วันเสาร์, พฤษภาคม 19, 2561

Oscar 2018: Best Director


คริสโตเฟอร์ โนแลน (Dunkirk)

น่าแปลกใจไม่น้อยที่เรื่องราวเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองจะอยู่ในความสนใจของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้ก่อนหน้านี้นิยมทำหนังพูดถึงแฟนตาซีและความฝัน ตัวละครของเขาถ้าไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโรอารมณ์ขุ่นมัว ก็จะเป็นหนุ่มความจำสั้นที่สิงสู่อยู่ในโลกอาชญากรรม เขานิยมฉุดกระชากคนดูให้หลุดเข้าไปในโลกความฝันซ้อนความฝัน ทดสอบความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีรูหนอน หรือภาวะเอกฐานเชิงความโน้มถ่วง โลกแห่งความเป็นจริงดูเหมือนจะไม่ใช่สิ่งที่เขาโปรดปราน จนกระทั่งในผลงานกำกับชิ้นล่าสุดเรื่อง Dunkirk ซึ่งพูดถึงโลกแห่งสงครามอันโหดร้าย “นี่เป็นครั้งแรกที่ผมทำหนังเกี่ยวกับเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ มันสร้างความกังวลให้ผมเป็นอย่างมาก” โนแลนกล่าว “ก็ไม่ได้อยากพูดให้ฟังดูใหญ่โตหรอก แต่ผมอยากทำหนังที่ท้าทายตัวเอง ทำให้ตัวเองรู้สึกหวั่นใจ

ผลงานชิ้นใหม่ของเขาเล่าถึงการช่วยชีวิตนายทหารฝ่ายสัมพันธมิตรจำนวน 338,000 นายจากชายหาดดันเคิร์ก ณ ประเทศฝรั่งเศสในปี 1940 หลังจากพวกเขาถูกล้อมกรอบโดยกองทัพนาซี โดยมีทางออกเดียวคือผ่านทางช่องแคบอังกฤษ แต่เนื่องจากมันเป็นเขตน้ำตื้น เรือรบของอังกฤษจึงไม่สามารถแล่นเข้าใกล้ชายหาดได้ ทำให้รัฐบาลต้องมีการระดมเรือพลเรือนจำนวนมากมาช่วยกันขนย้ายทหารให้รอดพ้นจากการถูกสังหารหมู่ เหตุการณ์นี้เป็นจุดพลิกผันสำคัญของสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะหากประเทศอังกฤษเจรจาขอยอมแพ้ ยุโรปทั้งทวีปก็จะตกอยู่ในเงื้อมมือของทหารนาซี “ความโหดเหี้ยมและการเหยียดเชื้อชาติจะกลายเป็นมาตรฐานชีวิต” โจชัว เลวีน กล่าว เขาเป็นนักประวัติศาสตร์ซึ่งคอยช่วยให้คำปรึกษาโนแลนอย่างใกล้ชิดระหว่างขั้นตอนการเขียนบท “สปิริตแห่งดันเคิร์ก” ถือกำเนิดขึ้นจากประสบการณ์ครั้งนั้น กลายเป็นคำที่คนอังกฤษใช้สำหรับอธิบายน้ำหนึ่งใจเดียวยามเผชิญวิกฤติ

แม้ว่าดันเคิร์กจะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ บ่งชี้ความเป็นความตาย แต่มันกลับไม่ใช่เหตุการณ์ที่คนส่วนใหญ่รู้จักโดยเฉพาะในอเมริกา ซึ่งเข้าร่วมสงครามในปี 1941 เหตุผลอาจเป็นเพราะมันถูกตีตราเป็นความพ่ายแพ้มากกว่าชัยชนะ ประวัติศาสตร์จึงไม่ค่อยอยากจารึก (หนังอังกฤษเรื่องล่าสุดที่เคยพูดถึงเหตุการณ์นี้ออกฉายในปี 1958) “ในฐานะนักทำหนัง เรามักจะมองหาช่องโหว่ทางวัฒนธรรมป็อป สิ่งที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงบนจอภาพยนตร์” โนแลนกล่าว และดันเคิร์ก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เป็นสิ่งที่ไม่เคยถูกเอ่ยอ้างในหนังยุคใหม่

ผู้กำกับชาวอังกฤษวัย 46 ปีซึ่งเติบโตมาในลอนดอนขึ้นชื่อเรื่องการทำหนังที่มีพล็อตซับซ้อน ยอกย้อนเหมือนค่ายกล นั่นอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเพราะตัวจริงของเขาเป็นคนค่อนข้างจริงจัง พุ่งเข้าประเด็น ปราศจากอารมณ์ขันจิกกัดตัวเองแบบคนอังกฤษ หรือเสน่ห์เรียบง่ายมัดใจคนตามสไตล์ผู้กำกับฮอลลีวู้ด และถึงแม้ผลงานก่อนหน้านี้ของเขาทั้งหมด 9 เรื่องจะทำเงินรวมกันได้หลายพันล้านดอลลาร์ Dunkirk เป็นหนังที่สร้างความเครียดให้เขามากที่สุดก่อนเข้าฉาย เพราะเขาไม่รู้ว่าคนดูจะรู้สึกอย่างไร หรือยิ่งไปกว่านั้น...จะมีใครโผล่มาดูหนังเรื่องนี้รึเปล่า “ผมกลัวจริงๆ ไม่ชอบความรู้สึกแบบนี้เลยเขากล่าว “เวลาเราทำหนัง เราก็อยากให้มีคนมาดูหนังเราให้มากที่สุด

ไอเดียในการสร้างหนังเรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อ 25 ปีก่อนตอนโนแลนกับแฟนสาวตอนนั้น โปรดิวเซอร์ เอ็มมา โธมัส โธมัส (ซึ่งปัจจุบันเป็นภรรยาเขาล่องเรือกับเพื่อนๆ ข้ามช่องแคบอังกฤษไปยังดันเคิร์กระหว่างช่วงเทศกาลอีสเตอร์ พวกเขาคาดหวังว่าจะไปเช้าเย็นกลับ แต่ทะเลมีคลื่นลมแรง แถมอากาศยังหนาวเย็น สุดท้ายเลยต้องใช้เวลาทั้งสิ้น 19 ชม. “เป็นประสบการณ์ที่ทรหดมาก นี่ขนาดไม่มีใครทิ้งระเบิดใส่เรานะโนแลนกล่าว “ผมคิดว่านั่นเป็นครั้งแรกที่ไอเดียผุดขึ้นมาในหัวผมแต่เขากลบฝังไอเดียดังกล่าวแล้วเริ่มสร้างตัวตนในวงการหนัง ชื่อเสียงหลั่งไหลเข้ามาหลังจาก Memento ประสบความสำเร็จ ตามมาด้วยหนังชุด The Dark Knight ซึ่งผลักดันสถานะเขาจากผู้กำกับอินดี้ไปเป็นผู้กำกับซูเปอร์สตาร์ในระดับเดียวกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก ยุครุ่งเรือง เครดิตดังกล่าวเป็นประโยชน์กับโครงการหนังแบบ Dunkirk ซึ่งต้องอาศัยทุนก้อนโตจากสตูดิโอใหญ่อย่าง วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ที่ตกลงหนุนหลังโนแลนเต็มที่ “เรารู้สึกว่าถึงเวลาใช้ประโยชน์จากเส้นสายและความเชื่อใจที่สั่งสมมาแล้วโธมัส ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ให้หนังของโนแลนทุกเรื่อง กล่าว “โครงการนี้ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นผลรวมจากทุกสิ่งที่เราเรียนรู้ในหนังทั้งหมดก่อนหน้า

แต่หากพิจารณาให้ดีจะพบว่า Dunkirk สลัดหลุดจากรูปแบบก่อนหน้าไปหลายก้าว อย่างแรกเลย หนังมีความยาวเพียง 1 ชม. 47 นาที ซึ่งถือเป็นหนังที่สั้นที่สุดของโนแลนนับจาก Following ผลงานกำกับชิ้นแรกเมื่อปี 1998 สั้นกว่าหนังเรื่องก่อนหน้าอย่าง Interstellar ถึงหนึ่งชั่วโมง เขาอยากให้ Dunkirk กระชับ เข้มข้น พาคนดูกระโจนเข้าสู่เหตุการณ์โดยไม่จำเป็นต้องเท้าความ ปูพื้นใดๆ เหมือนหนังทั้งเรื่องเป็นองก์ที่สามของหลักการเล่าเรื่องแบบคลาสสิก นอกจากนี้ โนแลนยังไม่อยากเดินซ้ำรอยหนังสงครามทั่วไป แต่อยากกระตุ้นให้คนดูลุ้นจิกเบาะในสไตล์หนังตื่นเต้น เขย่าขวัญ เพื่อหลีกเลี่ยงการจำกัดกลุ่มคนดู เขาตัดทอนเลือดและความรุนแรงให้เหลือเพียงเรท PG-13 แม้ว่าทางสตูดิโอจะไม่เกี่ยงงอน หากเขาต้องการทำออกมาเป็นเรท R “เราไม่อยากให้อารมณ์เข้มข้นเกิดจากความสยองแบบเลือดสาด ไส้ทะลัก แต่เข้มข้นจากจังหวะเร่งเร้าของสถานการณ์ ความตึงเครียด และการตัดสลับเหตุการณ์ที่ซ้อนทับกันโนแลนกล่าว “ดันเคิร์กเป็นหนึ่งในเหตุการณ์จริงที่ต้องแข่งกับเวลาและชวนลุ้นระทึกที่สุดสำหรับผม

ระหว่างเตรียมงานสร้างโนแลนใช้เวลาสองวันกับเลวีน ขับรถไปรอบเกาะอังกฤษเพื่อพูดคุยกับทหารผ่านศึกและปะติดปะต่อเรื่องราว การถ่ายทำส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ชายหาดดันเคิร์ก โดยเหล่านักแสดงนำในเรื่องต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ฝึกทักษะบนชายหาดและในมหาสมุทร โนแลนบอกว่า Dunkirk น่าจะเป็นผลงานที่มีโครงสร้างการเล่าเรื่องที่สลับซับซ้อนที่สุดของเขา สะท้อนถึงความทรงจำและมุมมองอันแตกต่างกันไปของแต่ละคนต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น “เราแทบจะไม่เล่าเรื่องโดยเรียงตามลำดับเวลาก่อนหลังเลย เราพยายามรบกวนโครงสร้างการเล่าเรื่องของหนังสงครามทั่วไป เราพยายามรบกวนโครงสร้างการเล่าเรื่องของหนังบล็อกบัสเตอร์ทั่วไปแน่นอน คนดูที่คาดหวังความบันเทิงแบบฉาบฉวยคงอดเกาหัวด้วยความงุนงงไม่ได้ แต่เช่นเดียวกับหนังเรื่องก่อนหน้าของเขาอย่าง Inception และ Interstellar โนแลนแนะนำว่าหนทางที่ดีที่สุด คือ หยุดคิดวิเคราะห์ แล้วปล่อยใจซึมซาบกับอารมณ์และความน่าตื่นตาที่ปรากฏตรงหน้า


จอร์แดน พีล (Get Out)

หนังสุดฮิตและขวัญใจนักวิจารณ์เรื่อง Get Out เกือบจะไม่ได้สร้างแล้ว หลังจากนักเขียนบทและผู้กำกับ จอร์แดน พีล คิดว่าคงไม่มีใครอยากให้เงินทุนสร้างหนังสยองกึ่งตลกร้ายเกี่ยวกับผู้หญิงผิวขาวที่พาแฟนผิวดำมาเจอครอบครัว ซึ่งเจือกลิ่นอายของหนังเก่าเรื่อง Guess Who’s Coming to Dinner แต่มีจุดหักมุมที่ชั่วร้ายตรงชายหนุ่มผิวดำเริ่มสงสัยว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลในหมู่คนขาว และอันตรายร้ายแรงกำลังจะพุ่งตรงเข้าหาเขาอย่างไม่อาจหลบเลี่ยง พีล ผู้เริ่มสร้างชื่อเสียงจากรายการตลก ยังไม่เคยเห็นหนังแบบที่เขาต้องการสร้างมาก่อน เขากลัวว่าการมอบบทเหยื่อให้กับคนดำ แล้วทำให้พวกคนขาวเป็นวายร้ายอาจทำให้คนดูลุกเดินหนีออกจากโรง นอกจากนี้ เขาก็ไม่มั่นใจว่าจะมีใครยอมให้ทุนเนื่องจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในฮอลลีวู้ดถูกควบคุมโดยคนผิวขาว และมีคนผิวดำเพียงน้อยนิดที่ได้รับโอกาสให้เข้าร่วมคลับ “ผมขาดต้นแบบที่จะคอยตอกย้ำให้ผมเห็นว่าหนังแบบนี้สามารถสร้างได้พีลกล่าว “ผมไม่เคยเห็นความหวาดกลัวของผมในฐานะแอฟริกัน-อเมริกันปรากฏบนจอแบบนี้มาก่อน

ราวปี 2014 ห้าปีหลังจากไอเดียเริ่มผุดเข้ามาในหัวเขา พีลเริ่มต้นเขียนบท แล้วนำไปเสนอกับโปรดิวเซอร์ ฌอน แม็คคิททริค (Donnie Darko) พร้อมกับบอกว่านี่เป็นหนังเรื่องโปรดของเขาที่ไม่ถูกสร้างและคงไม่มีวันถูกสร้างในชาตินี้ แต่แม็คคิททริคกลับเซอร์ไพรส์เขาด้วยการเปิดไฟเขียว สามปีต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2017 หนังเข้าฉายท่ามกลางกระแสเหยียดสีผิวที่ประทุขึ้นมาอีกครั้งหลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ พลิกตลบแนวคิดที่ว่าอเมริกาจะสามารถก้าวข้ามอคติเรื่องนี้ไปได้หลัง 8 ปีภายใต้การนำของ บารัค โอบามา พีลเกรงว่าหนังจะถูกปฏิเสธจากคนดู กลุ่มคนขาวอาจประท้วงหนังจนกลายเป็นประเด็นอื้อฉาว แต่ตรงกันข้าม Get Out เป็นเหมือนยาหอมที่คนดูต้องการ มันกวาดเงินทั่วโลกไป 254 ล้านเหรียญ สร้างกำไรก้อนโตเมื่อเทียบกับทุนสร้างเพียง 5.4 ล้านเหรียญ (เขาเชื่อว่าหนังอาจเจอปัญหามากกว่านี้ หากตัวร้ายผิวขาวในเรื่องเป็นพวกอนุรักษ์นิยมแทนที่จะเป็นลิเบอรัล)

แต่เซอร์ไพรส์ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น หนังเริ่มเดินหน้ากวาดรางวัลในช่วงปลายปีมาครองได้มากมาย รวมถึงรางวัลภาพยนตร์เรื่องแรกยอดเยี่ยมของสมาคมนักวิจารณ์นิวยอร์ก กระนั้นหลายคนก็ยังคงไม่แน่ใจว่ามันจะเอาชนะใจกรรมการออสการ์ได้ เนื่องจากหนังถูกจับให้เข้าหมวดหนังตลก หรือไม่ก็หนังสยองขวัญ ซึ่งไม่ค่อยมีประวัติสวยหรูบนเวทีออสการ์สักเท่าไหร่ เรื่องเดียวที่ทำสำเร็จ คือ The Silence of the Lambs เมื่อ 26 ปีก่อน กระนั้นก็ตามในสายตาของพีล เขามองว่า Get Out เป็นหนังเขย่าขวัญสะท้อนสังคมมากกว่าในลักษณะเดียวกับ The Stepford Wives และ Rosemary’s Baby ซึ่งสังคมและมนุษยชาติหล่อเลี้ยงความชั่วร้าย ความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อและเหนือความคาดหมายทำให้พีลรู้สึกช็อก แต่ในเวลาเดียวกันก็มีความสุข หรืออาจถึงขั้นสะใจเล็กน้อย เนื่องจาก Get Out ในแง่หนึ่งเป็นหนังส่วนตัว สะท้อนให้เห็นความหวาดกลัวเบื้องลึกทั้งหมดของเขา “ความกลัวว่าจะถูกมองในฐานะคนดำ ไม่ใช่แค่มนุษย์คนหนึ่ง ความกลัวการละทิ้งรากเหง้า ก้าวออกจากการเป็นคนดำแล้วไปคบหากับคนต่างสีผิว ความกลัวการหลงลืมเชื้อชาติของตัวเอง

พีลเติบโตมาในเมืองแมนฮัตตัน มีแม่เป็นคนผิวขาว พ่อเป็นคนผิวดำ ซึ่งพีลเล่าว่าหายสาบสูญไปจากชีวิตเขาตั้งแต่เขาอายุได้ ขวบ ในช่วงวัยเด็กพีลบอกว่าเขาหมกมุ่นอยู่กับเรื่องสีผิว เนื่องจากทุกอย่างรอบตัวเขาล้วนวนกลับมายังประเด็นนี้ เด็กๆ ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าเขามีแม่ผิวขาว พอย่างเข้าสู่วัยรุ่น เขาได้เข้าเรียนในโรงเรียนคัลฮูนอันทรงเกียรติ แต่ก็ยังถูกกลั่นแกล้งจากพวกตำรวจ ตอนเข้าสอบเอนทรานซ์ เขาไม่แน่ใจว่าควรจะเลือกช่อง “เชื้อชาติ” ไหนดี เลยตัดสินใจติ๊กช่อง “อื่นๆบางทีคุณอาจรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับทั้งสองฝั่ง แต่บางทีก็รู้สึกเป็นเหมือนคนนอกพีลกล่าว “ผมหมกมุ่นเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องเชื้อชาติ เพราะมันไม่ชัดเจนว่าผมมีเชื้อชาติไหนกันแน่เขาสะท้อนความกังวลดังกล่าวเอาไว้ใน Key & Peele ซีรีส์ตลกล้อเลียน ซึ่งนำประเด็นหนักๆ อย่างการค้าทาสและความโหดร้ายของตำรวจมาทำเป็นเรื่องขำขัน นอกจากความสำเร็จของ Key & Peele ซึ่งออกอากาศระหว่างช่วงปี 2012-2015 แล้ว พีลยังรับบทสมทบในหนังตลกเรื่อง Wanderlust แสดงเป็นเอฟบีไอในซีซั่นแรกของ Fargo ซึ่งดัดแปลงมาจากหนังชื่อเดียวกันของสองพี่น้อง โจล กับ อีธาน โคน และนำแสดงพร้อมควบตำแหน่งโปรดิวเซอร์ร่วมกับ คีแกน-ไมเคิล คีย์ (คู่หูเพื่อนซี้จาก Key & Peele) ใน Keanu ก่อนจะโด่งดังในชั่วข้ามคืนจากการกำกับ Get Out

ระหว่างเขียนบทไปได้ครึ่งทาง พีลเพิ่งตระหนักถึงแก่นของหนังที่เขาต้องการทำ นั่นคือ หนังสยองขวัญสำหรับคนดำที่วิพากษ์และล้อเลียนระบบกีดกันสีผิว พีลเล่าว่าเขาอยากทำหนังสยองขวัญเพื่อคนดูผิวดำ ซึ่งชื่นชอบผลงานแนวนี้ แต่มักจะหงุดหงิดใจกับพฤติกรรมโง่เง่าของเหล่าตัวละคร เขายกตัวอย่างหนังเรื่อง The Amityville Horror ว่าครอบครัวคนขาวยังเลือกจะอยู่ในบ้านหลังนั้นต่อไป หลังจากเริ่มสงสัยว่ามันอาจมีผีสิงจริง “ถ้าเป็นครอบครัวคนดำละก็ เราจะเผ่นตั้งแต่เห็นอะไรไม่ชอบมาพากลแล้วเขาให้เหตุผล

ในหนังเรื่อง Get Out เป้าโจมตีอยู่ตรงคุณพ่อลิเบอรัลผิวขาวที่หน้าไหว้หลังหลอก เขาบอกว่ายินดีจะโหวตให้โอบามาเป็นรอบที่สาม แต่ในเวลาเดียวกันก็วางแผนผ่าเอาสมองของคนขาวมาใส่ไว้ในร่างของตัวเอกผิวสี “ผมคิดว่าทุกๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลิเบอรัลผิวขาว ชื่นชอบการปอกเปลือกให้เห็นด้านมืดของคนขาว ประเภทซึ่งเราคิดว่าเป็นพวกคิดดีทำดี ไม่เหยียดหยามใคร” พีลกล่าว ก่อนจะเสริมว่าอีกเหตุผลที่หนังอาจดึงดูดกลุ่มคนดูผิวขาว คือ มันเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มองเห็นภาพจำลองของการเป็นคนผิวดำในอเมริกาซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นคนผิวขาว “ไม่มีสิ่งใดจะพาคุณเข้าใกล้ประสบการณ์ของการเป็นคนดำได้มากเท่ากับการดูหนังคนดำ


พอล โธมัส แอนเดอร์สัน (Phantom Thread)

เรื่องราวเกี่ยวกับผู้ชายทรงอำนาจ แต่เหี้ยมโหด ทำให้เขาได้รับการยกย่องเป็นผู้กำกับชั้นนำระดับโลก แต่ก็ส่งผลกระทบให้ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ถูกเหมารวมไปด้วยว่าเป็นผู้ปราศจากความหวังในมนุษยชาติ ซึ่งก็ตรงกับความจริงอยู่ไม่น้อย แต่เขาบอกว่าหนังเรื่องใหม่ Phantom Thread ซึ่งเล่าถึงความรักระหว่างชายที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้ใครกับหญิงสาวที่ต่ำต้อยกว่าเขา แต่หัวแข็งไม่แพ้กัน เป็นภาพสะท้อนความเชื่อของเขา นั่นทำให้คนดูอาจเริ่มรู้สึกมีความหวังขึ้นมาบ้าง ด้วยวัย 47 ปี แอนเดอร์สันสั่งสมชื่อเสียงจนกลายเป็นผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งแห่งยุค บรรยากาศในกองถ่ายเขาจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับนักแสดงที่มีส่วนร่วมในโครงการ อดัม แซนด์เลอร์ ดารานำจาก Punch-Drunk Love ชอบซักซ้อมก่อนเริ่มถ่าย ขณะที่ แดเนียล เดย์-ลูว์อิส ดารานำจาก Phantom Thread และ There Will Be Blood กับ วาควิน ฟีนิกซ์ (The Master, Inherent Vice) เกลียดการซักซ้อม แต่กฎข้อหนึ่งที่ถูกยึดถือโดยตลอด คือ ห้ามนั่ง เพราะแอนเดอร์สันชอบทำงานใกล้ชิดกับนักแสดง “ในกองถ่ายเราจะไม่มีเก้าอี้อยู่เลย” ผู้กำกับหนุ่มใหญ่กล่าว

ในช่วงยุค 90 เด็กหนุ่มที่เปี่ยมความทะเยอทะยานเริ่มสร้างชื่อเสียงด้วยการทำหนังเกี่ยวกับเด็กหนุ่มที่เปี่ยมความทะเยอทะยาน Boogie Nights เล่าถึงครอบครัวของเหล่าผู้ถูกทอดทิ้งท่ามกลางอุตสาหกรรมหนังโป๊ยุค 70-80 ที่ ซานเฟอร์นันโด วัลเลย์  ซึ่งเป็นเมืองบ้านเกิดของแอนเดอร์สัน Magnolia เป็นหนังรวมดาราความยาว 3 ชั่วโมงเกี่ยวกับหัวใจที่แตกสลายและความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา จากนั้นความดิบทางอารมณ์ในผลงานของแอนเดอร์สันเริ่มถูกแทนที่ด้วยความลึกลับ พิศวง ความคลุมเครือ ยากจะเข้าถึง ซึ่งช่วยผลักดันให้นักทำหนังยิ่งคืบคลานเข้าใกล้สถานะตำนาน เขาขึ้นชื่อเรื่องมีบุคลิกรักสันโดษ ค่อนข้างสงบปากสงบคำ แน่นอนบุคลิกนั้นสะท้อนออกมาชัดเจนในหนัง แอนเดอร์สันไม่ชอบพูดคุยถึงเรื่องส่วนตัว แต่เขายินดีจะพูดถึงหนังของเขา อย่างไรก็ตาม เขาจะพูดถึงพวกมันจนถึงแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ก่อนจะหยุดอธิบายแล้วยืนกรานให้หนังพิสูจน์ตัวของมันเอง

เช่นเดียวกับผลงานชิ้นหลังๆ ของแอนเดอร์สัน Phantom Thread มีพล็อตค่อนข้างเรียบง่ายเกี่ยวกับนักออกแบบเสื้อผ้าในกรุงลอนดอนยุค 50 ในแบบเดียวกับ There Will Be Blood เกี่ยวกับนักธุรกิจน้ำมัน The Master เกี่ยวกับผู้นำลัทธิ หรือ Inherent Vice เกี่ยวกับนักสืบเอกชน ถ้าจะพูดอีกอย่าง Phantom Thread เช่นเดียวกับหนังอีกสามเรื่องนั้น เล่าเรื่องของผู้ชายที่หมกมุ่น ลุ่มหลง และเข้าใจยาก หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนลงไปอีก มันเกี่ยวกับเหตุผลว่าทำไมชายคนนั้นถึงได้หมกมุ่น หรือเข้าใจยาก มีพลังกดดันใดบ้างจากสภาพแวดล้อม หรือปมแตกหักในจิตใจที่ทำให้เขากลายเป็นแบบนี้ Phantom Thread วาดภาพของคนที่เปี่ยมความคิดสร้างสรรค์ แต่เรื่องมาก และบ่อยครั้งก็โหดร้าย เขาจัดแจงชีวิตตัวเอง รวมถึงคนอื่นรอบข้างเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานของเขา

การเปรียบเทียบความเหมือนกันระหว่าง เรย์โนลด์ส วู้ดค็อก กับผู้กำกับหนังเป็นสิ่งที่หลายคนคิดอยู่ในใจ แต่แอนเดอร์สันปฏิเสธสมมุติฐานดังกล่าว “ผมไม่สามารถใช้ชีวิตหมกมุ่นกับตัวเอง หรือเห็นแก่ตัวขนาดนั้นได้ ไม่มีทางเขากล่าว “แต่เป็นเรื่องง่ายที่จะจินตนาการว่าจะเป็นยังไงถ้าทำแบบนั้นประสบการณ์ส่วนตัวของแอนเดอร์สันระหว่างทำงาน อย่างน้อยก็หลังจาก Magnolia (ใช้เวลาถ่ายทำ 90 วัน ซึ่งถือว่านานมากสำหรับหนังที่ไม่ลงจบลงด้วยฉากต่อสู้สุดอลังการกับจอมมารอย่างแม็กนีโต หรืออัลตรอน และใช้เวลาตัดต่ออีกเกือบหนึ่งปีเต็ม) ค่อนข้างราบรื่นและเป็นมิตรกว่าของตัวละครเอกใน Phantom Thread “ผมคิดว่าเราสามารถจะแบ่งเวลาให้เพื่อนและครอบครัวไปพร้อมกับหมกมุ่นอยู่กับงานของตัวเองได้เขากล่าว “มันไม่ใช่ว่าเราต้องเลือกแค่อย่างใดอย่างหนึ่งชีวิตส่วนตัวของแอนเดอร์สันออกจะเรียบง่าย เขามีลูก คนกับภรรยา มายา รูดอล์ฟ มีบ้านอยู่ที่ทาร์ซานา เขาจะขับรถไปส่งลูกๆ ที่โรงเรียนทุกเช้าก่อนเดินทางไปออฟฟิศ แคลิฟอร์เนียเป็นบ้านเกิดที่เขาเติบโตมาตั้งแต่เด็ก และนับแต่เคยสร้าง Boogie Night เมื่อ 20 ปีก่อนเพื่อสดุดีมนตร์เสน่ห์ของลอสแอนเจลิส เขาก็ยังไม่เคยหมดรักต่อเมืองแห่งนี้ “น่ากลัวตรงที่ผมยังรักที่นี่ รู้สึกเป็นกันเอง ผ่อนคลาย ผมชอบกระทั่งซอกมุมอันอัปลักษณ์ของมัน

แอนเดอร์สันเคยบอกหลายครั้งว่า Boogie Nights เป็นหนังกึ่งอัตชีวประวัติ ไม่ใช่เพียงเพราะมันมีฉากหลังที่ ซานเฟอร์นันโด วัลเลย์ เท่านั้น แต่เช่นเดียวกับกองถ่ายหนังโป๊ในเรื่อง แอนเดอร์สันเติบโตมาในครอบครัวขยาย เขาเป็นลูกชายพิธีกรทางทีวี เออร์นี แอนเดอร์สัน กับผู้หญิงชื่อเอ็ดวีนา ซึ่งเขาไม่ค่อยชอบพูดถึงเนื่องจากความสัมพันธ์ของทั้งสองไม่ค่อยราบรื่นเท่าไหร่ บางครั้งแอนเดอร์สันจะชอบหยอกเล่นๆ ว่าเขาเพิ่งเข้าใจแก่นหลักของ Boogie Nights ว่าเกี่ยวกับอะไรหลัง นิว ไลน์ นำแผนการตลาดมาเสนอ “ผมจำได้ พวกเขาพูดว่า นี่เป็นหนังเกี่ยวกับครอบครัว ตอนนั้นผมเข้าใจความหมายแฝงชัดเจน นั่นคือ เราต้องบอกทุกคนในโลกว่ามันไม่ใช่หนังที่เกี่ยวกับหนังโป๊ ระหว่างเขียนบทหนัง ไม่มีตอนไหนเลยที่ผมจะคิดว่านี่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวแต่เขายอมรับว่า Magnolia ส่วนหนึ่งสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงพ่อของเขาซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเช่นเดียวกับ เจสัน โรบาร์ดส์ ในหนัง อีกส่วนหนึ่งเพื่อสดุดีให้กับ ฟีโอนา แอปเปิล (แฟนเขา ณ ขณะนั้นผ่านตัวละครเด็กที่เป็นแชมป์รายการเกมโชว์ ส่วน Punch-Drunk Love ซึ่งเล่าถึงชายหนุ่มที่เริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งจากการตกหลุมรักก็ถือกำเนิดขึ้นไม่นานหลังเขากับรูดอล์ฟเริ่มคบหากัน

พอหยุดทำหนังไป 5 ปี แอนเดอร์สันกลับมาพร้อมสโคปเนื้อหาที่กว้างขึ้น ทะเยอทะยานขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ชีวิตผู้คนในแอลเออีกต่อไป There Will Be Blood เล่าถึงระบบทุนนิยมของอเมริกาผ่านชีวิตนักธุรกิจน้ำมัน ซึ่งร่ำรวยเงินทอง แต่ความสัมพันธ์ของเขากับลูกชายนับวันกลับยิ่งผุกร่อน จากนั้นเขาก็ถ่ายทำเรื่องราวเกี่ยวกับอเมริกาในอีกแง่มุมหนึ่งผ่าน The Master เรื่องราวของชายหลงทางสองคนที่พยายามจะค้นหาความหมายและอิสรภาพผ่านลัทธิความเชื่อ ส่วน Inherent Vice ก็ไม่ต่างจากนิยายต้นฉบับของ โธมัส พินชอน เล่าถึงการล่มสลายของอุดมคติยุค 60 จากอิทธิพลความโลภและความชั่วร้าย สำหรับแอนเดอร์สันทั้งหมดถือเป็นเพียงแค่ความบังเอิญ แต่ด้วยเนื้อหาอันลึกซึ้ง ชวนค้นหา และพูดถึงประเด็นยิ่งใหญ่ ผนวกเข้ากับทักษะการเล่าเรื่อง ทักษะภาพยนตร์อันเป็นเลิศของเขา จึงไม่แปลกที่แอนเดอร์สันจะได้รับยกย่องให้เป็นผู้กำกับชาวอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง แม้มุมมองของเขาต่อมนุษย์และโลกจะค่อนข้างมืดหม่น จนกระทั่ง Phantom Thread ที่จบลงด้วยแนวโน้มแห่งความหวังเล็กๆ จริงอยู่ว่าทุกอย่างอาจยังดูวิปริต พิลึกพิลั่น แต่ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสเป็นไปได้สำหรับความรัก หรือการปรองดอง


เกรตา เกอร์วิก (Lady Bird)

ฉันรักพวกมันมาก” เกรตา เกอร์วิก กล่าวถึงบรรดาหนังวัยรุ่นยุค 90 “สำหรับเด็กสาววัยรุ่น หนังพวกนั้นมีค่ามากในแง่ภาพสะท้อนแทนตัวเองประโยคดังกล่าวสามารถใช้นิยามหนังเรื่องแรกของเกอร์วิกในฐานะผู้กำกับได้เช่นกัน Lady Bird บอกเล่าชีวิต ปัญหา และความยากลำบากของเด็กสาวช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ตัวละครผู้หญิงที่มีบุคลิกแปลกๆ ไม่เหมือนผู้หญิงทั่วไปเป็นสิ่งที่เกอร์วิกเชี่ยวชาญมานานนับ 10 ปีจากการร่วมงานกับ โนอาห์ บอมบาค ในฐานะนักแสดงนำและผู้ร่วมเขียนบท (ทั้งสองเริ่มคบหา จากนั้นก็เขียนบทร่วมกันนับแต่เธอปรากฏตัวในหนังเรื่อง Greenberg เมื่อปี 2010) หลังเขียนบทและนำแสดงในหนังสองเรื่องของบอมบาคอย่าง Frances Ha และ Mistress America (รวมถึงแสดงนำในหนังอินดี้แนวตลกปนดรามาเรื่อง Damsels in Distress และ Maggie’s Plan) นักแสดงสาววัย 34 ที่ผันตัวเป็นผู้กำกับก็กลายเป็นเหมือนตัวแทนปากเสียงของผู้หญิงรุ่นใหม่ในวงการหนังอิสระ ซึ่งฮอลลีวู้ดไม่เคยเข้าใจ หรือใส่ใจจะรับฟัง “ฉันสนใจเรื่องราวของเด็กสาว ของผู้หญิงวัยกลางคน ฉันสนใจเรื่องราวของผู้หญิง เท่านั้นเลย อาจจะไม่ตลอดไป แต่อย่างน้อยก็ในตอนนี้เธอกล่าว

อาจกล่าวได้ว่าตัวละครเอกใน Lady Bird เป็นต้นแบบของวัยรุ่นที่เรามักพบเห็นบนจอหนัง เธอรู้สึกแปลกแยก มีความมั่นอกมั่นใจเต็มเปี่ยม แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ภารกิจรายวันของ เลดี้ เบิร์ด คือ ก่อสงครามกับคุณแม่จอมเจ้ากี้เจ้าการ เป้าหมายหลักของเธอเรียงตามลำดับความสำคัญ คือ 1) หลบหนีจากซาคราเมนโต เมืองบ้านเกิดที่น่าเบื่อหน่าย ไปอยู่มหาวิทยาลัยที่นิวยอร์ก ซึ่งพ่อกับแม่เธอไม่มีปัญญาส่งเสีย 2) หาหนุ่มมาควงไปงานพรอม 3) เป็นเพื่อนกับสาวป็อปในโรงเรียน ตอนเกอร์วิกเขียนถึง เลดี้ เบิร์ด เธอจะจินตนาการถึงหนังที่สาวขบถผู้นี้น่าจะชอบดู เช่น Romeo & Juliet, 10 Things I Hate About You และ Clueless เมื่อ เซอร์ชา โรแนน ยืนยันว่าจะมารับบทเป็น เลดี้ เบิร์ด เกอร์วิกขอร้องให้เธอหาหนังทั้งหลายข้างต้นมาดู “ฉันอยากให้เธอรู้ว่าอุดมคติคืออะไร ฉันบอกเธอว่า ‘เราไม่ได้จะสร้างหนังแบบนี้ แต่นี่เป็นสิ่งที่ตัวละครของคุณใฝ่ฝัน

เหตุผลที่เกอร์วิกไม่อยากสร้างหนังวัยรุ่นทั่วไปก็เพราะ “ส่วนใหญ่พวกมันจะเน้นเล่าถึงความรักโรแมนติกเพียงหนึ่งเดียว พวกมันอาศัยอยู่ในโลกซึ่งคนที่ใช่มีเพียงหนึ่งเดียว แต่นี่ไม่ใช่โลกแบบที่ เลดี้ เบิร์ด อาศัยอยู่ มันเป็นโลกแบบที่เธออยากจะไปอยู่ เธอวาดภาพความรักโรแมนติกขึ้นมาในหัวเหมือนเด็กสาวส่วนใหญ่ที่เคยดู Titanic เธอเชื่อว่าแฟนหนุ่มของเธอต้องยินดีสละชีวิตเพื่อเธอได้ ฉันสนใจโลกในจินตนาการของเด็กสาวที่สร้างขึ้นจากหนัง แต่ Lady Bird ไม่ใช่หนึ่งในหนังแบบนั้น” เกอร์วิกไม่อยากให้ตัวละครดูเพอร์เฟ็กต์ หมดจด และพยายามสื่อสารกับโปรดิวเซอร์ สก็อต รูดิน ซึ่งไม่เคยบีบบังคับให้เธอทำหนังแนวฟุ้งฝันเหมือนหลุดออกจากหน้านิตยสารแฟชั่น “ในหนังวัยรุ่น ตัวละครไม่เคยมีสิว ซึ่งฉันไม่เข้าใจเลยเธอกล่าว “หนังเรื่องนี้พูดถึงเด็กสาววัยรุ่น และเธอมีสิว” เพื่อความสมจริง เป็นธรรมชาติมากขึ้น เกอร์วิกขอร้องให้โรแนนย้อมผมเอง “ฉันว่ามันเหมาะกับตัวละครมากกว่าที่จะย้อมผมด้วยตัวเองแบบบ้านๆ เซอร์ชาย้อมผมในห้องโรงแรม และมันออกมาดูแย่อย่างที่ฉันต้องการจริงๆ

การพลิกผันออกนอกเส้นทางหนังวัยรุ่นทั่วไปไม่ได้จบลงแค่การสร้างตัวละครเท่านั้น “ฉันอยากหยิบยืมบางอย่างจากหนังเหล่านั้นที่เราคุ้นเคย แล้วเบี่ยงเบนไปอีกทาง ฉันอยากให้คนดูอิ่มเอมกับเรื่องราว ฉันไม่ได้จะต่อต้านมัน แต่ฉันไม่อยากเดินตามสูตรเป๊ะๆ ฉันอยากทำให้คนดูคาดหวังอย่างหนึ่ง พลิกไปอีกทาง แล้วค่อยพาเขาไปสู่จุดหมาย โดยรวมๆ แล้ว คนดูจะรู้สึกเต็มอิ่มทางอารมณ์ แต่ขณะเดียวกันก็คาดไม่ถึง มีบางอย่างเสียดแทง หรือค้างคา หนังควรสร้างความประหลาดใจให้คนดู แต่ค่อยนำพาไปสู่จุดหมายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงหนึ่งในรายละเอียดที่คาดไม่ถึง คือ แรงกดดันด้านการเงินภายในครอบครัว เลดี้ เบิร์ด ซึ่งถูกสะท้อนออกมาอย่างชัดเจน สมจริง แบบที่เราอาจไม่คุ้นเคยในหนังวัยรุ่นตลาดทั่วไป “ประเด็นเกี่ยวกับชนชั้นเป็นสิ่งที่ฉันสนใจเกอร์วิกกล่าว “ในหนังคนดูจะรู้สึกได้ว่าตัวละครทุกตัวต่างเฝ้าฝันถึงชีวิตที่แตกต่างออก ชีวิตที่ดีกว่า เพราะลึกๆ ภายในพวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัย ตอนดูเรื่อง Boyhood ฉันคิดในใจว่าอยากทำแบบนี้ แต่เปลี่ยนเป็นเด็กผู้หญิง คนดูจะรู้สึกได้ว่าถ้าเกิดเหตุผิดพลาดขึ้นสักครั้ง ครอบครัวนี้มีหวังพังทลายอย่างแน่นอน ตอนนี้หลายครอบครัวในอเมริกาก็กำลังเผชิญความวิตกกังวล ความหวาดกลัวแบบเดียวกัน

แม้หลายคนจะมองว่า Lady Bird เป็นหนังกึ่งอัตชีวประวัติ เนื่องจากเกอร์วิกเองก็เติบโตมาในเมืองซาคราเมนโต และอยู่โรงเรียนคาทอลิก แต่เธอยืนกรานว่าเรื่องราวในหนังล้วนเป็นการเสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นใหม่ “ฉันมักจะเริ่มต้นด้วยสิ่งใกล้ตัวก่อนนี่เป็นสิ่งที่ผู้กำกับหญิงมักต้องเผชิญเวลาทำหนังเกี่ยวกับผู้หญิง ผู้คนชอบพากันคิดไปว่ามันเป็นหนังส่วนตัว เป็นหนังเชิงอัตชีวประวัติ และถูกโจมตีด้วยข้อหาหมกมุ่นกับตัวเอง หลงตัวเอง หรือขาดแคลนจินตนาการ “ตราบใดที่ผู้คนสามารถเชื่อมโยงไปยังชีวิตพวกเขาได้ ฉันไม่ถือสาถ้าคนจะคิดว่า เลดี้ เบิร์ด คือตัวฉัน แต่นั่นไม่ใช่หัวข้อสนทนาที่น่าสนใจ มันไม่เกี่ยวกับตัวตนใดๆ ของ Lady Bird ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบท การกำกับ หรืองานตัดต่อ คนชอบถามฉันว่า Frances Ha กับ Mistress America ดัดแปลงมาจากชีวิตของฉันรึเปล่า ฉันจะตอบแค่ว่า ฉันอยู่นิวยอร์ก แต่ฉันไม่ได้เรียน โมเดิร์น แดนซ์ ฉันไม่ได้พยายามจะเปิดร้านอาหาร เพียงเพราะมันเป็นหนังเกี่ยวกับผู้หญิง คนจะพากันทึกทักว่ามันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตัวคุณ แต่จริงอยู่ที่ว่ามีเศษเสี้ยวของฉันกระจัดกระจายอยู่ในหนัง ฉันขนหนังสือหลายเล่มมาให้ ทิโมธี ชาลาเมต์ (รับบท ไคล์ แฟนหนุ่มของ เลดี้ เบิร์ด) ลองอ่าน หนึ่งในนั้น คือ A People’s History of the United States ของ โฮเวิร์ด ซินน์ พออ่านเสร็จเขาก็ถามฉันว่าใครเป็นคนเขียนโน้ตต่างๆ ลงในหนังสือ ฉันตอบว่าฉันเอง เขาพูดขึ้นว่า ‘เดี๋ยวนะ คุณเชื่อแบบที่เขียนจริงสิ คนชอบคิดว่าคุณเป็น เลดี้ เบิร์ด แต่จริงๆ แล้วคุณคือไคล์ซึ่งก็ถูก ฉันซ่อนตัวตนเอาไว้ในไคล์ ฉันรัก โฮเวิร์ด ซินน์ นั่นละตัวฉันเลย


กิลเลอร์โม เดล โทโร (The Shape of Water)

มีนักทำหนังแค่ไม่กี่คนหรอกที่สร้างคุณูปการให้กับเหล่าสัตว์ประหลาดมากเท่ากับ กิลเลอร์โม เดล โทโร “ผมเป็นโรคคลั่งไคล้แมลง กลไกของนาฬิกา สัตว์ประหลาด สถานที่มืดทึบ และตัวอ่อนที่ยังไม่คลอดผู้กำกับ/เขียนบทชาวเม็กซิกันอธิบาย หนังทุกเรื่องของเขามักบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น บางเรื่องแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่บางเรื่องก็เหมาทั้งหมดมารวมกัน เดล โทโรเติบโตมาในบ้านที่นับถือคาทอลิกในเมืองกัวดาลาจารา ประเทศเม็กซิโก และเริ่มหยิบกล้อง มม. มาถ่ายโน่นนี่ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ Cronos หนังเรื่องแรกของเขาถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังสยองขวัญที่กวาดเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์สูงสุดในทศวรรษ 1990 ความโด่งดังของมันกลายเป็นเหมือนบัตรผ่านให้เดล โทโรเดินทางมาฮอลลีวู้ด เขาได้รับเงินทุน 30 ล้านเหรียญจากมิราแม็กซ์เพื่อสร้างหนังเกี่ยวกับแมลงยักษ์ Mimic อย่างไรก็ตาม เดล โทโรสารภาพว่าเขาเกลียดการทำงานร่วมกับ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ที่ถือวิสาสะตัดหนังเขาโดยพลการ จนกระทั่ง 14 ปีต่อมา Mimic ฉบับ Director’s Cut จึงถือกำเนิดขึ้น ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่เดล โทโรพอใจกว่าเวอร์ชั่นฉายโรง

เมื่อย่างเข้าสู่ทศวรรษ 2000 ความทะเยอทะยานและป็อปปูล่าของเดล โทโรยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง หนังภาษาสเปนเรื่องที่สองของเขา The Devil’s Backbone เกี่ยวกับผีในบ้านเด็กกำพร้ายุคจอมพล ฟรานซิสโก ฟรังโก กวาดเสียงชื่นชมอย่างถ้วนทั่ว จากนั้นเขาก็ตัดสินใจถูกต้องด้วยการรับข้อเสนอของนิวไลน์มากำกับ Blade ภาคต่อ หลังจาก สตีเวน นอร์ริงตัน ถอนตัว โทนมืดหม่นที่เดล โทโรเติมเข้าไปทำให้ Blade II เป็นหนึ่งในหนังภาคต่อไม่กี่เรื่องที่เหนือกว่าภาคแรกทั้งในแง่คุณภาพและการทำเงิน ส่งผลให้เขากลายเป็นผู้กำกับขวัญใจในหมู่แฟนหนังสือการ์ตูน ต่อมาเขาได้ตอบแทนแฟนบอยเหล่านั้นด้วยของขวัญสุดล้ำค่าในรูปของ Hellboy หนังซูเปอร์ฮีโร่ที่สนุกสนานไม่เหมือนใคร ตามมาด้วยภาคต่อที่อลังการงานสร้างขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ความแตกต่างระหว่างเดล โทโรและผู้กำกับหนังหลายคนที่เบนเข็มมาสร้างผลงานบล็อกบัสเตอร์ในฮอลลีวู้ด คือ เขายังคงรักษาลายเซ็นอันโดดเด่น ตลอดจนเอกลักษณ์เฉพาะตัวเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน เขาไม่ได้ถูกวิญญาณแห่งเงินตราเข้าสิงจนลืมรากเหง้า ดังจะเห็นได้จากการกลับไปสร้างหนังอย่าง Pan’s Labyrinth ซึ่งใช้ฉากหลังเป็นประเทศสเปนในยุคหลังสงครามกลางเมือง เล่าเรื่องราวแฟนตาซีผ่านสายตาของเด็กหญิง และเช่นเดียวกับ The Devil’s Backbone มันได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากหนังอาร์ตเฮาส์คลาสสิกของ วิคเตอร์ อีริเซ เรื่อง The Spirit of the Beehive หนังได้เสียงตอบรับอย่างอบอุ่นจากนักวิจารณ์ แต่น่าเสียดายที่มันพลาดรางวัลออสการ์สาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมให้กับ The Lives of Others ของประเทศเยอรมนี แต่ก็คว้ารางวัลรางวัลอื่นๆ มาครองได้สามสาขาได้แก่ กำกับศิลป์ ถ่ายภาพ และเมคอัพ หลังจากนั้นเขาก็เบนเข็มมาสร้างหนังทุนมโหฬารอย่าง Pacific Rim เกี่ยวกับการผลิตหุ่นยนต์เพื่อต่อกรสัตว์ประหลาดยักษ์ใต้น้ำ หนังทำเงินถล่มทลายทั่วโลก ก่อนเดล โทโรจะหวนคืนสู่แนวทางสยองขวัญอีกครั้งใน Crimson Peak

อาจกล่าวได้ว่า The Shape of Water เป็นหนังที่โรแมนติกที่สุดของเขา เล่าถึงเรื่องราวของภารโรงสาวใบ้ (แซลลี ฮอว์กินส์) ที่ตกหลุมรักกับสัตว์ประหลาดจากใต้น้ำท่ามกลางบรรยากาศคุกรุ่น อึมครึมของสงครามเย็น อบอวลด้วยอารมณ์หวาดกลัวและการแบ่งแยก สำหรับเขามันเป็นฉากหลังที่เหมาะสำหรับเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความรักที่สามารถเอาชนะทุกสิ่ง ขณะเดียวกันก็ยังสะท้อนภาวะสังคมในยุค โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นใหญ่ได้อย่างแยบยลอีกด้วย “ผมอยากทำหนังที่จะช่วยเยียวยาสภาพจิตใจของผู้คนในปัจจุบัน ช่วงเวลาที่เกิดการแบ่งแยกอย่างกว้างขวางจากแนวคิดที่เป็นอันตรายเขากล่าว “เราควรจะเริ่มพูดถึงการยอมรับและความเข้าอกเข้าใจอีกครั้งอย่างไรก็ตาม แม้พล็อตหนังจะชวนให้หลายคนนึกถึงหนังอย่าง Beauty and the Beast แต่เดล โทโรยืนยันว่า “เป้าหมายหลักของเราคือสร้างหนังเกี่ยวกับความรัก ไม่ใช่หนังรัก แต่เป็นหนังเกี่ยวกับความรัก

ด้วยเหตุนี้กระมัง แม้ว่าหนังจะเต็มไปด้วยความแปลกประหลาด คล้ายหนังสยองขวัญเกรดบีในอดีต แต่สุดท้ายกลับโดนใจกรรมการออสการ์จนได้เข้าชิงมากถึง 13 สาขา ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดในปีนี้ “เหลือเชื่อมาก ถือเป็นรางวัลตอบแทนความสำเร็จของการเดินทางที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2011 มันเป็นการเดินทางที่แสนยาวนานเดล โทโร อธิบายความรู้สึกหลังทราบรายชื่อผู้เข้าชิง “ผมอยู่วงการนี้มา 25 ปี นานพอจะรู้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องปกติ” (หนังสัตว์ประหลาดไม่ใช่หนังที่จะได้รับการยกย่องบนเวทีออสการ์) เขายกเครดิตส่วนหนึ่งให้กับบรรยากาศทางสังคม หรือพูดง่ายๆ อีกอย่าง คือ เทรนด์ทางสังคม “มันเหมือนหนังมาถูกจังหวะ ถูกที่ถูกเวลา บางครั้งคุณสร้างหนังดี แต่กลับไม่มีใครดู ฉะนั้นเวลาหนังประสบความสำเร็จ คุณต้องระลึกไว้เสมอว่าอย่าหลงระเริงจนลืมตัว ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมันน่าชื่นใจ แต่ก็อย่าไปถือเอาจริงเอาจังนั่นเป็นบทเรียนที่เขาได้รับจากความล้มเหลวของ Crimson Peak ซึ่งลงทุนไปมากถึง 55 ล้านเหรียญ (ขณะที่ The Shape of Water ลงทุนเพียง 20 ล้านเหรียญ) นำแสดงโดยดาราดังเกรดเออย่าง เจสซิก้า เชสเทน และ ทอม ฮิดเดิลสตัน แต่กลับทำเงินได้ไม่คุ้มทุนสร้าง “ผมทะเยอทะยานเกินไปเลยสร้างหนังที่ใช้ทุนสูงเกิน ส่งผลให้ผมไม่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางการตลาดในแบบที่ผมต้องการ” ด้วยเหตุนี้ในหนังเรื่องใหม่ เดล โทโรจึงเลือกจะหันมาใช้งานทีมนักแสดงที่เปี่ยมคุณภาพ แต่อาจไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังมากนัก

เดล โทโรบอกว่าการจับคู่ระหว่างหญิงสาวกับสัตว์ประหลาดสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในตำนานจากหลากหลายวัฒนธรรม “ทุกประเทศล้วนมีเรื่องราวประเภทนี้เพื่อสร้างอารมณ์สมจริงให้กับตำนานรักระหว่างผู้ใหญ่ เดล โทโรจึงหันไปพึ่งพาแนวทางสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) ที่พบเห็นบ่อยๆ ในผลงานหนังจากฝั่งละตินอเมริกา ด้วยการถ่ายทอดสิ่งประหลาด หรือความยิ่งใหญ่ มหัศจรรย์ด้วยท่าทีธรรมดาสามัญ เหมือนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน “ในฐานะผู้กำกับ คุณต้องดึงเอาอิทธิพลจากหลายทิศทาง จากประสบการณ์ส่วนตัว ทั้งหมดล้วนกำเนิดจากรากเหง้าของคุณความแตกต่างระหว่าง The Shape of Water กับเหล่าตำนานทั้งหลายอยู่ตรงที่ตัวละครผู้หญิงเป็นฝ่ายเข้าหาสัตว์ประหลาด ขณะเดียวกัน เขาก็พยายามสร้างตัวร้ายของเรื่อง (ไมเคิล แชนนอนให้คล้ายกับฮีโร่ในหนังแอ็กชั่นยุค 50 ซึ่งถูกยกย่องเชิดชูจากการฆ่าสัตว์ประหลาดได้สำเร็จ พระเอกในหนังเกรดบีคลาสสิกถูกบิดให้กลายเป็นตัวร้าย ในแง่หนึ่งมันสะท้อนให้เห็นแก่นสาระหลักของ The Shape of Water อยู่ในทีเกี่ยวกับความรักที่สามารถเปลี่ยนรูปร่างได้ไม่ต่างจากน้ำ

ไม่มีความคิดเห็น: