วันเสาร์, พฤษภาคม 19, 2561

Oscar 2018: สัตว์ประหลาด การเมือง และความหลากหลาย


สองสิ่งที่รับประกันได้ว่าต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในงานออสการ์ปีนี้ เชื่อขนมกินได้ไม่ต่างจากโอกาสคว้ารางวัลหนังอนิเมชั่นยอดเยี่ยมของ Coco คือ ประเด็น MeToo จะต้องถูกยกมาพูดถึง เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ประกาศรางวัลหนังยอดเยี่ยมผิดเรื่องเมื่อปีก่อน โดยในกรณีหลัง พิธีกร จิมมี คิมเมล แอบกัดตั้งแต่ช่วงต้นงานว่าใครที่ได้ยินชื่อตัวเองเป็นผู้ชนะ อย่าเพิ่งรีบลุกจากที่นั่ง ขอให้นั่งรอสักพักก่อนเพื่อความแน่ใจ (จากนั้นกล้องก็ตัดไปยังปฏิกิริยาของ เอ็มมา สโตน ทำหน้าเจ็บใจเล็กๆ) จากนั้นไม่พอในช่วงต่อมาเมื่อคิมเมลรำลึกถึงการจัดงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งแรก เขาบอกว่าปีนั้นหนังยอดเยี่ยมมีสองเรื่องด้วยกัน… เหมือนกับปีก่อน ก่อนกล้องจะตัดไปยังภาพโปรดิวเซอร์ La La Land จอร์แดน โฮโรวิทซ์ ยิ้มเจื่อนๆ ให้กับมุกดังกล่าว

นอกเหนือไปจากการพูดถึง ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ในช่วงเปิดงาน มุกตลกเกี่ยวกับถ้วยรางวัลออสการ์ว่าเขาเป็นผู้ชายแบบที่เราอยากให้มีเยอะขึ้นในเมืองนี้ (“มือเขาไว้ในจุดที่เรามองเห็น ไม่เคยพูดคำหยาบ และที่สำคัญสุด ไม่มีกระจู๋) และมุกตลกที่แฝงความจริงอันเจ็บปวด (“ถ้าเราทำสำเร็จ จับมือร่วมกันหยุดยั้งการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานได้ ผู้หญิงจะถูกล่วงละเมิดทางเพศแค่ในสถานที่อื่นๆ ที่พวกเธออยู่”) ประเด็น MeToo ได้รับการเน้นย้ำให้โดดเด่นขึ้น ด้วยน้ำเสียงที่จริงจังขึ้น เมื่อสามสาวที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิด (แอชลีย์ จัดด์แอนนาเบลลา ชีออร์รา และ ซัลมา ฮาเย็คออกมาพูดแนะนำคลิปเพื่อโปรโมต/ผลักดันฮอลลีวู้ดให้เปิดรับความหลากหลาย โดยโฟกัสไปยังผลงานสำคัญๆ ของปีนี้อย่าง Lady Bird, Mudbound, The Big Sick, Get Out และ A Fantastic Woman ซึ่งนำเสนอ “เสียงแปลกใหม่” ให้กับวงการภาพยนตร์ คลิปดังกล่าวถือเป็นความตั้งใจดี แต่ค่อนข้างแข็งทื่อในการกระตุ้นวงการภาพยนตร์ให้นำเสนอมุมมองของชนกลุ่มน้อย (คนต่างชาติ/คนผิวดำ/ผู้หญิง/รักร่วมเพศ) คนที่ช่วยเพิ่มสีสันและลดทอน ความยิ่งใหญ่แต่ในเวลาเดียวกันก็พูดเข้าเป้ามากที่สุดจนเรียกเสียงปรบมือจากคนดูได้อย่างถ้วนทั่ว คือ คูเมล นานจีอานี (The Big Sick) โดยเขาบอกว่าหนังหลายเรื่องที่เขาชอบเป็นหนังเกี่ยวกับผู้ชายรักต่างเพศผิวขาว สร้างโดยผู้ชายรักต่างเพศผิวขาว แต่ตอนนี้พวกผู้ชายรักต่างเพศผิวขาวจะได้ทำแบบเดียวกันบ้าง (ดูหนังที่พวกเขาไม่ใช่ตัวละครเอก) “มันไม่ยากเลย เพราะผมทำมาตลอดชีวิตก่อนจะสรุปตบท้ายว่า มีหนังมากมายที่นำเสนอมุมมองที่แตกต่างแล้วทำเงินมหาศาล อย่าทำ (สร้างหนังเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย) เพียงเพราะมันเป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่จงทำเพราะมันจะทำให้คุณร่ำรวย

กระแสเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกันของผู้หญิงและคนผิวดำเป็นธีมหลักของงานปีนี้ จนแทบจะกลบจุดมุ่งหมายดั้งเดิมของงานออสการ์ นั่นคือ เฉลิมฉลองศิลปะแห่งภาพยนตร์ คิมเมลพูดถึงความสำเร็จของ Wonder Woman และ Black Panther ว่าเป็นเรื่องน่าทึ่งและเหลือเชื่อ “เพราะผมจำได้ดีถึงยุคสมัยที่สตูดิโอยักษ์ใหญ่ไม่เชื่อว่าผู้หญิง หรือชนกลุ่มน้อยจะสามารถเป็นตัวเอกในหนังซูเปอร์ฮีโร เหตุผลที่ผมจำได้ดีเพราะมันคือมีนาคมปีก่อนนี้เอง ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์ เรียกร้องให้ผู้หญิงที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงลุกขึ้นยืนพร้อมกัน (“เมอรีล ถ้าคุณทำ ทุกคนจะทำตาม”) เรียกร้องให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์หันมาฟังเสียงของผู้หญิง นำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงให้มากขึ้น (“เรามีเรื่องจะเล่า มีโครงการที่อยากได้เงินทุนสนับสนุน เชิญเราไปที่ห้องทำงานคุณ หรือคุณจะมาหาเรา แบบไหนก็ได้แล้วแต่คุณสะดวก เราจะเล่าถึงโครงการพวกนั้นให้คุณฟัง”) ก่อนจะตบท้ายด้วยการพูดถึง “inclusion rider” ซึ่งหมายถึงข้อกำหนดที่นักแสดงสามารถระบุไว้ในสัญญาได้ว่าจำนวนนักแสดงและทีมงานในกองถ่ายจะต้องมีความหลากหลาย (คนผิวสี/ผู้หญิงถึงจุดที่กำหนดไว้ เช่น 50% เป็นต้น หรือตรงตามท้องเรื่องและสภาพความเป็นจริงในโลกปัจจุบัน

นอกจากนี้ช่วงเวลาแห่งการแสดงจุดยืนทางการเมืองยังกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการประกาศตัวว่าเขาเป็น “ผู้อพยพ” ของ กิลเลอร์โม เดล โทโร ตอนขึ้นรับรางวัลสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม หรือเนื้อร้องของ คอมมอน ตอนขึ้นแสดงเพลง Stand Up for Something (จากหนังเรื่อง Marshall) กับ แอนดรา เดย์ โดยมีนักต่อสู้ทางสังคม การเมืองที่โดดเด่น 10คนมายืนร่วมบนเวที รวมถึงเด็กชายวัย 8 ขวบชาวซีเรียที่โด่งดังจากทวิตเตอร์ บานา อลาเบด หรือตอนที่ โคบี ไบรอันท์ ก้าวขึ้นรับรางวัลหนังอนิเมชันขนาดสั้น (Dear Basketball) แล้วตอบโต้พิธีกรช่อง ฟ็อกซ์ นิวส์ ลอรา อินเกรแฮม ที่เคยบอกให้นักบาสเกตบอล เลอบรอน เจมส์ “หุบปากแล้วเล่นบาสไป” แทนการออกมาวิจารณ์ประธานาธิบดี หรือตอนที่ คริสเตน แอนเดอร์สัน-โลเปซ ขึ้นรับรางวัลเพลงประกอบ (Remember Me จากหนังเรื่อง Coco) แล้วพูดว่าผู้เข้าชิงในสาขาเธอไม่เพียงจะเต็มไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนของชาย-หญิงแบบ 50-50 อีกด้วย และเธอตั้งตารอวันที่ “ทุกสาขาจะเป็นแบบเดียวกัน

ดังที่เคยกล่าวไปแล้วถึงกรณีประเด็น OscarSoWhite การเรียกร้องให้ออสการ์นำเสนอความหลากหลายอาจเป็นการต่อสู้ที่ไม่ค่อยตรงจุด เพราะออสการ์เป็นแค่ภาพสะท้อนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยรวม ตราบใดที่วงการหนังเปิดโอกาสให้ผู้หญิงและคนกลุ่มน้อย เช่น คนผิวสี รักร่วมเพศ คนเอเชียเข้ามามีสุ้มมีเสียงมากขึ้น มีผลงานมากขึ้น มีคนทำงานมากขึ้น ออสการ์ก็จะเดินหน้าตามไปเอง แน่นอน การเปิดรับสมาชิกคนหนุ่มคนสาว คนผิวสี และผู้หญิงมากขึ้นอาจมีส่วนช่วยอยู่บ้าง (หนังอย่าง The Shape of Water คงยากจะคว้าชัยชนะมาครองหากเป็นเมื่อ 10 หรือ 20 ปีก่อน) แต่ถ้าหนังส่วนใหญ่ยังคงผลิตโดยและนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องราวของผู้ชายรักต่างเพศผิวขาว การเรียกร้องให้ออสการ์ทุกปีต้องมีปริมาณผู้เข้าชิงเป็นคนผิวดำ หรือผู้หญิงจำนวนเท่านั้นเท่านี้อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องของ โควต้าและไม่ยุติธรรมกับศิลปินที่ผลิตผลงานสักเท่าไหร่ เพราะถึงยังไงสุนทรียะทางภาพยนตร์ควรเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาว่าหนังเรื่องใด หรือคนทำงานคนใดควรได้รับรางวัล หรือถูกเสนอชื่อเข้าชิง

เช่นเดียวกับงานลูกโลกทองคำก่อนหน้า (เอ็มมา สโตน ถึงขนาดลอกมุกเดียวกับ นาตาลี พอร์ตแมน มาใช้ตอนออกมาประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงสาขากำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมภาพรวมของงานออสการ์ปีนี้เต็มไปด้วยท่าทีเคร่งขรึม จริงจังจนเกินไปในความพยายามจะแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ถูกต้อง ส่งผลให้บรรยากาศค่อนข้างจืดชืด ขาดพลังดารา ความโฉ่งฉ่าง ฟู่ฟ่า ความขำขันบ้าๆ บอๆ แบบที่เราสามารถคาดหวังได้จากออสการ์ปีก่อนๆ แถมผลรางวัลตามโผก็ยิ่งซ้ำเติมความน่าเบื่อเพิ่มขึ้นไปอีกขั้น โดยหนึ่งในหลักฐานชัดเจน คือ นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สาขานักแสดง 4 สาขาบนเวที SAG, BAFTA, ลูกโลกทองคำ, Critics’ Choice และออสการ์ออกมาตรงกันหมด เรียกได้ว่าไม่ต้องเหลืออะไรให้ลุ้นให้เซอร์ไพรส์กันอีกต่อไปแล้ว

สาขาเดียวที่อาจเรียกได้ว่าพลิกโผเล็กๆ คือ การคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมของ จอร์แดน พีล (Get Out) เพราะก่อนหน้านี้ มาร์ติน แม็คโดนาห์ (Three Billboards Outside Ebbing, Missouri) ดูเหมือนจะมีภาษีดีกว่าเล็กน้อย เนื่องจากผลงานเขียนบทของพีลต้องเผชิญกับอคติทางด้านตระกูลหนัง แต่สุดท้ายแล้วความต้องการที่จะมอบรางวัลให้กับคนผิวสี หรือมอบรางวัลหนึ่งรางวัลใดให้กับ Get Out (ซึ่งไม่ใช่เต็งหนึ่งหรือเต็งสองในสาขาหนังและผู้กำกับยอดเยี่ยม) ของเหล่ากรรมการได้ช่วยผลักดันให้พีลคว้าชัยชนะไปครองในที่สุด ท่ามกลางความพึงพอใจของทุกคนในงาน ดังจะเห็นได้จากการลุกขึ้นยืนปรบมืออย่างพร้อมเพรียง

การเมือง นอกเหนือจากความนิยมชมชอบ กิลเลอร์โม เดล โทโร อย่างกว้างขวางในหมู่คนทำงานในฮอลลีวู้ดแล้ว อาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ The Shape of Water ได้รับชัยชนะ เพราะมันเป็นหนังที่นำเสนอชนกลุ่มน้อยเอาไว้อย่างครบถ้วน ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นคนผิวดำ ผู้หญิง (ตัวเอกหรือรักร่วมเพศ (ตัวละครสมทบชาย) ผ่านเนื้อเรื่องซึ่งสะท้อนการเฉลิมฉลองความแตกต่างอย่างชัดเจน นี่จึงเป็นหนังที่ไม่ “คุกคาม” ใครเหมือนกับ Three Billboards Outside Ebbing, Missouri ซึ่งอาจไม่ค่อยเป็นที่รักของเหล่าคนผิวสีมากนัก รวมไปถึงเหล่าตำรวจคลั่ง PC ที่เติบโตมาพร้อมกับปมความรู้สึกผิดของชนผิวขาว พวกเขาอึดอัดคับข้องใจเมื่อตำรวจที่เหยียดสีผิว ชื่นชอบความรุนแรง สามารถกลับตัวกลับใจจนกลายมาเป็น “วีรบุรุษได้ในตอนท้าย การโหวตให้หนังอย่าง The Shape of Water สร้างความรู้สึกดีๆ ได้มากกว่า ทำให้พวกเขาไม่ตะขิดตะขวงใจเท่ากับการโหวตให้หนังอย่าง Three Billboards Outside Ebbing, Missouri

ชัยชนะเหนืออคติทางตระกูลหนังของ Get Out และ The Shape of Water ช่วยเปิดประตูใหม่ๆ ให้กับนิยามของ หนังออสการ์แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเหมือนเดิมอยู่ คือ หนังที่จะคว้ารางวัลสูงสุดมาครองได้จำเป็นต้องบอกกล่าว “ประเด็นสำคัญ” บางอย่างเกี่ยวกับสังคม ลำพังแค่ความยอดเยี่ยมในเชิงภาพยนตร์เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอจะผลักดันมันให้คว้าชัยชนะ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม Gravity จึงพ่ายให้กับ 12 Years a Slave ทำไม The Revenant จึงพ่ายให้กับ Spotlight และทำไม La La Land จึงพ่ายให้กับ Moonlight ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าหนังอย่าง Lady Bird, Phantom Thread และ Call Me By Your Name ซึ่งเน้นศึกษาตัวละครมากกว่าจะนำเสนอ “ประเด็น” ทางสังคมอย่างโจ่งแจ้ง (รวมไปถึง Dunkirk ซึ่งเน้นหนักในการสร้างประสบการณ์ทางภาพยนตร์มากกว่าจะนำเสนอประเด็น) จึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบหนังอย่าง Get Out, The Shape of Water, Three Billboards Outside Ebbing, Missouri หรือกระทั่ง The Post 

อีกหนึ่งธรรมเนียมที่ยังคงดำเนินต่อไป คือ ถ้าคุณเป็นนักแสดงแล้วอยากได้รางวัลออสการ์ จงเดินหน้าเล่นหนังเกี่ยวกับคนจริงในประวัติศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากชัยชนะของ แกรี โอลด์แมน และ อัลลิสัน แจนนีย์ จริงอยู่ บารมีที่ต่างสะสมกันไว้เนิ่นนานอาจมีส่วนช่วยผลักดันให้พวกเขาเอาชนะเหนือคู่แข่ง แต่ความจริงที่ต้องยอมรับ กรรมการออสการ์มักจะให้แต้มต่อการเลียนแบบเหนือการสร้างตัวละครขึ้นใหม่ พิสูจน์ให้เห็นปีแล้วปีเล่า ตั้งแต่ เรย์ ชาร์ลส์ จนถึง ทรูแมน คาโปตีอีดี อามินพระเจ้าจอร์จที่ 6อับราฮัม ลินคอล์นสตีเวน ฮอว์คิง และ วินสตัน เชอร์ชิล 

รางวัลออสการ์ถูกกระจายไปอย่างทั่วถึง โดยในบรรดาหนังยอดเยี่ยม 9 เรื่อง มีเพียง The Post และ Lady Bird ที่ต้องกลับบ้านมือเปล่า แต่ เกรต้า เกอร์วิก ยังมีโอกาสอีกมากมายในอนาคต ตราบใดที่เธอยังคงเดินหน้าผลิตผลงานคุณภาพต่อไป ไม่เชื่อก็ดูตัวอย่างได้จาก เจมส์ ไอวอรี ซึ่งเคยเข้าชิงออสการ์มาแล้ว 3 ครั้งในฐานะผู้กำกับ (A Room with a View, Howards End, The Remains of the Day) ก่อนจะประสบความสำเร็จในที่สุดจากรางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม หรือ โรเจอร์ ดีกินส์ ที่คว้าออสการ์สาขากำกับภาพยอดเยี่ยมมาครองเป็นครั้งแรก หลังจากเคยสร้างสรรค์ผลงานระดับมาสเตอร์พีซอย่าง The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford และ The Man Who Wasn’t There แต่กลับชวดรางวัลทุกครั้งไป

แง่มุมการเมืองยังตามมาหลอกหลอนงานออสการ์จนถึงเช้าวันจันทร์ เมื่อปรากฏว่าเรตติ้งของงานตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยสามารถดึงคนดูได้เฉลี่ย 26.5 ล้าน หล่นลงจากปีก่อน (33 ล้านถึง 20% และทำลายสถิติต่ำสุดก่อนหน้าเมื่อปี 2008 ตอนที่ จอน สจ๊วต เป็นพิธีกรและ No Country for Old Men คว้าหนังเยี่ยมไปครอง ซึ่งมีคนดูราว 32 ล้าน แน่นอน สาเหตุหนึ่ง นอกเหนือจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค (จากการถือกำเนิดของเน็ตฟลิกซ์คือ หนังที่เข้าชิงเป็นหนังฟอร์มเล็กที่ไม่ค่อยมีคนดูอย่าง Call Me by Your Name ซึ่ง จิมมี คิมเมล ก็อุตส่าห์โยงไปเข้ากับการเมืองในงานว่า “เราไม่ได้สร้างหนังอย่าง Call Me by Your Name เพื่อหวังเงิน แต่เพื่อยั่วโมโห (รองประธานาธิบดีที่มีแนวคิดเหยียดรักร่วมเพศไมค์ เพนซ์ ต่างหาก

กลุ่มคนที่เริงร่ามากสุดเมื่อเห็นเรตติ้งรายการออสการ์ ซึ่งเปรียบเสมือนงานเฉลิมฉลองของเหล่าลิเบอรัล/เดโมแครต คือ กลุ่มอนุรักษ์นิยมหัวเอียงขวาทั้งหลายนำโดย ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทวีตว่า “งานออสการ์ที่เรตติ้งต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ปัญหาคือสมัยนี้หาดาราไม่ได้อีกแล้ว ยกเว้นประธานาธิบดีคุณ (ล้อเล่นน่ะ)จิมมี คิมเมล ได้ตอบกลับด้วยการทวีตว่า “ขอบใจที่บอก ประธานาธิบดีที่ได้เรตติ้งต่ำสุดในประวัติศาสตร์

เชื่อแน่ว่าเมื่อเวลาผ่านไป คนส่วนใหญ่น่าจะจดจำงานออสการ์ปีนี้ได้จากแง่มุมการเมือง (MeToo, Inclusion Rider, Diversity) มากกว่าหนังที่คว้ารางวัลสูงสุดไปครอง


Best of the Best

* คู่หูประกาศรางวัลที่เรียกเสียงฮาได้มากที่สุดคงหนีไม่พ้น มายา รูดอล์ฟ กับ ทิฟฟานีย์ แฮดดิช ถึงขนาดหลายคนเรียกร้องให้พวกเธอมารับจ็อบเป็นพิธีกรคู่สไตล์เดียวกับ ทีนา เฟย์ กับ เอมี โพห์เลอร์ ทั้งสองเริ่มต้นด้วยการเดินเท้าเปล่าออกมาบนเวที บ่นเรื่องรองเท้าส้นเข็มที่ต้องทนทุกข์ใส่มาตั้งแต่งาน Critics’ Choice Awards จนนิ้วก้อยเท้าหลุด ก่อนจะตบท้ายด้วยการชมผลงานแสดงอันยอดเยี่ยมของอีกฝ่าย ทิฟฟานีย์ ขอบอกเลยว่าฉากที่คุณฉี่แตกกลางอากาศใน Girls Trip มันสุดยอดมากๆภรรยานักแสดงของ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน เริ่มก่อน จากนั้นดาวตลกหญิงผิวดำก็ชมเธอกลับว่า คุณพระช่วย มายา ตอนคุณขี้แตกกลางถนนใน Bridesmaids มันเปลี่ยนชีวิตฉันเลย เป็นแรงบันดาลใจขั้นสุด

* การแสดงจุดยืนทางการเมืองไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อเสมอไป ไม่เชื่อก็ดูตัวอย่างได้จากการออกมาประกาศรางวัลออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยมของ คูเมล นานจีอานี และ ลูปิตา นียองโก (12 Years a Slave) ซึ่งเริ่มต้นด้วยการล้อเลียนชื่อตัวเองที่ออกเสียงยาก (“ความจริง คูเมล นานจีอานี เป็นชื่อในวงการ ชื่อปากีสถานจริงๆ ของผม คือ คริส ไพน์”) ก่อนจะระบุสถานะ ผู้อพยพของตัวเอง คนหนึ่งมีรากเหง้าจากเคนยา อีกคนมีรากเหง้าจากปากีสถานและไอโอวา สองจุดบนโลกที่คนในฮอลลีวู้ดหาไม่เจอว่าอยู่ตรงไหนของแผนที่จากนั้นก็ตามมาด้วยบทพูดโจมตี (แบบอ้อมๆ) นโยบายกีดกัน นักฝันหรือ dreamer (ลูกหลานของผู้อพยพที่อยู่ในอเมริกาอย่างผิดกฎหมาย) ของ โดนัลด์ ทรัมป์ความฝันเป็นรากฐานของฮอลลีวู้ด และเป็นรากฐานของอเมริกา

* หลังจากหายนะเมื่อปีก่อน สมาพันธ์ภาพยนตร์ได้เปลี่ยนแปลงขั้นตอนเพื่อป้องกันไม่ให้ปรากฏการณ์ จดหมายผิดซองเกิดขึ้นซ้ำสอง เช่น ผู้ประกาศทุกคนจะต้องเช็คให้ดีก่อนว่าได้ซองที่ถูกต้อง ห้ามนักบัญชีจากไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์เล่น โซเชียล มีเดีย ระหว่างงาน และที่สำคัญที่สุด คือ ซองประกาศผลพิมพ์ชื่อสาขาไว้โดดเด่นเห็นชัดชนิดแทบจะทิ่มตาคนดู

* แก๊กตลกที่น่ารักและได้ผลของ จิมมี คิมเมล คือ เมื่อเขาประกาศว่าผู้ชนะที่กล่าวขอบคุณสั้นสุดจะได้เจ็ทสกีเป็นของรางวัล จากนั้นแบบเดียวกับรายการเกมโชว์ The Price Is Right เจ็ท สกี ถูกนำขึ้นมาบนเวทีโดยมี เฮเลน เมียร์เรน ยืนคู่ตามสไตล์สาวพริตตี้ มันกลายเป็นแก๊กที่ถูกนำไปเล่นต่อโดยผู้ชนะหลายคน (โรเจอร์ ดีกินส์ “ผมคงต้องพูดอะไรสักหน่อย ไม่งั้นเดี๋ยวได้เจ็ทสกี”) แม้ว่าจะไม่ช่วยให้คนพูดขอบคุณสั้นลง แต่ก็ถูกนำมาใช้ปิดงานได้อย่างสนุกสนาน เมื่อ มาร์ค บริดเจส นักออกแบบเครื่องแต่งกาย (Phantom Thread) ขี่เจ็ทสกีออกมาในฐานะคนที่กล่าวขอบคุณสั้นสุดโดยมีเมียร์เรนนั่งซ้อนท้าย

* ราวกับรู้สึกผิดที่ตัดช่วงแจกรางวัลออสการ์เกียรติยศออก งานปีนี้จึงเปิดโอกาสให้นักแสดงรุ่นลายครามหลายคนที่เคยได้ออสการ์ในอดีตมาทำหน้าที่ประกาศรางวัล และสองคนที่ทำงานได้เกินค่าตัว คือ อีวา มารี เซนต์ (On the Waterfront, North by Northwest) ที่มาเล่าถึงประสบการณ์การทำงานกับ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก (เธอเรียกเขา “เฟร็ด”)ก่อนจะประกาศรางวัลเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม และ ริต้า มอรีโน เจ้าของ EGOT (เอ็มมี/แกรมมี/ออสการ์/โทนี) ที่มาประกาศรางวัลหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมในชุดที่เธอเคยใส่ออกงานออสการ์เมื่อปี 1962 ตอนคว้ารางวัลสมทบหญิงมาจาก West Side Story (พวกเราส่วนใหญ่แทบจะใส่กางเกงยีนที่ซื้อมาเมื่อปีที่แล้วไม่ได้ด้วยซ้ำ) ในความพยายามจะดึงดูดกลุ่มคนดูรุ่นใหม่ ออสการ์ไม่ควรละทิ้งประวัติศาสตร์อันยาวนาน เพราะนั่นคือเสน่ห์หลักอย่างหนึ่งของงาน


Not So Great

* ช่วงเวลาพิลึกพิลั่นที่สุดในงาน คือ ตอนที่นักแสดง/อดีตทหารผ่านศึกเวียดนาม เวส สตูดี (Dances with Wolves, The Last of the Mohicans) ออกมากล่าวแนะนำคลิปรวมหนัง (หนึ่งในหลายคลิปตลอดงาน) พร้อมกล่าวสดุดีให้กับกองทัพอเมริกาและหนังสงคราม อย่างที่เคยบอกไปแล้วว่างานออสการ์มักจะชอบเสียเวลากับคลิปรวมหนังที่เยอะเกินและส่วนใหญ่ไม่ค่อยนำพาไปสู่อะไร (ถ้าอยากให้งานสั้นลงก็ควรจะลดเลิกสิ่งเหล่านี้ไปบ้าง) นี่ถือเป็นหนึ่งในคลิปที่ไม่จำเป็น และชวนให้นึกพิศวงว่าทำไมเราถึงต้องมาสนับสนุนกองทัพ หรือทหารในงานแจกรางวัลภาพยนตร์ มีสถานที่อื่นและโอกาสอื่นที่เหมาะสมกว่านั้นไหม การนั่งชมคลิปสั้นๆ จากหนังอย่าง Saving Private Ryan, Zero Dark Thirty, The Deer Hunter และ American Sniper ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังชื่นชม หรือสร้างความโรแมนติกให้กับสงคราม แม้ตัวหนังเต็มๆ เหล่านั้นอาจพูดถึงประเด็นดังกล่าวได้อย่างซับซ้อน หรือชวนให้ตั้งคำถามมากกว่าแค่บิวด์อารมณ์ฮึกเหิมแบบคลิปนี้ก็ตาม

* ไม่ต่างจากหนังภาคต่อ อะไรที่เราเคยเห็นมาก่อนแล้ว ย่อมไม่อาจสร้างความตื่นเต้นได้เท่ากับครั้งแรก เมื่อปีก่อน จิมมี คิมเมล พานักท่องเที่ยวมาร่วมงานบนเวที พอมาปีนี้เขาก็เล่นมุกเดิมโดยหักมุมนิดหน่อย ด้วยการพาเหล่าคนดัง (กัล กาโดตอาร์มี แฮมเมอร์มาร์โกต์ ร็อบบีกิลเลอร์โม เดล โทโรไปขัดจังหวะการชม A Wrinkle in Time แล้วแจกของกินให้บรรดาคนดูหนังในโรง จริงอยู่ ปืนยิงฮ็อทด็อกอาจดูน่าประทับใจ แต่ไม่ใช่มุกตลกฝืดๆ เกี่ยวกับกัญชา และเมื่อคิมเมลขอให้นักดูหนังคนหนึ่งช่วยอ่านชื่อดาราที่จะมาประกาศรางวัลถัดไป เขาดูประหม่าอย่างเห็นได้ชัด แถมยังอ่านชื่อ ทิฟฟานี แฮดดิช ผิดอีกด้วย... นี่คือราคาที่คุณต้องจ่ายเวลาด้นสดแบบไม่มีบท


For the Record

* The Shape of Water เป็นหนังสัตว์ประหลาดเรื่องแรกที่คว้ารางวัลสูงสุดบนเวทีออสการ์ และเป็นหนังที่ชนะรางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลหนังเวนิซเรื่องแรกที่ได้ออสการ์หนังยอดเยี่ยม (ก่อนหน้านี้เรื่องที่เกือบจะทำได้สำเร็จ คือ Brokeback Mountain แต่ดันพลิกล็อกพ่ายให้กับ Crash อย่างคาดไม่ถึง)

* เจมส์ ไอวอรี กลายเป็นผู้ชนะรางวัลออสการ์ที่อายุมากสุดในประวัติศาสตร์ หลังเขาก้าวขึ้นรับรางวัลบทดัดแปลงภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Call Me by Your Name) ขณะอายุ 89 ปี ทำลายสถิติเดิมของ เอ็นนิโอ มอร์ริโคเน ซึ่งได้ออสการ์สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (The Hateful Eight) ขณะอายุ 87 ปี

* จอร์แดน พีล เป็นคนผิวดำคนแรกที่ได้ออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ก่อนหน้านี้มีเพียงสามคนที่เคยเข้าชิงสาขานี้ ได้แก่ ซูซานน์ เดอ พาส (Lady Sings the Blues) สไปค์ ลี (Do the Right Thing) และ จอห์น ซิงเกิลตัน (Boyz n the Hood) นอกจากนี้ Get Out ยังเป็นหนังสยองขวัญเรื่องแรกที่ชนะออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม (ยกเว้นคุณจะมองว่ามันเป็นหนังตลกแบบกรรมการลูกโลกทองคำ)

* A Fantastic Woman ถือเป็นชัยชนะครั้งแรกของประเทศชิลีในสาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม หลังจากเคยเข้าชิงมาแล้วครั้งหนึ่งจาก No ของผู้กำกับ พาโบล ลาร์เรน (ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องนี้) ที่สำคัญ นี่ยังเป็นครั้งแรกที่หนังซึ่งมีตัวเอกเป็น LGBT คว้ารางวัลในสาขาหนังต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ All About My Mother ของ เปรโด อัลโมโดวาร์ มีตัวละครสมทบเป็น LGBT

* ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์ ในวัย 60 ปี กลายเป็นผู้หญิงอายุมากที่สุดลำดับ 9 ที่ได้ออสการ์นำหญิง เบียด จูลีแอนน์ มัวร์ จาก Still Alice ตกอันดับลงไป (เธออายุ 54 ตอนได้รางวัลส่วนเจ้าของสถิติยังคงเป็น เจสซิก้า แทนดี้ จาก Driving Miss Daisy ซึ่งได้รางวัลขณะอายุ 80 ปี แม็คดอร์มานด์กลายเป็นผู้หญิงคนที่ 14 ที่ได้ออสการ์นำหญิงสองตัวหรือมากกว่า ตามหลัง แคทเธอรีน เฮปเบิร์นอินกริด เบิร์กแมนเบ็ตตี้ เดวิสโอลิเวียร์ เดอ ฮาวิลแลนด์แซลลี ฟิลด์เจน ฟอนด้าโจดี้ ฟอสเตอร์เกล็นดา แจ็คสันวิเวียน ลีห์หลุยส์ ไรเนอร์เมอรีล สตรีพฮิลารี สแวงค์ และ อลิซาเบ็ธ เทย์เลอร์

* กิลเลอร์โม เดล โทโร กลายเป็นผู้กำกับชาวละตินคนที่สามที่ได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมตามหลัง อัลฟอนโซ กัวรอน (Gravity) และ อเลฮานโดร อินาร์ริตู (Birdman, The Revenant) พวกเขาคว้ารางวัลออสการ์สาขานี้มาครอง 4 จาก 5 ปีล่าสุด (คนเดียวที่โผล่มาแทรกกลางความยิ่งใหญ่แห่งเม็กซิโก คือ เดเมียน ชาเชลล์ จาก La La Land เมื่อปีก่อน) นอกจากนี้ เดล โทโร ยังกลายเป็นผู้กำกับคนที่ 5 ที่ได้รางวัลนี้หลังจากหนังของเขา (Pan’s Labyrinth) เคยเข้าชิงในสาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม ตามหลังอินาร์ริตู (Amores Perros, Biutiful) มิลอส ฟอร์แมน (The Firemen’s Ball) โรมัน โปลันสกี (Knife in the Water) และ อังลี (The Wedding Banquet, Eat Drink Man Woman, Crouching Tiger, Hidden Dragon) โดยคนหลังสุดเป็นคนเดียวที่สามารถคว้าออสการ์มาครองได้ทั้งรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (Brokeback Mountain, Life of Pi) และหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม (Crouching Tiger, Hidden Dragon)

* ชัยชนะของ Coco ทำให้พิกซาร์ครองรางวัลในสาขาหนังอนิเมชันยอดเยี่ยมเกิน 50% พวกเขาคว้ามาได้ทั้งหมด 9 ครั้งจาก 17 ครั้ง

* โคบี ไบรอันท์ เป็นนักกีฬาอาชีพคนแรกที่ได้ออสการ์ (จากภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดสั้นเรื่อง Dear Basketball)

* หลังเข้าชิงมา 13 ครั้งและชวดรางวัลทุกครั้ง ในที่สุด โรเจอร์ ดีกินส์ ก็โชคดีกับเขาสักทีในการเข้าชิงครั้งที่ 14 เขาคว้าออสการ์สาขากำกับภาพยอดเยี่ยมไปครองจาก Blade Runner 2049 ส่งผลให้สถิตินกสูงสุดในสาขานี้ตกเป็นของ จอร์จ เจ. ฟอลซีย์ (Meet Me in St. Louis, Seven Brides for Seven Brothers) แต่เพียงผู้เดียว เขาเข้าชิง13 ครั้งและไม่เคยชนะเลยสักครั้ง

* ชัยชนะครั้งที่สองของ โรเบิร์ต โลเปซ ในสาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยมจากเพลง Remember Me ใน Coco (ก่อนหน้านี้เขาเพิ่งได้รางวัลจากเพลง Let It Go ใน Frozen) ทำให้เขากลายเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ดับเบิลรางวัล EGOT (เอ็มมี/แกรมมี/ออสการ์/โทนี) ขณะที่เพิ่งจะมีอายุเพียง 43 ปี ก่อนหน้านี้เขาสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นผู้ชนะ EGOT ที่อายุน้อยสุด (จากทั้งหมด 12 คน) และได้ครบทั้งสี่รางวัลภายในช่วงเวลาที่สั้นที่สุด (10 ปี) โดยเขาได้โทนีสามรางวัลจากผลงานใน The Book of Mormon กับ Avenue Q ได้แกรมมีสามรางวัลจาก Let It Go กับ The Book of Mormon และได้เอ็มมีสองรางวัล (เดย์ไทม์) จาก The Wonder Pets

* วอร์เรน เบ็ตตี้ กับ เฟย์ ดันนาเวย์ (2016-2017: Moonlight-The Shape of Water) เป็นผู้ประกาศรางวัลหนังยอดเยี่ยมติดต่อกันสองปีเป็นคนที่ 4 ตามหลัง อีริค จอห์นสัน (1945-1946: The Lost Weekend- The Best Years of Our Lives) ประธานสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งอเมริกา ณ เวลานั้น, เจมส์ แค็กนีย์ (1949-1950: All the King’s Men-All About Eve) และ แจ็ค นิโคลสัน (1976-1977: Rocky-Annie Hall, 2005-2006: Crash-The Departed) นิโคลสันเป็นคนที่ได้ประกาศรางวัลสูงสุดบนเวทีออสการ์บ่อยสุด นั่นคือ 8 ครั้ง ล่าสุดคือปี 2012 เมื่อ Argo คว้าหนังยอดเยี่ยมไปครอง

* ฟรานเซล แม็คดอร์มานด์ ได้ออสการ์นำหญิงตัวแรกกับตัวที่สองห่างกัน 21 ปี ถือเป็นสถิติที่น่าประทับใจ แต่อาจไม่ใช่สถิติสูงสุด เนื่องจาก แคทเธอรีน เฮปเบิร์น เคยได้ออสการ์นำหญิงตัวแรกกับตัวที่สองห่างกัน 34 ปีจาก Morning Glory ถึง Guess Who’s Coming to Dinner ขณะที่ เมอรีล สตรีพ ได้นำหญิงตัวที่สองจาก The Iron Lady ห่างจาก Sophie’s Choice ทั้งหมด 29 ปี แต่ถ้านับรวมสาขาสมทบหญิงเข้าไปด้วย สถิติสูงสุดยังคงเป็น เฮเลน เฮย์ส ที่ได้นำหญิงจาก The Sins of Madelon Claudet ก่อนหน้าจะได้สมทบหญิงจาก Airport ในอีก 38 ปีต่อมา

ไม่มีความคิดเห็น: