้างเป็นครั้งคราว (ในสองสามฉากแรกของเรื่องนี้เราจะเห็นตัวละครเอกพี้กัญชากันเป็นว่าเล่น) คราวนี้ คุณลองคิดดูสิว่าผมจะได้เห็นหมอก โมเสก และคำเตือนปรากฏบนหน้าจอบ่อยแค่ไหน

นี่ยังไม่รวมว่าบางฉากโหดๆ หรือโป๊มากหน่อยก็คงจะโดนหั่นออกไปทั้งยวงเลย เพราะหนังดูเหมือนกระตุกๆ อยู่สองสามช่วง

“พวกเขา” คิดจริงๆ เหรอว่าการทำแบบนี้จะช่วยให้เด็กไม่อยากลองบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือมีเซ็กซ์ก่อนวัยอันควร “พวกเขา” คิดจริงๆ เหรอว่าเด็กสมัยนี้ไม่มีทางเลือกอื่นในการเสพ ท่ามกลางร้านอินเตอร์เน็ทที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ท่ามกลางกระแสเกมคอมพิวเตอร์ที่รุนแรงพอๆ กับทุกฉากในหนังเรื่องนี้ และท่ามกลางกระแสวีซีดี/ดีวีดีผีที่วางขายเกลื่อนแบบไม่มีโมเสก หมอก หรือคำเตือนปรากฏหน้าจอ

ที่สำคัญ ผมไม่เข้าใจว่า การเห็นหัวนมผู้หญิง หรือคนสูบบุหรี่ มันเป็น “อันตราย” กว่าการเห็นคนพ่นไฟใส่หน้าผู้หญิงคนหนึ่ง จนตาของเธอห้อยออกมานอกเบ้าได้อย่างไร (หนังอาจไม่ได้โชว์ให้เห็นภาพการเผาแบบจะๆ แต่คนดูก็สามารถปะติดปะต่อได้ไม่ยากจากท่ออ็อกเหล็กในมือคนร้ายและเมคอัพชวนขยะแขยงบนใบหน้าของเหยื่อ) ฉากดังกล่าวไม่ถูกตัด ไม่โดนหมอก และไม่มีคำเตือนใดๆ ทั้งสิ้น เช่น “เป็นความสามารถเฉพาะตัว ห้ามเลียนแบบ” หรือ “การพ่นไฟใส่ลูกตาคนอื่นเป็นอันตรายร้ายแรง” แถมหลังจากนั้นไม่นาน เรายังจะได้เห็น (คราวนี้ในระยะโคลสอัพ) พระเอกพยายามใช้กรรไกรตัดดวงตาข้างที่ห้อยต่องแต่งของเธอออกด้วย!

ให้ตายสิ อยากทำแบบนั้นกับไอ้ทีมเซ็นเซ่อจังเลย!!!

วันเสาร์, กันยายน 16, 2549

กรรมของกะเทยแก่และอัปลักษณ์





ภาพวาดดั้งเดิมมีชื่อว่า Shearing the Rams เป็นผลงานของ ทอม โรเบิร์ตส์ (1856-1931) ศิลปินชาวออสเตรเลีย ส่วนภาพวาดเลียนแบบเป็นผลงานของ aussieBum เว็บไซท์ขายกางเกงใน กางเกงว่ายน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสีสันและลวดลายฉูดฉาดบาดใจเหลือเกิน (ดูตัวอย่างได้จากภาพวาด) เหมือนบรรดานายแบบล่ำบึกทั้งหลายที่มาโพสต์ให้ (ดูตัวอย่างได้จากภาพวาดอีกเช่นกัน) เพราะเหตุนี้ เว็บไซท์ดังกล่าวจึงกลายเป็นแหล่งซ่องสุมชั้นยอดของบรรดาเกย์หื่นกามทั้งหลาย (รวมทั้งผม)

ผมมีความเชื่อว่าเว็บไซท์นี้สร้างขึ้นมาเพื่อเกย์โดยเฉพาะ เนื่องจากมันไม่มีสินค้าของผู้หญิงขายควบคู่กันไป มีแต่สินค้าของผู้ชาย และภาพนายแบบผู้ชายหล่อๆ สวมใส่สินค้าเหล่านั้นให้เรากดเลือกดูได้ตามอัธยาศรัย (ไม่รู้ว่าผู้ชายแท้ๆ ที่อยากได้กางเกงว่ายน้ำสักตัวจะกล้าเข้ามากดเลือกดูในเว็บไซท์ประเภทนี้ไหม บางทีผมอาจดูถูกผู้ชายยุคใหม่มากไปก็ได้) ผมรู้จัก aussieBum ผ่านเว็บบล็อกเกย์แห่งหนึ่ง ซึ่งนิยมนำภาพนายแบบ ดาราชาย คนดังชาย นักกีฬาชาย หรือกระทั่งชายหนุ่มหล่อเหลาตามท้องถนนมาโพสต์ และส่วนใหญ่มักอยู่ในสภาพนุ่งน้อยห่มน้อย พูดแบบนี้ คุณคงเดาไม่ถูกหรอกว่าผมหมายถึงบล็อกไหน เพราะเว็บบล็อก “เกย์” ส่วนใหญ่ดูเหมือนจะเข้าข่ายไปหมด (นี่คือเหตุผลว่าทำไมเวลาเกย์ถูกกล่าวหาว่าบ้าเซ็กซ์ ผมจึงไม่เคยเถียงสักคำ!) ภาพโฆษณาชิ้นนี้จะไปปรากฏในนิตยสารชั้นนำหลายฉบับรวมถึง Details นิตยสารเกย์ชื่อดัง

แรกทีเดียว ผมรู้สึกขำเมื่อได้เห็นภาพ มันสามารถเอาภาพวาดที่ดูคลาสสิกมาทำให้ดูอีโรติกและเกย์ได้เก๋ดีแฮะ (แถมยังใช้โฆษณาสินค้าได้อีกต่างหาก) แต่พอเริ่มเล่นเกม photo hunt ปุ๊บ ผมก็เห็นความแตกต่างบางอย่างระหว่างสองภาพปั๊บ นั่นคือ ตาแก่ตรงขวามือกับเด็กตรงซ้ายมือจากภาพดั้งเดิมถูกตัดออกไป!

มีคนเคยบอกผมว่าวัฒนธรรมเกย์เฉลิมฉลองแนวคิด Young & Beautiful ซึ่งผมก็ค่อนข้างเห็นด้วย และภาพวาดนี้ก็ดูเหมือนจะตอกย้ำแนวคิดที่ว่า โดย young ในที่นี้หมายถึงต้องอยู่ในวัยเจริญพันธุ์แล้ว (นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กชายในรูปดั้งเดิมถูกตัดออกไป เขาเด็กเกินกว่าจะสร้างอารมณ์ทางเพศได้ ยกเว้นสำหรับพวกนิยมเสพเมถุนกับเด็ก) ส่วน Beautiful ในที่นี้ ไม่ได้หมายความแค่หน้าตาดีเท่านั้น แต่ยังต้องมีรูปร่างดีอีกด้วย ทีนี้คุณคงไม่สงสัยแล้วว่าทำไมตามฟิตเนสจึงแออัดไปด้วยเกย์... ทั้งหนุ่มและสาว

ผมรู้ว่าเกย์ทุกคนไม่ได้ตื้นเขิน หลงใหลในรูปรสกลิ่นเสียงไปทั้งหมด แต่ต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมของเรากำลังเดินหน้าไปทางนั้น และคนที่ไม่เข้าพวกก็มักจะถูกกีดกันให้ออกไปใช้ชีวิตที่เรียกว่า “คนนอกในกลุ่มคนนอก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นเกย์ที่ไม่หล่อ กำลังย่างเข้าสู่วัยร่วงโรย แถมยังไม่อยากลงทุนลงแรงเพื่อสร้างกล้ามเนื้อเป็นจุดดึงดูดใจ

ไม่รู้ว่าถ้าให้เลือกระหว่าง “หล่อ” กับ “ฉลาด” ผู้ชายแท้ๆ จะเลือกแบบไหนมากกว่ากัน แต่ผมเชื่อว่าโดยลึกๆ แล้ว เกย์ในเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่าน่าจะเลือกหล่อเหนือฉลาด เพราะพวกเราโหยหาการยอมรับยิ่งกว่าผู้ชายแท้ๆ ซึ่งอย่างน้อยก็ยังมีการยอมรับในสังคมวงกว้าง พวกเราส่วนใหญ่มักจะเชื่อว่า ถ้าเราหล่อ อย่างน้อยเราก็น่าจะได้รับการยอมรับในกลุ่มคนนอกด้วยกัน...

วันศุกร์, กันยายน 15, 2549

ผมหลงรักหนังเรื่องนี้!


ทุกครั้งที่ได้ชมหนังของ อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล ผมรู้สึกสุขใจอย่างบอกไม่ถูก หนังของเขาไม่ได้สนุกในความหมายทั่วๆ ไป แต่มันให้อารมณ์บางอย่างแบบที่หนังสนุกทั่วๆ ไปเหล่านั้นไม่สามารถมอบให้กับผมได้ หนังเรื่องแรกของเขาที่ผมได้ดู คือ “สุดเสน่หา” ซึ่งแม้จะเป็นทางวีซีดี และบางฉากโป๊ๆ เปลือยๆ ก็ถูกตัดทอนออกไป (ผมได้ยินเขาว่ากันมาอีกที) แต่มันก็ยังสามารถสร้างความตื่นตะลึงได้ไม่น้อย

ผมชอบการจัดองค์ประกอบภาพในหนังของเขา มันสวยงาม เรียบง่าย แต่สื่อความหมายและอารมณ์ (มันจะยิ่งสวยงามมากขึ้นอีก หากคุณได้ดูหนังของเขาในโรงภาพยนตร์) หนังของเขาไม่ค่อยมีการตัดภาพ แต่สามารถตรึงคนดูได้ตลอด แต่ก็นั่นแหละ มันคงเป็นเรื่องของรสนิยมมากกว่า เพื่อนบางคนของผมชิงชังหนังอย่าง “สัตว์ประหลาด” ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด!

ผมไม่อยากพูดอะไรมากเกี่ยวกับหนังเรื่องใหม่ของเขา คือ “แสงศตวรรษ” ซึ่งผมเพิ่งได้ดูไปแค่รอบเดียว ผมอยากได้ดูมันอีกสักสองสามรอบ ก่อนจะสามารถพูดถึงมันได้มากกว่าแค่ระบายความชอบส่วนตัว (เหมือนที่ผมกำลังทำอยู่) แน่นอน เขายังคงทดลองการเล่าเรื่องเช่นเดียวกับ สัตว์ประหลาด ด้วยการแบ่งหนังออกเป็นสองช่วง (ใน “สุดเสน่หา” หนังก็ถูกแบ่งครึ่งเช่นกัน แต่เรื่องราวและตัวละครยังคงต่อเนื่อง) ซึ่งดูเหมือนไม่เกี่ยวกัน แต่ใช้นักแสดงทีมเดียวกัน มีการเล่นซ้ำ การเล่นกับความขัดแย้ง และหลายครั้ง หนัง (หรือตัวละครในหนัง) จะพูดถึงแนวคิดเกี่ยวกับการเกิดใหม่

โดยรวมๆ แล้ว ผมชอบและรักหนังเรื่องนี้มากกว่า “สัตว์ประหลาด” อารมณ์ของหนังดูกลมกลืนไปด้วยกันมากกว่า อารมณ์ขันเยอะกว่า และอาจพูดได้ว่าดูสนุกกว่า ผมชอบหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องแล้วครับ ซึ่งเป็นฉากต้นไม้ไหวพลิ้วไหวไปมา พร้อมกับเสียงลมเด่นชัด (เอ ถ้าจำไม่ผิด รู้สึกจะดูคล้ายๆ ภาพสุดท้ายของหนังเรื่อง “สัตว์ประหลาด” อยู่นะ แต่อันนั้นเป็นฉากกลางคืน ส่วนอันนี้เป็นฉากกลางวัน) เสียงประกอบเป็นสิ่งที่หนังของอภิชาติพงษ์ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง (นี่คือสาเหตุหนึ่งว่าทำไมผมถึงรู้สึกเชื่อมโยงหนังของเขากับหนังของ เดวิด ลินช์ ผู้ชื่นชอบการใช้เสียงมากพอๆ กับการทดลองการเล่าเรื่อง) ภาพอีกหลายภาพตรึงอยู่ในความรู้สึกผม เช่น ภาพทุ่งนาช่วงต้นเรื่องพร้อมเสียงสนทนาของตัวละครดังแว่วเข้ามา หรือภาพแรกที่ผมเอามาแปะไว้ มันให้ความรู้สึกสงบและสุขใจอย่างบอกไม่ถูก ซึ่งผมเชื่อว่าตัวละครก็น่าจะรู้สึกแบบเดียวกัน

อีกอย่างที่ผมชอบหนังของอภิชาติพงษ์ คือ มันดูจริงใจจนแทบไม่ได้สัมผัสถึงการปรุงแต่งใดๆ (แต่แน่นอน เขาไม่ได้แค่เอากล้องไปตั้ง แล้วถ่ายไปเรื่อยๆ เหมือนคำครหาของนักวิจารณ์ติงต๊องบางคน) ความรู้สึกแบบนี้ ผมแทบสัมผัสไม่ได้จากหนังของ วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง ซึ่งอบอวลไปด้วยการปรุงแต่ง (ผมไม่ได้หมายความว่าแบบไหนดีกว่า ผมเพียงอยากจะบอกว่าผมชอบแบบไหนมากกว่าเท่านั้น) ขณะเดียวกันหนังของอภิชาติพงษ์ก็ให้ความรู้สึก “เหนือจริง” ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่น ภาพท่อสูดควัน ภาพพระเล่นเครื่องร่อน ภาพหมอฟันร้องเพลง ฯลฯ มันดูเหมือนจริงและเหนือจริงไปพร้อมๆ กัน ไม่รู้คุณผู้อ่านจะเข้าใจที่ผมพูดไหม แต่ถ้าคุณได้ดูหนังน่าจะเห็นภาพได้มากกว่า

ผมได้ข่าวแว่วๆ ว่าหนังคงเข้าฉายในปีหน้า ผมแทบจะรอให้ถึงวันนั้นเพื่อจะได้ไปดูหนังเรื่องนี้อีกรอบไม่ไหวแล้วครับ