วันอาทิตย์, มกราคม 15, 2555

หนังแห่งความประทับใจ


Melancholia : ความทุกข์คือสรณะ ความตายคือสัจจะ สุดท้ายแล้วย่อมขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกจะรับมือชีวิตอย่างไร

A Separation : การล่มสลายของมนุษยธรรมจุดประกายเริ่มต้นจากหน่วยเล็กๆ ที่เรียกว่า สถาบันครอบครัว

The Tree of Life : มนุษย์เป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ของจักรวาล ท่ามกลางความงามรายล้อมที่รอการค้นพบ

True Grit : เมตตาธรรมยังสามารถค้นพบได้แม้กระทั่งในบ้านป่าเมืองเถื่อน ที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายทารุณ

We Need to Talk About Kevin : บางทีความชั่วร้ายก็หาได้เกิดจากสภาพแวดล้อม แต่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด

นักแสดงชาย

ไรอัน กอสลิง (Drive) : เท่มาก แมนมาก เปรียบเสมือน สตีฟ แม็คควีน แห่งยุค โซเชียล เน็ทเวิร์ก ถ้า The Notebook ทำให้ผู้หญิงทุกคนฝันอยากจะได้เขามาเป็นแฟน หนังเรื่องนี้ก็คงทำให้ผู้ชายทุกคนอยากทำงานเป็นสตันท์แมน/ขับรถให้โจร!

ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ (X-Men: First Class) : มอบความหนักแน่น ความจริง และความเจ็บปวดจากภายในให้กับวัตถุดิบที่ค่อนข้างบางเบา

โอเวน วิลสัน (Midnight in Paris) : รักษาเอกลักษณ์แบบ วู้ดดี้ อัลเลน เอาไว้ครบถ้วน แต่แทนที่จะดูน่ารำคาญนิดๆ ตัวละครของเขากลับน่ารัก น่าเห็นใจได้อย่างเหลือเชื่อ นั่นหมายความว่าเขาถือไพ่เหนือ จอห์น คูแซ็ค, เคนเน็ธ บรานาห์ และ เจสัน บิกส์ อยู่หลายขุม

ไมเคิล แชนนอน (Take Shelter) : ดูน่ากลัวกว่าพายุประมาณ 10 เท่า

โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์ (50/50) : จะให้เธอจนกว่าเธอจะรับ บอกรักเธอจนกว่าเธอนั้นจะยอม

นักแสดงหญิง

เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ (Winter’s Bone) : กราบคารวะฉากที่เธอต้องไป “ตามหาพ่อ” ในทะเลสาบ มันหนักหนาสาหัสเกินไปจริงๆ กระทั่งสำหรับเด็กสาวที่ถลกหนังกระรอกได้อย่างเชี่ยวชาญ

เอมิลี บราวนิง (Sleeping Beauty) : แม้ภายนอกจากดูสวยงาม บอบบาง และขาวเนียนดุจหยวกกล้วย แต่ภายในกลับดำมืด ซับซ้อน แกร่งกล้าเกินกว่าจะบุกทะลวงเข้าไปได้

เซียชาร์ โรแนน (Hanna) : อีกหนึ่งสาวแกร่งที่ฆ่าคนได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ลึกๆ กลับปรารถนาชีวิตแบบเด็กสาวธรรมดาสามัญ

ลีอานา ลิเบอราโต (Trust) : เด็กสาวหาใช่ผ้าขาวเสมอไป หากผู้ใหญ่สักคนยินดีจะเปิดใจรับฟัง แทนการปกป้องอย่างหน้ามืดตามัว

วีโอลา เดวิส (The Help) : มอบความหนักแน่น ความจริง และความเจ็บปวดจากภายในให้กับวัตถุดิบที่ค่อนข้างบางเบา

ความคิดเห็น

ปีนี้เป็นปีที่ผมดูหนังไทยน้อยมาก (แต่จะพยายามตามเก็บเรื่องที่พลาดๆ ต่อไป) กระนั้นก็อยากจะบันทึกไว้ว่าห้าเรื่องที่ผมได้ดูและค่อนข้างชื่นชอบ ได้แก่ ไฮโซ หนังที่ตอกย้ำให้เห็นว่า อาทิตย์ อัสสรัตน์ เป็นผู้กำกับรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง เรื่องเล่าของเขาอาจมีความเป็นส่วนตัว แต่สื่อสารให้คนดูทั่วไปเข้าถึงได้ในประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ความทรงจำ และความเปลี่ยนแปลง ซึ่งนั่นให้อารมณ์ใกล้เคียงกับ ที่รัก ของ ศิวโรจน์ คงสกุล หนังที่ถ่ายทอด “ช่วงเวลาแห่งรัก” ได้อย่างน่าอัศจรรย์ รวมไปถึงความเจ็บปวด เมื่อกาลเวลาทำลายทุกอย่างจนแทบไม่เหลือ เช่นเดียวกับการปลดปล่อยอารมณ์ใคร่ในยามที่เรายังไม่พร้อมจะรับผิดชอบกับผลลัพธ์ที่อาจตามมา อันที่จริง หนังอย่าง รักจัดหนัก นั้นหาได้สนใจในประเด็น “วัยรุ่นใจแตก” มากไปกว่าการสำรวจผลกระทบที่ตามมา ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ตลอดจนวิธีรับมือซึ่งแตกต่างกันไปต่อวิกฤติเดียวกัน โดยไม่ได้ตัดสิน หรือโน้มนำอย่างชัดเจน ตรงกันข้ามกับ วัยรุ่นพันล้าน หนังซึ่งพาคนดูไปสัมผัสรูปธรรมของสุภาษิตที่ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น แต่ขณะเดียวกันมันก็มีรสนิยมพอจะนำเสนอเรื่องราวโดยไม่แบ่งดำแบ่งขาว แล้วเลือกโฟกัสไปยังบทเรียนจากความผิดพลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวละครเอกใน ฝนตกขึ้นฟ้า ตระหนักเมื่อสาย หลังจากใช้ชีวิตส่วนใหญ่เวียนว่ายอยู่ในวงจรอุบาทว์ของความชั่วร้าย ทั้งในแง่มหภาคและจุลภาค

ไม่มีความคิดเห็น: