วันจันทร์, สิงหาคม 11, 2557

The Rover: คุณธรรมในแดนเถื่อน


ผลงานกำกับชิ้นที่สองของ เดวิด มิคอด หลังสร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติจาก Animal Kingdom เมื่อสี่ปีก่อน เริ่มต้นด้วยการอธิบายฉากหลังของเรื่องราวว่า ออสเตรเลีย: 10 ปีหลังการล่มสลายแต่นับจากนั้นหนังก็ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมอีกเลยว่าโลกปัจจุบันดำเนินมาถึงจุดตกต่ำดังที่เห็นได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ คนดูจึงมีหน้าที่ตีความเอาจากเบาะแสรอบข้างซึ่งปรากฏอยู่เป็นระยะแบบไม่ถูกเน้นย้ำชัดเจนมากนัก กล่าวคือ โลกอนาคตในจินตนาการของมิคอดไม่ได้กลายสภาพเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนจากภาวะสงคราม อาวุธนิวเคลียร์ เชื้อโรคร้ายแรง หรือการบุกรุกของสิ่งมีชีวิตนอกโลกดุจหนัง dystopia เรื่องอื่นๆ อีกมากมาย แต่กลับเป็นผลพวงของการพังทลายทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งคงได้แรงบันดาลใจมาจากวิกฤติซับไพร์มช่วงปี 2007-2009 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำครั้งใหญ่

สภาพสังคมในหนัง คือ ดอลลาร์ออสเตรเลียกลายเป็นเพียงเศษกระดาษไร้ค่า บ้านช่องจำนวนมากถูกทิ้งร้าง ผู้คนจากทั่วโลกโดยเฉพาะในทวีปเอเชียแห่แหนมายังออสเตรเลียเพื่อทำงานในเหมืองแร่ (ในหนัง โรเบิร์ต แพททินสัน รับบทเป็นชาวอเมริกันจากภาคใต้ ขณะที่ตัวละครเอเชีย (รวมถึงภาษา) ก็ปรากฏให้เห็นประปรายอยู่ตลอด เช่นเดียวกับเพลงภาษาเขมรอันโดดเด่นในฉากบาร์เหล้าช่วงต้นเรื่อง ภาวะดังกล่าวย้อนให้หวลถึงยุค ตื่นทองในช่วงทศวรรษ 1850 ซึ่งผู้คนจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือพากันอพยพมายังรัฐนิวเซาธ์เวลส์และวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลียจำนวนมาก) หน้าที่หลักของกองกำลังทหารไม่ใช่เพื่อผดุงความยุติธรรมให้สังคม แต่เพื่อปกป้องแหล่งทรัพยากร ประชาชนถูกปล่อยให้ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดตามลำพัง... และนั่นคือสิ่งที่พวกเขาทำ

ภูมิประเทศที่ห่างไกลความเจริญ (หรือหลายคนรู้จักกันในนาม outback) โดยเฉพาะอย่างยิ่งทะเลทราย มักได้รับการขับเน้นให้เป็นตัวละครสำคัญในหนังออสเตรเลีย บ่อยครั้งมันจะสร้างความรู้สึกคุกคาม น่าหวาดหวั่น และสิ้นไร้ทางออก ดังจะเห็นได้จากหนังสยองขวัญอย่าง Wolf Creek ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวของฆาตกรโรคจิตที่ดักจับนักท่องเที่ยวไปทรมาน หรือหนังดรามา/ผจญภัยอย่าง Walkabout เกี่ยวกับสองพี่น้องวัยเยาว์ที่ต้องเอาชีวิตรอดตามลำพังใน outback และบางครั้งความลึกลับ หลอกหลอน ชวนให้ค้นหาของภูมิประเทศก็ก้าวข้ามมาถึงขั้น กลืนกิน” ตัวละคร ดังจะเห็นได้จากหนังคลาสสิกอย่าง Picnic at Hanging Rock ของ ปีเตอร์ เวียร์ เกี่ยวกับการหายตัวไปของเด็กนักเรียนหญิงระหว่างไปปิกนิกที่ แฮงกิง ร็อค ในวันวาเลนไทน์เมื่อปี 1900

ความแห้งแล้ง เวิ้งว้างของภูมิประเทศ ซึ่งเป็นฉากหลังของ The Rover ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นภาวะตกต่ำ เสื่อมโทรมของโลกในอนาคตอันใกล้เท่านั้น แต่ยังเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แทนสภาพจิตใจของตัวละครเอก (กาย เพียซ) ชายเร่ร่อนที่ปราศจากเป้าหมายในชีวิต จนกระทั่งวันหนึ่งรถของเขาถูกกลุ่มโจรกระจอกขโมยไปต่อหน้าต่อตา นับจากนั้น (และตลอดความยาวของหนังทั้งเรื่อง) ขาก็ทุ่มเทความพยายามทั้งหมดให้กับการตามล่าเพื่อทวงรถคันนั้นกลับคืนมา โดยได้รับความช่วยเหลือจาก เรย์ (แพททินสัน) น้องชายหัวหน้ากลุ่มโจร ซึ่งถูกทิ้งให้นอนตาย ณ จุดเกิดเหตุ หลังการปล้นไม่ราบรื่นตามแผน จริงอยู่ว่าในท้ายที่สุดชายเร่ร่อนอาจยังมีลมหายใจอยู่ และพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่าเขาแข็งแกร่งพอจะอยู่รอดในแดนเถื่อนที่กฎหมายแทบจะไม่ต่างกับเสือกระดาษ แต่ในเวลาเดียวกันภูมิประเทศได้ดูดกลืนจิตวิญญาณ ตลอดจนความเป็นมนุษย์ของเขาไปทีละน้อย เขาลงมือฆ่าคนอย่างเลือดเย็นโดยไม่รู้สึกผิดเพียงเพื่อปืนหนึ่งกระบอก และบางครั้งก็ปราศจากเหตุผลชัดเจนใดๆ เขาอาจยังมีลมหายใจอยู่ แต่กลับดูไม่แตกต่างจากซากศพเดินได้

สำหรับฉันมันจบไปนานแล้ว” คำสารภาพของชายเร่ร่อนกับนายทหารที่จับกุมเขาเพื่อรอส่งตัวไปให้ทางการ เกี่ยวกับอาชญากรรรมที่เขาก่อในอดีตและผลที่ (ไม่) ตามมาบ่งบอกความสิ้นหวังแห่งยุคสมัยได้อย่างชัดเจน การลงทัณฑ์ไม่เพียงมีไว้เพื่อธำรงความยุติธรรมและกฎระเบียบภายในสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องหมายของศรัทธา ของการพึ่งพา ของความผูกพันระหว่างผู้คนอีกด้วย สังคมที่เราสามารถฆ่าคนได้โดยไม่ต้องรับโทษ ไม่รู้สึกรู้สาใดๆ หรือถูกตามล่าจากฝ่ายกฎหมายไม่เพียงจะกลายเป็นสังคมที่อันตราย น่าหวาดกลัวเท่านั้น แต่มันยังเป็นสังคมที่อ้างว้าง โดดเดี่ยว เพราะทุกคนต่างหมกมุ่นอยู่ในโลกส่วนตัว โดยไม่แคร์อื่นใด หรือผู้ใด ขอเพียงตัวเองได้มีชีวิตอยู่รอดต่อไปเท่านั้น ฉากที่เจ้าของร้านขายของชำใช้ปืนขู่บังคับชายเร่ร่อนให้ซื้อของในร้านตัวเองก่อน แล้วเขาถึงจะยอมบอกทางไปบ้านหมอ ช่วยตอกย้ำสภาวะดังกล่าว ขณะเดียวกันอารมณ์ขันที่สอดแทรกอยู่ลึกๆ ของฉากนี้ (เจ้าของร้านยังมีคุณธรรมพอจะไม่ปล้นเงินไปเลย แต่บังคับให้ซื้อของอะไรก็ได้อย่างหนึ่ง) ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าบางทีสังคมอาจยังไม่ถึงกาลล่มสลายเสียทีเดียว

มนุษยธรรมยังพอหลงเหลือประกายความหวังอยู่บ้างในรูปของคุณหมอสาว (ซูซาน ไพรเออร์) ที่ยินดีช่วยทำแผลให้เรย์โดยไม่หวังผลตอบแทน นอกจากนี้ ชายเร่ร่อนยังค้นพบอีกด้วยว่าเธอรับเลี้ยงสุนัขไว้จำนวนมาก แต่จำต้องขังพวกมันไว้ในกรงเพื่อป้องกันไม่ให้พวกมันถูกล่าไปกินเนื้อ หลังจากพวกเจ้าของนำมาฝากเลี้ยงไว้ แต่ไม่เคยมีใครมารับกลับไปเลย อย่างไรก็ตาม ชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับเธอ รวมเลยไปถึงบทเฉลยในฉากสุดท้ายของหนังว่าเหตุใดชายเร่ร่อนถึงต้องการทวงรถของตนคืนมาก็สะท้อนให้เห็นว่าคุณธรรมและความเมตตานั้นเป็นสองสิ่งที่ยากจะหล่อเลี้ยงไว้ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ทุกคนต่างก็คิดถึงตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก

The Rover อาจเริ่มต้นด้วยฉากแอ็กชั่นขับรถไล่ล่าในสไตล์ Mad Max แต่ถ้าใครคาดหวังความบันเทิงแบบ The Fast and The Furious คงได้เงิบสมบูรณ์แบบ เพราะหลังจากฉากเปิดเรื่องแล้ว (และอาจจะมีอีก 2-3 ฉาก ที่สร้างความกดดันทางอารมณ์ได้ไม่น้อยโดยเฉพาะในช่วงไคล์แม็กซ์) โฟกัสหลักของหนังกลับอยู่ตรงพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างสองตัวละครหลัก คือ ชายเร่ร่อนกับเรย์ มิตรภาพและความผูกพันที่งอกงามขึ้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกสำหรับหนังในแนวทาง road movie แต่ในเวลาเดียวกันผู้กำกับก็ไม่ได้พยายามจะบีบเค้นมันให้กลายเป็นประเด็นเมโลดรามาแต่อย่างใด เรย์เกาะติดชายเร่ร่อนดุจสุนัขที่ซื่อสัตย์และภักดีกับเจ้าของ ส่วนฝ่ายหลังก็อาจเริ่มต้นด้วยความหงุดหงิดรำคาญชายหนุ่มสมองทึบ ก่อนความรู้สึกของเขาจะค่อยๆ พัฒนาไปสู่ความสังเวชต่อมุมมองอันอ่อนต่อโลก (“ถ้าแกไม่รู้จักสู้ ความตายคงรอแกอยู่ไม่ไกล”) และความเห็นอกเห็นใจในท้ายที่สุด

มองจากเปลือกนอกชายเร่ร่อนอาจเป็นเหมือนเครื่องจักรฆ่าคนที่ปราศจากความรู้สึก หรือศีลธรรมจรรยา แต่ขณะเดียวกัน การที่เขาหมกมุ่นตั้งคำถามต่อความหมายของชีวิตก็แสดงให้เห็นเศษเสี้ยวแห่งมนุษย์ที่ยังหลงเหลืออยู่ภายใน ฉากที่เด่นชัดสุดอยู่ตรงบทสนทนาระหว่างเขากับนายทหาร เมื่อคนแรกตั้งคำถามในลักษณะโหยหาโลกใบเก่า โลกซึ่งการฆ่าคนยังมีความหมาย ยังเป็นเรื่องร้ายแรงใหญ่โต และศีลธรรม ตลอดจนความรู้สึกผิดยังเป็นหลักแนวคิดสำคัญ ขณะที่คนหลังกลับยืนกรานในวิถีแห่งโลกใบใหม่ โลกของการทำตามภารกิจเฉพาะหน้าโดยไม่คำนึงถึงภาพรวมในวงกว้าง เขาไม่สนใจว่าชายเร่ร่อนจะได้รับโทษตามความผิดหรือไม่ และไม่สนใจด้วยซ้ำว่าชายเร่ร่อนจะเคยก่ออาชญากรรมร้ายแรงอะไรมาก่อน เขาก็เป็นเช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่นๆ ในโลกที่ล่มสลาย นั่นคือ หมกมุ่นอยู่กับโลกส่วนตัว กับความอยู่รอดโดยไม่คิดตั้งคำถามว่า “ความเป็นมนุษย์จะดำรงอยู่ได้อย่างไรท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันโหดร้าย

ขณะที่หนังค่อยๆ เผยให้เห็นแง่มุมอันน่าเห็นใจของชายเร่ร่อน คนดูกลับได้เห็นเรย์ค่อยๆ ดำดิ่งสู่ความมืดมิดของโลกใบใหม่ เขาเริ่มต้นในลักษณะผ้าขาวบริสุทธิ์ เชื่อมั่นศรัทธาในพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม จนกระทั่งเมื่อเวลาผ่านไปมุมมองเยาะหยัน มืดหม่นของชายเร่ร่อน (“พระเจ้าฝังกระสุนไว้ในตัวแก แล้วทิ้งแกไว้กับฉัน ซึ่งไม่ผูกพันและไม่แคร์เลยสักนิดถ้าแกจะตายไป”) กลับค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในจิตใจเขา การฆ่าคนเป็นครั้งแรกของเรย์เกิดขึ้นจากความผิดพลาด หวาดกลัวและเขายิ่งรู้สึกผิดในภายหลังเมื่อปรากฏว่าเหยื่อกระสุนเป็นแค่เด็กหญิงตัวเล็กๆ แต่พอมาถึงการฆ่าคนในครั้งที่สอง (ช่วยชายเร่ร่อนหนีออกจากค่ายทหาร) ความสะใจ ความภาคภูมิใจเริ่มคืบคลานเข้ามาแทนที่ความรู้สึกผิด และหากให้เวลากับเขาอีกนิด เชื่อได้ว่าไม่นานเรย์คงมีสภาพไม่ต่างจากชายเร่ร่อน เมื่อการฆ่าหาได้กระตุ้นความรู้สึกใดๆ อีกต่อไป 

ฉากที่บ่งบอกตัวตนและพัฒนาการของเรย์ได้อย่างน่าเศร้า คือ ฉากที่เขานั่งร้องเพลงวัยรุ่นใสๆ อย่าง Pretty Girl Rock อยู่ในรถ ก่อนต่อมาจะเริ่มครุ่นคิดถึงการฆ่าพี่ชายตัวเอง มันพิสูจน์ให้เห็นว่าลึกๆ แล้วเรย์ยังเป็นแค่เด็กหนุ่มซึ่งโหยหาความสนุก ความสดใสในแบบวัยรุ่นทั่วๆ ไป แต่ความจริงแห่งปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงเขาให้กลายเป็นอีกคนหนึ่ง แกทำอะไรกับน้องฉันคำถามชวนสะเทือนใจของเฮนรีพุ่งเป้าไปยังชายเร่ร่อนในฐานะแพะรับบาป จริงอยู่ว่าชายเร่ร่อนอาจมีส่วนกระตุ้นความเปลี่ยนแปลงในตัวเรย์อยู่บ้าง แต่หากพิจารณาจากสภาพแวดล้อมของโลกที่ล่มสลาย จากสิ่งต่างๆ ที่เรย์ถูกบังคับให้ต้องเผชิญภายในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วัน ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือเป็นชะตากรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง เหลือเพียงแค่ว่ามันจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วเท่านั้น

บทเฉลยสุดท้ายของ The Rover อาจมอบความหวัง แล้วเรียกคืนความเห็นอกเห็นใจและความเป็นมนุษย์ให้กับตัวละครอย่างชายเร่ร่อน แต่หากสุนัขเป็นตัวแทนของมนุษยธรรมและคุณธรรมในดินแดนอันป่าเถื่อน โหดร้าย คนดูย่อมอดไม่ได้ที่จะรู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง เพราะเหมือนหนังกำลังจะบอกว่าในโลกที่ล่มสลาย โลกที่ทุกคนต่างดิ้นรนต่อสู้เพื่อตัวเองตามลำพัง (หรือตามสำนวนฝรั่งที่ว่า It’s a dog-eat-dog world) คนที่จะสามารถอยู่รอดได้ คือ คนที่รู้จักกลบฝังมนุษยธรรม หรือคุณธรรมเอาไว้... แต่ชีวิตแบบนั้นจะคุ้มค่ากับการอยู่รอดหรือไม่ นั่นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  

ไม่มีความคิดเห็น: