วันพุธ, พฤศจิกายน 08, 2549

นักมวยกะเทย: การล่วงละเมิดเวทีความเป็นชาย


เมื่อประมาณหกปีที่แล้ว มีนักชกมวยไทยคนหนึ่งได้รับความสนใจจากคนดู ตลอดจนสื่อมวลชนแทบทุกแขนง จนกลายเป็นปรากฏการณ์แห่งปี ถึงขนาดสถานีโทรทัศน์ ซีเอ็นเอ็น และ บีบีซี ยังบันทึกเหตุการณ์บนเวทีมวยนัดที่เขาลงแข่งไปออกอากาศทั่วโลก

เรื่องราวของเขาสามารถก้าวข้ามสถานะ ‘ข่าวกีฬา’ มาครอบครองพื้นที่ในหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ร่วมกับข่าวการเมือง เศรษฐกิจ และอาชญากรรม ซึ่งเป็น ‘เจ้าถิ่น’ ดั้งเดิมได้ ไม่ใช่เนื่องจากเขามีลีลาฟุตเวิร์คที่พริ้วไหว ชั้นเชิงการเตะต่อยอันหนักหน่วง หรือความแข็งแกร่งของร่างกายชนิดเกินหน้านักชกคนอื่นๆ แต่เนื่องจากเขาเป็นนักมวยที่นิยมผัดแป้ง แต่งหน้า ทาปาก และสวมที่คาดผม ก่อนขึ้นชกบนเวทีต่างหาก…

หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ เพราะเขาเป็นนักมวยกะเทย นั่นเอง

หากมองผ่านมุมของผู้ตกเป็นข่าว ในทางอาชีพ การที่ความเป็น ‘กะเทย’ ของ ‘น้องตุ้ม’ หรือ นายปริญญา เจริญผล ถูกสื่อมวลชนโหมประโคมให้เป็นคุณสมบัติสำคัญเหนือข้อเท็จจริงที่ว่า เขาเป็นนักมวยชั้นดีที่เคยน็อคคู่ต่อสู้มาแล้ว 18 คนในการชก 22 นัด ก่อนจะเดินทางมาขึ้นสังเวียน ณ เวทีลุมพินี อาจถือเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมเท่าใดนัก แต่ขณะเดียวกัน ตัวตนทางเพศของน้องตุ้มก็ทำให้เขา/เธอกลายสภาพเป็น ‘ประเด็น’ ทางสังคม รวมเลยไปถึงตัวแทนแห่งการพังทลายทางความคิดเกี่ยวกับกะเทยอ้อนแอ้นและความเป็นชาย ซึ่งนั่นทำให้เขา ‘คู่ควร’ จะได้รับพื้นที่มากกว่าแค่สองสามย่อหน้าบนพื้นที่ข่าวกีฬ่า

ในบรรดากีฬามากมายหลายหลากชนิด สังเวียนมวย ถือเป็นเวทีการต่อสู้ที่อัดแน่นไปด้วยพลังแห่งความเป็นชายในแทบทุกอณู ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ชมซึ่งประกอบไปด้วยผู้ชายเป็นหลัก ธรรมชาติของตัวกีฬาอันค่อนข้างแข็งกระด้าง รุนแรง กรุ่นกลิ่นคาวเลือด หรือการแต่งกายที่บ่งบอกลักษณะทางเพศค่อนข้างชัดเจนด้วยการเปลือยอกและสวมกางเกงขาสั้น

อาจกล่าวได้ว่า กีฬาชกมวย เป็นกิจกรรมที่ ‘กีดกัน’ เพศหญิง/ความเป็นหญิงมากพอๆกับการคลอดลูกเป็นกิจกรรมที่ ‘กีดกัน’ เพศชาย/ความเป็นชาย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากธรรมชาติแห่งเพศ

จากการทดลอง นักจิตวิทยา อีริค อีริคสัน ค้นพบว่าเด็กผู้หญิงชอบเล่นตัวต่อด้วยการสร้างเป็นรูปร่างต่างๆโดยเน้นความสวยงาม ขณะที่เด็กผู้ชายกลับเลือกต่อตัวต่อให้สูงที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้เพื่อรอดูมันพังทลายลงมา “แรงปรารถนาในหายนะ” อีริคสันตั้งข้อสังเกต “เป็นความเชี่ยวชาญพิเศษของมนุษย์เพศชาย”

กีฬาชกมวยสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดดังกล่าว เพราะไม่ว่าการแข่งขันนัดนั้นจะเต็มไปด้วยความสง่างาม สวยหรู หรือน้ำใจนักกีฬามากเพียงใด สุดท้ายแล้ว หายนะ คือ สิ่งที่ทุกคนรอคอยและคาดหวัง เหมือนตัวต่อที่ถูกตั้งสูงขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งพังทลายลงในที่สุด

ผู้หญิงที่นั่งชมการแข่งขันชกมวยส่วนใหญ่มักรู้สึกเห็นใจนักมวยที่แพ้ หรือบาดเจ็บ ส่วนผู้ชายกลับนิยมเข้าข้างนักมวยที่เป็นฝ่ายชนะ แต่ในแง่หนึ่ง ผู้ชมเพศชายอาจรู้สึก ‘อิน’ กับตัวเกมกีฬาเป็นหลักได้เช่นกันเหมือนความรักที่ปราศจากตัวตนให้จับต้อง กล่าวคือ ถ้าพวกเขาตั้งใจเชียร์นักมวยคนหนึ่งคนใดก่อนการแข่งขัน แล้วปรากฏว่านักมวยคนนั้นกำลังจะพบกับความพ่ายแพ้ พวกเขาก็สามารถหันมาเชียร์ผู้ชนะ ชื่นชมในความสามารถ ความเป็นนักสู้ของอีกฝ่ายแทนได้ ซึ่งเช่นนั้นแล้ว กิจกรรมแห่งการต่อสู้บนเวทีมวยย่อมถูกยกย่องและยืนยันคุณค่าเสมอ

ในเมื่อกีฬาชกมวยเป็นกิจกรรมที่อัดแน่นไปด้วยธรรมชาติแห่งเพศชายค่อนข้างสูง ด้วยเหตุนี้ มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การปรากฏตัวของกะเทยคนหนึ่งบนสังเวียน ‘ลูกผู้ชาย’ จะสามารถสร้างความฮือฮาและท่าที ‘คุกคาม’ ต่อขนบธรรมเนียมดั้งเดิมได้อย่างมากมาย ยิ่งกว่ากีฬาประเภทอื่นๆ เช่น วอลเลย์บอล กับกรณีทีม ‘สตรีเหล็ก’ นอกจากนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่า กีฬามวยไทยเป็นสัญลักษณ์แทนความเก่าแก่และประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน คละคลุ้งไปด้วยเสียงปี่แตรโบราณ ตลอดจนการรำไหว้ครูก่อนการชก ก็ยิ่งทำให้ระดับคุกคามที่ว่าเพิ่มทวีเป็นสองเท่า

วิกฤติดังกล่าวสะท้อนผลออกมา เมื่อคณะกรรมการเวทีมวยลุมพินีตัดสินใจประกาศยกเลิกกฎระเบียบ ‘เป็นกรณีพิเศษ’ และอนุญาตให้น้องตุ้มสามารถสวมกางเกงในขึ้นชั่งน้ำหนักก่อนการชกได้ โดยตามข่าวระบุว่าคณะกรรมการ ‘ใจอ่อน’ เมื่อได้เห็นน้ำตาของน้องตุ้ม ผู้ปฏิเสธเสียงแข็งที่จะแก้ผ้าต่อหน้าธารกำนัล แต่หากมองให้ลึกลงไปแล้วจะพบว่า สถานการณ์ดังกล่าวไม่เพียงจะก่อให้เกิดความอึดอัด คับข้องใจแก่น้องตุ้มเท่านั้น หากยังรวมไปถึงบรรดาผู้ชายในกลุ่มคณะกรรมการอีกด้วย เนื่องจากการแก้ผ้าขึ้นชั่งน้ำหนักของน้องตุ้ม ย่อมเปิดเผยให้เห็น ‘ความเป็นชาย’ ของเขา และทำลายทัศนคติดั้งเดิมทั่วๆไปที่ว่ากะเทยไม่ใช่ผู้ชาย ‘เต็มตัว’

ถ้าไม่นับคำว่า เกย์ และ ตุ๊ด ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากคำว่า gay ในภาษาอังกฤษและหนังเรื่อง Tootsie (1982) ตามลำดับแล้ว กะเทย จึงกลายเป็นคำไทยแท้ๆเพียงคำเดียวสำหรับอ้างอิงถึงพฤติกรรมรักร่วมเพศและมักจะมีคุณสมบัติผูกติดกับธรรมชาติของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ดังนั้น ในสายตาของสังคม กะเทยจึงถูกคาดหวังว่าจะต้องแสดงบุคลิกความเป็นหญิงออกมา เช่น ใช้สรรพนามว่า ‘ฉัน’ แทน ‘ผม’ แล้วลงท้ายประโยคด้วย ‘ค่ะ’ แทน ‘ครับ’ ออกอาการกระตุ้งกระติ้งและสวมเสื้อผ้าแบบผู้หญิง ที่สำคัญ บางครั้งกะเทยยังถูกเรียกแทนด้วยคำศัพท์ว่า ‘สาวประเภทสอง’ หรือ ‘ผู้หญิงประเภทสอง’ อีกด้วย

ฉะนั้นการได้เห็นกะเทยคนหนึ่งสามารถเตะต่อยผู้ชาย ‘เต็มตัว’ ให้ล้มลงไปกองคาพื้นเวทีได้ จึงถือเป็นภาพชวนช็อค เปรียบเสมือนการเรียกร้องขอพื้นที่ในเกมแห่งเพศชายและท้าทายบรรทัดฐานทางเพศของบุคคลทั่วไป เนื่องจากการชกมวยเป็นกีฬาของผู้ชายเต็มตัว และผู้ชายเต็มตัวก็ไม่นิยมแต่งหน้า ทาปาก

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างนักมวยกะเทยกับนักมวยผู้หญิง แม้ทั้งสองจะเสี่ยงต่อการถูกมองว่าเป็น ‘ตัวตลก’ แบบเดียวกันกับผู้ชายเต้นบัลเล่ต์ใน Billy Elliot (2000) ก็ตาม อยู่ตรงที่ ในทางอุดมคติ นักมวยผู้หญิง คือ เฟมินิสต์ หรือตัวแทนแห่งการเรียกร้องสิทธิสตรีบนโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ตรงกันข้าม นักมวยกะเทยกลับไม่ได้ทำหน้าที่ ‘เรียกร้อง’ สิทธิคล้ายคลึงกันนั้นให้แก่กลุ่มบุคคลรักร่วมเพศแต่อย่างใด เนื่องจาก ตามคำกล่าวของ ปีเตอร์ แจ๊คสัน นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการศึกษาประเด็นทางเพศในประเทศไทย ธรรมชาติของกะเทยนั้น ‘ตอกย้ำ’ ระบบความคิดดั้งเดิมทางเพศมากกว่าจะขัดขืน

พวกเขานิยมแทนตัวเองว่าเป็นผู้หญิงโดยจิตวิญญาณ แต่เกิดมาในร่างที่ผิดพลาด หลายคนพยายามจะแก้ไข ‘จิตใจ’ กับ ‘ร่างกาย’ ให้สอดคล้องกันด้วยการผ่าตัดแปลงเพศ ทั้งนี้เนื่องจากลึกๆแล้ว พวกเขาไม่เชื่อใน ‘รักร่วมเพศ’ (homosexuality) และยังยึดมั่นอยู่กับระบบ ‘รักต่างเพศ’ (heterosexuality) ซึ่งระบุชัดเจนว่าผู้ชายเกิดมาต้องครองคู่กับผู้หญิงเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อตระหนักว่าตนชื่นชอบไม้ป่าเดียวกัน พวกเขาจึงพยายามผลักดันตัวเองให้ดำรงสถานะเพศตรงกันข้าม แทนที่จะยอมรับในสภาพรักร่วมเพศ

เป็นไปได้ไหมว่าเพราะเหตุนี้เอง ผู้ชม (เพศชาย) ส่วนใหญ่ถึงสามารถทำใจยอมรับและตะโกนเชียร์ ‘น้องตุ้ม’ ได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจมากนัก นอกเหนือไปจากความจริงที่ว่าเขาเป็น ‘ผู้ชนะ’ และกำลังตกอยู่ท่ามกลางแวดวงแห่งเกมกีฬาที่พวกเขาเทิดทูน บูชา

การแต่งหน้า ทาปาก อาจแสดงท่าทีคุกคามความเป็นชายของกลุ่มผู้ชมอยู่บ้าง แต่อย่างน้อย ‘น้องตุ้ม’ ก็ช่วยยืนยันระบบแนวคิดเชิดชูรักต่างเพศ (heterosexism) หรือ จักรวาลแห่งชาย-หญิง ทำให้ผู้ชายที่มาหลงใหล ‘กะเทย’ สามารถกล้อมแกล้มหลอกตัวเองต่อไปได้ ว่าพวกเขาไม่ได้รักชอบไม้ป่าเดียวกัน ว่าพวกเขายังเป็นผู้ชาย ‘เต็มตัว’ เพราะตามแนวคิดดั้งเดิมนั้น กะเทย คือ ผู้หญิงในร่างผู้ชาย และเธอ/เขาผู้นั้นก็มักจะรับบทเป็นผู้ถูกกระทำในกิจกรรมทางเพศดุจเดียวกับผู้หญิง สุดท้ายผู้ชาย ‘เต็มตัว’ จึงยังคงสามารถดำรงทัศนคติแห่ง ‘ความเป็นชาย’ ของตนเอาไว้ได้ในเกมการร่วมรักกับบุคคลเพศเดียวกัน ตราบเท่าที่พวกเขายังทำหน้าที่เป็น ‘ผู้ชาย’ ในกิจกรรมดังกล่าว

ความแตกต่างประการหนึ่งระหว่างสังคมรักร่วมเพศของไทยกับโลกตะวันตกอยู่ตรงที่ คำว่า เกย์ ในสังคมไทย ไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อแยกแยะรักร่วมเพศจากรักต่างเพศ (gay vs. straight) แต่เพื่อแยกแยะรักร่วมเพศจากการถูกตราหน้าว่าเป็น ‘กะเทย’ และมีแรงปรารถนาที่จะเป็นผู้หญิง

ผมไม่ใช่กะเทย” คือคำที่เกย์ไทยนิยมใช้ พร้อมทั้งอธิบายเหตุผลสนับสนุนว่าเนื่องจากพวกเขาสามารถเป็นได้ทั้ง ‘รุก’ และ ‘รับ’ ในกิจกรรมทางเพศ ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับการคิดสรรคำใหม่ๆขึ้นมาเองของคนไทย เช่น เกย์คิง, เกย์ควีน รวมเลยถึง ‘เสือไบ’ ข้อสรุปหนึ่งซึ่งปรากฏชัด ได้แก่ ทั้งหมดล้วนบ่งชี้ไปที่ ‘บทบาท’ และ ‘การกระทำ’ มากกว่าแสดงตัวตน กล่าวคือ สถานะรักร่วมเพศของสังคมไทยดูเหมือนจะผูกติดอยู่กับ “สิ่งที่คุณทำ” มากกว่า “ตัวตนที่คุณเป็น”

การขาดคำศัพท์ ซึ่งจะนำใช้อธิบายตัวตนแห่งรักร่วมเพศในแบบที่ทุกคนสามารถยอมรับและเข้าใจได้ตรงกัน คือ ปัญหารากเหง้า ส่งผลกระทบต่อการวางรากฐานในสังคมให้รักร่วมเพศกลายเป็น ‘ตัวตนที่ปรากฏ’ แทนการหลบซ่อนอยู่ในซอกหลืบ แต่ขณะเดียวกัน สถานะดังกล่าว ตลอดจนการที่กะเทยเป็นรักร่วมเพศ ‘เดียว’ ที่มักจะปรากฏตัวตามสื่อต่างๆ ทั้งในหนัง ในละคร ในเกมโชว์ ก็สร้างความ ‘อุ่นใจ’ ให้แก่มวลชนชาวรักต่างเพศทั้งหลาย เพราะกะเทยเปรียบดัง ‘ยาน้ำเชื่อม’ กลืนง่ายคล่องคอสำหรับพวกเขา สามารถตกเป็นเป้าให้พวกเขา ‘สงสาร’ ในความต้องการจะเป็นผู้หญิง แต่ดันเกิดมาในร่างกายที่ผิดพลาดได้ พร้อมทั้งช่วยยืนยันความจริงที่ว่าผู้ชายต้องอยู่คู่กับผู้หญิงเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ นักมวยกะเทย ซึ่งสื่อมวลชนพยายามเน้นย้ำเหลือเกินว่า จำต้องเข้ามาคลุกคลีในวงการหมัดๆมวยๆเนื่องจากความจนเป็นเหตุ ทั้งที่ใจอยากเป็นผู้หญิงมากกว่า จึงย่อมไม่ให้ความรู้สึก ‘คุกคาม’ เพศชายได้มากเท่ากับ นักมวยเกย์ ผู้พอใจใน ‘ความเป็นชาย’ ของตน และไม่เสนอข้ออ้างอื่นใดให้แก่ผู้ที่มาหลงใหลนอกจาก ‘ความเป็นรักร่วมเพศ’

ทำนองเดียวกัน บรรดาหนังกะเทยทั้งหลายที่กำลังออกฉายเกลื่อนตลาด หลายเรื่องประสบความสำเร็จและทำเงินทำทองมากมาย จึงไม่ได้บ่งชี้ถึงภาวะการยอมรับ ‘รักร่วมเพศ’ ของสังคมไทยแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหนังกะเทยเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่กล้าแม้จะแสดงให้เห็นฉากจูบ ‘จริงๆ’ ระหว่างผู้ชายกับผู้ชายเสียด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่การสะท้อนถึงความสัมพันธ์ หรือ สภาพจิตใจในเบื้องลึกของตัวละครเลย สุดท้ายแล้ว พวกเขาก็กลายเป็นแค่ตัวตลกแบนราบให้คนดูได้หัวเราะมากกว่ามนุษย์ที่มีเลือดเนื้อและมิติ

คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่า วงการหนังไทยยังคงรอคอยการมาถึงของหนัง ‘รักร่วมเพศ’ ที่แท้จริงอยู่

ไม่มีความคิดเห็น: