Dallas
Buyers Club
ผู้กำกับ
ฌอง-มาร์ก วาลี รีบเตือนผู้ชมแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ชื่อหนังจะฉายขึ้นบนจอเสียด้วยซ้ำ
ว่า Dallas Buyers Club ไม่ใช่หนังสำหรับแฟนๆ ผู้ชื่นชอบ แม็ทธิว
แม็คคอนาเฮย์ คนเดิมจากผลงานอย่าง How to Lose a Guy in 10 Days เพราะตั้งแต่ฉากแรกเขาก็ปรากฏกายในสภาพผอมกะหร่อง กำลังมีเซ็กซ์ฉาบฉวยกับผู้หญิงที่ดูเหมือนโสเภณี
พลางเฝ้ามองการขี่วัวกระทิงท่ามกลางเสียงอึกทึกรอบข้างและเสียงพ่นลมหายใจของวัว
เขารับบทเป็น รอน วู้ดรูฟ ช่างไฟฟ้าชาวเท็กซัสที่เสพติดเซ็กซ์และโคเคนอย่างหนัก
จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดค้นพบว่าตัวเองติดเชื้อ HIV ซึ่งในขณะนั้น
(ค.ศ. 1985) ยังเป็นโรคใหม่ที่แพร่หลายในหมู่คนรักร่วมเพศ
แพทย์วินิจฉัยว่าเขามีเวลาเหลือแค่ 30 วันเท่านั้น แต่รอนก็ไม่ยอมแพ้ เขาหาข้อมูล ดิ้นรนค้นหายาทางเลือกต่างๆ
จากทั่วโลก จนกระทั่งค้นพบหนทางที่จะช่วยเหลือตัวเขา (รวมถึงผู้ป่วยอีกจำนวนมาก)
ให้มีชีวิตยืนยาวได้อีกนานหลายปี
ความจริงโครงการสร้างหนังเรื่องนี้ก็ล้มลุกคลุกคลานไม่ต่างจากวู้ดรูฟกว่าจะเจอแสงสว่างที่ปลายทาง
โดยกินเวลานานกว่าสองทศวรรษนับแต่คนเขียนบท เครก บอร์เทน ได้อ่านบทความเกี่ยวกับรอนในปี
1992 แต่เดิมโครงการเคยจะกลายเป็นรูปเป็นร่างครั้งหนึ่งแล้วในช่วงกลางทศวรรษ 90
โดยมี เดนนิส ฮ็อปเปอร์ นั่งเก้าอี้ผู้กำกับ และ วู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน รับบทนำเป็นวู้ดรูฟ
กระทั่งเมื่อ ร็อบบี้ เบรนเนอร์ ตกลงใจรับหน้าที่โปรดิวเซอร์ในปี 1996 หนังก็ยังประสบปัญหาเปลี่ยนทีมดารา-ผู้กำกับจนนับครั้งไม่ถ้วน
จาก มาร์ค ฟอร์สเตอร์-แบรด พิทท์ เป็น เครก กิลเลสไพ-ไรอัส กอสลิง “เราถูกปฏิเสธราว 87 ครั้งได้”
เบรนเนอร์เล่า “พวกเขาบอกว่าเอดส์ไม่ใช่ประเด็นฮอตฮิตอีกต่อไปแล้ว
มันเป็นหนังย้อนยุค บทหนังยอดมากเลย แต่มันถูกดองไว้นานเกินไป”
ตอนที่วาลีตกลงใจมากำกับหนัง
เขาไม่ค่อยแน่ใจนักกับการมอบบทนำให้ “หนุ่มรูปหล่อกล้ามใหญ่”
อย่างแม็คคอนาเฮย์ แต่หลังจากได้พูดคุยกัน
วาลีจึงพบว่าแม็คคอนาเฮย์กำลังกระตือรือร้นที่จะสลัดภาพลักษณ์ของตัวเองให้หลุดจากหนังแนวตลก-โรแมนติกไปสู่บทบาทแนวอื่นที่ท้าทายกว่า วาลีขอใช้เวลา 1 ปีในการขัดเกลาบท
ขณะแม็คคอนาเฮย์ลดน้ำหนักลงจากเดิม 40 กก.
เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับงานแสดงครั้งสำคัญ แต่วิบากกรรมยังไม่จบลงแค่นั้น เพราะ 6
สัปดาห์ก่อนเปิดกล้อง จู่ๆ นายทุนก็เกิดตื่นตระหนกและถอนตัวกะทันหัน
ฉะนั้นจากเดิมที่หนังจะได้เงินทุนทั้งหมด 8 ล้านเหรียญสำหรับการถ่ายทำ 40 วัน ทุกอย่างจึงถูกลดลงครึ่งหนึ่ง
หลังเบรนเนอร์กระเสือกกระสนหานายทุนรายใหม่มาได้ในนาทีสุดท้าย ระหว่างการถ่ายทำทีมงานต้องขวนขวายแก้ปัญหากันรายวันโดยอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้าน
เช่น จุดเทียน 150 เล่มในฉากบาร์เต้นระบำเปลื้องผ้าแทนการเช่าไฟราคาแพง สุดท้ายหนังใช้เวลาถ่ายทำทั้งสิ้น
25 วัน “ฉันไม่เคยถ่ายหนังเรื่องไหนเสร็จไวขนาดนี้มาก่อน”
เจนนิเฟอร์ การ์เนอร์ ซึ่งรับบทเป็นหมอที่คอยช่วยเหลือวู้ดรูฟ กล่าว
สิ่งที่ช่วยยกระดับให้
Dallas
Buyers Club ทรงพลังเกินหน้าหนังที่สร้างออกฉายทางช่องเคเบิล
นอกเหนือจากงานแสดงระดับสุดยอดของเหล่าดารานำแล้ว ได้แก่ การกำกับของผู้กำกับ ฌอง-มาร์ก วาลี ที่ไม่เน้นบีบคั้นอารมณ์ แต่ก็ยังรักษาระดับความเข้มข้นของเรื่องราวเอาไว้ได้อย่างพอเหมาะ
โดยไม่ลืมที่จะสอดแทรกอารมณ์ขันแบบถูกที่ถูกเวลา
ซึ่งแม็คคอนาเฮย์ได้ยกตัวอย่างเอาไว้สองฉาก “ฉากที่รอนมีเซ็กซ์หลังจากรู้ว่าตัวเองติดเชื้อ
HIV อาจถูกบิลด์ให้เป็นดรามาได้ แต่สุดท้ายมันดูตลกขบขันเพราะฌอง-มาร์กตัดไปยังภาพผู้คนกำลังแอบฟัง เช่นเดียวกับฉากที่รอนช่วยตัวเอง
ซึ่งกล้องค่อยๆ แพนจากภาพโป๊ผู้หญิงไปเป็นภาพของ มาร์ค โบแลน
ที่เรยอนติดไว้บนฝาผนัง ตอนนั้นตัวละครอาจห่างไกลจากภาวะเกลียดกะเทยแบบช่วงต้นเรื่องแล้วก็จริง
แต่ภาพดังกล่าวยังคงสามารถทำให้เขาหมดอารมณ์ได้ง่ายๆ อารมณ์ขันของฌอง-มาร์กค่อนข้างย่อยง่าย
แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ทำลายความจริงจังของโทนหนังโดยรวม”
The
Wolf of Wall Street
หากมองในแง่ของการเป็นหนังตลกล้อเลียนแล้ว
The
Wolf of Wall Street มีลักษณะใกล้เคียงกับผลงานคลาสสิกอย่าง Catch-22 และ Dr. Strangelove: How I Learned to Stop Worrying and
Love the Bomb ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการนำเอาประเด็นหนักหน่วง มืดหม่น
มานำเสนอในลักษณะเสียดสี เน้นความตลกขบขันและเกินเลยความเป็นจริง โดยผลงานกำกับเรื่องล่าสุดเป็นเหมือนปฏิกิริยาของ
มาร์ติน สกอร์เซซี ต่อวิกฤติทางการเงินในปี 2008 เล่าถึงการพุ่งทะยานขึ้นสู่สถานะมหาเศรษฐีของ
จอร์แดน เบลฟอร์ท โบรกเกอร์ตลาดหุ้นที่ต้องออกมาเตะฝุ่นอยู่พักหนึ่งหลังจาก วอล
สตรีท ดำดิ่งสู่หุบเหวในปี 1989 แต่เบลฟอร์ทไม่เคยหยุดฝันที่จะร่ำรวย
จึงเปิดบริษัทซื้อขายหุ้นในโรงจอดรถเก่าๆ แล้วก้าวสู่ความรุ่งโรจน์ภายในเวลาชั่วข้ามคืนด้วยการหลอกขายหุ้นชั้นเลวให้กับนักลงทุนมือใหม่
โครงการสร้างหนังเริ่มต้นเมื่อ
เทอเรนซ์ วินเทอร์ ได้รับต้นฉบับหนังสืออัตชีวประวัติของ จอร์แดน เบลฟอร์ท ชื่อ The Wolf of
Wall Street เมื่อปี 2007 ซึ่งเขานั่งอ่านชนิดรวดเดียวจบ “ผมไม่อยากเชื่อว่าคนที่เขียนหนังสือเล่มนี้ยังมีชีวิตอยู่” วินเทอร์กล่าว เขาส่งต้นฉบับดังกล่าวต่อไปยัง ลีโอนาร์โอ ดิคาปริโอ ซึ่งก็รู้สึกแบบเดียวกันหลังจากอ่านจบ
ก่อนจะนำไปเสนอให้สกอร์เซซี ที่นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหารของซีรีย์ HBO
ชุด Boardwalk Empire ซึ่งวินเทอร์เป็นหนึ่งในทีมเขียนบท
หลังจากนั้นทุกอย่างก็เดินหน้าอย่างรวดเร็ว “มาร์ตี้สนใจอยากจะดัดแปลงมันเป็นหนัง”
เอ็มมา ทิลลิงเกอร์ คอสคอฟฟ์ โปรดิวเซอร์ที่ร่วมงานกับสกอร์เซซีมาแล้วห้าครั้ง
รวมถึงหนังรางวัลออสการ์เรื่อง The Departed กล่าว “เขามองว่ามันเป็นเรื่องราวที่เหมาะจะนำมาทำเป็นหนังตลกร้าย”
สำหรับวินเทอร์ความท้าทายอย่างหนึ่งระหว่างขั้นตอนการเขียนบท
คือ จะทำอย่างไรให้ผู้ชมสนใจเรื่องราวของตัวละครที่ประพฤติชั่วจนยากจะให้อภัยแบบเบลฟอร์ท
ทางออกของเขาน่ะเหรอ “มันเป็นการตัดสินใจโดยใช้สัญชาตญาณ
ผมเลือกให้จอร์แดนบอกเล่าเรื่องราวกับคนดูโดยตรงเหมือนเขากำลังขายของให้คุณ
คนดูจะไม่เห็นคนที่ปลายสายโทรศัพท์
เพราะโดยหลักการแล้วคนดูก็คือคนที่ปลายสายนั่นเอง เมื่อหนังดำเนินไปพวกเขาจะรู้สึกเหมือนได้หัวเราะไปกับเบลฟอร์ด
และกระทั่งชื่นชมคุณสมบัติบางอย่างในตัวเขา แต่พอทุกอย่างเริ่มเอนเข้าหาด้านมืดมากขึ้นเรื่อยๆ
คนดูก็จะพลันตระหนักว่า ‘คุณพระช่วย เรากำลังโดนหลอกขายของแบบเดียวกับเหยื่อพวกนั้น!’
”
ถึงแม้บทของวินเทอร์จะเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาและอารมณ์ขันร้ายกาจ
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายฉากในหนังเกิดขึ้นจากการอิมโพรไวส์ระหว่างถ่ายทำ
หนึ่งในนั้น คือ ฉากทุบอกของ แม็ทธิว แม็คคอนาเฮย์ ที่ปรากฏอยู่ในหนังตัวอย่าง “ก่อนเข้าฉากผมจะชอบทุบอกแบบนั้นเพื่อช่วยผ่อนคลาย” แม็คคอนาเฮย์เล่าถึงที่มา “ผมต้องเข้าฉากกับลีโอนาร์โดในหนังของ
มาร์ติน สกอร์เซซี หลังจากทีมงานถ่ายทำกันไปพักใหญ่แล้ว ทุกอย่างดำเนินมาอย่างราบรื่น
ผมจำเป็นต้องผ่อนคลายตัวเอง เช่นเดียวกับตัวละครที่ผมเล่นในฉากนั้น เลยจะทุบอกตัวเองทุกครั้งก่อนเริ่มเทคใหม่
หลังจากผ่านไปห้าเทค ผมแฮ็ปปี้ มาร์ตินแฮ็ปปี้ เราเลยสรุปกันว่าจะเปลี่ยนไปถ่ายฉากต่อไป
จนกระทั่งจู่ๆ ลีโอนาร์โดก็ยกมือขึ้นแล้วพูดว่า ‘เดี๋ยวนะ
มาร์ตี้’ จากนั้นก็หันมาถามว่าผมทุบอกแบบนั้นทำไม ผมอธิบายว่ามันเป็นวิธีที่ช่วยให้ผมผ่อนคลาย
เขาเลยพูดขึ้นว่า ‘ทำมันในฉากสิ!’ ฉะนั้นเทคถัดมาเราจึงใส่ท่าทุบอกลงไป
ผมไม่คิดว่ามันจะกลายเป็นฉากที่ใครๆ ก็จำได้”
ขั้นตอนการถ่ายทำดูเหมือนจะผ่านพ้นไปอย่างราบรื่น
จนกระทั่ง Paramount แจ้งว่าพวกเขาต้องการให้หนังเข้าฉายให้ทันก่อนสิ้นปี หลังจากนั้นภาระหนักจึงตกอยู่กับ
เทลมา ชูเมคเกอร์ มือตัดต่อคู่ใจของสกอร์เซซีตลอดเวลา 50 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากหนังเวอร์ชั่นแรกมีความยาวมากถึง 4 ชั่วโมง “เราต้องเร่งงานแข่งกับเวลา” มือตัดต่อระดับตำนานวัย 73 ปีกล่าว “แต่โชคดีที่เราไม่จำเป็นต้องยกฉากใดออกทั้งฉาก... แค่เกลามันให้สั้นลง”
Gravity
ท่ามกลางความสำเร็จระดับปรากฏการณ์ทั้งในแง่การทำเงินและคำวิจารณ์
สิ่งหนึ่งที่กระตุ้นให้ผู้กำกับ อัลฟอนโซ คัวรอน รู้สึกยินดีปรีดามากที่สุด คือ
ข้อเท็จจริงที่ว่า Gravity มีตัวละครเอกเป็นผู้หญิง (และเธอต้องแบกหนังไว้บนบ่าแทบจะคนเดียวตลอดทั้งเรื่อง)
หาได้ส่งผลกระทบแง่ลบใดๆ ต่อรายได้บนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ “สตูดิโอบอกผมตั้งแต่วันแรกว่าไม่มีใครอยากดูหนังที่ดำเนินเรื่องในอวกาศโดยมีผู้หญิงเป็นดารานำหรอก” ผู้กำกับชาวเม็กซิโกกล่าว “ผมไม่เคยคิดว่ามันจะกลายเป็นประเด็น
เพราะตอนผมเขียนบทร่วมกับโจนาส (ลูกชายของเขา) พูดคุยกันถึงประเด็นหลักของหนัง
เรานึกเห็นภาพนักบินอวกาศล่องลอยห่างออกไปในความมืดมิด
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง และนักบินอวกาศคนนั้นก็เป็นผู้หญิง
เราไม่ได้ถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นนี้เลยด้วยซ้ำ
ในบทร่างแรกเราใช้ชื่อเรียกตัวละครว่า ผู้หญิง
ต่อมาเมื่อมีคนเสนอให้เราเปลี่ยนเพศของตัวละครเอก โจนาสกับผมจึงอธิบายว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับแผ่นดินแม่และการเกิดใหม่
โชคดีที่สุดท้ายพวกเขาก็เข้าใจ”
บางทีข้อกังวลดังกล่าวอาจฟังขึ้นในอดีต
แต่ไม่ใช่ในปีที่ The Hunger Games:
Catching Fire สามารถทำเงินแซงหน้า Iron Man 3 ได้สำเร็จจนกลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดประจำปี
2013 “อุตสาหกรรมหนังยังคงหล่อเลี้ยงความเชื่อผิดๆ
นี้ไว้ มันน่าประหลาดใจเหลือเกิน ลองคิดดูสิ ตอนที่หนังเรื่อง Alien ออกฉาย ก็ไม่เห็นว่ามันจะประสบปัญหาเรื่องการทำเงิน” คัวรอนกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องอื่นที่เขาต้องกังวลมากกว่าโดยเฉพาะในแง่เทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ว่าทำอย่างไรตัวละครถึงจะดูเหมือนล่องลอยอยู่ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วงได้อย่างสมจริง
คัวรอนกับทีมงานจำเป็นต้องวาดสตอรีบอร์ดหนังทั้งเรื่องแบบช็อตต่อช็อตเอาไว้ล่วงหน้า
ก่อนจะให้ แซนดร้า บูลล็อค กับ จอร์จ คลูนีย์ มาเข้าฉาก ซึ่งเป็นเทคนิคที่ไม่ต่างกันกับการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่น
โดยทุกช็อตต้องถูกกำหนดทิศทาง จับเวลา และวางพื้นที่เฟรมเผื่อสำหรับนักแสดงชนิดที่ทุกอย่างต้องเป๊ะแบบร้อยเปอร์เซ็นต์
นั่นหมายความว่านักแสดงจะถูกจำกัดด้วยพื้นที่และเวลาอย่างเคร่งครัด
(พวกเขาต้องอยู่ในกล่องสูง 20 ฟุต ผนังด้านข้างติดตั้งหลอดไฟจำนวนมาก และห้อมล้อมด้วยกล้องบนแขนหุ่นยนต์ที่ควบคุมโดยใช้รีโมท
บูลล็อคดูจะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมนี้ได้อย่างเชี่ยวชาญ
จนกล่องข้างต้นถูกทีมงานขนานนามว่า “กรงของแซนดี้”) ฉะนั้นการอิมโพรไวส์ถือเป็นเรื่องที่ลืมไปได้เลย คัวรอนยกเครดิตให้กับสองนักแสดงนำของเขา
ที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์เบื้องลึกของตัวละครได้อย่างเป็นธรรมชาติท่ามกลางข้อจำกัดนานัปการ
“การแสดงของพวกเขาลื่นไหลจนทำให้ทุกคนลืมนึกถึงข้อจำกัดระหว่างการถ่ายทำ
นั่นเป็นข้อพิสูจน์อันเด่นชัดถึงความเก่งกาจของนักแสดง” คัวรอนกล่าว
กระนั้นความซับซ้อนในแง่เทคนิคหาได้กลบเกลื่อนแนวคิดเชิงปรัชญาที่คัวรอนพยายามสอดแทรกเอาไว้
เพราะอวกาศถือเป็นฉากหลังที่เหมาะสมในการตั้งคำถามต่อความเป็นมนุษย์
และการดำรงอยู่ “ตอนแรกผมคิดว่าหนังจะเรียบง่ายกว่านี้
แต่พอเริ่มถ่ายทำโดยใช้เทคนิคพื้นฐานเดิมๆ
ผมจึงตระหนักว่าเราจำเป็นต้องสร้างสิ่งใหม่ขึ้น
ถ้าต้องการให้หนังออกมาดูเหมือนเราได้ยกกองถ่ายไปยังอวกาศกันจริงๆ” คัวรอนกล่าว
หนังใช้เวลาถ่ายทำทั้งสิ้นหกเดือน
ตามมาด้วยขั้นตอนการสร้างสรรค์เทคนิคพิเศษด้านภาพอีกหนึ่งปีเต็ม แต่นั่นก็ยังไม่กินเวลามากเท่าช่วงเวลาการเตรียมงานสร้าง
ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2009 โดยมี แองเจลินา โจลี รับบท ดร.ไรอัน สโตน แต่เนื่องจากความประณีตของคัวรอน
สุดท้ายเธอทนรอไม่ไหวจึงเบนเข็มไปหาโครงการอื่นแทน เช่นเดียวกับ นาตาลี พอร์ตแมน
และ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ซึ่งถูกวางตัวให้มารับบทของ จอร์จ คลูนีย์ ในเรื่อง
แม้ว่าสำหรับคนหลังคัวรอนจะรู้สึกโล่งใจอยู่ไม่น้อย “โรเบิร์ตคงไม่เหมาะกับเทคโนโลยีที่เราพัฒนาขึ้นมา” ผู้กำกับวัย 52 ปีอธิบาย “เพราะเขาถนัดการอิมโพรไวส์และปล่อยมุกสด ซึ่งเทคโนโลยีของเราไม่อนุญาตให้ทำแบบนั้นได้
มันคงเหมือนการจับเขามาล่ามโซ่”
Nebraska
เช่นเดียวกับหนังอีกหลายเรื่องที่ได้เข้าชิงรางวัลสูงสุดบนเวทีออสการ์ปีนี้ Nebraska ต้องใช้เวลานานถึง 10 ปีกว่าสองโปรดิวเซอร์ อัลเบิร์ต เบอร์เกอร์ กับ รอน เยอร์ซา
ซึ่งเคยสร้างหนังดังอย่าง Little Miss Sunshine, Little Children และ Cold Mountain จะผลักดันฝันให้กลายเป็นจริง
ทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อเพื่อนคนหนึ่งส่งบทที่เขียนโดย บ็อบ เนลสัน มาให้พวกเขา “มันให้กำลังใจชีวิต มองโลกแง่ดี แต่ก็ไม่ลืมจะสะท้อนให้เห็นแง่มุมที่มืดหม่น”
เยอรร์ซากล่าวถึงบทที่เขาได้อ่าน “มันถ่ายทอดเรื่องราวและอารมณ์ของตัวละครได้อย่างละเมียด
ค่อนข้างลุ่มลึก” หลังจากได้แหล่งทุนแล้ว
พวกเขาก็ส่งบทไปให้ผู้กำกับชาวเนบราสกาโดยกำเนิดอย่าง อเล็กซานเดอร์ เพย์น ซึ่งแสดงท่าทีสนใจ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ตอนนั้นเพย์นเพิ่งจะเริ่มต้นเตรียมงานสร้างหนังเรื่อง
Sideways และก่อนหน้านั้นก็เพิ่งทำ About Schmidt ออกฉาย เขาไม่อยากทำหนัง
road movie ติดกันสามเรื่องรวด จึงขอให้สองโปรดิวเซอร์รอเขาทำหนังคั่นอีกสักเรื่องหนึ่งก่อน “เราตอบตกลง เพราะไม่คิดว่าเขาจะใช้เวลา 7 ปีในการทำ Sideways จากนั้นค่อยต่อด้วย The Descendants” เบอร์เกอร์เล่า
ระหว่างรอเพย์น
พวกเขาก็ขายสิทธิ์จัดจำหน่ายให้กับ Paramount Classics ต่อมาเมื่อบริษัทเกิดปิดตัวไป ลิขสิทธิ์จึงเปลี่ยนมือไปยัง Paramount
Vantage ซึ่งก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน สุดท้ายโครงการสร้างหนังเรื่องนี้จึงไปอยู่ในความดูแลของบริษัทแม่
นั่นคือ Paramount ซึ่งไม่ได้เห็นดีด้วยแบบเดียวกับบริษัทลูกทั้งสองในการถ่ายทำ Nebraska เป็นหนังขาวดำ พร้อมยื่นข้อเสนอว่าจะให้งบประมาณ 17 ล้านเหรียญก็ต่อเมื่อผู้กำกับยอมเปลี่ยนไปถ่ายหนังสีแทน “พวกเขาช็อกและผิดหวังกันถ้วนหน้าเมื่ออเล็กซานเดอร์ยืนกรานกลางที่ประชุมว่าจะถ่ายหนังเป็นขาวดำ”
เยอร์ซาเล่า “พวกเขาบอกว่าหนังขาวดำไม่เวิร์คสำหรับส่งสายต่างประเทศ
หรือขายลิขสิทธิ์ให้ฉายทางทีวี ฉะนั้นเงินทุนต้องถูกลดลงจนกว่าจะอยู่ในจุดที่พวกเขารับได้
หลังจากนั้นมันก็กลายเป็นสมรภูมิแห่งการต่อรอง” แรกเริ่มสตูดิโอเสนอทุนต่ำกว่า
5 ล้านเหรียญ ก่อนเบอร์เจอร์จะประนีประนอมให้อยู่ที่ 13 ล้านเหรียญได้ในที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในเวลานั้นหนังเรื่อง The
Descendants ของเพย์นทำเงินได้น่าพอใจและกลายเป็นขวัญใจนักวิจารณ์
แต่ด้วยทุนสร้างอันจำกัดจำเขี่ย
และเพย์นก็ยืนกรานว่าจะต้องถ่ายทำตามโลเกชั่นจริงในรัฐมอนทานา ไวโอมิง เซาท์ดาโกตา และเนบราสกา
ซึ่งเป็นสี่รัฐที่ไม่มีการลดหย่อนภาษีให้กับการถ่ายหนัง
ทุกคนจึงต้องรับค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อให้หนังสามารถปิดกล้องได้ตามงบ
ความท้าทายอีกอย่างอยู่ตรงที่เพย์นใช้เวลาหนึ่งปีเลือกเฟ้นโลเกชั่นที่เวิร์คในแง่สุนทรียะ
แต่ไม่ค่อยเวิร์คในแง่ความสะดวก ส่งผลให้บนถนนเส้นหนึ่งในหนังอาจมีร้านขายของชำอยู่ในเมืองหนึ่ง
และบาร์เหล้าอยู่ในอีกเมืองหนึ่ง ซึ่งต้องใช้เวลาขับรถนาน 45 นาที “แต่สุดท้ายเราก็สามารถปิดกล้องได้ตรงตามกำหนดเวลาและต่ำกว่าทุน”
เบอร์เกอร์สรุป และยกเครดิตส่วนหนึ่งให้กับนักแสดงนำอย่าง บรูซ
เดิร์น และ วิล ฟอร์ท ที่ยินจะมาถึงกองถ่ายก่อนกำหนด
หรือสละเวลาช่วงพักมาถ่ายทำ
ปกติเพย์นจะใช้เวลาประมาณ 36 สัปดาห์ในการตัดหนัง
แต่หลังจากผ่านไปแค่ 12 สัปดาห์ เขากับคนตัดต่อ
เควิน เทนท์ ซึ่งพยายามจะหาสมดุลระหว่างความตลกขบขันกับดรามา และพัฒนาจังหวะเล่าเรื่องราวที่ค่อนข้างเชื่องช้าให้ลื่นไหล
ชวนติดตาม ก็นำหนังเวอร์ชั่นสมบูรณ์มาฉายที่ Paramount พวกผู้บริหารสตูดิโอชื่นชอบหนังกันมาก
เนื่องจากยังเหลือเวลาอีกหนึ่งอาทิตย์กว่าจะถึงเส้นตายของเทศกาลหนังเมืองคานส์ พวกเขาเลยลองส่งหนังไปพิจารณา
ปรากฏว่าทางผู้จัดคัดเลือกหนังเข้าสายการประกวด “ในการฉายรอบปฐมทัศน์ทุกอย่างทำท่าเหมือนจะแป้ก” เยอร์ซาเล่า “อัลเบิร์ตกับผมหันมามองหน้ากัน
ผู้ชมไม่แสดงปฏิกิริยาใดๆ จนกระทั่งเครดิตท้ายเรื่องปรากฏ จากนั้นก็ตามมาด้วยเสียงตะโกนโห่ร้องและลุกขึ้นยืนปรบมือแบบยาวนาน
มันเป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึงจริงๆ”
Her
“ตอนอายุ 20 ปี ความคิดว่าจะมีอาชีพเป็นนักทำหนังไม่เคยแวบผ่านเข้ามาในหัวผมเลย” ผู้กำกับ สไปค์ จอนซ์
ให้สัมภาษณ์ในห้องตัดต่อ “ตอนนั้นผมกับเพื่อนๆ ชอบอ่านนิตยสาร BMX และพวกนิตยสารเกี่ยวกับสเก็ตบอร์ดทั้งหลาย โดยผมจะเป็นคนถ่ายวิดีโอตอนเพื่อนๆ
เล่นสเก็ตบอร์ดกัน” สองทศวรรษผ่านไป
จอนซ์ได้กลายเป็นผู้กำกับมิวสิกวิดีโอระดับแนวหน้า โด่งดังจากการร่วมงานกับ Sonic
Youth, Bjork และ Beastie Boys รวมถึงเป็นนักสร้างหนังซึ่งกวาดเสียงชื่นชมอย่างล้นหลามจากผลงานอย่าง Being John Malkovich และ Adaptation โดยทั้งสองเรื่องนั้นเขียนบทโดย
ชาร์ลี คอฟแมน ส่วน Her ถือเป็นหนังเรื่องแรกของจอนซ์ที่สร้างจากบทซึ่งเขาเขียนเองคนเดียว
“หลังจาก Where
the Wild Things Are (เขียนบทร่วมกับ เดฟ เอ็กเกอร์ส) ผมรู้สึกมั่นใจมากขึ้นในฐานะนักเขียน”
ผู้กำกับวัย 44 ปีพูด “ผมอยากจะก้าวไปข้างหน้าอีกขั้น แล้วสร้างหนังจากจินตนาการของผมล้วนๆ”
Her เล่าถึงชีวิตของธีโอดอร์ (วาคีน ฟีนิกซ์) หนุ่มวัยกลางคนที่เพิ่งหัวใจสลายจากการหย่าร้าง
เขาทำงานให้เว็บไซต์ รับจ้างเขียนจดหมายโต้ตอบให้กับลูกค้า ซึ่งมีความปรารถนาดีๆ
จะส่งมอบให้คนอื่นแต่ไม่มีเวลามานั่งเขียนเอง วันหนึ่งเมื่อธีโอดอร์ตัดสินใจอัพเกรดระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์
เสียงแหบเสน่ห์ของ สการ์เล็ต โจแฮนสัน ก็กล่าวทักทายเขา และบอกให้เขาเรียก “เธอ” ว่าซาแมนธา
เธอเริ่มต้นด้วยการช่วยจัดระเบียบฮาร์ดไดรฟ จดตารางนัดหมาย ลบเมลขยะในอินบ็อกซ์
ก่อนสุดท้ายจะลงเอยด้วยการขโมยหัวใจเขาไปครอง เพื่อนรักของธีโอดอร์ (เอมี อดัมส์) ยินใจด้วยที่เขาได้ค้นพบความสุข
ตรงกันข้ามกับอดีตภรรยาเขา (รูนีย์ มารา) ที่ไม่สบายใจกับความสัมพันธ์อันผิดปกตินี้
เรื่องราวของชายหนุ่มที่ตกหลุมรักกับระบบปฏิบัติการในคอมพิวเตอร์ฟังดูอาจเหมือนพล็อตหนังตลกล้อเลียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมดิจิตอล
แต่นั่นไม่ใช่ความตั้งใจของจอนซ์ “มีหลายอย่างที่เทคโนโลยีทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น
และอีกหลายอย่างที่มันทำให้คนเรายิ่งห่างไกล แปลกแยกจากกัน… แต่
Her ไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น นี่เป็นหนังที่ต้องการพูดถึงความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์
การโหยหาความสัมพันธ์ ตลอดจนความล้มเหลวที่จะเชื่อมโยงกับคนๆ หนึ่ง
หรือความกลัวความใกล้ชิด อะไรทั้งหลายเหล่านั้น” ฉากหลังของหนังอาจเป็นโลกอนาคต
แต่จอนซ์พยายามหลีกเลี่ยงโลกจินตนาการในแบบ Blade Runner และ The Matrix แล้วพุ่งเข้าหาความสมจริง
(เขาเลือกถ่ายตามโลเกชั่นที่ไม่ค่อยคุ้นตาของลอสแองเจลิสและเซี่ยงไฮ้) ซึ่งให้อารมณ์ย้อนยุคมากพอๆ กับทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นกางเกงทรงเอวสูง
เฟอร์นิเจอร์ไม้ และสมาร์ทโฟนที่ดูเหมือนไฟแช็กโบราณ
แรกเริ่มเดิมที ซาแมนธา มอร์ตัน รับหน้าที่เป็นคนพากย์เสียงของซาแมนธา
แต่ระหว่างขั้นตอนโพสต์โปรดักชั่นจอนซ์ตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้เสียงของโจแฮนสันแทน “ผมรักซาแมนธา เธอมอบอะไรหลายอย่างให้กับหนังเรื่องนี้ แต่สิ่งที่เราทำร่วมกันมันไม่เหมาะกับภาพที่ผมนึกไว้ในหัว
มันเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากและเจ็บปวดมาก” กระนั้นเขาก็ไม่ได้ให้เหตุผลที่เจาะจงลงไปว่าทำไมถึงตัดสินใจเช่นนั้น
“คุณต้องคอยรับฟังหนังของคุณ ฟังว่ามันคืออะไร ต้องการอะไร
หลายฉากถูกหั่นทิ้งในห้องตัดต่อ ฉากที่ผมชอบมากๆ ด้วย แต่มันก็เหมือนการผ่าตัด
ร่างกายจะปฏิเสธ ถ้าอวัยวะใหม่ที่ใส่เข้าไปไม่สามารถเข้ากันได้กับส่วนอื่นๆ”
จอนซ์เป็นหนึ่งในผู้กำกับเพียงไม่กี่คนที่ผสมผสานจินตนาการอันล้ำเลิศเข้ากับอารมณ์ที่ลุ่มลึกของเรื่องราวและตัวละครได้อย่างลงตัว
นั่นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเมื่อพิจารณาจากตัวตนจริงๆ ของเขา “ในด้านหนึ่งเขามีบุคลิกขี้เล่น บ้าระห่ำ และในเวลาเดียวกันก็มีอารมณ์หม่นๆ
เศร้าๆ ซ่อนลึกอยู่ข้างใน” ผู้กำกับเพื่อนสนิทของเขา เดวิด โอ. รัสเซลล์ กล่าว“บางทีเขายังแกล้งผมเล่นอยู่ดีๆ แต่พอ 10 นาทีต่อมา เรากลับได้พูดเปิดใจกันจนถึงขั้นร้องห่มร้องไห้
ในเมื่อคุณมีอารมณ์แบบนี้ซ่อนอยู่ สุดท้ายแล้วมันย่อมสะท้อนออกมาในฉาก ในเรื่องราว
และตัวละครของคุณอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง”
Philomena
เมื่อสี่ปีก่อน สตีฟ คูแกน กวาดตาไปเจอบทความในอินเทอร์เน็ต
หัวข้อบทความที่ว่า “โบสถ์คาทอลิกขายลูกของฉัน” สะดุดความสนใจเขามาก
มันเล่าถึงเรื่องราวของผู้หญิงชราชาวไอริชชื่อ ฟีโลมีนา ลี
ซึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อนตอนยังเป็นวัยรุ่น เคยตั้งครรภ์ลูกนอกสมรส ครอบครัวเธอจึงไล่ออกจากบ้านและส่งตัวไปอยู่คอนแวนต์
เธอต้องทำงานหนักเพื่อแลกอาหารและที่พักพิง ก่อนจะคลอดลูกชายชื่อว่าแอนโธนีย์ ซึ่งต่อมาถูกบรรดาแม่ชีพรากไปตอนอายุได้สามขวบแล้วขายให้ครอบครัวชาวอเมริกันรับไปเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม
ฟีโลมีนาเก็บความลับนี้ไว้ตลอดเวลากว่า 50 ปี
เพราะเธอยังมีความรู้สึกผิดกับพฤติกรรม “ท้องก่อนแต่ง”
“เรื่องราวมันกระทบใจผมอย่างแรง” คูแกนกล่าว พร้อมกับเสริมว่าอีกสิ่งหนึ่งที่สะดุดใจเขา คือ
ภาพถ่ายที่ฟีโลมีนานั่งอยู่ข้างๆ มาร์ติน ซิกซ์สมิธ คนแต่งหนังสือเรื่อง The
Lost Child of Philomena Lee ซึ่งกำลังจะถูกตีพิมพ์ในเวลานั้น“พวกเขาดูเหมือนคู่หูที่ไม่น่าจะเป็นไปได้
คนหนึ่งมีอาชีพนักข่าว เป็นปัญญาชนที่เรียนจบจากออกซ์ฟอร์ด และชนชั้นกลาง
ส่วนอีกคนเคยทำอาชีพนางพยาบาล แต่ตอนนี้อยู่ในวัยเกษียณ
และมาจากครอบครัวชนชั้นแรงงาน มันเป็นความสัมพันธ์แบบต่างเพศ ต่างวัย
ต่างชนชั้นที่ผมคิดว่าน่าสนใจดี” หลังจากนั้นเมื่อคูแกนเดินทางกลับประเทศอังกฤษ
เขาก็บังเอิญเจอโปรดิวเซอร์ เกบี้ ทานา เลยเล่าเรื่องบทความที่ได้อ่านให้เธอฟัง
เธอแสดงท่าทีสนใจอยากจะดัดแปลงเป็นหนัง
คูแกนจึงรีบติดต่อซิกซ์สมิธเพื่อชิงซื้อลิขสิทธิ์หนังสือของเขา
หนึ่งในฉากสำคัญของหนังที่สะท้อนให้เห็นบุคลิกอันแตกต่างของตัวละครหลักทั้งสองเป็นตอนที่ซิกซ์สมิธ
(คูแกน) กับ ฟีโลมีนา (จูดี้ เดนช์) เดินทางมาเผชิญหน้ากับแม่ชีที่พยายามปกปิดข้อมูลไม่ให้เธอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกชายของเธอ
เขาแสดงอาการโกรธอย่างออกนอกหน้า ส่วนเธอกลับดูสงบนิ่ง และมีท่าทีให้อภัยมากกว่า “มาร์ตินรู้สึกโกรธแค้นอยู่ภายใน”
คูแกนอธิบาย “เขาเป็นคนมองโลกแบบเยาะหยันและปราศจากศรัทธาทางศาสนา
ขณะที่ฟีโลมีนายังมีศรัทธาอยู่เต็มเปี่ยม
แม้กระทั่งหลังจากความเลวร้ายทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับเธอ มันเป็นหนังสไตล์ road movie ที่ตัวละครสองคนออกเดินทางไปด้วยกันเพื่อค้นหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกชายเธอ
พวกเขามีมุมมองต่อโลกและชีวิตที่แตกต่าง แต่ลงเอยด้วยการยอมรับโลกอีกใบหนึ่ง
และทางเลือกของอีกฝ่ายในการดำรงชีวิต
มันคือหนังที่พูดถึงประเด็นเกี่ยวกับการยอมรับและเข้าใจในความต่าง”
จะว่าไปแล้วนักแสดงรุ่นใหญ่มากฝีมืออย่างเดนช์กับดาวตลกอย่างคูแกนก็อาจนับเป็นคู่หูที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เช่นกัน
แต่การร่วมงานกับนักแสดงตลกไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับเดนช์
เพราะในหนังเรื่องแรกที่ทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก
(และถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม) เรื่อง Mrs. Brown เธอก็ต้องแสดงประกบ บิลลี คอนนอลลี “พวกเขาจะทุ่มเทเป็นพิเศษเมื่อต้องลงมือทำในสิ่งที่พวกเขาไม่คุ้นเคย”
เดนช์กล่าวถึงดาวตลกอย่างคูแกนและคอนนอลลี “จากนั้นระหว่างเทคพวกเขาจะทำให้เราหัวเราะจนน้ำตาไหล”
เดนช์เป็นตัวเลือกแรกสำหรับบทฟีโลมีนา และเธอก็ตอบตกลงรับเล่นหนังทันทีที่คูแกนอ่านบทให้ฟัง
แต่สำหรับ สตีเฟน เฟรียร์ส
คูแกนต้องใช้เวลาโน้มน้าวอยู่นานพอสมควรกว่าเขาจะตอบตกลง อย่างไรก็ตาม
การที่เดนช์เซ็นสัญญาก่อนช่วยให้เขาสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
(เขาเคยร่วมงานกับเดนช์มาแล้วสามครั้ง ล่าสุด คือหนังเรื่อง Mrs. Henderson Presents) จากนั้นเฟรียร์สกับคูแกน
และ เจฟฟ์ โปป
ก็ช่วยกันแก้ไขบทอยู่นานสามเดือนจนกระทั่งเฟรียร์สพอใจก่อนจะเริ่มเปิดกล้อง “หนังเรื่องนี้เล่าถึงเรื่องราวโศกนาฏกรรมเกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกพรากลูกไปจากอก
แต่อีกส่วนหนึ่งก็ให้ความรู้สึกเกือบจะคล้ายหนังตลก-โรแมนติก” ผู้กำกับที่เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์จาก The Queen และ
The Grifters กล่าว “ฉะนั้นคนดูจะได้สัมผัสทั้งความสุขและความเศร้าไปพร้อมๆ
กัน”
American
Hustle
แรกทีเดียวนักเขียนบท
อีริก วอร์เรน ซิงเกอร์ ต้องการจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับปฏิบัติการ Abscam อันอื้อฉาวในทศวรรษ 1970 (เจ้าหน้าที่ FBI จับมือร่วมกับนักต้มตุ๋นเพื่อเล่นงานบรรดานักการเมืองขี้ฉ้อ) แต่เมื่อบทถูกนำไปเสนอให้ผู้กำกับ
เดวิด โอ. รัสเซลล์ ฝ่ายหลังได้เสนอให้เปลี่ยนทิศทางของเรื่องราวใหม่จากการโฟกัสที่ปฏิบัติการไปเน้นการศึกษาตัวละครแทน
พร้อมทั้งผสมผสานความทรงจำส่วนตัวและการสร้างตัวละครสมมุติเข้ากับเรื่องจริง “พ่อผมเป็นนักธุรกิจในยุค 60 และ 70 ท่านเป็นเหมือนพ่อของ คริสเตียน เบล
ในเรื่อง คือ เป็นคนซื่อสัตย์ เคร่งศีลธรรม และผมก็เห็นท่านโดนเอารัดเอาเปรียบมาตลอด
ในโลกของธุรกิจคนดีๆ มักไม่ค่อยจะมีที่ยืน ด้วยเหตุนี้
ผมจึงเข้าใจความรู้สึกทั้งสองด้านของตัวละครที่แง่หนึ่งก็นึกชื่นชมในความซื่อสัตย์ของพ่อตัวเอง
แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เดินหน้าผลักดันชีวิตของตนไม่ให้ต้องลงเอยแบบเดียวกัน”
รัสเซลล์กล่าว
กลโกงใน
American
Hustle ไม่ได้กินความแค่พล็อตหลักเท่านั้น แต่ยังนำเสนอผ่านรายละเอียดหลากหลาย
ตั้งแต่ฉากแรกที่ เออร์วิง (เบล) บรรจงจัดแต่งวิกผมปิดหัวล้านให้ดูแนบเนียนที่สุด
ไปจนถึงการสลับบุคลิกไปมาของซิดนีย์ (เอมี อดัมส์) “แนวคิดเกี่ยวกับหลอกลวงสอดแทรกอยู่ในทุกๆ ส่วนของหนังเรื่องนี้”
โปรดิวเซอร์ ชาร์ลส์ โรเวน กล่าว “ใครกันแน่ที่เออร์วิงกับซิดนีย์กำลังหลอกลวงอยู่
เหยื่อที่มาติดเบ็ดพวกเขาเพราะความโลภ หรือพวกเขากำลังหลอกตัวเองอยู่ หลอกตัวเองว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร
เมื่อเราติดแหง็กอยู่กับงานที่เราเกลียด หรือความสัมพันธ์ที่เลวร้าย
เราจะหลอกตัวเองว่าสักวันทุกอย่างก็จะดีขึ้นเอง เราทุกคนต่างค้นหาวิธีที่จะอยู่รอด
เพราะนั่นเป็นสิ่งเดียวที่เราสามารถทำได้
และนั่นคือสิ่งที่บรรดาตัวละครในหนังกำลังทำกันอยู่”
หัวใจหลักของหนังอยู่ตรงความรักระหว่างเออร์วิงกับซิดนีย์
ซึ่งต้องเผชิญอุปสรรคขวากหนามมากมาย ทั้งจากแรงกดดันของ FBI ให้ทำตามแผนที่เสี่ยงอันตรายใหญ่หลวง
และ โรซาลิน โรเซนเฟลด์ (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) ภรรยาของเออร์วิงที่หลอกตัวเองไปวันๆ ว่ามีความสุข
แม้จะตระหนักดีว่าสามีของเธอกำลังคบชู้ “สำหรับผมหนังในช่วงแรกจะแสดงให้เห็นว่าเออร์วิงกับซิดนีย์ตกหลุมรักกันได้อย่างไร
ทำไมพวกเขาถึงรู้สึกพิเศษสุดเมื่ออยู่ด้วยกัน และพวกเขามีความสุขกับชีวิตมากแค่ไหน
มนตร์เสน่ห์แห่งความรักกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง จนกระทั่งปัญหาเริ่มย่างกรายเข้ามา
บีบให้พวกเขาต้องสร้างตัวตนขึ้นใหม่เพื่อให้อยู่รอด แต่เมื่อทำเช่นนั้นแล้ว
ความรักของพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงไปไหม นั่นเป็นคำถามสำคัญในช่วงครึ่งหลังของหนัง”
รัสเซลล์กล่าว
นอกจากบทภาพยนตร์อันยอกย้อน
คมคาย และสนุกสนานแล้ว American
Hustle ยังโดดเด่นตรงทีมนักแสดงที่เล่นเข้าขากันอย่างเหลือเชื่อ
จนไม่น่าแปลกที่มันจะคว้ารางวัลทีมนักแสดงยอดเยี่ยมมาครองจากเวทีของสมาคมนักแสดงแห่งอเมริกา
“ผมรักที่จะทำงานกับเดวิด ถ้าคุณเชื่อใจเขา
เขาจะพาคุณไปยังจุดที่สมจริงที่สุดทางอารมณ์
ส่งผลให้ตัวละครและการแสดงเต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาและความหมาย
มันเป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างหนักหน่วง
เพราะในฐานะนักแสดงคุณจะค่อนข้างเปราะบางทางอารมณ์ แต่ขณะเดียวกันภาวะดังกล่าวก็ช่วยให้คุณสามารถปลดปล่อยความจริงออกมาจากภายใน
ยิ่งคุณทราบขั้นตอนการทำงานของเดวิดและคุ้นเคยกับมันเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นเรื่องง่ายขึ้นที่คุณจะกระโจนลงไปแบบเต็มตัว
เพราะรู้ว่าคุณกำลังกระโจนเข้าสู่อ้อมแขนของครอบครัว” แบรดลีย์
คูเปอร์ ในบท FBI หนุ่มที่กำลังหลอกตัวเองว่าเขาพร้อมสำหรับงานที่ใหญ่เกินตัว
กล่าวถึงรัสเซลล์
ซิงเกอร์ได้สรุปประเด็นของหนังเอาไว้อย่างน่าฟังว่า
“ตัวละครทั้งหมดล้วนกำลังเดินทางไปสู่การเผชิญหน้ากับความจริง
ซึ่งเป็นสิ่งที่คนดูสามารถมีอารมณ์ร่วมได้ไม่ยาก สำหรับบางคนนาทีแห่งการเผชิญหน้าอาจเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาไปในทางที่ดีขึ้น
ขณะที่บางคนอาจบาดเจ็บ ปวดร้าวจนไม่อาจก้าวต่อไปได้ นั่นเป็นสิ่งที่ผมอยากจะพูด
คุณไม่มีทางเอาชนะความจริง สุดท้ายแล้วมันจะตามล่าหาคุณจนเจอ”
12
Years a Slave
ถึงแม้จะขึ้นชื่อเรื่องความแม่นยำในเลือกช็อตและนำเสนอลองเทคอันงดงาม
แต่เชื่อหรือไม่ว่าบ่อยครั้งผู้กำกับ สตีฟ แม็คควีน จะเดินทางมาถึงกองถ่ายโดยไม่ได้วางแผนการใดๆ
มาเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาจะถ่ายอะไร หรือถ่ายอย่างไรดี “ผมไม่อยากพูดคำว่าสตอรีบอร์ดด้วยซ้ำ
แค่ได้ยินก็รู้สึกคลื่นไส้แล้ว สำหรับผม มันเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นในโลเกชั่น
นักแสดง และเปิดแขนต้อนรับสิ่งที่คุณจะเจอในแต่ละวัน” ผู้กำกับที่ฝึกฝนทักษะจากการถ่ายหนังสั้นและงานแสดงศิลปะอธิบายวิธีการทำงานของเขา
แนวคิดข้างต้นถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า 12 Years a Slave ผลงานชิ้นล่าสุดของเขา
ไม่ใช่หนังอินดี้เล็กๆ แบบเดียวกับ Hunger หรือ Shame
แต่เป็นหนังโปรดักชั่นใหญ่ ดาราเยอะ
และที่สำคัญมีฉากหลังเป็นช่วงระหว่างทศวรรษ 1840-1850 ก่อนจะเกิดสงครามกลางเมืองในอเมริกา
เล่าถึงชะตากรรมของชายอเมริกันผิวดำในเมืองนิวยอร์กที่ถูกลักพาตัวไปขายเป็นทาสในรัฐทางตอนใต้
“ทุกอย่างจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างก็ต่อเมื่อนักแสดงเดินเข้าฉาก
คุณอาจรู้บางอย่างล่วงหน้าว่าต้องเจออะไรบ้าง แต่คุณจะได้เซอร์ไพรซ์ตลอดเวลา
การซักซ้อมบทมักจะเกิดขึ้นในห้องโล่งๆ และบางทีกระทั่งนักแสดงเองก็ไม่รู้ว่าพวกเขาต้องทำอะไรตอนเดินมาเข้าฉาก”
ฌอน บ็อบบิท ตากล้องคู่ใจของแม็คควีนตั้งแต่สมัยทำหนังสั้นกล่าว
ลักษณะการทำงานแบบนี้ส่งผลให้นักออกแบบงานสร้าง
อดัม สต๊อกเฮาเซน (Moonrise
Kingdom) ต้องค้นคว้าหาข้อมูลอย่างหนักเพื่อให้ฉากในโลเกชั่นดูสมจริงที่สุด
โดยเขาเลือกศึกษาจากภาพวาดโบราณ ภาพถ่ายตามช่วงเวลานั้น และหนังสือ The
Back of the Big House: Architecture of Plantation Slavery ของ
ไมเคิล วลาช นอกจากนี้ แม็คควีนต้องการที่จะสามารถถ่ายทำจากทุกมุมของฉากได้แบบ 360
องศา ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องยากไม่น้อยสำหรับหนังย้อนยุค “ถ้าคุณกำลังถ่ายตรงจุดหนึ่งอยู่
แล้วอยากเดินกล้องต่อไปถ่ายอีกจุดหนึ่งซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 75 ฟุต ก็สามารถทำได้”
สต๊อกเฮาเซนอธิบายฉากที่เขาสร้างขึ้นสำหรับหนังเรื่องนี้ “มันเหมือนกับเราได้สร้างโลกทั้งใบขึ้นมา ที่เราสามารถเดินไปไหนมาไหนได้โดยไม่พบสิ่งใดหลุดจากความสมจริงตามยุคสมัย”
ไม่เพียงสิ่งที่มองเห็นเท่านั้น
แต่ทุกเสียงที่ได้ยินก็จะต้องใกล้เคียงกับความเป็นจริงด้วย “ผมไม่เคยไปลุยเซียนามาก่อน” แม็คควีนสารภาพ “หลังอ่านหนังสือจบไปได้ครึ่งเล่ม ผมจึงบินไปที่นั่นและพบว่ามันเป็นสถานที่ซึ่งมีเอกลักษณ์มากๆ”
เสียงของจักจั่น นก กบ และแมลงวัน กลายเป็นส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศไม่ต่างจากดนตรีประกอบ
หลายช็อตที่เรียบง่าย
แต่งดงามและทรงพลังเกิดขึ้นจากการอิมโพรไวส์ระหว่างการถ่ายทำ เช่น ฉากที่โซโลมอนเผาจดหมายซึ่งเขาเขียนถึงครอบครัว
เดิมทีฉากดังกล่าวจะถ่ายแค่ใบหน้าของ ชิวเอเทล เอจีโอฟอร์ ที่สว่างวาบจากแสงของไฟ
แต่เมื่อเขาทิ้งจดหมายลงบนพื้น
บ็อบบิทได้แพนกล้องตามลงไปโดยสัญชาตญาณเพื่อจับภาพจดหมายที่กำลังมอดไหม้จนไม่เหลือซากและค่อยๆ
ดับแสงลง มันเป็นช็อตที่สะท้อนความรู้สึกของตัวละครในตอนนั้นได้อย่างยอดเยี่ยม เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้แม็คควีนเปลี่ยนใจแล้วใส่ช็อตจดหมายไหม้ไฟแทรกเข้าไปด้วย
อย่างไรก็ตาม
หนึ่งในฉากเด่นของหนังช่วงต้นเรื่องเป็นลองเทคที่แม็คควีนวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว
นั่นคือ ตอนที่โซโลมอนถูกจับแขวนคอโดยปลายเท้าแทบจะเหยียดไม่ถึงพื้น
และต้องดิ้นรนอยู่ในท่านั้นตลอดทั้งวันเพื่อไม่ให้ตัวเองขาดอากาศหายใจ แม็คควีนเลือกจะตั้งกล้องนิ่งๆ
ไว้เนิ่นนานด้วยภาพแบบลองช็อต เผยให้เห็นคนงานอื่นๆ ในไร่เดินออกมาทำกิจกรรมของตนเองตามปกติราวกับไม่เห็นความเลวร้ายที่กำลังเกิดขึ้น
“ผมอยากให้คนดูสัมผัสได้ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้”
แม็คควีนกล่าว “คนงานอื่นๆ แทบจะไม่ได้มองหน้าเขาด้วยซ้ำ
มันเป็นเหมือนส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของการเป็นทาส”
Captain
Phillips
ตอนที่โปรดิวเซอร์
ไมค์ เดอ ลูกา และ ดานา บรูเนตตี้
นั่งดูข่าวโจรสลัดปล้นเรือบรรทุกสินค้าในเดือนเมษายน 2009
พวกเขาเกิดความคิดที่จะนำเหตุการณ์ดังกล่าวมาสร้างเป็นหนังขึ้นพร้อมๆ กัน แต่ไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น
หลังจากกัปตัน ริชาร์ด ฟิลลิปส์ ถูกโจรสลัดสี่คนลากตัวไปลงเรือชูชีพขนาดเล็ก “ฉันคิดว่ามันต้องจบไม่สวยแน่ๆ
และบอกกับไมค์ไปว่ามันไม่ใช่หนังแบบที่ฉันอยากสร้าง ซึ่งเขาก็เห็นด้วย”
บรูเนตตี้กล่าว (ทั้งสองร่วมกันอำนวยการสร้างหนังเรื่อง
The Social Network ร่วมกับ สก็อตต์ รูดิน) จนกระทั่งวิกฤติจับตัวประกันที่กินเวลาสี่วันเกิดพลิกโผ
แล้วจบลงด้วยชัยชนะของหน่วยนาวิกโยธิน ซึ่งสามารถช่วยชีวิตกัปตันฟิลลิปส์ได้สำเร็จ
พร้อมทั้งสังหารโจรสลัดสามนายเสียชีวิต ส่วน มูส หัวหน้าแก๊งก็ถูกจับเข้าคุก
ทั้งสองจึงรีบคว้าโอกาส แล้วติดต่อครอบครัวของฟิลลิปส์ในทันที “ตอนเราไปดินเนอร์กับฟิลลิปส์และครอบครัว
ข้อมือเขายังมีรอยฟกช้ำจากการถูกมัดอยู่เลย คนพากันสงสัยว่าพวกเราเข้าถึงตัวเขาได้เร็วขนาดนั้นเลยเหรอ
แต่ถ้าเราชักช้า คนอื่นก็คงเข้าไปเสียบแทนแล้ว” บรูเนตตี้เล่า
ฟิลลิปส์บอกว่าเขาจำเป็นต้องรอจนกว่าหนังสือ
A
Captain’s Duty: Somali Pirates, Navy Seals and Dangerous Days At Sea จะเขียนเสร็จก่อนถึงสามารถเซ็นสัญญามอบสิทธิ์ในการสร้างหนังได้ เมื่อหนังสือตีพิมพ์ในปี
2010 มันก็ถูกส่งต่อไปยังนักเขียนบท บิลลี เรย์ (The Hunger Games) ซึ่งนึกวาดภาพ ทอม แฮงค์ ไว้ในหัวตั้งแต่แรก “หลายครั้งคุณเขียนตัวละครโดยนึกภาพนักแสดงเจ๋งๆ
เอาไว้ในหัว แต่พอถ่ายทำจริงกลับไม่ได้คนๆ นั้นมาเล่น
ผมไม่คิดว่าจะมีใครอื่นสามารถเล่นบทนี้ได้ ไม่มีทางเลย ตอนทอมเซ็นสัญญารับแสดง
ผมรู้สึกเหมือนตัวเองฝันไป” และหลังจาก พอล กรีนกราส
ได้อ่านบทร่างแรก เขาก็ตกลงใจรับหน้าที่กำกับทันที
แต่บทร่างแรกได้ถูกแก้ไข
เปลี่ยนแปลงอยู่หลายรอบ บางฉบับเปิดเรื่องในตอนที่ฟิลลิปส์พยายามจะหนีจากเรือชูชีพ
บางฉบับมีการตัดภาพสลับไปยังความวุ่นวายภายในบ้านของฟิลลิปส์หลังจากเห็นข่าวทางทีวี
ทางด้านกรีนกราสเองก็แสดงท่าทีสนใจที่จะสำรวจสถานการณ์ในเพนตากอน ซึ่งหลายคนพยายามหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
แต่สุดท้ายเป็น ทอม แฮงค์ ที่เสนอให้หนังโฟกัสไปยังเรือชูชีพเป็นหลัก เพราะมันคือสิ่งที่คนดูอยากจะรู้
และถูกโน้มน้าวให้รู้สึกเหมือนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยตั้งแต่แรก
นอกเหนือจาก
ทอม แฮงค์ แล้ว นักแสดงหลักคนอื่นๆ ล้วนไม่เคยเล่นหนังมาก่อน (กรีนกราสใช้หน่วยซีลจริงๆ
มาเล่นหนังเพื่อเพิ่มความสมจริงขึ้นไปอีก) ส่วนการถ่ายทำก็เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย
เนื่องจากพวกเขาต้องแบกกล้องถ่ายกันบนเรือแคบๆ ที่อยู่กลางทะเล มันเป็นการทำงานในลักษณะกองโจร
ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับเจ้าพ่อกล้องส่ายอย่าง พอล กรีนกราส (United
93) แต่แน่นอนว่าไม่ใช่สถานการณ์ที่ ทอม แฮงค์ คุ้นเคย
แต่เขาก็ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และถ่ายทอดการแสดงอันทรงพลังที่สุดนับจาก Cast
Away
อาจพูดได้ว่าหนึ่งในทีเด็ดของหนัง
คือ ฉากจบเมื่อกัปตันฟิลลิปส์รอดชีวิตจากเรือชูชีพ และต้องไปตรวจร่างกายในห้องพยาบาลด้วยสภาพจิตใจที่สั่นคลอนอย่างหนัก
จากคำบอกเล่าของแฮงค์ฉากดังกล่าวไม่ปรากฏอยู่ในบท
และถูกสร้างขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วนหลังจากกรีนกราสได้พูดคุยกับกัปตันบนเรือแบมบริดจ์
ถามว่าเขาทำอย่างไรกับฟิลิปส์ตอนเขาขึ้นเรือ ตามมาด้วยการพาไปชมสถานที่จริงของห้องพยาบาล
พร้อมกับสัมภาษณ์บุคคลอื่นๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ “จากนั้นเราก็ตัดสินใจที่จะบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวเพิ่มเข้าไป ทีมงานบอกกับบรรดาลูกเรือว่าให้ทำเหมือนนี่เป็นการฝึกซ้อม
เราถ่ายทำกันอยู่ประมาณหนึ่งชั่วโมงสี่สิบห้านาทีจนกระทั่งได้ผลลัพธ์น่าพอใจ”
แฮงค์เล่า “นี่เป็นข้อพิสูจน์ถึงความยืดหยุ่นของพอลที่จะด้นสดนอกบท
นอกแผนการ นอกตาราง แล้วถ่ายทำกับผู้คนจริงๆ ที่ไม่ใช่นักแสดง
ในสถานที่ซึ่งเราไม่ได้สำรวจตรวจสอบมาก่อน”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น