วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 20, 2559

Oscar 2016: บนเส้นทางสามแพร่ง


หลังจากเวทีลูกโลกทองคำ สมาพันธ์นักแสดง (SAG) และสมาพันธ์ผู้อำนวยการสร้าง (PGA) ประกาศผล ออสการ์ปีนี้ก็ยิ่งลุ้นสนุกและยากต่อการคาดเดามากขึ้นอีก The Revenant เริ่มต้นเซอร์ไพรส์ทุกคนก่อนด้วยการวิ่งแซงโค้งคู่แข่ง กวาดรางวัลหนังยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมบนเวทีลูกโลกทองคำ เอาชนะตัวเต็งอย่าง Spotlight และ จอร์จ มิลเลอร์ ไปแบบหักปากกาเซียน แถมในสัปดาห์ต่อมาหนังยังได้เข้าชิงออสการ์สูงสุด (12 รางวัล) และทำเงินได้น่าประทับใจบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ อีกด้วย จนหลายคนเริ่มสับรางมาคาดเดาว่าหนังมหากาพย์เลือดสาดกลางหิมะของ อเลฮานโดร อินนาร์ริตู เรื่องนี้จะเป็นฝ่ายกำชัยบนเวทีออสการ์ในท้ายที่สุด

แต่แล้ว PGA กลับช็อกทุกคนถ้วนหน้าด้วยการประกาศให้ The Big Short เป็นหนังยอดเยี่ยม เวทีนี้ถือว่ามีภาษีดีกว่าลูกโลกทองคำหลายเท่าตัว เพราะนอกจากมันจะเป็นการโหวตของคนในวงการภาพยนตร์ (และหลายคนในนั้นก็ควบตำแหน่งกรรมการออสการ์) ไม่ใช่นักข่าวต่างประเทศแค่หยิบมือ ตามสถิติแล้วหนังยอดเยี่ยมของเวทีนี้ก็มักจะเดินหน้าคว้ารางวัลสูงสุดบนเวทีออสการ์ไปครอง โดยต้องย้อนกลับไปถึงปี 2006 จึงจะพบกับความไม่สอดคล้อง เมื่อ PGA ให้ Little Miss Sunshine ได้รางวัล ขณะที่ออสการ์ให้ The Departed (พึงสังเกตว่า Little Miss Sunshine เป็นหนังในโทนเบาสมองแบบเดียวกับ The Big Short แม้ว่าเรื่องหลังจะมีน้ำหนักมากกว่าเยอะตรงที่มันพูดถึงประเด็นตึงเครียด ให้อารมณ์ร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอเมริกากำลังใกล้เข้ามา)

อีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม คือ นับแต่ปี 2009 เป็นต้นมา PGA ใช้การนับคะแนนแบบเดียวกับออสการ์ นั่นคือ เรียงลำดับตัวเลือก ขณะเวทีอื่นยังใช้การนับคะแนนแบบ 1 เรื่อง 1คะแนน กล่าวคือ กรรมการจะเลือกผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว ใครหรือหนังเรื่องอะไรได้รับคะแนนโหวตสูงสุดก็ชนะ ซึ่งการตัดสินสาขาอื่นๆ ทั้งหมดบนเวทีออสการ์ก็จะใช้หลักการนี้ ยกเว้นเพียงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งกรรมการจะต้องเรียงลำดับผู้เข้าชิงตามความชอบ หนังเรื่องใดที่มีคนโหวตให้ติดอันดับ 1 มากกว่า 50% จะคว้าชัยชนะไปครอง แต่ถ้าไม่มีเรื่องไหนทำได้ หนังที่ได้รับการโหวตให้อันดับหนึ่งน้อยสุดจะถูกนำมานับคะแนนใหม่โดยดูจากอันดับสองเป็นหลัก ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ผู้ชนะ

ความแรงของ The Big Short ที่ PGA ทำให้นักทายผลหลายคนกระโดดลงจากเรือ Spotlight และ The Revenant แล้วเปลี่ยนมายืนเคียงข้างหนังวิกฤติซับไพรม์ของ อดัม แม็คเคย์ แทน เนื่องจากมันเป็นเรื่องเดียวที่สามารถต่อกรกับ Spotlight ได้บนเวที SAG ซึ่งThe Revenant ไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขานักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยม (ซึ่งเทียบเท่ากับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของเวทีนี้) ขณะเดียวกัน ฟากที่เชียร์ Spotlight ก็มองว่า SAGคือ ฐานที่มั่นสุดท้าย หาก Spotlight ไม่สามารถคว้ารางวัลสูงสุดมาครอง มันก็จะถือเป็นตะปูตอกปิดฝาโลงอย่างแน่นอน

สุดท้ายแล้ว Spotlight ยังรักษาฐานที่มั่นไว้ได้ด้วยการคว้ารางวัลสูงสุดบนเวที SAG  ทำให้ความเป็นไปได้บนเวทีออสการ์ยังดูคลุมเครือ การขับเคี่ยวกันระหว่าง Spotlight และ The Big Short ถือว่าสูสีตีคู่กันมามากๆ โดยมี The Revenant เป็นตัวสอดแทรกที่สำคัญ (การพลาดเข้าชิง SAG สาขานักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยมถือเป็นจุดอ่อนของหนัง เพราะภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ได้ออสการ์ โดยไม่ได้เข้าชิง SAG สาขานักแสดงกลุ่ม คือ Braveheart) และสถานการณ์คงจะเป็นเช่นนี้ต่อไป หาก จอร์จ มิลเลอร์ คว้ารางวัลสมาพันธ์ผู้กำกับไปครองตามความคาดหมาย แต่ถ้า ทอม แม็คคาธีย์ หรือแม็คเคย์ หรืออินนาร์ริตู สามารถพลิกกลับมาชนะได้ นั่นย่อมเพิ่มแต้มต่อให้กับหนังของพวกเขาได้หลายเท่าตัว และอาจกลายเป็นไพ่ไม้ตายที่จะนำไปสู่ชัยชนะบนเวทีออสการ์ได้เลย

แต่มองจากแนวโน้มในตอนนี้ มีโอกาสค่อนข้างสูงว่าสาขาภาพยนตร์และผู้กำกับจะตกเป็นของหนังคนละเรื่อง โดยรางวัลแรกน่าจะตกเป็นของ Spotlight ส่วนรางวัลหลังเป็นของ Mad Max: Fury Road ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง นี่จะถือเป็นครั้งที่สามในรอบสี่ปีที่เกิดการแบ่งสองรางวัลใหญ่ หลังจาก Argo/Life of Pi และ 12 Years a Slave/Gravity เมื่อสามและสองปีก่อนตามลำดับ

สาเหตุที่ทำให้ Spotlight ยังถือไพ่เหนือคู่แข่งอยู่บ้างเล็กน้อย ก็คือ มันเป็นหนังที่คนส่วนใหญ่สามารถ เห็นชอบได้ไม่ยาก แม้บางคนอาจจะแค่ชื่นชม แต่ไม่รัก บางคนอาจเห็นว่ามันไม่ค่อยคู่ควร ไม่ยิ่งใหญ่ หรือขาดเอกลักษณ์แห่งภาพยนตร์ แต่มีน้อยคนนักที่จะเกลียดหนังเรื่องนี้ ซึ่งเราไม่อาจพูดแบบเดียวกันได้กับหนังโชว์พราวด์อย่าง The Revenant และหนังยียวนกวนบาทาอย่าง The Big Short สิ่งเดียวที่ทำให้ Spotlight ไม่กลายเป็นเต็งหนึ่งแบบชัดเจนอย่าง Argo ก็คือ การที่หนังไม่พยายามจะขยี้อารมณ์ ทำให้คนดูซาบซึ้ง หรือลุ้นระทึกจนออกนอกหน้า  แต่ขณะเดียวกัน ความราบเรียบแบบมีรสนิยมดังกล่าวก็มีส่วนทำให้หนังกลายเป็นขวัญใจนักวิจารณ์ และนั่นก็น่าจะมีแรงมากพอในการฉุดให้มันเป็นหนังออสการ์ตามไปด้วยแบบเดียวกับ No Country for Old Men และ The Hurt Locker

จอร์จ มิลเลอร์ มีแต้มต่อเหนือคู่แข่งคนอื่นๆ ตรงบารมี ความยอมรับนับถือในวงการ แถมเขายังไม่เคยเข้าชิงในสาขานี้มาก่อนอีกด้วย แม้จะเวียนว่ายอยู่ในวงการมานานหลายสิบปี คนเดียวที่พอจะเทียบเคียงกับเขาได้ในแง่บารมี คือ อินนาร์ริตู แต่เขาเพิ่งคว้าชัยชนะมาครองเมื่อปีก่อน คำถาม คือ ออสการ์พร้อมจะยกเขาขึ้นเทียบชั้น จอห์น ฟอร์ด (The Grapes of Wrath กับ How Green Was My Valley) และ โจเซฟ แอล. แมนคีวิคซ์ (A Letter to Three Wives กับ All About Eve) แล้วหรือในฐานะผู้กำกับรางวัลออสการ์สองปีซ้อน

ส่วนบรรดามือใหม่อีกสามคนที่เหลือ แม็คเคย์น่าจะมีภาษีดีกว่าเพื่อนตรงที่หนังของเขาค่อนข้างเน้นสไตล์การเล่าเรื่องที่หวือหวา และอาจพลิกเป็นผู้ชนะได้ หากกรรมการชื่นชอบ The Big Short มากพอ แต่เช่นเดียวกับ Mad Max: Fury Road หนังของเขาต้องเอาชนะอคติต่อตระกูลหนังของเหล่ากรรมการออสการ์ ซึ่งนิยมมองข้ามหนังตลกและหนังแอ็กชั่น หากมองจากการเข้าชิง SAG สาขานักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยม เห็นได้ชัดว่าหนังเขา (เช่นเดียวกับ Spotlight ของแม็คคาธีย์) เป็นที่ชื่นชอบของกรรมการกลุ่มนักแสดง แต่หากมองไปยังกรรมการกลุ่มอื่นๆ The Big Short ก็ยังถือว่าเสียเปรียบ Mad Max: Fury Road อยู่นิดหน่อย เพราะหนังของมิลเลอร์ได้เข้าชิงมากถึง 10 สาขา แม้จะไม่มีในสาขาการแสดงเลยก็ตาม แต่นั่นแสดงให้เห็นว่ามันเป็นที่ชื่นชอบโดยรวมของกรรมการในทั่วทุกภาคส่วน

สำหรับสาขานักแสดง ตัวเก็งที่ยากจะพลิกล็อกในตอนนี้ คือ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (The Revenant) และ บรี ลาร์สัน (Room) ซึ่งต่างก็คว้า SAG ไปครองตามความคาดหมาย คู่แข่งเพียงคนเดียวของดิคาปริโอ คือ ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ แต่ Steve Jobs ไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบของกรรมการมากเท่ากับ The Revenant ฉะนั้น โอกาสของเขาจึงพลอยต่ำเตี้ยลงตามไปด้วย ส่วนการติด 1 ใน 8 สาขาหนังเยี่ยมของ Brooklyn ก็น่าจะช่วยต่อลมหายใจให้เซอร์ชา โรแนน มีความหวังมากขึ้น แม้จะเพียงน้อยนิดก็ตาม เนื่องจากบทของเธอไม่ได้เน้นฉากปล่อยของ ปล่อยแสงมากเท่ากับลาร์สัน อีกคนที่ตอนแรกถูกมองว่าอาจจะเป็นม้ามืดในโค้งสุดท้ายก็คือ ชาร์ล็อต แรมปลิง (45 Years) แต่หลังจากสถานการณ์ปากพาจนในประเด็น OscarSoWhite โอกาสน้อยนิดของเธอก็พลอยหายวับไปกับตา แม้ว่าหากพิจารณาในแง่คุณภาพของงานแสดงล้วนๆ แล้ว อาจพูดได้ว่าเธอเองก็ไม่เป็นสองรองใคร ปัญหาอยู่ตรงที่หนังของเธอมีคนได้ดูไม่มากพอ ส่วนการแสดงของเธอก็เน้นแง่มุมลึกซึ้ง เปิดช่องต่อจินตนาการค่อนข้างสูง ไม่ใช่การระเบิดอารมณ์แบบตรงไปมาตรงมา ซึ่งจะเข้าทางออสการ์มากกว่า

ไอดริส เอลบา คว้า SAG สาขานักแสดงสมทบชายไปครอง แต่เขาไม่ได้เข้าชิงออสการ์ ฉะนั้นตำแหน่งตัวเก็งจึงตกเป็นของ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน ซึ่งคว้าลูกโลกทองคำมาครอง แต่โอกาสที่คุณลุงร็อกกี้จะถูกแย่งรางวัลในนาทีสุดท้ายก็เป็นไปได้เช่นกัน ทั้งจากขวัญใจนักวิจารณ์อย่าง มาร์ค ไรแลนซ์ (Bride of Spies) และ มาร์ค รัฟฟาโล (Spotlight) คนแรกมีเครดิตรางวัลยาวเหยียดจากแวดวงละครเวที แต่ค่อนข้างโนเนมในแวดวงภาพยนตร์ ส่วนคนหลังเรียกได้ว่าเป็นลูกรักออสการ์ แต่ยังไม่เคยคว้ารางวัลมาครอง ซึ่งนั่นถือเป็นข้อได้เปรียบ เช่นเดียวกับการอยู่ในหนังเต็งหนึ่งอย่าง Spotlight


สาขาที่น่าจะขับเคี่ยวกันสนุก คือ สมทบหญิงยอดเยี่ยม ซึ่งเต็งหนึ่ง อลิเซีย วิแคนเดอร์เพิ่งคว้า SAG ไปครอง แต่ก็อย่าเพิ่งมองข้าม รูนีย์ มารา เจ้าของรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเมืองคานส์ เนื่องจาก Carol เป็นที่ชื่นชอบของกรรมการมากพอจะได้เข้าชิงมากถึง 6 สาขา และบทของเธอก็มีน้ำหนักระดับ ดารานำ แบบเดียวกับวิแคนเดอร์ใน The Danish Girl เช่นกัน ข้อได้เปรียบหลักของวิแคนเดอร์อยู่ตรงที่ปีนี้เป็นปี แจ้งเกิด ของเธอ โดยเธอยังฝากผลงานน่าประทับใจเอาไว้ในหนังอีกเรื่องอย่าง Ex-Machina ที่สำคัญ บทภรรยาอมทุกข์เรียกได้ว่าเป็นบทที่เข้าทางออสการ์ไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จของ เจนนิเฟอร์ คอนเนลลี (A Beautiful Mind) และ มาร์เซีย เกย์ ฮาร์เดน (Pollock)ในอดีต


OscarSoWhite Controversy

ทันทีที่รายชื่อนักแสดงที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ 20 คนถูกประกาศ และเป็นปีที่สองติดต่อกันที่ทั้งหมดล้วนเป็นนักแสดงผิวขาว กระแสความโกรธเกรี้ยวจากเหล่าคนผิวสีก็เริ่มแพร่กระจาย แล้วลุกลามเป็นไฟป่าในเวลาอันรวดเร็ว นำไปสู่การประกาศคว่ำบาตรงานออสการ์ของผู้กำกับ สไปค์ ลี และนักแสดง จาดา พิงเค็ตต์ สมิธ (สามีของเธอ วิล สมิธ ได้เข้าชิงลูกโลกทองคำ ซึ่งมี 10 ที่ว่างสำหรับสาขานำชาย แต่เขาไม่ติด 1 ใน 5 บนเวทีออสการ์) โดยพวกเขาไม่ได้หงุดหงิดกับการมองข้ามนักแสดงผิวสีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการหลุดโผสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของ Straight Outta Compton (รางวัลเดียวที่หนังได้เข้าชิง คือ สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ซึ่งนักเขียนบททั้งสี่คนเป็นผิวขาว) และ Creed หนังที่กำกับและนำแสดงโดยชายผิวสี แต่คนเดียวที่ได้เข้าชิงกลับเป็น ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน

ข้อหา เหยียดผิว ถูกโยนใส่สถาบันและกรรมการออสการ์อย่างอยุติธรรม ทั้งที่ต้นตอปัญหาที่แท้จริงคืออุตสาหกรรมในภาพรวมที่ไม่เปิดโอกาสให้คนผิวสีมากกว่า ถามว่าเป็นไปได้ไหมนี่กรรมการบางคนอาจมีอคติทางสีผิว เมื่อต้องเลือกผู้เข้าชิง คำตอบ คือ ก็เป็นไปได้ แต่คงไม่มากไปกว่าอคติต่อรักร่วมเพศ ผู้หญิง หรือหนังในบางแนวทาง เพราะต้องไม่ลืมว่าออสการ์เป็นการตัดสินรางวัล ซึ่งอาศัยความคิดเห็นเป็นหลัก ไม่มีอะไรถูก ไม่มีอะไรผิดชัดเจนเหมือนการบวกลบเลข บางคนอาจเห็นว่าหนังเรื่องนี้ดี แต่อีกคนกลับมองว่ามันห่วยก็ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือบางคนอาจจะไม่ได้ดูหนังด้วยซ้ำ แต่โหวตเอาจากชื่อคนรู้จัก หรือเพื่อนในวงการที่เคยร่วมงานกันมา แล้วไหนจะมีเรื่องการดูหนัง หรือเข้าถึงหนังของกรรมการเข้ามาเป็นปัจจัยอีก แปลกหรือที่นักแสดงจากหนังอย่าง Tangerine จะไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง ในเมื่อกรรมการส่วนหนึ่งอาจไม่เคยได้ยินชื่อหนังเรื่องนี้ด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่จะหยิบสกรีนเนอร์ขึ้นมาดูเลย

มองจากสถิติแล้ว นักแสดงคนเดียวที่ น่าจะ ได้เข้าชิง แต่พลาดท่าตกรอบไปแบบสุดเซอร์ไพรส์ คือ ไอดริส เอลบา เพราะเขาได้เข้าชิงทั้งลูกโลกทองคำ SAG และ BAFTA เขาวืดได้ยังไง เห็นได้ชัดว่าคนที่มาแทนที่เขา คือ ทอม ฮาร์ดี้ และ มาร์ค รัฟฟาโล ซึ่งอยู่ในหนังที่กรรมการส่วนใหญ่ชื่นชอบและเป็นตัวเต็งลำดับต้นๆ บนเวทีออสการ์ ไม่ใช่หนังเล็กๆ ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่าง Beasts of No Nation ปรากฏการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนไหม แน่นอนที่สุด ที่จริง มันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2013 นี่เอง เมื่อ เดเนียล บรูห์ล (Rush) ได้เข้าชิงลูกโลกทองคำ SAG และ BAFTA แบบครบถ้วนในสาขาเดียวกัน แต่กลับไม่ได้เข้าชิงออสการ์ ใครเป็นคนขโมยตำแหน่งเขาไปน่ะเหรอ โจนาห์ ฮิล จาก The Wolf of Wall Street หนังที่เพิ่งเข้าฉายช่วงปลายปี และกลายเป็นหนังฮ็อตฮิตในหมู่กรรมการแบบเดียวกับ The Revenant ใช่แล้ว มันคือการมองข้ามที่น่าตกใจ แต่นั่นใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับนักแสดงผิวขาว

ใครก็ตามที่ติดตามงานแจกรางวัลออสการ์มาก่อนย่อมตระหนักดีว่า Straight Outta Compton ไม่ใช่หนังที่ต้องรสนิยมของกรรมการออสการ์ และการที่มันหลุดจากโผ 1 ใน 8 เรื่องก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ ความจริง การหลุดโผของ Carol ยังน่าตกใจกว่าด้วยซ้ำ หรือแม้กระทั่ง Creed ซึ่งหนังเข้าทางออสการ์มากกว่า แถมยังเชื่อมโยงไปถึงหนังที่คว้ารางวัลออสการ์มาก่อนอย่าง Rocky อีกด้วย แต่ทางสตูดิโอดูจะตระหนักถึง ศักยภาพ ของ Creed ช้าเกินไป และไม่ได้โปรโมตมันอย่างหนักหน่วงเท่าที่ควรจะเป็น ต้องไม่ลืมว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่หนัง หรือนักแสดงคนหนึ่งๆ จะได้เข้าชิงออสการ์ และคุณภาพของผลงานก็เป็นแค่ปัจจัยหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยเท่านั้น (คุณภาพซึ่งแปรผันไปตามมุมมองของแต่ละคน) มองเช่นนี้แล้ว คุณจะพบว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่สตอลโลน นักแสดง/ดาราชื่อดังที่สั่งสมประสบการณ์มานานหลายสิบปี และมีเครดิตเคยเข้าชิงออสการ์มาก่อนในสาขานักแสดงนำชายจะได้เข้าชิงจาก Creed แต่ไม่ใช่นักแสดงหนุ่มโนเนมอย่าง ไมเคิล บี จอร์แดน กับสาขาซึ่งเต็มไปด้วยการแข่งขันเข้มข้นของซูเปอร์สตาร์อย่าง แม็ท เดมอน และ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ    

จริงอยู่ว่าหากสัดส่วนกรรมการออสการ์เปลี่ยนแปลงไป (รับคนผิวสีมากขึ้น รับผู้หญิงมากขึ้น ลดทอนชายแก่ผิวขาวลง รับคนหนุ่มสาวมากขึ้น) บางทีภาพรวมของผู้เข้าชิงออสการ์อาจเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย และนั่นดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่สถาบันพยายามทำกับการปรับกฎครั้งใหญ่หลังเกิดประเด็นอื้อฉาวเรื่องความหลากหลายขึ้น แต่สุดท้ายแล้วทุกปีก็จะต้องมีคนหรือหนังที่สมควรได้เข้าชิงแต่ไม่ได้เข้าชิงเสมอ

ออสการ์เป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่งของเครื่องจักรขนาดยักษ์ที่ชื่อว่าฮอลลีวู้ด และความก้าวหน้า แม้ว่าจะเชื่องช้าไปหน่อย ก็กำลังคืบคลานอย่างต่อเนื่อง ไม่เชื่อก็ดูตัวอย่างได้จากทำเงินสูงสุดตลอดกาลในอเมริกาตอนนี้ ซึ่งนำแสดงโดยผู้ชายผิวดำ ผู้หญิง และผู้ชายเชื้อสายละติน ที่สำคัญ อย่าลืมว่ารายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นแค่ส่วนหนึ่งของภาพรวมเท่านั้น มันไม่ใช่ทุกอย่าง ไม่ใช่ที่สุด และไม่ใช่บทพิสูจน์ที่ไร้ข้อกังขา คนที่น่าจะตระหนักความจริงข้อนี้ดีกว่าใคร คือ สไปค์ ลี เพราะหนังที่ไม่ได้เข้าชิงออสการ์ของเขาเรื่อง Do the Right Thing ปัจจุบันยังคงถูกพูดถึง ยกย่อง และถกเถียงในชั้นเรียน แต่แทบจะไม่มีใครจดจำหนังที่ชนะรางวัลออสการ์ในปีนั้นอย่าง Driving Miss Daisy ได้แล้ว


Nominee Reactions

* “ครั้งแรกที่เควนตินขอให้ผมแต่งสกอร์สำหรับหนังคาวบอยเรื่องใหม่ของเขา ผมตอบปฏิเสธ แต่คุณตารันติโนเป็นคนเจ้าเล่ห์ เขาทิ้งบทภาพยนตร์ไว้ให้ภรรยาผมอ่าน เพราะเขารู้ว่าใครเป็นนายใหญ่ในบ้านหลังนี้ มาเรียคิดว่า The Hateful Eight ยอดเยี่ยมมาก เธอบอกว่าผมต้องทำสกอร์ให้หนังเรื่องนี้โดยปราศจากข้อแม้ใดๆ ผมดีใจที่ตอบตกลงในที่สุด การได้ร่วมงานกับนักสร้างหนังชั้นยอดอย่างเควนตินถือเป็นความสนุกสนาน เขาเพิ่งจะอายุหนึ่งขวบตอนผมแต่งสกอร์ A Fistful of Dollars ให้กับ เซอร์จิโอ เลโคเน ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ ผมขอน้อมรับเกียรติครั้งนี้ในนาม เควนติน ตารันติโน บริษัท ไวน์สตีน คัมปานี และนักแสดงกับทีมงานทุกคน และแน่นอนผมต้องขอบคุณภรรยาที่ชาญฉลาดของผม มาเรีย เอนนิโอ มอร์ริโคเน (เข้าชิงสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมจาก The Hateful Eight)

* “ฉันรู้สึกซาบซึ้งและตื่นเต้นที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง ขอบคุณสถาบันที่ให้เกียรติหนังเรื่อง 45 Years การได้ทำหนังร่วมกับ ทอม คอร์ทเนย์ นักแสดงผู้ยิ่งใหญ่ และผู้กำกับ แอนดรูว์ เฮก ถือเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง และฉันดีใจเมื่องานที่ทุกคนทุ่มเทแรงกายแรงใจกันอย่างหนักในทั่วทุกส่วนได้รับเกียรติจากเพื่อนๆ ของเราและเพื่อนร่วมอาชีพในสถาบัน ชาร์ล็อต แรมปลิง (เข้าชิงสาขานักแสดงนำหญิงจาก 45 Years)

* “ทันทีที่ผมได้เห็นการแสดงอันน่าทึ่งของ เซอร์ชา โรแนน ใน Brooklyn ผมรู้เลยว่าเธอจะต้องถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ และเธอก็อาจจะช่วยลากพวกเราอีกสองสามคนไปถึงจุดนั้นด้วย มันเป็นหนังที่พวกเราทุกคนภูมิใจ นี่ถือเป็นการให้เกียรติขั้นสูงสุด ผมอยากจะขอสดุดีเป็นพิเศษแด่ ภรรยาผู้แข็งแกร่งและไม่ยอมแพ้ของผม อแมนดา โพซีย์ และคู่หูผู้อำนวยการสร้างของเธอ ฟีโนลา ดวาย ซึ่งช่วยกันผลักดัน ปลุกปั้นหนังเรื่องนี้อยู่นานหลายปีนิค ฮอร์นบี (เข้าชิงสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงจาก Brooklyn)

* “ถ้าคุณบอกว่าผมจะได้เข้าชิงออสการ์เมื่อหนึ่งเดือนก่อนละก็ ผมคงพูดว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากๆๆ มันวิเศษอย่างยิ่งที่พวกเราหลายคนได้รับเชิญให้ไปร่วมงานในปีนี้ จอร์จ มิลเลอร์ (เข้าชิงสาขากำกับภาพยนตร์จาก Mad Max: Fury Road)

* “เราเปิดแชมเปญราคาถูกดื่มฉลองการเข้าชิงไปแล้ว นักทำหนังหลงใหลการได้เป็นศูนย์กลางความสนใจ แต่เราไม่ได้ทำหนังเรื่องนี้เพื่อหวังรางวัล เราทำหนังเรื่องนี้เพื่อคนดูทั่วโลก แต่ก็เป็นเรื่องน่าชื่นใจที่เพื่อนร่วมสายอาชีพของคุณให้การยอมรับในผลงานของคุณ มาร์ค เบอร์ตัน (เข้าชิงสาขาอนิเมชันขนาดยาวจาก Shaun of the Sheep Movie)

* “ผมรู้สึกเหมือนทุกอย่างเวียนมาบรรจบที่จุดเริ่มต้น มันยิ่งใหญ่มากที่ตัวละครซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันให้ผมก้าวหน้าในอาชีพมาตลอดเวลาหลายปีกลายเป็นที่ยอมรับ และสามารถสืบสานตำนานต่อไปยังคนรุ่นหลัง ไรอัน คูเกลอร์ เป็นผู้กำกับที่เปี่ยมพรสวรรค์อย่างไม่ต้องสงสัย ผมรู้สึกประหลาดใจอยู่เหมือนกันเมื่อได้เห็นว่าเขากระตือรือร้นแค่ไหนกับหนังเรื่องนี้ ทั้งที่เขาเพิ่งจะลืมตามาดูโลกได้ไม่นานตอนที่ Rocky IV ออกฉาย ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน (เข้าชิงสาขานักแสดงสมทบชายจาก Creed)

* “ผมหวังว่าการที่หนังเรื่องนี้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์จะช่วยเปลี่ยนทัศนคติของคนทั่วไปเกี่ยวกับ เอมี ไวน์เฮาส์ เพราะบางครั้งเธอถูกมองว่าเป็นตัวปัญหา ผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นด้านที่ฉลาด ตลก และเฉียบคมของเธอ น่าดีใจที่ตอนนี้เธอได้รับความรักมากมาย แต่ก็น่าเศร้าที่ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากเธอเสียชีวิตไปแล้ว” อาซิฟ คาเพเดีย (เข้าชิงสาขาหนังสารคดีขนาดยาวจาก Amy)

* “ถือเป็นวันที่ฉันใช้ร่างกายหนักมาก ฉันเหนื่อยล้าจากการปีนเขาตลอดวันท่ามกลางแดดร้อนของออสเตรเลีย ฉันคิดว่ามันคงเป็นวันที่เหมาะจะรับมือกับข่าวใหญ่แบบนี้ เพราะเวลาร่างกายคุณเหนื่อยอ่อน คุณอาจไม่รู้สึกตื่นเต้นมากนัก แต่ฉันกลับตัวสั่นไปหมด แล้วก็เริ่มน้ำตาไหลตอนเห็นชื่อ เลนนี อับราฮัมซัน เข้าชิงผู้กำกับ เขาคู่ควรอย่างยิ่ง ฉันตื่นเต้นมากที่เห็นชื่อเขาติดหนึ่งในห้าบรี ลาร์สัน (เข้าชิงสาขานักแสดงนำหญิงจาก Room)

* “ผมอยู่ในลอนดอนตอนได้ข่าวดี เราทุ่มเทกันอย่างหนักเพื่อหนังเรื่องนี้ และการเป็นที่ยอมรับของสถาบันมีความหมายอย่างมากสำหรับผมและเหล่าเพื่อนร่วมงาน คืนนี้แชมเปญกับเหล้าจัดเต็มแน่นอน!” อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินนาร์ริตู (เข้าชิงสาขากำกับภาพยนตร์จาก The Revenant)

* “ฉันเพิ่งตื่นนอนและพยายามจะเปิดดูการถ่ายทอดสด แต่พอถึงสาขานักแสดงสมทบหญิง จู่ๆ สัญญาณ wi-fi ของฉันก็ดับ พอเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ฉันรู้สึกประหม่าที่จะกดรับสาย ฉันอยากขอบคุณสถาบันอย่างสุดซึ้งสำหรับเกียรติในครั้งนี้ การมีชื่อเข้าชิงร่วมกับนักแสดงหญิงชั้นยอดเหล่านี้ทำให้ฉันรู้สึกต่ำต้อย การมีส่วนร่วมปลุกปั้น The Danish Girl ให้เป็นภาพโลดแล่นบนจอถือเป็นเหมือนของขวัญล้ำค่า ส่วนการได้เข้าชิงออสการ์คือความน่าตื่นเต้นอย่างที่สุดอลิเซีย วิแคนเดอร์ (เข้าชิงสาขานักแสดงสมทบหญิงจาก The Danish Girl)


Snubs and Surprises

* กรรมการในสายอนิเมชันยังคงแหวกแนวและรักษามาตรฐานรสนิยมอันดีได้อย่างต่อเนื่อง โดยแทนที่จะเสนอชื่อหนังกระแสหลักแบบ The Good Dinosaur และ The Peanuts Movie ให้เข้าชิง พวกเขากลับเลือกอนิเมชันที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักจากบราซิลอย่าง Boy and the World และผลงานของ สตูดิโอ จิบลิ อย่าง When Marnie Was There (เรื่องหลังอาจไม่เซอร์ไพรส์มากนักเนื่องจากจิบลิดูจะเป็นขาประจำบนเวทีออสการ์มาสักพักแล้ว) มาแทนที่

* ถึงแม้ The Walk จะล้มเหลวบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ แต่งานเทคนิคด้านภาพของหนังได้เสียงสรรเสริญแบบทั่วหน้า และหลายคนก็คาดว่าจะได้เห็นชื่อมันบนเวทีออสการ์ แต่สุดท้ายกลับถูกเบียดจนตกรอบโดย Ex Machina หนังอินดี้เล็กๆ ซึ่งกวาดคำชมได้แบบถ้วนทั่วและยังหลุดเข้าชิงในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมอีกด้วย นี่ถือเป็นแนวโน้มที่ดีเมื่อหนังซึ่งขับเคลื่อนด้วยเรื่องราวอันชาญฉลาด แต่ก็มีงานด้านเอฟเฟ็กต์ระดับสุดยอดได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงแทนหนังขายเอฟเฟ็กต์ฟอร์มยักษ์ที่มักจะครองพื้นที่ในสาขานี้มาตลอด

* หลังจากพลาดเข้าชิงรางวัลสำคัญๆ อย่างครบถ้วนทั้งลูกโลกทองคำ SAG หรือแม้กระทั่งรางวัลที่น่าจะเป็นของตายอย่าง BAFTA ในที่สุดออสการ์ก็ตัดสินใจหยิบยื่นโอกาสให้กับ ชาร์ล็อต แรมปลิง (45 Years) ได้เข้าชิงในสาขานำหญิง แม้ว่าการแสดงของเธอจะไม่ค่อยเข้าทางออสการ์มากนัก นี่ถือเป็นอีกครั้งที่ออสการ์เลือกผู้เข้าชิงได้อย่างเปี่ยมรสนิยมเช่นเดียวกับกรณีของ มาริยง โกติยาร์ด (Two Days, One Night) และ เอ็มมานูเอล ริวา (Amour)

* ดูเหมือนว่ากรรมการออสการ์จะไม่ถูกโฉลกกับหนัง ท็อดด์ เฮย์นส์ และนี่ก็เป็นอีกครั้งหลังจาก Far From Heaven ที่หนังของเขาถูกเชิดใส่ในสาขาใหญ่ๆ อย่างหนังยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม แม้ว่าจะกวาดคำชมจากนักวิจารณ์มาครองแบบเป็นเอกฉันท์ (ทั้ง Carol และ Far From Heaven ได้รางวัลสูงสุดจากสมาคมนักวิจารณ์นิวยอร์ก) บางทีหนังของเขาอาจมีความเป็นหญิงมากเกินกว่าเหล่าผู้ชายแก่ผิวขาว ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มใหญ่สุดในสถาบัน จะสามารถเข้าถึงได้ หรือบางที Carol อาจ เลสเบี้ยน เกินไป หรือ เย็นชา เกินไปสำหรับเหล่ากรรมการที่ต้องการความรักแบบชายหญิงและอารมณ์โฉ่งฉ่าง ประเภทบีบน้ำตาเป็นถัง

* หลายคนคาดการณ์ว่า ริดลีย์ สก็อตต์ อาจจะคว้าออสการ์มาครองได้เป็นครั้งแรกจาก The Martian หลังจากเคยเข้าชิงมาแล้วสามครั้ง (Thelma & Louise, Gladiator, Black Hawk Down) จนกระทั่งวันประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงออสการ์ เมื่อเขาถูกแทนที่ด้วย เลนนี อับราฮัมซัน (Room) บางคนตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุสำคัญอาจเป็นเพราะสก็อตต์ถูกมองว่าเป็น มือปืนรับจ้าง มากกว่าจะเป็นคนผลักดันโครงการในแบบเดียวกับ จอร์จ มิลเลอร์ หรือ อเลฮานโดร อินนาร์ริตู และหนังของเขาก็ให้อารมณ์ของผลงานสตูดิโอชั้นยอดมากกว่าจะเกิดจากจินตนาการอันบ้าคลั่งของผู้กำกับ

* กรรมการออสการ์ไม่สนใจความดังของเพลงเมื่อต้องเลือกผู้เข้าชิงในสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ดังจะเห็นได้จากการมองข้ามเพลงยอดฮิตติดชาร์ตอย่าง See You Again จากหนังเรื่อง Furious 7 แถมยังเลือกเพลงที่ดังน้อยกว่าจาก Fifty Shades of Grey ให้เข้าชิงแทนเพลงที่ถูกเปิดกรอกหูคนฟังแทบทุกวันอย่าง Love Me Like You Do

* Crimson Peak อาจไม่ประสบความสำเร็จในแง่การทำเงิน หรือคำวิจารณ์มากเท่าไหร่ แต่ผลงานการออกแบบงานสร้างและเครื่องแต่งกายอันสุดแสนวิจิตร เปี่ยมจินตนาการของหนังเรื่องนี้ถือเป็นความโดดเด่นจนเชื่อกันว่าน่าจะสามารถหลุดเข้าชิงออสการ์ได้ แต่กรรมการออสการ์อาจไม่มีเวลา หรือขี้เกียจเกินกว่าจะดูหนังเรื่องอื่นๆ แล้วสุ่มเลือกเอาจากหนังดังที่ได้เข้าชิงในสาขาใหญ่ๆ อย่าง The Revenant แทน

* สมมุติฐานดังกล่าวอาจนำมาดัดแปลงใช้ได้เช่นกันกับสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม เมื่อ ไอดริส เอลบา (Beasts of No Nation) หลุดจากโผแบบพลิกความคาดหมาย แล้วถูกแทนที่โดยนักแสดงจากหนังในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอย่าง ทอม ฮาร์ดี้ (The Revenant) ซึ่งไม่เคยมีชื่อติดเข้าชิงในสถาบันใดมาก่อน


For the Record

* ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากหนังสือสารคดีของ ไมเคิล ลูอิส ทั้งสามเรื่องล้วนถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขาสูงสูดอย่างครบถ้วน ตั้งแต่ The Blind Side จนถึง Moneyball และ The Big Short โดยสองเรื่องหลังอำนวยการสร้างโดย แบรด พิทท์ ซึ่งทำสถิติได้เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเป็นครั้งที่สาม (เขาควบตำแหน่งอำนวยการสร้างและนำแสดงใน Moneyball) และเคยคว้ารางวัลมาแล้วเมื่อสองปีก่อนจาก 12 Years a Slave

* เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ซึ่งปัจจุบันอายุ 25 ปี ทำสถิติเป็นนักแสดงอายุน้อยที่สุดที่ได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่สี่หลังจาก Winter’s Bones, Silver Linings Playbook และ American Hustle ลบสถิติเดิมของ เจนนิเฟอร์ โจนส์ ซึ่งเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่ 4 ในปี 1947 ขณะอายุได้ 27 ปี น่าสังเกตว่านอกจากทั้งสองจะชื่อเจนนิเฟอร์เหมือนกันแล้ว สถิติดังกล่าวยังเกิดขึ้นได้จากความช่วยเหลือของบุคคลชื่อเดียวกันอีกด้วย โดยกรณีของลอว์เรนซ์ คือ ผู้กำกับคู่ขวัญ เดวิด โอ รัสเซลล์ ซึ่งกำกับหนังสามเรื่องหลังที่เธอได้เข้าชิง ส่วนกรณีของโจนส์ คือ โปรดิวเซอร์ เดวิด โอ. เซลซ์นิค ซึ่งอำนวยการสร้างหนังสองเรื่องที่เธอได้เข้าชิง (Since You Went Away และ Duel in the Sun) โจนส์คว้าออสการ์มาครองจากการเข้าชิงครั้งแรกใน The Song of Bernadette ส่วนครั้งที่สามของเธอเป็นการเข้าชิงจาก Love Letters ความน่าทึ่งของโจนส์ คือ เธอเข้าชิง 4 ปีติดต่อกัน (1944-1947) ก่อนจะได้เข้าชิงเป็นครั้งสุดท้าย (ครั้งที่ 5) ในปี 1956 จากเรื่อง Love Is a Many-Splendored Thing

* จอห์น วิลเลียมส์ หรือ เมอรีล สตรีพ แห่งวงการประพันธ์เพลง ทำลายสถิติที่เขาครองคู่กับ อัลเฟร็ด อี นิวแมน (1900-1970) ด้วยการเข้าชิงในสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมเป็นครั้งที่ 44 เขาเคยชนะมาแล้ว 5 ครั้งจาก Fiddler on the Roof, Jaws, Star Wars, E.T. The Extra-Terrestrial และ Schindler’s List

* Carol กลายเป็นหนังที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงมากที่สุด (6 รางวัล) แต่พลาดเข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยนับจากสถาบันขยายผู้เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สถิติเดิมเป็นการครองตำแหน่งร่วมกันที่ 5 รางวัลของหนังสามเรื่อง คือ The Girl with the Dragon Tattoo, Skyfall และ Foxcatcher ส่วนสถิติสูงสุดย้อนกลับไปถึงยุคที่ออสการ์มีผู้เข้าชิงหนังยอดเยี่ยมแค่ 5 เรื่องยังคงเป็นของ They Shoot Horses Don’t They (1969) ซึ่งเข้าชิงทั้งหมด 9 รางวัล แต่ไม่ใช่สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

* หลังจาก Gone with the Wind หนังเรื่อง Star Wars: The Force Awakens กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลในอเมริกา แต่ไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาสูงสุด ตรงข้ามกับเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่ถือครองสถิติหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลอย่าง The Ten Commandments, The Sound of Music, Jaws, Star Wars, E.T. The Extra-Terrestrial, Titanic และ Avatar เพราะทุกเรื่องล้วนได้เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมทั้งสิ้น

* Mad Max: Fury Road เป็นหนังคนแสดงภาคต่อเรื่องแรกที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมโดยที่หนังภาคก่อนหน้าไม่เคยเข้าชิง อันที่จริง หนังชุด Mad Max ไม่เคยเข้าชิงออสการ์เลยแม้แต่สาขาเดียวจนกระทั่งในปีนี้ ส่วนหนังภาคต่อเรื่องแรกที่ได้เข้าชิงออสการ์ทั้งที่ภาคก่อนหน้าไม่เคยเข้าชิง คือ Toy Story 3 (ภาคแรกของ Toy Story ได้รับออสการ์พิเศษก่อนหน้าที่จะมีการเพิ่มสาขาอนิเมชันยอดเยี่ยม)

ไม่มีความคิดเห็น: