วันอังคาร, มกราคม 20, 2558

Oscar 2015: จากขวัญใจนักวิจารณ์สู่ตัวเก็งออสการ์


นับแต่เปิดฉายแบบจำกัดโรงในเดือนกรกฎาคม หนังเรื่อง Boyhood ของ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ หนึ่งในผู้นำกระแส อเมริกัน อินดี้ ช่วงต้นทศวรรษ 90 ก็ถูกสถาปนาให้เป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งบนเวทีออสการ์ แม้ว่าเนื้อหาของหนังจะห่างไกลจากมาตรฐาน หนังออสการ์อยู่มากโข กล่าวคือ มันไม่ได้พูดถึงประเด็นยิ่งใหญ่อย่างการเหยียดชนชั้น หรือเชื้อชาติ ไม่ได้มีงานสร้างอลังการ วิจิตรบรรจง และไม่ได้มอบความบันเทิงสไตล์ ฮอลลีวู้ดสำหรับกลุ่มคนดูในวงกว้าง แต่ข้อได้เปรียบที่ช่วยเพิ่มน้ำหนัก หรือ ความสำคัญให้ Boyhood นำหน้าผลงานชิ้นอื่นของลิงค์เลเตอร์ ซึ่งไม่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาหลักๆ นอกเหนือไปจากบทภาพยนตร์ แม้ว่ามันจะถูกยกย่องชื่นชมจากนักวิจารณ์มากแค่ไหนก็ตาม ได้แก่ การถ่ายทำหนังอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน 12 ปี ส่งผลให้คนดูได้เห็นนักแสดงในเรื่องเติบใหญ่อย่างเป็นรูปธรรมต่อหน้าต่อตาภายในเวลาสองชั่วโมงกว่า การทดลองดังกล่าวถูกยกย่องให้เป็นหลักไมล์แห่งประวัติศาสตร์ของวงการภาพยนตร์ ต้องอาศัยการทุ่มเท ความเชื่อมั่น ตลอดจนมีโชคเข้าข้างอยู่ไม่น้อย (โครงการคงต้องพับเก็บหากนักแสดงเกิดเสียชีวิตกะทันหัน หรือหมดความสนใจ) และในเวลาเดียวกันก็ช่วยสร้างผลกระทบทางอารมณ์ได้อย่างน่าอัศจรรย์

เนื่องจาก Boyhood เป็นหนังที่คนส่วนใหญ่ หลงรักจึงทำให้มันถือแต้มต่อเหนือคู่แข่งสำคัญซึ่งมีทั้งคนยกย่องและชิงชังอย่าง Birdman อยู่เล็กน้อย แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้วผลงานชิ้นโบว์แดงของ อเลฮานโดร อินญาร์ริตู เรื่องนี้จะลงเอยด้วยการถูกเสนอชื่อเข้าชิงมากกว่าก็ตาม โดยกะคร่าวๆ ก็น่าจะเข้าชิงประมาณ 9 สาขาเป็นอย่างน้อย (หนัง ผู้กำกับ นำชาย สมทบชาย สมทบหญิง กำกับภาพ บทดั้งเดิม ลำดับภาพ และออกแบบงานสร้าง) ขณะที่ Boyhood คงลงเอยด้วยการเข้าชิงแค่ 6 สาขา (หนัง ผู้กำกับ สมทบชาย สมทบหญิง บทดั้งเดิม และลำดับภาพ) ไม่น่าแปลกหาก Birdman จะได้เสียงสนับสนุนจากกรรมการกลุ่มนักแสดงอย่างท่วมท้น ทั้งนี้เพราะมันเป็นหนังที่พูดถึงศิลปะการแสดงและชีวิตของนักแสดง แต่ในเวลาเดียวกันการที่หนัง ซึ่งมีดาราหลักๆ ทั้งหมดแค่ 4 คนได้เข้าชิงสาขา นักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยมของสถาบัน SAG ก็บ่งบอกอยู่ในทีว่านักแสดงชื่นชอบผลงานกำกับของลิงค์เลเตอร์ไม่แพ้กัน

พิจารณาจากหนังสองเรื่องในกลุ่มผู้นำข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า 2015 คงเป็นอีกปีที่เวทีออสการ์จะคราคร่ำไปด้วยผลงานอินดี้ ซึ่งลงทุนต่ำ เข้าฉายในวงจำกัด และทำเงินพอหอมปากหอมคอ ไม่มีอภิมหาบล็อกบัสเตอร์อย่าง Gravity หรือ Avatar มาเป็นตัวเรียกเรตติ้ง (หนังดังเพียงเรื่องเดียวที่พอจะฝากผีฝากไข้ได้ คือ Gone Girl ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าจะได้เข้าชิงด้วยซ้ำ เพราะหนังลึกลับแนวสืบสวนสอบสวนหาใช่ของโปรดสำหรับกรรมการออสการ์ ดังจะเห็นได้จากการหลุดโผแบบฉิวเฉียดของ The Girl with the Dragon Tattoo เมื่อสองปีที่แล้ว) ดูเหมือนตัวแทนจากสตูดิโอใหญ่เพียงเรื่องเดียวที่ยังพอจะมีโอกาสแซงหน้าเข้าเส้นชัยในช่วงโค้งสุดท้ายได้สำเร็จ ก็คือ Selma หนังดรามาเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งให้กับคนผิวสีของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ด้วยการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ เริ่มต้นจากเมืองเซลมาไปสิ้นสุดยังเมืองมอนต์โกเมอรี รัฐแอละแบมา (ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีหนังจากสตูดิโอใหญ่เพียงสามเรื่องเท่านั้นที่คว้าชัยชนะสูงสุดบนเวทีออสการ์มาครองได้สำเร็จ นั่นคือ Million Dollar Baby, The Departed และ Argo ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นหนังของค่าย วอร์เนอร์ บราเธอร์ส)

ผลงานของผู้กำกับหญิง เอวา ดูเวอร์เนย์ อาจพลาดการเข้าชิงบนเวที SAG เนื่องจากพาราเมาท์ผลิตสกรีนเนอร์ส่งให้เหล่าสมาชิกไม่ทัน แต่การที่มันสามารถหลุดเข้าชิงสาขาสำคัญๆ บนเวทีลูกโลกทองคำอย่างครบถ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม สะท้อนให้เห็นเสียงสนับสนุนที่ชัดเจนและหนักแน่น นอกจากนี้ หนังยังเข้าฉายถูกจังหวะอีกด้วยเมื่อกระแสความขัดแย้งจากเหตุการณ์ตำรวจผิวขาวฆ่าชายผิวดำที่ปราศจากอาวุธในกรุงนิวยอร์กยังคุกรุ่นอยู่ อย่างไรก็ตาม คำถามที่ตามมา คือ กรรมการพร้อมจะมอบรางวัลสูงสุดให้หนังเกี่ยวกับประเด็นสีผิวเป็นปีที่สองติดต่อกันหรือไม่ หลังจาก 12 Years a Slave เพิ่งคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง

หากสังเกตจากรางวัลนักวิจารณ์ทั้งหลายจะพบว่ามีหนังสองเรื่องหลักที่เป็นขวัญใจมวลชน (แตกต่างจากปีก่อนที่กระจายเป็นเบี้ยหัวแตกระหว่าง 12 Years a Slave, Her, Gravity และ American Hustle) ได้แก่ Boyhood และ Birdman โดยฝ่ายแรกถือแต้มต่อเหนืออีกฝ่ายค่อนข้างมาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าออสการ์จะเดินตามเส้นทางนี้เสมอไป ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ The Social Network กับ The King’s Speech เมื่อสามปีก่อน เราต้องรอดูในเฟสต่อไปว่าบรรดารางวัลของสมาพันธ์ทั้งหลายจะเดินตามรอยเดียวกับเหล่านักวิจารณ์หรือไม่ โอกาสที่ Selma หรือกระทั่ง The Imitation Game จะแซงหน้าสองตัวเก็ง B1 กับ B2 อาจเริ่มฉายแววในช่วงนี้

หนังยอดเยี่ยม

หลายคนเชื่อว่า 2014 เป็นปีที่การแข่งขันค่อนข้างอ่อนยวบ และมีหนังเข้าขั้นยอดเยี่ยม หรือเข้าทางออสการ์จริงๆ เพียงไม่กี่เรื่อง ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่ารายชื่อเข้าชิงสาขาสูงสุดอาจมีไม่ถึง 9 เรื่องเหมือน 3 ปีที่ผ่านมานับแต่การเปลี่ยนแปลงกฎครั้งใหญ่ โดยผลงาน 3 เรื่องที่ดูเหมือนจะล็อกตำแหน่งไว้แน่นอนแล้ว ได้แก่ Boyhood, Birdman และ Selma ส่วนอีก 2 เรื่องที่น่าจะมีโอกาสเข้าชิงค่อนข้างสูง คือ หนังชีวประวัติ อลัน ทูริง นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษที่ถอดรหัสลับของนาซีได้สำเร็จจนทำให้พันธมิตรมีชัยเหนือเยอรมัน เรื่อง The Imitation Game และ หนังชีวประวัติ สตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวอังกฤษที่ได้รับยกย่องให้เป็น อัลเบิร์ต ไอน์สไตล์ แห่งศตวรรษที่ 20 เรื่อง The Theory of Everything แต่พ้นจาก 5 เรื่องนี้ไปแล้วต้องยอมรับว่าอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้

ขวัญใจนักวิจารณ์อย่าง The Grand Budapest Hotel ซึ่งเข้าฉายไปตั้งแต่ช่วงต้นปีถูกคาดหมายว่าคงโดนหลงลืมไปในที่สุดเมื่อถึงเทศกาลแจกรางวัล อีกทั้งสไตล์หนังของ เวส แอนเดอร์สัน ก็ดูจะไม่ค่อยถูกโฉลกออสการ์สักเท่าไหร่ สังเกตได้จากสถิติในอดีต เมื่อหนังของเขาเคยเข้าชิง 2 ครั้งในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิม (The Royal Tennenbaums กับ Moonlight Kingdom) และอย่างละ 1 ครั้งในสาขาอนิเมชั่นกับดนตรีประกอบ (Fantastic Mr. Fox) ที่สำคัญ ไม่มีเรื่องไหนเคยได้เข้าชิงสาขาออกแบบงานสร้างเลย ทั้งที่มันเป็นจุดเด่นในหนังของ เวส แอนเดอร์สัน แทบทุกเรื่อง The Grand Budapest Hotel ก็ทำท่าจะเดินหน้าไปตามเส้นทางนั้น จนกระทั่งมันประสบความสำเร็จบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศ (59 ล้านเหรียญในอเมริกา) ติดโผหนังเยี่ยมของนักวิจารณ์จำนวนมาก และหมัดเด็ดคงอยู่ตรงการหลุดเข้าชิงสาขา นักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยมของ SAG (เทียบได้กับสาขาหนังยอดเยี่ยม) ตัดหน้าผลงานปลายปีอย่าง Into the Woods และ Foxcatcher รวมไปถึงติดโผผู้กำกับยอดเยี่ยมบนเวทีลูกโลกทองคำด้วย ส่งผลให้มันมีโอกาสค่อนข้างสูงในการทำสถิติเป็นหนัง เวส แอนเดอร์สัน เรื่องแรกที่ได้เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ก่อนหน้านี้หนังฟอร์มใหญ่อย่าง Interstellar ได้ถูกจัดวางให้เป็นตัวเก็งลำดับต้นๆ จนกระทั่งมันเข้าฉายในวงกว้างท่ามกลางเสียงวิจารณ์ค่อนข้างก้ำกึ่งชนิดขาวจัดดำจัด นอกจากนี้รายได้บนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศที่อยู่ในขั้นต่ำกว่าเป้าหมายก็ซ้ำเติมความบอบช้ำให้หนักหนาสาหัสขึ้นไปอีก สุดท้ายแล้วความหวังของหนังคงไปตกอยู่กับสาขาย่อยๆ เสียมากกว่า อาทิ กำกับภาพ บันทึกเสียง ดนตรีประกอบ และเทคนิคพิเศษด้านภาพ เป็นต้น สมมุติฐานดังกล่าวได้รับการยืนยันชั้นต้นจากการที่หนังหลุดโผ SAG และมีเพียง ฮันส์ ซิมเมอร์ เท่านั้นที่ได้เข้าชิงลูกโลกทองคำ นี่ไม่ถือเป็นเรื่องน่าแปลกใจ เพราะออสการ์ไม่ค่อยปลื้ม คริสโตเฟอร์ โนแลน มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว หนังเรื่องเดียวของเขาที่เคยเข้าชิงสาขาสูงสุดอย่าง Inception ก็เข้าชิงในปีที่หนังยอดเยี่ยมยังมี 10 เรื่อง แถมเขายังพลาดท่าให้กับสองพี่น้องโคนในสาขาผู้กำกับอีกด้วย (เขาติดโผ DGA แต่ถูกแทนที่ด้วยสองพี่น้องโคนจาก True Grit บนเวทีออสการ์)

หนังตัวเก็งที่โดนยำใหญ่จากเหล่านักวิจารณ์ยิ่งกว่า ได้แก่ Unbroken ของ แองเจลินา โจลี ซึ่งเล่าถึงทุกข์เข็ญและวิบากกรรมสารพัดของ หลุยส์ แซมเปอรินี นักบินอเมริกันที่ถูกจับเป็นเชลยในค่ายกักกันของทหารญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การทรมานร่างกายถูกฉายภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่าและเน้นย้ำเพื่อสะท้อนจิตวิญญาณอันแข็งแกร่งของตัวเอกทำให้หนังกลายเป็นความทรมานบันเทิงจนบางคนยกไปเปรียบเทียบกับ The Passion of the Christ ลางร้ายสำคัญของ Unbroken เริ่มฉายแววเมื่อกรรมการลูกโลกทองคำ ซึ่งปกติมักจะแสดงอาการคลั่งดาราอย่างออกนอกหน้า ไม่เสนอชื่อหนังเข้าชิงเลยแม้แต่สาขาเดียว กระนั้นความหวังในการมีชื่อติด 1 ใน 9 ของ Unbroken ก็ยังไม่ถึงกับดับสูญเสียทีเดียว เมื่อปรากฏว่าหนังทำเงินได้น่าพอใจ และน่าจะวิ่งผ่านหลัก 100 ล้านได้ไม่ยาก ความสำเร็จดังกล่าวผนวกกับการติดรายชื่อหนังเยี่ยมประจำปีของทั้ง AFI และ Unbroken ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ชื่นชอบหนัง และการเดินสายโปรโมตอย่างต่อเนื่องของซูเปอร์สตาร์อย่าง แองเจลีนา โจลี น่าจะมีส่วนช่วยเรียกคะแนนเสียงได้บ้างไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม หาก Unbroken สามารถหลุดเข้าชิงสาขาสูงสุดได้จริง มันจะกลายเป็นหนังเรื่องแรกในรอบสามปีนับจาก Extremely Loud and Incredibly Close ที่โกยคำด่าจากนักวิจารณ์มามากพอๆ (หรืออาจจะมากกว่า) คำชม แต่สุดท้ายก็สามารถหลุดเข้าชิงหนังยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ได้สำเร็จ

แรงอัดฉีดจาก NBR อาจไม่เพียงพอที่จะผลักดัน A Most Violent Year ให้เข้าชิงในสาขาสูงสุด ซึ่งหากรูปการณ์เป็นไปตามนั้น นี่จะถือเป็นหนังเรื่องแรกในรอบ 14 ปีนับจาก Quills ของ ฟิลิป คอฟแมน ที่คว้ารางวัลสูงสุดของ NBR มาครอง แต่กลับหลุดโผหนังยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ ปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่สตูดิโอ A 24 เปิดตัวผลงานกำกับชิ้นเยี่ยมของ เจ.ซี. แชนดอร์ เรื่องนี้ล่าช้าเกินไป หนังฟอร์มเล็กที่ปราศจากดาราระดับแม่เหล็กควรเริ่มทยอยเข้าฉายตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นอย่างช้า แล้วค่อยๆ สร้างกระแสปากต่อปาก เพราะการส่งหนังเข้าฉายแบบจำกัดโรงในช่วงปลายปีพร้อมหนังฟอร์มใหญ่อีกหลายเรื่อง ซึ่งเปิดฉายแบบปูพรมทั่วอเมริกา ย่อมทำให้หนังจมหายไปท่ามกลางกระแส Unbroken และ Into the Woods และเนื่องจากกรรมการหลายคนไม่มีโอกาสได้ดูหนังตามรอบพิเศษต่างๆ โอกาสที่มันจะได้คะแนนเสียงเป็นกอบเป็นกำย่อมน้อยลงไปด้วย

ตัวเก็ง: Boyhood, Birdman, The Imitation Game, The Theory of Everything, Selma, The Grand Budapest Hotel, Gone Girl, Whiplash, Foxcatcher
ตัวสอดแทรก: Unbroken, Interstellar, Into the Woods, Nightcrawler, American Sniper, A Most Violent Year

ผู้กำกับยอดเยี่ยม

เช่นเดียวกับสาขาหนังยอดเยี่ยม กลุ่มผู้กำกับที่นอนมา ได้แก่ ลิงค์เลเตอร์, อินญาร์ริตู และดูเวอร์เนย์ เนื่องจากหนังของพวกเขาเป็นที่ยอมรับในหมู่เพื่อนร่วมอาชีพมากที่สุด บางคนอาจยังไม่แน่ใจว่าดูเวอร์เนย์จะฟันฝ่าบรรดาผู้กำกับชายคนอื่นๆ มาเข้าชิงได้หรือไม่ เพราะเห็นได้ชัดว่ากรรมการสาขานี้ค่อนข้างมีรสนิยมในวงจำกัด (คริสโตเฟอร์ โนแลน เคยเข้าชิง รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมของ DGA มาแล้ว 3 ครั้งจากหนังเรื่อง Memento, The Dark Knight และ Inception แต่เขายังไม่เคยเข้าชิงออสการ์เลย) และหลายครั้งผู้กำกับหญิงก็มักจะถูกกีดกันให้อยู่วงนอก เหมือนกรณี บาร์บรา สไตรแซนด์ กับ Yentl และ The Prince of Tides หรือกรณี แคธรีน บิเกโลว์ กับ Zero Dark Thirty ในปีนี้นอกจาก เอวา ดูเวอร์เนย์ จะมีโอกาสสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการทำสถิติเป็นผู้กำกับหญิงผิวดำคนแรกที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์แล้ว หากฟ้าบันดาลให้ แองเจลินา โจลี ถูกเสนอชื่อเข้าชิงพร้อมกันด้วย นี่จะถือเป็นปีทองของผู้กำกับหญิงอย่างแท้จริง แต่โอกาสดังกล่าวคงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะซูเปอร์สตาร์สาวต้องเผชิญคู่แข่งสุดหินทั้งในเรื่องฝีมือและประสบการณ์ แถมยังไม่เคยได้เข้าชิงในสาขานี้อีกด้วย คนๆ นั้น ได้แก่ เวส แอนเดอร์สัน ซึ่งน่าจะก้าวเข้ามาเป็นตัวเลือกที่ 4 ได้อย่างไม่ยากเย็น

ส่วนที่ว่างสุดท้ายคงตกเป็นของ มอร์เทน ทิลดัม ผู้กำกับชาวนอร์เวย์ ซึ่งคุมอารมณ์ลุ้นระทึกกับการศึกษาสภาพจิตของตัวละครใน The Imitation Game ได้อย่างกลมกลืน แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่อาจประมาทมือเก๋าอย่าง เดวิด ฟินเชอร์ และ เบนเน็ต มิลเลอร์ ซึ่งเคยผ่านการเข้าชิงสาขานี้มาแล้ว 2 ครั้ง (The Curious Case of Benjamin Button, The Social Network) และ 1 ครั้ง (Capote) ตามลำดับ รวมถึงเด็กใหม่อย่าง เดเมียน เชเซล ที่อาจกลายเป็น เบน ไซท์ลิน (Beasts of the Southern Wild) แห่งปี 2014 ได้ไม่ยาก เมื่อพิจารณาว่าหนังของเขาเป็นที่รักของคนจำนวนมาก และถึงแม้เล่าเกี่ยวกับการฝึกฝนเพื่อเป็นมือกลองเพลงแจ๊สชั้นเลิศ แต่ก็เต็มไปด้วยอารมณ์ลุ้นระทึกและความสยดสยองไม่แพ้หนังสงครามเลยทีเดียว ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นได้จากฝีมือของผู้กำกับอย่างไม่ต้องสงสัย

ตัวเก็ง: ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ (Boyhood), อเลฮานโดร อินญาร์ริตู (Birdman), เอวา ดูเวอร์เนย์ (Selma), เวส แอนเดอร์สัน (The Grand Budapest Hotel), มอร์เทน ทิลดัม (The Imitation Game)
ตัวสอดแทรก: เดวิด ฟินเชอร์ (Gone Girl), เดเมียน เชเซล (Whiplash), เบนเน็ต มิลเลอร์ (Foxcatcher)

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

ถึงแม้จะถูกล้อมรอบด้วยบทคนจริงในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ อลัน ทูริง ไปจนถึง สตีเฟน ฮอว์คิง และ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง แต่ ไมเคิล คีตัน กับการสวมบทสมมุติเป็นอดีตนักแสดงชื่อดังที่พยายามจะหวนคืนสู่วงการด้วยการกำกับละครเวที ก็ยังคงดำรงสถานะตัวเก็งอันดับหนึ่งได้อย่างเหนียวแน่นจากการโกยรางวัลนักวิจารณ์มาครองแบบเกือบจะเป็นเอกฉันท์ นอกจากบทดังกล่าวจะสะท้อนชีวิตจริงของคีตัน ซึ่งเคยโด่งดังจากการรับบทเป็นแบทแมน (ในหนังตัวละครของเขาโด่งดังจากการรับบทเป็น เบิร์ดแมน”) อยู่ไม่น้อยแล้ว มันยังมาได้เหมาะเจาะ ถูกจังหวะ ช่วยสร้างเรื่องราวการ คัมแบ็คได้อย่างงดงามเช่นเดียวกับ จอห์น ทราโวลต้า ใน Pulp Fiction และ มิคกี้ รู้ก ใน The Wrestler แต่สุดท้ายคงต้องลุ้นกันต่อไปว่าคีตันจะไปได้ไกลกว่าสองคนนั้นด้วยการคว้าออสการ์มาครองหรือไม่

คู่แข่งของเขาอาจไม่ได้เขี้ยวลากดินด้วยเครดิตสวยหรูในอดีต หรือประสบการณ์เชี่ยวกราก เพราะทุกคนล้วนเป็นมือใหม่บนเวทีออสการ์ทั้งสิ้น แต่ด้วยส่วนใหญ่ล้วนได้บทที่ เข้าทางออสการ์ จากการเล่นเป็นคนจริงในประวัติศาสตร์ ซึ่งย่อมเปิดโอกาสให้โชว์ทักษะการเลียนแบบท่าทาง เสียงพูด ตลอดจนอากัปกิริยาเล็กๆ น้อยๆ หรือในบางกรณี เช่น เอ็ดดี้ เรดเมย์น เขาต้องถ่ายทอดภาวะสูญเสียการควบคุมร่างกายทีละขั้น จนกระทั่งกลายเป็นอัมพาตสมบูรณ์แบบ และสามารถสื่อสารอารมณ์ผ่านทางแววตาเท่านั้น ขณะเดียวกันในบางกรณี เช่น เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์ และ เดวิด โอเยโลวโอ พวกเขาได้สวมบทเป็นวีรบุรุษ ที่ต้องต่อสู้กับความอยุติธรรม หรืออคติของสังคม (ในประเด็นรสนิยมทางเพศสำหรับคนแรกและสีผิวสำหรับคนหลัง) ส่งผลให้คนดูอดไม่ได้ที่จะรู้สึกเห็นอกเห็นใจ เอาใจช่วย รวมไปถึงยกย่องในความกล้าหาญของบุคคลเหล่านั้น ส่วนกรณีของ สตีฟ คาร์เรล นั้นการต้องแปลงโฉมด้วยจมูกปลอม (aka นิโคล คิดแมน จาก The Hours) ช่วยให้เขาสามารถสร้างความน่าเชื่อถือในการสวมวิญญาณบุคคลจริงไปพร้อมๆ กับทำลายภาพลักษณ์ดั้งเดิมของคนดูจนหมดสิ้น ทำให้พวกเขาเชื่อว่าคนที่อยู่บนจอไม่ใช่ดาราตลกจาก The 40-Year-Old Virgin แต่เป็น จอห์น ดู ปองต์ เศรษฐีชาวอเมริกันที่หลงใหลในกีฬามวยปล้ำ

ความเข้มข้นของสาขานี้อยู่ตรงที่คาร์เรลและโอเยโลวโออาจเผชิญภัยคุกคามอย่างหนักจาก เจค จิลเลนฮาล ซึ่งเริ่มวิ่งไล่มาหายใจรดต้นคอ เพราะไม่เพียงแต่งานแสดงของเขาจะถูกยกย่องว่ายอดเยี่ยมไม่แพ้ใครแล้ว (แถมยังได้คะแนนพิเศษจากการลดน้ำหนักจนหมดหล่อ aka คริสเตียน เบล ใน The Fighter) หนังเรื่อง Nightcrawler ยังถือเป็นของแข็งจากการทำเงินได้น่าพอใจและติดอันดับหนังเยี่ยมแห่งปีของทั้ง AFI และ NBA หากจิลเลนฮาลเบียดเข้าเส้นชัยในโค้งสุดท้ายได้จริง เขาจะกลายเป็นคนเดียวที่เคยผ่านการเข้าชิงออสการ์มาแล้ว แต่ในสาขาสมทบชายยอดเยี่ยมจาก Brokeback Mountain เมื่อ 9 ปีก่อน อาจพูดได้ว่าการคาดเดาผู้เข้าชิงออสการ์สาขานี้ขาดดัชนีชี้นำที่เหมาะสม เพราะ SAG ตัดสินใจเลือกจิลเลนฮาลก็จริง แต่นั่นน่าจะมีสาเหตุมาจากกรรมการส่วนใหญ่ยังไม่ได้ดูหนังของโอเยโลวโอ ส่วนลูกโลกทองคำก็ปัดภาระด้วยการดัน ไมเคิล คีตัน ไปสาขาหนังเพลง/ตลก ดังนั้นการลุ้นว่าสุดท้ายแล้วใครจะถูกเขี่ยออกในสาขานี้จึงถือเป็นความสนุกมากพอๆ กับการคาดเดาว่าสาขาหนังยอดเยี่ยมจะมีทั้งหมดกี่เรื่อง
               
นักแสดงนำชายถือเป็นสาขาที่แน่นขนัดไปด้วยผลงานคุณภาพ เพราะนอกจากกลุ่มตัวเก็ง 6 คนข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายคนที่จำต้องถูกคัดออกเพียงเพราะตัวหนังอยู่ในโทนขบขัน ซึ่งออสการ์มักจะประเมินค่าต่ำกว่าความเป็นจริง อาทิ เรล์ฟ ไฟนส์ จาก The Grand Budapest Hotel หรือตัวหนังไม่ได้ป็อปปูล่ามากเท่าเรื่องอื่นๆ อาทิ ทิโมธี สปอล เจ้าของรางวัลนำชายที่เมืองคานส์จาก Mr. Turner ออสการ์ ไอแซ็ค จาก A Most Violent Year และ ทอม ฮาร์ดี้ จาก Locke ซึ่งได้เปรียบคู่แข่งอยู่หน่อยตรงที่เขาต้องเล่นอยู่คนเดียวตลอดทั้งเรื่อง ถือเป็นความท้าทายทั้งในแง่การบิวด์อารมณ์และการตรึงคนดูให้อยู่กับเหตุการณ์บนจอโดยไม่รู้สึกเบื่อไปเสียก่อน

ตัวเก็ง: ไมเคิล คีตัน (Birdman), เอ็ดดี้ เรดเมย์น (The Theory of Everything), เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์ (The Imitation Game), เดวิด โอเยโลวโอ (Selma), สตีฟ คาร์เรล (Foxcatcher)
ตัวสอดแทรก: เจค จิลเลนฮาล (Nightcralwer), ทิโมธี สปอล (Mr. Turner), เรล์ฟ ไฟนส์ (The Grand Budapest Hotel)

นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม

ในทางตรงกันข้าม ตัวเลือกสำหรับสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมถือได้ว่าค่อนข้างแห้งแล้ง โดย โรซามุนด์ ไพค์ กลายเป็นตัวเก็งลำดับแรกๆ ในช่วงต้นเทศกาลแจกรางวัล แม้ว่าหลายคนจะตั้งแง่กับตัวละครที่เธอรับเล่นใน Gone Girl ว่าเย็นชา ไม่ค่อย น่ารักและปราศจากแง่มุมเปราะบาง หรืออบอุ่นใดๆ ให้สัมผัสได้ ซึ่งนั่นอาจทำลายโอกาสเข้าชิง หรือคว้ารางวัลมาครองของเธอ เพราะสังเกตได้ว่าถึงแม้ตัวละครที่ เคท แบลนเชตต์ รับเล่นใน Blue Jasmine จะไม่ใช่มนุษย์ที่น่าคบหาหรือชื่นชม แต่อย่างน้อยเธอก็ยังมีแง่มุมที่ดูน่าสงสาร (หรือใช้คำว่าน่าสมเพชอาจจะเหมาะสมกว่า) หาใช่วายร้ายสมบูรณ์แบบเหมือนไพค์ใน Gone Girl และที่สำคัญ ไพค์ไม่ได้มีเครดิตยาวเหยียดแบบ เมอรีล สตรีพ จนพอจะสามารถเรียกคะแนนเสียงได้แม้เมื่อหันมารับบทปีศาจร้ายแบบใน August: Osage County

โชคดีสำหรับไพค์ตรงที่เธอไม่ต้องเผชิญการแข่งขันในระดับเดียวกับสาขานำชาย คู่แข่งสำคัญเพียงคนเดียวของเธอ คือ จูลีแอนน์ มัวร์ ซึ่งได้บทที่เรียกร้องความเห็นใจจากคนดูสุดโต่ง นั่นคือ ผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ตามสูตรสำเร็จที่เคยได้ผลดีเยี่ยมมาแล้วกับ จูลี คริสตี้ (Away from Her) และ จูดี้ เดนช์ (Iris) หากเทียบในแง่ภาพรวมของตัวหนังแล้ว Still Alice อาจถือว่าห่างไกลจาก Gone Girl (มีคนกล่าวหาว่ามันเป็นเหมือนหนังทีวีของช่องฮอลมาร์ค) ขณะเดียวกัน คุณภาพของเนื้องานเมื่อเทียบกันแล้วก็อาจกินกันไม่ลงนัก โดยไพค์ถือแต้มต่อเล็กน้อยหากเทียบจากรางวัลนักวิจารณ์ ซึ่งเธอคว้ามาครองมากกว่าใครๆ แต่ท้ายที่สุดแล้ว จูลีแอนน์ มัวร์ ถูกยกให้เป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งเนื่องจากเธอสั่งสมการยอมรับนับถือในวงการมานาน มอบบทบาทการแสดงอันน่าจดจำจำนวนมากให้คนดูได้ชื่นชมจากหนังอย่าง Far from Heaven, Safe, The Hours, Magnolia, Boogie Nights และ The End of the Affair แต่กลับยังไม่เคยคว้ารางวัลออสการ์มาครอง นี่จึงเป็นอีกปีที่ออสการ์จะมอบรางวัลโดยพิจารณาจากความสำเร็จแห่งอาชีพนักแสดง แบบเดียวกับที่เคยมอบให้ เจฟฟ์ บริดเจส (Crazy Heart) และ แซนดร้า บูลล็อค (The Blind Side)

ตัวละครสมทบอีกสองคนที่เหลือ ได้แก่ เฟลิซิตี้ โจนส์ ในบท ภรรยาที่อุทิศตนอยู่เบื้องหลังสามีอัจฉริยะและ รีส วิทเธอร์สพูน ในบทหญิงสาวที่ตัดสินใจออกเดินป่าตามลำพังเป็นระยะทางมากกว่า 1000 ไมล์หลังชีวิตประสบความวิบัติหลากหลาย คนแรกอาศัยกระแสความแข็งแกร่งของหนังเป็นตัวช่วย ส่วนคนหลังถือเป็นการ คัมแบ็คอยู่กลายๆ เพราะนับแต่ได้ออสการ์จาก Walk the Line ชีวิตเธอก็วนเวียนท่ามกลางหนังตลาดห่วยๆ อย่าง This Means War และ Four Christmas กับหนังหวังกล่องที่ไปไม่ถึงเป้าอย่าง Water for Elephants และ Devil’s Knot

อีกตำแหน่งที่เหลือว่างถือเป็นเครื่องหมายคำถามที่ปราศจากคำตอบอยู่พักใหญ่ บางคนเชื่อว่า ฮิลารี สแวงค์ จะคว้าชิ้นปลามันไปครอง หรือไม่ก็อาจจะเป็น เอมี อดัมส์ เพราะทั้งสองคนล้วนเป็นลูกรักออสการ์ ส่วนด้านนักวิจารณ์ก็พยายามผลักดัน มาริยง โกติยาร์ด ซึ่งมอบการแสดงอันน่าจดจำไว้ในหนังถึงสองเรื่องด้วยกัน คือ The Immigrant และ Two Days, One Night แต่สุดท้าย เจนนิเฟอร์ อนิสตัน จากหนังอินดี้ที่แทบจะไม่มีใครรู้จักเรื่อง Cake กลับได้ส้มหล่นไปเต็มๆ เพราะนอกจากการเดินสายโปรโมตอย่างต่อเนื่องแล้ว เธอยังใช้กลยุทธ์แบบเดียวกับ ชาร์ลิซ เธรอน ใน Monster แต่อาจจะไม่ไปไกลเท่า ด้วยการลดทอนภาพลักษณ์ของดาราหน้าสวยในหนังตลกโรแมนติก แล้วพลิกมาเล่นบทดรามาจริงจัง (พร้อมใช้ประโยชน์จากทักษะด้านการแสดงตลกอย่างถูกจังหวะ) โดยปราศจากเมคอัพ และติดรอยแผลเป็นบนใบหน้าเพื่อบ่งบอก ความกร้านของตัวละครที่พยายามจะแสวงหาหนทางไถ่บาป การที่เธอหลุดเข้าชิงทั้งลูกโลกทองคำและ SAG ดูเหมือนจะตอกตะปูปิดฝาโลงให้กับความหวังของ มาริยง โกติยาร์ด ซึ่งไม่ว่าจะปล่อยแสง เปล่งพลังมากแค่ไหน (ทั้งในปีนี้และสองปีก่อนหน้าที่เธอลงทุนเปลือยกายและเล่นเป็นคนพิการใน Rust and Bone) ก็ไม่อาจกระตุ้นให้กรรมการออสการ์โหวตให้เธอเข้าชิงได้อีกเลยนับแต่สร้างประวัติศาสตร์กับ La Vie en Rose ในปี 2007

ตัวเก็ง: จูลีแอนน์ มัวร์ (Still Alice), โรซามุนด์ ไพค์ (Gone Girl), รีส วิทเธอร์สพูน (Wild), เฟลิซิตี้ โจนส์ (The Theory of Everything), เจนนิเฟอร์ อนิสตัน (Cake)
ตัวสอดแทรก: มาริยง โกติยาร์ด (Two Days, One Night), ฮิลารี สแวงค์ (The Homesman), เอมี อดัมส์ (Big Eyes)

นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

สาขานี้ไม่น่าจะเหลืออะไรให้ลุ้นกันอีกแล้ว เมื่อปรากฏว่า เจ.เค. ซิมมอนส์ กับบทครูสอนดนตรีจากนรกในหนังเรื่อง Whiplash ทำท่าจะวิ่งเข้าเส้นชัยแบบม้วนเดียวจบ เนื่องจากเขากวาดรางวัลนักวิจารณ์มาครองเป็นกระบุง และสั่งสมชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในหมู่นักแสดงมานานด้วยการรับบทสมทบให้ผู้กำกับคู่บุญ เจสัน ไรท์แมน (แต่นักดูหนังส่วนใหญ่อาจจดจำเขาได้จากบทบรรณาธิการหน้าบูดในหนังชุด Spider-Man) เรียกได้ว่าถึงพร้อมทั้งในแง่คุณภาพของเนื้องานและเครดิต โดยคู่แข่งสำคัญเพียงคนเดียวของเขา คือ เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน จาก Birdman ซึ่งผ่านประสบการณ์บนเวทีออสการ์มามากกว่าเพราะเคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงทั้งในสาขานักแสดงนำชายและสมทบชายยอดเยี่ยมมาแล้วจาก American History X และ Primal Fear ตามลำดับ หลายคนเชื่อว่านอร์ตันสมควรจะคว้ารางวัลมาครองจากการเข้าชิงในครั้งแรกเสียด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายดันถูก คิวบา กูดดิ้ง จูเนียร์ (Jerry Maguire) ฉกออสการ์ไปแบบหน้าตาเฉย เนื่องจากหนังของฝ่ายหลังเป็นที่ยอมรับในวงกว้างและหลุดเข้าชิงสาขาสำคัญๆ มากกว่า มาคราวนี้งานแสดงของเขายังคงได้รับเสียงยกย่องเช่นเคย แต่ปัญหาของนอร์ตันอยู่ตรงที่เขาเป็นนักแสดงอีโก้จัดและยากที่ร่วมงานด้วย (แทบไม่ต่างจากบทซึ่งเขารับเล่นใน Birdman สักเท่าไหร่) ซึ่งนั่นอาจส่งผลต่อการเรียกเสียงโหวตในวงกว้าง

นักแสดงอีกสองที่น่าจะหลุดเข้าชิงได้ไม่ยากโดยอาศัยบารมีความแข็งแกร่งของตัวหนัง ได้แก่ อีธาน ฮอว์ค จากหนังตัวเก็งอันดับหนึ่งอย่าง Boyhood และ มาร์ค รัฟฟาโล จาก Foxcatcher ทั้งคู่ต่างเคยเข้าชิงในสาขานี้มาแล้วคนละครั้งจาก Training Day และ The Kids Are All Right ตามลำดับ คนแรกอาจได้บทที่ไม่เข้าทางออสการ์มากนัก แถมยังปราศจากฉาก ปล่อยของอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ แพ็ทริเซีย อาร์เคตต์ ซึ่งรับบทคู่กับเขาในหนังเรื่องเดียวกัน แต่ความเป็นธรรมชาติ ลื่นไหลไปกับบทได้อย่างกลมกลืนจนเหมือนไม่ได้ แสดงตลอดจนประสบการณ์ในวงการที่สั่งสมมาเนิ่นนานนับตั้งแต่เล่นหนังเรื่องแรก Explorers คู่กับ ริเวอร์ ฟีนิกซ์ ในปี 1983 ขณะมีอายุแค่ 14 ปีน่าจะมีส่วนช่วยผลักดันเขาให้มีชื่อติดเป็น 1 ใน 5 ได้ไม่ยาก ส่วนคนหลังต้องถือว่าได้บทที่ ส่งมากกว่าจากการแปลงโฉมตัวเองให้เป็นนักมวยปล้ำได้อย่างน่าเชื่อถือ ทั้งการเพิ่มน้ำหนักและการเปลี่ยนลักษณะท่าทางการเดิน

รายชื่อสาขานี้ของเวทีลูกโลกทองคำกับ SAG ตรงกัน 100% ฉะนั้น จึงเป็นไปได้สูงว่าคนสุดท้ายที่จะมีชื่อติดเข้าชิง คือ โรเบิร์ต ดูวัล นักแสดงรุ่นพระกาฬที่เคยผ่านเวทีออสการ์มาแล้ว 6 ครั้ง และคว้ารางวัลมาครองได้ 1 ครั้งในสาขานำชายจากเรื่อง Tender Mercies ใน The Judge เขาต้องรับบทเป็นผู้พิพากษาที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ขณะถูกตั้งข้อหาว่าฆ่าคนตายโดยเจตนา ซึ่งแน่นอนว่าฉากเด่นไม่ใช่เพียงการปลดปล่อยอารมณ์ในห้องพิจารณาคดีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงฉากที่เขาสูญเสียการควบคุมร่างกายเนื่องจากโรคร้าย จนต้องกล้ำกลืนบุคลิกเย่อหยิ่ง ดื้อรั้นส่วนตัว และยอมรับความช่วยเหลือจากลูกชาย (โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์)

ตัวเก็ง: เจ.เค. ซิมมอนส์ (Whiplash), มาร์ค รัฟฟาโล (Foxcatcher), เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน (Birdman), อีธาน ฮอว์ค (Boyhood), โรเบิร์ต ดูวัล (The Judge)
ตัวสอดแทรก: จอช โบรลิน (Inherent Vice), ทอม วิลคินสัน (Selma), คริสตอฟ วอลท์ซ (Big Eyes)

นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม

เช่นเดียวกัน ผู้ชนะในสาขานี้ดูเหมือนจะถูกล็อกไว้แล้วว่าคงไม่หลุดไปจากมือของ แพ็ทริเซีย อาร์เคตต์ ซึ่งฉายแสงโดดเด่นใน Boyhood พร้อมสรรพด้วยฉากปล่อยของที่เหมาะจะนำไปตัดเป็นคลิปในงานออสการ์ได้อย่างเหมาะเจาะ นอกจากนี้ บทของเธอยังมีน้ำหนักมากถึงขนาดที่สมาคมนักวิจารณ์แอลเอผลักให้ไปคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมอีกด้วย แต่เชื่อได้ว่าปรากฏการณ์แบบ เคท วินสเลท ใน The Reader คงไม่เกิดขึ้นซ้ำสอง (เธอเข้าชิงสมทบบนเวทีลูกโลกทองคำและ SAG แต่ออสการ์กลับผลักให้เข้าชิงในสาขานำหญิง) และเช่นเดียวกับซิมมอนส์ รางวัลนี้จะถือเป็นการยกย่องบทบาทการแสดงมากพอๆ กับสดุดีผลงานชั้นดีในอดีตอย่าง Lost Highway, True Romance และ Ed Wood ถือเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จในอาชีพนักแสดงไปพร้อมๆ กัน

อีกสามคนที่ปรากฏตัวในรายชื่อของทั้ง SAG และลูกโลกทองคำ นั่นคือ คีรา ไนท์ลีย์, เอ็มมา สโตน และ เมอรีล สตรีพ ก็น่าจะหลุดเข้าชิงได้สบายๆ สำหรับคนหลังสุดนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติประจำปีไปแล้ว ส่วนคนที่สามารถเบียดเข้าใกล้อาร์เคตต์ได้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นไนท์ลีย์ ซึ่งได้บทเด่นและก็เคยผ่านเวทีออสการ์มาแล้ว (เข้าชิงนำหญิงจาก Pride and Prejudice เมื่อ 8 ปีก่อน)

คนสุดท้าย SAG มอบตำแหน่งให้ นาโอมิ วัตต์ จาก St. Vincent กับบทโสเภณีรัสเซียหัวใจทองคำ ซึ่งไม่น่าจะเข้าทางออสการ์เนื่องจากมันเป็นบทในแนวทางตลกและปราศจากความซับซ้อนใดๆ ถึงแม้เธอจะขโมยซีน รวมถึงเสียงหัวเราะของคนดูจาก บิล เมอร์เรย์ ได้อย่างงดงามก็ตาม  กรรมการออสการ์น่าจะเอนเอียงไปทางตัวเลือกของนักวิจารณ์และลูกโลกทองคำมากกว่า นั่นคือ เจสซิก้า แชสเทน จาก A Most Violent Year ซึ่งเป็นขวัญใจคนใหม่ของพวกเขา (นี่จะเป็นการเข้าชิงครั้งที่ 3 ในรอบ 4 ปี) แถมบทของเธอก็เข้มข้นกว่า และอยู่ในหนังซึ่งดูมีภาษีมากกว่า แต่ขณะเดียวกันคนที่ประมาทไม่ได้เลย คือ เรเน รุสโซ อดีตนางเอกระดับแนวหน้าในยุค 90 ซึ่งคัมแบ็คได้อย่างโดดเด่น น่าประทับใจในหนังเรื่อง Nightcrawler ที่สุดท้ายแล้วอาจแข็งแกร่งขนาดแทรกตัวเข้าไปเป็น 1 ใน 9 หนังยอดเยี่ยมได้

ตัวเก็ง: แพ็ทริเซีย อาร์เคตต์ (Boyhood), คีรา ไนท์ลีย์ (The Imitation Game), เอ็มมา สโตน (Birdman), เมอรีล สตรีพ (Into the Woods), เจสซิก้า แชสเทน (A Most Violent Year)
ตัวสอดแทรก: ลอรา เดิร์น (Wild), เรเน รุสโซ (Nightcrawler), นาโอมิ วัตต์ (St. Vincent)

ไม่มีความคิดเห็น: