วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 16, 2558

พี่ชาย My Hero: ตราบาปของผู้ชนะ


ความจริงแล้วผมมีความรู้สึกว่าชื่อเดิมของหนังเรื่องนี้ นั่นคือ How to Win at Checkers (Every Time) ดูเหมือนจะสามารถสื่อสารใจความสำคัญของหนังได้ชัดเจน ตรงประเด็น (แต่แน่นอนว่าคงไม่ค่อยเชิญชวนในแง่การตลาดสักเท่าไหร่) กว่าชื่อใหม่อย่าง พี่ชาย My Hero และที่สำคัญมันยังไม่ได้ไปคล้ายคลึงกับชื่อหนังไทยเกาะกระแสวายเมื่อปีก่อนเรื่อง พี่ชาย My Bromance จนอาจสร้างความสับสนให้กับผู้ชมทั่วไปอีกด้วย จริงอยู่ว่าสำหรับ โอ๊ต (อิงครัต ดำรงค์ศักดิ์กุล) หลังจากสูญเสียพ่อแม่ไปตั้งแต่ยังเล็กจนต้องย้ายมาอาศัยอยู่บ้านป้า เขาย่อมมองเห็นพี่ชาย (ถิร ชุติกุล) เป็นเหมือนฮีโร เพราะเอกถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องทำหน้าที่เหมือนพ่อคนที่สอง คอยเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนน้องชาย และพร้อมกันนั้นก็ต้องหาเงินมาคอยจุนเจือครอบครัว แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไป มุมมองของโอ๊ตและของคนดูต่อตัวละครอย่างเอกกลับค่อยๆ แปรเปลี่ยน เขาหาใช่วีรบุรุษ ซึ่งถูกยกย่อง เชิดชู หรือสดุดีในแบบที่ชื่อหนังโน้มนำไปทางนั้นแต่อย่างใด บางทีถ้าหนังถูกตั้งชื่อใหม่ว่า พี่ชาย My Tragic Hero มันอาจสื่อสารอารมณ์ได้ชัดเจนกว่า

จุดหักเหสำคัญของเรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อเอกต้องไปเกณฑ์ทหารและเสี่ยงดวงด้วยการจับใบดำใบแดง โดยก่อนหน้านี้หนังได้ปูพื้นให้เห็นปัญหาความรุนแรงในภาคใต้เพื่อตอกย้ำความเสี่ยงของอาชีพทหาร ขณะเดียวกันเอกก็ยังต้องเป็นห่วงอีกด้วยว่าใครจะคอยดูแลน้องชาย ถ้าเขาต้องไปเข้าประจำการและเงินเดือนทหารอันน้อยนิดจะพอสำหรับประคับประคองครอบครัวให้อยู่รอดได้มั้ย เช่นเดียวกับคำถามที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างเขากับใจ๋ (จิณณะ นวรัตน์) แฟนหนุ่มวัยเดียวกัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องกังวลใดๆ เพราะพ่อแม่เขาได้จัดการติดสินบนผู้มีอิทธิพลเรียบร้อยแล้ว เพื่อรับประกันว่าลูกชายจะต้องจับได้ใบดำ

หนังได้แรงบันดาลใจจากสองเรื่องสั้นของ รัฐวุฒิ ลาภเจริญทรัพย์ คือ At the Café Lovely ซึ่งครอบคลุมในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างสองพี่น้อง และ Draft Day ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับการจับใบดำใบแดง โดยการดัดแปลงของผู้กำกับชาวอเมริกัน-เกาหลี จอช คิม ให้สองตัวละครเอกจาก Draft Day เป็นคู่รักกันแทนที่จะเป็นแค่เพื่อนสนิท นอกจากจากช่วยเพิ่มระดับความเข้มข้นทางด้านอารมณ์ให้หนักหน่วงขึ้นแล้ว มันยังสื่อนัยยะให้เห็นการ ชำเราทางชนชั้นได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากสำคัญช่วงท้ายเรื่อง เมื่อโอ๊ตค้นพบว่าพี่ชายเขาสิ้นหวังขนาดสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อแลกกับเงินห้าพันบาท

น่าประหลาดใจที่ว่าถึงแม้ พี่ชาย My Hero จะเดินทางไปฉายตามเทศกาลหนังเกย์และเลสเบี้ยนมาแล้วทั่วโลก แต่ตัวหนังโดยเนื้อแท้จริงๆ กลับไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อประเด็น หรือการสำรวจตัวตนแบบรักร่วมเพศมากนัก ซึ่งมองในแง่หนึ่งก็ถือเป็นคุณลักษณะหัวก้าวหน้าอยู่เช่นกัน กล่าวคือ สภาพสังคมในหนังดูเหมือนจะถูกนำเสนอว่าก้าวข้ามรสนิยมทางเพศไปแล้ว ตัวละครผู้ชายสองคนสามารถรักกัน คบหากันได้อย่างเปิดเผยโดยไม่ถูกล้อเลียน ต่อต้าน และพวกเขาก็ไม่ต้องเผชิญความสับสน หรือปมขัดแย้งใดๆ ภายในจิตใจ ความรักระหว่างชายสองคนกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เป็นธรรมชาติที่ทุกคนยอมรับ ตรงข้ามกับช่องว่างระหว่างชนชั้น ซึ่งยังคงดำรงอยู่ และดูเหมือนจะยิ่งฝังรากลึก ดังจะเห็นได้ว่าป้าของเอกไม่เห็นชอบในความสัมพันธ์ระหว่างหลานชายกับใจ๋ ไม่ใช่เพราะทั้งคู่เป็นผู้ชาย แต่เพราะทั้งคู่มีพื้นฐานทางชนชั้นแตกต่างกันมากเกินไป ซึ่งหนังก็ตอกย้ำให้เห็นตั้งแต่ฉากแรกๆ

เอกเปรียบเสมือนตัวแทนของชนชั้นล่างประเภทหาเช้ากินค่ำ และรูปลักษณ์ภายนอกของเขายังสะท้อนความเป็น ไทยผ่านผิวที่ค่อนข้างคล้ำและใบหน้าคมเข้ม ขณะที่ใจ๋เป็นตัวแทนของชนชั้นกลางเชื้อสายจีนผิวขาวที่เกิดมาบนกองเงินกองทอง บ้านของคนหนึ่งให้ความรู้สึกแบบชนบท ทั้งทุ่งหญ้า เกมกระดานหมากฮอส และเล้าไก่ ส่วนบ้านของอีกคนก็ให้ความรู้สึกแบบคนเมืองที่เต็มไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวก เกมทันสมัย และความโอ่อ่า (ด้วยเหตุนี้การที่โอ๊ตเติบใหญ่กลายเป็น โทนี รากแก่น จึงถือว่ามีน้ำหนักสอดคล้องไปกับเนื้อหาได้อย่างกลมกลืนมากกว่าจะมองว่าเป็นความไม่สมจริง) ความแตกต่างทางด้านวัตถุ หรือรูปลักษณ์ภายนอกหาใช่อุปสรรคเมื่อคู่รักใช้เวลาเป็นส่วนตัวร่วมงาน แต่มันกลับกลายเป็นปัญหาคุกคามเมื่อพวกเขาต้องมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก

สำหรับฟันเฟืองเล็กๆ ในสังคมแห่งทุนนิยมที่ไร้เรี่ยวแรง ไร้เส้นสาย และที่สำคัญที่สุดไร้เงินทุนอย่างเอก เขาไม่สามารถต้านทาน หรือมองเห็นช่องทางซิกแซ็กออกจากระบบ กฎเกณฑ์ซึ่งตั้งขึ้นโดยชนชั้นสูงได้ ตัวช่วยเดียวที่ป้าของเขาพอจะหามาให้ได้ คือ เครื่องราง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการบนบานศาลกล่าวทั้งหลาย ซึ่งหนังเหมือนจะนำเสนอในเชิงล้อเลียนตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องว่าไม่เคยทำให้ชีวิตของใครดีขึ้นได้จริงๆ แต่ความเจ็บปวดอยู่ตรงที่สิ่งเหล่านั้นดูจะเป็นความหวังเดียวของเหล่าประชาชนผู้ไม่ค่อยมีอันจะกินซึ่งต้นทุนชีวิตต่ำและเหลือทางเลือกอยู่ไม่มากนัก แม้ว่ามันจะเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ เพียงใดก็ตาม

ถ้าตัวละครอย่างเอกจะเป็นฮีโร เขาก็คงเป็นฮีโรที่น่าเศร้า เพราะถึงแม้จะเต็มไปด้วยคุณสมบัติดีงาม แต่เขาก็ไม่อาจก้าวข้ามชะตากรรม ซึ่งถูกกำหนดไว้แล้วล่วงหน้าไม่ว่าจะโดยพระเจ้า พลังเหนือธรรมชาติ หรือวิถีบิดเบี้ยวของสังคมแห่งทุนนิยมก็ตาม ด้วยเหตุนี้ บทสรุปของเอกทั้งระหว่างขั้นตอนการจับใบดำใบแดงและผลลัพธ์ที่ตามมาหลังจากนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากต่อการคาดเดา

แต่โอ๊ตแตกต่างจากพี่ชายตรงที่เขาพยายามดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักแห่งชะตากรรม แม้จะต้องอาศัยวิธี สกปรกก็ตาม ความขันขื่นอยู่ตรงที่พฤติกรรมดังกล่าวของโอ๊ตนั้นเรียกได้ว่าปราศจากความชอบธรรมมากพอๆ กับพฤติกรรมรีดไถของมาเฟียท้องถิ่น (โกวิท วัฒนกุล) หรือกระทั่งการติดสินบนของพ่อแม่ใจ๋ แต่สุดท้ายเขากลับกลายเป็นคนเดียวที่ได้รับการลงทัณฑ์ ขณะคนอื่นๆ กลับสามารถเชิดหน้าชูตาอยู่ในสังคมได้อย่างเปิดเผย และคอรัปชันบางประเภทก็เป็นที่รับรู้โดยทั่วไป แต่ผู้คนส่วนใหญ่กลับเลือกจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เนื่องจากพวกเขาอยู่ในสถานะได้เปรียบ หรือไม่ได้รับผลกระทบใดๆ โดยตรง

บุคลิกไม่ยอมจำนนของโอ๊ตสะท้อนชัดในฉากที่เขาลงทุนซื้อหนังสือสอนวิธีเล่นหมากฮอสให้ชนะทุกตาเพื่อจะได้ค้นหาแต้มต่อเหนือพี่ชายในเกมการเดิมพัน และในที่สุดก็ได้รับผลตอบแทนเป็นชัยชนะสมดังตั้งใจ ไคล์แม็กซ์ของหนังหากมองผ่านเลนส์ของแนวทาง coming-of-age คือ เมื่อเอกตัดสินใจพาน้องชายไปทัวร์ที่ทำงานของเขาในค่ำคืนหนึ่ง ซึ่งให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับการออกไปผจญภัยของเหล่าเด็กๆ ใน Stand By Me เพื่อค้นหาศพเหยื่อที่ถูกรถไฟชนในป่า (ฉากหลังของหนังซึ่งให้อารมณ์ชนบทมาโดยตลอดกลับแปรเปลี่ยนเป็นกรุงเทพในฉับพลัน โดยยั่วล้อไปกับการล่มสลายแห่งวัยเยาว์ได้อย่างเหมาะเจาะ) ค่ำคืนนั้นเปลี่ยนแปลงชีวิตและตราตรึงอยู่ในความทรงจำของโอ๊ตไม่ใช่เพียงเพราะเขามีโอกาสเข้าไปคลุกคลีวงในกับโลกมืดของเซ็กซ์และยาเสพติดเท่านั้น แต่มันยังเป็นค่ำคืนที่ภาพลักษณ์ดุจวีรบุรุษของเอกในจินตนาการของน้องชายต้องพังทลายลงอย่างราบคาบ เด็กชายได้เห็นพี่ชายเขาในสภาพที่พ่ายแพ้หมดรูป ศักดิ์ศรี หรืออุดมการณ์ถูกปลดเปลื้องจนสูญสิ้นด้วยอารมณ์จนตรอกผสานกับความเจ็บแค้นต่อชะตากรรม

ในท้ายที่สุดสิ่งที่โอ๊ตได้เรียนรู้หาใช่คุณค่าสูงส่งของความซื่อสัตย์ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงอันโหดเหี้ยมการเล่นตามกฎหาได้ลงเอยด้วยความสุขสมหวัง หรือชัยชนะเสมอไป หนังอาจไม่ได้บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมา แต่หากสังเกตจากคอนโดหรูที่โอ๊ตวัยหนุ่ม (โทนี รากแก่น) พักอาศัยอยู่ มอเตอร์ไซค์ราคาแพงที่เขาขับ และท่าทีไม่ยี่หระใดๆ ของเขาในการจับใบดำใบแดง คนดูก็จะพลันตระหนักได้ว่าโอ๊ตก้าวพ้นจากสถานะผู้แพ้มาเป็นผู้ชนะในที่สุด แต่เช่นเดียวกับใจ๋ เขาไม่ได้ยินดีเสียทีเดียวที่รอดพ้นจากการปล่อยชะตากรรมไว้กับดวง หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ และยังคงถูก หลอกหลอนด้วยความฝันเกี่ยวกับคืนนั้น มันเปรียบเสมือนความรู้สึกผิดของชนชั้นกลาง เมื่อพวกเขาตระหนักดีถึงความไม่เท่าเทียมกัน และส่วนหนึ่งก็อาจนึกเห็นใจ สงสารชนชั้นล่างที่จำต้องอดทนกับการกดขี่ กับความอยุติธรรม กับชีวิตที่สิ้นไร้ทางเลือก แต่ขณะเดียวกันก็อ่อนแอ เห็นแก่ตัวเกินกว่าจะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลง เพราะพวกเขาเสพติดในอภิสิทธิ์และชัยชนะ... ก็ใครบ้างล่ะที่อยากจะพ่ายแพ้ไปตลอด

ไม่มีความคิดเห็น: