วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 20, 2559

หนังแห่งความประทับใจ


หนัง

พี่ชาย My Hero: น่าทึ่งที่หนังรักษาสมดุลระหว่างอารมณ์เสียดสี เยาะหยันกับความเป็นโศกนาฏกรรมในเรื่องราวได้อย่างราบรื่นโดยไม่ต้องเสียสละอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่ออีกอย่าง ด้วยเหตุนี้ในฉากจบของหนัง เราถึงรู้สึกเศร้าสร้อย สะเทือนใจกับชะตากรรมของพี่ชาย และความพ่ายแพ้อย่างราบคาบของเขาต่อระบบอันบูดเบี้ยว อยุติธรรม แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกเจ็บแสบอย่างประหลาดกับ ชัยชนะ ของน้องชาย ซึ่งหากมองดีๆ ก็ไม่แตกต่างจากการศิโรราบในอีกรูปแบบหนึ่ง

อนธการ The Blue Hour: ผีถูกใช้เป็นสัญญะได้อย่างชาญฉลาดในหนังเกย์ที่มองเผินๆ อาจเหมือนล้าหลัง แต่ความจริงกลับหัวก้าวหน้าและทรงพลังอย่างมาก มันจู่โจมบรรทัดฐานรักต่างเพศ ตลอดจนสังคมชายเป็นใหญ่แบบเป็นรูปธรรม (ผีบังตา การฆ่าล้างครอบครัว) และไม่ปรานีปราศรัย พร้อมกับนำเสนอความหวังผ่านปัจเจกนิยม (เกมดำน้ำ) ซึ่งเป็นทางออกเดียวต่อความไม่เท่าเทียมกัน ที่สำคัญ หนังยังได้ผลยอดเยี่ยมทั้งในแง่การสะท้อนสังคมมากพอๆ กับการวิเคราะห์ตัวละคร

The Assassin: วิจิตรงดงาม พร้อมแฝงอารมณ์หม่นเศร้าได้อย่างนุ่มละมุน ลุ่มลึก มันเป็นทั้งหนังที่เดินตามขนบของหนังกำลังภายในและแหกกฎแบบไม่แคร์สื่อในเวลาเดียวกัน จุดเด่นจริงๆ ไม่ใช่เรื่องราว ซึ่งค่อนข้างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา หากอยู่ตรงโครงสร้างการจัดเรียงเรื่องราวแบบเว้นช่องว่างของโหวเสี่ยวเชี่ยน ตลอดจนการปั้นแต่งภาพแต่ละเฟรมให้เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา ความหมาย และอารมณ์ที่คุกรุ่นอยู่ภายใน

Mad Max: Fury Road: ขั้วตรงข้ามของ The Assassin เมื่อทุกอย่างถูกปาใส่หน้าคนดูอย่างบ้าระห่ำชนิดแทบไม่เหลือช่วงเวลาให้หยุดพักหายใจ เสน่ห์ของหนังหาได้จำกัดอยู่แค่ทักษะการทำหนังสไตล์คลาสสิกที่เปี่ยมประสิทธิภาพ พลังการแสดงอันหนักแน่นโดยเฉพาะ ชาร์ลิซ เธรอน กับ ทอม ฮาร์ดี้ ซึ่งเข้าคู่ได้อย่างเหมาะเจาะเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสารัตถะอันร่วมสมัยเกี่ยวกับสังคมอุดมคติกับความเท่าเทียมทางเพศอีกด้วย

Snap: เจ็บ.จน.จุก #อดีตคือประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นใหม่

นักแสดงชาย

แม็ท เดมอน (The Martian) บทนี้เปรียบเหมือนขนมกรุบกรอบสำหรับเดมอน ซึ่งเล่นตลกได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้ดรามา แม้จะไม่ค่อยมีใครให้โอกาสก็ตาม แต่พลังดาราและเสน่ห์เฉพาะตัวได้ช่วยยกระดับผลงานขึ้นไปอีกขั้น

เบนิซิโอ เดล โทโร (Sicario) รังสีอำมหิตแผ่ซ่านทั่วทุกอณูโดยไม่จำเป็นต้องพูดอธิบายให้มากความ แค่เห็นแวบแรกเราก็สัมผัสได้แล้วว่าไอ้หมอนี่ ของจริง และถ้ามันอยากได้ข้อมูลอะไร ทางที่ดีให้รีบสารภาพไปเถอะถ้าไม่อยากเจ็บตัว

โคลิน ฟาร์เรลล์ (The Lobster) เมื่อหนุ่มหล่ออันตรายสลัดคราบได้อย่างหมดจดเพื่อมารับบทเป็นพ่อหมีสุดเซื่องผู้โหยหาความโรแมนติกในโลกที่เต็มไปด้วยการเยาะหยันและแบ่งแยก

โรเบิร์ต เดอ นีโร (The Intern) น่ารัก อบอุ่น ในแบบที่เราไม่ค่อยได้เห็น ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับบทที่สร้างชื่อเสียงให้เขาจากหนังอย่าง Taxi Driver และ Raging Bull จริงๆ ถ้าเราสามารถแก่ชราได้สง่างามเหมือนเบนก็คงดีไม่น้อย (แต่สุดท้ายคงลงเอยเหมือนป้าหื่นเพื่อนบ้านซะมากกว่า)

ไรอัน เรย์โนลด์ (The Voices) เวลาได้บทที่เข้าทาง เขาก็สามารถแสดงศักยภาพให้เป็นที่ประจักษ์ได้ ไม่เสียแรงที่แอบเชียร์มาตั้งแต่ตอนเล่นซิทคอม Two Guys, a Girl and a Pizza Place

นักแสดงหญิง

อลิซาเบ็ธ แบงค์ (Love & Mercy) ยอมรับว่าเซอร์ไพรซ์มากกับงานแสดงอันเปล่งประกายของเธอในหนังเรื่องนี้ เธอทำให้คนดูสามารถสัมผัสได้ชัดเจนถึงความรักและความเมตตาอันเต็มเปี่ยมต่อ ไบรอัน วิลสัน ไม่ใช่ในฐานะชายคนรักเท่านั้น แต่ในฐานะเพื่อนมนุษย์อีกด้วย

เอมี ไวน์เฮาส์ (Amy) เคยนึกหวาดกลัวอยู่กลายๆ ตอนรับรู้ข่าวสารพัดวีรกรรมความหยำเปของเธอผ่านสื่อ แต่พอดูหนังเรื่องนี้แล้วรู้สึกอยากจะเข้าไปกอด กอบกู้จิตใจที่แตกสลายของเธอ

เจสซิก้า แชสเทน (Crimson Peak) อีเจ๊นี่น่ากลัวยิ่งกว่าผีทุกตัวรวมกัน และนางดูจะเป็นนักแสดงคนเดียวที่เข้าถึงโทนอารมณ์แท้จริงของหนังซึ่งยกระดับความน้ำเน่า ความโฉ่งฉ่างขึ้นไปจนเกือบจะเป็นการล้อเลียน

จูลีแอนน์ มัวร์ (Still Alice) ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็พลางให้นึกปลงอนิจจัง เมื่อศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในที่สุดก็จำเป็นต้องหลีกทางให้การเสื่อมถอยของสังขารโดยไม่อาจหลบเลี่ยง

คีรา ไนท์ลีย์ (The Imitation Game) ชอบทุกครั้งเวลาเธอเล่นเป็นผู้หญิงหัวก้าวหน้า เข้มแข็ง แต่ก็ซ่อนความเปราะบางเอาไว้ ที่สำคัญสำเนียงอังกฤษของเธอช่างเสนาะเพราะหู ช่วยให้บทพูดที่จงใจไปหน่อยในฉากสุดท้ายดูมีคลาสและทรงพลังได้อย่างเหลือเชื่อ

ความคิดเห็น


ปีนี้เป็นปีที่ผมดูหนังน้อยลงมากโดยเฉพาะหนังในโรง ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะหน้าที่การงานซึ่งวุ่นวายมากขึ้นจนหาเวลาว่างได้น้อยลง อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาผมมีปัญหาด้านสุขภาพรุมเร้าพอควร และหนึ่งในคำแนะนำของคุณหมอ คือ ให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ด้วยเหตุนี้ผมเลยต้องเสียสละเวลาส่วนหนึ่งเพื่อดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หรืออย่างน้อยก็ไม่เจ็บป่วยอะไรไปมากกว่านี้ แต่ลึกๆ ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองทำได้ไม่ดีนัก เพราะเวลางานยุ่งทีไร ก็ชอบเอามาเป็นข้ออ้างไม่ไปออกกำลังกายอยู่เสมอ บางทีนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผม อินกับหนังเรื่องฟรีแลนซ์ แม้ว่าโรคภัยของผมจะไม่ได้เกิดจากการหักโหมทำงานหนัก แต่น่าจะเกิดจากสังขารเป็นหลักมากกว่า เพราะคนเราพอเริ่มแก่ตัว โรคภัยไข้เจ็บก็ย่อมถามหาเป็นธรรมดา เป็นโน่นเป็นนี่ง่ายขึ้น ซ้ำร้ายยังหายช้าอีกต่างหาก พอต้องหาสมดุลให้กับชีวิต เพื่อมันจะได้ดำเนินต่อไปโดยไม่ลำบากยากเข็ญ ผมเลยตัดสินใจเลือกดูเฉพาะหนังที่อยากดูก่อน แล้วลดทอนหนังเบี้ยบ้ายรายทางประเภทดูเพื่อฆ่าเวลาลงบ้าง (ฉะนั้นถ้าตาราง in view ของผมจะเว้นว่างมากไปหน่อยก็ต้องขออภัยอย่างสูง) แต่ไม่ว่ายังไงหนังก็คงจะเป็นส่วนสำคัญของชีวิตผมต่อไปเหมือนอย่างที่มันเป็นมาตลอดเวลาหลายทศวรรษ

ไม่มีความคิดเห็น: