วันอังคาร, เมษายน 24, 2550

Matchstick Men: อาชญากรรมและการลงทัณฑ์


กฎหมายถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้รักษาระเบียบในสังคม ปกป้อง คุ้มครองประชาชน และลงโทษบุคคลผู้ล่วงละเมิด มันเปรียบดังบรรทัดฐานที่คอยตีกรอบพฤติกรรมแห่งมวลชน มิให้แต่ละคนกระทำการตามอำเภอใจโดยใฝ่ประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ฉะนั้นหากปราศจากกฎหมายแล้วไซร้ เชื่อได้ว่าโลกของเราคงวุ่นวาย ไร้ความยุติธรรม คนดีคงถูกกลั่นแกล้งและคนชั่วคงหนีรอดลอยนวล อย่างไรก็ตาม ต่อประเด็นดังกล่าว นักเขียนนามอุโฆษ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ ได้เคยแสดงแง่มุมอันน่าสนใจเอาไว้ในนิยายอมตะเรื่อง Crime and Punishment ว่า บางครั้งบทลงทัณฑ์อาจถือกำเนิดขึ้นก่อนขบวนการทางกฎหมายจะเข้ามาเกี่ยวข้องก็ได้

ราสโคลนิคอฟ ตัวเอกในนิยาย ได้ก่ออาชญากรรม (ฆ่าเจ้าของโรงรับจำนำ) ไว้ในช่วงต้นเรื่อง แต่บทลงทัณฑ์ของเขา (ถูกส่งตัวไปทำงานหนักที่ไซบีเรีย) กลับปรากฏอยู่ในบทส่งท้าย หลายร้อยหน้าหลังจากเหตุนองเลือด โดยเนื้อความซึ่งแทรกกลางระหว่างสองปรากฏการณ์หลัก คือ บทสำรวจลึกถึงสภาพทางจิตของอาชญากรหรือโลกในมโนคติของราสโคลนิคอฟ อันคราคร่ำไปด้วยความรู้สึกแคลงใจ ตื่นตระหนก ประหม่า หวาดกลัว จนกระทั่งหดหู่ สิ้นหวัง กล่าวคือ สิ่งที่ดอสโตเยฟสกี้สนใจหาใช่รูปธรรมแห่งผลกรรมในตอนท้าย แต่เป็นสภาวะทุกข์ทรมานเหลือแสนของราสโคลนิคอฟอันเนื่องมาจากการฆาตกรรมต่างหาก และเมื่อหนังสือให้ความสำคัญกับการจองจำเพียงน้อยนิด มันจึงพลอยสื่อนัยยะกลายๆว่า บทลงทัณฑ์ทางกฎหมายนั้นเลวร้ายน้อยกว่าความตึงเครียดอันเกิดจากการพยายามจะหลบเลี่ยงการถูกลงทัณฑ์มากมายนัก ซึ่งนั่นเองกลายเป็นการลงทัณฑ์ที่แท้จริงในความเห็นของดอสโตเยฟสกี้

เช่นเดียวกับภาพยนตร์แนว ‘หักเหลี่ยมเฉือนคม’ ทั่วๆไป Matchstick Men มีโครงเรื่องใหญ่เป็นเกมต้มตุ๋นซึ่งจะไม่เผยให้เห็นภาพรวมที่แท้จริงจนกระทั่งไคล์แม็กซ์ตอนท้าย ตัวละครหลัก ‘ทุกตัว’ ล้วนมีบทบาทในหมากเกมนี้ บ้างเป็นเป้าหมาย บ้างเป็นเหยื่อล่อ บ้างเป็นนางนกต่อ บ้างเป็นจอมบงการ แต่ใครจะรับบทเป็นอะไรนั้นคือสิ่งที่ผู้ชมไม่อาจแน่ใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ จอมบงการสามารถพลิกผันสู่สถานะเป้าหมายได้ในนาทีสุดท้าย ส่วนเป้าหมายก็อาจกลายเป็นเพียงเหยื่อล่อลวงตา เนื่องจากการปลิ้นปล้อน คือ ธรรมชาติแห่งเกมดังกล่าว และหากคุณอ่อนแอหรือไม่ระแวดระวังเพียงพอ บทบาทเดียวที่คุณจะได้รับก็คือ… ผู้ถูกหลอก

โครงเรื่องรองที่ซุกซ่อนอยู่ภายในและเป็นหัวใจสำคัญของ Matchstick Men ได้แก่ การสำรวจลึกถึงอาชญากรรม บทลงทัณฑ์ และการไถ่บาปของ รอย วอลเลอร์ (นิโคลัส เคจ) เล่าผ่านพล็อตสามพล็อตซึ่งมองโดยผิวเผินดูเหมือนจะไม่เกี่ยวพันกัน แต่แท้จริงแล้วกลับถูกเรียงร้อยเอาไว้อย่างเป็นระบบ

รอยเป็นมนุษย์ศูนย์รวมอาการประสาทนานาชนิด เขากลัวพื้นที่เปิดโล่ง หมกมุ่นกับการทำความสะอาดบ้านให้ปราศจากสิ่งสกปรกทุกตารางนิ้ว ชอบเปิดปิดประตูสามครั้งก่อนจะเปิดประตู และมักมีอาการกระตุกแถวดวงตาเวลาตึงเครียด มีเพียงยาซึ่งจิตแพทย์ของเขาเขียนใบสั่งให้กินเป็นประจำเท่านั้นที่สามารถช่วยให้รอยสงบ เยือกเย็นพอจะทำงานได้ จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาดันเผลอเรอทำยาหล่นลงท่อระบายน้ำหมดขวดและไม่สามารถติดต่อขอพบจิตแพทย์ส่วนตัวได้ ทำให้ แฟรงค์ เมอร์เซอร์ (แซม ร็อคเวลล์) เพื่อนสนิทเพียงคนเดียว ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยด้วยการ ‘แนะนำ’ จิตแพทย์คนใหม่ให้เขา (พล็อตที่หนึ่ง)(1)

แฟรงค์กับรอยทำงานร่วมทีมกันต้มตุ๋นเหยื่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกแม่บ้านชนชั้นกลาง ให้หลงซื้อเครื่องกรองน้ำในราคาสูงลิ่วโดยเสนอของแถมราคาแพงเป็นเหยื่อล่อ พวกเขาทำอาชีพนี้มาได้พักใหญ่แล้วและต่างก็ใช้ชีวิตค่อนข้างสุขสบายจากรายได้ในแต่ละเดือน ถึงแม้แฟรงค์จะเฝ้าฝันเสมอมาว่า สักวันจะมีโอกาสตกปลาตัวใหญ่เพื่อให้ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ เขาเพียรพยายามจะชักชวนรอยให้ร่วมกันวางแผนต้มตุ๋นเศรษฐีหน้าโง่ชื่อ ชัค เฟรเชตต์ (บรูซ แม็กกิลล์) ซึ่งแฟรงค์อ้างว่ารู้จัก แต่ฝ่ายหลังกลับตอบปฏิเสธเรื่อยมาจนกระทั่ง… (พล็อตที่สอง)

ดร. ไคลน์ (บรูซ อัลท์แมน) จิตแพทย์คนใหม่ของรอย ได้กระตุ้นให้เขาหวนคิดถึงอดีตภรรยาซึ่งแยกทางกันไปเมื่อปลายปีมาแล้ว เมื่อครั้งจากกัน เธอกำลังตั้งท้องลูกของเขาได้เพียงไม่กี่เดือน รอยปรารถนาจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กในครรภ์ แต่ไม่กล้าพอจะโทรศัพท์ไปถามอดีตภรรยาโดยตรง ดังนั้นเขาจึงขอให้ดร.ไคลน์กระทำการดังกล่าวแทน และผลปรากฏว่า แองเจล่า (อลิสัน โลห์แมน) ลูกสาววัย 14 ปีของเขาแสดงท่าทีกระตือรือร้นอยากจะพบบิดาบังเกิดเกล้าเป็นที่ยิ่ง ทั้งสองผูกสัมพันธ์กันได้อย่างรวดเร็วและสนิทใจ ความรักที่เขามีให้เธอ ทำให้รอยคิดจะล้างมือจากวงการ แต่นั่นต้องหลังจากเขาได้ช่วยให้ฝันของแฟรงค์กลายเป็นจริงเสียก่อน (พล็อตที่สาม)

อาชญากรรมของรอยสามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วนด้วยกัน ส่วนแรกค่อนข้างชัดเจนนั่นคืออาชีพนักต้มตุ๋น ซึ่งถึงแม้เขาจะพยายามแก้ต่างว่าเหยื่อทุกคนยินยอมมอบเงินให้เองเพราะความโลภ แต่สุดท้ายมันก็ยังเข้าข่ายอาชญากรรมอยู่ดี หนังสื่อสารอย่างลุ่มลึกว่ารอยไม่ได้ประกอบอาชีพดังกล่าวเพื่อความสนุก สะใจ หรือเพื่อเงินทอง บ่อยครั้งเขาถึงขนาดขยะแขยงตัวเองที่ต้องไปหลอกปล้นเงินจากพวกขี้แพ้ คนเหงา และคนชรา ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนไม่คู่ควรจะถูกเอารัดเอาเปรียบ อย่างไรก็ตาม คำถามของแองเจล่าที่ว่าทำไมเขาจึงไม่ตัดสินใจวางมือเสียตั้งแต่ตอนนี้ กลับทำให้รอยนิ่งอึ้ง พูดอะไรไม่ออก

ความจริง ก็คือ อาชีพข้างต้นเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้เขายอมลากสังขารขึ้นจากเตียง เดินไปสำรวจตรวจตราสระว่ายน้ำซึ่งไม่เคยถูกใช้ประโยชน์ และแต่งตัวออกนอกบ้านในแต่ละวัน มันสร้างความหมายให้แก่การดำรงอยู่ของเขา เนื่องจากนับแต่เลิกรากับอดีตภรรยา รอยก็นิยมใช้ชีวิตแปลกแยกจากสังคมมาโดยตลอดเขาไม่เคยสร้างสัมพันธ์ลึกซึ้ง ไม่เคยผูกมัดตัวเองกับใครจริงจัง แม้กระทั่งเพื่อนสนิทเพียงคนเดียวของเขาอย่างแฟรงค์ เมื่อรอยเผลอทำยาหล่นลงท่อและตื่นตระหนกจนไม่กล้าก้าวเท้าออกจากบ้าน เขาเลือกใช้เวลาตลอดวันที่เหลือขัดถูเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้น โดยไม่คิดจะโทรไปแจ้งหรือขอความช่วยเหลือใดๆจากเพื่อนร่วมงาน เขามองตัวเองว่าอาศัยอยู่ในโลกใบนี้เพียงลำพัง และหากวันหนึ่งเขาเกิดเสียชีวิตไปอย่างกระทันหัน ก็คงไม่มีใครต้องมานั่งร้องไห้เสียน้ำตา

มองในแง่หนึ่ง วิถีชีวิตดังกล่าวเหมาะเจาะสอดคล้องกับอาชีพที่เขาทำอยู่ เพราะมันมอบอิสระให้เขาสามารถโยกย้ายได้ทันท่วงทีหากมีปัญหายุ่งยากและลดความเสี่ยงของการต้องมาคอยพะวงหน้าพะวงหลัง ดังนั้นการหลงดึงแองเจล่าเข้ามาพัวพันจึงเป็นจุดหักเหที่ย่อมนำไปสู่หายนะอย่างไม่อาจหลบเลี่ยง รอยเสียเหลี่ยมไม่ใช่เพราะโง่เง่า แต่เพราะเขาปรารถนาจะปกป้องบุคคลอันเป็นที่รักและเผลอใช้หัวใจครุ่นคิดแทนมันสมอง ซึ่งนั่นถือเป็นข้อต้องห้ามสำหรับหมากเกมนี้ แต่ขณะเดียวกัน การมีแองเจล่าก้าวเข้ามาในชีวิต ก็ทำให้รอยเริ่มตระหนักถึงบุคคลรอบข้างนอกจากตัวเอง ความรัก ความห่วงใยคือเหตุผลที่ทำให้เขาคิดจะล้างมือจากวงการ เนื่องจากเขาไม่จำเป็นต้องใช้อาชีพต้มตุ๋นในการสร้างความหมายให้แก่ชีวิตอีกต่อไปแล้ว

ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า แองเจล่า คือ ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เขาได้รับทั้งบทลงทัณฑ์ (ถูกต้ม) และการไถ่บาป (เรียนรู้ที่จะเปิดใจรับบุคคลอื่น) ในเวลาเดียวกัน

อาชญากรรมส่วนที่สองของรอย ได้แก่ การทอดทิ้งภรรยาและลูกในท้องไปแบบไม่เหลียวแลเมื่อสิบสี่ปีก่อนจนกลายเป็นตราบาปติดใจเขาเรื่อยมา หนังไม่ได้ถ่ายทอดรายละเอียดในส่วนนี้ออกมาอย่างชัดเจน แต่บ่งบอกเป็นเพียงนัยๆเท่านั้น เช่นเดียวกับข้อเท็จจริงที่ว่า อาการประสาททั้งหลายของรอยนั้นเป็นผลมาจากความรู้สึกผิดซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ หากจิตใจของเขาได้รับการบำบัด ชำระล้าง

จะเห็นได้ว่าพล็อตเรื่องทุกส่วนของ Matchstick Men ล้วนชี้นำไปยังพัฒนาการด้านจิตวิญญาณในตัวรอยซึ่งจะก้าวสู่จุดสูงสุดในบทส่งท้าย โดยขั้นตอนที่ว่าสามารถจัดแยกได้ดังนี้ พล็อตที่หนึ่งคือบทลงทัณฑ์ของอาชญากรรมในส่วนที่สองของรอย พล็อตที่สองคืออาชญากรรมในส่วนที่หนึ่งของเขา ซึ่งเราอาจมองว่ามันเป็นสัญลักษณ์แทนอาชญากรรมส่วนที่สองซึ่งไม่ปรากฏรูปร่างแท้จริงได้อีกด้วย และพล็อตที่สามคือความพยายามไถ่บาปของรอยต่ออาชญากรรมในส่วนที่สอง แต่ผลลัพธ์ของมันกลับนำไปสู่หายนะ กล่าวคือ เมื่อหนังดำเนินมาถึงไคล์แม็กซ์ รอยจำต้องทนรับการลงโทษแบบสองเด้ง นั่นคือ สูญเสียทั้งเงินและแองเจล่าไปในเวลาเดียวกัน (เคธี่ อดีตภรรยาของเขา แท้งลูกหลังจากแยกทางกัน ดังนั้นแองเจล่า รวมไปถึง ดร.ไคลน์ และ ชัค เฟรเชตต์ จึงเป็นเพียงหมากในเกมต้มตุ๋นของแฟรงค์) แต่เมื่อเคธี่ถามเขาด้วยความเป็นห่วง ระหว่างการเผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบสิบสี่ปี ว่าเขาปรกติดีหรือ (เขาดูเหมือนกำลังหัวเราะและร้องไห้ในเวลาเดียวกัน) รอยกลับตอบด้วยน้ำเสียงอันสงบนิ่งโดยปราศจากอาการกระตุกในดวงตาหรือคำพูดว่า เขาสบายดี

สุดท้ายแล้ว รอยอาจสูญเสียทั้งเงินทั้งแองเจล่า แต่สิ่งที่เขาได้คืนมา คือ อิสรภาพจากความกดดันว่าตนได้ทอดทิ้งเคธี่และลูกในท้องไปอย่างเลือดเย็น สำหรับรอย บทลงทัณฑ์ของอาชญากรรมแรก (ถูกต้มตุ๋น) กลับให้ความรู้สึกทุกข์ทรมานน้อยกว่าบทลงทัณฑ์ของอาชญากรรมหลัง (อาการประสาทนานาชนิดอันเป็นผลจากความผิดบาป) มากมายนัก ดังนั้นเสียงกึ่งหัวเราะกึ่งร้องไห้ของเขาจึงเจือไปด้วยกลิ่นอายแห่งความโล่งอก ราวกับน้ำหนักที่เขาต้องทนแบกไว้บนบ่าตลอดเวลากว่าสิบสี่ปีได้ถูกปลดออก แม้มันจะต้องแลกด้วยทรัพย์สินจำนวนมหาศาลก็ตาม

เช่นเดียวกับนิยายอมตะของดอสโตเยฟสกี้ (2) Matchstick Men ปิดฉากลงด้วยบทส่งท้ายอันเปี่ยมความหวัง เมื่อหนึ่งปีต่อมารอยได้พบกับแองเจล่าอีกครั้งที่ร้านขายพรม เขาไม่มีร่องรอยของอาการประสาทใดๆหลงเหลืออยู่แล้วและกำลังประกอบอาชีพสุจริต เธอมีแฟนเป็นคนหนุ่มท่าทางนิสัยดี เธอถามเขาว่า ยังโกรธเธอสำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นหรือเปล่า เขาตอบว่า ไม่มีใครขโมยอะไรไปจากเขา แต่เขาเป็นคนมอบมันให้แก่บุคคลผู้นั้นเองอย่างเต็มใจต่างหาก เธอ (และคนดู) รู้สึกประหลาดใจกับทัศนคติมองโลกในแง่ดีของเขา จนกระทั่งไม่กี่ช็อตต่อมา หนังจึงเปิดเผยสาเหตุว่าทำไมรอยถึงไม่คิดเสียใจหรือเคืองแค้นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

ฉากข้างต้นทำให้ Matchstick Men แตกต่างจากหนัง ‘หักเหลี่ยมเฉือนคม’ ทั่วๆไปตรงที่ คนดูไม่ได้เดินออกจากโรงด้วยอารมณ์สะใจในแผนเหนือเมฆของตัวเอกผู้สุดท้ายได้เงินทั้งหมดไปครอบครอง รอย ตัวเอกใน Matchstick Men นอกจากจะไม่ได้โชว์ไหวพริบของนักต้มตุ๋นชั้นยอดแล้ว เขายังพลาดท่าถูกโกงเงินจนหมดตัวอีกต่างหาก แต่หนังก็ไม่ได้ท่าทีสงสาร เยาะเย้ย หรือสมเพชตัวละครแต่อย่างใด ตรงกันข้าม บทส่งท้ายยังได้ผันรอยจากสถานะผู้แพ้ไปสู่ตำแหน่งผู้ชนะอย่างงดงามอีกด้วย เนื่องจากสิ่งที่เขา ‘ได้มา’ นั้นมันมีคุณค่าทางใจมากกว่าสิ่งที่เขาสูญเสียไปหลายร้อยเท่า ท้ายที่สุด คนดูจึงลงเอยด้วยการเดินออกมาจากโรงพร้อมความรู้สึกอิ่มเอิบมากกว่าสะใจ

Matchstick Men เริ่มต้นเหมือนจะเป็นหนังในแนวทางหนึ่ง แต่กลับเบ่งบานกลายเป็นหนังในอีกแนวทางหนึ่งเมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงฉากจบ ดังนั้น คงไม่ผิดจากความจริงนัก หากเราจะมองผลงานกำกับชิ้นนี้ของ ริดลี่ย์ สก็อตต์ ว่า เป็นเกมต้มคนดูที่ฉลาดและแยบยลอย่างคาดไม่ถึง

หมายเหตุ

(1) มีการใช้เทคนิคภาพยนตร์หลากหลายเพื่อตอกย้ำถึงภาวะไม่ปรกติทางจิตเหล่านั้นให้ปรากฏชัดเจน ตั้งแต่การตัดภาพแบบ jump cut (พฤติกรรม ’กระตุก’), การเร่งสปีดภาพ (อารมณ์ตื่นตระหนก) ไปจนถึงการให้แสงแบบเกินพอดี (overexposure) หรือเน้น contrast สูงระหว่างพื้นที่ในร่มกับพื้นที่โดนแดดโดยเฉพาะในฉากกลางแจ้ง ซึ่งส่งผลให้ภาพที่ออกมาค่อนข้างแบนราบ จืดชืด แห้งแล้ง ไร้สีสันสดใส ไม่ต่างจากสภาพจิตภายในของรอย

(2) Crime and Punishment จบลงเมื่อตัวเอก ราสโคลนิคอฟ ได้ค้นพบและยอมศิโรราบต่อความรักที่เขามีให้แก่ซอนญ่า และ ณ ห้วงเวลานั้นเอง ที่เขาสามารถปลดปล่อยจิตใจเป็นอิสระจากพันธนาการทางความคิดว่าตนอยู่เหนือผู้อื่น ซึ่งเป็นเหตุให้เขาต้องแปลกแยก โดดเดี่ยวจากสังคมมาโดยตลอด ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ถึงแม้ดอสโตเยฟสกี้จะเน้นหนักในการสะท้อนด้านมืดแห่งจิตใจมนุษย์ แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ยังศรัทธาต่อการไถ่บาป ต่อสำนึกผิดชอบชั่วดี และต่อความเชื่อที่ว่าไม่มีใครเลวร้ายเกินแก้ไข

ไม่มีความคิดเห็น: