วันอังคาร, มิถุนายน 15, 2553

หัวใจทรนง: เมื่ออภิชาติพงศ์ทำหนังกระแสหลัก?


ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ หัวใจทรนง หรือ The Adventure of Iron Pussy มักถูกหลงลืมว่าเป็นหนึ่งในผลงานกำกับของผู้ชนะรางวัลปาล์มทองคนล่าสุด อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล สาเหตุสำคัญคงเป็นเพราะมันช่างแตกต่างจากภาพยนตร์สร้างชื่อในระดับนานาชาติเรื่องอื่นๆ ของอภิชาติพงศ์ค่อนข้างมาก เริ่มตั้งแต่แนวทางหนังตลก/แอ็กชั่น/เพลงชนิดเต็มรูปแบบ (ใครก็คงคาดไม่ถึงว่าจะได้เห็นฉากยิงสนั่นและระเบิดภูเขาในหนังของอภิชาติพงศ์) ไปจนถึงการเล่าเรื่องที่เป็นเส้นตรง (พูดง่ายๆ คือ ตามเรื่องได้ตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่ต้องตีความหลายตลบ) และท่วงทำนอง “เอามัน” โฉ่งฉ่าง และสุดขอบ ซึ่งห่างไกลลิบลับกับลีลานุ่มเนิบดุจบทกวีของหนังอย่าง สุดเสน่หา, สัตว์ประหลาด และ แสงศตวรรษ

คาดว่าคุณสมบัติหลังสุดน่าจะเป็นอิทธิพลของ ไมเคิล เชาวนาศัย สังเกตได้จากอารมณ์โดยรวมของหนังสั้น 3 เรื่องก่อนหน้าที่เปรียบเสมือนจุดกำเนิดของ หัวใจทรนง อันประกอบไปด้วย The Adventure of Iron Pussy, Banzai Chaiyo และ To be, or not to be ซึ่งไมเคิลรับหน้าที่กำกับ/นำแสดง

ดูเหมือนความตั้งใจแต่แรกของ Iron Pussy ในยุคหนังสั้น คือ ล้อเลียนภาพยนตร์แนวสปายสายลับ รวมถึงซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลายโดยพลิกตาลปัตรให้วีรบุรุษ (นามว่านายมงคล) เป็นอดีตอะโกโก้บอยย่านสีลม ที่ในยามปกติดูเหมือนชายหนุ่มธรรมดาทั่วไป แต่เมื่อใดที่พบเห็นเหล่าน้องๆ ร่วมอาชีพขายบริการถูกชาวต่างชาติรังแก หรือเอารัดเอาเปรียบ เขาก็จะแปลงร่างเป็นหญิงสาวมาดทะมัดทะแมงนามว่าไอออนพุสซี แล้วใช้อาวุธเด็ดเป็นปืนฉีดน้ำอสุจิต่อกรกับเหล่าร้าย!? โดยความฮาไม่ได้หยุดอยู่แค่พล็อตสไตล์ “กะเทยพิทักษ์โลก” เท่านั้น แต่มันยังเสียดสี “ความเป็นชาย” ที่มักทะลักล้นในหนังซูเปอร์ฮีโร่ด้วย (เหล่าวีรบุรุษทั้งหลายมักนิยมสวมชุดรัดรูปเพื่อเน้นให้เห็นกล้ามเนื้อแข็งแกร่งอย่างชัดเจน) เมื่อผู้ชายบ้านๆ จะครอบครองพลังอำนาจก็ต่อเมื่อเขาแต่งกายเป็นหญิง

อันที่จริงมองในแง่หนึ่ง โลกของซูเปอร์ฮีโร่กับโลกของรักร่วมเพศก็ไม่ได้ห่างไกลกันมากนัก หากพิจารณาถึงประเด็นการปลอมแปลงและภาวะสองสถานภาพ หลายคนอาจคิดว่า สไปเดอร์แมน และ ซูเปอร์แมน เป็นความพยายามจะปกปิดตัวตนไม่ให้ใครรู้ เป็นร่างสมมุติ หรือนามแฝง แต่แท้จริงแล้ว ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ และ คลาก เคนท์ ต่างหาก คือ หน้ากากที่พวกเขาต้องสวมใส่เวลาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเพื่อไม่ให้ตัวเองแปลกแยกจากมาตรฐานทั่วไป เพื่อปกปิด “เอกลักษณ์” ภายในผ่านรูปลักษณ์เฉิ่มๆ ภายนอกที่ใครเห็นก็มองข้าม ทั้งนี้เพราะคอสตูมหลากสีสันนั้นไม่ได้มอบพลังวิเศษใดๆ แก่พวกเขา พลังดังกล่าวติดตัวพวกเขามาแล้วนับแต่กำเนิด (กรณีซูเปอร์แมน) หรือนับแต่โดนแมงมุมกัด (กรณีสไปเดอร์แมน) และเมื่อใดก็ตามที่สวมชุด พวกเขาจะสามารถ “เป็นตัวของตัวเอง” ได้อย่างเต็มที่

เช่นเดียวกัน รักร่วมเพศจำนวนไม่น้อยต้องดำรงตนสองสถานะกว่าครึ่งค่อนชีวิต เนื่องจากแรงกดดันของลัทธิบูชารักต่างเพศ โดยตอนกลางวัน ในออฟฟิศหรือที่บ้านกับพ่อแม่พี่น้อง พวกเขาอาจสวมบทเป็นนายมงคล ผู้ชายธรรมดา ดูเรียบร้อย ไม่มีปากเสียง แต่ในยามค่ำคืน ตามแหล่งบันเทิงเริงรมย์ เช่น ย่านสีลม พวกเขาจะแปลงกายเป็นไอออนพุสซี ผู้หญิงมาดมั่น ไม่เกรงกลัวใคร พร้อมกับวาดฝันถึงวันที่จะสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องมีนายมงคล

นอกจากแง่มุมที่ชัดเจน ค่อนข้างเป็นรูปธรรมข้างต้นแล้ว หนังสั้นชุด Iron Pussy ยังสะท้อนนัยยะเกี่ยวกับการปลอมแปลงและบุคลิกซ้อนที่ย้อนแย้งกันในแง่มหภาคอีกด้วย (และนี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมมันจึงสร้างกระแสฮือฮาในยุคนั้น หากไม่นับรวมความแรงแบบกระจะตา อาทิ ปืนฉีดน้ำอสุจิ หรือฉากรักอันโจ่งครึ่ม) กล่าวคือ ภายใต้ความพยายามส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยในแง่วัฒนธรรมงดงาม ยิ้มสยาม รำไทย ฟ้าใสทะเลสวย ฯลฯ ดังคำพูดของมาดามปอมปาดอย (ดารุณี กฤตบุญญาลัย) ใน หัวใจทรนง ที่ว่า “เมืองไทยน่าอยู่ อาหารอร่อย ผู้คนน่ารัก” ยังมีอีกตัวตนหนึ่งของประเทศไทยที่เหล่าคนใหญ่คนโต หรือชนชั้นกลางจำพวกมือถือสากปากถือศีลทั้งหลายจงใจซุกซ่อนไว้ในซอกหลืบ นั่นคือ เมืองไทยเป็นดินแดนที่ธุรกิจทางเพศเจริญรุ่งเรือง โดยคนส่วนใหญ่ที่เข้ามากอบโกย เอารัดเอาเปรียบเรือนร่างของทั้งหญิงไทยและชายไทยล้วนเป็นชาวต่างชาติจากประเทศพัฒนาแล้ว

เรามักถูกปลูกฝังให้ภาคภูมิใจเสมอมาว่าในอดีตประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นใคร อย่างน้อยก็เชิงภูมิศาสตร์/การเมือง แต่ปัจจุบันเมืองไทยกลับยินยอมโก้งโค้ง (ทั้งความหมายตรงตัวและความหมายเชิงสัญลักษณ์) แก่ฝรั่ง หรือญี่ปุ่นเพื่อแลกเงินตรา ดังจะเห็นได้จากความเจริญรุ่งเรืองของธุรกิจทางเพศจนมันสร้างชื่อกระฉ่อนไปทั่วโลก (น่าตลกที่ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น ณ ประเทศที่การค้าประเวณีผิดกฎหมาย ไม่ใช่หลายประเทศแถบยุโรป หรือแคนาดาที่อนุญาตให้ค้าประเวณีได้) โดยต้นเหตุอาจสาวไปถึงความล้มเหลวของรัฐในการกระจายรายได้ ส่งเสริมการศึกษา เพื่อให้ประชาชนสามารถยืนหยัดบนลำแข้งของตนเอง นอกจากนี้ ขณะที่ปากตะโกนปาวๆ ว่าธุรกิจทางเพศเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เป็นเรื่องน่าละอาย และอาจถึงขั้นไม่ต้องการยอมรับว่ามีอยู่จริงในสังคม (เช่น กรณีร้องแรกแหกกระเชอ เมื่อพจนานุกรมฉบับลองแมนนิยาม “กรุงเทพ” ว่าเป็นเมืองแห่งโสเภณี) แต่ลับหลังรัฐกลับก้มหน้ารับเม็ดเงินที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างเต็มใจ สุดท้าย ผู้รับกรรมจึงกลายเป็นบรรดาชายหญิงขายบริการ ซึ่งนอกจากไม่มีใครยอมรับ ช่วยเหลือแล้ว ยังถูกเอารัดเอาเปรียบรอบด้าน1

ด้วยเหตุนี้ หนังสั้นชุด Iron Pussy จึงมีลักษณะคล้ายแฟนตาซี Rape/Revenge ของประเทศโลกที่สาม ของชนชั้นล่างในสังคม หลังถูกนักล่าอาณานิคม (สวาท) และเหล่าอภิสิทธิ์ชนกระทำชำเราครั้งแล้วครั้งเล่า2... และจากมุมมองดังกล่าว คนดูอาจรู้สึกไม่ประหลาดใจว่าทำไมอาวุธเด็ดของไอรอนพุสซีจึงได้แก่ ปืนฉีดน้ำอสุจิ

อย่างไรก็ตาม เมื่อดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ขนาดยาว กลิ่นอายเกี่ยวกับเซ็กซ์ เพศสภาพ รวมไปถึงประเด็นวิพากษ์ลัทธิล่าอาณานิยมถูกลดทอนลงอย่างเห็นได้ชัด จริงอยู่ ตัวร้ายยังคงเป็นชาวต่างชาติ (คราวนี้คืออินเดีย) และช่วงต้นเรื่องเรายังได้เห็นไอออนพุสซีแปลงกายจากหญิงเป็นชายและชายเป็นหญิงอยู่สองสามครั้ง แต่ทั้งหมดทำหน้าที่เพียงช่วยย้ำเตือนให้คนดูสามารถนึกเชื่อมโยงไปถึงหนังสั้นได้เท่านั้น หาใช่เพื่อนำเสนอสารแบบเดิม3 เพราะภาพโดยรวมของหนังแตกต่างและแยกเป็นเอกเทศอย่างสิ้นเชิงผ่านการตีความใหม่ของอภิชาติพงศ์ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมสอดแทรกเครื่องหมายการค้าของเขาเอาไว้ตลอดทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นฉากเดินลุยป่า เข้าถ้ำ ฉากย้อนอดีตในสไตล์หนังเงียบ หรือการปรากฏตัวขึ้นของเสือ (และบทพูดเปรียบเทียบคนกับสัตว์ หรือสัตว์ร้ายในคราบมนุษย์)

เป้าหมายหลักในการล้อเลียน/คารวะถูกเปลี่ยนมาเป็นหนังไทยยุค 1970 ผ่านการพากย์เสียง ย้อมสีภาพ บทพูดเชยๆ ภาษาโบราณๆ และการวางพล็อตให้เดินตามรอยทุก “ท่าบังคับ” ที่เราคุ้นเคย โดยไฮไลท์ซึ่งเรียกเสียงฮาได้อย่างยอดเยี่ยมน่าจะเป็นฉากเปิดเรื่อง เมื่อไอออนพุสซีโผล่มาช่วยลูกสาวจอมแก่นของอาแปะร้านขายกาแฟ (จุฑารัตน์ อัตถากร) ไม่ให้ถูกกลุ่มจิ๊กโก๋รุมทำร้าย ที่สำคัญ หนังยังตอกย้ำภาพลักษณ์ “นางเอก” ยุคนั้นด้วยอารมณ์ขันหยิกเชิงหยอก เมื่อไอออนพุสซีในคราบลำดวนถูกกลั่นแกล้ง เยาะเย้ยสารพัดราวกับ พจมาน สว่างวงศ์ แต่เธอก็เอาความดี (... และใบหน้าอันสวยงาม) เข้าสยบตามลักษณะของพุทธศาสนิกชนที่ดี (สังเกตได้จากฉากปล่อยปลาปล่อยเต่าและเดินเข้าวัดไปกราบไหว้พระพุทธ) พลางโชว์ทักษะสารพัน ตั้งแต่ทำขนมไทย ตัดหญ้า รีดผ้า ร้อยพวงมาลัย ร้องเพลง ไปจนถึงศิลปะป้องกันตัว

ทว่าความดีดังกล่าวกลับกลายเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติภารกิจเพื่อชาติ หลังจากไอออนพุสซี/ลำดวนค้นพบว่าศัตรูของเธอ คือ ชายหนุ่มรูปหล่อพ่อรวยที่เพิ่งเรียนจบจากเมืองนอก เนื่องจากเธอ “ทำร้ายคนที่ฉันรักไม่ได้” แม้กระทั่งในช่วงเวลาคับขัน เมื่อบาทาของชายคนรักนั้นประทับแนบแน่นอยู่บนใบหน้าเธอ

แม้จะสลัดทิ้งรายละเอียดหลายอย่างจากหนังสั้น แต่ธีมสำคัญที่ หัวใจทรนง ยังคงเก็บรักษาไว้อย่างเหนียวแน่น คือ ประเด็นการปลอมแปลง หน้ากาก และความแตกต่างระหว่างภาพลักษณ์ภายนอกกับเนื้อแท้ภายใน ไม่ว่าจะแบบที่เห็นชัดๆ เช่น การสวมรอยมาเป็นหญิงรับใช้ของไอออนพุสซีเพื่อสืบข้อมูลเกี่ยวกับมิสเตอร์เฮนรี การเปิดเผยตัวตนและสถานะอันแท้จริงของ สมจินตนา (เจนจิรา พงพิศ) หัวหน้าแม่บ้าน... หรือแบบที่ต้องมองให้ลึกลงไปอีกนิด เช่น การที่ชายหนุ่มรูปหล่ออย่างคุณแทง (กฤษดา สุโกศล) มีจิตใจคดเคี้ยวยิ่งกว่าสัตว์ป่า ตรงกันข้ามกับมอเตอร์ไซค์รับจ้างหน้าตาบ้านๆ แต่น้ำใจงามอย่าง ผิว (ธีรวัฒน์ ทองจิตติ) การที่งานเลี้ยงไฮโซและคฤหาสน์ใหญ่โตกลับกลายเป็นแหล่งซ่องสุมสินค้าผิดกฎหมาย... หรือกระทั่งแบบความนัยทางอ้อม เช่น เมื่อหนังเอ่ยอ้างถึงรัฐบาลของนายก ทักษิณ ชินวัตร (ผู้ว่าจ้างไอออนพุสซีด้วยงบเสื้อผ้าไม่จำกัด บัตรทองสุขภาพ และการโอนเงินเข้าบัญชีในวันหวยออก) ผ่านทีมนักแสดงหน้าเหมือน ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เมื่อปมสำคัญของหนังเกี่ยวพันถึงขบวนการผลิตยาเสพติด4

จริงอยู่ว่าพล็อตของ หัวใจทรนง ค่อนข้างยอกย้อนและอบอวลด้วยอารมณ์สไตล์โศกนาฏกรรมกรีก (คู่รักถูกเปิดเผยว่าเป็นพี่น้องฝาแฝด ซึ่งพรากจากกันแต่วัยเยาว์เพราะแม่เชื่อคำทำนายของหมอดูยิปซีว่าโตขึ้นพวกเขาจะเข่นฆ่ากันเอง) แต่ดูเหมือนสาร หรือคติสอนใจที่หนังต้องการสื่อกลับเรียบง่าย และบางทีอาจสามารถสรุปได้ด้วยประโยคเด็ดของหนัง ซึ่งคนดูคงจดจำได้ไม่ลืม และปัจจุบันน่าจะกลายเป็นประโยคคลาสสิกประจำวงการภาพยนตร์ไทยไปแล้ว นั่นคือ “อย่าตัดสินลำดวนด้วยหน้าตาที่สวยงามเพียงอย่างเดียวสิคะ”

หมายเหตุ

1. ไมเคิล เชาวนาศัย เคยให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่เลือกให้ไอรอนพุสซีออกมาปกป้องเหล่าอะโกโก้บอยว่า “ก็เพราะน้องๆ เหล่านั้นไม่มีใครเป็นปากเป็นเสียงให้เขา ก็ทำงานไปสิ ก็โดนเหยียบย่ำอยู่นั่นแหละ ทำไมคนที่ทำงานอย่างนั้น ซึ่งมันก็ถือว่าเป็นงานสุจริต ไม่ได้ไปลักขโมยใครกิน มีคนปกป้องไม่ได้หรือ” (นิตยสาร Starpics ปักษ์แรก สิงหาคม 2547 หน้า 93)

2. หนึ่งในตระกูลย่อยของหนังสยองขวัญที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงช่วงยุค 1970-1980 คือ Rape/Revenge Films มักเล่าเรื่องเกี่ยวกับชาวเมืองเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนในชนบท แล้วถูกชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง (แน่นอนว่าโดนวาดภาพให้ดูป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม) รุมโทรม ก่อนเธอจะลุกขึ้นแก้แค้นด้วยการไล่ฆ่าพวกมันทีละคน โดยผลงานที่เรียกได้ว่าเป็น “ตัวแม่” ของตระกูลย่อยนี้ ได้แก่ I Spit on Your Grave (เวอร์ชั่นรีเมคกำลังจะเข้าฉาย) Rape/Revenge Film มักสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างสังคมเมืองกับชนบท ผ่านนัยยะว่าสังคมเมืองข่มขืนชนบทในแง่เศรษฐกิจก่อน (กอบโกยทรัพยากร ทำลายล้างทัศนียภาพ) เหล่าคนชนบทจึงต้องแก้แค้นด้วยการข่มขืนคนเมืองในแง่กายภาพ

3. การณ์ปรากฏว่าตัวร้ายสำคัญกลับกลายเป็นคนไทย ส่วนไอออนพุสซีก็แปลงร่างเป็นหญิงสาวสมบูรณ์แบบในบ้านของมาดามปอมปาดอย ราวกับเธอหลุดเข้าไปอยู่อีกมิติหนึ่ง ซึ่งเพศสภาพปรับเปลี่ยนได้ตามใจปรารถนา โดยเฉพาะเมื่อหนังเฉลยปมว่าไอออนพุสซีเป็น “ลูกสาว” ของมาดามปอมปาดอย

4. เป็นที่ทราบกันดีว่านโยบายหนึ่งที่โด่งดังและเรียกคะแนนนิยมได้อย่างท่วมท้นของรัฐบาลทักษิณ ได้แก่ สงครามยาเสพติด จนก่อให้เกิดมายาคติว่ายาเสพติดหมดไปจากประเทศไทยแล้ว แต่อย่างที่ทราบกันดีอีกเช่นกัน เบื้องหลังแรงโหมประชาสัมพันธ์ของฝ่ายรัฐถึงความสำเร็จอันน่ายินดี กลับเต็มไปด้วยคราบเลือด หยาดน้ำตา และการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงผ่านปรากฏการณ์ฆ่าตัดตอนและวิสามัญฆาตกรรมกันอย่างเอิกเกริก (เชื่อว่าจำนวนผู้ตายมีมากถึง 2400 รายในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน) ในหนังผิวได้กล่าวกับไอออนพุสซีว่า หากเธอไม่ยื่นมือมาช่วยเหลือเขาในวันที่เขาเมายาบ้า แล้วจับหญิงคนหนึ่งเป็นตัวประกัน เขาก็อาจตกเป็นเหยื่อการฆ่าตัดตอนไปแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: