วันอังคาร, มกราคม 20, 2558

Foxcatcher: แด่ความรุ่งโรจน์


ผมอยากจะพูดถึงอเมริกาและเหตุผลว่าทำไมผมถึงเล่นกีฬามวยปล้ำมาร์ค ชูลท์ซ (แชนนิง ตาตั้มกล่าวบนเวทีในหอประชุมของโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งท่ามกลางเหล่าเด็กนักเรียน ซึ่งสีหน้าสะท้อนส่วนผสมระหว่างอารมณ์เบื่อหน่ายกับความไม่ยี่หระ แม้กระทั่งเมื่อเขาชูเหรียญทองโอลิมปิกขึ้นอวด นี่ไม่ใช่แค่เหรียญทองธรรมดา แต่เป็นสัญลักษณ์แทนความมุ่งมั่น บากบั่นบางทีสาเหตุอาจเป็นเพราะมาร์คไม่ใช่นักพูดฝีปากคมคาย มีเสน่ห์ดึงดูดใจ หรือบางทีอาจเป็นเพราะมวยปล้ำหาใช่กีฬายอดฮิตที่ใครๆ ก็สนใจอยากเจริญรอยตาม

ในหนังสูตรสำเร็จทั่วไป การคว้าเหรียญทองโอลิมปิกมาครองอาจถือเป็นจุดสิ้นสุด เป็นบทสรุปแห่งความสำเร็จและความพากเพียร แต่ในหนังเรื่อง Foxcatcher ผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของ เบนเน็ต มิลเลอร์ เหรียญดังกล่าวหาได้แตกต่างจากบรรดาถ้วยรางวัลทั้งหลายที่เรียงรายอยู่บนชั้นวางในห้องพักแคบๆ ของมาร์ค มันนำมาซึ่งเกียรติยศ ชื่อเสียง และความรุ่งโรจน์เพียงชั่วครู่ อเมริกาเคี้ยวบดมาร์คจนละเอียด ก่อนจะบ้วนเขาทิ้งให้ลอยคว้างอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งทุกคนต้องปากกัดตีนถีบเพื่อความอยู่รอด โลกที่เขาต้องไปปราศรัยในโรงเรียนประถมเพื่อแลกกับเช็คมูลค่า 20 เหรียญ ฝึกซ้อมในโรงยิมเก่าๆ และกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประทังชีวิต

เงินเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้มาร์คตกลงใจรับข้อเสนอของ จอห์น ดู ปองต์ (สตีฟ คาเรลในการเข้าร่วมทีมมวยปล้ำฟ็อกซ์แคตเชอร์ ช่องว่างระหว่างสถานะทางสังคมของบุคคลทั้งสองปรากฏชัดเจนนับตั้งแต่มาร์คเหยียบเท้าเข้ามาในคฤหาสน์หลังมโหฬารของ ดู ปองต์ ในเพนซิลวาเนีย รูปร่างอันแข็งแรง ใหญ่โตของเขาดูเล็กลงถนัดตาในห้องเพดานสูง ประดับตกแต่งอย่างหรูหราด้วยภาพเขียนจำนวนมาก ตู้โชว์ และชั้นหนังสือ ท่าเดินกระย่องกระแย่งและโค้งตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยเหมือนมนุษย์ยุคหินของเขาดูแปลกแยกจากสภาพแวดล้อม หลังจากนั้น คนดูก็จะเห็นการเปรียบเทียบอื่นๆ ตามมาอีก เช่น โรงยิมที่กว้างขวางขึ้น ใหม่เอี่ยม และติดไฟสว่างไสว เช็คมูลค่า 10,000 เหรียญเพื่อเป็นรางวัลสำหรับชัยชนะในการแข่งขันชิงแชมป์โลก และการพูดปราศรัยท่ามกลางแขกเหรื่อในแวดวงไฮโซ

ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มาร์คตัดสินใจรับข้อเสนอของจอห์น คือ ความปรารถนาที่จะก้าวออกจากเงื้อมเงาของพี่ชาย เดวิด ชูลท์ซ (มาร์ค รัฟฟาโลซึ่งเป็นนักมวยปล้ำเหรียญทองโอลิมปิกเช่นกัน แต่เก่งกาจกว่าในแง่กลยุทธ์ รวมไปถึงวุฒิภาวะ และทักษะในการปรับตัวเข้ากับสังคม เขาลงหลักปักฐานด้วยการแต่งงานมีลูกมีเมีย มีอาชีพการงานมั่นคง (เป็นโค้ชสอนมวยปล้ำ) ขณะที่มาร์คยังคงครองตัวเป็นโสด และชีวิตก็ดูจะวนเวียนอยู่กับแค่กีฬามวยปล้ำ โดยปราศจากความสนใจอื่นๆ ที่จะมาช่วยเติมเต็มให้เขาเติบโตสู่วัยผู้ใหญ่ได้อย่างราบรื่น มาร์คแทบไม่ต่างอะไรกับเด็กโข่งที่ต้องการพิสูจน์ตัวเองว่าเก่งพอ มีพรสวรรค์พอ แต่ลึกๆ แล้วยังไม่อาจก้าวข้ามภาวะพึ่งพิงและลุกขึ้นมายืนบนลำแข้งของตัวเองได้อย่างแท้จริง ทุกครั้งที่เขาประสบปัญหา เดวิดจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เป็นหลักยึดที่มั่นคง แล้วผลักดันเขาให้ก้าวข้ามอุปสรรคอยู่เสมอ โดยเฉพาะระหว่างการแข่งขันคัดเลือกทีมชาติ เมื่อมาร์คทนรับความปราชัยไม่ได้และตัดสินใจกินทุกอย่างที่ขวางหน้าจนน้ำหนักเกินกำหนด เขาไม่ต่างอะไรกับมนุษย์ถ้ำที่ถนัดใช้กำลัง ใช้กล้ามเนื้อ และรับมือกับปัญหาด้วยการตบต่อยหน้าตัวเอง หรือกระทั่งเอาหัวโขกกระจก (ในฉากหนึ่ง จอห์น ดู ปองต์ ด่ามาร์คว่าเป็น “ลิงยักษ์เนรคุณ”) แทนการใช้สมองซึ่งเป็นจุดเด่นของเดวิด

เบนเน็ตเริ่มปูพื้นความสัมพันธ์ระหว่างมาร์คกับเดวิดให้คนดูรับรู้ตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องผ่านฉากที่สองพี่น้องฝึกซ้อมด้วยกันในโรงยิม ฉากดังกล่าวแม้จะมีบทพูดอยู่เพียงน้อยนิด แต่ภาษาร่างกาย และการเคลื่อนไหวของตัวละครทั้งสอง ซึ่งเริ่มต้นจากการยืดกล้ามเนื้อที่ดูผ่อนคลาย ก่อนจะทวีความเข้มข้น รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนดูตระหนักถึงธรรมชาติ ความคับแค้นภายใน ตลอดจนบุคลิกของตัวละครได้อย่างลุ่มลึก มาร์คต้องการจะพิสูจน์ตัวเองว่าเขาเป็นนักมวยปล้ำที่เก่งกาจไม่แพ้พี่ชาย แต่การใช้กำลังเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้เขาประสบกับชัยชนะ สุดท้ายแล้วเดวิด ซึ่งสุขุม เยือกเย็น และเปี่ยมทักษะกว่า ก็สามารถล้มคว่ำเขาให้ลงไปกองกับพื้น

ความพยายามจะพิสูจน์ตัวเองของมาร์คล้มเหลวไม่เป็นท่า เมื่อเขาผละจากอ้อมกอดของพี่ชายไปตกอยู่ใต้อิทธิพลของ จอห์น ดู ปองต์ ซึ่งแม้จะเติบโตมาบนกองเงินกองทอง ใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงสังคมชั้นสูง แต่กลับโหยหาการยอมรับไม่แพ้กัน ความรู้สึกต่ำต้อยของเขามีต้นกำเนิดมาจากแม่ (วาเนสซา เรดเกรฟ) ที่มองว่ากีฬามวยปล้ำเป็นกีฬาชั้นต่ำ และเธอก็ไม่ต้องการให้ลูกชายลากตัวเอง รวมถึงชื่อเสียงของต้นตระกูลลงไปเกลือกกลั้ว ส่วนกีฬาที่เธอเห็นชอบ ได้แก่ กีฬาชั้นสูงอย่างการขี่ม้า ซึ่งจอห์นไม่มีอารมณ์ร่วมใดๆ ด้วยเลย หลังจากมาร์คคว้าชัยชนะในการแข่งขันชิงแชมป์โลกมาครอง จอห์นได้จัดแจงปลดถ้วยรางวัลแข่งม้าทั้งหลายลงจากชั้นวาง แล้วนำเหรียญทองของมาร์คไปตั้งโชว์แทน และหลังจากแม่ของเขาเสียชีวิตลง จอห์นก็ตรงไปปล่อยบรรดาม้าพันธุ์ดีทั้งหลายออกจากคอก เนื่องจากพวกมันเป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนความ ไม่เห็นชอบ” ของแม่เขา มาร์ค ชูลท์ซ กับ จอห์น ดู ปองต์ อาจถือกำเนิดในชนชั้นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ต่างก็มีจุดร่วมตรงที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ใต้เงื้อมเงาของผู้อื่น

หนังสือเชิงอัตชีวประวัติของ มาร์ค ชูลท์ซ เรื่อง Foxcatcher: The True Story of My Brother’s Murder, John du Pont’s Madness, and the Quest for Olympic Gold สร้างภาพ จอห์น ดู ปองต์ ว่าไม่ต่างจากอสูรกายน่ารังเกียจและขยะแขยง ส่วนสภาวะทางจิตอันผิดปกติของเขา (โรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง) ก็ถูกเน้นย้ำอย่างชัดเจน ในทางตรงกันข้าม หนังของ เบนเน็ต มิลเลอร์ ลดทอนแง่มุมดังกล่าว พร้อมกับเติมความเป็นมนุษย์เพิ่มเข้าไป แน่นอน คนดูยังรู้สึกถึงความไม่ปกติของตัวละครนี้ได้อย่างชัดเจน แต่ในเวลาเดียวก็รู้สึกสมเพช เวทนามากกว่าเกลียดชัง ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เขาพยายามจะสอนมวยปล้ำให้เหล่านักกีฬาในทีม ซึ่งยอมเออออเล่นตามบทเพราะพวกเขาแบมือรับเงินเดือนจากมหาเศรษฐีผู้นี้ หรือตอนที่เขาแข่งมวยปล้ำชนะโดยมีลูกน้องคอยจ่ายสินบนเพื่อให้ล้มมวยอยู่หลังเวที และเมื่อเขานำถ้วยรางวัลดังกล่าวกลับมาอวดแม่ ก็ถูกตอกกลับอย่างเจ็บปวดว่าก็แกให้เงินสนับสนุนโปรแกรมนี้

ในฉากหนึ่งจอห์นสารภาพกับมาร์คว่า ตอนเด็กๆ เพื่อนเพียงคนเดียวของเขา คือ ลูกชายคนขับรถ ซึ่งแม่จ้างมาให้เป็นเพื่อนเขา อาจกล่าวได้ว่าสถานะของมาร์คในตอนนี้ก็ไม่ต่างจากลูกชายคนขับรถที่จอห์นใช้เงินจ้างมาเป็นเพื่อน โดยลืมไปว่าบางสิ่งบางอย่างก็ไม่อาจซื้อหาด้วยเงินได้ อาทิ ความเคารพนับถือ หรือความรักใคร่ชอบพอ ซึ่งนั่นเป็นสองสิ่งที่จอห์นขาดหายและโหยหามาโดยตลอด แต่กลับสามารถพบเห็นได้รอบๆ ตัวเดวิด บางทีความขุ่นเคืองในจิตใจจอห์นอาจก่อตัวขึ้นจากการตระหนักว่าสิ่งที่เขาพยายามขวนขวายดิ้นรนเพื่อให้ได้มานั้น เดวิดกลับมีในครอบครองอย่างล้นเหลือ จนเป็นเหตุผลสำคัญที่นำไปสู่ความรุนแรงในช่วงท้ายเรื่อง... เดวิดเปรียบเหมือนสัญลักษณ์ที่ตอกย้ำความรู้สึกต่ำต้อยของจอห์น ด้วยเหตุนี้เขาจึงจำเป็นต้องถูกกำจัดทิ้ง

ทั้งมาร์คและจอห์นอาจแชร์ความรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยวจากสังคม แต่ช่องว่างทางชนชั้นและสถานะเจ้านายกับลูกจ้างของพวกเขาก็ไม่ได้จางหายไปไหน สำหรับจอห์น มาร์คเปรียบได้กับของเล่นราคาแพงอย่างรถถัง ซึ่งเขาใช้เงินซื้อหามาครอบครอง พร้อมอ้างสิทธิว่าจะทำยังไงกับมันก็ได้ ส่วนมาร์คเองก็ยอมเล่นไปตามบทบาท (ต่างกับเดวิด ซึ่งไม่ยินดีที่จะเอาอกเอาใจเจ้านายด้วยการกล่าวยกย่องเชิดชูเขาในหนังสารคดี) เพราะมันทำให้เขาได้ลิ้มรสอำนาจและการยอมรับ แม้ว่าทั้งหมดจะเป็นแค่ภาพลวงก็ตาม การได้เข้ามาพักอาศัยและคลุกคลีอยู่ในโลกแห่งอภิสิทธิชนหาได้ทำให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของโลกดังกล่างอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้ว่ามาร์คถูกสั่งห้ามไม่ให้แวะไปที่คฤหาสน์โดยไม่ได้รับเชิญ พร้อมถูกกำชับหนักหนาให้รักษา “ระยะห่าง” จากแม่ของจอห์น

ถึงแม้ Foxcatcher จะปะหัวตั้งแต่แรกว่า “สร้างจากเรื่องจริง” แต่เช่นเดียวกับข้ออ้างทำนองเดียวกันในหนังอื่นๆ อีกหลายเรื่อง เบนเน็ต มิลเลอร์ และทีมเขียนบทไม่ลังเลที่จะ “ตีความหรือ ดัดแปลงข้อเท็จจริงตามต้องการ เพื่อสร้างอารมณ์ร่วม ตลอดจนเน้นย้ำประเด็นที่พวกเขาต้องการสื่อสาร ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม มาร์ค ชูลท์ซ ถึงออกมาด่ากราดทีมผู้สร้างโดยเฉพาะมิลเลอร์ว่ากำลังทำลายชื่อเสียงและเกียรติยศที่เขาสั่งสมมานาน พร้อมทั้งแจกแจงรายละเอียดหลายอย่างที่คลาดเคลื่อนจากความจริง เช่น เขากับพี่ชายไม่เคยอาศัยอยู่ในค่ายฟ็อกซ์แคตเชอร์ในช่วงเวลาเดียวกัน เขาไม่เคยกล่าวสุนทรพจน์ยกย่อง จอห์น ดู ปองต์ แบบในหนัง และที่สำคัญที่สุด เขาไม่เคยมีความสัมพันธ์ทางเพศกับ ดู ปองต์ แบบที่หนัง “สื่อนัยยะแต่ที่น่าแปลกใจ คือ อาการโกรธไหลย้อนของชูลท์ซใช้เวลาบ่มเพาะอยู่หลายเดือน ทั้งที่เขาเองก็เดินทางไปร่วมงานเปิดตัวที่เมืองคานส์ และย่อมได้ดูหนังฉบับเต็มร่วมกับคนดูคนอื่นๆ อีกมากมาย ทำไมเขาเพิ่งจะมารู้สึกคั่งแค้นเอาตอนนี้ หลังจากเวลาผ่านไปแล้วหลายเดือน ไฟแค้นในใจชูลท์ซดูจะเริ่มปะทุรุนแรงเมื่อเขาได้อ่านบทวิจารณ์หนังสองสามชิ้น ซึ่งพูดถึงประเด็นโฮโมอีโรติกอย่างตรงไปตรงมา พร้อมกับตีความในทำนองว่าเขาอยู่ในสถานะ “เด็กของ จอห์น ดู ปองต์

การตีความดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เมื่อพิจารณาจากความจงใจของมิลเลอร์ที่จะนำเสนอหลายๆ ฉากในลักษณะกำกวม ชวนให้คิดลึก เด่นชัดที่สุดคงหนีไม่พ้นฉากจอห์นตามมาร์คไปซ้อมมวยปล้ำตอนกลางดึก (ช็อตแรกกล้องจับไปยังภาพวาดบนผนังโดยมีเสียงหอบหายใจเป็นแบ็คกราวด์ จากนั้นในช็อตสุดท้ายก็เป็นภาพโคลสอัพใบหน้าไร้อารมณ์ของมาร์ค ขณะนอนคว่ำอยู่ใต้ร่างกายเปื้อนเหงื่อไคลของจอห์น) จากนั้นในฉากถัดมา คนดูจะเห็นมาร์คในสภาพนุ่งน้อยห่มน้อยตัดผมให้จอห์นที่นอกชาน นั่นยังไม่รวมถึงการแปลงโฉมของมาร์คด้วยการไฮไลท์ผมเป็นหย่อมๆ (ซึ่งชูลท์ซตัวจริงยืนยันว่าเขาไม่เคยทำแบบนั้น) ส่งผลให้เขาดู เกย์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ตามข้อเท็จจริงแล้ว แง่มุมรักร่วมเพศของ จอห์น ดู ปองต์ หาได้เกิดจากการมโนขึ้นเองล้วนๆ ของทีมผู้สร้างหนัง เพราะมหาเศรษฐีผู้นี้เคยถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าลวนลามทางเพศนักกีฬา รวมถึงครูฝึกสอนในโปรแกรมมวยปล้ำ ซึ่งเขาก่อตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยวิลลาโนวา และในเวลาเดียวกัน กีฬามวยปล้ำก็อบอวลไปด้วยอารมณ์โฮโมอีโรติกโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว (หนุ่มวัยฉกรรจ์สองคนในชุดผ้ายืดรัดรูปต้องกอดรัดฟัดเหวี่ยงกันโดยชัยชนะจะตัดสินใจจากว่าฝ่ายใดสามารถกดทับอีกฝ่ายให้นอนติดพื้นได้ก่อนความลุ่มหลงสนใจในกีฬามวยปล้ำของจอห์นอาจไม่ได้เป็นผลมาจากแรงผลักดันรักร่วมเพศ แต่เพราะกีฬามวยปล้ำขับเน้นความเป็นชายและความมีอำนาจ ซึ่งเป็นความปรารถนาสูงสุดสำหรับบุคคลที่ถูกครอบงำโดยแม่ ตลอดจนประวัติศาสตร์ยาวนานของต้นตระกูล แต่ดูเหมือนยิ่งพยายามวิ่งไล่มันเท่าไหร่ เขากลับยิ่งถอยห่างจากเป้าหมายออกไปเรื่อยๆ


หลายครั้งที่กล้องจับให้เห็นภาพของธงชาติอเมริกัน ตั้งแต่ในรูปวาดบนผนังบ้านมาร์คไปจนถึงในกรอบรูปเหนือโต๊ะทำงานจอห์น ขณะเดียวกัน จอห์นก็ยืนกรานให้มาร์คเรียกเขาว่า พญาอินทรี” (สัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติอเมริกา) และในฉากหนึ่งหนังได้เปิดเพลง This Land Is Your Land ซึ่งแต่งขึ้นในยุคเศรษฐกิจตกต่ำเพื่อตอบโต้เพลง God Bless America และตั้งคำถามต่อระบบทุนนิยมที่นำไปสู่ช่องว่างทางชนชั้นระหว่างคนรวยกับคนจน เป็นแบ็คกราวด์ขณะมาร์คกำลังตัดผมให้จอห์น ไม่ต้องสงสัยว่ารายละเอียดเหล่านี้ถูกนำมาใช้สนับสนุนบทวิพากษ์ความฝันแบบอเมริกันของ Foxcatcher พร้อมตีแผ่ให้เห็นว่าความรู้สึกเติมเต็มนั้นไม่ได้เกิดจากวัตถุภายนอก หรือสิ่งมีชีวิตที่จับต้องได้ คุณอาจไล่ล่ามัน จับมันกดคว่ำหน้ากับพื้นได้สำเร็จ แต่คุณไม่มีวันได้ครอบครองมัน เพราะสิ่งที่คุณต้องการไม่ได้อยู่ในนั้นตั้งแต่แรกแล้ว ฉะนั้นไม่ว่าคุณจะมีทรัพย์สมบัติมหาศาลแค่ไหน คว้าเหรียญทองมาครองมากมายเพียงใด สุดท้ายพวกมันก็ไม่อาจเติมเต็มช่องว่างภายในได้

ไม่มีความคิดเห็น: