วันเสาร์, พฤศจิกายน 21, 2558

The Assassin: การเมืองกับเรื่องส่วนตัว


ตอนหนังเปิดตัวที่เมืองคานส์ แม้ว่ามันจะกวาดคำชมจากนักวิจารณ์มาอย่างท่วมท้น แต่หลายคน (รวมถึงคนที่ชื่นชอบ) ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพล็อตของ The Assassin ค่อนข้างเข้าใจยาก ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะมันซับซ้อนซ่อนเงื่อนแต่อย่างใด ตรงกันข้ามผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของ โหวเสี่ยวเชียน ออกจะมีเนื้อเรื่องเรียบง่ายด้วยซ้ำ ทุกคนน่าจะสามารถเก็ตพล็อตคร่าวๆ ของหนังได้ไม่ยาก แต่จุดที่สร้างความงุนงงคงเป็นรายละเอียดเชื่อมโยงเหตุการณ์ ตลอดจนแรงจูงใจของตัวละครเสียมากกว่า ซึ่งไม่ได้รับการอธิบาย หรือถ้ามีก็แบบผ่านๆ ไม่ถูกตอกย้ำชัดเจนจนอาจลอยผ่านจากการดูครั้งแรก พูดง่ายๆ ก็คือ หนังเหมือนไม่ค่อยแคร์คนดูเท่าไหร่ว่าจะติดตามเรื่อง หรือจดจำใบหน้าตัวละครได้หรือไม่ แน่นอนผลลัพธ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากผู้กำกับขาดทักษะในการเล่าเรื่อง แต่เป็นความจงใจของโหวเสี่ยวเชียนเองที่จะกระชับเหตุการณ์และสร้างความคลุมเครือเพื่อเอื้อให้สามารถตีความได้หลากหลายกว่าการเล่าเรื่องตามธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไป

โหวเสี่ยวเชียนบอกว่าเขาถ่ายฟุตเตจไว้เยอะมาก ถึงขนาดหมดฟิล์มไปเกือบ 5 แสนฟุต (นี่เป็นหนังทุนสร้างสูงสุดของเขา) แต่พอมานั่งดูในห้องตัดต่อ เขากลับพบว่าฟุตเตจจำนวนหนึ่งไม่มีความจำเป็น และสุดท้ายก็ถูกตัดออกไปค่อนข้างมาก โดยแรกทีเดียวเขาไม่คิดจะใส่คำอธิบายในช่วงต้นเรื่องเพื่อปูพื้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเว่ยป๋อกับราชสำนักด้วยซ้ำ แต่ตัวแทนจำหน่ายหนังที่ฝรั่งเศสอยากให้เขาใส่ไว้เพราะกลัวว่าคนจะไม่เข้าใจเรื่องราว

ความไม่แคร์คนดูของโหวเสี่ยวเชียนอาจพบเห็นได้ตั้งแต่ผลงานในยุคแรก ซึ่งมักจะพูดถึงประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของไต้หวัน ตลอดจนวิกฤติตัวตนแห่งประเทศ โดยไม่นิยมอธิบายความแบบเน้นย้ำ หรือปูพื้นฐานความเข้าใจ ฉะนั้นคนดูที่พอจะมีความรู้ในสิ่งเหล่านั้นย่อมสามารถ เก็บเกี่ยวจากหนังของเขาได้มากกว่านักดูหนังทั่วไป (หนังของโหวไม่เพียงกระตุ้นให้เราต้องแอ็กทีฟระหว่างชมเท่านั้น แต่ยังกินความไปถึงหลังจากดูจบอีกด้วย) ดังเช่นความสัมพันธ์ระหว่างเว่ยป๋อและราชสำนักใน The Assassin ก็มีลักษณะของภาพสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ ความเศร้าสร้อยขององค์หญิงเจียเช็งที่ต้องตัดขาดจากราชสำนักมาอยู่เมืองชายแดนก็เปรียบได้กับอารมณ์ถวิลหาของคนเฒ่าคนแก่ที่ต้องพลัดพรากแผ่นดินเกิดมาอยู่ที่ไต้หวัน ในทางตรงข้ามอ๋องเทียน (จางเจิ้น) ซึ่งปรารถนาจะแยกตัวเป็นอิสระจากราชสำนัก เปรียบได้กับคนรุ่นใหม่ในไต้หวันที่ปราศจากจุดเชื่อมโยงกับจีนแผ่นดินใหญ่

นอกจากนี้หนังยังจับคู่ให้เห็นสองสิ่งที่เหมือนกันโดยรากเหง้า แต่แยกห่างเป็นเอกเทศผ่านรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อีกด้วย เช่น หยกสองชิ้นและตัวละครฝาแฝดที่ปรากฏอยู่โดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นองค์หญิงเจียเช็ง/องค์หญิงแม่ชี ลูกชายของท่านอ๋อง หรือกระทั่งหยินเหนียง (ซูฉี) กับนักฆ่าหญิงสวมหน้ากาก ซึ่งหนังไม่ได้อธิบายว่าเป็นใคร หรือมีจุดเชื่อมโยงกับเรื่องราวอย่างไร คนดูแค่เห็นเธอต่อสู้กับหยินเหนียงในฉากหนึ่ง (อีกฉากเป็นตอนที่เธอเดินอยู่ในป่า) เธอไม่เคยเปิดเผยหน้าตาให้คนดูเห็นสักครั้ง หนำซ้ำโหวยังเพิ่มระดับความสับสนขึ้นไปอีกขั้นด้วยการให้นักแสดงที่เล่นเป็นชายาอ๋องมาสวมบทบาทนี้ ซึ่งคนดูจะรับทราบก็ต่อเมื่อได้เห็นเครดิตช่วงท้ายเรื่องเท่านั้น[1] การตัดแบ็คกราวด์ตัวละครออกทำให้โหวสามารถเล่นสนุกกับจินตนาการของคนดูซึ่งอาจตีความได้ว่านักฆ่าสวมหน้ากากกับหยินเหนียงเป็นภาพสะท้อนของกันและกัน (ทั้งคู่ฝีมือทัดเทียมกัน และในการประลองก็ไม่มีใครสามารถเอาชนะใครได้) ดุจเดียวกับเรื่องราวนกเต้นที่เห็นภาพตัวเองในกระจก หรือมันอาจมีจุดมุ่งหมายเพื่อถ่ายทอดการต่อสู้ดิ้นรนในจิตใจหยินเหนียงท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างภารกิจกับอารมณ์ส่วนตัว[2]

การเมืองกับเรื่องส่วนตัวเป็นสองสิ่งที่ซ้อนทับกันในหลายระดับ หยินเหนียงเคยถูกหมั้นหมายให้แต่งงานกับอ๋องเทียน แต่โดนการเมืองแทรกแซงจนเธอต้องระหกระเหินไปฝึกวิทยายุทธกับองค์หญิงแม่ชี เช่นเดียวกัน องค์หญิงเจียเช็ง (มารดาของอ๋องเทียน) ก็ต้องตัดขาดจากญาติพี่น้องและราชสำนักเพราะการเมืองบีบบังคับให้เธอต้องแต่งงานกับอ๋องของเว่ยป๋อในเวลานั้นเพื่อรับรองความภักดีของเว่ยป๋อต่อราชสำนัก หยินเหนียงได้รับมอบหมายจากองค์หญิงแม่ชีให้กลับมาสังหารอ๋องเทียน คนรักเก่าของเธอ เพราะเขามีท่าทีกระด้างกระเดื่องต่อราชสำนัก แต่เช่นเดียวกับภารกิจสังหารเจ้าเมืองในช่วงต้นเรื่อง หยินเหนียงไม่อาจตัดขาดสามัญสำนึก/ความรู้สึกส่วนตัว แล้วเดินหน้าปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จ นอกจากนี้ จิตใจที่ไม่แข็งแกร่งพอ ที่ไม่อาจตัดขาดอารมณ์มนุษย์ได้ตามข้อกล่าวหาขององค์หญิงแม่ชี ยังชี้นำให้หยินเหนียงเลือกจะช่วยเหลือหูจี สนมเอกที่อ๋องเทียนรักใคร่อย่างแท้จริง หาใช่ชายาซึ่งเขาแต่งงานด้วยเหตุผลทางการเมือง เมื่อนางต้องตกอยู่ในอันตรายจากการตั้งครรภ์ เพราะมันถือเป็นภัยคุกคามในสายตาของชายาอ๋อง

การงัดข้อระหว่างสองสิ่งยังถูกสะท้อนผ่านการถ่ายทำของโหวเสี่ยวเชียน ซึ่งสร้างสมดุล/ขัดแย้งระหว่างฉากภายนอกกับภายในได้อย่างดงาม (ต่างจากผลงานก่อนหน้าของโหวอย่าง Flowers of Shanghai ซึ่งดำเนินเหตุการณ์ภายในอาคารทั้งหมด) เฟรมภาพของโหวหลายครั้งก็แช่นิ่งอยู่กับที่ หรือมีการแพนกล้องอย่างเชื่องช้า แต่กลับเต็มไปด้วยชีวิตชีวาและมนต์เสน่ห์เพราะเขาใช้ประโยชน์จากโฟรกราวด์ แบ็คกราวด์ได้อย่างน่าตื่นเต้น รวมไปถึงการจัดวางองค์ประกอบภาพอันวิจิตร บางช็อตคนดูจะเห็นผ้าม่านปลิวไสวอยู่ด้านหลัง บ้างก็ปิดกั้นตัวละครพร้อมกับสะท้อนแสงจากเปลวเทียนที่เต้นระริกตามแรงลม ในช็อตช่วงท้ายเรื่องคนดูจะเห็นองค์หญิงแม่ชียืนอยู่บนยอดเขาสูง ขณะม่านหมอกค่อยๆ แผ่เข้าปกคลุมแบ็คกราวด์อย่างเชื่องช้า หรือบางทีโหวก็จะสร้างความเคลื่อนไหวอย่างอ่อนละมุน ด้วยการค่อยๆ เปลี่ยนโฟกัสภาพ ขณะเดียวกันการเลือกถ่ายทำช็อตในระยะไกลและปานกลางเป็นส่วนใหญ่ (ซึ่งโหวโปรดปรานและเชี่ยวชาญไม่แพ้ใคร) ก็ช่วยทำให้คนดูได้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครกับตัวละคร ตัวละครกับเหตุการณ์ และตัวละครกับพื้นที่ว่างในแบบที่ช็อตโคลสอัพไม่สามารถทำได้ ด้วยเหตุนี้ ในฉากที่อ๋องเทียนนั่งตีกลองพร้อมกับชมการแสดงเต้นระบำ แทนการตัดสลับภาพไปมาระหว่างอ๋องเทียนกับการแสดง โหวเลือกจะรวมทั้งสองอย่างไว้ในช็อตเดียวกัน โดยปล่อยให้ชายกระโปรงที่ปลิวสะบัดตามการหมุนตัวของนางระบำเป็นโฟรกราวด์ ซึ่งอาจกินพื้นที่ในเฟรมมากกว่าอ๋องเทียนที่นั่งอยู่ห่างออกไป แต่เป็นโฟกัสหลักของภาพ

ในเวลาเดียวกัน The Assassin ยังผสมความขัดแย้งระหว่างสไตล์เฉพาะของโหวเข้ากับสไตล์ของหนังกำลังภายในได้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ โหวไม่ได้หันหลังให้กับธรรมเนียมปฏิบัติเสียทีเดียว คนดูยังพอจะเห็นการตัดภาพแบบฉับไวอยู่บ้างในฉากแอ็กชั่น แม้ว่ามันจบลงรวดเร็วพอๆ กับตอนเริ่มต้น และบางครั้งก็ถูกถ่ายทอดจากระยะไกล ทั้งนี้เนื่องจากโหวต้องการความ สมจริง เขาไม่อยากให้ตัวละครเหาะเหินเดินอากาศ ฉะนั้นหลังจากตัวละครประลองฝีมือกันเสร็จ แทนการตัดภาพสู่ฉากต่อไป โหวกลับให้คนดูเห็นพวกเขาเดินแยกย้ายกันไป ซึ่งให้อารมณ์ในลักษณะแอนตี้ไคล์แม็กซ์ ฉากแอ็กชั่นมักจะสั้นเกินไป หรือไกลเกินไปจนคนดูไม่อาจรู้สึกตื่นเต้น หรือตื่นตาแบบที่เราชาชินกับหนังแนวนี้ การฆ่าไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้น และหยินเหนียงเองก็ไม่เคยแสดงท่าทีพอใจกับภารกิจที่ได้รับ ลักษณะดังกล่าวค่อนข้างสวนทางกับแก่นในหนังกำลังภายในส่วนใหญ่ ซึ่งแค้นต้องได้รับการชำระ ความภักดีมีค่าเหนืออื่นใด และความตายบางครั้งก็เป็นเรื่องสมควร

บทสรุปของ The Assassin ให้ความรู้สึกหวานปนเศร้าอยู่ในที เมื่อหยินเหนียงตัดสินใจที่จะบอกลาความวุ่นวายแห่งการเมืองและอดีตรักอันเจ็บช้ำ แล้วไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กับคนขัดกระจก (ซาโตชิ ทสึมาบุกิ) เธอเลือกปฏิเสธความเป็นหนึ่ง (“เจ้าบรรลุเพลงกระบี่ ใยไม่อาจตัดอารมณ์ของมนุษย์”) เลือกที่จะไม่รับใช้ใคร หรืออุดมการณ์ใด เธอเลือกที่จะหันหลังให้กับสายใยแห่งอดีต แห่งความบริสุทธิ์วัยเด็ก และบางทีการตัดขาดอย่างเด็ดเดี่ยวก็อาจทำให้เธอค้นพบอิสระอย่างแท้จริง




[1] โหวอธิบายปริศนาไว้ว่า เดิมทีในต้นฉบับ (หนังดัดแปลงจากเรื่องสั้น หนี่หยินเหนียง เขียนโดย เป่ยซิง) เธอกับหมอผีเคราขาวเป็นปรมาจารย์ด้านวิทยายุทธ เธอกับชายาอ๋องเป็นตัวละครคนละคน แต่ในหนังผมอยากแสดงให้เห็นว่าครอบครัวของชายาอ๋องจับลูกสาวแต่งงานกับลูกชายของตระกูลเทียนเพื่อครองอำนาจในเว่ยป๋อ ฉะนั้นชายาอ๋องจึงเป็นนักฆ่าที่ฝีมือไร้เทียมทานไปด้วย เวลาเธอสัมผัสถึงภัยคุกคาม เธอก็จะหยิบหน้ากากมาใส่ แล้วกลายร่างเป็นนักฆ่า ในหนังชายาอ๋องและนักฆ่าสวมหน้ากากจึงเป็นคนๆ เดียวกัน อันที่จริงท่านอ๋องก็รู้เรื่องนี้ แต่ไม่มีใครพูดถึงมัน

[2] โหวให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการที่คนดูส่วนใหญ่บอกว่าหนังค่อนข้างดูยากว่า เป็นเรื่องปกติและช่วยอะไรไม่ได้ ทุกวันนี้การทำหนังสไตล์ฮอลลีวู้ดได้รับความนิยมอย่างสูง มันมีโครงสร้างเรื่องราวที่เข้มงวด ถ้าหนังเรื่องใดไม่ดำเนินตามรูปแบบดังกล่าว ไม่ทำให้ทุกอย่างต่อเนื่องเพียงพอ คนดูก็จะติดตามเรื่องราวได้ยากลำบาก แต่นั่นเป็นเพียงวิธีหนึ่ง ในโลกแห่งภาพยนตร์ยังมีวิธีเล่าเรื่องที่แตกต่างออกไปอีกมาก เนื่องจากฮอลลีวู้ดเป็นแหล่งผลิตหนังที่ทรงอิทธิพล คนรุ่นใหม่จึงพยายามจะเลียนแบบฮอลลีวู้ด อันที่จริง นักทำหนังเกือบทั้งหมดอยากเลียนแบบสไตล์ฮอลลีวู้ด แต่ผมไม่คิดเช่นนั้น ผมคิดว่าหนังที่ดี คือ คนดูจะยังจินตนาการต่อไปแม้กระทั่งหลังจากหนังจบแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: