วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 07, 2550

Y Tu Mama Tambien: ในความเปราะบางของชีวิต


โดยสัญชาตญาณเบื้องต้นและหลักตรรกวิทยาทั่วไป เมื่อเราเอ่ยอ้างถึงคำว่าคู่รัก มันมักจะมีความหมายถึงบุคคลสองคน ไม่ว่าจะเป็นชายกับหญิง หรือแม้กระทั่งหญิงกับหญิงและชายกับชาย ไม่ต่างอะไรจากสิงสาราสัตว์ในเรือของโนอาห์ซึ่งล้วนถูกจับให้รอดชีวิตมาเป็นคู่ๆ

แต่บรรดานักวิชาการหลายคนในปัจจุบันเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า องค์ประกอบพื้นฐานของคู่รักนั้นไม่ใช่สอง หากแต่เป็นสาม ทั้งนี้เนื่องมาจากประเพณีแห่งตำนานการเกี้ยวพาราสีนั้นมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของบุคคลผู้หนึ่งที่สามารถ ‘เอาชนะ’ คู่แข่งและแย่งชาย/หญิงคนรักมาครอบครองได้สำเร็จ ราวกับว่าความรักจะก่อกำเนิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราต้องฟันฝ่าผ่านอุปสรรค ขวากหนามเท่านั้น คู่รักที่ยิ่งใหญ่ โด่งดังระดับโลกล้วนมีความสัมพันธ์อยู่ในรูป ‘สามเส้า’ แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น อาร์เธอร์/กวิเนเวีย/แลนสล็อต, โอเธลโล่/เดสเดโมน่า/ลาโก หรือ เร็ตต์/สการ์เล็ตต์/แอชลี่ย์ ส่วนตัวปัจจัยด้านลบก็อาจจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป เช่น ถ้าบุคคลที่ตกหลุมรักเป็นผู้ชาย อุปสรรคของเขาก็อาจจะเป็นผู้ชายอีกคนหนึ่ง พ่อแม่หวงลูกสาว ความเชื่อทางศาสนา หรือกระทั่งอาชีพการงานที่เข้ามาขัดขวางรักนั้นไม่ให้สัมฤทธิ์ผลดังหมาย

นักคิด นักเขียนนาม เรเน่ จิราร์ด ได้ชี้นำผู้คนให้ตระหนักถึงการแข่งขัน (rivalry) ซึ่งเปรียบดังกุญแจสำคัญในพล็อตเรื่องโรแมนติกของวรรณกรรมตะวันตก มันคือตัวแปรที่เขาขนานนามว่า แรงปรารถนาสามเส้า (triangular desire) หรือแรงปรารถนาลอกเลียนแบบ (mimetic desire) หมายความถึงแรงปรารถนาซึ่งถูกกระตุ้นโดยมีศัตรูคู่แข่งเป็นตัวเร้า มากกว่าจะเกิดขึ้นโดยตรงจากบุคคลที่เราปรารถนา จิราร์ดเชื่อว่าความรักไม่ใช่เส้นตรง หากแต่เป็นสามเหลี่ยม และมนุษย์เราจะรู้สึกว่าของสิ่งหนึ่งหรือบุคคลคนหนึ่งน่าหลงใหล น่าครอบครองก็ต่อเมื่อมีคนอื่นปรารถนามัน/เขา/เธอเช่นเดียวกัน กล่าวอีกนัยคือ แรงปรารถนานั้นถูกสร้างขึ้นจากการขับเคี่ยว ชิงดีชิงเด่น ไม่ใช่จากตัวบุคคล/สิ่งของซึ่งเป็นที่ปรารถนา

แนวคิดของจิราร์ดมีรากฐานมาจากปมโอดิปุสของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (ลูกชายแข่งขันกับพ่อของตนเองเพื่อแย่งชิงความรักจากแม่มาครอบครอง) และทฤษฎีมนุษยวิทยาร่วมสมัยชื่อ The Traffic in Women ของ คลอด เลวี่-สเตร้าส์ (ศึกษาถึงต้นกำเนิดแห่งการกดขี่เพศหญิงโดยเน้นไปยังประวัติศาสตร์ยุคโบราณ เมื่อผู้หญิงถูกซื้อขาย แลกเปลี่ยนผ่านการแต่งงานเหมือนเป็นสินค้าหรือรางวัลระหว่างเพศชายสองคน พวกเธอถูกตีค่าในฐานะโซ่ทองคล้องสัมพันธภาพระหว่างชายสองคน มากกว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสัมพันธภาพนั้น) เนื่องจากธรรมเนียมปฏิบัติแห่งวัฒนธรรมตะวันตกนิยมยกผู้ชายเป็นศูนย์กลาง รักสามเส้าในความหมายของจิราร์ดจึงมักจะโยงใยถึงการแข่งขันระหว่างผู้ชายสองคนเพื่อแย่งชิงหญิงคนรักมาครอบครอง และการเน้นย้ำถึงความผูกพันระหว่างเพศชาย ปล่อยผู้หญิงเป็นเพียงรางวัลแด่ผู้ชนะนี่เอง ที่ทำให้รูปแบบทฤษฎีของจิราร์ดสื่อนัยยะรักร่วมเพศค่อนข้างชัดเจน (1)

ความสัมพันธ์ระหว่างสามตัวละครหลักใน Y Tu Mama Tambien สะท้อนถึงแนวคิดข้างต้น พร้อมกันนั้นยังได้ขยายนัยยะให้โดดเด่นเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นด้วย หนังเริ่มต้นจากการปูรากฐานให้แก่มิตรภาพอัน ‘แน่นแฟ้น’ ระหว่างเตนอชกับฮูลิโอ พวกเขาช่วยตัวเองพร้อมกัน ต่อหน้ากัน ที่สระว่ายน้ำ พวกเขาพูดคุย จ้องมอง และเปรียบเทียบเจ้าโลกของตนกับอีกฝ่ายอย่างเปิดเผย จากนั้นอารมณ์โฮโมอีโรติกในสัมพันธภาพก็เริ่มส่อแววชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อลุยซ่าก้าวเข้ามาอยู่กึ่งกลาง พวกเขากะลิ้มกะเหลี่ยเธอนับแต่แรกพบ และไม่นานต่อมา เมื่อเตนอชได้ครอบครองเธอก่อนระหว่างการเดินทางไปชายหาด เฮเว่น’ส เม้าท์ ฮูลิโอ ซึ่งเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด จู่ๆก็สารภาพโพล่งกับเตนอชว่า เขาเคยมีเซ็กซ์กับ อานา แฟนสาวของเตนอช บทสนทนาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากทั้งสอง ‘แข่งขัน’ ว่ายน้ำกันจบ (เกมกีฬาที่พวกเขาโปรดปราน) เตนอชปล่อยให้ฮูลิโอชนะ เหมือนเขารู้สึกผิดที่แอบมีอะไรกับลุยซ่าลับหลังฮูลิโอ และก่อนหน้านั้นเสียงบรรยายก็บอกเล่าความรู้สึกของฮูลิโอว่า ไม่ใช่อารมณ์โกรธแค้น แต่เป็นความรู้สึกคล้ายกับตอนที่เขาเห็นแม่ยืนกอดกับพ่อทูนหัว (พ่อแท้ๆของฮูลิโอจากไปตั้งแต่เขายังเล็ก และความจริงที่ว่าลุยซ่ามีอายุมากกว่าฮูลิโอหลายปีก็เป็นดรรชนีบ่งชี้ถึงปมโอดิปุสเช่นกัน)(2)

วิธีที่หนังเน้นย้ำถึงความสนิทสนมและการแข่งขันระหว่างชายหนุ่มสองคน ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าฮูลิโอปรารถนาในตัวลุยซ่าจริงๆ หรือเขาปรารถนาเธอเพียงเพราะเตนอชต้องการจะครอบครองเธอ เป็นไปได้ไหมที่เขารู้สึกเสียใจไม่ใช่เพราะเขาไม่ได้ลุยซ่า แต่เพราะเตนอชกลายเป็นผู้ชนะ (อย่างน้อยก็ในยกแรก) และการโพล่งคำสารภาพออกมาก็เพื่อกอบกู้เครดิตตนเองในสายตาของคู่แข่ง เมื่อลุยซ่าเปรียบเสมือนหมากในเกมการขับเคี่ยวระหว่างเตนอชกับฮูลิโอ คำถามที่ตามมาคือ ใครกันแน่ที่ฮูลิโอหึงหวง เตนอชหรือลุยซ่า?

ไม่กี่ฉากต่อมา คนดูจะได้เห็นเตนอชซักถามรายละเอียดแบบทุกซอกทุกมุมจากฮูลิโอเรื่องที่เขาเป็นชู้กับอานา (เธอถึงจุดสุดยอดไหม? เธอสวมชุดอะไร? เธอใช้ปากกับแกหรือเปล่า?) ราวกับเขาโมโหฮูลิโอที่แอบนอกใจเขามากกว่าจะเสียใจที่ถูกแฟนสาวหักหลัง วันรุ่งขึ้น เมื่อลุยซ่าเสนอตัวกับฮูลิโอในรถจนฝ่ายชายเสร็จสมอารมณ์หมาย เตนอชก็กระทำการแบบเดียวกันกับฮูลิโอ เขาสารภาพว่าเคยมีเซ็กซ์กับ เซซิเลีย แฟนสาวของฮูลิโอ ทั้งสองเริ่มต้นทะเลาะกันใหญ่โต และเมื่อลุยซ่าพยายามจะเข้ามาห้ามปราม ฮูลิโอก็ผลักเธอออกไปเหมือนเธอ ‘ไม่เกี่ยว’ กับเรื่องนี้ นำไปสู่การระเบิดความจริงของลุยซ่า ซึ่งดูเหมือนจะเข้าใจเด็กหนุ่มทั้งสองมากกว่าพวกเขาเข้าใจตัวเองเสียอีก เธอตะโกนว่า “ที่พวกเธอต้องการจริงๆก็คือการอึ๊บกันเอง นั่นแหละที่พวกเธอต้องการ”

หลังจาก ‘เล้าโลม’ ผู้ชมด้วยนัยยะมาตลอดทั้งเรื่อง ฉาก ‘สามคนผัวเมีย’ ในตอนท้ายจึงแทบจะเรียกได้ว่าไม่น่าแปลกใจ กระนั้นฉากดังกล่าวก็ก้าวไปไกลกว่าแค่เป็นการเติมเต็มแฟนตาซีธรรมดาๆ บทจูบอันดูดดื่มระหว่างเตนอชกับฮูลิโอถูกนำเสนอในฐานะจุดหักเหแห่งวัยเยาว์ และจุดสิ้นสุดของความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ค่ำคืนนั้น ลุยซ่า หญิงสาวซึ่งถูกปรับสถานะให้สูงขึ้นกว่าการเป็นแค่รางวัลของผู้ชนะเหมือนพล็อตสามเส้าตามธรรมเนียมโบราณ ได้สอนบทเรียนสำคัญกับไก่อ่อนสองคนให้รู้จักการทำรักอย่างถูกวิธี เพราะเซ็กซ์เป็นเรื่องของการแบ่งปัน เป็นเรื่องของการรับและการให้ ซึ่งนั่นคือแนวคิดที่สองหนุ่มผู้หมกมุ่นอยู่แต่กับจุดสุดยอด (ของตนเอง) ไม่คุ้นเคย เธอทำให้พวกเขายอมสลัดทิ้งกำแพงแห่งความเป็นชายหรือการเสแสร้งทั้งหลายทั้งปวง แล้วหันมาสำรวจลึกถึงความรู้สึกและรสนิยมทางเพศของพวกเขา จุมพิตนั้นเปรียบดังการพบศพเหยื่อที่ถูกรถไฟชนตายใน Stand By Me มันคือชั่วขณะแห่งความจริง ซึ่งออกจะมากและตรงเกินกว่าจะรับไหวสำหรับวัยเด็กอันเปี่ยมไปด้วยอุดมคติ (กฎประจำกลุ่มที่เตนอชกับฮูลิโอร่ายให้ลุยซ่าฟัง หนึ่งในนั้นคือ ความจริงเป็นสิ่งที่ดี แต่เข้าไม่ถึง) ด้วยเหตุนี้ ในเวลาต่อมา เตนอชกับฮูลิโอจึงค่อยๆเหินห่างกันไป พวกเขาเติบใหญ่กลายเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เตนอชเปลี่ยนไปเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ตามที่พ่อของเขาปรารถนา แทนการเป็นนักเขียนตามที่เคยฝันไว้ ทั้งสองได้พบกันอีกครั้งบนถนน พวกเขาชวนไปดื่มกาแฟและพูดคุยกันอย่างเคร่งขรึม ก่อนสุดท้ายจะแยกกันไป พร้อมเสียงบรรยายที่บอกกับผู้ชมว่าเตนอชกับฮูลิโอจะไม่ได้พบเจอกันอีกเลย…

พล็อตเรื่องรักสามเส้าที่แทรกนัยยะโฮโมอีโรติกเอาไว้ภายในคือรูปแบบซึ่งเหมาะสมกับหนัง ‘สอดไส้’ อย่าง Y Tu Mama Tambien พอดิบพอดี

พิจารณาจากสไตล์ภาพยนตร์ Y Tu Mama Tambien มีจุดเด่นอยู่สองประการคือ เสียงบรรยายเล่าเรื่องของบุคคลที่สาม (กลวิธีที่ผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศสอย่างโกดาร์ดและทรุฟโฟต์ชื่นชอบ) และการเคลื่อนกล้องแบบ long take โดยใช้ประโยชน์เต็มที่จากสเตดิแคม

ตามปรกติแล้วเทคนิคภาพยนตร์ด้านภาพและเสียงมีหน้าที่เสริมส่งเรื่องราว เน้นย้ำอารมณ์ หรืออธิบายบุคลิกตัวละคร แต่ภาพและเสียงบรรยายในหนังเรื่องนี้บ่อยครั้งกลับจงใจ ‘ดึง’ ผู้ชมออกจากเหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ กล้อง ภายใต้การควบคุมของผู้กำกับภาพ เอ็มมานูเอล ลูเบสกี้ มักจะเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระจนเกือบจะเป็นเอกเทศ ตัวอย่างเช่น ฉากในร้านอาหาร ขณะเตนอช, ฮูลิโอ และลุยซ่า กำลังพูดคุยกันอย่างออกรสออกชาติ กล้องกลับล่องลอยตามหญิงชาวบ้านคนหนึ่งเข้าไปในห้องครัว จับภาพคนงานกำลังล้างจาน และหญิงชราคนหนึ่งกำลังเต้นรำอย่างสนุกสนาน เช่นเดียวกับเสียงบรรยายซึ่งหลายครั้งหันไปเล่าถึงเหตุการณ์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเหล่าตัวละครเอกเลย เช่น เรื่องคนงานก่ออิฐคนหนึ่งถูกรถชนตายเพราะไม่มีสะพานลอยให้ข้าม

ยุทธวิธีดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้กำกับ อัลฟองโซ่ คัวรอน ซ้อนทับเรื่องราวหลักของเขาอย่างแนบเนียนด้วยบทเปรียบเทียบประเทศเม็กซิโกในองค์รวมกับความสัมพันธ์สามเส้าของเตนอช, ฮูลิโอ กับลุยซ่า เริ่มจากภาพสังเกตการณ์ว่าประเทศเม็กซิโกประกอบไปด้วยบุคคลสองชนชั้น คือ ผู้มีอันจะกินอย่างเตนอช ซึ่งนามสกุล อิตัวร์ไบเด อ้างอิงมาจากลูกชายขุนนางชั้นสูงที่กลายมาเป็นกษัตริย์องค์แรกของประเทศเม็กซิโกหลังประกาศอิสรภาพ และพวกปากกัดตีนถีบอย่างฮูลิโอ ซึ่งนามสกุล ซาปาต้า อ้างอิงมาจากชาวนาที่กลายมาเป็นผู้นำการปฏิวัติในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 กล้องกับเสียงบรรยายช่วยสะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างชนชั้นเป็นนัยยะ เช่น ในฉากที่คนรับใช้เดินข้ามบ้านเป็นระยะทางยาวไกล เพื่อนำแซนด์วิชไปให้เตนอชซึ่งกำลังนอนฟังเพลงอย่างสบายอารมณ์อยู่ในห้อง หรือฉากงานฉลองพิธีแต่งงานอัน ‘ต่ำต้อย’ ของครอบครัวอิตัวร์ไบเด ซึ่งมีประธานาธิบดีเจียดเวลามาร่วมงานและมีจำนวนบอดี้การ์ดมากกว่าแขกเหรื่อ โดยขณะที่กล้องจับภาพสาวใช้กำลังเดินเอาอาหารไปให้เหล่าบอดี้การ์ดในลานจอดรถ เสียงคนเล่าก็เริ่มสาธยายถึงภารกิจต่างๆนาๆหลังเสร็จจากร่วมงานเลี้ยงของท่านประธานาธิบดี

เตนอชกับฮูลิโอคือตัวแทนของสองเม็กซิโก ประเทศซึ่งในความเห็นของคัวรอนยังคงอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ รอวันจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ส่วน ลุยซ่า ครูผู้สอนบทเรียนให้แก่ฮูลิโอกับเตนอช ก็ถูกกำหนดให้มีอายุมากกว่าและมาจากสเปน ประเทศซึ่งเคยเป็นผู้ปกครอง เป็นเจ้าของภาษา และเก่าแก่กว่าเม็กซิโกในแง่วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกันเรื่องราวชีวิตของตัวละครยังสอดคล้องไปกับสภาพการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกด้วย เช่น ในตอนท้าย เมื่อมิตรภาพระหว่างเตนอชกับฮูลิโอผกผันไปอย่างคาดไม่ถึง เสียงบรรยายก็แจ้งข้อมูลให้ผู้ชมทราบว่ามันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พรรค PRI ซึ่งครองอำนาจเด็ดขาดในเม็กซิโกมานานถึง 71 ปีเต็มต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้แก่พรรคฝ่ายค้านเป็นครั้งแรก ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนมือทางการเมืองครั้งสำคัญ

โดยเปลือกนอก Y Tu Mama Tambien มีรูปแบบของหนังวัยรุ่นและสะท้อนถึงคุณสมบัติแห่งวัยเยาว์ซึ่งนักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส โรเบิร์ต เบนายูน สรุปเอาไว้ได้อย่างสวยงามว่าประกอบไปด้วย ความไร้เดียงสา อุดมคติ อารมณ์ขัน การแหกกฎเกณฑ์ และพฤติกรรมบ้าเซ็กซ์ นิยามดังกล่าวบ่งบอกถึงสองส่วนผสมสำคัญที่ค่อนข้างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของหนังในแนวทางนี้ นั่นคือ ความบ้าคลั่ง (การทำลายข้าวของ การต่อต้านผู้ปกครอง และการถอดเสื้อผ้า) และความบริสุทธิ์/ความหวัง/การมองโลกในแง่ดี เนื่องจากวัยรุ่นคือประสบการณ์อันเข้มข้นบนรอยต่อระหว่างวัยผู้ใหญ่กับวัยเด็ก อดีตกับอนาคต การปราศจากตัวตนและการเติบโตเป็นใครสักคน มันคือช่วงเวลาแห่งความคลุมเคลือ แต่ขณะเดียวกันทุกอย่างก็ดูเหมือนจะเป็นไปได้

ท่ามกลางเซ็กซ์อันเร่าร้อน มุขตลกผายลม และบุหรี่ยัดไส้กัญชา สิ่งหนึ่งซึ่งซุกซ่อนเอาไว้ในหนัง และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Y Tu Mama Tambien แตกต่างจากหนังวัยรุ่นทั่วไปก็คือ แนวคิดเกี่ยวกับความเปราะบางของชีวิต

หนัง ‘หมกมุ่น’ กับความตายตลอดทั้งเรื่อง เสียงบรรยายพร่ำพูดถึงอุบัติเหตุบนท้องถนนที่คร่าชีวิตผู้คนมากมาย กล้องตามจับภาพป้ายหลุมศพข้างถนน สุสาน และขบวนงานศพ ลุยซ่าเล่าให้เตนอชกับฮูลิโอฟังเรื่องแฟนหนุ่มคนแรกของเธอซึ่งเสียชีวิตในอุบัติเหตุรถชนเมื่ออายุได้ 17 ปี (วัยเดียวกันกับพวกเขา) ก่อนต่อมาเธอจะสอนเด็กหญิงชาวประมงคนหนึ่งให้ลอยตัวในน้ำ “เหมือนกับศพ” รายละเอียดเหล่านี้ถูกนำเสนอแบบผ่านๆราวจะไม่มีความหมายพิเศษใดๆ จนกระทั่งเรื่องราวดำเนินมาถึงบทสรุปสุดท้าย เมื่อหนังเปิดเผยถึงความลับของลุยซ่า หลังจากบอกใบ้เป็นนัยๆไว้บ้างแล้ว ตอนที่เธอได้รับตุ๊กตาเป็นของขวัญจากหญิงชราคนหนึ่ง มันเคยเป็นของหลานสาวชื่อเดียวกันของหญิงชราผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ

การตอกย้ำให้เห็นความตายซึ่งรายล้อมอยู่ทั่วไป คือกลวิธีส่งสารเป็นนัยยะของคัวรอนว่าชีวิตของมนุษย์ไม่แน่นอน ไม่ยั่งยืน และไม่อาจคาดเดาได้ นอกจากความตายที่ปลายทาง ดังนั้นเราทุกคนจึงควรจะฉกฉวยทุกโอกาส ทุกประสบการณ์ในการสร้างคุณค่า ความสุขให้แก่ทุกวันคืน ทุกโมงยาม ทุกนาที… เหมือนคำพูดสุดท้ายของลุยซ่ากับสองเด็กหนุ่มที่ว่า “ชีวิตเปรียบไปก็คล้ายกับการโต้คลื่น ฉะนั้นจงเรียนรู้ที่จะปล่อยตัวปล่อยใจไปกับท้องทะเล”

หมายเหตุ

1. แนวคิดเกี่ยวกับรักสามเส้าอ้างอิงจากบทความ Erotic Triangles โดย มาร์จอรี การ์เบอร์ ในหนังสือ Vice Versa: Bisexuality and the Eroticism of Everyday Life

2. ฟรอยด์เชื่อว่าเด็กผู้ชายจะผันแปรการแข่งขันกับพ่อมาเป็นเลียนแบบพ่อแทน และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ซึ่งมีสภาพจิตปรกติในที่สุด แต่หากพัฒนาการดังกล่าวไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์หรือเกิดข้อบกพร่อง เด็กคนนั้นอาจเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการยึดติด (fixation) ทำให้เขาชื่นชอบผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า (เหมือนแม่)

ไม่มีความคิดเห็น: