วันเสาร์, พฤษภาคม 19, 2561

I Am Not Your Negro: กระจกสะท้อนสังคม


หากมองโดยโครงสร้างแล้ว I Am Not Your Negro ไม่ใช่หนังสารคดีที่มุ่งเน้นเล่าเรื่องราว หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งแบบที่นักดูหนังส่วนใหญ่คุ้นเคย อาจใกล้เคียงความจริงกว่าหากจะพูดว่านี่เป็น เรียงความภาพเคลื่อนไหว อ้างอิงไปถึงบุคคลจริงและเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ ผ่านคลิปข่าว รายการทีวี บทสัมภาษณ์ ฯลฯ พร้อมเสียงบรรยายจากงานเขียน หรือจดหมายของ เจมส์ บอลด์วิน นักเขียน นักวิจารณ์สังคมแห่งยุค 60 โดยสิ่งที่ใช้ผูกพัน เชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกันคือประเด็นเกี่ยวกับการเหยียดสีผิวในอเมริกา รวมเลยไปถึงการตั้งคำถามว่าทำไมมันถึงยังคงอยู่ และส่งผลกระทบอย่างไรต่อประชาชนในระดับปัจเจก ไปจนถึงภาพรวมของประเทศ ประวัติศาสตร์ของนิโกรในอเมริกาคือเรื่องราวของอเมริกาบอลด์วินกล่าว และมันก็ไม่ใช่เรื่องราวที่สวยงาม

หรืออาจกล่าวได้ว่าผลงานกำกับของ ราอูล เพค เป็นหนังเกี่ยวกับ เจมส์ บอลด์วิน แต่ไม่ใช่ในความหมายของการแจกแจงประวัติ ความเป็นมาแบบหนังสารคดี biopic แต่เป็นภาพสะท้อนความคิด ทัศนคติเกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างคนขาวกับคนดำ ซึ่งมักจะเป็นธีมหลักในงานเขียนชิ้นเอกหลายเรื่องของเขา เสียมากกว่า ฉะนั้นใครก็ตามที่คาดหวังว่าจะเห็นลำดับเหตุการณ์แบบเป็นขั้นเป็นตอน ไล่เรียงจากหนึ่งไปสองไปสามเพื่อโน้มนำไปสู่ไคล์แม็กซ์ หรือจุดคลี่คลายในที่สุดคงต้องพบกับความผิดหวังเพราะหนังมีรูปแบบคล้ายงานเขียนกระแสสำนึก ให้อารมณ์สไตล์บทกวีรำพึงรำพัน ตั้งข้อสังเกตที่ลึกซึ้ง น่าสนใจ แต่ไม่นำไปสู่บทสรุป หรือคำตอบที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม หนังใช่ว่าจะขาดเส้นเรื่องเสียทีเดียว คำบรรยายเปิดตัวอธิบายว่าหนังมีจุดเริ่มต้นจากแผนของบอลด์วินในปี 1979  ที่จะเขียนหนังสือชื่อ Remember This House เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของอเมริกาผ่านชีวิตของเพื่อนสามคนที่ถูกฆาตกรรมของเขา ได้แก่ เมดการ์ เอเวอร์ส, มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ และ มัลคอล์ม เอ็กซ์ ซึ่งเขาเขียนไปได้แค่ 30 หน้าและไม่ได้เขียนต่อจนจบ แต่ดังที่กล่าวไปข้างต้น อย่าคาดหวังว่าจะได้เห็นการชี้แจง หรือให้ข้อมูลรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับการตายของทั้งสามคนนั้น ตรงกันข้าม หนังเลือกจะเล่าผ่านมุมมองของบอลด์วินว่าเขาอยู่ไหน ขณะได้รับแจ้งข่าวร้ายดังกล่าว โดยในกรณีของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ดูเหมือนจะมีอารมณ์ขันขื่น หรือการเล่นตลกยอกย้อนของชะตากรรมแฝงอยู่ไม่น้อย เนื่องจากบอลด์วินได้รับแจ้งข่าวร้ายตอนอยู่ฮอลลีวู้ดขณะกำลังวางแผนเขียนบทหนังชีวประวัติ มัลคอล์ม เอ็กซ์ ซึ่งถูกยิงลอบสังหารไปเมื่อสามปีก่อน

ผ่านการตัดภาพมายังเหตุการณ์จลาจลในปัจจุบันเป็นระยะ หนังได้สื่อความหมายให้เห็นว่าแม้เวลาจะผ่านไป 50 ปีแล้ว คนผิวดำในอเมริกายังถูกล่วงละเมิดสิทธิ์ ถูกจับขังคุก ถูกยิงตาย ถูกตำรวจรุมซ้อม และขณะเดียวกันก็ยังมีคนผิวขาวอีกจำนวนไม่น้อยที่อยากฆ่าพวกเขา ความเจ็บปวด ด้านชา แบบที่บอลด์วินรู้สึกในทุกครั้งที่ได้ทราบข่าวการตายของเพื่อนทั้งสามคนยังไม่จางหายไปไหน บอลด์วินเข้าใจดีว่าคนและเหตุการณ์อาจเปลี่ยนแปลงได้ เช่น เมื่อหนังตัดภาพมายัง บารัค โอบามา ก้าวขึ้นรับตำแหน่งตามคำทำนายของ โรเบิร์ต เคนเนดี้ (ซึ่งบอลด์วินจิกกัดไว้อย่างเจ็บแสบว่า จากมุมมองในร้านตัดผมย่านฮาร์เล็ม บ็อบบี้ เคนเนดี้ เพิ่งมาถึงเมื่อวานนี้ แต่เขากำลังจะได้เป็นประธานาธิบดี เรา (คนผิวดำ) อยู่นี่มา 400 ปี แต่เขาดันมีหน้ามาบอกว่า ไม่แน่อีก 40 ปีถ้าคุณทำตัวดี เราอาจให้คุณได้เป็นประธานาธิบดี”) ทว่าอุดมการณ์ความคิดเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติ สีผิวยังคงปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง และถ้าบอลด์วินยังมีชีวิตอยู่มาถึงปัจจุบัน เขาก็คงไม่แปลกใจกับการก้าวขึ้นสู่อำนาจของบุคคลอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ เลยแม้แต่น้อย

ในช่วงต้นเรื่องหนังตัดคลิปสัมภาษณ์บอลด์วินจากรายการทีวีของ ดิ๊ก คาเว็ตต์ ในปี 1968 เมื่อพิธีกรถามว่าทำไมคนดำถึงไม่รู้จักมองโลกในแง่ดีในเมื่อทุกอย่างพัฒนาขึ้นมากแล้ว มีนายกเทศมนตรีนิโกร นักกีฬานิโกร นักการเมืองนิโกร หรือกระทั่งพรีเซนเตอร์โฆษณา จริงอยู่อาจยังมีปัญหาขัดแย้งอยู่บ้าง แต่ความก้าวหน้าเหล่านี้เป็นเรื่องควรเฉลิมฉลองมิใช่หรือ คำถามไม่เกี่ยวกับว่าเกิดอะไรขึ้นกับนิโกรที่นี่ หรือเกิดอะไรขึ้นกับคนผิวดำที่นี่ นั่นเป็นคำถามที่ผมเข้าใจถ่องแท้ บอลด์วินตอบในรายการ แต่คำถามที่แท้จริง คือ เกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ และตลอดหนึ่งชั่วโมงกว่านับจากนั้น I Am Not Your Negro ก็สะท้อนให้เห็นว่าทำไมถึงไม่มีการเฉลิมฉลอง

เกิดอะไรขึ้นกับนิโกรที่นี่ บอลด์วินวาดภาพให้เห็นปัญหาซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็กผ่านประสบการณ์ส่วนตัวของเขา การเติบโตมากับหนังคาวบอยที่ จอห์น เวย์น และ แกรี คูเปอร์ นำแสดง โดยไม่ทันตระหนักด้วยไม่รู้ประสีประสาว่าตัวเองนั้นหาใช่ ฮีโร่ในหนัง แต่เป็นอินเดียนแดงซึ่งถูกตัวเอกไล่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่างหาก มันชวนตื่นตระหนกไม่น้อยเมื่อคุณค้นพบว่าระบบในประเทศที่คุณถือกำเนิด ใช้ชีวิต และสร้างตัวตน กลับไม่เหลือที่ทางใดๆ ให้คุณยืนหยัดอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นคน เขาไม่รู้สึก อินกับตัวละครผิวดำในหนัง เพราะส่วนใหญ่ล้วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นแค่ตัวตลกมอบความบันเทิง คนเดียวที่สะท้อนอารมณ์ของคนผิวดำได้อย่างชัดเจน คือ ตัวละครภารโรงในหนังเรื่อง They Won’t Forget (1937) ซึ่งหวาดวิตกว่าจะกลายเป็นแพะรับบาปหลังเด็กหญิงผิวขาวในเมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ถูกฆ่าข่มขืน และศพเธอถูกพบในโรงเรียนที่เขาเป็นคนดูแล

นี่คือข้อเท็จจริงของการเกิดมาเป็นคนผิวดำในอเมริกา ยังไม่รวมไปถึงสิ่งที่ โดโรธี เคาน์ทส์ เด็กหญิงวัย 15 ปี ต้องเผชิญเมื่อเธอเดินทางไปโรงเรียนในชาร์ล็อต รัฐนอร์ธแคโรไลนาท่ามกลางเสียงก่นด่าจากม็อบเด็กผิวขาว ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้เด็กผิวดำสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนของคนผิวขาวได้ ความอยุติธรรมและสองมาตรฐานเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทุกเมื่อเชื่อวันถ้าคุณเกิดเป็นคนผิวดำในอเมริกา เพราะคุณไม่ใช่แค่พลเมืองชั้นสอง แต่บางครั้งกลับถูกมองว่าเป็นเพียงแค่สินค้าที่สามารถซื้อขาย หรือจับแขวนคอกับต้นไม้ได้ตามอำเภอใจ ความทุกข์ทรมานบ่มเพาะเนิ่นนานจนกลายเป็นความเคียดแค้น คนผิวดำที่มองโลกในแบบเดียวกับ จอห์น เวย์น ลุกขึ้นหยิบจับอาวุธเพื่อต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพ ไม่ใช่ฮีโร่ผู้รักชาติ แต่จะถูกมองว่าเป็นหมาบ้า เป็นอาชญากรที่ต้องกำจัดโดยเร็ว ดังจะเห็นได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับ มัลคอล์ม เอ็กซ์ ถ้าเราเป็นคนขาว ถ้าเราเป็นไอริช เป็นคนยิว หรือชาวโปล ถ้าเราเป็นคนเท่ากันในสายตาคุณ(คนขาว) ฮีโร่ของเราก็คือฮีโร่ของคุณเช่นกัน เน็ด เทอร์เนอร์ จะเป็นฮีโร่ ไม่ใช่ภัยคุกคาม มัลคอล์ม เอ็กซ์ อาจยังมีชีวิตอยู่

หนึ่งในฉากที่น่าเศร้าที่สุดฉากหนึ่งของหนังเป็นตอนที่บอลด์วินเล่าถึงเด็กสาวผมบลอนด์ ซึ่งเขารู้จักในย่านเดอะวิลเลจ แต่ไม่เคยเดินไปไหนมาไหนด้วยกัน เพราะต่างคนต่างตระหนักดีว่ามันปลอดภัยกว่าถ้าเธอเดินคนเดียวแทนที่จะเดินกับชายผิวดำอย่างเขา นั่นคือความจริงอันโหดร้ายและน่าละอาย แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นทุกวันในประเทศอเมริกา ความสัมพันธ์ในระดับปัจเจกถูกทำลาย ถูกปิดกั้นตั้งแต่แรกเริ่ม เช่นเดียวกับการที่ครูผิวขาวของบอลด์วิน คนที่ช่วยปลูกฝังให้เขาไม่นึกเกลียดชังคนผิวขาวทั้งหมด ถูกปฏิบัติราวกับเป็นนิโกรโดยเฉพาะจากบรรดาตำรวจ เพียงเพราะเธอมอบความเมตตาและความเท่าเทียมให้กับเด็กต่างสีผิว คนผิวดำถูกจับแยก ถูกปฏิบัติด้วยมาตรฐานอีกชุดหนึ่ง ซึ่งคนที่เติบโตมาพร้อมสิทธิพิเศษย่อมไม่เข้าใจความรู้สึกของการเดินกลับจากโรงเรียนในย่านฮาเร็ม หรือบางทีที่พวกเขาไม่เข้าใจเพราะพวกเขาไม่ต้องการจะเข้าใจ ไม่ต้องการรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในอีกด้านของกำแพง การเหยียดเชื้อชาติ สีผิว หรือแม้แต่รสนิยมทางเพศมักจะจับมือควบคู่กับความไม่รู้เรื่องรู้ราว หรือการมุดหัวอยู่แต่ในกะลา

นั่นกลายเป็นที่มาของคำถามอันมืดบอดของ ดิ๊ก คาร์เว็ตต์ ในช่วงต้นเรื่อง และข้อขัดแย้งของศาสตราจารย์ พอล ไวส์ ที่สอนปรัชญาอยู่มหาวิทยาลัยเยล เขากล่าวหาบอลด์วินว่ามองทุกอย่างเป็นเรื่องสีผิว แบ่งคนเข้ากลุ่มทั้งที่ยังมีอีกหลายทางที่จะเชื่อมโยงมนุษย์เข้าหากัน แน่นอน พอล ไวส์ ถูกตอกกลับอย่างเจ็บแสบชนิดหน้าหงาย เมื่อบอลด์วินตอกย้ำให้เห็นว่าเขาสามารถพูดแบบนั้นได้ เนื่องจากเขาเกิดมาพร้อมสิทธิพิเศษของการเป็นคนผิวขาว เขาไม่ต้องคอยพะวงว่าจะโดนฆ่าตาย หรือถูกซ้อมในทุกย่างก้าว และสถาบัน ตลอดจนระบบทุกอย่างรอบข้างล้วนสนับสนุนการแบ่งแยก การกีดกัน เช่นนี้แล้วคุณจะให้ผมอาศัยแค่ศรัทธา เสี่ยงชีวิตของตัวเอง ของภรรยา ของน้องสาว ของลูกๆ ยึดมั่นในอุดมคติที่คุณยืนกรานว่ามีอยู่จริงในอเมริกา แต่ผมไม่เคยเห็นเลยอย่างนั้นเหรอ

อาจกล่าวได้ว่า I Am Not Your Negro เป็นหนังที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนขาวดูมากกว่าคนดำ (นั่นอาจใช้อธิบายงานเขียนหลายชิ้นของ เจมส์ บอลด์วิน ได้เช่นกันเพราะมันถูกยกย่องอย่างสูงในหมู่ลิเบอรัลผิวขาวยิ่งกว่าในหมู่คนผิวดำเสียอีก) แต่มันไม่ใช่หนังเพื่อการปลอบประโลมคนขาวแบบเดียวกับ Uncle Tom’s Cabin (1927) หรือ The Defiant Ones (1958) ว่าถึงแม้พวกเขา (คนขาว) จะทำผิดพลาดไปบ้าง แต่ก็ไม่สมควรถูกเกลียดชัง บอลด์วินมองปัญหาได้ทะลุถึงรากเหง้าว่า คนดำโกรธแค้นไม่ใช่เพราะเกลียดคนขาว แต่แค่ไม่ต้องการจะถูกตามรังควานเสียมากกว่า ส่วนปัญหาของคนขาวมีรากเหง้าจากความหวาดกลัวที่พวกเขาสร้างขึ้นเองในจิตใจ

มองในแง่นี้ ปัญหานิโกรจึงไม่แตกต่างจากปัญหาคนยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มันมีรากฐานมาจากความไม่มั่นคงทางจิตใจ จากจินตนาการที่ถูกปั้นแต่งขึ้นเพื่อข่มขู่ให้ผู้คนหวาดกลัวว่าจะสูญเสียสิทธิพิเศษ ความปลอดภัย ความบริสุทธิ์ทางสายเลือด กำไร หรืออะไรก็ตามแต่ และเมื่อค้นพบว่าตัวเองไม่อาจยึดมั่นสถานะเดิมเอาไว้ได้ พวกเขาจึงหันไปหาความรุนแรง คลิปจากหนังเรื่อง No Way Out (1950) ดูจะสะท้อนสภาวะเปราะบางดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อตัวละครผิวขาวตะโกนถามย้ำซ้ำๆ ว่า แล้วใครจะรักฉัน

เกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ บอลด์วินไม่ได้เสนอคำตอบแน่ชัด แต่เขาเหมือนจะบ่งบอกเป็นนัยว่าทางออกไม่ได้อยู่ที่คนดำ หากอยู่ตรงความยินยอมของคนอเมริกันผิวขาวที่จะสำรวจตัวตนอย่างแท้จริง พร้อมกับยอมรับว่ามีราคาที่พวกเขาต้องจ่ายสำหรับความรุ่งโรจน์ ซึ่งในอดีตงอกเงยมาจาก แรงงานราคาถูกที่พวกเขาพยายามจะกำจัดเมื่อไม่ต้องการใช้เก็บฝ้ายอีกต่อไปแล้ว พวกเขาต้องเข้าใจว่าการลุกฮือขึ้นของเหยื่อหาได้ตั้งอยู่บนหลักอันเลื่อนลอย ต้องเลิกเสแสร้งทำเป็นมืดบอดต่อความจริงที่ว่าอเมริกามีเหตุผลมากมายที่ส่งผลให้คนดำต้องรู้สึกขมขื่น โกรธแค้น และท้ายที่สุดต้องยอมรับว่าคนดำเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกาไม่ต่างจากคนขาว มีบทบาทหน้าที่ในการสร้างแผ่นดินไม่แพ้กัน ฉะนั้นย่อมมีสิทธิ์ชอบธรรมที่จะได้รับการปฏิบัติในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: