วันอาทิตย์, พฤษภาคม 25, 2557

Nebraska: ร่องรอยในความทรงจำ


ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอธิบายถึงความงดงามของ Nebraska ผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของ อเล็กซานเดอร์ เพย์น ซึ่งยังคงคลุกเคล้าอารมณ์ขันร้ายกาจเข้ากับความจริงอันขมขื่นได้อย่างกลมกลืน ภายใต้โครงสร้างคร่าวๆ ของแนวทาง road movie ที่แทบจะกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของเขาไปแล้ว (นี่ถือเป็นผลงานที่เข้าข่าย road movie เรื่องที่สามของเขาในรอบ 10 ปีหลังจาก About Schmidt และ Sideways) มองในชั้นแรก ความงดงามที่สามารถสัมผัสได้ชัดเจนอยู่ตรงการแสดงอันน่าจดจำของเหล่าดารานำทั้งสาม บทสนทนา ซึ่งลื่นไหลเป็นธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันก็สอดแทรกอารมณ์ขันและความนัยอันเฉียบคมเอาไว้อย่างแนบเนียน รวมไปถึงงานกำกับภาพขาวดำของตากล้อง ฟีดอน ปาปาไมเคิล ที่สวยงาม สื่อความหมาย ทั้งแสงเงาและการจัดองค์ประกอบภาพ ให้อารมณ์คลาสสิก ถวิลหาอดีต (เช่นเดียวกับเทคนิคจางซ้อน หรือกวาดภาพเพื่อเชื่อมโยงช็อต ซึ่งพบเห็นไม่บ่อยนักในหนังยุคปัจจุบันที่นิยมการตัดภาพแบบรวดเร็วฉับไว) สอดคล้องกับเรื่องราวการเดินทางหวนคืนสู่เมืองบ้านเกิดของตัวละครเอก

ทว่าหากมองให้ลึกลงไปแล้ว ความงดงามที่น่าประทับใจสูงสุดของ Nebraska คงเป็นการที่มันเล่าถึงชะตากรรมของครอบครัวๆ หนึ่ง ณ สถานที่อันจำเพาะเจาะจง แต่สุดท้าย ความจริงที่แฝงอยู่ภายในกลับสามารถสร้างอารมณ์ร่วมสากลได้อย่างน่าทึ่ง ทำให้คนดูมองเห็น หรือกระทั่งสัมผัสได้ถึงเศษเสี้ยวบางอย่างในชีวิตจริงของพวกเขาผ่านตัวละครและเรื่องราวที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมา

เช่นเดียวกับคนแก่อีกจำนวนมาก ความดื้อด้านของ วู้ดดี้ แกรนท์ (บรูซ เดิร์น) ดูจะพอกพูนขึ้นตามอายุขัย ขณะที่หลักตรรกะของเขาหลายครั้งก็หลุดโลก จนเราไม่อาจแน่ใจได้ว่ามันเป็นผลจากเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรืออาการเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อมกันแน่ วู้ดดี้คิดว่าตัวเองโชคดีชนะเงินรางวัล 1 ล้านดอลลาร์ ถึงแม้ เดวิด (วิล ฟอร์ท) ลูกชายคนเล็กของเขาจะยืนกรานว่าจดหมายฉบับนั้นเป็นแค่กลโกงโฆษณา เพื่อหวังดึงดูดลูกค้าให้มาสมัครเป็นสมาชิกนิตยสาร วู้ดดี้วางแผนจะเดินเท้าเป็นระยะทาง 750 ไมล์จากเมืองบิลลิงส์ รัฐมอนทานาไปยังเมืองลินคอล์น รัฐเนบราสกา เพื่อเคลมเงินรางวัล แทนการส่งจดหมายตอบกลับไปโดยให้เหตุผลว่า ฉันไม่ไว้ใจไปรษณีย์หรอก เงินตั้งล้านเหรียญและเมื่อลูกชายถามว่าพ่อจะไปยังไง กระเป๋าเดินทางก็ไม่มี คำตอบที่ได้กลับมา คือ ก็ฉันไม่ได้จะไปอยู่ที่นั่นนี่

ตำรวจพาวู้ดดี้ไปยังสถานี หลังจากพบชายชรากำลังเดินดุ่มๆ อยู่บนทางหลวงเส้นหนึ่ง พร้อมกับโทรแจ้งสมาชิกครอบครัวให้มารับตัวกลับไป เคท (จูน สควิบบ์) ภรรยาของวู้ดดี้ที่สติปัญญายังเฉียบคมพอๆ กับฝีปาก ต้อนรับการกลับมาของสามีด้วยเสียงก่นด่า ก่อนตบท้ายด้วยการเทศน์สัจธรรมว่า ไม่ยักกะรู้อีตานี่อยากเป็นเศรษฐีเงินล้านกับเขาด้วย น่าจะคิดได้ตั้งนานแล้ว และตั้งหน้าตั้งตาทำงานเก็บเงินเธอมีบุคลิกตรงกันข้ามกับสามีที่มักจะสงวนคำพูดและเก็บงำความรู้สึกจนไม่น่าเชื่อว่าทั้งสองจะอยู่กินด้วยกันได้เนิ่นนานหลายสิบปี พฤติกรรมปากปลาร้าของเคทกลายเป็นขุมทองสำหรับเรียกเสียงหัวเราะจากคนดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเธอพูดถึงเรื่องเซ็กซ์อย่างตรงไปตรงมา ขัดกับลักษณะภายนอกที่ดูเหมือนคุณยายใจดี น่ารัก น่ากอด แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปเรื่อยๆ คนดูก็พลันตระหนักว่าวู้ดดี้ต้องการคู่ครองเข้มแข็งแบบเคท ซึ่งมักจะคอยออกโรง เป็นปากเป็นเสียงให้กับชายผู้ ปฏิเสธใครไม่เป็นจนเป็นเหตุให้เขาถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนรอบข้าม ดังจะเห็นได้จากฉากที่เคทสวนกลับบรรดาแร้งร่วมสายเลือด ซึ่งมารุมทวงบุญคุณวู้ดดี้ หลังตาแก่ดันเผลอคุยโวว่าตัวเองกำลังจะเป็นเศรษฐีเงินล้านให้อดีตหุ้นส่วนอู่ซ่อมรถฟัง เอ็ด เพแกรม (สเตซี คีช) จนข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วเมืองภายในชั่วข้ามคืน

ขณะที่ชีวิตส่วนตัวกำลังล่มสลาย ส่วนหน้าที่การงานก็ไม่ก้าวหน้าไปไหน เดวิดจึงตัดสินใจอาสาพาพ่อไป เคลมเงินรางวัล ที่เมืองลินคอล์น ส่วนหนึ่งก็เพื่อจะหุบปากตาแก่ให้เลิกเพ้อถึงเงินล้าน อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อจะได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกับพ่อในช่วงบั้นปลายชีวิต ขณะที่เขายังพอจะพูดจาสื่อสารกันรู้เรื่อง แต่ระหว่างทางดันเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อย ส่งผลให้ทั้งสองได้แวะไปเยี่ยมเมืองฮอร์ธอร์น บ้านเกิดของวู้ดดี้ และที่นั่นเอง เดวิดก็ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับชีวิตในอดีตของพ่อเขา เช่น การไปร่วมรบในสงครามเกาหลี ซึ่งมีส่วนทำให้เขาเริ่มดื่มเหล้าหนัก (นอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าชีวิตในเมืองบ้านนอกเล็กๆ ไม่มีอะไรอย่างอื่นให้ทำมากนัก รวมถึงความยากลำบากของการประคับประคองชีวิตแต่งงาน เป็นแกก็คงติดเหล้าถ้าต้องแต่งงานอยู่กินกับผู้หญิงแบบแม่ของแกวู้ดดี้บอกลูกชาย) ได้รู้จักกับ  เพ็ก เบนเดอร์ (แองเจลา แม็กอีแวน) แฟนเก่าของวู้ดดี้ ซึ่งมีบุคลิกอ่อนหวาน อ่อนโยน และสุภาพเรียบร้อย (ตรงกันข้ามกับเคทอย่างสิ้นเชิง) และสุดท้าย คือ ได้รับรู้ความลับเกี่ยวกับคบชู้ของพ่อเขาตั้งแต่สมัยที่เดวิดยังไม่ลืมตาขึ้นมาดูโลกด้วยซ้ำ

หากเป็นในหนังเรื่องอื่น หรือในมือของผู้กำกับคนอื่น ข้อมูลเหล่านี้อาจถูกนำมาใช้เร้าอารมณ์ดรามา หรือเบิกทางสู่ขั้นตอนไถ่บาปของตัวละคร ตลอดจนการปรับความเข้าใจกันระหว่างพ่อกับลูก แต่ Nebraska กลับเลือกจะนำเสนอแบบผ่านๆ ไม่ได้บีบเค้นใดๆ พวกมันไม่ได้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนพล็อต แต่ช่วยให้คนดูเข้าใจตัวละครในมิติที่กว้างขึ้น รอบด้านขึ้น วู้ดดี้ยังคงเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง ยังคงเป็นพ่อขี้เหล้าที่ไม่เคยใส่ใจความเป็นอยู่ของลูกๆ และไม่มีทีท่าว่าอยากเปลี่ยนแปลง หรือบางทีอาจสายเกินกว่าจะเปลี่ยนแปลง แต่หลังจากช่วงเวลานี้ของชีวิตผ่านไป อย่างน้อยเดวิด (และคนดู) ก็ได้รู้จักตาแก่วู้ดดี้มากขึ้น ได้รู้ว่าเขาถูกหล่อหลอมมาจากประสบการณ์แบบใด ในโลกแบบใด ซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างอย่างมากจากโลกที่ลูกชายของเขาเติบโตขึ้นมา

บทสนทนาระหว่างพ่อลูกในบาร์เหล้าดูจะสะท้อนความจริงดังกล่าวอยู่ไม่น้อย เมื่อลูกชายถามพ่อว่าทำไมถึงแต่งงานกับแม่ (“ก็แม่แกอยากแต่ง”) และทำไมถึงตัดสินใจมีลูก (“ก็ฉันชอบมีเซ็กซ์ และแม่แกเป็นคาทอลิก”) คำตอบของวู้ดดี้ ซึ่งตรงไปมาตรงมา ปราศจากกลิ่นอายแห่งอารมณ์อ่อนไหว หรือความโรแมนติกใดๆ ไม่เพียงทำหน้าที่ในการสร้างอารมณ์ขันอย่างได้ผลเท่านั้น (ตัวลูกชายคงหวังว่าจะได้รับฟังคำสอนอันมีประโยชน์เกี่ยวกับความรัก ความสัมพันธ์ หรือเรื่องเล่าอันจับใจที่จะช่วยฟื้นคืนศรัทธาในรักแท้จากคนเป็นพ่อ) แต่ยังช่วยตอกย้ำช่องว่างให้เห็นเด่นชัดระหว่างคนสองคน สังคมสองแบบ โลกสองใบ กล่าวคือ เดวิดต้องแยกทางกับแฟนสาว โนเอล (มิสซี ด็อตตี้) หลังจากอยู่ร่วมชายคาเดียวกันมาสองปี เพราะชายหนุ่มไม่คิดจะเดินหน้าความสัมพันธ์ไปไหนด้วยข้ออ้างว่า เขาไม่แน่ใจว่ามันเป็นความรักหรือไม่ และคนๆ นี้ใช่คนที่เขาอยากจะอยู่ด้วยไปตลอดชีวิตหรือไม่ การเติบโตมาในเมือง ตลอดจนสภาพสังคมที่ซับซ้อนขึ้นส่งผลให้เดวิดอดไม่ได้ที่จะคิดทบทวนหลายตลบเกี่ยวกับการลงหลักปักฐาน เลือกคู่ชีวิต และมีทายาทสืบสกุล ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะออกอาการช็อกเล็กน้อย เมื่อพบว่าพ่อตัวเองแต่งงานมีลูกมีเต้าโดยไม่ได้คิดใคร่ครวญถึงเรื่องความรักใดๆ ด้วยซ้ำ แถมยังนึกอยากจะหย่าขาดวันละหลายรอบ

อย่างไรก็ตาม ประโยคสำคัญอยู่ตรงที่วู้ดดี้ตบท้ายว่า มันอาจเลวร้ายกว่านี้ก็ได้ เพราะถึงที่สุดแล้ว แม้เคทจะเป็นผู้หญิงปากร้าย เจ้ากี้เจ้าการ แต่เธอก็ต้องอดทนกับพฤติกรรมขี้เหล้าของวู้ดดี้มาตลอดหลายปี เธออาจจะชอบก่นด่าความโง่เง่า ดื้อรั้นของสามีอยู่ทุกวี่ทุกวัน แต่ในฉากโรงพยาบาลช่วงท้ายเรื่อง ท่าทีที่เธอจัดแต่งผมให้วู้ดดี้ ก่อนจะบรรจงจูบลาสามีก็บ่งบอกชัดเจนว่าชีวิตสมรสของพวกเขาหาได้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงไม่ และยังมีสายใยความผูกพัน ห่วงหาอาทรซุกซ่อนอยู่ภายใต้พฤติกรรมอันแข็งกระด้าง

อดีตและความทรงจำล่องลอยอยู่ในหนังตลอดทั้งเรื่อง โดยไฮไลท์คงเป็นตอนที่ครอบครัวแกรนท์เดินทางไปเยี่ยมบ้านไร่หลังเก่าของวู้ดดี้ ซึ่งพ่อของเขากับบรรดาพี่น้องสร้างขึ้นเองกับมือ แต่ตอนนี้กลับอยู่ในสภาพรกร้าง ทรุดโทรม ไม่ต่างจากผู้มาเยือน กล้องตามติดเหล่าตัวละครไปสำรวจตามห้องต่างๆ อย่างอ้อยอิ่ง จากบานหน้าต่างที่ผุพัง ไปยังเก้าอี้ไม้ขาหัก พร้อมกับเสียงบอกเล่าถึงซากตกค้างจากความทรงจำ เช่น เมื่อวู้ดดี้พูดขึ้นว่า นี่เป็นห้องนอนของปู่กับย่า พ่อจะโดนเฆี่ยนถ้าถูกจับได้ว่าแอบเข้ามา แต่ตอนนี้ไม่เหลือใครที่จะมาเฆี่ยนพ่อแล้ว

ความน่าเศร้าไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเวลาที่ผันผ่าน ล่วงเลย ไม่อาจหวนคืน หรือภาพจินตนาการถึงวัยเด็กอันทุกข์ยากของวู้ดดี้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการตระหนักในท้ายที่สุดว่าวู้ดดี้นั้นก็ไม่ต่างจากบ้านไร่หลังเก่า หรือเมืองเกษตรกรรมอย่างฮอร์ธอร์น ที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรือง เปี่ยมชีวิตชีวา และปัจจุบันถูกทิ้งร้าง ทรุดโทรม แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังคงยืนหยัดอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย โรงนายังไม่พัง” (The barn is still standing) เขากล่าวขณะมองออกไปนอกหน้าต่าง ฟังเผินๆ มันอาจเป็นแค่ประโยคบอกเล่าลอยๆ ถึงโรงนาอันเป็นรูปธรรม แม้โดยนัยยะแล้ว คำว่า still standing ยังสามารถกินความหมายครอบคลุมไปถึงตัวละครในวัยชราได้อีกด้วย จริงอยู่ว่าสมองของเขาอาจไม่เฉียบคมเหมือนก่อน ความจำของเขาอาจเลอะเลือน พร่ามัว ร่างกายของเขาอาจอ่อนระโหยโรยแรง แข้งขาก็กะโผลกกะเผลก แต่สุดท้ายแล้วเขายังคงยืนหยัดอยู่ ไม่ได้สูญสลายหายไป... อย่างน้อยก็ในเวลานี้

 และบางทีนั่นเองเป็นเหตุผลว่าทำไมวู้ดดี้ถึงอยากได้รางวัลเงินล้าน มันไม่ใช่ความโลภ หวังจะรวยตอนแก่ หรือแค่อยากได้รถกระบะคันใหม่เสียทีเดียว แต่เป็นเพราะเขาต้องการจะเหลืออะไรบางอย่างเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึง นอกเหนือไปจากความทรงจำเกี่ยวกับพ่อขี้เหล้าที่ไม่ใส่ใจลูกๆ ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าวู้ดดี้ไม่ได้ชนะรางวัลเงินล้านจริงๆ (แน่ล่ะ นี่เป็นหนังของ อเล็กซานเดอร์ เพย์น ซึ่งอ้างอิงกับโลกแห่งความเป็นจริง) เดวิดจึงตัดสินใจซื้อรถกระบะคันใหม่ให้พ่อ อ้างว่ามันเป็นเหมือนรางวัลปลอบใจของทางบริษัท เพื่อให้พ่อของเขาได้ขับรถออกจากเมืองบ้านเกิดในฐานะผู้ชนะ รถกระบะของเดวิดก็เปรียบเสมือนภูเขารัชมอร์ ที่สองพ่อลูกแวะไปเยี่ยมเยียนระหว่างทาง สร้างขึ้นโดยคนรุ่นหลังเพื่อสดุดีแด่คนรุ่นก่อนหน้า มันอาจจะไม่สมบูรณ์พร้อมเช่นเดียวกัน (“ลินคอล์นไม่มีหูด้วยซ้ำวู้ดดี้ตั้งข้อสังเกต) เพราะเราต่างตระหนักดีว่าวู้ดดี้ไม่ได้ชนะเงินรางวัลจริง แต่ก็งดงามในแง่เจตนารมณ์

ความรู้สึกดีๆ ในฉากจบของ Nebraska ไม่ได้เกิดจากการแก้แค้นของวู้ดดี้ หรือความสุขสมหวังของตัวละครใดๆ (ปัญหาในชีวิตของเดวิดไม่ได้รับการคลี่คลาย และคงจะดำเนินต่อไป ส่วนสภาพร่างกายของวู้ดดี้ก็คงมีแต่จะทรุดโทรมลงจนวันหนึ่งอาจจดจำอะไรไม่ได้อีก) หากเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่า ถึงแม้วู้ดดี้จะไม่ได้ชนะรางวัลเป็นตัวเงิน แต่อย่างน้อยการเดินทางไปยังเมืองลินคอล์นก็ไม่ได้สูญเปล่าเสียทีเดียว และแววตาที่ลูกชายเหลือบมองพ่อขณะพ่อของเขาขับรถกระบะคันใหม่เอี่ยมตัดผ่านตัวเมืองฮอร์ธอร์นก็บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่ารางวัลที่พวกเขาได้รับนั้นมีค่ามากกว่าเงินล้านเสียอีก

ไม่มีความคิดเห็น: