วันพุธ, มกราคม 18, 2555

Sherlock Holmes: A Game of Shadows : เด็กชายยังคงเป็นเด็กชายวันยันค่ำ


แม้จะชื่นชอบนิยายฆาตกรรมและสืบสวนสอบสวน แต่ผมก็ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ของหนังสือชุด เชอร์ล็อค โฮล์มส์ สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะผมเติบโตขึ้นมาพร้อมกับความโด่งดังของหนังสือแนว whodunit ที่เขียนโดย อกาธา คริสตี้ และคุ้นเคยกับการสืบสวนหาตัวฆาตกรโดยวิธีพูดคุยกับพยานต่างๆ แล้วคิดเชื่อมโยงหาเหตุจูงใจ มากกว่าการออกไปตามสืบเสาะหาหลักฐาน พิสูจน์ลายนิ้วมือ หรือปลอมแปลงตัวเพื่อล้วงลับข้อมูล

พูดง่ายๆ นิยายของ อาร์เธอร์ โคแนน ดอยล์ ดูเหมือนจะเน้นแอ็กชั่น การผจญภัย และบางครั้งก็อาจส่งกลิ่นอายสยองขวัญ (เช่นกรณีของ The Hound of Baskervilles) จนให้ความรู้สึก “แมนๆ” เมื่อเทียบกับนิยายของคริสตี้ ซึ่งเน้นการสังเกตสังกาพฤติกรรมตัวละคร ตลอดจนวิเคราะห์สภาพจิตใจเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องราวที่สืบสวนโดยมิสมาร์เปิล หญิงชราที่คลี่คลายปมปริศนาด้วยการนั่งคิดทบทวนเปรียบเทียบเหตุการณ์ปัจจุบันกับประสบการณ์ในอดีต

นอกจากนี้ พลังเทสโทสเตอโรนในหนังสือชุด เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ยังแผ่ขยายต่อไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าเรื่องราวส่วนใหญ่ล้วนปราศจากตัวละครเอกเพศหญิง (คนเดียวที่พอจะมีบทบาทเป็นน้ำเป็นเนื้อ คือ ไอรีน แอดเลอร์ ซึ่งในหนังภาคนี้ถูกกำจัดออกไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วง 20 นาทีแรก) รวมถึงทัศนคติของโฮล์มส์ที่ว่า “ผมไม่ได้ชื่นชมเพศหญิงแบบหมดใจ อันที่จริง แรงจูงใจของเพศหญิงนั้นช่างปราศจากเหตุผลและยากจะเข้าใจ คนเราสามารถวางรากฐานไว้บนกองทรายดูดได้อย่างไร พฤติกรรมชวนพิศวงที่สุดของพวกหล่อนอาจเปี่ยมความหมายสูงสุด ส่วนการกระทำที่น่าอัศจรรย์ของพวกหล่อนก็อาจตั้งอยู่หลักการที่บอบบางดุจกิ๊บหนีบผม”

ด้วยแง่มุมความเป็นชายที่อัดแน่นในแทบทุกอณู จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้กำกับหนังแนวแมนๆ อย่าง Lock, Stock and Two Smoking Barrels (1998) และ Snatch (2000) ซึ่งเคยล้มเหลวแบบหน้าคะมำมาแล้วกับความพยายามทำสิ่งที่ตนเองไม่ถนัด เช่นการกำกับหนังโรแมนติกเรื่อง Swept Away (2002) ตามใบสั่งของมาดอนนา ศรีภรรยา ณ ขณะนั้น จนมันกลายเป็นหนังตลกแห่งปีไปโดยมิได้ตั้งใจ จะแสดงท่าทีสนใจ อยาก “อัพเดท” เรื่องราวของนักสืบระดับตำนานชาวอังกฤษให้เหล่าเด็กแนวรุ่นใหม่ๆ ได้รู้จัก

น่าเสียดาย ความเหี้ยนกระหือรือของ กาย ริทชี่ ที่จะดึงดูดกลุ่มสมาชิกเอ็มทีวี ส่งผลให้เขาลงเอยด้วยการสร้างหนังแอ็กชั่นดาษๆ ขึ้นมาเรื่องหนึ่ง โดยปราศจากจิตวิญญาณของนิยายสืบสวนสอบสวน แต่แค่หยิบยืมตัวละครแบบผิวเผินมายัดใส่ลงในสถานการณ์ที่แต่งขึ้นใหม่ ท่ามกลางรายละเอียด (จงใจ) ผิดยุคผิดสมัย และมุกตลกเยาะหยันแบบหน้าตาย ซึ่งคงได้อิทธิพลมาจาก โทนี่ สตาร์ค บทที่ช่วยพลิกฟื้นอาชีพนักแสดงให้กับ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ มากกว่านิยายของโคแนน ดอยล์ พร้อมสอดแทรกกลเม็ดภาคบังคับ อาทิ ฉากระเบิดภูเขาเผากระท่อม (เสียงไอ้หนูผู้กำกับในหนังเรื่อง Super 8 ดังแว่วมาว่า “Production value!”) ฉากดวลปืนชนิดไม่กลัวเปลืองกระสุน วิธีตัดภาพอย่างฉับไวจนดูไม่ออกว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ และเทคนิคสโลวโมชั่น เพื่อให้คนดูได้เห็นความฉิบหายวายป่วงในลักษณะนาฏศิลป์อันงดงาม... หรือไม่ก็ตื่นตะลึงกับความแนบเนียนของเทคนิคพิเศษด้านภาพ ส่วนพล็อตเกี่ยวกับการสะท้อนด้านมืดของมนุษย์ ตลอดจนการคลี่คลายปมปริศนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และชวนติดตาม กลับถูกผลักดันให้กลายเป็นแค่องค์ประกอบสำรอง หรือถ่ายทอดออกมาอย่างเร่งรีบและลวกๆ

อย่างไรก็ตาม น่าสนใจตรงที่ริทชี่เลือกจะเล่นสนุกกับการตีความระหว่างบรรทัด แล้วแปลงสัมพันธภาพที่แนบแน่นระหว่างเพศชายกับการกีดกันเพศหญิงออกจากเรื่องราวในหนังสือชุด เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ให้กลายเป็นแก๊กตลกโฮโมอีโรติกสำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งมอง male bonding ด้วยมาตรฐานที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน (ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นฉากหลังของหนังสือชุด เชอร์ล็อค โฮล์มส์ การแสดงความรักใคร่ ผูกพันระหว่างชายต่างเพศสองคนถือเป็นเรื่องปกติ ธรรมดา และปราศจากนัยยะรักร่วมเพศ เช่น ชายคนหนึ่งอาจเขียนถึงเพื่อนสนิทโดยขึ้นต้นจดหมายว่า My lovely boy ส่วนการจับมือ โอบกอด หรือกระทั่งนั่งตักกันระหว่างเพื่อนชายสองคนก็ถือเป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อยๆ แต่สังคมที่แปรเปลี่ยน และความหวาดกลัวการถูกกล่าวหาว่าเป็นรักร่วมเพศ ทำให้การแสดงออกซึ่งมิตรภาพระหว่างเพศชายตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาถูกจำกัด และขีดเส้นแบ่งมาตรฐานเสียใหม่ เช่น ปัจจุบันการจับมือกันระหว่างชายรักต่างเพศสองคนถือเป็นเรื่องไม่ธรรมดาสามัญ และอาจส่งผลให้เกิดนัยยะรักร่วมเพศในสายตาของคนทั่วไป)

สีสันดังกล่าวคงเป็นสิ่งเดียวที่ช่วยให้ผมไม่เผลอสัปหงกระหว่างดู Sherlock Holmes (2009) และยังคงเป็นไฮไลท์สำคัญของ Sherlock Holmes: A Game of Shadows โดยคราวนี้มันถูกยกระดับขึ้นไปอีกขั้น (ตามหลักภาคต่อของฮอลลีวู้ดที่ว่า ยิ่งเยอะยิ่งดี) จนไม่ใช่นัยยะอีกต่อไป แต่แทบจะกลายเป็น The Rocky Horror Picture Show (1975) เมื่อในฉากหนึ่ง เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ถึงขั้นปลอมตัวเป็นผู้หญิงไปขัดขวางทริปฮันนีมูนของ ดร. วัตสัน (จู๊ด ลอว์) และผลักเจ้าสาวหมาดๆ ของเขา (เคลลี ไรลีย์) ตกจากรถไฟ!?!

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ช่วยประดับตกแต่งเหมือนเชอร์รี่บนหน้าขนมเค้ก เช่น เมื่อนักแสดงเกย์รุ่นเดอะอย่าง สตีเฟน ฟราย ซึ่งเคยรับบทคู่รักของ จู๊ด ลอว์ ในหนังเรื่อง Wilde โผล่มาวาดลวดลายเรียกอารมณ์ขันอย่างได้ผล แถมโชว์เนื้อหนังมังสา Austin Powers styleแบบที่เหล่านักแสดงหญิงในเรื่องไม่มีโอกาส กับบทมายครอฟท์ พี่ชายที่มีเส้นสายในแวดวงการเมืองของโฮล์มส์ หรือเมื่อหนังเดินหน้าแนะนำ “ปืน” ชนิดใหม่ๆ ให้คนดูได้รู้จัก โดยแต่ละกระบอกก็มีขนาดใหญ่ขึ้นๆ ตามลำดับ และแน่นอน ฉากปืนกระบอกใหญ่สุดยิงกระสุนทำลายล้าง หวังจะปลิดชีพโฮล์มส์กับพรรคพวก ย่อมถูกถ่ายทอดออกมาในลักษณะสโลวโมชั่นราวกับ money shot ในหนังเรท xxx (ต้นไม้ฉีกขาดเป็นเศษซี่ ผืนดินสีดำแตกระเบิดเป็นฝุ่นผงกระจุยกระจาย)

เช่นเดียวกับหนังสือ ตัวละครผู้หญิงถือเป็นแค่ส่วนประกอบน่ารำคาญ หรือไม่สลักสำคัญสักเท่าไหร่ ฉะนั้น ถ้าไม่ถูกกำจัดเสียตั้งแต่ต้นเรื่อง/กลางเรื่อง ดังกรณีของ ไอรีน (ราเชล แม็คอดัมส์) และแมรี พวกเธอก็อาจมีสถานะแค่หมากตัวหนึ่งในเกม ดังกรณีของ มาดามซิมซา (นูมี ราพาซ) ซึ่งหนังไม่ได้พัฒนาความสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างเธอกับโฮล์มส์ทั้งในเชิงชู้สาว มิตรภาพ หรือกระทั่งสรรค์สร้างให้เป็นตัวละครซึ่งมีระดับสติปัญญาที่ทัดเทียมกัน (ในฉากที่ทั้งสองพบกันครั้งแรก โฮล์มส์ถึงขั้นเกทับอาชีพของยิปซีสาวด้วยคำพยากรณ์ที่ตรงกว่าของตนเอง) จนอาจกล่าวได้ว่าหนังให้ความสำคัญกับสัมพันธภาพระหว่างโฮล์มส์กับคู่อริอย่าง ศาสตราจารย์ เจมส์ โมริอาร์ตี้ (จาเร็ด แฮร์ริส) มากกว่าด้วยซ้ำ พวกเขาอาจยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามทางความคิด แต่อย่างน้อยโฮล์มส์ ก็ให้ความเคารพเขาในฐานะคู่ปรับที่เก่งฉกาจ

ลักษณะ “วัยเยาว์” ของหนัง หาได้ปรากฏให้ชัดในบุคลิกตัวละครเอกเท่านั้น (เขาไม่อยากให้เพื่อนสนิทแต่งงานกับผู้หญิง แล้วใช้ชีวิตครอบครัวแบบผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ และพยายามโน้มน้าวให้เพื่อนเปลี่ยนใจโดยใช้ความสนุกสนาน เสี่ยงตายของการผจญภัยมาหลอกล่อ) แต่ยังรวมไปถึงอิทธิพลต่างๆ ซึ่ง กาย ริทชี่ รับมาจากหนังชุด เจมส์ บอนด์ และหนังแอ็กชั่นกังฟูมากกว่าผลงานเขียนของโครแนน ดอยล์ ไม่ว่าจะเป็นการวางบทให้โฮล์มส์ต้องเดินทางข้ามประเทศหลายครั้ง เพื่อหยุดยั้งแผนการชั่วร้ายของโมริอาร์ตี้ หรือวิธีออกแบบฉาก “การทำงานในสมองของโฮล์มส์” เพื่อช่วยให้เขาดูเป็นนักบู๊มากยิ่งขึ้น เมื่อเขาสามารถคาดเดาออกหมดว่าศัตรูจะออกหมัดอย่างไร จะหยิบคว้าอะไรมาเป็นอาวุธ แล้วหาทางเอาชนะได้ภายในเวลาชั่วพริบตา อันที่จริง แก๊กที่ว่าถือว่าน่าสนใจดีอยู่ (แม้จะเริ่มอ่อนแรงจากการใช้ซ้ำหลายครั้ง) แต่จุดที่สร้างความรำคาญได้ไม่น้อย คือ เทคนิคการตัดภาพแบบเร็วรัว และความหวือหวาแบบเกินจำเป็นของมุมกล้อง (หมุนคว้าง หยุดสโลวกลางอากาศ พลิกตลบ ฯลฯ) ซึ่งแทบจะทำลายความสอดคล้องของพื้นที่และเวลาจนหมดสิ้น คนดูได้ไอเดียคร่าวๆ ว่าสมองของเขากำลังคิดคำนวณ แต่ไม่มีทางรู้ว่าอะไรเป็นอะไรกันแน่ ปัญหาแบบเดียวกันนี้ยังปรากฏให้เห็นกับคำอธิบายแผนการของโฮล์มส์ในซีเควนซ์บนขบวนรถไฟอีกด้วย... บางทีการเซ็ทอัพฉากแอ็กชั่นชนิดละเอียดลออเฉกเช่นที่ ไบรอัน เดอ พัลมา ทำใน Mission Impossible (1996) โดยเปิดโอกาสให้คนดูเข้าใจและเห็นภาพโดยรอบของฉาก ตลอดจนทุกๆ ความเป็นไปของเหตุการณ์อย่างเป็นขั้นเป็นตอนคงกลายเป็นศาสตร์ที่หายสาบสูญไปแล้ว

กระนั้นโดยรวมผมออกจะชื่นชอบ Sherlock Holmes: A Game of Shadows มากกว่าภาคแรกเล็กน้อย สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะประสบการณ์จากภาคแรกทำให้ผมคาดหวังได้แล้วว่าจะเจอกับอะไร และก็ไม่ผิดคาด เมื่อพิจารณาจากหลักปรัชญาของฮอลลีวู้ดที่ว่า ถ้าภาคแรกทำเงินมหาศาล ภาคต่อมาจงอย่าพยายามเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่ให้ใช้วิธีเพิ่มขยายทุกอย่างขึ้นอีกเท่าตัว นอกจากนี้ ผมยังรู้สึกว่าพล็อตเรื่องค่อนข้างแน่นขึ้น ชวนติดตามขึ้น พร้อมสรรพด้วยไคล์แม็กซ์ที่ดีกว่า กล่าวคือ มันไม่ได้เน้นความวินาศสันตะโรเหมือนภาคแรก (เพราะฉากทำนองนั้นผ่านพ้นไปก่อนหน้าแล้ว ไม่ใช่ไม่มี) หากแต่เอนเอียงไปทางอารมณ์ลุ้นระทึกในสไตล์ whodunit มากกว่า เมื่อ ดร. วัตสัน กับมาดามซิมซา ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อค้นหาให้ได้ว่าใครเป็นมือปืนที่ปลอมตัวมาในงานประชุมเพื่อสันติภาพ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวยังถูกตัดสลับอย่างชาญฉลาดกับฉากโฮล์มส์กำลังชิงไหวชิงพริบกับโมริอาร์ตี้ในเกมหมากรุก

ที่สำคัญ ผมสนุกกับนัยยะหักมุมในตอนจบพอควร เมื่อโฮล์มส์หยุดยั้งการลอบสังหารได้สำเร็จ พร้อมทั้งปล้นทรัพย์สินโจรที่หวังจะค้ากำไรจากการขายอาวุธสงครามมาแจกจ่ายเพื่อการกุศล มันดูเหมือนว่าสุดท้ายธรรมะย่อมชนะอธรรม แต่ความจริงคนที่หัวเราะทีหลังดังกว่ากลับกลายเป็นโมริอาร์ตี้ ผู้ทำนายได้อย่างแม่นยำยิ่งกว่าเทพธิดาพยากรณ์ว่า “สงครามในวงกว้างย่อมมาถึงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ที่ฉันต้องทำก็แค่รอเวลา” เพราะ 23 ปีต่อมา ยุโรปก็ลุกเป็นไฟจริงๆ จากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า สงครามโลกครั้งที่ 1

โฮล์มส์อาจเป็นฝ่ายกำชัยในยกนี้ แต่โมริอาร์ตี้ คือ ฝ่ายที่เข้าใจสันดานมนุษย์ได้อย่างถ่องแท้กว่า ชัยชนะดังกล่าวจึงหาใช่ชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากเป็นแค่การประวิงเวลาออกไปเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: