วันจันทร์, ธันวาคม 20, 2564

Moonlight: ลูกผู้ชายไม่ร้องไห้

ทันทีที่ Moonlight พลิกล็อกคว้าออสการ์หนังยอดเยี่ยมเหนือตัวเก็งอย่าง La La Land เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ตามมาว่าสาเหตุหลักที่หนังได้รางวัลสูงสุดเพียงเพราะกระแสการเมือง เพราะฮอลลีวู้ด เมืองแห่งลิเบอรัลและความรู้สึกผิดของคนผิวขาว ต้องการแก้แค้น โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีที่โนสนโนแคร์ความถูกต้องทางการเมือง บล็อกเกอร์ชื่อดังคนหนึ่งในอเมริกาตั้งข้อสังเกตว่าถ้าผู้กำกับ แบร์รี เจนกินส์ ใช้ฉากหลังเป็นเมืองบ้านนอกบนเทือกเขาโอซาร์คในรัฐมิสซูรีแทนที่จะเป็นไมอามี แล้วตัวละครรับบทโดยดาราผิวขาวทั้งหมด แต่ยังคงรักษาระดับความละเมียดในงานสร้างและการแสดง มันไม่มีทางจะกลายเป็นหนังออสการ์อย่างแน่นอน หรืออาจไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงด้วยซ้ำ เพราะบรรยากาศในฮอลลีวู้ดตอนนี้ดูเหมือนจะตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับพวกคนบ้านนอกผิวขาว ซึ่งว่ากันว่ามีส่วนช่วยผลักดันให้ทรัมป์กับแนวคิดอนุรักษ์นิยมขวาสุดโต่งกลับมาครองทำเนียบขาว แล้วแห่แหนชื่นชมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับคนแอฟริกัน-อเมริกัน หรือพูดง่ายๆ คือ เขาคิดว่าชัยชนะของ Moonlight เป็นผลจากการเมืองมากกว่าจากคุณค่าทางศิลปะ หรือความซาบซึ้ง ชื่นชอบในตัวหนังอย่างจริงจังของเหล่ากรรมการ

สุดท้ายแล้วเราไม่อาจฟันธงได้แน่นอนว่าเหตุใด Moonlight จึงสามารถพลิกชนะ La La Land และกรรมการแต่ละคนก็คงมีเหตุผลในการโหวตแตกต่างกันไป บ้างอาจชื่นชอบหนังจริงๆ จังๆ และเห็นว่ามันคู่ควรกับรางวัลสูงสุด บ้างอาจมีเหตุผลทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง แต่ข้อโต้แย้งข้างต้นฟังขึ้นอยู่อย่างในแง่ที่ว่า “บริบท” มีส่วนสำคัญในการสร้างพลังให้กับเรื่องราวใน Moonlight ผลกระทบทางอารมณ์ ตลอดจนความน่าเชื่อถือของเรื่องราวอาจถูกลดทอนลง หากหนังเปลี่ยนฉากหลัง หรือเชื้อชาติของตัวละคร แม้ว่าความนุ่มนวล ละเมียด ลุ่มลึกในการนำเสนอจะยังคงเดิม แต่นั่นคงไม่สามารถใช้เป็นเหตุผลในการตัดคะแนน หรือลดทอนคุณค่าของตัวหนัง

คนดูรู้สึกอินและเอาใจช่วยหนูน้อยจากครอบครัวกรรมกรที่ฝันอยากเป็นนักเต้นบัลเลต์ใน Billy Elliot มากยิ่งขึ้นเพราะเขาจำเป็นต้องฟันฝ่าอคติหลายขั้น ทั้งในเรื่องเพศ (บัลเลต์เป็นกีฬาแต๋วแตกและชนชั้น (บัลเลต์เหมาะกับพวกไฮโซ)นอกเหนือไปจากปัญหารูปธรรม เช่น ความยากจนข้นแค้น ลองคิดดูว่าความน่าประทับใจและยิ่งใหญ่ในชัยชนะจะลดทอนลงแค่ไหน ถ้า บิลลี เอลเลียต มาจากครอบครัวชนชั้นกลางฐานะดี เช่นเดียวกัน บริบทรอบข้างเจ้าหนูไชรอนมีส่วนกดทับ ทำให้เขาไม่อาจเป็นตัวของตัวเองได้ ไม่ว่าจะในแง่เชื้อชาติ หรือสภาพแวดล้อม

การเกิดเป็นชายผิวดำ แต่เป็นเกย์ ถือเป็นขั้วขัดแย้งที่รุนแรง หนักหน่วงกว่าการเกิดเป็นเกย์ผิวขาว หรือผิวเหลือง เพราะชายผิวดำมักถูกสอนให้เก็บซ่อนอารมณ์ไว้ภายในและเติบโตมาในชุมชนที่ความอ่อนแอ อ่อนไหวเป็นเรื่องต้องห้าม ข้อเท็จจริงดังกล่าวสามารถย้อนต้นตอไปไกลถึงยุคค้าทาส เมื่อชายผิวดำถูกปลดออกจากสถานะ “หัวหน้าครอบครัว” ให้กลายเป็นแค่ทรัพย์สิน ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการ “โดนตอนในเชิงสัญญะ” โดยเหล่าคนขาวเจ้าของไร่ ลักษณะความเป็นชายแบบ “เข้มข้น” จึงถือกำเนิดขึ้น เป็นปฏิกิริยาป้องกันตัวภายในชุมชนแอฟริกัน-อเมริกัน และยังตกค้างมาถึงยุคปัจจุบัน (ภาพสะท้อนความเป็นชายแบบคุกคามในครอบครัวคนผิวดำปรากฏชัดเจนในหนังชิงออสการ์อีกเรื่องอย่าง Fences) นอกจากนี้ แนวคิดกดขี่ทางเชื้อชาติในอเมริกายังมีส่วนทำให้ภาพลักษณ์เหมารวมของชายผิวดำดูแข็งกระด้าง โหดร้าย ชอบใช้กำลัง และถูกชักนำโดยสัญชาตญาณใกล้เคียงกับสัตว์ป่า ดังจะเห็นได้จากหนังเหยียดผิวของ ดี.ดับเบิลยู. กริฟฟิธ เรื่อง The Birth of a Nation ที่แสดงให้เห็นภาพตัวละครผิวดำตามก่อกวนหญิงผิวขาวจนเธอต้องตัดสินใจกระโดดหน้าผาตาย และนำไปสู่การสร้างความชอบธรรมให้ขั้นตอนตั้งศาลเตี้ยของกลุ่มคูคลักซ์แคลน (น่าสนใจว่า เนท พาร์คเกอร์ นักแสดงซึ่งผันตัวมากำกับหนังเกี่ยวกับการลุกฮือของทาสผิวดำเพื่อตอบโต้หนังของกริฟฟิธโดยจงใจตั้งชื่อหนังซ้ำกัน เคยให้สัมภาษณ์ตอบโต้หนังคนดำแต่งหญิงอย่าง Big Mama’s House และหนังชุด Medea ว่า “เพื่ออนุรักษ์ภาพลักษณ์ของชายผิวดำ ผมจะไม่เล่นบทเกย์เด็ดขาด”  กล่าวคือ ถึงแม้ภาพลักษณ์ของชายผิวดำในปัจจุบันจะเริ่มขยับออกห่างจากภัยคุกคาม แต่แก่นความเป็นชายแบบเข้มข้นยังคงอบอวลอยู่ในสังคมแอฟริกัน-อเมริกันร่วมสมัย)

ไม่เพียงจะเกิดเป็นชายผิวดำเท่านั้น แต่ไชรอนยังเติบโตมาในย่านชนชั้นล่างของไมอามีระหว่างการแพร่ระบาดของแคร็ก (โคเคนแข็ง เสพโดยการสูบ มีราคาถูกกว่าโคเคนผงมากซึ่งกัดกร่อนชุมชนคนใช้แรงงานผิวสีจนทำให้มีอัตราการตายเพิ่มขึ้น 20-100% อาชญากรรมและความรุนแรงกลายเป็นเหมือนกิจวัตร ด้วยสภาพแวดล้อมเช่นนี้ หากใครเผลอแสดงความอ่อนแอ หรือทำตัวแตกต่างจากมาตรฐานความเป็นชายย่อมเสี่ยงจะตกเป็นเป้าหมายไล่ล่าและกลั่นแกล้ง ลิตเติล (อเล็กซ์ อาร์. ฮิบเบิร์ต) ยังไม่รู้จักคำว่า “ตุ๊ด” ด้วยซ้ำหลังถูกกลุ่มเด็กนักเลงล้อเลียนด้วยคำนี้ ฮวน (มาเฮอร์ชาลา อาลีอาจอธิบายได้ชัดเจนถึงความหมายตรงตัว (“คำด่าที่ทำให้คนเป็นเกย์รู้สึกแย่”) แต่ในอีกแง่หนึ่ง “อีตุ๊ด” เป็นคำด่าซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่รสนิยมทางเพศ แต่ใช้โจมตีลักษณะความเป็นชายที่ผิดแผกจากมาตรฐาน ลิตเติลถูกล้อไม่ใช่เพราะเขาเป็นเกย์ หรือกระตุ้งกระติ้งจนออกนอกหน้า (เขายังเด็กเกินกว่าจะรู้แต่เพราะเขามีพฤติกรรมไม่เข้าพวก เช่น มีบุคลิกงียบขรึมครุ่นคิด ไม่สู้คน (หรือที่เควินเรียกว่า “ติ๋ม”และชอบเต้น

สังคมตีกรอบผู้ชายด้วยชุดความคิดหลากหลาย ผู้ชายต้องไม่ยืนเท้าสะโพก ผู้ชายต้องไม่เดินทิ้งเท้า ผู้ชายต้องไม่แสดงความเปราะบาง อ่อนแอให้เห็น ชุดความคิดเหล่านี้กีดกัน ผลักไสให้คนกลุ่มหนึ่งต้องแปลกแยก โดดเดี่ยว หรือถึงขั้นตั้งคำถามต่อความผิดปกติในตัวเอง สังเกตสีหน้าไชรอน (แอชตัน แซนเดอร์สเมื่อเขาถามเควิน (จาร์เรล เจอโรมว่า “แกร้องไห้ด้วยเหรอ” แววตาของไชรอนบ่งบอกความประหลาดใจระคนโล่งใจ ราวกับว่าในที่สุดเขาก็ค้นพบคนที่เขาสามารถไว้ใจ บอกกล่าวความรู้สึกได้อย่างเปิดอกแล้ว ถึงแม้เควินจะพยายามอวดแมนกลบเกลื่อนอยู่บ้าง “บางทีฉันร้องไห้หนักเสียจนรู้สึกตัวเองจะกลายเป็นน้ำ ไชรอนสารภาพ ด้วยเหตุนี้ฉากชายหาดจึงเปรียบได้กับจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตไชรอน ไม่ใช่จากการตื่นตัวทางเพศเท่านั้น แต่จากการตระหนักว่าเขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวบนโลก 

แต่วัฒนธรรมความเป็นชายแบบเข้มข้นไม่ยอมสูญเสียฐานอำนาจโดยง่าย มันรุกล้ำเข้ามาคุกคามและบดขยี้ความอ่อนไหว เปราะบาง รวมไปถึงมิตรภาพจนไม่เหลือซาก เมื่อไชรอนถูกครูฝ่ายปกครองกดดันให้แจ้งความกลุ่มนักเลงที่รุมกระทืบเขาจนสะบักสะบอม เขาร้องสะอื้นก่อนจะตอบโต้ว่าครูไม่เข้าใจหรอก” มันเป็นน้ำตาของการสูญเสีย เจ็บแค้น หาใช่น้ำตาจากบาดแผลทางกาย ครูปกครองรุกเร้าให้เขาเลิกทำตัวเป็น “ไอ้หนู” แล้วเอาผิดกับพวกเด็กนักเลงที่ลงมือซ้อมเขา แต่ไชรอนตระหนักแล้วว่าทางเดียวที่จะหยุดวงจรอุบาทว์ได้ คือ เขาต้องเติบโตเป็น “ผู้ชาย” แบบที่สังคมคาดหวังให้เขาเป็นเพื่อความอยู่รอด ทว่าในเวลาเดียวกันเขาก็ต้องจ่ายค่าตอบแทนสูงลิ่วด้วยการเสียสละตัวตนที่แท้จริง

หนังเปิดตัว แบล็ค (เทรแวนต์ โรเดสในลักษณะเดียวกับฮวน (ขับรถมาหาเพื่อน/ลูกน้องเพื่อบ่งบอกอาชีพและชี้ให้เห็นว่าสุดท้ายเขาก็ไม่อาจดิ้นพ้นจากกรอบจำกัดของสภาพแวดล้อม เช่นเดียวกับเควินวัยหนุ่มที่เคยติดคุกเพราะยา ก่อนจะค้นพบ “ชีวิตใหม่” และความสบายใจจากอาชีพพ่อครัว หรือบางทีการเจริญรอยตามฮวน ผู้เปรียบเสมือนพ่อบุญธรรมที่มอบความรักให้เขาแบบที่แม่เขา (นาโอมิ แฮร์ริสไม่เคยมีให้ในยามที่เขาต้องการ เป็นดังชะตากรรมซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงในทำนองลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น (รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างผ้าโพกหัวและมงกุฎย่อส่วนประดับหน้ารถช่วยเชื่อมโยงแบล็คกับฮวนให้เด่นชัดขึ้นจากนั้นในฉากถัดมาคนดูจะเห็นเขาแกล้งหาเรื่องลูกน้องว่านับเงินผิด ก่อนตบท้ายด้วยคำสั่งสอน “จะขายของต้องชินเวลาเจอคนกวนตีน เข้าใจเปล่า” นั่นคือสิ่งที่เขาเรียนรู้จากประสบการณ์ เขาเรียนรู้ที่จะแข็งแกร่ง วางมาดให้คนรอบข้างยำเกรง นั่นคือคุณสมบัติสำคัญของพ่อค้ายาในโลกของลูกผู้ชายซึ่งอบอวลด้วยความรุนแรง อำนาจ และการควบคุม แต่คำถามคือมันใช่ตัวตนที่แท้จริงของเขาหรือ นี่คือชีวิตที่เขาใฝ่ฝันหรือ

นี่มันไม่ใช่ตัวนาย” เควิน (อังเดร ฮอลแลนด์) กล่าวเมื่อรับรู้ว่าไชรอนมีอาชีพขายยา เช่นเดียวกัน แม่เขาเองก็ไม่เห็นชอบกับทางเลือกนี้ “หัวใจลูกไม่ได้มืดมิดเหมือนแม่” เธอเลือกใช้คำว่า “มืดมิด” (black)  ซึ่งพ้องกับชื่อที่ไชรอนใช้ในวงการตามฉายาที่เควินตั้งให้สมัยวัยรุ่น การที่ไชรอนเลือกใช้ชื่อแบล็คนอกจากเพื่อตอกย้ำตัวเองให้ต้อง “เลิกติ๋ม” (hard) เพื่อความอยู่รอดแล้ว มันยังช่วยหวนรำลึกไปถึงช่วงเวลาที่ครั้งหนึ่งเขาเคยสัมผัสกับความรัก ความใกล้ชิดอย่างที่ไม่เคยพานพบมาก่อน ฟันทองกับกล้ามบึกบึนของแบล็คเป็นแค่เปลือกแข็งห่อหุ้มภายนอก ซึ่งพร้อมจะพังครืนในชั่วพริบตาเมื่อเขาได้สัมผัสกับความรัก ความอ่อนโยนที่โหยหามาตลอด “นายเป็นคนเดียวที่เคยสัมผัสฉัน... แค่นายเท่านั้น ฉันไม่เคยสัมผัสใครอีกเลยนับแต่ครั้งนั้น” แบล็คสารภาพกับเควิน เขาเลือกใช้คำว่า สัมผัส (touch) เพื่อสื่อความหมายมากกว่าแค่เรื่องทางเพศ เพราะเควินเป็นคนเดียวที่รู้จักเขา คนเดียวที่เขาสามารถพูดคุยได้อย่างเปิดอก  

Moonlight เป็นหนังที่พูดถึงการค้นหาตัวตนได้อย่างสะเทือนอารมณ์ รวมถึงความกล้าที่จะก้าวข้ามอคติและความกดดันรอบข้างมาโอบกอดตัวตนดังกล่าว คำถามว่า “นายเป็นใคร” ดังก้องอยู่ตลอด ในเรื่องเล่าของฮวนเกี่ยวกับหญิงชราที่เรียกเขาว่า “บลู” เพราะเด็กผิวดำจะกลายเป็นสีฟ้าท่ามกลางแสงจันทร์ มีสองสิ่งที่ต้องพึงตระหนัก คือ หนึ่ง แสงจันทร์ ซึ่งส่องลงมาอาบผิวให้ดูเหมือนสีฟ้า แต่หาได้เปลี่ยนแปลงสีผิวที่แท้จริง และสอง ความพยายามจะนิยามตัวเราโดยคนอื่น เมื่อลิตเติลถามฮวนว่าเขาชื่อบลูเหรอ เขาตอบปฏิเสธก่อนจะสอนเด็กน้อยว่า “พอถึงจุดหนึ่ง นายต้องเลือกเองว่าอยากเป็นอะไร อย่าปล่อยให้ใครมาคิดแทนเด็ดขาด” แต่แน่นอนการเลือกเป็นตัวเองไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป สังคมรอบข้างมีอิทธิพลไม่ต่างจากแสงจันทร์ในการบิดเบือน เบี่ยงเบนเราออกจากเส้นทาง ชีวิตที่โดนรุมกระทืบ ถูกต้อนให้จนมุมเหลือทางเลือกให้เราสักเท่าไหร่ สภาพแวดล้อมที่แข็งกระด้าง โหดร้ายเหลือพื้นที่ให้กับความอ่อนโยน อ่อนไหวสักแค่ไหน สุดท้ายกว่าจะรู้ตัวอีกที เราก็กลายเป็น “บลู” เป็น “แบล็ค” เป็น “ลิตเติล สั่นไหวไปตามแรงลม 

แม้จะเป็นแค่ผลงานกำกับหนังขนาดยาวเรื่องที่สอง แต่ แบร์รี เจนกินส์ (Medicine for Melancholy) พิสูจน์ให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิค รสนิยมอันดีในการเล่าเรื่อง และถ่ายทอดอารมณ์ตัวละครอย่างลุ่มลึก ละเมียดละไมโดยอาศัยศักยภาพจากนักแสดงสื่อสารผ่านสายตา ท่าทาง แทนการใช้บทสนทนา รสชาติแปลกใหม่ของ Moonlight ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การบิดแนวทางคุ้นเคยของ coming (out) of age ซึ่งมักวนเวียนอยู่กับตัวละครผิวขาวชนชั้นกลาง มาโฟกัสที่ตัวละครผิวดำในย่านชนชั้นแรงงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสไตล์นำเสนอที่เน้นความจัดจ้านแทนความเหมือนจริง (realism) ซึ่งมักผูกติดกับภาพยนตร์เกี่ยวกับคนชั้นล่างผิวดำอีกด้วย

เจนกินส์และผู้กำกับภาพ เจมส์ แล็กซ์ตัน เลือกใช้ภาพคอนทราสต์สูงเพื่อขับเน้นสีสันให้โดดเด่น สร้างความงามและมนตร์เสน่ห์อย่างประหลาดให้กับเรื่องราวที่เคร่งขรึม สมจริง ตลอดจนฉากหลังอันชวนหดหู่ มืดหม่น แล็กซ์ตันเล่าว่าในระหว่างถ่ายทำช็อตแม่ไชรอนตะโกนด่าลูกชายอย่างเกรี้ยวกราด เขาจงใจเติมแสงอบอุ่นสีชมพูให้สะท้อนออกมาจากห้องนอนเธอ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มอารมณ์เหมือนฝันเหนือจริงแล้ว (ภาพดังกล่าวตามไปหลอกหลอนแบล็คในความฝัน) “แสงสีชมพูยังเป็นตัวแทนสะท้อนให้เห็นมิติอีกด้านของตัวละครนี้ เขากล่าว เธอตระหนักดีว่าทำไมลูกชายถึงตกเป็นเป้ารังแกของกลุ่มนักเลง แต่การต้องดิ้นรนต่อสู้กับภาวะติดยา และการหาเลี้ยงครอบครัวโดยลำพัง ทำให้เธอหลงลืมที่จะมอบความรักความเอาใจใส่ให้กับลูกชาย

เห็นอกเห็นใจ” เป็นคำที่มักจะถูกใช้บรรยายอารมณ์โดยรวมของ Moonlight อยู่บ่อยครั้งและแม่นยำ เพราะหนังพาคนดูไปสัมผัสอีกด้านของตัวละครที่มักจะถูกเหมารวม เช่น พ่อค้ายา หรือแม่ขี้ยา ด้านที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ด้านของความเป็นมนุษย์สีเทาๆ โดยหนังไม่ได้พยายามจะปกปิดหรือขัดเกลาด้านขรุขระ อัปลักษณ์ แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้ตัดสินพวกเขาจากอาชีพที่ทำ หรือความล้มเหลว ผิดพลาด ฉากที่สะท้อนความขัดแย้ง มีสองด้านของมนุษย์ได้ชัดเจนและปวดร้าวสูงสุด คือ เมื่อลิตเติลถามฮวนว่าเขามีอาชีพอะไร แล้วพลันตระหนักว่าชายคนเดียวที่มอบความเมตตา รักใคร่แก่เขา เป็นคนที่ขายยาให้กับแม่เขา... ความซื่อตรงต่อตัวละคร ตลอดจนการนำเสนออย่างจริงใจ โดยไม่พยายามปลุกเร้าจนออกนอกหน้าทำให้ Moonlight หนังซึ่งมีความเป็นส่วนตัวสูง (แม่ของ ทาเรลล์ อัลวิน แม็คเครนีย์ ผู้เขียนบทละคร In Moonlight Black Boys Look Blue ซึ่งถูกนำมาดัดแปลงเป็นหนังกับแม่ของเจนกินส์ล้วนเสพติดแคร็กและจำเพาะเจาะจง สามารถเข้าถึงกลุ่มคนดูสากลโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ สีผิว หรือรสนิยมทางเพศ เมื่อมองในแง่นี้แล้วจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่มันจะคว้ารางวัลสูงสุดบนเวทีออสการ์มาครอง

ไม่มีความคิดเห็น: