วันจันทร์, สิงหาคม 11, 2557

Short Comment: Oculus


เช่นเดียวกับหนังสยองขวัญอีกมากมายเกี่ยวกับเรื่องเร้นลับและพลังเหนือธรรมชาติ Oculus เริ่มต้นด้วยการงัดข้อกันระหว่างขั้วตรงข้าม นั่นคือ ฝ่ายวิทยาศาสตร์กับฝ่ายไสยศาสตร์ เมื่อสองพี่น้องวัยหนุ่มสาวทุ่มเถียงกันหลายยกเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมเมื่อ 11 ปีก่อน โดย ทิม (เบรนตัน ธเวทส์) ซึ่งเพิ่งจะถูกปล่อยตัวออกจากโรงพยาบาลโรคจิต เชื่อว่าการตายของพ่อกับแม่มีพื้นฐานมาจากปัญหาครอบครัว หาได้เกี่ยวข้องกับอำนาจพิศวงของกระจกโบราณบานหนึ่งในห้องทำงานพ่อเขาแต่อย่างใด ขณะที่ เคย์ลีย์ (คาเรน จิลแลน) กลับยืนกรานว่าความทรงจำของทิมถูกบิดเบือนโดยจิตแพทย์ทั้งหลาย ซึ่งพยายามหาคำอธิบายที่เชื่อถือได้ในทางวิทยาศาสตร์ให้กับปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ

พึงสังเกตอีกเช่นกันว่า เคย์ลีย์เป็นฝ่ายที่เชื่อมั่นในเรื่องมนตร์ดำ และแม่ของเธอก็โดน วิญญาณกระจก (ซึ่งปรากฏกายให้เห็นสองสามครั้งในรูปหญิงสาว) เข้าสิงจนเกือบจะฆ่าลูกตาย ขณะที่ทิมยืนหยัดเคียงข้างจิตวิทยา และพยายามหาเหตุผลที่โลกแห่งวิทยาศาสตร์ยอมรับได้มาอธิบายว่าทำไมพ่อแม่เขาถึงเปลี่ยนไป เนื่องจากตามธรรมเนียมของหนังสยองขวัญประเภทนี้ ผู้หญิง ซึ่งมีสรีระทางร่างกาย เปิดรับ มากกว่าผู้ชาย มักจะถูกอำนาจมืดเข้าสิงได้ง่ายกว่า หรือมีจิตสัมผัสพิเศษ หรือตระหนักรู้ในสิ่งเหนือธรรมชาติได้เร็วกว่า ดังจะเห็นได้จากหนังสยองในอดีตอย่าง The Exorcist, Poltergeist, Carrie, Rosemary’s Baby และ Silent Hill

แน่นอนว่าท้ายที่สุดแล้ว ทีมไสยศาสตร์ย่อมเป็นฝ่ายกำชัยชนะ เมื่อปรากฏชัดว่าวิทยาศาสตร์ไม่อาจอธิบายความพิลึกพิลั่น ผิดธรรมชาติทั้งหลายได้ และขณะเดียวกันก็อาจกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางให้เกิดความล่าช้าในการสกัดพลังมืด หรือยับยั้งความชั่วร้ายอีกด้วย ด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดแผนพิสูจน์ความจริงและทำลายกระจกของเคย์ลีย์โดยอาศัยบรรดาเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างกล้องกล้องวิดีโอ หรือสมอเรือที่ควบคุมโดยการตั้งเวลาจึงล้มเหลวไม่เป็นท่าเมื่อต้องเผชิญหน้ากับอำนาจมืด ทางออกที่ สมเหตุสมผลในจักรวาลหนังสยองขวัญของเธอ คือ ถ้าไม่หลบหนีแบบครอบครัวในหนังเรื่อง Poltergeist ก็ต้องอาศัย ไสยศาสตร์เข้าต่อกรแบบใน The Exorcist

ความแตกต่างของ Oculus จากหนังสยองขวัญทั่วไปอยู่ตรงที่ กระจกอาถรรพ์ดังกล่าวหาได้พยายามจะก้าวข้ามจากโลกแห่งวิญญาณมาสู่กายหยาบของมนุษย์ (ลองนึกถึงซาตานใน Rosemary’s Baby และ The Exorcist กับเหล่าผีหนีนรกใน Insidious) ตรงกันข้าม ดูเหมือนว่ามันพึงพอใจที่จะพรางตัวอยู่ในสิ่งของประจำวันซึ่งธรรมดาสามัญ แล้วแกล้งปั่นหัวมนุษย์ให้ฆ่ากันตายไปวันๆ อันที่จริง วิญญาณ ของกระจกที่คนดูมีโอกาสเห็นอยู่สองสามครั้งในหนังอาจไม่มีตัวตนอยู่เลยด้วยซ้ำ แต่เป็นแค่ภาพหลอนจากพลังอำนาจของกระจก (และความพยายามจะช็อกคนดูแบบง่ายๆ ของคนทำหนัง) ด้วยเหตุนี้ความหมกมุ่นของเคย์ลีย์ที่จะพิสูจน์ให้คนทั้งโลกเห็นว่ากระจกเจ้าปัญหามีอำนาจวิเศษแล้วลบล้างประวัติอื้อฉาวในครอบครัวไปพร้อมๆ กันจึงถือเป็นภัยคุกคามสูงสุด จนไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเธอจึงพบจุดจบชวนสลด ขณะที่ทิม ซึ่งพร้อมจะก้าวเดินต่อไปและใช้ชีวิตภายใต้หลักเหตุผล/วิทยาศาสตร์ กลับได้รับสิทธิ์ให้อยู่รอดปลอดภัย แม้จะในสภาพที่ไม่ชวนให้น่าพิสมัยสักเท่าไหร่

ฉากจบของ Oculus อาจถูกมองว่าเป็นการเปิดช่องสำหรับสร้างภาคต่ออย่างน่าไม่อาย แต่ขณะเดียวกันมันก็ช่วยตอกย้ำความซ้ำซ้อน หมุนเวียนเป็นงูกินหางของเรื่องราวและวิธีการเล่าเรื่องได้อย่างเจ็บแสบ เนื่องจากหนังได้ใช้วิธีตัดสลับระหว่างเหตุการณ์ในอดีตกับปัจจุบันตลอดทั้งเรื่อง โดยหลายครั้งผู้กำกับ ไมค์ ฟลานาแกน ถึงขนาดเลือกใช้การจัดวางภาพอย่างฉลาด และการเคลื่อนกล้องอันลื่นไหล เพื่อให้ตัวละครในอดีตกับปัจจุบันกลมกลืน ซ้อนทับอยู่ในช็อตเดียวกันแทนที่จะอาศัยการตัดภาพอันเรียบง่าย การเล่าเรื่องด้วยวิธีดังกล่าวสอดคล้องไปกับการคลี่คลายปมปัญหา เมื่อบทสรุปของทิมในวัยเด็กกลายมาเป็นภาพสะท้อนชะตากรรมของทิมในวัยหนุ่ม... ประวัติศาสตร์ความรุนแรงระหว่างมนุษย์ยังคงซ้ำรอยและจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ส่วน อำนาจมืดของกระจกก็ยังคงไม่เป็นที่รับรู้

ไม่มีความคิดเห็น: