วันจันทร์, ธันวาคม 20, 2564

Once Upon a Time… in Hollywood: ภาพยนตร์บำบัด

อาจพูดได้ว่า Once Upon a Time… in Hollywood น่าจะเป็นหนังที่ให้อารมณ์แบบ “ทารันติโน” น้อยสุดนับจาก Jackie Brown เพราะมันค่อนข้างอบอวลไปด้วยอารมณ์โรแมนติก ความอ่อนโยน และอารมณ์ขันเชิงหยิกแกมหยอก น่ารักน่าชัง แน่นอน ความกวนตีนและเครื่องหมายการค้าอื่นๆ เช่น การโชว์ตีนของนักแสดงหญิง ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ แต่โทนอารมณ์โดยรวมออกจะแตกต่างจากผลงานสร้างชื่อส่วนใหญ่ของ เควนติน ทารันติโน มันมีลักษณะแบบเล่าไปเรื่อย ปล่อยชิล การสดุดีกึ่งถวิลหาอดีตอันหอมหวาน จริงอยู่สไตล์โพสต์โมเดิร์นของเขามักสะท้อนให้เห็นการสดุดีหนังเก่าที่เขาชื่นชอบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ในผลงานชิ้นล่าสุดดูเหมือนทารันติโนจะ “เบามือ” ลง หาได้ขึงขังจริงจังในความพยายามจะดึงอารมณ์ สร้างความบันเทิง หรือช็อกคนดูมากเท่าเดิม (อย่างน้อยก็ก่อนจะถึงช่วงไคล์แม็กซ์ท้ายเรื่อง) จนหลายคนนิยามตัวหนังว่าเป็นจดหมายรักของทารันติโนต่อฮอลลีวู้ด

ถ้า Jackie Brown คือหมุดหมายในแง่การก้าวย่างสู่วิกฤติวัยกลางคนของทารันติโน OUATIH ก็น่าจะเป็นหมุดหมายในแง่การย่างเข้าสู่วัยชราของผู้กำกับที่อายุอานามเฉียดใกล้เลขหกอยู่รอมร่อ ตัวทารันติโนเองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาวางแผนจะเลิกนั่งเก้าอี้ผู้กำกับเมื่อทำหนังครบสิบเรื่อง แล้วผันตัวไปทำงานเขียนบทเต็มตัว แต่เราสามารถจริงจังได้แค่ไหนกับคำประกาศ “เกษียณ” ของเหล่าผู้กำกับชื่อดังทั้งหลาย ไม่เชื่อก็ดูสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลัง สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก หรือ ฮายาโอะ มิยาซากิ ประกาศวางมือสิ

เปรียบง่ายๆ OUATIH ของทารันติโนให้อารมณ์คล้ายคลึงกับ Gran Torino ของ คลินต์ อีสต์วู้ด เล่าเรื่องราวของตาแก่ที่ยึดติดอยู่กับอดีต แปลกแยกจากสภาพสังคมยุคปัจจุบัน และพิศวงงงงวยกับค่านิยมของเด็กรุ่นใหม่ ตัวละครอย่าง ริค ดาลตัน (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโออาจเป็นภาพแทนของทารันติโนอยู่กลายๆ โดยหากมองจากมุมด้านอาชีพการงาน เขาอาจไม่ถึงขั้น “ตกอับ” เหมือนดาลตัน (OUATIH ยังสามารถทำเงินได้อย่างงดงาม) แต่ในเวลาเดียวกันทารันติโนก็ไม่ใช่ผู้กำกับไฟแรงสุดฮิปแบบตอนทำ Reservoir Dogs หรือ Pulp Fiction อีกต่อไป (คลินต์ อีสต์วู้ด ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการตอนที่ Pulp Fiction คว้ารางวัลปาล์มทองที่คานส์ ส่วนข้อเสนอให้ดาลตันไปเล่นหนังคาวบอยสปาเกตตี้ใน OUATIH ก็อ้างอิงจากเส้นทางนักแสดงของอีสต์วู้ดอย่างเห็นได้ชัด) หนังของเขาถึงแม้จะประสบความสำเร็จทางรายได้และคำวิจารณ์ แต่ดูเหมือนจะไม่สามารถเข้าถึงจิตใจเด็กรุ่นใหม่ได้ในแบบเดียวกับหนังของ คริสโตเฟอร์ โนแลน

บ่อยครั้งทารันติโนเลือกจะอ้างอิงถึงตระกูลหนังคาวบอย ซึ่งแทบจะสูญพันธุ์จากการรับรู้ของเด็กยุคมิลเลนเนียลที่คลั่งไคล้หนังซูเปอร์ฮีโร่ไปแล้ว เช่นเดียวกับแนวคิดแมนๆ สไตล์ จอห์น เวย์น กึ่งเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ และเชิดชูความเป็นชายสมชายดังเช่นประโยค “อย่าร้องไห้ต่อหน้าพวกเม็กซิกัน” ซึ่งแม้จะถูกนำเสนอในเชิงตลกขบขัน แต่ก็อาจไม่เป็นที่สบอารมณ์ของเหล่านักรบโซเชียล (SJW) หรือกลุ่มผู้คลั่งไคล้ความถูกต้องทางการเมืองสักเท่าไหร่ นำทีมโดยเว็บไซต์อย่างอินดี้ไวร์ (พวกเขาจะอ้างว่าการห้ามผู้ชายร้องไห้เป็น toxic masculinity และการจำกัดบทบาทให้พวกเม็กซิกันเป็นพนักงานรับจอดรถคือการเหมารวมแบบเหยียดเชื้อชาติ) ท่ามกลางกระแส #MeToo กำลังเข้มข้นถึงจุดเดือด จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่หนังเรื่องนี้จะพลอยโดนหางเลขไปด้วยจากการตั้งคำถามถึงเวลาบนจออันน้อยนิดและแทบจะปราศจากบทพูดเป็นชิ้นเป็นอันของ ชารอน เทต (มาร์โกต์ ร็อบบีตลอดจนการนำเสนอความรุนแรงต่อเพศหญิงในช่วง 20 นาทีสุดท้าย (“ผมไม่เห็นด้วยกับสมมุติฐานของคุณทารันติโนตอบโต้ด้วยท่าทีฉุนเฉียวต่อข้อซักถามของนักข่าวหญิงจาก นิวยอร์ก ไทม์ส ที่เมืองคานส์ว่าทำไมบทบาท ชารอน เทต ถึงมีอยู่แค่นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับ อูมา เธอร์แมน ระหว่างถ่ายทำ Kill Bill และข้อเท็จจริงที่ว่าเขาเติบโตมาจากการปลุกปั้นของ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ทำให้ทารันติโนไม่ใช่บุคคลตัวอย่างในสายตาของเหล่า SJW สักเท่าไหร่ แน่นอน สุนทรียะทางภาพยนตร์หาใช่สิ่งที่คนพวกนี้คำนึงถึงเป็นลำดับแรก)

ริค ดาลตัน อาจชอบก่นด่าพวกฮิปปี้เส็งเคร็ง ไม่เข้าใจ/ใส่ใจต่อกระแสสังคมที่กำลังดำเนินอยู่ สงครามเวียดนามถูกนำเสนอเป็นเพียงแบ็คกราวด์ผ่านเสียงข่าววิทยุ (ดาลตันตอบปฏิเสธบุหรี่กัญชาจุ่มแอลเอสดี พร้อมบอกว่าแค่เบียร์ก็ดีพอแล้วสำหรับเขาและหมกมุ่นอยู่ในโลกส่วนตัวกับวิกฤติชีวิต (ของผู้มีอันจะกินบนหอคอยงาช้างภายในบ้านหรูที่มีทางเดินรถส่วนตัว สระว่ายน้ำ แต่ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้ดื้อด้านเกินกว่าจะเปลี่ยนแปลง/พัฒนาตัวเองจากวิถีอันคุ้นเคย เห็นได้จากฉากที่เขาทำความรู้จักกับนักแสดงหญิงรุ่นลูกอย่าง ทรูดี้ (จูเลีย บัตเตอร์สซึ่งพูดถึงค่านิยมสมัยใหม่อย่างการเหมารวมนักแสดงโดยไม่แบ่งแยกเพศชายหญิง หรือเทคนิคการแสดงแบบเมธอดที่เรียกร้องให้ดารารักษาคาแร็กเตอร์ของตัวละครไว้ตลอดแม้กระทั่งในช่วงพักระหว่างเทค ก่อนหน้านี้หนังได้นำเสนอริคในลักษณะ จอห์น เวย์น ซึ่งขายความเป็นดารา ขายตัวตนมากกว่าทักษะในการสวมวิญญาณตัวละคร เขาแสดงข้อกังขาเกี่ยวกับคอสตูม หนวดเคราสไตล์ฮิปปี้ ซึ่งจะทำให้คนดูจดจำ เจค เคฮิล แห่ง Bounty Law ไม่ได้ ทั้งที่นั่นคือจุดประสงค์หลัก ฮอลลีวู้ดสมัยใหม่เรียกร้องให้นักแสดงกลืนหายไปกับบท ไม่ใช่เล่นเป็นตัวละครเดิมวนเวียนไปมา นั่นคือสิ่งที่ริคเรียนรู้และสามารถปรับตัวไปตามความท้าทายได้ เมื่อเขาเริ่มด้นสดระหว่างฉากจนได้รับคำชมจากผู้กำกับและทรูดี้

ขณะที่หนังเริ่มปอกเปลือกให้เห็นว่าริคนั้นหาได้แข็งแกร่ง หรือห้าวหาญแบบเดียวกับบทบาทในทีวี ทั้งจากความหวาดกลัวต่ออนาคตอันมืดมนไร้หนทาง และพฤติกรรมขี้เหล้าจนเป็นเหตุให้เสียงานเสียการและโดนยึดใบขับขี่ ฮีโร่ตัวจริง ของหนัง (หรือถ้าจะพูดให้ถูก คือ แอนตี้ฮีโร่แบบเดียวกับอีสต์วู้ดในหนังคาวบอยสปาเก็ตตี้จากข่าวลือว่าเขาฆ่าเมียตัวเองแล้วรอดพ้นความผิด) ก็ค่อยๆ เผยตัวออกมาในรูปของสตันท์แมน คลิฟฟ์ บูธ (แบรด พิทท์) เขาไม่เพียงจะเสี่ยงอันตราย เล่นบทผาดโผนแทนริคหน้ากล้องเท่านั้น แต่หลังกล้องเขายังเป็นเหมือนลมใต้ปีก คอยให้กำลังใจ รวมถึงสนับสนุนเขาในฐานะเพื่อนซี้อีกด้วย เสียงเล่าเรื่องบอกว่าพวกเขา เป็นมากกว่าพี่น้อง แต่น้อยกว่าผัวเมียแม้กระทั่งในช่วงไคล์แม็กซ์ งานหนักส่วนใหญ่ก็ตกเป็นของคลิฟฟ์ (กับสุนัขคู่ใจ) แต่สุดท้ายคนที่ได้หน้ากลับกลายเป็นริคอีกเช่นเคย

อย่างไรก็ตาม คลิฟฟ์ไม่ใช่ตัวละครที่จะคิดเล็กคิดน้อย บุคลิกสุดชิลของเขาแทบจะห่อหุ้มโทนอารมณ์ของหนังทั้งเรื่องเอาไว้ สังเกตได้ว่า OUATIH แสดงลำดับขั้นทางชนชั้นเอาไว้ชัดเจน แต่ไม่มีเจตนาที่จะวิพากษ์ หรือสะท้อนอารมณ์ขมขื่นใดๆ ทุกคนในเรื่องดูจะยอมรับบทบาทของตนได้อย่างไม่อิดออด ซึ่งเมื่อเทียบกับหนังที่เพิ่งเข้าฉายไปอย่าง Parasite ก็จะยิ่งเห็นความแตกต่าง โดยในหนังของทารันติโนมีฉากคล้ายคลึงกัน เมื่อตัวละครต้องเดินทางจากบ้านเจ้านายสุดหรูเพื่อกลับสู่กระต๊อบซอมซ่อ ขณะที่ Parasite เน้นย้ำให้เห็นความคับแค้น ความอยุติธรรมเชิงโครงสร้างซึ่งบีบให้ตัวละครต้องอาศัยอยู่ ใต้ดินเหมือนกระจั๊วสกปรก OUATIH กลับไม่แสดงเจตนาส่อเสียดไปทางนั้นเลย แถมยังเบี่ยงเบนไปในทางตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำ เมื่อคลิฟฟ์เปลี่ยนจากรถเจ้านายมาขับรถตัวเองกลับบ้าน หนังฉายให้เห็นความเท่ ความไม่ยี่หระของตัวละครอยู่กลายๆ ผ่านฉากซิ่งรถข้ามเมืองอันยาวนาน คนดูไม่รู้สึกอนาถากับสภาพรถเทรลเลอร์อันคับแคบ ซึ่งแทบจะดู ฮิปด้วยซ้ำ เมื่อพิจารณาว่ามันจอดอยู่หลังโรงหนังไดรฟอิน เนื่องจากอารมณ์ถวิลหาอดีตที่อบอวลอยู่ตลอดหนังทั้งเรื่อง จึงไม่น่าแปลกหากเราจะนึกโหยหานวัตกรรมที่ปัจจุบันแทบจะสูญหายไปตลอดกาล แล้วมองข้ามสภาพแวดล้อมตามความเป็นจริง (เสียงรบกวนคงไม่ใช่เรื่องน่าพิสมัยสักเท่าไหร่)

เช่นเดียวกับคลิฟฟ์ที่ไม่เคยตัดพ้อ หรือคับแค้นกับการต้องคอยขับรถพาริคไปไหนมาไหน โดนใช้ให้ไปซ่อมเสาอากาศ หรือเข็นกระเป๋าตามเจ้านายในสนามบิน ริคเองก็ยอมรับสถานะดาราเกรดสองของตนโดยดุษฎี และเฝ้ามอง ชารอน เทต กับ โรมัน โปลันสกี (ราฟาล ซาวีรูชา) ด้วยสายตาชื่นชม เทิดทูน ไม่ใช่อิจฉาริษยา หรือคับแค้นในชะตากรรม ถึงแม้ทั้งสองจะเป็นเพื่อนบ้านกัน แต่หนังตอกย้ำให้เห็นว่าพวกเขาอยู่คนละระดับชั้นในฮอลลีวู้ด ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้กำกับดาวรุ่งพุ่งแรงแห่งวงการภาพยนตร์ ส่วนอีกฝ่ายเป็นแค่ดาราทีวี (ในยุคนั้นเส้นแบ่งระหว่างหนังกับทีวีค่อนข้างชัดเจน) ช่วงท้ายของหนังเมื่อริคได้รับเชิญให้เข้าไปในบ้านของชารอน เขาแสดงท่าทีเคารพนบนอบและพึงพอใจอย่างมาก เหมือนได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งของกลุ่มชนชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหาร โอกาสที่เขาจะได้ร่วมแสดงในหนังของผู้กำกับ Rosemary’s Baby อาจอยู่แค่เอื้อม

ชีวิตในยุคนั้นอาจไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ก็ยังสอดคล้อง เป็นระเบียบ ผู้คนต่างรู้ที่ทางฐานะของตนเอง ให้ความเคารพในกฎและลำดับชนชั้น ริคกับคลิฟฟ์คือตัวอย่างที่ชัดเจน ต่างจากกลุ่มหนุ่มสาวฮิปปี้ทั้งหลายซึ่งพยายามจะแสวงหาอย่างอื่นที่ดีกว่า เติมเต็มกว่า พวกเขาดูแคลนสังคมเมือง ทุนนิยม และต่อต้านจารีตดั้งเดิมผ่านการใช้สารเสพติดอย่างกัญชากับแอลเอสดี รวมถึงโอบกอดการปฏิวัติทางเพศ มองเผินๆ คลิฟฟ์ค่อนข้างเปิดใจต่อวัฒนธรรมฮิปปี้มากกว่าริค เขาซื้อบุหรี่กัญชาจุ่มแอลเอสดีมาจากสาวฮิปปี้ และให้ความช่วยเหลือพุสซีแคท (มาร์กาเร็ต ควอลีย์) แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังยึดมั่นหลักจริยธรรมอย่างเคร่งครัด ดังจะเห็นได้จากการปฏิเสธข้อเสนอทางเพศของพุสซีแคทเพราะเธอยังเป็นผู้เยาว์ ซึ่งรายละเอียดตรงนี้ยั่วล้อกับข้อเท็จจริงของโปลันสกีไปในตัว (ที่ในหนังมีภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่) ภาพแทนคนรุ่นเก่าในตัวคลิฟฟ์เป็นผลให้พุสซีแคทตะโกนด่าว่าเขาต่างหากที่ ตาบอด ไม่ใช่ตาแก่จอร์จ (บรูซ เดิร์น)

การมอบบทวายร้ายให้กับเหล่าฮิปปี้ (แม้บางคนจะคัดค้านว่าครอบครัวแมนสันไม่ใช่ตัวแทนของกระแสบุปผาชนที่ซื่อตรงนัก) แล้วมอบบทพระเอกให้กับคุณลุงคาวบอยหัวโบราณสองหน่อใน OUATIH อาจเป็นสัญลักษณ์ตอบโต้กระแสการคลั่งไคล้ political correctness ของทารันติโนอยู่กลายๆ ดังจะเห็นได้จากคำดูถูกเชื้อชาติ หรือเพศที่ปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทารันติโนรับมือมาตั้งแต่สมัยกระแสอื้อฉาวจากการให้ตัวละครพ่นคำว่า นิโกร แบบไม่ยั้ง (ในฉากหนึ่งริคบอกกับนักแสดงหญิงรุ่นลูกว่าอีก 15 ปีเธอก็จะต้องเผชิญภาวะตกกระป๋องแบบเดียวกัน ก่อนจะขอโทษที่พลั้งปาก) หรือการเลือกโฟกัสเรื่องราวไปยังสองตัวละครเพศชายผิวขาวในยุคทองของฮอลลีวู้ดก่อนกาลเวลาจะแปรเปลี่ยน และอาณาจักรจะถูกส่งมอบให้แก่พวกนอกรีต เราอาจมองว่าการที่ทารันติโนเขียนบทให้คลิฟฟ์สั่งสอน บรูซ ลี (ไมค์ โมห์) นักแสดงเชื้อสายเอเชียซึ่งฉายแววคุกคามวิถีคาวบอยยุคเก่า ทำให้เขากลายเป็นเหมือนตัวตลกหรือดูน่ารำคาญไม่ต่างจากตัวละครอย่างเมียอิตาเลียนของริค หรือเมียของคลิฟฟ์ ก็อาจนับเป็นหนึ่งในกลิ่นอายอนุรักษ์นิยมของหนังได้เช่นกัน

สำหรับทารันติโน ชารอน เทต เป็นเหมือนตัวแทน หรือสัญลักษณ์มากกว่าจะมีเลือดเนื้อให้จับต้อง เธอคือความบริสุทธิ์ ร่าเริง เต็มไปด้วยพลังบวกซึ่งเปรียบดังอารมณ์แห่งยุคสมัย คนดูจะได้เห็นเธอไปร่วมงานปาร์ตี้เต้นรำ เปิดเพลงในบ้านแล้วเต้นรำ แวะเข้าไปชมหนังที่ตัวเองแสดงเพื่อดูปฏิกิริยาของคนดู และใช้ชีวิตอย่างปกติสุข เราได้สัมผัสเสน่ห์ดึงดูด รับรู้ความติดดิน (เธอนอนกรนและตีนดำไม่ต่างจากมนุษย์เดินดินคนอื่นๆ) ความโอบอ้อมอารี (รับสาวโบกรถมาส่ง) ของเธอ แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้รู้จัก หรือเข้าใจเธออย่างแท้จริง ซึ่งคงเป็นความตั้งใจของทารันติโน เพราะเมื่อประวัติศาสตร์เดินทางมาบรรจบกับเรื่องแต่งใน 20 นาทีสุดท้ายของ OUATIH ทารันติโนจึงไม่เพียงแต่ช่วยชีวิตของ ชารอน เทต เท่านั้น แต่เขายังลงเอยด้วยการกอบกู้ยุคสมัยจากความเปลี่ยนแปลงแห่งกาลเวลาอีกด้วย ริคกับคลิฟฟ์อาจรับบทหนักเป็นฮีโร่ตามท้องเรื่อง แต่ฮีโร่ตัวจริงผู้อยู่เบื้องหลังความน่าตื่นตะลึงบนจอคือสตันท์แมนทารันติโนอย่างไม่ต้องสงสัย

ใน Crime and Misdemeanors ผลงานหนังของผู้กำกับรุ่นเก๋าอย่าง วู้ดดี้ อัลเลน ซึ่งกำลังโดนหางเลขของกระแส #MeToo ไม่ต่างจากโปลันสกีในตอนนี้ จูดาห์ (มาร์ติน แลนเดา) ได้เสนอให้ คลิฟฟ์ (อัลเลน) สร้างหนังเกี่ยวกับผู้ชายที่ก่อเหตุฆาตกรรมและไม่ถูกจับได้ แต่คลิฟฟ์ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าการฆาตกรรมย่อมส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างใหญ่หลวง หาไม่แล้วมันก็จะปราศจากโศกนาฏกรรม และหากไม่มีโศกนาฏกรรม มันก็ไม่ใช่หนัง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ จูดาห์กำลังตีประเด็นของ เรื่องแต่งไม่แตก มนุษย์ สรรค์สร้างจินตนาการขึ้นก็เพื่อจะได้หลุดเข้าไปใช้ชีวิต (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง ขณะพวกเขานั่งดูหนังหรืออ่านหนังสือเรื่องนั้นๆ) ในโลกที่ทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผล ในโลกที่ศีลธรรมได้รับการยกย่องเชิดชู ในโลกที่คนบาปสำนึกผิดหรือถูกลงโทษ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมในหนังพระเอกจึงมักจะลงเอยกับนางเอกและพวกผู้ร้ายก็มักจะถูกผลกรรมตามสนอง

การพลิกตลบเหตุสยองขวัญของคดี ชาร์ล แมนสัน ใน OUATIH เป็นความพยายามจะปลอบประโลมคนดูหรือเปล่าว่าถึงแม้ลูกสมุนของแมนสันจะไม่ได้รับผลกรรมอย่างสาสมในชีวิตจริง แต่ในหนังพวกเขาจะต้องเจอวิบากกรรม ซึ่งโหดร้ายทารุณไม่แพ้กัน นี่เองเป็นเหตุผลว่าทำไมทารันติโนถึงต้องให้คลิฟฟ์กระหน่ำกระแทกหน้าผู้บุกรุกกับของแข็งจนเละเป็นเนื้อบด (ส่วนหนึ่งเพราะเขามึนเมาจากฤทธิ์ยา) หรือให้ริคเผาผู้บุกรุกอีกรายด้วยเครื่องพ่นไฟจนกลายเป็นเนื้อย่าง เพราะนั่นถึงจะเรียกได้ว่า เจ๊ากัน กับความโหดเหี้ยมที่พวกเขากระทำกับชารอนและผองเพื่อน ใน Kill Bill: Vol. 1 เมื่อ เวอร์นิตา (วิเวกา เอ. ฟ็อกซ์) บอกว่าเธอเข้าใจที่ เดอะ ไบรด์ (อูมา เธอร์แมน) อยากฆ่าเธอเพื่อพวกเขาจะได้เจ๊ากัน เดอะ ไบรด์ กลับตอบว่า ถ้าจะให้เราเจ๊ากันจริงๆ ฉันต้องฆ่าแก ขึ้นไปที่ห้องนิกกี้ (ลูกสาวเวอร์นิตา) แล้วฆ่าเธอซะ จากนั้นก็รอให้ผัวแกกลับมาบ้านและฆ่าเขา นั่นต่างหากถึงจะเรียกว่าเจ๊ากัน

แนวคิดเกี่ยวกับการแก้แค้นอันชอบธรรมเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ ในหนังของทารันติโน เช่นเดียวกับการบิดประวัติศาสตร์เพื่อสร้างจักรวาลคู่ขนานแล้วเปลี่ยนผู้ถูกกระทำให้เป็นผู้กระทำ เปลี่ยนฆาตกรให้เป็นเหยื่อ แต่ขณะที่หนังอย่าง Kill Bill, Grindhouse: Death Proof หรือ Inglourious Basterds วีรกรรมการเอาคืนมักมีต้นกำเนิดมาจากความคับแค้นของตัวละครในเรื่องอย่างชัดเจน แต่สำหรับ OUATIH การแก้แค้นออกจะซ่อนลึกอยู่อีกชั้นและมีต้นกำเนิดจากนอกจอ พูดง่ายๆ ก็คือมันเป็นการเอาคืน ชาร์ล แมนสัน ของทารันติโนเสียมากกว่า ไม่ใช่ในแง่รูปธรรมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงในแง่นามธรรมอีกด้วย เพราะโศกนาฏกรรมในค่ำคืนนั้นถูกมองว่าเป็นจุดสิ้นสุดของยุค 60 การมองโลกเชิงบวก ความเป็นเหตุเป็นผล และเศษเสี้ยวสุดท้ายของโลกยุคเก่าที่ยังพอจะมีความมั่นคงหลงเหลืออยู่ในสังคมล้วนถูกทำลายล้างไปพร้อมๆ กับการตายของ ชารอน เทต แต่ในเวอร์ชั่นของทารันติโน ชารอนไม่เพียงจะรอดตาย พวกสาวกแมนสันไม่เพียงจะจบชีวิตอย่างอนาถเท่านั้น แต่เรื่องราวโกลาหลยังเป็นจุดเริ่มต้นให้ริคได้ทำความรู้จักกับชารอน เชื่อมโยงสองส่วนของหนังที่เหมือนจะแยกจากกันเข้าด้วยกัน (ชารอนกับริค+คลิฟฟ์) แล้วนำเสนออ้อมๆ เป็นนัยว่าโลกแห่งฮอลลีวู้ดแบบที่เควนตินหลงใหลอาจได้ดำเนินต่อไปในจักรวาลคู่ขนานนี้

ความต่างระหว่าง OUATIH กับบรรดาหนังแฮปปี้เอ็นดิ้งทั้งหลาย (คนเลวโดนลงโทษ คนดีรอดพ้นภัยและได้รับผลตอบแทน) อยู่ตรงที่คนดูส่วนใหญ่ล้วนตระหนักดีว่าความจริงที่เกิดขึ้นนั้นตรงข้ามกับเหตุการณ์ในหนังมากแค่ไหน และทารันติโนก็ไม่ลืมที่จะตอกย้ำว่าทั้งหมดเป็นแค่เรื่องเล่า ไม่ได้เกิดขึ้นจริง จากการจบหนังของเขาด้วยการขึ้นชื่อว่า กาลครั้งหนึ่ง... ในฮอลลีวู้ด ซึ่งไม่เพียงจะอ้างอิงไปยังหนังของ เซอร์จิโอ ลีโอเน แต่ยังรวมไปถึงนิทานปลอบประโลมใจ (แคนดิซ เบอร์เกน นักแสดงที่เคยอาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวกับโปรดิวเซอร์ เทอร์รี เมลเชอร์ ก่อนสองผัวเมียโปลันสกีจะย้ายเข้ามาอยู่เคยเขียนบรรยายว่า มันเหมือนโลกในนิทาน บ้านบนเนินเขาในดินแดนเนเวอร์แลนด์ ห่างไกลจากโลกแห่งความจริง ที่ซึ่งเรื่องร้ายๆ ไม่มีวันเกิดขึ้นได้”) ด้วยเหตุนี้อารมณ์ที่คนดูเก็บเกี่ยวได้จากฉาก แฮปปี้เอ็นดิ้ง ดังกล่าวจึงไม่ใช่ความอิ่มเอม อุ่นใจ หรือความหวังว่าชีวิตจะต้องดีขึ้น แต่เป็นความหม่นเศร้าว่าทั้งหมดก็แค่เรื่องแต่งที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อหลอกให้เราตายใจว่าโลกไม่ได้เลวร้าย ไร้ซึ่งเหตุผล และความบริสุทธิ์ เรียบง่าย ไม่ซับซ้อนของยุคสมัยนั้นหาได้สิ้นสุดลงพร้อมกับเหตุฆาตกรรม ณ บ้านเลขที่ 10050 ซีโล ไดรฟ ในเดือนสิงหาคม 1969

ไม่มีความคิดเห็น: