วันอาทิตย์, มีนาคม 16, 2557

Short Comment: All Is Lost


ผลงานกำกับชิ้นที่สองของ เจ. ซี. แชนดอร์ เรียกได้ว่าเป็นการพลิกตลบไปยังทิศทางตรงข้ามกับผลงานชิ้นแรกของเขาเรื่อง Margin Call (2011) ซึ่งเล่าถึงวิกฤติของสถาบันการเงินแห่งหนึ่งจนนำไปสู่การล่มสลายทั้งระบบในระหว่างช่วงปี 2007-2008 ผ่านบทสนทนาอันเฉียบคมและการแสดงชั้นยอดของทีมดาราเกรดเอชุดใหญ่ ทั้งนี้เพราะ All Is Lost ใช้นักแสดงแค่คนเดียว (แต่เป็นคนที่สั่งสมประสบการณ์และชื่อเสียงมานานจนกลายเป็นตำนานฮอลลีวู้ด) โดยปราศจากพล็อต หรือกระทั่งบทสนทนา (นอกเหนือจากเสียงวอยซ์โอเวอร์ในฉากเปิดเรื่องแล้ว หนังมีบทพูดเพียงเล็กน้อย และหนึ่งคำสบถซึ่งมาได้ถูกที่ถูกเวลา) เพื่อเล่าถึงวิบากกรรมเรือแตกของตัวละครที่คนดูไม่รู้จักชื่อเสียงเรียงนามกับความพยายามดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดของเขาท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันโหดร้าย ความคล้ายคลึงกันเพียงอย่างเดียวของหนังทั้งสองเรื่อง คือ ฉากหลังอันปิดกั้น จำกัดพื้นที่ กล่าวคือ เรื่องแรกดำเนินเหตุการณ์ส่วนใหญ่ในห้องทำงาน/ห้องประชุม ส่วนเรื่องหลังแม้โดยรูปธรรมแล้วจะเปิดกว้าง เป็นอิสระกว่า (มหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาล) แต่โดยนัยยะ หรือในเชิงการเล่าเรื่องแล้วกลับให้อารมณ์ติดกับ อึดอัด และกดดันที่หนักข้อกว่า เนื่องจากหนังปฏิเสธที่จะใช้การตัดภาพแฟลชแบ็คใดๆ ทำให้ตลอดเวลาเกือบสองชั่วโมง คนดูต้อง อยู่กับตัวละครและหายนะที่เขากำลังเผชิญตลอดเวลา

น่าสนใจตรงที่แชนดอร์เชื่อมโยงถึงบทวิพากษ์ทุนนิยมและความฝันอเมริกันใน Margin Call ด้วย ผ่านรายละเอียดที่ว่าตัวการซึ่งทำให้เรือแตก ได้แก่ ตู้คอนเทนเนอร์จากเรือเดินสมุทรภายในบรรจุรองเท้าผ้าใบจำนวนมหาศาล ขณะเดียวกัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า พระเอกของเรา (โรเบิร์ต เรดฟอร์ด) เป็นชายชราฐานะดี (เมื่อสังเกตจากสภาพของเรือสำราญ) ที่บรรลุปลายทางแห่งความฝันอเมริกัน แต่กลับเลือกจะละทิ้งทุกอย่างเพื่อมาล่องเรือเพียงลำพังกลางมหาสมุทร ในช่วงต้นเรื่องคนดูจะได้ยินเสียงพูดของเขา (ซึ่งในเวลาต่อมาสามารถอนุมานได้ว่ามันคงเป็นจดหมายที่เขาเขียนใส่ในขวด) กล่าวขอโทษใครบางคน พร้อมกับบอกว่าตนได้พยายามจนถึงที่สุดแล้ว ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “…ทุกอย่างสูญสิ้น นอกจากร่างกายและจิตวิญญาณ หรือซากผุกร่อนที่เหลืออยู่ของพวกมัน...มองในแง่การเล่าเรื่อง ประโยคดังกล่าวอาจสะท้อนถึงสภาวะใกล้ตาย ไร้ทางออกของตัวละคร เมื่ออาหารเหลืออยู่เพียงน้อยนิด เช่นเดียวกับเรี่ยวแรง น้ำดื่ม ตลอดจนความหวังว่าจะมีใครมาช่วยเหลือ แต่ในเวลาเดียวกันก็อาจแสดงนัยยะถึงแก่นของชีวิต ซึ่งเมื่อถูกปลดเปลื้องจากวัตถุสิ้นเปลือง ฟุ้งเฟ้อ ทั้งหลายแล้ว ก็เหลือเพียงลมหายใจและเจตจำนงที่จะดำรงอยู่

หนังดูเหมือนจะไม่เชื่อในหลักจิตวิทยา รวมถึงทักษะการเล่าเรื่องเพื่อเร้าอารมณ์แบบคลาสสิก เพราะคนดูไม่อาจตระหนักได้ว่าตัวละครต่อสู้เพื่ออะไร หรือมีอะไรรอเขาอยู่หรือไม่ ซึ่งคุ้มค่าพอให้ต่อสู้ ดิ้นรน เราไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเขามีครอบครัว คนรัก หรือกระทั่งเพื่อนสนิทสักคนไหม เพราะข้อความในจดหมายของเขาดูจงใจที่จะไม่ระบุตัวบุคคลชัดเจนและเลือกใช้คำกลางๆ ว่า คุณ ด้วยเหตุนี้ พระเอกของเราจึงให้ความรู้สึกเหมือนสัญลักษณ์แทน ตัวเราเจตจำนงที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปของเขาถือกำเนิดขึ้นจากระดับสัญชาตญาณ จากจิตสำนึกที่จะเอาตัวรอดของมนุษย์ ซึ่งบางครั้งก็น่าตื่นตะลึง เมื่อพิจารณาว่าตัวละครต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ทรมานมากแค่ไหน แต่สุดท้ายแล้วก็ยังมีแรงขับให้ยึดเหนี่ยวความหวังไว้จนกระทั่งนาทีสุดท้าย

ฉากจบของ All Is Lost ยิ่งเชื่อมโยงมันให้ใกล้เคียงกับหนังเรื่อง Gravity ซึ่งมีรูปแบบการทดลองในเชิงการเล่าเรื่องลักษณะเดียวกัน เพียงแต่ผลงานกำกับของ อัลฟอนโซ คัวรอน อาจจะไม่เดินทางไปสุดโต่งเท่า เมื่อตัวละครประกาศยอมจำนนต่อชะตากรรม หลังจากตระหนักว่าเขาคงต้องจบชีวิตลงตรงนี้แน่นอนแล้ว เพราะไม่เหลือทางออก หรือตัวเลือกใดๆ อีกแล้ว ทุกอย่างสูญสิ้น แม้กระทั่งแพยางที่เป็นแหล่งพักพิงสุดท้าย เขาได้พยายามทุกอย่างจนเต็มความสามารถแล้ว แต่ขณะจมดิ่งลงสู่อ้อมกอดของน้ำทะเล อะไรบางอย่างได้กระตุ้นให้เขาลืมตาขึ้นมองไปยังผิวน้ำอีกครั้ง เช่นเดียวกับที่มันกระตุ้นให้ ดร. ไรอัน สโตน (แซนดร้า บูลล็อค) มองเห็นทางสว่างในรูปของ แม็ท โควัลสกี้ (จอร์จ คลูนีย์) และบางสิ่งบางอย่างนั้นเองที่มอบคุณค่าให้กับชีวิตมนุษย์

ไม่มีความคิดเห็น: