วันจันทร์, ธันวาคม 20, 2564

Milk: การเมืองกับเรื่องส่วนตัว

ไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อนหน้าหรือหลังจากคว้ารางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมมาครอง ดัสติน แลนซ์ แบล็ค มักจะให้สัมภาษณ์ตอกย้ำอยู่เสมอว่า ตอนเด็กๆ เขาเติบโตมาในสังคมมอร์มอนที่เคร่งศาสนา (ปลายปี 2007โบสถ์มอร์มอนได้ทุ่มเงินกว่า 20 ล้านเหรียญเพื่อสนับสนุนการผ่านข้อแก้กฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือ Proposition 8 ซึ่งระบุให้การแต่งงานเป็นเอกสิทธิ์สำหรับชายกับหญิงเท่านั้น และก็ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย) นั่นหมายความว่าเขาต้องอาศัยอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัว อับอาย และรู้สึกผิด เนื่องจากวิถีแห่งรักร่วมเพศถือเป็น “บาปมหันต์” ในสายตาของมอร์มอน เป็นเส้นทางที่จะนำคุณไปสู่นรกและการสาปแช่ง 

เรื่องราวชีวิตของ ฮาร์วีย์ มิลค์ ได้จุดประกายความหวังขึ้น ช่วยให้แบล็คมองเห็นว่าโลกอันกว้างใหญ่ใบนี้ยังมีที่ทางสำหรับเขา ยังมีคน “แบบเดียวกับเขา” อีกมาก และที่สำคัญ ยังมีสังคมอื่นซึ่งเปิดกว้างต้อนรับความรัก ความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจเหนือความเกลียดชังและอคติ

แรงบันดาลใจดังกล่าวกลายมาเป็นหัวใจสำคัญต่อความสำเร็จของ Milk หลังจากโปรเจ็กหนังเรื่องนี้ถูกดองเค็มมานานหลายปี เปลี่ยนผ่านมือผู้กำกับและคนเขียนบทชั้นนำจำนวนไม่น้อย (ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณความสำเร็จทางการตลาดของหนังอย่าง Brokeback Mountain) ทั้งนี้เนื่องจากบทภาพยนตร์ของแบล็คไม่ลืมที่จะย้ำเตือนผู้ชมว่าความยิ่งใหญ่ของ ฮาร์วีย์ มิลค์ หาได้อยู่แค่การเป็นนักการเมืองเกย์ไม่แอบคนแรกๆ ของอเมริกา หรือการรณรงค์คว่ำ Proposition 6 ซึ่งจะกีดกันรักร่วมเพศไม่ให้ทำงานในสถานบันการศึกษา แต่ยังรวมถึงการเป็นแรงบันดาลใจให้เกย์เลสเบี้ยนจำนวนมากได้สัมผัสประกายความหวังของการดำรงชีวิตโดยไม่รู้สึกด้อยค่า หรือต้องหลบๆ ซ่อนๆ เหมือนอาชญากรคดีอาญา

ฉากสำคัญที่ช่วยโยงแง่มุมมหภาค (การเมือง) และจุลภาค (แรงบันดาลใจ) ของมิลค์เข้าด้วยกันอย่างแนบเนียนคงหนีไม่พ้นฉากที่มิลค์ (ฌอน เพนน์) ได้รับโทรศัพท์จากเกย์หนุ่มในมินนิโซตาที่กำลังคิดอยากฆ่าตัวตาย เด็กหนุ่มตัดสินใจโทรหามิลค์ หลังจากเห็นเขาออกข่าวทีวีภาคค่ำ มิลค์พยายามปลอบใจ พร้อมทั้งเสนอให้ชายหนุ่มทิ้งครอบครัวในสายเลือด ซึ่งไม่ยอมรับเขาและต้องการให้เขาไปพบจิตแพทย์ แล้วตรงเข้าเมืองใหญ่เพื่อค้นหาครอบครัวที่เขาเลือกได้ จากนั้นอีกไม่กี่นาที มิลค์ก็ต้องออกมารับมือฝูงชนรักร่วมเพศที่กำลังโกรธแค้นอย่างหนักจนใกล้จะก่อจลาจล หลังจาก แอนนิต้า ไบรอันท์ ประสบชัยชนะในฟลอริด้า พร้อมทั้งเจรจากับตำรวจเพื่อขออนุญาตนำการเดินขบวน

อารมณ์ตึงเครียดข้างต้นกลับคลี่คลายไปสู่ความอิ่มเอิบ สุขสันต์ ในฉากทำนองเดียวกันช่วงท้ายเรื่อง เมื่อเด็กหนุ่มคนเดิมโทรศัพท์หามิลค์เพื่อแจ้งชัยชนะของผลโหวตคว่ำ Proposition 6 (มหภาค) พร้อมกับประกาศว่าเขาทำตามคำแนะนำของมิลค์และ (โดยนัย) ไม่ได้คิดจะฆ่าตัวตายอีกแล้ว (จุลภาค)

สำหรับ ฮาร์วีย์ มิลค์ การเมืองกับเรื่องส่วนตัวดูเหมือนจะเป็นสองสิ่งที่ไม่อาจแยกจากกันได้ เขาลงสมัครเลือกตั้งเพื่อหวังจะเป็นตัวแทนของเกย์และเลสเบี้ยน ต่อสู้พิทักษ์สิทธิ์ของชนกลุ่มน้อย แต่กลับพบปัญหาใหญ่จากเสียงต่อต้านของชนกลุ่มใหญ่ ซึ่งหวาดกลัวความเปลี่ยนแปลงและไม่เข้าใจรักร่วมเพศ ผู้ทรงอิทธิพลในวงการแนะนำว่าโอกาสชนะเลือกตั้งของเขาจะมากขึ้น หากลดภาพลักษณ์ความเป็นเกย์ลงเพื่อลดแรงเสียดทานจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม แต่มิลค์ปฏิเสธทางเลือกนั้น เนื่องจากตลอดชีวิตที่ผ่านมา เขาใช้เวลา “อยู่ในตู้” เป็นส่วนใหญ่ และได้รับความเจ็บปวด ตลอดจนสร้างความเจ็บปวดให้คนรอบข้างเพราะการหลบๆ ซ่อนๆ มามากพอแล้ว

ดังนั้นขณะที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมพยายามรุกไล่รักร่วมเพศเข้าสู่มุมมืด ดำเนินชีวิตตามวิถี “ไม่ถามอย่าบอก” มิลค์กลับพยายามรุกไล่รักร่วมเพศทั้งหลายให้เลิกแอบ แล้วใช้ชีวิตอย่างเปิดเผย ปราศจากความหวาดกลัว เพราะเขาเชื่อมั่นว่านั่นเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน อีกทั้งมันยังจะช่วยทำลายอคติเกี่ยวกับรักร่วมเพศ ซึ่งสร้างขึ้นโดยกลุ่มคลั่งศาสนาและคาทอลิกตกขอบ ในฉากหนึ่งมิลค์ถึงกับบีบให้สมาชิกคนหนึ่งในทีมแคมเปญหาเสียงบอกความจริงกับพ่อแม่ โดยอ้างว่า หากคนส่วนใหญ่ตระหนักว่ามีรักร่วมเพศอยู่รายล้อมรอบตัว ทราบว่าลูกของตน พี่น้องของตน เพื่อนร่วมงานของตน หรือลูกน้องของตนเป็นรักร่วมเพศ เขาก็ย่อมจะมีโอกาสได้คะแนนโหวตเพิ่มขึ้น เพราะเห็นได้ชัดว่าการหวังพึ่งเสียงสนับสนุนจากเกย์และเลสเบี้ยนเพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ

หนึ่งในอคติที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมใช้วาดภาพรักร่วมเพศ คือ พวกเขาเป็นศัตรูของสถาบันครอบครัว พวกเขากำลังสั่นคลอนรากฐานทางสังคมเพราะพวกเขาไม่สามารถ “ผลิตซ้ำ” ได้ นั่นเป็นข้อโจมตีที่ แดน ไวท์ (จอช โบรลิน) ยิงใส่มิลค์ในฉากหนึ่ง ซึ่งฝ่ายหลังไม่ได้พยายามโต้แย้ง แต่กลับเลือกใช้อารมณ์ขันตอบโต้แทน

คำถามสำคัญอยู่ตรงที่คุณคิดว่าครอบครัวคืออะไร ถ้าการมีลูกมีหลานสืบสายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ ถือเป็นปัจจัยหลักที่ไม่อาจขาดได้ เช่นนั้นแล้วมนุษย์จะแตกต่างอะไรกับสัตว์ แล้วชายหญิงที่เป็นหมันไม่สามารถมีลูกล่ะ พวกเขาถือเป็นศัตรูของสถาบันครอบครัวแบบเดียวกับรักร่วมเพด้วยไหม มิลค์เลือกจะไม่ตอบโต้ข้อโจมตีดังกล่าวด้วยคำพูด แต่แสดงออกผ่านการกระทำ กล่าวคือ บรรดาทีมหาเสียงของเขาไม่ได้เป็นแค่ลูกจ้าง แต่ยังเป็นครอบครัวที่เขาเลือกเอง คนเหล่านี้หลายคนไม่สามารถค้นหาการยอมรับ ความเคารพ หรือกระทั่งความรักได้จากครอบครัวในสายเลือด แต่ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่มิลค์ยินดีจะหยิบยื่นให้พวกเขาด้วยความเต็มใจ ไม่ว่าพวกเขาจะเคยเป็นผู้ชายขายน้ำมาก่อนเหมือน คลีฟ โจนส์ (อีไมล์ เฮิร์ช) หรือเป็นหนุ่มต่างชาติที่ไม่รู้หัวนอนปลายเท้าอย่าง แจ๊ค ลิรา (ดิเอโก้ ลูนา) มิลค์เลือกจะไม่ตัดสินคนจากแค่เปลือกนอก หรือสิ่งฉาบฉวยเช่นรสนิยมทางเพศ หากแต่มองลึกถึงจิตใจภายใน รวมทั้งพยายามผลักดันศักยภาพที่ซุกซ่อนอยู่ให้ลุกโชติช่วง นี่ไม่ใช่หรือคือสิ่งที่ “ครอบครัว” ควรจะเป็น ใครกันแน่ที่วิปริตระหว่างรักร่วมเพศกับพ่อแม่ที่ส่งลูกของตัวเองไปเข้ารับการบำบัดทางจิต ซึ่งในยุคนั้นหลายคนยัง รักษา รักร่วมเพศโดยการช็อตไฟฟ้าเข้าสมอง

Milk รักษาสมดุลระหว่างภาพชีวิตส่วนตัวและผลงานทางการเมืองของ ฮาร์วีย์ มิลค์ ได้อย่างยอดเยี่ยม ฟุตเตจจริงและภาพข่าวถูกนำมาผสมกลมกลืนกับฟุตเตจใหม่ได้อย่างแนบเนียน มองในมุมหนึ่ง Milk อาจเป็นผลงานกระแสหลักเรื่องแรกของ กัส แวน แซนท์ นับแต่ Finding Forrester หลังจากหันไปผลิตภาพยนตร์อาร์ตเฮาส์กึ่งทดลองอยู่พักใหญ่ ได้ผลงานเน้นอารมณ์ บรรยากาศ โดยแทบจะปราศจากโครงเรื่องที่จับต้องได้อย่าง Gerry, Elephant, Last Days และ Paranoid Park แต่มองในอีกมุมหนึ่ง Milk ยังคงกลิ่นอายของหนังนอกกระแสเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดสัมพันธภาพระหว่างรักร่วมเพศอย่างตรงไปตรงมา หรือการไม่พยายามอธิบายสาเหตุการกระทำของไวท์ (คล้ายคลึงกับ Elephant) รวมเลยไปถึงลูกเล่นด้านภาพในบางฉาก อาทิ ตอนที่ คลีฟ โจนส์ โทรศัพท์หาพรรคพวกเพื่อรวมพลมาร่วมประท้วง ซึ่งช่วยสะท้อนอารมณ์แห่งยุคสมัยไปพร้อมๆ กับสร้างความรู้สึกของหนังทดลอง

หนังแจกแจงเส้นทางการเมืองของมิลค์อย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมจะสะท้อนให้เห็นผลกระทบของการเมืองต่อชีวิตส่วนตัวของเขา ตั้งแต่การแยกทางกับ สก็อตต์ (เจมส์ ฟรังโก้) ชายหนุ่มที่เขาพบรักในสถานีรถไฟใต้ดินก่อนจะตัดสินใจย้ายมาซานฟรานซิสโกเพื่อตั้งรกรากด้วยกัน ไปจนถึงการจากไปของแจ๊ค แต่ที่สำคัญเส้นทางการเมืองได้ชักนำเขาให้มารู้จักกับผู้ชายมีปมอย่าง แดน ไวท์ ซึ่งจะกลายร่างเป็นเพชฌฆาตเลือดเย็นในตอนเช้าของวันที่ 27 พฤศจิกายน 1978 คำถามหนึ่งที่คนดูอดคิดไม่ได้ คือ ไวท์ฆ่าเหยื่อเพราะแรงริษยาทางด้านอาชีพการงาน เพราะมิลค์คอยขัดขวางไม่ให้เขากลับมาดำรงตำแหน่งเดิม (และมีอิทธิพลหรือได้รับความยำเกรงจากคนรอบข้างมากพอจะทำได้) หรือเพราะความอิจฉาเป็นการส่วนตัว มิลค์เป็นเกย์ที่ค้นพบความสงบทางจิตใจ ใช้ชีวิตอย่างเปิดเผย เต็มไปด้วยกลุ่มเพื่อนที่เข้าอกเข้าใจ ในขณะที่ไวท์ยังคงสับสนกับแรงปรารถนาในเบื้องลึก ปมเกลียดตัวเอง และต้องติดหล่มอยู่ในสังคมคาทอลิกอันเคร่งครัด จนสุดท้ายก็ตัดสินใจหาทางออกด้วยการฆ่าตัวตาย

อย่างไรก็ตามอาจพูดได้ว่าไคล์แม็กซ์และพลังโดยรวมของ Milk อยู่ตรงสงครามระหว่างมิลค์กับวุฒิสมาชิก จอห์น บริกส์ (เดนิส โอ’แฮร์) และ แอนนิต้า ไบรอันท์ อดีตนางงาม/นักร้องที่ผันตัวมาคลุกคลีการเมือง ในแคมเปญคว่ำ/สนับสนุน Proposition 6 ซึ่งจะกีดกันไม่ให้เกย์ทำงานเป็นครูในสถาบันการศึกษา (หนึ่งในคำให้สัมภาษณ์อันโด่งดังของไบรอันท์ คือ “ในฐานะแม่คนหนึ่ง ฉันรู้ว่ารักร่วมเพศไม่สามารถผลิตลูกได้ ดังนั้นพวกเขาจึงต้องมาเกณฑ์ลูกๆ ของเราไปเข้าร่วม ถ้าเรามอบสิทธิ์ให้พวกเกย์ อีกหน่อยเราก็คงต้องมอบสิทธิ์ให้โสเภณีและพวกที่ชอบร่วมเพศกับสุนัข”) ความพยายามจะต้อนรักร่วมเพศให้เข้ามุมอับของฝ่ายขวาได้ก่อให้เกิดผลสะท้อนกลับ กลายเป็นกระแสความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิ์อันชอบธรรมของอย่างกว้างขวาง เกย์เลสเบี้ยนจำนวนมากออกมาร่วมเดินขบวนแสดงพลัง พร้อมทั้งเปิดเผยตัวกับคนรอบข้าง ซึ่งนำไปสู่เสียงสนับสนุนจากกลุ่มอื่นๆ ด้วย (กระทั่งประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ และอดีตผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย โรนัลด์ เรแกน ก็ยังออกโรงต่อต้าน Proposition 6) 

ดังที่กล่าวไปแล้ว ชัยชนะของมิลค์หาใช่การคว่ำ Proposition 6 เท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการที่เขาทำให้ชาวรักร่วมเพศได้มองเห็นความหวังแห่งชีวิตที่ดีกว่า ชีวิตที่ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในมุมมืด และถูกปฏิบัติดุจพลเมืองชั้นสอง ซึ่งนั่นทรงคุณค่ายาวนาน ส่งผลต่อชีวิตนับหมื่นนับแสนยิ่งกว่าการคว่ำ Proposition 6 เสียอีก ดังจะเห็นได้จากแสงเทียนสุดลูกหูลูกตาของฝูงชนที่เดินทางมาร่วมไว้อาลัยในฉากสุดท้าย กัส แวน แซนท์ เลือกใช้ฟุตเตจจริงเพื่อตอกย้ำให้เห็นว่ามันไม่ใช่เทคนิคพิเศษ หรือคอมพิวเตอร์กราฟฟิก หากแต่เป็นมวลพลังแห่งศรัทธาล้วนๆ

ไม่มีความคิดเห็น: