วันอาทิตย์, มิถุนายน 14, 2558

Mad Max: Fury Road: คน สัตว์ สิ่งของ


อาจกล่าวได้ว่า Mad Max: Fury Road ไม่เพียงเป็นการรีบูทแฟรนไชส์เก่าแก่อายุ 30 ปีให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักเท่านั้น แต่มันยังถือเป็นการรีบูทศาสตร์แห่งการทำหนังและสร้างอารมณ์ร่วมจากยุคก่อนอีกด้วย แน่นอน การอัพเดทเพื่อความร่วมสมัยคือสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมว่าหนังทุกวันนี้ตัดภาพเร็วขึ้นกว่าสมัยก่อนมากแค่ไหน (The Road Warrior ตัดภาพทั้งหมด 1,200 คัต ส่วน Mad Max: Fury Road ใช้การตัดภาพมากถึง 2,700 คัต) แต่แทนที่จะพึ่งพาเทคนิค คอมพิวเตอร์ กราฟฟิก เป็นหลัก ตลอดจนการตัดภาพแบบรัวเร็ว วุ่นวายเพื่อสร้างภาพลวงของความรู้สึกตื่นเต้นแบบในหนังแอ็กชั่นยุคใหม่ทั่วๆ ไป ผู้กำกับ จอร์จ มิลเลอร์ กลับเน้นความสำคัญไปยังงานสตั๊น การถ่ายทำตามโลเกชั่นจริง และขั้นตอนการทำสตอรีบอร์ด ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการเชื่อมโยงความต่อเนื่องระหว่างช็อตหนึ่งไปสู่อีกช็อตหนึ่ง เพื่อให้คนดูสามารถติดตามแอ็กชั่นและเข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นได้ตลอดเวลา ส่งผลให้ภาพรวมของฉากแอ็กชั่นในหนังนอกจากจะลื่นไหล ชวนติดตามแล้ว ยังให้อารมณ์ค่อนข้างดิบเถื่อน หนักแน่น และสมจริงกว่าบรรดาหนังซูเปอร์ฮีโร่ กรีน สกรีนที่กระจายเกลื่อนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ ในทุกวันนี้

แต่ความโดดเด่นของหนังหาได้จำกัดอยู่แค่งานด้านภาพที่ชวนตะลึงของตากล้องรางวัลออสการ์วัย 72 ปีอย่าง จอห์น ซีล (The English Patient, The Talented Mr. Ripley) และทักษะอันเชี่ยวชาญของมิลเลอร์เท่านั้น เพราะท่ามกลางเรื่องราวซึ่งค่อนข้างเรียบง่ายและแทบจะปราศจากบทสนทนา หนังกลับซุกซ่อนรายละเอียดน่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นทางเพศและสังคมเอาไว้อย่างแนบเนียนอีกด้วย

เปลือกนอกของ Mad Max: Fury Road อาจฉาบกลิ่นอายความเป็นชายเอาไว้คละคลุ้งด้วยฉากขับรถไล่ล่าต่อเนื่องชนิดแทบไม่หยุดให้คนดูได้พักหายใจ ตลอดจนความวินาศสันตะโรอันเกิดจากการทำลาย/พลิกคว่ำยานพาหนะสารพัดชนิดแบบเดียวกับหนังบล็อกบัสเตอร์อย่าง Furious 7 แต่เนื้อในกลับอัดแน่นด้วยแนวคิดสตรีนิยมทั้งแบบที่ปรากฏเป็นรูปธรรมโดดเด่น ชัดเจน และแบบที่ซ่อนลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง (ซึ่งไม่ถือเป็นเรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดเมื่อพิจารณาว่าผู้กำกับ จอร์จ มิลเลอร์ ถึงขั้นจ้างเฟมินิสต์ตัวแม่และคนเขียนบทละครเรื่อง The Vagina Monologues อย่าง อีฟ เอนส์เลอร์ มาเป็นที่ปรึกษาในกองถ่าย) เพราะถึงแม้หนังจะตั้งชื่อตามตามตัวละครเพศชาย แต่ดูเหมือนตัวละครที่คนดูน่าจะจดจำได้มากสุดกลับไม่ใช่ชายหนุ่มผู้ถูกอดีตตามหลอกหลอนอย่าง แม็กซ์ (ทอม ฮาร์ดี้) หากแต่เป็น ฟูริโอซา (ชาร์ลิซ เธรอน) นักรบสาวแขนด้วนที่อึด ถึก แถมยังมีวิญญาณความเป็นแม่ไม่ต่างจาก เอลเลน ริปลีย์ ใน Aliens เธอปกป้องเหล่าเด็กๆ ในสังกัดไม่ต่างจากราชินีเอเลียนปกป้องไข่ และความเข้าใจหัวอกผู้หญิงด้วยกันของเธอก็กลายเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดเรื่องราวการตามล่า จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในท้ายที่สุด

น่าสนใจว่าหนังหาได้นำเสนอเฟมินิสต์ในภาพลักษณ์นักรบหญิงที่เก่งกาจ ห้าวหาญไม่แพ้เพศชาย (แถมมีให้เลือกทั้งวัยสาวและวัยชรา) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาพลักษณ์ซูเปอร์โมเดลหุ่นเป๊ะ หน้าสวย ซึ่งอาจไม่ถนัดการใช้กำลัง แต่ในเวลาเดียวกันก็เหลืออดกับการถูกกดขี่ให้เป็นเพียงแม่พันธุ์ไร้หัวจิตหัวใจ เราไม่ใช่สิ่งของ คือ คำประกาศอิสรภาพของพวกเธอต่อ อิมมอร์ตัน โจ (ฮิวจ์ คียส์-เบิร์น) เจ้าพ่อแห่งซิทาเดล ดินแดนชายเป็นใหญ่บนภูเขาที่ปกครองโดยใช้กำลังและกระบอกปืน โดยนอกจากจะกักขังเมียซูเปอร์โมเดลทั้ง 5 คนไว้สำหรับให้กำเนิดทายาทสืบสกุลแล้ว โจยังมีโรงงานผลิต นมแม่ไว้สำหรับเลี้ยงกองทัพวอร์บอยของเขากับเหล่าผู้นำบนหอคอยสูงให้อิ่มเอมอีกด้วย ผู้หญิงไม่เพียงจะกลายเป็นวัตถุทางเพศเท่านั้น แต่ยังถูกปฏิบัติไม่ต่างจากโคนมในฟาร์มอีกด้วย

ในบรรดาของเหลวสำคัญ 4 อย่างในหนัง นมแม่กับน้ำเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แทนความเป็นหญิง สิ่งแรกน่าจะชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว ส่วนสิ่งหลังหนังได้เชื่อมโยงน้ำกับ กรีนเพลสสถานที่ซึ่งฟูริโอซาตั้งใจจะพาสาวๆ หลบหนีไปพักอาศัย สถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกปกครองโดยเหล่านักรบหญิง อุดมไปด้วยพืชพรรณ อาหาร แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นบึงโคลนที่ไม่สามารถปลูกพืชผักใดๆ ได้เพราะดินเป็นพิษ (นอกจากนี้ ในฉากเปิดตัวบรรดาเมียๆ ของโจ คนดูจะได้เห็นพวกเธอฉีดน้ำล้างทรายออกจากร่างกาย ความเป็นหญิงของพวกเธอถูกเน้นย้ำเด่นชัดผ่านเนื้อผ้าเปียกน้ำที่แนบติดกับครรภ์ใกล้คลอด) ถ้าความเป็นหญิงผูกติดกับการหล่อเลี้ยง (น้ำนม) การให้กำเนิดชีวิต (ผู้หญิงของโจอุ้มทารกไว้ในท้อง ส่วนหนึ่งในกลุ่มคุณย่านักรบก็พกกระเป๋าบรรจุเมล็ดพันธุ์พืชติดตัวไว้ตลอดเพื่อความหวังที่จะสร้างกรีนเพลสขึ้นมาใหม่) ความเป็นชายก็ดูจะผูกติดอยู่กับความรุนแรง พลังอำนาจ และความตาย ดังจะเห็นได้จากการสื่อนัยยะผ่านของเหลวสำคัญอีก 2 อย่าง นั่นคือ เลือดและน้ำมัน

แม็กซ์ถูกจับมาเป็น ถุงเลือดเพื่อขับเคลื่อนเหล่าวอร์บอยที่ป่วยให้กลับมาทำสงครามเพื่อแย่งชิงน้ำมันได้อีกครั้ง น้ำมันเป็นขุมพลังสำหรับขับเคลื่อนเครื่องจักรและกองทัพรถยนต์ให้พุ่งทะยานไปข้างหน้า โดยในฉากหนึ่งคนดูจะเห็นตัวละครชายถูกเปลี่ยนสภาพเป็นเครื่องจักรด้วยการพ่นน้ำมันใส่เครื่องยนต์เพื่อเพิ่มความแรงให้กับรถของตน (ในทางตรงกันข้าม น้ำกลับกลายเป็นตัวถ่วงความเร็ว ทำให้รถต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่) “โลกของผมคือไฟและเลือดเสียงวอยซ์โอเวอร์ของแม็กซ์ในช่วงต้นเรื่องช่วยเกริ่นนำคนดูให้รู้จักกับโลกแห่งชายเป็นใหญ่ ที่เต็มไปด้วยความคลุ้มคลั่ง ความเร็ว ความรุนแรง โดยส่วนหนึ่งสะท้อนผ่านบรรดาอุปกรณ์ประกอบฉากทั้งหลายในธีมเหล็กกับหัวกะโหลก รวมเลยไปถึงการใช้กีตาร์ไฟฟ้าที่สามารถพ่นไฟได้สำหรับเล่นเพลงร็อคเพื่อปลุกระดมเหล่าทหารในสนามรบ

ความน่ากลัวที่แท้จริงของโลกอนาคตจากจินตนาการของ จอร์จ มิลเลอร์ หาใช่ภาวะขาดแคลนน้ำและอาหาร หรือทะเลทรายกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา หรือสภาพอากาศที่โหดร้ายทารุณ แต่เป็นความรุนแรง ป่าเถื่อนจากเงื้อมมือมนุษย์ด้วยกันเองต่างหาก คำถามสำคัญจึงไม่ใช่เราจะเอาชีวิตรอดจากสภาพแวดล้อมอันแห้งแล้งได้อย่างไร แต่เป็นเราจะเอาชีวิตรอดจากเงื้อมมือของมนุษย์ด้วยกันได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่น่าแปลกที่หนังของมิลเลอร์ไม่เพียงจะอุดมไปด้วยตัวละครที่พิกลพิการ หรือมีสภาพร่างกายผิดปกติเท่านั้น แต่หลายคนยังผุพังทางด้านจิตใจอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาวอร์บอยที่ถูกล้างสมองด้วยลัทธิความเชื่อให้กลายเป็นสัตว์สงคราม มืดบอดต่อความเป็นไปอื่นใดนอกเหนือจากการพลีชีพในสนามรบ พวกเขาเป็น สิ่งของ ในแบบเดียวกับสาวสวยทั้ง 5 เพียงแต่มีเป้าหมายตรงข้ามกัน นั่นคือ กลุ่มหนึ่งมีไว้สำหรับทำลายล้าง ส่วนอีกกลุ่มมีไว้สำหรับให้กำเนิด

อย่างไรก็ตาม มิลเลอร์ยังคงมีความหวังหลงเหลืออยู่สำหรับมนุษย์ ดังจะเห็นได้จากพัฒนาการของตัวละครเอกเพศชายทั้งสองคนในเรื่องอย่างแม็กซ์ และ นักซ์ (นิโคลัส โฮลท์) โดยคนแรกตกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากสัตว์ หลังไม่อาจปกป้องลูกเมียจากความป่าเถื่อน ก่อนจะใช้ชีวิตที่เหลือต่อมาดิ้นรนเพียงเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง (ในฉากเปิดตัวแม็กซ์ คนดูจะเห็นเขาในสภาพผมเผ้ารุงรังและจับตุ๊กแกสองหัวกินแบบสดๆ) ส่วนคนหลังถือเป็นผลิตผลจากโลกที่บ้าคลั่ง และจิตสำนึกของเขาตระหนักรู้อยู่เพียงสองสิ่ง นั่นคือ สงครามกับความตาย แต่สุดท้ายเมื่อทั้งสองเรียนรู้ที่จะต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับกลุ่มผู้หญิง แม็กซ์ก็สามารถทวงคืนมนุษยธรรมกลับมาได้ (ในฉากหนึ่งเราจะเห็นแม็กซ์ใช้น้ำนมแม่ล้างเลือดจากใบหน้า) ส่วนนักซ์เองก็ได้ค้นพบมันเป็นครั้งแรก

ขณะเดียวกันด้วยความช่วยเหลือของแม็กซ์ ฟูริโอซาก็พลันตระหนักว่าอีเดนที่แท้จริงนั้นหลงเหลืออยู่แค่ในความฝัน แรงผลักดันจากความทรงจำวัยเด็กทำให้เธอขับผ่านโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อปรากฏว่ากรีนเพลส หรือโลกที่ปราศจากเพศชายนั้นปัจจุบันมีสภาพเป็นเหมือนบึงโคลนที่สิ่งมีชีวิตไม่อาจดำรงอยู่ได้ ความหวังเป็นความผิดพลาดแม็กซ์เตือนฟูริโอซา เมื่อเธอตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้าด้วยการขับรถข้ามทะเลเกลือด้วยความหวังว่าอาจจะพบกรีนเพลสแห่งใหม่ ทั้งนี้เพราะโลกในอุดมคตินั้นไม่เคยมีอยู่จริง แต่เราสามารถจะซ่อมแซมและเปลี่ยนแปลงโลกผุๆ พังๆ ใบเก่าให้ดีขึ้นได้ เริ่มต้นด้วยการโค่นล้มอำนาจเผด็จการของ อิมมอร์ตัน โจ แล้วปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ชนิดใหม่ให้กับสังคม ฉากไคล์แม็กซ์ของ Mad Max: Fury Road ไม่ได้น่าตื่นเต้นเพียงเพราะความอลังการงานสร้าง หรือความผาดโผน เปี่ยมจินตนาการของผลงานสตั๊นเท่านั้น แต่เป็นเพราะเหล่าตัวละครทั้งชายและหญิงที่คนดูลุ้นเอาใจช่วยมาตลอดตัดสินใจที่จะผนึกกำลังกันเป็นครั้งแรกไม่ใช่เพื่อหลบหนีจากความโหดเหี้ยม ทารุณ แต่เพื่อลุกขึ้นต่อกรกับความอยุติธรรม

ในฉากสุดท้ายของหนัง บรรดาแม่นมได้เฉลิมฉลองจุดจบของโจด้วยการปล่อยน้ำให้แก่เหล่าประชากรผู้อดอยาก ชัยชนะของฟูริโอซาไม่เพียงจะช่วยปลดปล่อยซิทาเดลให้เป็นอิสระจากอำนาจเผด็จการเท่านั้น แต่ยังชำระคราบเลือดและน้ำมันออกจากสังคมที่กระหายสงคราม ความรุนแรง และลดทอนความเป็นคนอีกด้วย เช่นเดียวกับโดโรธีใน The Wizard of Oz ฟูริโอซาออกเดินทางไปค้นหาโลกแห่งความฝัน ดินแดนที่อยู่เหนือสายรุ้ง เธอต้องฟันฝ่าผ่านพายุลูกใหญ่ ตลอดจนภยันตรายอีกมากมายก่อนสุดท้ายจะค้นพบว่าดินแดนดังกล่าวเป็นเพียงภาพลวงตา เป็นความทรงจำที่ไม่อาจกลายเป็นจริงได้ ฉะนั้นเธอจึงไขว่คว้าเศษซากที่หลงเหลืออยู่ (เหล่านักรบรุ่นคุณแม่ คุณยายและเมล็ดพันธุ์ทั้งหลาย) แล้วเดินทางกลับมายังโลกที่ป่วยไข้ใบเดิมเพื่อพยายามเยียวยามันให้แข็งแรงขึ้น... และทำให้มันกลายเป็น บ้านที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข 

ไม่มีความคิดเห็น: