วันอาทิตย์, มิถุนายน 14, 2558

Director's Profile: ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์


ตอนที่ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ อายุ 28 ปี เขาได้รวบรวมเพื่อนๆ ในเมืองบ้านเกิด (ออสติน รัฐเท็กซัส) มาช่วยกันถ่ายหนังทุนต่ำ (23,000 เหรียญ) เรื่องหนึ่งซึ่งปราศจากพล็อตและดำเนินเหตุการณ์ภายในหนึ่งวัน เกี่ยวกับกลุ่มคนที่วันๆ ไม่ทำอะไรนอกจากพูดคุยเกี่ยวกับชีวิต อวกาศ และทฤษฎีสมคบคิด Slacker เปิดฉายที่เทศกาลหนังซันแดนซ์สองปีหลังจาก Sex, Lies, And Videotape ของ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก และหนึ่งปีก่อนหน้า Reservoir Dogs ของ เควนติน ตารันติโน มันได้รับการยกย่องอย่างสูงและกลายเป็นภาพยนตร์คัลท์คลาสสิกในเวลาต่อมา ส่วนลิงค์เลเตอร์ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับรุ่นบุกเบิกที่ช่วยผลักดันกระแส อเมริกันอินดี้ให้ได้ลืมตาอ้าปาก กลายเป็นที่จับตามองของทุกคน

การผันตัวไปเป็นมือปืนรับจ้างให้กับสตูดิโอฮอลลีวู้ดของลิงค์เลเตอร์ในเวลาต่อมาลงเอยด้วยผลลัพธ์ลุ่มๆ ดอนๆ บางเรื่องกลายเป็นหนังฮิต เช่น School of Rock บางเรื่องกลับกลายเป็นหนังที่ทุกฝ่ายอยากจะลืม เช่น The Newton Boys แต่เมื่อใดก็ตามที่ลิงค์เลเตอร์ทำหนังอิสระแบบที่เขาอยากทำจริงๆ ส่วนใหญ่มักลงเอยด้วยมนตร์เสน่ห์แสนงดงาม ดังจะเห็นได้จากหนังชุด Before Trilogy ซึ่งถ่ายทำโดยทิ้งเวลาห่างกันเรื่องละ 9 ปี ดำเนินเหตุการณ์ภายในหนึ่งวันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงคู่หนึ่ง เริ่มต้นจากเมื่อครั้งที่พวกเขาตกหลุมรักและแยกทางกัน (Before Sunrise) ก่อนต่อมาจะได้พบเจอกันอีกครั้ง แล้วตระหนักว่ารสชาติหอมหวานแห่งรักนั้นหาได้จืดจางลงแต่อย่างใด (Before Sunset) จนในที่สุดจึงตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกันท่ามกลางอุปสรรคและความคับข้องใจ (Before Midnight) หนังทั้งสามเรื่องประสบความสำเร็จอย่างสูง และช่วยสะท้อน รูปแบบหนังอินดี้ของลิงค์เลเตอร์ให้เด่นชัดขึ้น กล่าวคือ พวกมันมักจะอัดแน่นไปด้วยบทสนทนาซึ่งมีความสมจริง ใกล้เคียงกับสิ่งที่คนทั่วๆ ไปพูดคุยกันในชีวิตประจำวัน (ตรงนี้จะแตกต่างจากบทสนทนาในหนังของ เควนติน ตารันติโน ซึ่งมักสอดแทรกความยอกย้อน เล่นลิ้น คมคายในแบบวรรณกรรม) ผ่านหัวข้อหลากหลายตั้งแต่ปรัชญา ความรัก ไปจนถึงการดำรงอยู่ของชีวิต ขณะเดียวกันเรื่องราว (ถ้าพอจะมีอยู่บ้าง) และตัวละครของเขาก็จะไม่ผูกติดกับการเล่าเรื่องแบบคลาสสิกของฮอลลีวู้ด แต่ใกล้เคียงกับหนังอาร์ตของฝั่งยุโรปมากกว่า

แม้ว่าหนังของลิงค์เลเตอร์หลายเรื่องจะเข้าข่าย พูดมากแต่รวมๆ แล้วมันกลับไม่เคยน่าเบื่อ หรือน่ารำคาญ ทั้งนี้เพราะสิ่งที่ตัวละครเหล่านั้นพูดคุยนั้นล้วนมีความน่าสนใจ เปี่ยมอารมณ์ขัน และสามารถสร้างอารมณ์ร่วมกับผู้คนได้โดยปราศจากกำแพงทางวัฒนธรรม หรือเชื้อชาติ นอกจากนี้ลิงค์เลเตอร์ยังจับอารมณ์ร่วมแห่งยุคสมัยได้อย่างแม่นยำ เช่น แก่นสารแห่งชีวิตของวัยรุ่น Gen X ในหนังอย่าง Slacker และ Dazed and Confused ซึ่งปรารถนาจะใช้เวลาว่างในการสังสรรค์ เชื่อมโยงกับเพื่อนรุ่นเดียวกันแทนการแสวงหาความก้าวหน้าทางด้านอาชีพ และหลายครั้งหนังของเขาจะสะท้อนภาวะอันเป็นสากลซึ่งทุกคนล้วนเคยประสบพบพานมาแล้วอย่างงดงาม ไม่ว่าจะเป็นภาวะการตกหลุมรักใครสักคนแบบใน Before Trilogy หรือการก้าวข้ามจากช่วงวัยเด็กสู่วัยรุ่น จากวัยหนุ่มสาวเปี่ยมความฝันสู่วัยผู้ใหญ่เปี่ยมภาระและความรับผิดชอบแบบใน Boyhood ผลงานมาสเตอร์พีซชิ้นล่าสุดของเขา ซึ่งใช้เวลาถ่ายทำ 12 ปีในการจับภาพช่วงเปลี่ยนผ่านของตัวละคร ตลอดจนยุคสมัยในอเมริกาจากรัฐบาลบุชมาถึงรัฐบาลโอบามา

ธีมที่ปรากฏเด่นชัดในหนังของลิงค์เลเตอร์เสมอมา คือ การผันผ่านของเวลา และอารมณ์ถวิลหาก็เป็นสิ่งที่คอยหลอกหลอนอยู่ในผลงานแทบทุกเรื่อง ดังจะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งหนึ่งในหนังที่โรแมนติกที่สุดเรื่องหนึ่งของโลกภาพยนตร์อย่าง Before Sunrise ก็ยังสรุปตบท้ายด้วยซีเควนซ์แสนเศร้า ขมขื่น และกระทบจิตใจอย่างรุนแรง นั่นคือ ภาพสถานที่ต่างๆ ซึ่งสองคู่รักได้แวะเยี่ยมชมตลอดหนึ่งคืนที่ผ่านมา แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นแค่อดีตที่ไม่อาจเรียกคืน เป็นภาพบันทึกในความทรงจำของช่วงเวลาอันแสนพิเศษ อารมณ์ถวิลหาดังกล่าวพบเห็นได้บ่อยครั้งในหนังอย่าง Dazed and Confused, Waking Life และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Boyhood กระนั้นลิงค์เลเตอร์ก็มีรสนิยมพอที่จะไม่ได้ตอกย้ำ หรือบีบเค้นทางอารมณ์ แต่กลับปล่อยให้มันผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านเลยไป เช่น ฉากที่เด็กชายต้องลบรอยวัดความสูงของตนบนกำแพงก่อนจะย้ายบ้านไปอยู่อีกเมืองหนึ่ง ฉากเล็กๆ น้อยๆ แต่ละเอียดอ่อนในแง่อารมณ์เหล่านี้ถือเป็นเสน่ห์สูงสุดในหนังของลิงค์เลเตอร์ เพราะมันช่วยปลุกกระตุ้นความสุข ความเจ็บปวด ความยุ่งยากในชีวิตเราให้แจ่มชัดขึ้น และขณะเดียวกันก็ทำให้เราตระหนักถึงความงามที่พบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน 

ไม่มีความคิดเห็น: