วันจันทร์, ธันวาคม 20, 2564

Doctor Sleep: วังวนแห่งความรุนแรง

เชื่อกันว่าหนึ่งในเหตุผลที่ สตีเวน คิง ไม่ค่อยปลื้ม The Shining เวอร์ชั่นของ สแตนลีย์ คูบริก สักเท่าไหร่ ถึงขั้นนำไปสร้างใหม่เป็นมินิซีรีส์ความยาวสี่ชั่วโมงครึ่งในปี 1997 โดยรับหน้าที่เขียนบทเองเลย นอกเหนือไปจากการที่คูบริกปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องตามชอบใจจนแทบไม่เหลือเค้าเดิมแล้ว ก็คือ ความพยายามจะกดทับ บั่นทอนแง่มุมเหนือธรรมชาติ หรือการดำรงอยู่ของบรรดาผีสางวิญญาณร้ายให้เหลือเพียงบางเบา หรืออย่างน้อยที่สุดก็คลุมเครือจนสามารถตีความได้หลากหลาย (เป็นวิญญาณหรือแค่ภาพหลอน? เป็นพลังจิตหรือแค่จินตนาการ?) แล้วหันมาให้ความสำคัญกับตัวละครหลักทั้งสาม รวมถึงบรรยากาศหลอกหลอนของโรงแรมโอเวอร์ลุคแทน ส่งผลให้หนังดำเนินเรื่องค่อนข้างช้าและอ่อนด้อยในด้านความบันเทิงเมื่อเทียบกับต้นฉบับตัวอักษร

แต่ในเวลาเดียวกันคูบริกก็ลบเลือนภูมิหลังอันมืดหม่น แรงจูงใจ หรือพัฒนาการของตัวละคร แจ็ค ทอร์เรนซ์ จนแทบจะกลายเป็นศูนย์ คนดูอาจสัมผัสถึงความตึงเครียดภายในครอบครัวได้ตั้งแต่ฉากแรกๆ แต่ประวัติติดเหล้าและเคยทำร้ายร่างกายลูกชายของแจ็คถูกเปิดเผยผ่านบทสนทนาแบบไม่ลงรายละเอียด ส่งผลให้ช่วงท้ายเรื่องเมื่อแจ็คโดนโรงแรมโอเวอร์ลุคล่อหลอกด้วยเหล้าขาดพลังโน้มน้าว/ชวนให้ลุ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบว่าหนังสือให้ความสำคัญกับปมดังกล่าวมากแค่ไหน คิงเคยตำหนิว่าการเลือก แจ็ค นิโคลสัน มารับบท แจ็ค ทอร์เรนซ์ ทำให้คนดูไม่สามารถมองว่าตัวละครตัวนี้เป็นแค่ชายธรรมดาที่ถูกปีศาจหลอกล่อจนกลายเป็นบ้าและไล่ฆ่าลูกเมียได้ เพราะภาพจำของนิโคลสัน (One Flew Over the Cuckoos Nest) รวมถึงสไตล์การเล่นของเขาทำให้คนดูทึกทักได้แต่แรกว่าหมอนี่ไม่ปกติแน่นอน ส่วน “พรสวรรค์” ของ แดนนี ทอร์เรนซ์ ก็ดูจะไม่ใช่แก่นหลักของเรื่องราวอีกต่อไป ขณะที่ เวนดี ทอร์เรนซ์ (ผ่านการแสดงของ เชลลีย์ ดูวัลล์) ก็ดูจะตกอยู่ในสภาพป่วยจิตไม่ต่างจากสามีเธอ ลงท้ายคนดูจึงไม่อาจแทนตัวเองเพื่อเอาใจช่วยตัวละครคนไหนได้เลย ซึ่งนั่นถือเป็นการละเมิดกฎสำคัญของหนังสยองขวัญ แต่ใครก็ตามที่ติดตามผลงานของคูบริกมาตลอดอาจไม่แปลกใจสักเท่าไหร่ เพราะเขามักจะกันคนดูออกห่างจนหลายคนชอบกล่าวหาว่าหนังของเขาค่อนข้างเย็นชา

Doctor Sleep ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายภาคต่อชื่อเดียวกัน เป็นเหมือนการปรับแก้ The Shining ให้สอดคล้องตามความต้องการของคิงมากขึ้น โดยไม่ละทิ้งโอกาสคารวะผลงานคลาสสิกของคูบริกไปพร้อมๆ กัน อย่างแรกเลย พลังเหนือธรรมชาติหรือแง่มุมผีสางต่างๆ ในหนังปรากฏชัดเจนและเป็นศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหลาย ไม่มีการหลบๆ ซ่อนๆ หรือสื่อเป็นนัยแต่อย่างใด ทุกอย่างที่เหมือนจะคลุมเครือใน The Shining ต่างได้รับการอธิบายอย่างหมดจด โดยเฉพาะเกี่ยวกับโรงแรมโอเวอร์ลุค พลังวิเศษของแดนนี รวมถึงชะตากรรมของ แจ็ค ทอร์เรนซ์ (ซึ่งอธิบายปริศนารูปถ่ายช็อตสุดท้ายของ The Shining ไปในตัวว่าเขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมแล้ว) แถมยังปิดท้ายด้วยฉากจบที่ย้อนไปแก้ไขให้บทสรุปดำเนินตามนิยายต้นฉบับของคิงอีกด้วย (โรงแรมถูกเผาทำลาย)

ประการต่อมา ผู้กำกับ ไมค์ ฟลาเนแกน เปิดเผยเจตนารมณ์ชัดแจ้งตั้งแต่แรกว่าต้องการให้คนดูเอาใจช่วย แดน ทอร์เรนซ์ (ยวน แม็คเกรเกอร์) ด้วยการแจกแจงปมชีวิตเขาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและไม่เร่งรีบว่าเขาต้องรับมือกับความยากลำบากมากแค่ไหนหลังรอดตายจากโรงแรมโอเวอร์ลุค เขาสูญเสียแม่ และต้องทนทรมานกับเหล่าปีศาจจากโรงแรมโอเวอร์ลุคที่ยังคงตามมาหลอกหลอนไม่ห่าง เพื่อนคนเดียวของแดน คือ ดิ๊ก ฮัลโลแรน (คาร์ล ลัมบลี) อดีตพ่อครัวของโรงแรมโอเวอร์ลุคที่โดนแจ็คฆ่าตาย ดิ๊กมีญาณวิเศษเช่นเดียวกับแดน วิญญาณเขาเป็นคนสอนให้แดน “เก็บกด” ภูติผีเหล่านั้นเอาไว้ในจิตใจเพื่อจะได้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เขากรอกเหล้าใส่ปากทุกเมื่อเชื่อวันเพื่อหวังจะปกปิดพรสวรรค์ของตนไม่ให้ใครรู้ จนกระทั่งได้รับการติดต่อจาก แอบรา สโตน (ไคลีห์ เคอร์แรน) เด็กสาวผู้มีญาณวิเศษไม่ต่างจากเขา

คูบริคบอกว่าเหตุผลที่เขาชื่นชอบนิยายเรื่อง The Shining เพราะมันรักษาสมดุลได้อย่างสวยงามระหว่างแง่มุมจิตวิทยาและแง่มุมเหนือธรรมชาติ การต่อสู้หลักในหนังจึงเป็นการต่อสู้ภายในจิตใจตัวละคร ความชั่วร้ายของโรงแรมโอเวอร์ลุคจะเอาชนะและครอบงำแจ็คได้สำเร็จหรือไม่ ส่วนตัวหนังเองก็สะท้อนภาวะดังกล่าวด้วยการให้แทบทุกครั้งที่ ผี ปรากฏตัวขึ้น แจ็คมักจะถูกห้อมล้อมด้วยกระจก หรือไม่ก็พื้นผิวโลหะเป็นมันวาว เช่น ในบาร์ โกลด์ รูม ห้องน้ำ ห้อง 237 หรือห้องเก็บเสบียง เมื่อเป็นเช่นนั้นสิ่งที่เขาเห็นจึงอาจตีความได้ว่าไม่ใช่ผีแบบตรงตัว แต่เป็นสัญลักษณ์ เป็นภาพสะท้อนของความเลวร้ายและด้านมืดมนุษย์ ซึ่งในเวลาเดียวกันหนังก็ตอกย้ำให้เห็นภาวะสองด้านในคนๆ เดียวผ่านรายละเอียดที่ ดับเบิล” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผีเด็กแฝด โทนี/แดนนี มิสเตอร์เกรดีที่ฆ่าลูกเมียกับมิสเตอร์เกรดีที่แจ็คพบเจอในห้องน้ำ รวมไปถึง แจ็ค ทอร์เรนซ์ กับชายที่หน้าตาเหมือนแจ็คในรูปถ่ายเมื่อปี 1921 ของโรงแรม

แง่มุมปีศาจในใจตนดูจะถูกตัดทิ้งในภาคต่อ ทั้งนี้เพราะ Doctor Sleep เลือกเส้นทางที่แตกต่างจาก The Shining อย่างสิ้นเชิง โดยหนังของ ไมค์ ฟลาเนแกน ไม่ได้เน้นบรรยากาศ การวิเคราะห์จิต หรือกระทั่งความสยองขวัญ แต่เน้นการต่อสู้แบบเป็นรูปธรรมระหว่างธรรมะกับอธรรมในสไตล์หนังซูเปอร์ฮีโร่เสียมากกว่า ซึ่งเขาก็ทำได้ค่อนข้างดีในภาพรวม และนับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องด้วย เพราะการพยายามจะเลียนแบบคูบริคนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แถมยังเสี่ยงต่อความล้มเหลวค่อนข้างสูง คราวนี้ปีศาจร้ายถูกมอบน้ำหนักเป็นตัวตนมากกว่าจะเป็นนามธรรมในรูปของกลุ่มยิปซีผีดิบภายใต้การนำของ โรส เดอะ แฮท (รีเบ็กกา เฟอร์กูสันซึ่งดูดกิน “พรสวรรค์” และความหวาดกลัวจากเหล่ามนุษย์ผู้มีญาณวิเศษทั้งหลายเป็นอาหารเพื่อจะได้มีชีวิตยืนยาว

สิ่งหนึ่งที่ Doctor Sleep ยังคงสานต่อ The Shining ได้แก่ ประเด็นวังวนแห่งความรุนแรง/ชั่วร้าย โดยช็อตสุดท้ายอันชวนพิศวงของ The Shining เป็นการเคลื่อนกล้องเข้าไปโคลสอัพรูปถ่ายจากงานเลี้ยงที่โรงแรมโอเวอร์ลุคเมื่อปี 1921 ผู้ชมจะเห็นว่าชายคนที่ยืนอยู่กึ่งกลางภาพตรงแถวหน้า คือ แจ็ค ทอร์เรนซ์ หรือไม่ก็เป็นคนที่หน้าตาเหมือนเขายังกับแกะ ไม่มีคำอธิบายชัดเจนเกี่ยวกับปริศนาดังกล่าว ทั้งหมดนี้แปลว่าแจ็คได้ถูกโรงแรม “กลืนกิน” ให้กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกเช่นเดียวกับมิสเตอร์เกรดีงั้นเหรอ หรือมันเป็นแค่เรื่องบังเอิญ คูบริคเคยให้สัมภาษณ์ถึงช็อตดังกล่าวว่า The Shining เป็นหนังผี และทุกสิ่งทุกอย่างในหนังผีไม่จำเป็นต้องเมกเซนส์ ในเวลาเดียวกันเขาก็เคยระบุเจาะจงว่า “รูปถ่ายห้องบอลรูมในฉากสุดท้ายเป็นการสื่อนัยถึงการกลับชาติมาเกิดของแจ็ค” การกลับชาติมาเกิดไม่เพียงจะสอดคล้องกับภาวะ “ดับเบิล” ของหนังเท่านั้น แต่ยังอธิบายไปถึงปริศนาเกี่ยวกับสองมิสเตอร์เกรดีได้อีกด้วย

แนวคิดดังกล่าวบ่งบอกคุณลักษณะของวังวน การสืบสาน ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นแบบไม่สิ้นสุด เพราะแก่นของหนังผีคือความเชื่อเรื่องความเป็นนิรันดร์ ความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุด ไม่ใช่ความว่างเปล่า แต่เรายังคงดำเนินต่อไป ร่อนเร่เป็นดวงวิญญาณ หรือไปเกิดใหม่ในร่างของอีกคนหนึ่ง โรงแรมโอเวอร์ลุคเป็นเหมือนจุดหมายปลายทางแห่งบททดสอบความเป็นมนุษย์ มันจะร่ำร้อง เรียกหาให้เหล่าผู้คนที่เคยพักอาศัยอยู่ในสถานที่แห่งนี้ต้องหวนกลับมาเผชิญหน้าวิกฤติแบบเดิม ส่วนสุดท้ายแล้วเราจะเลือกเชื่อฟังด้านสว่าง หรือเดินหน้าตามด้านมืดจนประวัติศาสตร์ซ้ำรอยครั้งแล้วครั้งเล่าก็ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของจิตเราเอง

ประวัติความรุนแรงของโรงแรมแห่งนี้สืบทอดยาวนานมาหลายชั่วอายุคน เนื่องจากมันสร้างขึ้นบนซากศพของเหล่าอินเดียนแดงในช่วงยุคบุกเบิก โดยประวัติศาสตร์ของโรงแรม ทั้งสถานที่ตั้ง (สุสานเก่าของอินเดียนแดงและคดีฆ่าล้างครัวของมิสเตอร์เกรดี เริ่มเปิดเผยให้เห็นทีละน้อย พร้อมๆ กับประวัติความรุนแรงภายในครอบครัวทอร์เรนซ์ ใน The Shining เวอร์ชั่นนิยาย คนอ่านจะตระหนักถึงภูมิหลังของแจ็คว่าเขามีพ่อขี้เมาและเคยทำร้ายร่างกายลูกชายด้วย แต่ในเวอร์ชั่นหนังรายละเอียดดังกล่าวถูกตัดทอนออกไป Doctor Sleep ยังสืบทอดเส้นทางของตระกูลทอร์เรนซ์ต่อไป เมื่อแดนนีเติบใหญ่กลายเป็นผู้ชายขี้เหล้าเช่นเดียวกัน แถมยังใช้ชีวิตสำมะเลเทเมา ก่อนจะตัดสินใจเดินทางไปยังเมืองบ้านนอกเพื่อเริ่มต้นใหม่ เข้าร่วมกลุ่มบำบัดอาการติดเหล้า แล้วเรียนรู้ที่จะผูกมิตร พร้อมกับค่อยๆ กอบกู้ชีวิตที่แตกหัก แต่สุดท้ายชะตากรรมได้กำหนดให้เขาต้องเดินทางไปยังโรงแรมโอเวอร์ลุคอีกครั้ง พร้อมเผชิญแบบทดสอบสำคัญ เมื่อวิญญาณของแจ็คโผล่มารับบทเป็นบาร์เทนเดอร์ใน โกลด์ รูม และเสนอเหล้าให้แดนนีดื่ม

การที่คูบริคเลือกจะเปลี่ยนตอนจบของ The Shining จากในนิยายด้วยการเก็บรักษาโรงแรมโอเวอร์ลุคเอาไว้ แล้วส่งคนดูกลับบ้านด้วยภาพอันชวนหลอกหลอนของแจ็คในอีกชีวิตหนึ่ง อาจบ่งชี้ให้เห็นว่าคูบริคไม่ใช่คนมองโลกในแง่ดีสักเท่าไหร่ เพราะเขากำลังบอกกล่าวเป็นนัยว่าความชั่วร้าย หรือความรุนแรงนั้นไม่อาจฆ่าให้ตาย หรือทำลายล้างให้สิ้นซากได้ (เขาคิดว่าความเชื่อในเรื่องผีวิญญาณถือเป็นการมองโลกแง่ดี เมื่อเราไม่ได้สูญสลายไปหลังความตายจริงอยู่ ไมค์ ฟลาเนแกน ได้แสดงความเคารพอย่างสูงต่อผลงานของคูบริคในช่วงไคล์แม็กซ์ของหนัง แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็ดูเป็นคนมองโลกในแง่ดีกว่า (หรือเขาอาจแค่พยายามสร้างจุดประนีประนอมระหว่างคิงกับคูบริคเขาเลือกจบด้วยการให้ฝ่ายธรรมะกุมชัยชนะ ทั้งในภาพรวม (โรส เดอะ แฮท ต้องพบจุดจบอันสาสมและภาพย่อย (แดนนีเอาชนะด้านมืดและก้าวพ้นจากเงื้อมเงาของอดีตได้สำเร็จจากนั้นก็เผาโรงแรมโอเวอร์ลุคจนวอดวายเป็นจุณ

ถึงแม้ โรส เดอะ แฮท จะบอกว่าเธอกับพรรคพวกหาใช่ผีดิบดูดวิญญาณกลุ่มสุดท้ายบนโลกใบนี้ แต่บทสรุปของหนังก็ยังอบอวลด้วยอารมณ์อิ่มเอิบ ฮึกเหิม หนังไม่เพียงจะเฉลิมฉลองความกล้าหาญในการลุกขึ้นต่อกรกับความชั่วร้ายของแอบราเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความกล้าหาญที่จะเผชิญหน้ากับความจริงของแดนนีอีกด้วย เขาได้เรียนรู้แล้วว่าการพยายามจะปกปิดพรสวรรค์หรือปัจเจกภาพของตน และหลบเลี่ยงอดีตเพียงเพื่อจะได้เป็นเหมือนคนอื่นๆ นั้นไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา ซ้ำร้ายยังทำให้เขาหมกมุ่นในโลกส่วนตัวจนพลอยสร้างกำแพงขึ้นล้อมกรอบ ปิดกั้นตนเองจากมิตรภาพ หรือความผูกพันทั้งหลาย หีบต่างๆ ที่เขาจินตนาการขึ้นในหัวไม่เพียงจะกักขังปีศาจร้ายเท่านั้น แต่ยังเป็นกรงขังตัวเขาเองด้วย

จงส่องประกายต่อไป” เขาให้คำแนะนำกับแอบราในตอนท้าย... เพราะจะมีสิ่งใดเอาชนะความมืดมิดได้ดีไปกว่าแสงสว่างอีกเล่า

ไม่มีความคิดเห็น: