วันอาทิตย์, มิถุนายน 14, 2558

Director's Profile: แคธรีน บิเกโลว์


เป็นเวลานานกว่าทศวรรษที่ แคธลีน บิเกโลว์ ไม่อาจเติมเต็มศักยภาพซึ่งฉายแววเด่นชัดจากหนังเรื่องแรกๆ แล้ววนเวียนอยู่กับการผลิตผลงานที่ไม่น่าจดจำนับจากหนังแอ็กชั่น-ไซไฟอันน่าตื่นเต้นอย่าง Strange Days เข้าฉายในปี 1995จนกระทั่งเธอสามารถคัมแบ็คได้อย่างเอิกเกริกกับ The Hurt Locker และสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นผู้กำกับหญิงคนแรกที่คว้ารางวัลออสการ์มาครอง จากนั้นก็พิสูจน์ให้เห็นว่าความสำเร็จดังกล่าวไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใดด้วยการสร้างหนังที่ใหญ่ขึ้น ซับซ้อนขึ้น และทะเยอทะยานขึ้นอย่าง Zero Dark Thirty อันที่จริงตลอดช่วงเวลาดังกล่าว บิเกโลว์ไม่ได้ปลีกวิเวกไปอาศัยอยู่ในป่าหรืออะไร เธอยังคงกำกับซีรีย์ชุด Homicide และ Karen Sisco อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่โครงการสร้างหนังของเธอค่อนข้างส่วนตัว (K-19: The Widowmaker) หรือล้มเหลวในแง่คุณภาพ (The Weight of Water) เกินกว่าจะประสบความสำเร็จ

ในช่วงเริ่มต้นอาชีพผู้กำกับ ผลงานกระแสหลักของบิเกโลว์บ่อยครั้งจะโฟกัสไปยังกลุ่มผู้ชายที่นิยมความรุนแรง อาทิ แก๊งมอเตอร์ไซค์ใน The Loveless และกลุ่มนักเล่นกระดานโต้คลื่นที่มีอาชีพหลักเป็นโจรปล้นธนาคารใน Point Break แต่ถึงแม้พวกมันจะเป็นหนังดรามา/แอ็กชั่น คนดูก็ยังสามารถตระหนักถึงกลิ่นอายเฟมินิสต์ได้จางๆ ผ่านนัยยะเชิงโฮโมอีโรติก หรือการสอดแทรกตัวละครหญิงแกร่งในมาดทอมบอยที่ถนัดการใช้ปืนไม่แพ้พวกผู้ชาย ความแตกต่างของบิเกโลว์จากผู้กำกับหญิงคนอื่นๆ นอกจากเหนือจากข้อเท็จจริงที่ว่าเธอนิยมทำหนังแนว แมนๆไม่ใช่พีเรียดดรามา หรือโรแมนติกคอมเมดี้ ก็คือ เธอมักจะหลีกเลี่ยงการบีบเค้นทางอารมณ์ แล้วนำเสนอทุกเหตุการณ์ด้วยท่าทีจริงจัง หนักแน่น แม้กระทั่งเมื่อตัวละครเอกของเธอเป็นผู้หญิงดังจะเห็นได้จาก Zero Dark Thirty

โดยปกติแล้วหนังสงครามนิยมจะแสดงจุดยืนด้วยการสะท้อนความไร้สาระของสงคราม หรือผลกระทบของมันต่อจิตวิญญาณมนุษย์ แต่หนังสงครามของบิเกโลว์กลับไม่พยายามจะบ่งบอกสาระสำคัญใดๆ เช่นเดียวกับไม่แสดงจุดยืนทางด้านศีลธรรมที่ชัดเจน (ซึ่งนั่นทำให้หนังถูกโจมตีจากหลายด้าน) Zero Dark Thirty ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังนั่งดูหนังสารคดีเกี่ยวกับขั้นตอนสืบสวนของตำรวจ เริ่มจากการสืบเบาะแส เจอทางตัน โดนกดดันจากเบื้องบน ก่อนสุดท้ายจะลงเอยด้วยการคลี่คลายคดีได้ในที่สุด บิเกโลว์ขับเคลื่อนเรื่องราวให้เดินหน้าอยู่ตลอดเวลา กระตุ้นคนดูให้ตระหนักถึงความเสี่ยง ตลอดจนราคาที่ต้องเสียหากภารกิจล้มเหลว เธอนิยมให้ความสำคัญกับรายละเอียดปลีกย่อยภายใต้สถานการณ์คับขันมากกว่าจะเน้นย้ำผลกระทบในภาพรวม ทั้ง The Hurt Locker และ Zero Dark Thirty เธอเลือกถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสายตาของคนๆ เดียว พวกเขาปราศจากอดีตและอนาคต ไม่มีชีวิตนอกเหนือไปจากภารกิจที่ได้รับมอบหมายในสนามรบ พวกเขาเป็นเหมือนเครื่องจักรที่จะไม่ยอมหยุดทำงานจนกว่าร่างกายจะแหลกสลาย เป็นนักรบที่เหมาะสำหรับการต่อสู้ในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ทั้งนี้เพราะพวกเขาถูกสร้างมาไม่แตกต่างจากบรรดาผู้ก่อการร้าย พวกเขาโดดเดี่ยว มุ่งมั่น และบ้าระห่ำเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

ทักษะการเล่าเรื่องอันช่ำชองของบิเกโลว์ในการลำดับเหตุการณ์ แจกแจกรายละเอียดทีละขั้นตอนช่วยให้คนดูรู้สึกตื่นเต้น และตึงเครียดราวกับได้มีส่วนร่วมไปพร้อมๆ กับตัวละคร แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลงานของบิเกโลว์ก้าวข้ามความบันเทิงชั้นยอดไปอีกระดับ คือ วิธีที่เธอถ่ายทอดทุกอย่างแบบตรงไปตรงมา โดยไม่แสดงทีท่าตัดสิน หรือเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นฉากทรมานนักโทษอันอื้อฉาวในช่วงต้นเรื่อง หรือฉากบุกเข้าไปจับตัว อุซามะฮ์ บิน ลาดิน ในช่วงไคล์แม็กซ์ของ Zero Dark Thirty มันช่วยผลักดันให้คนดูทบทวนความรู้สึกของตนต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเบื้องหน้าอย่างถี่ถ้วน แน่นอนฉากสุดท้ายของหนังให้บรรยากาศของชัยชนะ แต่บิเกโลว์กลับไม่เชิญชวนให้คนดูได้โห่ร้อง ตะโกนเชียร์เหมือนหนังสงครามทั่วไป หรือกระทั่งรู้สึกหดหู่ โกรธแค้น เธอเพียงเชิญชวนให้คนดูได้ตระหนักรับรู้ และความรู้สึกอึดอัด ตะขิดตะขวงใจที่เกิดขึ้น (จริงอยู่คนเหล่านั้นเป็นผู้ก่อการร้าย แต่พวกเขาก็เป็นพ่อและเป็นสามีของคนอีกหลายคน) ก็สะท้อนอารมณ์ร่วมแห่งอเมริกันชนต่อสงครามในครั้งนี้ได้อย่างแจ่มชัด 

ไม่มีความคิดเห็น: