วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 20, 2559

Legend: โฉมงามกับเจ้าชายอสูร


ช่วงปีสองปีมานี้ดูเหมือนประวัติชีวิตและผลงาน หรือที่หลายคนอาจเรียกว่า ตำนานของสองพี่น้องฝาแฝด เรจินัลด์ เรจจี้ เครย์ กับ โรนัลด์ รอนนี เครย์ อดีตมาเฟียที่เคยครองความยิ่งใหญ่ในย่านอีสต์เอนด์ของลอนดอนระหว่างช่วงทศวรรษ 1950-1960 จะกลับมาอยู่ในสนใจของสาธารณชนอีกครั้ง โดยนอกจากหนังเรื่อง Legend แล้ว ยังมีสารคดี The Krays: the Prison Years ที่ออกฉายทางช่องดิสคอฟเวอรี ตามมาด้วยสารคดี The Krays: Kill Order ซึ่งออกวางจำหน่ายในรูปแบบดีวีดี เช่นเดียวกับหนังทุนต่ำเรื่อง The Rise of the Krays ที่เข้าฉายไปเมื่อปีก่อน และภาคต่อซึ่งกำลังจะเข้าฉายในปีนี้เรื่อง The Fall of the Krays นี่ยังไม่รวมถึงหนังสือ One of the Family เขียนโดย มอรีน แฟลนาแกน อดีตนางแบบที่เคยทำผมให้แม่ของพี่น้องเครย์ทุกสัปดาห์ ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ไปเมื่อช่วงฤดูร้อน

มีตอนหนึ่งแฟลนาแกนเล่าว่ารอนกับเรจจี้เกลียดชังหนังเวอร์ชั่น 1990 เรื่อง The Krays (แม้พวกเขาจะได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน 255,000 ปอนด์ และพี่ชายพวกเขา ชาร์ลี จะรับตำแหน่งที่ปรึกษาในกองถ่ายก็ตาม) เพียงเพราะมันมีฉากที่แม่พวกเขา ไวโอเล็ต (รับบทโดย บิลลี ไวท์ลอว์) พูดคำหยาบ แม่ของเราไม่เคยสบถคำหยาบสักครั้งในชีวิต รอนนีบอกกับแฟลนาแกน (ตอนหนังออกฉายเรจจี้ยังอยู่ในเรือนจำ ส่วนรอนนีก็อยู่ในโรงพยาบาลโรคจิต)

ข้อเท็จจริงดังกล่าวชวนให้น่าขนลุกอยู่ไม่น้อย เมื่อพิจารณาว่าผู้หญิงที่พูดจาอ่อนหวาน สุภาพเรียบร้อยคนนี้สามารถเลี้ยงดูลูกชายให้เติบใหญ่เป็นอันธพาลจอมโหดได้อย่างไร ใน Legend ไวโอเล็ตมีโอกาสโผล่หน้ามาปรากฏบนจอเพียงสองสามฉาก (รับบทโดย เจน วู้ด) เธอดูน่ารักใคร่เหมือนคุณป้าใจดี ยกชากับเค้กมาเสิร์ฟลูก และต้อนรับเพื่อนๆ ของลูกอย่างเป็นกันเอง ขณะพวกเขากำลังปรึกษาหาทางกลบเกลื่อนร่องรอยคดีฆาตกรรมลับหลังเธอ เธอดูเหมือนแม่บ้านไม่รู้อิโหน่อิเหน่ที่ยังคิดว่าลูกของเธอเป็นหนูน้อยน่ารัก น่าทะนุถนอม และต้องดูแลยามเขาเจ็บไข้ได้ป่วย

ไม่ว่าเขาจะทำอะไร เขาก็เป็นน้องแก คำพูดส่งท้ายที่ไวโอเล็ตบอกกับเรจจี้บ่งชี้ชัดเจนว่าเธอตระหนักในอาชีพของลูกๆ และท่ามกลางรอยยิ้มกับความเป็นห่วงเป็นใย มันคือการยื่นคำขาด ฉากดังกล่าวยังบ่งชี้ให้เห็นลักษณะการเลี้ยงลูกของเธออีกด้วย เธอปกป้องพวกเขาอย่างมืดบอด มองว่าพวกเขาเป็นคนพิเศษ และพร้อมจะหลับตาสองข้างเวลาพวกเขาทำผิด แน่นอนการดูแลลูกๆ ราวกับไข่ในหินของเธอทำให้สองพี่น้องอาศัยอยู่ในโลกแคบๆ ที่ปิดล้อม พวกเขารักและผูกพันกันแบบแนบแน่น (รอนนีเคยให้สัมภาษณ์ว่า เรามีแม่ของเรา พวกเรามีกันและกัน ฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องมีใครอื่นอีก”) แต่ความยินดีที่จะให้อภัยโดยปราศจากเงื่อนไขและมองข้ามความผิดพลาดของไวโอเล็ตมีส่วนผลักดันให้ฝาแฝดเครย์เชื่อว่าพวกเขาสามารถทำอะไรก็ได้ และไม่ต้องแบกรับผลที่จะตามมา

สองพี่น้องเครย์น่าจะค่อนข้างพอใจกับภาพลักษณ์ของไวโอเล็ตในหนังเวอร์ชั่นนี้ เช่นเดียวกับภาพลักษณ์ของพวกเขาผ่านงานแสดงของ ทอม ฮาร์ดี้ ซึ่งดูน่าหวาดหวั่น ชวนให้เกรงขามกว่า แกรี เคมพ์ กับ มาร์ติน เคมพ์ สองพี่น้องจากวง Spandau Ballet ในเวอร์ชั่นเก่าหลายเท่าตัว แต่ในเวลาเดียวกันพวกเขาอาจไม่ถูกใจกับหลากหลายรายละเอียดที่ถูกบิดเบือน ดัดแปลงจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดทอนน้ำหนักเกี่ยวกับที่มา ความเป็นไปของแก๊งตระกูลเครย์ตามธรรมเนียมหนังประวัติอาชญากร ให้ตัวละครอย่าง ฟรานเซส เชีย (เอมิลี บราวนิง) ภรรยาคนแรกของเรจจี้ เป็นคนเล่าเรื่อง และเปลี่ยนแนวทางหนังแก๊งสเตอร์ให้กลายเป็นโศกนาฏกรรมรักในโลกแห่งอาชญากรรม ด้วยเหตุนี้ ตำนาน ในชื่อหนังตามความต้องการของผู้กำกับ/เขียนบท ไบรอัน เฮลเกแลนด์ จึงไม่ได้หมายถึงชื่อเสียงของสองพี่น้องเครย์ในวงการมาเฟียเท่านั้น แต่ยังกินความรวมไปถึงโศกนาฏกรรมรักระหว่างเรจจี้กับฟรานเซสอีกด้วย

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เฮลเกแลนด์ยินดีที่จะแก้ไขประวัติศาสตร์ หรือตีความเพิ่มเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้ทุกอย่างลงล็อก เช่น ฉากสังหาร แจ๊ค แม็ควิตตี้ ที่เผลอปากพล่อยเกี่ยวกับฟรานเซส จนเรจจี้เกิดบันดาลโทสะ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเรจจี้วางแผนจะฆ่าแจ๊คตั้งแต่แรก และล่อลวงเขามางานปาร์ตี้โดยมีรอนนีคอยสนับสนุน หรือเมื่อฟรานเซสเล่าตบท้ายว่าเรจจี้พกตั๋วเครื่องบินที่เขาซื้อให้เธอติดตัวจนวันสุดท้ายของชีวิต (เขาติดคุก 33 ปีในข้อหาฆ่าแม็ควิตตี้) แต่หนังไม่ได้หลุดปากเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่าเรจจี้มีแนวโน้มเป็นไบเซ็กชวล (ลือกันว่าเขามีสัมพันธ์บางอย่างกับพี่ชายฟรานเซส) และเขาแต่งงานใหม่กับ โรเบอร์ตา โจนส์ ในปี 1997 สามปีก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง

ไม่ต้องสงสัยว่าเรจจี้หลงรักฟรานเซสอย่างจริงใจ และการตายของเธอก็ทำให้เขาหดหู่ ซึมเศร้าอยู่นาน แต่นั่นดูจะยังไม่เพียงพอสำหรับเฮลเกแลนด์ เขาต้องการความซาบซึ้งตรึงใจและรักยืนยงในระดับเดียวกับ Romeo & Juliet (ฉากหนึ่งเราจะเห็นเรจจี้ปีนป่ายท่อน้ำเพื่อไปขอฟรานเซสแต่งงานบนระเบียง) เขาจึงเลือกจะใส่สีเติมไข่ลงไปอีกนิดหน่อย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่านั่นเป็นรากฐานของตำนานทั้งหลาย

เห็นได้ชัดว่าเฮลเกแลนด์ต้องการวาดภาพสองพี่น้องให้เป็นขั้วตรงข้าม เรจจี้คือเจ้าชาย มีสติ มีเหตุผล และปรารถนาจะล้างตัวฟอกตนให้เป็นนักธุรกิจ แผ่ขยายอำนาจจากย่านชนชั้นแรงงานอย่างอีสต์เอนด์ไปสู่ย่านชนชั้นกลางอย่างเวสต์เอนด์ ส่วนรอนนีคืออสูร ดิบ เถื่อน บ้าคลั่ง หลงใหลความรุนแรงและโลกแห่งอาชญากรรม โลกของเรจจี้กับฟรานเซสเต็มไปด้วยโรแมนซ์ อารมณ์อ่อนหวาน การแต่งงาน ส่วนโลกของรอนนีกับเท็ดดี้ (ทารอน เอเกอร์ตัน) ก็เต็มไปด้วยเรื่องเพศ การใช้กำลัง และปาร์ตี้เซ็กซ์หมู่ เรจจี้ต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นบน ผันตัวให้เป็นที่ยอมรับของ คนวงกว้าง แต่รอนนีกลับไม่แคร์เหล่าผู้ดีตีนแดง หรือไฮโซปลอมเปลือกทั้งหลาย เขาพร้อมจะกระชากหน้ากากเหล่านั้นออก แล้วลากพวกเขาลงมาคลุกโคลนตมในโลกปิดแคบเบื้องล่างดังจะเห็นได้จากกรณีอื้อฉาวของลอร์ดบูธบี

ปัญหาของฟรานเซส คือ เธอตกหลุมรักเจ้าชาย และไม่อาจทำใจยอมรับอสูรได้ จิตใจเธอไม่แข็งแกร่งพอจะรับมือกับรอนนี ซึ่งไม่ได้เป็นแค่พี่น้องฝาแฝดของเรจจี้เท่านั้น แต่ยังเป็น ส่วนหนึ่ง ของเขาอีกด้วย (สมัยเด็กๆ ไวโอเล็ตอาจตั้งชื่อพวกเขาแยกจากกัน แต่เธอชอบเรียกลูกๆ ว่า ฝาแฝด แทนที่จะเรียก เรจจี้กับรอนนี เธอแต่งตัวพวกเขาด้วยชุดเหมือนกันจนดูไม่ออกว่าใครเป็นใคร มีเพียงเธอเท่านั้นที่แยกออก รากฐานการเลี้ยงดูดังกล่าวทำให้ญาติสนิทหลายคนต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาเป็นคนๆ เดียวไม่ใช่สองคน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมรอนนีถึงไม่ชอบขี้หน้าฟรานเซส มันไม่ใช่อคติส่วนตัว แต่เขาไม่ชอบใครก็ตาม ไม่ว่าหญิงหรือชาย ที่จะมาแย่งความสนใจของพี่ชายไปจากเขา เมื่อมองในจุดนี้การเลือกนักแสดงคนเดียวมารับบทสองพี่น้องจึงถือเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาด และแน่นอนว่าเทคนิคภาพยนตร์ก็ช่วยให้มันเป็นไปได้กว่าเมื่อสัก 20 ปีก่อน) หนังแสดงให้เห็นว่าเรจจี้มีส่วนของรอนนีซ่อนอยู่ภายใน และทุกครั้งที่มันเผยตัว เช่น เมื่อเขาซ้อมน้องชายจนสะบักสะบอมโทษฐานทำผับเจ๊งระหว่างที่เขารับโทษอยู่ในคุก หรือเมื่อเขาใช้กำลังขืนใจภรรยา ฟรานเซสก็ยิ่งตระหนักว่าเธอไม่อาจแยกเจ้าชายกับอสูรออกจากกันได้ แม้ว่าจะพยายามแค่ไหน เธอโน้มน้าวให้เรจจี้ล้างมือจากวงการมาเฟีย แล้วมาบริหารผับอย่างเดียว แต่เช่นเดียวกับรอนนี เขาหลงใหลโลกใต้ดินจนยากจะถอนตัว

หนังตอกย้ำสถานะ หนึ่งคนในสองร่าง ได้อย่างชัดเจนอีกครั้งในช่วงท้ายเรื่อง หลังเรจจี้ฆ่าแม็ควิตตี้อย่างโหดเหี้ยมต่อหน้าแขกเหรื่อในงานปาร์ตี้ รอนนีเฝ้ามองเหตุการณ์อย่างงุนงงก่อนจะเอ่ยปากถามว่าเขาทำแบบนั้นทำไม คำตอบจากเรจจี้ คือ เพราะฉันฆ่าแกไม่ได้ ถึงจะอยากแค่ไหนก็ตาม ประโยคดังกล่าวไม่เพียงสะท้อนเปลือกในทางเรื่องราวเท่านั้น (เรจจี้อยากฆ่าน้องเพราะเขาเป็นตัวสร้างความวุ่นวายมาโดยตลอด ทำให้มีปัญหาต้องคอยตามแก้พัลวัน) แต่ยังสะท้อนความนัยถึงการที่เขาไม่อาจกำจัดอสูรในตัวออกไปได้อีกด้วย เขาพยายามจะควบคุมมัน แบบเดียวกับที่เขาพยายามจะควบคุมรอนนีให้ประพฤติตัวอยู่ในกรอบ แต่สุดท้ายทั้งสองอย่างก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า

เมื่อไม่อาจทำใจรับมือกับอสูรร้าย การแต่งงานจึงกลายเป็นกรงขังสำหรับฟรานเซส ความรักไม่ได้ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจอสูรให้อ่อนโยน แล้วกลับคืนสู่ร่างอันแท้จริง ตรงกันข้าม เจ้าชายเป็นเพียงเปลือกนอกที่ถูกใช้สำหรับล่อลวงเธอกลับเข้ากรงขัง เช่น เมื่อเขาโผล่มาอ้อนวอนขอคืนดี พร้อมข้อเสนอให้ไปฮันนีมูนรอบสอง แล้วคุณจะเห็นว่าผมเปลี่ยนตัวเองได้ เรจจี้พูดด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล หนักแน่น แบบที่เขาเคยให้สัญญากับเธอว่าจะไม่กลับไปเข้าคุกอีก... ฟรานเซสเคยเชื่อเขา แต่ไม่อีกต่อไป เธอตระหนักดีว่าทางเดียวที่จะค้นพบอิสรภาพอย่างแท้จริง คือ ความตาย

น่าสนใจว่าในความเป็นหนังรัก Legend ไม่ได้เชิดชูความรักอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู มันไม่มีพลังในการเอาชนะ ไม่มีพลังในความเปลี่ยนแปลงใดๆ โดยหนังเลือกจะเดินหน้าในลักษณะของโศกนาฏกรรมกรีก เมื่อทุกชีวิตถูกขีดเส้นมาแล้ว และไม่ว่าจะพยายามดิ้นรนแค่ไหน คุณก็ไม่อาจหลีกหนีจากชะตากรรมได้ เช่นเดียวกันในความเป็นหนังอาชญากรรม Legend ก็ดูจะไม่ได้มุ่งเน้นสั่งสอนศีลธรรมสักเท่าไหร่ จริงอยู่ สุดท้ายสองพี่น้องเครย์ก็ต้องชดใช้กรรมที่ก่อไว้อย่างสาสม แต่คนดูกลับไม่รู้สึกถึงพลังของสารัตถะในทำนองธรรมะย่อมชนะอธรรม (ตำรวจถูกล้อเลียนเป็นตัวตลกด้วยซ้ำในช่วงต้นเรื่อง) หรือความโลภโมโทสันและบ้าคลั่งอำนาจย่อมนำไปสู่หายนะแบบที่พึงเห็นในหนังมาเฟียทั้งหลาย ตรงข้ามสองพี่น้องเครย์ถูกวาดภาพให้เป็นเหมือนสัตว์ป่าที่ไม่อาจต่อต้านสัญชาตญาณดิบ พวกเขาไม่ได้เข้ามาทำอาชีพมาเฟียเพื่อเงิน แต่เป็นเพราะกระหายอะดรีนาลีน ความรุนแรงแบบเดียวกับพวกเขาคุ้นเคยจากอาชีพก่อนหน้า (นักมวย) และแน่นอนชื่อเสียง การยอมรับ ซึ่งอย่างหลังทำให้พวกเขาเป็นมาเฟียที่ล้มเหลว แต่ยังเป็นตำนานที่มีลมหายใจ

อาชีพแบบพวกเรา ชื่อเสียงไม่ใช่เรื่องดี ความไร้ตัวตนคือเป้าหมาย ตัวแทนของเจ้าพ่อมาเฟียจากฝั่งอเมริกาแนะนำเรจจี้ เมื่อเห็นข่าวอื้อฉาวของน้องชายเขากับลอร์ดบูธบีในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่การถูกบ่มเพาะมาแต่เด็กว่าเป็น คนพิเศษ โดยแม่ที่ภูมิใจในทุกอย่างที่พวกเขาทำส่งผลให้สองพี่น้องเครย์กระหายความสนใจ (การประกาศตนว่าตัวเองเป็นรักร่วมเพศ หรือรักร่วมสองเพศก็อาจเป็นหนึ่งในวิธีเพิ่มความพิเศษให้ตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่พฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศอังกฤษ) พี่น้องเครย์อยากให้ทุกคนรู้ว่าพวกเขาเป็นใคร ซึ่งนั่นย่อมรวมไปถึงตำรวจด้วย การบุกยิงศัตรูในที่สาธารณะ ท่ามกลางพยานนับสิบคนคือบทพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาเป็นมาเฟียที่ห่วยแตก แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้พวกเขากลายเป็นตำนาน (ปัจจุบันจะมีการจัดทัวร์ อาณาจักรเครย์ ทุกสัปดาห์ โดยเริ่มต้นที่ผับ บลายด์ เบกเกอร์ ซึ่งรอนนีบุกไปยิง จอร์จ คอร์เนล ในปี 1966) หนังสือหลายเล่มถูกเขียนเกี่ยวกับพวกเขา ชื่อพวกเขาถูกนำไปอ้างอิงในเพลง ทรัพย์สมบัติของพวกเขาถูกนำไปประมูลด้วยราคาสูงลิ่ว ผมคิดว่าพวกเขาทำเงินในคุกได้มากกว่าตอนอยู่นอกคุกซะอีก แพ็ทริค เฟรเซอร์ ลูกชายของมาเฟีย แฟรงกี้ เฟรเซอร์ กล่าว

ตอนที่หนังเรื่อง The Krays ออกฉาย สองพี่น้องเครย์ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ พวกเขาให้ความสำคัญกับ แบรนด์ มากกว่าชีวิตที่เหลืออยู่ เพราะถ้าเรจจี้เอาจริงเรื่องการขอลดโทษ เขาก็ควรจะแสดงท่าทีเสียใจต่ออาชญากรรมที่เขาก่อแล้วไม่ทำตัวให้เป็นที่สนใจของสื่อมวลชน ดูเหมือนหนังและเรื่องจริงจะมาบรรจบกันได้อย่างดงาม ณ จุดนี้ เพราะชีวิตในคุกที่เหลืออยู่ของเรจจี้ลงเอยแบบเดียวกับคำกล่าวของฟรานเซสในตอนท้ายเรื่อง นั่นคือ... กลายเป็นแค่วิญญาณของอดีต

2 ความคิดเห็น:

Rito กล่าวว่า...

เขียนดีมากค่ะ ถ้อยคำสวยงามมาก พึ่งดูหนังจบ อ่านบทความแล้วเข้าใจตัวละครมากขึ้นกว่าเดิมเลย

Unknown กล่าวว่า...

เยี่ยมมากครับ ดูจบเมื่อกี้