
อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างเริ่มดิ่งลงเหวพร้อมกับยุคเรืองอำนาจของคริสตจักร ซึ่งโหมกระพือภาวะเกลียดกลัวรักร่วมเพศให้แพร่กระจายไปทั่ว รวมถึงการออกกฎหมายห้ามการแต่งงานระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน และบทลงโทษสำหรับรักร่วมเพศ คือ เผาทั้งเป็นต่อหน้าฝูงชน นับแต่นั้นเป็นต้นมา รักร่วมเพศก็จำต้องหลบเข้ามุมมืด ถูกเหยียบย่ำดุจพลเมืองชั้นสอง ก่อนประกายความหวังจะเริ่มถูกจุดขึ้นในศตวรรษที่ 19
เราจะมาดูกันว่าอะไรบ้างเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของรักร่วมเพศ
1867 ความเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นที่ประเทศเยอรมัน เมื่อ คาร์ล-ไฮน์ริช อูลริช ปัจจุบันได้รับขนานนามเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชาวรักร่วมเพศรุ่นบุกเบิก เริ่มต้นเขียนบทความแก้ต่างให้กลุ่มนักโทษที่โดนจับข้อหารักร่วมเพศ ทั้งในแง่มุมกฎหมายและเชิงศีลธรรม บทความของเขาตีพิมพ์โดยใช้ชื่อจริง (อาจกล่าวได้ว่านี่คือการ coming out ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกของรักร่วมเพศ) นอกจากนี้ ในวันที่ 29 สิงหาคม 1867 เขายังเรียกร้องให้สภาศาลในมิวนิกยกเลิกกฎหมายลงโทษรักร่วมเพศท่ามกลางเสียงโห่ขับไล่ด้วย สองปีถัดมา นักเขียนชาวออสเตรีย คาร์ล-มาเรีย เคิร์ทเบนีย์ ได้คิดค้นและใช้คำว่า “Homosexual” และ “Heterosexual” เป็นครั้งแรก

ระหว่างการไต่สวนคดีครั้งแรก ไวลด์ก้าวขึ้นแก้ต่างในศาล เมื่อถูกถามว่า “อะไรคือความรักที่ไม่กล้าเอ่ยนาม” (นับเป็นครั้งแรกของการออกหน้าปกป้องรักร่วมเพศต่อสาธารณชนในประเทศอังกฤษ) ดังนี้
“สำหรับศตวรรษนี้ ความรักที่ไม่กล้าเอ่ยนาม คือ แรงเสน่หาอันยิ่งใหญ่ของชายอายุมากกว่าต่อชายอายุน้อยกว่า เฉกเช่นความสัมพันธ์ระหว่างเดวิดกับโจนาธาน (สองวีรบุรุษในตำนานชาวยิว) มันเป็นรากฐานให้ทุกหลักการทางปรัชญาของพลาโต เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในโคลงของไมเคิลแองเจโลและเช็คสเปียร์ มันคือความรักลึกซึ้ง ดื่มด่ำถึงจิตวิญญาณ และผุดผ่อง ไร้รอยมลทิน... มันเป็นรักที่สวยงาม ดีงาม และสง่างามสูงสุด หาใช่สิ่งผิดธรรมชาติแม้แต่น้อย มันปรากฏให้เห็นบ่อยครั้ง เมื่อชายอายุมากกว่าเปี่ยมไปด้วยสติปัญญา ส่วนชายอายุน้อยกว่าเปี่ยมไปด้วยความสุขสันต์ ความหวัง และความเย้ายวนแห่งชีวิตที่รอคอยเขาอยู่เบื้องหน้า มันควรดำเนินไปตามครรลองนั้น แต่โลกไม่เข้าใจ กลับเยาะหยัน และบางครั้งก็จับความรักนั้นใส่ขื่อคาประจาน”
เมื่อพูดจบ คนฟังในศาลพากันปรบมือให้เขาอย่างกึกก้อง คณะลูกขุนไม่อาจหาข้อสรุปได้ (สาเหตุใหญ่คงเป็นผลจากการเล่นสำบัดสำนวนอย่างคล่องแคล่วของไวลด์) ศาลจึงนัดสืบสวนคดีใหม่ โดยในระหว่างช่วงเวลานั้น ไวลด์ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวออกไป เพื่อนหลายคนเสนอให้เขาหลบหนีไปยังฝรั่งเศส แต่ไวลด์ตอบปฏิเสธ การไต่สวนคดีครั้งที่สองจบลงด้วยคำตัดสินว่าไวลด์ผิดจริงตามข้อกล่าวหา แล้วถูกลงโทษให้จำคุกและใช้แรงงานหนักในเรือนจำเป็นเวลาสองปี
1920 ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดได้ว่า “เกย์” ถูกใช้เป็นคำแทนรักร่วมเพศตั้งแต่เมื่อไหร่ (ความหมายดั้งเดิมของคำนี้ คือ ร่าเริง สดใส มีความสุข) แต่เหล่าจิตแพทย์ให้ความเห็นว่าคนไข้ของพวกเขาเริ่มใช้ศัพท์นี้อธิบายตัวตนตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1920 แล้ว แม้ระยะแรกจะเป็นการใช้กันเฉพาะกลุ่มมากกว่า ก่อนจะค่อยๆ แพร่หลายในเวลาต่อมา

1956 งานค้นคว้าวิจัยของของคินซีย์อาจพิสูจน์ให้เห็นว่ารักร่วมเพศ หรือคนที่เคยมีประสบการณ์รักร่วมเพศมีจำนวนมากกว่าที่คนอเมริกันคาดคิดไว้ แต่เป็น เอเวอลีน ฮุกเกอร์ ต่างหากที่ท้าทายแนวคิดว่ารักร่วมเพศเป็น “อาการป่วยทางจิต” โดยใช้การทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นข้อพิสูจน์ เธอแบ่งกลุ่มสำรวจออกเป็นชายรักร่วมเพศและชายรักต่างเพศจำนวนกลุ่มละ 30 คน พวกเขาล้วนมีระดับอายุ ไอคิว และการศึกษาใกล้เคียงกัน ทั้งหมดต้องทำแบบทดสอบทางจิต ก่อนนำผลมาเสนอต่อหน้าผู้เชี่ยวชาญทาง โดยไม่บอกว่าพวกเขาเป็นเกย์หรือชายแท้ ผลปรากฏว่าไม่มีความแตกต่างใดๆ ปรากฏให้เห็นระหว่างบุคคลสองกลุ่ม
ฮุกเกอร์นำเสนอผลงานในการประชุมจิตแพทย์ที่เมืองชิคาโกเมื่อปี 1956 โดยข้อสรุปของเธอ คือ ชายรักร่วมเพศมีระดับความสามารถในการปรับตัวทางสังคมเท่าเทียมกับชายรักต่างเพศ และในบางกรณีอาจ “สูงกว่า” ด้วยซ้ำ แม้งานวิจัยของเธอจะไม่สร้างแรงกระเพื่อมมากนักในแวดวงจิตวิเคราะห์ แต่มันส่งผลรุนแรงต่อการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของชาวเกย์ ฮุกเกอร์เล่าว่าเคยมีเลสเบี้ยนคนหนึ่งตรงมาขอบคุณเธอ พร้อมเล่าทั้งน้ำตาว่าตอนเธอบอกแม่ว่าเป็นเลสเบี้ยน แม่ส่งเธอไปโรงพยาบาลโรคจิต ซึ่งขณะนั้นนิยมใช้การบำบัดแบบช็อตสมอง โชคดีที่จิตแพทย์ของเธอคุ้นเคยกับงานวิจัยของฮุกเกอร์ เธอจึงรอดจากการถูกช็อตสมองมาได้

คืนถัดมา ตำรวจหวนกลับมาอีกครั้ง เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ประท้วง คราวนี้พร้อมสรรพด้วยป้ายประกาศ “พวกมันย่ำยีสิทธิของเรา ออกกฎหมายรับรองบาร์เกย์ สนับสนุนพลังของเกย์” แล้วการปะทะกันก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง โดยผู้ประท้วงใช้ก้อนอิฐและขวดเหล้าเป็นอาวุธ
Stonewall Riots กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์เกย์และเลสเบี้ยน มันนำไปสู่การเรียกร้องสิทธิของรักร่วมเพศทั่วโลก นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวยังประจวบเหมาะกับการเสียชีวิตของ จูดี้ การ์แลนด์ เกย์ ไอคอน ระดับหัวแถว อย่างประหลาด (การ์แลนด์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนจากการเสพยาเกินขนาด และคืนการประท้วงที่สโตนวอลก็เป็นคืนเดียวกับพิธีศพของการ์แลนด์) หนึ่งปีต่อมาในวันที่ 28 มิถุนายน ขบวนพาเหรดเกย์และเลสเบี้ยนก็ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในอเมริกา เพื่อรำลึกเหตุการณ์ความรุนแรงหน้า สโตนวอล อินน์
1973 สมาพันธ์จิตแพทย์แห่งอเมริกาได้ตัด “รักร่วมเพศ” ออกจากหมวดหมู่ของความผิดปกติทางจิต โดยยึดงานค้นคว้าวิจัยของ เอเวอลีน ฮุกเกอร์ เป็นข้อมูลหลัก นับจากนั้น รักร่วมเพศก็ไม่ถือเป็นอาการป่วยไข้อีกต่อไป แม้จิตแพทย์จำนวนไม่น้อยจะคัดค้านการตัดสินใจดังกล่าวของสมาพันธ์
1978 ธงสีรุ้งถูกนำมาใช้แทนความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกสิทธิเท่าเทียมกันของเกย์และเลสเบี้ยน ความหลากหลายของสีสันเป็นสัญลักษณ์แทนความหลากหลายทางเพศสถานะของชุมชนรักร่วมเพศ ธงดังกล่าวถือกำเนิดขึ้นในประเทศอเมริกา แต่ถูกนำไปใช้ในขบวนพาเหรดของเกย์และเลสเบี้ยนทั่วโลก ศิลปินชาวซานฟรานซิสโก กิลเบิร์ต เบเกอร์ เป็นคนออกแบบ

แดน ไวท์ ถูกนำตัวขึ้นศาลในอีกหกเดือนต่อมา ทนายของเขาคัดเลือกคณะลูกขุนอย่างระมัดระวังเพื่อให้ทั้งหมดเป็นคาทอลิกผิวขาวจากชนชั้นแรงงาน ไม่มีคนผิวสี คนเอเชีย หรือเกย์ปะปนมาเลย จากนั้นก็พยายามแก้ต่างโดยยกข้ออ้างเรื่องความเครียดและความเปลี่ยนแปลงของเคมีในร่างกาย (จากการกินอาหารขยะเป็นจำนวนมากก่อนวันเกิดเหตุ จนกลายเป็นที่มาของคำว่า “Twinkie defence” ) ทางด้านอัยการเองก็ทำหน้าที่ของตนอย่างทุลักทุเล เขาไม่ย้ำเตือนคณะลูกขุนให้ตระหนักถึงแรงจูงใจของไวท์ ตลอดจนรอยบาดหมางระหว่างบุคคลทั้งสอง สุดท้ายไวท์จึงถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลาแค่ 7 ปี 8 เดือน ซึ่งนั่นสร้างความโกรธแค้นให้คนกลุ่มใหญ่จนพากันมารวมตัวล้อมศาลากลางจังหวัดเป็นเวลาหลายชั่วโมงและเผารถตำรวจไปหลายคัน ต่อมาตำรวจก็แก้แค้นด้วยการบุกเข้าบาร์เกย์แห่งหนึ่งบนถนนคาสโตร แล้วรุมทำร้ายทุกคนในนั้น ผลจากเหตุการณ์ White Night Riots ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 61 นายและเกย์จำนวน 100 คนได้รับบาดเจ็บจนต้องนำส่งโรงพยาบาล นอกจากนี้ มันยังเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าความพยายามจะสร้างตัวตนให้ปรากฏของรักร่วมเพศได้ก่อให้เกิดกระแสโต้กลับค่อนข้างรุนแรงจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม เพราะไวท์วาดภาพตัวเองเป็นคนที่พยายามจะปกป้องค่านิยมดั้งเดิมของชุมชนเอาไว้ และเขาก็ได้รับเสียงสนับสนุนลึกๆ จากชาวเมืองซานฟรานซิสโกจำนวนไม่น้อย
1981 ลางหายนะแรกแสดงตัวในเดือนมกราคม 1981 เมื่อชายเกย์อายุ 31 ปีถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการติดเชื้อในลำคอ ก่อนต่อมามันจะพัฒนาเป็นการติดเชื้อในปอด ซึ่งมักพบเห็นเฉพาะในกรณีของผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือปลูกถ่ายอวัยวะเท่านั้น พัฒนาการดังกล่าวส่งผลให้นายแพทย์ทั้งหลายงุนงง และเมื่อโรคร้ายเริ่มแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจนถูกขนานนามให้เป็น “มะเร็งชาวเกย์” ข้อเท็จจริงก็ค่อยๆ ปรากฏว่า ไม่ใช่เพียงเกย์เท่านั้นที่เป็นโรคนี้ แต่ยังรวมถึงคนไข้ถ่ายเลือด ขี้ยา และชายจริงหญิงแท้อีกนับร้อยในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ ดังนั้นชื่ออย่างเป็นทางการของมันถูกตั้งขึ้นในปี 1982 ว่าโรคเอดส์
ช่วงแรกของการระบาด โรงอาบน้ำชาวเกย์ตกเป็นเป้าโจมตีหลัก เกย์บางคนเห็นชอบให้ปิดโรงอาบน้ำเพื่อช่วยชีวิตคน แต่อีกหลายคนไม่อยากให้ปิด เพราะพวกมันเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพทางเพศและรักร่วมเพศ ซึ่งชาวเกย์พยายามต่อสู้เรียกร้องมาตลอดนับแต่เหตุการณ์สโตนวอล หากสั่งปิดโรงอาบน้ำ บาร์เกย์อาจตกเป็นเหยื่อรายต่อไป จากนั้นใครจะรู้? แต่สุดท้าย เมอวิน ซิลเวอร์แมน ผู้อำนวยการแผนกสาธารณสุขของเมืองก็ประกาศปิดโรงอาบน้ำโดยให้เหตุผลว่า “โรงอาบน้ำสิบสี่แห่งที่ถูกสั่งปิดไม่ใช่สัญลักษณ์แทนอิสรภาพของรักร่วมเพศ แต่เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงเชื้อโรคและความตายต่างหาก”
โรคเอดส์ ตลอดจนการก้าวขึ้นสู่อำนาจของ โรนัลด์ เรแกน ซึ่งจับมือแนบแน่นกับกลุ่มฝ่ายขวาเคร่งศาสนา ส่งผลให้ความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิของชาวเกย์และเลสเบี้ยนในอเมริกาต้องหยุดชะงักลงกลางคัน กลุ่มต่อต้านเกย์มักจะหยิบยกโรคเอดส์มาเป็นข้ออ้างในการเปรียบเทียบรักร่วมเพศกับเชื้อโรค ขณะเดียวกัน โรคเอดส์ยังถือเป็นตะปูตอกปิดยุคสมัยแห่งเสรีภาพทางเพศอีกด้วย
1982 การแข่งขัน Gay Games หรือโอลิมปิกสำหรับชาวเกย์และเลสเบี้ยน (ความจริงคณะกรรมการไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนเท่านั้น แต่เปิดกว้างให้ทุกคนเข้าร่วม โดยจุดหมายหลัก คือ ดึงดูดกลุ่มคนจากประเทศที่รักร่วมเพศยังคงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และต้องหลบๆ ซ่อนๆ) เริ่มต้นจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองซานฟรานซิสโก ภายใต้การควบคุมดูแลของ ทอม แวดเดลล์ เดิมทีใช้ชื่อ Gay Olympics แต่ถูกฟ้องร้องจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อในเวลาต่อมา หลายคนเชื่อว่าการฟ้องร้องมีรากฐานมาจากอาการเกลียดกลัวรักร่วมเพศ (Homophobia) ของเหล่าผู้บริหารระดับสูง เพราะพวกเขาต่างเคยยินยอมให้ใช้คำว่าโอลิมปิก สำหรับการแข่งขันอื่นมาแล้ว เช่น Special Olympics เป็นต้น จนถึงปัจจุบัน Gay Games ถูกจัดมาทั้งหมด 7 ครั้ง มีอเมริกาเป็นเจ้าภาพ 4 ครั้ง ส่วนเนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และแคนาดาเคยเป็นเจ้าภาพคนละครั้ง Gay Games ครั้งที่ 8 จะจัดขึ้นในปี 2010 ณ เมืองโคโลญ ประเทศเยอรมัน
1988 หลังเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้กะเทยผ่าตัดแปลงเพศได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเมื่อปี 1972 สวีเดนก็ตอกย้ำสถานะ “หัวก้าวหน้า” ต่อประเด็นทางเพศ ด้วยการออกกฎหมายพิทักษ์สิทธิทางด้านสังคมสงเคราะห์ ภาษี และมรดกให้กับรักร่วมเพศเป็นประเทศแรก
1990 ปีแห่งการถือกำเนิดของ Queer Theory (คำว่า Queer ถูกนำมาใช้แทนเกย์เพื่อให้ครอบคลุมทุกพฤติกรรมทางเพศที่เบี่ยงเบนออกจากรักต่างเพศ) ซึ่งเน้นศึกษาประเด็นเกี่ยวกับเพศสภาพโดยรับอิทธิพลมาจากทั้งฝั่งสตรีศึกษาและฝั่งเกย์และเลสเบี้ยนศึกษา เป้าหมายของ Queer Theory ไม่ใช่เพื่อระบุให้แน่ชัดว่า เพศสภาพเกิดจากกรรมพันธุ์ หรืออิทธิพลของสภาพแวดล้อมซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่เป็นการวิพากษ์ความซับซ้อนของการแยกแยะมนุษย์แต่ละคนเป็นกลุ่มเป็นเหล่าผ่านเพศสภาพของเขา เทเรซา เดอ ลอเรติส คิดค้นคำนี้ขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1990 ระหว่างเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับประเด็นทางเพศของเกย์และเลสเบี้ยนที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
4 ความคิดเห็น:
ขอบคุณนะค่ะ สำหรับบทความ
ขอบคุณค่ะสำหรับบทความดีๆ :")
ข้อมูลดี!! ไม่สามารถรอโพสต์ต่อไปของคุณ!
ความคิดเห็นโดย: muhammad solehuddin
คำทักทายจากมาเลเซีย
มีข้อมูลหรือหลักฐานใดที่ยืนยันการจัดพิธีแต่งงานระหว่างบุคคลเพศเดียวกันในอาณาจักรโรมัน?
Greting Telkom University
แสดงความคิดเห็น