วันพุธ, ธันวาคม 28, 2554

Oscar 2012: ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม?


ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุสุดสยองที่เกิดขึ้นกับ The Social Network เมื่อปีก่อน หรือความหวังว่าจะเจริญรอยตามทางลัดสู่บ่อทองของ Million Dollar Baby บรรดา “The Usual Suspects” หรือหนังเครดิตดี มีแววได้เข้าชิงออสการ์ทั้งหลายจึงพาเหรดกันดำดิน ไม่เปิดรอบฉายพิเศษให้นักวิจารณ์ชมล่วงหน้า หรือเดินสายโชว์ตัวตามเทศกาลหนังใหญ่ๆ ช่วงปลายปีอย่างเวนิซ-โตรอนโต-เทลลูไรด์ แต่กลับ “ลักลอบ” เปิดพรีวิวแบบกะปริดกระปรอยตามเมืองต่างๆ เพื่อสร้างกระแสอยากดูในหมู่มวลชนคนดูหนังทั่วๆ ไป พร้อมทั้งปิดโอกาสไม่ให้สื่อออนไลน์ ตลอดจนเหล่านักวิจารณ์รุมทึ้งกันอย่างสนุกมือ ส่งผลให้จนถึงขณะนี้ “เหยื่อ” จังเบอร์เพียงรายเดียวของปีตกเป็นของ J. Edgar ซึ่งเปลี่ยนสถานะจากตัวเต็งเป็น Hereafter ทันทีที่หนังเข้าฉายแบบจำกัดโรงเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน

แต่ถึงตัวหนังจะมีดี มีของ ไม่ใช่ Dreamgirls, Charlie Wilson’s War , Nine, The Lovely Bones และ J. Edgar แต่ข้อเสียสำคัญของการเป็นม้าตีนต้นอยู่ตรงที่ เสียงชื่นชมและรางวัลต่างๆ ที่กวาดมาครองย่อมทำให้คนตั้งความหวังไว้สูงลิ่ว และแน่นอนว่าโอกาสที่หนังจะพุ่งถึงจุดดังกล่าว หรือกระทั่งเหนือความคาดหวังขึ้นไปย่อมน้อยลงๆ ทุกที นี่เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไม The Social Network ถึงตกม้าตายบนเวทีออสการ์

แทนที่จะเลียนแบบความสำเร็จครั้งก่อนๆ ของ Juno และ Up in the Air มาปีนี้ เจสัน ไรท์แมน ซึ่งกลับมาร่วมงานกับมือเขียนบทรางวัลออสการ์ ดิอาโบล โคดี้ (Juno) อีกครั้ง เลือกเส้นทางที่ไม่ค่อยเอิกเกริกในการเปิดตัว Young Adult โดยบอกปัดธรรมเนียมการเปิดตัวที่เทลลูไรด์และโตรอนโต แล้วเปิดฉายรอบพิเศษตามเมืองต่างๆ แค่สองสามแห่งแบบไม่โปรโมตอะไรมากมาย ซึ่งบางคนวิเคราะห์ว่าอาจเป็นเพราะเขาได้บทเรียนจาก Up in the Air ซึ่ง “พีค” เร็วเกินไปหลังกวาดคำชมจากโตรอนโต จนลงเอยด้วยอาการล่มปากอ่าวบนเวทีออสการ์กับสถิติ 0-6

สตีเวน สปีลเบิร์ก ก็เลือกวิธีคล้ายคลึงกันกับ War Horse รวมถึง We Brought a Zoo ของ คาเมรอน โครว ส่งผลให้การคาดเดาทิศทางออสการ์ค่อนข้างยากลำบาก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่หนังเต็งหลักๆ อย่าง The Social Network และ The King’s Speech เปิดตัวค่อนข้างรวดเร็วตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมว่าปลายปีจะมีการฉายหนังที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ในตอนนี้อย่าง Extremely Loud and Incredibly Close และหนังที่เพิ่งตัดเสร็จสดๆ ร้อนๆ แล้วเปิดฉายให้นักวิจารณ์บางกลุ่มดู (แต่ต้องลงนามในสัญญาว่าจะไม่รีวิวหนังก่อนกำหนดของทางสตูดิโอ) อย่าง The Girl with the Dragon Tattoo และ In the Land of Blood and Honey อีกด้วย


คนแรก! ที่หนึ่ง! ถึงก่อน!


ขณะที่หนังเต็งออสการ์พากันอิดออดว่าใครจะเอาคอขึ้นเขียงก่อน สมาคมนักวิจารณ์นิวยอร์กกลับเลือกเดินไปในทิศทางตรงกันข้าม ด้วยการเลื่อนวันประกาศผลรางวัลมาอยู่ก่อนหน้า National Board of Review ซึ่งครองตำแหน่งเจ้าแรกของเทศกาลแจกรางวัลมานานหลายสิบปี แน่นอน การตัดสินใจดังกล่าวถูกวิพากษ์อย่างหนัก ทั้งจากสมาชิกในสมาคมเองและบรรดานักวิจารณ์อื่นๆ ที่กล่าวหาว่า NYFCC ต้องการจะ “ส่งอิทธิพล” ต่อทิศทางออสการ์ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วไม่ได้ และไม่ควรจะเกี่ยวข้องใดๆ กับรางวัลของนักวิจารณ์

ที่สำคัญ การเลื่อนวันดังกล่าวยังส่งผลให้สมาชิกไม่สามารถดูหนังได้ครบถ้วนทุกเรื่องอย่างแท้จริง โดยแรกทีเดียว NYFCC ประกาศจะตัดสินรางวัลในวันที่ 28 พฤศจิกายน แต่สุดท้ายก็ต้องเลื่อนออกไปหนึ่งวัน เนื่องจากโซนี่ยืนกรานหนักแน่นว่า The Girl with the Dragon Tattoo จะเปิดฉายให้ชมได้ในวันที่ 28 ส่วนสตูดิโอที่ไม่ยอมโอนอ่อนต่อข้อเรียกร้องขอดูหนังก่อนล่วงหน้าของ NYFCC คือ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส เพราะทางสตูดิโอต้องการให้ผู้กำกับ สตีเฟน ดัลดรี้ ใช้เวลาอย่างเต็มที่ในการตัดต่อ Extremely Loud and Incredibly Close และไม่อาจให้สัญญาได้ว่าหนังจะเสร็จพร้อมฉายให้นักวิจารณ์ดูเมื่อไหร่กันแน่ (หนังมีกำหนดเข้าฉายในช่วงคริสต์มาส) สถานการณ์ทำนองเดียวกันเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ The Reader เมื่อดัลดรี้ขอเวลาเพิ่มในการตัดต่อ ท่ามกลางแรงกดดันมหาศาลให้หนังเข้าฉายได้ตามกำหนดเวลา และสุดท้าย มันก็กลายเป็นหนังที่ทำให้ เคท วินสเล็ท คว้าออสการ์นักแสดงนำหญิงมาครอง

คำถามที่ตามมา คือ มีความจำเป็นอันใดให้ต้องรีบเร่งก่อนคนอื่น ทำไมจึงรอให้เลยสิ้นปีก่อนไปก่อนไม่ได้ในการแจกรางวัล เพื่อรับประกันว่าสมาชิกส่วนใหญ่จะไม่พลาดหนังเล็กๆ หนังสารคดี หนังต่างประเทศ หรือหนังสำคัญเรื่องใดๆ ที่เปิดฉายในช่วงปลายปี อันที่จริงแล้ว การเลื่อนกำหนดการตัดสินออกไปเป็นเดือนมกราคมน่าจะมีเหตุผลมากกว่าการเลื่อนขึ้นมาเป็นเดือนพฤศจิกายนหรือไม่

สำหรับผลรางวัลของ NYFCC ในสาขาหนังยอดเยี่ยม The Artist ได้คะแนนเหนือรองอันดับหนึ่ง Melancholia และรองอันดับสอง Hugo โดยทิ้งระยะห่างแบบสบายๆ ต่างกับในสาขาผู้กำกับที่ มิเชล ฮาซานาวิเชียส เบียด มาร์ติน สกอร์เซซี่ และ ลาร์ส ฟอน เทรียร์ (ตามลำดับ) ไปแบบสูสี ส่วนในสาขานักแสดงนำชายและหญิงนั้นถือว่าแทบจะปราศจากการแข่งขัน เพราะ เมอรีล สตรีพ กับ แบรด พิทท์ วิ่งนำคู่แข่งอย่าง มิเชลล์ วิลเลียมส์, เคียสเตน ดันส์, ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ และ ฌอง ดูฌาร์แดง แบบม้วนเดียวจบ ทางด้าน อัลเบิร์ต บรูคส์ กับ เจสซิก้า แชสเทน ก็ไม่ประสบปัญหาใดๆ ในการเฉือนคู่แข่งอย่าง คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์, วีโก้ มอร์เทนเซน, แครี มัลลิแกน และวาเนสซา เรดเกรฟ

บางคนค่อนข้างขัดใจกับตัวเลือกแบบ “ปลอดภัยไว้ก่อน” ของ NYFCC แต่สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะระบบโหวตแบบเรียงลำดับคะแนน ซึ่งแบ่งออกเป็นสามรอบ... The Artist คว้ารางวัลสูงสุดไปครอง เพราะมันเป็นหนังที่ “แทบทุกคน” สามารถทำใจยอมรับได้โดยไม่ต่อต้าน หรือพูดง่ายๆ มันเป็นหนังที่คนเกลียดน้อยที่สุด แต่ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งปีหรือไม่นั้น คงต้องถกเถียงกันต่อไป เพราะหนังอย่าง Melancholia, The Descendants และ The Tree of Life อาจมีคนชื่นชม ยกย่องว่าเยี่ยมที่สุดมากกว่า แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายคนชิงชัง และโหวตขัดขาเพื่อไม่ให้พวกมันได้รางวัลใหญ่ไปครอง นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม Milk จึงคว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยมไปครองเมื่อสามปีก่อน

ต้องยอมรับว่าตัวเลือกของ NBR ในสาขาหนังและผู้กำกับ (รวมถึงนักแสดงนำหญิง) กล้าหาญ และชวนให้แปลกใจได้มากกว่า NYFCC แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ยังคงบุคลิกเดิมๆ ไว้ครบถ้วน เช่น การหมอบกราบขาประจำอย่าง จอร์จ คลูนีย์ (คว้านำชายมาครองเป็นครั้งที่ 3 ในช่วง 5 ปี โดยก่อนหน้านี้เขาได้นำชายจาก Up in the Air และ Michael Clayton) และ คลินท์ อีสต์วู้ด (หนังเรื่องล่าสุดของเขาที่ไม่ติด Top Ten คือ Blood Work ในปี 2002 หมายความว่า Hereafter ก็ติดอันดับเมื่อปีก่อน ส่วน Changeling และ Gran Torino ก็ติดอันดับพร้อมกันในปี 2008) สำหรับปีนี้ Top Ten ของ NBR ประกอบไปด้วย The Artist, The Descendants, Drive, The Girl with the Dragon Tattoo, Harry Potter and the Deathly Hallows Part 2, The Ides of March, J. Edgar, Tree of Life และWar Horse

ไม่ต่ำกว่า 5 แต่ไม่เกิน 10

อีกเหตุผลของความยากลำบากในการเดารายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ประจำปีนี้อยู่ตรงการเปลี่ยนกฎของสถาบัน ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยแทนที่จะจำกัดรายชื่อผู้เข้าชิงไว้ที่ 5 เรื่อง หรือ 10 เรื่องเหมือนปีก่อนๆ (ดังที่ทราบกันดีว่าการเปลี่ยนจาก 5 เป็น 10 ส่วนหนึ่งมีอิทธิพลมาจากเสียงวิพากษ์หนักหน่วงเมื่อ The Dark Knight ตกรถด่วนขบวนสุดท้าย) ในปีนี้ผู้เข้าชิงจะอยู่ระหว่าง “5 ถึง 10” เรื่อง โดยทุกเรื่องจำเป็นต้องได้รับการโหวตให้เป็นหนังอันดับ 1 มากกว่า 5% ของจำนวนสมาชิกที่ลงคะแนน

“จากการสำรวจข้อมูลพบว่าแต่ละปีสมาชิกของสถาบันมักแสดงความชื่นชอบหนังมากกว่า 5 เรื่องอยู่เป็นประจำ การเสนอชื่อในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจึงควรสะท้อนข้อเท็จจริงดังกล่าว ถ้าในปีหนึ่งมีหนังแค่แปดเรื่องเท่านั้นที่สมควรได้รับเกียรติเข้าชิง เราก็ไม่ควรถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องเลือกเพิ่มอีกสองเรื่องจนครบสิบ” บรูซ เดวิส อดีตผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของสถาบันวิทยาศาสตร์และศิลปะแห่งภาพยนตร์ให้สัมภาษณ์ ก่อนจะเสริมว่า หากระบบใหม่นี้ถูกดัดแปลงใช้ในช่วงปี 2001-2008 (ก่อนหนังยอดเยี่ยมจะเพิ่มเป็น 10 เรื่อง) รายชื่อหนังยอดเยี่ยมในแต่ละปีนั้นจะประกอบไปด้วย 5 เรื่อง 6 เรื่อง 7 เรื่อง 8 เรื่อง และ 9 เรื่อง ไม่ซ้ำกันเลยสักปี

ว่ากันว่าการเปลี่ยนกฎดังกล่าวเป็นผลจากข้อครหาว่า การเสนอรายชื่อหนัง 10 เรื่องทำให้รางวัลออสการ์ขาดความ “ยิ่งใหญ่” และ “ทรงเกียรติ” บางปีก่อให้เกิดความรู้สึกเหมือนต้องพยายาม “ยัด” หนังเข้าไปให้ครบ 10 เรื่อง แม้ว่าบางเรื่องจะไม่ได้ทรงคุณค่ามากถึงเพียงนั้น ดังจะเห็นได้จากการติดโผของหนังอย่าง The Blind Side และ District 9 เมื่อสองปีก่อน (แต่มองในมุมกลับ หากกฎใหม่ถูกนำมาใช้ในปีนั้น บางทีหนังที่หลุดจากโผภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอาจไม่ใช่ The Blind Side หากแต่เป็น A Serious Man)

การคำนวณค่อนข้างซับซ้อนและชวนให้อยากระเบิดสมองสำหรับคนที่ไม่ค่อยถนัดเลข แต่หลักการคร่าวๆ คือ เมื่อมีการนับคะแนนโหวตรอบแรก นักบัญชีจะวางโจทย์ก่อนว่ามีตำแหน่งว่าง 10 ตำแหน่งสำหรับหนัง 10 เรื่อง และตัวเลขอัศจรรย์ที่รับประกันว่าหนังเรื่องนั้นๆ จะเข้าชิงสาขาสูงสุดแน่นอน คือ 11% ของคะแนนโหวตทั้งหมด หรือคิดแล้วเท่ากับประมาณ 455 คะแนนจากสมาชิกทั้งหมดเกือบๆ 6000 คน (ไม่ต้องถามว่าตัวเลขนี้ได้มาอย่างไร เพราะมันเกี่ยวข้องกับการคำนวณหลายตลบ) พูดง่ายๆ หาก War Horse ถูกโหวตให้ติดอันดับ 1 มากกว่า 11% ของคะแนนโหวตทั้งหมด มันก็จะได้เข้าชิงหนังยอดเยี่ยมทันที

แต่ความวุ่นวายจะเริ่มต้นขึ้น หากหนังเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้รับคะแนนโหวตมากกว่านั้น เช่น หาก The Artist ได้คะแนนโหวต 33% ทั้งที่มันต้องการแค่ 11% (หรือ 1 ใน 3) ฉะนั้น 2 ใน 3 ของทุกๆ คะแนนที่โหวตให้กับ The Artist จะถูกโอนไปให้หนังอันดับ 2 ทันที และหากหนังอันดับ 2 เป็น War Horse ซึ่งได้คะแนน 11% และรับประกันการเข้าชิงไปแล้ว มันก็จะถูกโอนไปยังอันดับสามต่อไป นอกจากนี้ หนังเรื่องใดก็ตามที่ได้รับคะแนนโหวตต่ำกว่า 1% ในรอบแรกจะถูกคัดออกทันที แล้วคะแนนทั้งหมดก็จะถูกโอนไปยังหนังอันดับ 2 หรืออันดับถัดๆ ลงมา หากหนังอันดับสองรับประกันการเข้าชิงไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าข้อบังคับ “หนังที่เข้าชิงต้องถูกโหวตให้เป็นอันดับ 1 มากกว่า 5%” นั้นไม่ได้ถูกต้องเสมอไปในทุกกรณี เพราะถ้าคนโหวตให้ The Artist 33% ตามมาด้วย Extremely Loud and Incredibly Close 29%, The Descendants 23% และ War Horse 11% นั่นหมายความว่า 96% ของสมาชิกโหวตให้กับหนัง 4 เรื่อง และเหลือคะแนนอีกแค่ 4% เท่านั้นสำหรับหนังเรื่องต่อมา ซึ่งไม่มากพอตามกฎ 5%... นั่นหมายความว่าปีนี้จะมีหนังเข้าชิงแค่ 4 เรื่องใช่ไหม คำตอบ คือ ไม่ใช่ เพราะกฎระบุไว้ว่าจะต้องมีผู้เข้าชิงไม่ต่ำกว่า 5 เรื่อง ฉะนั้น การนับคะแนนรอบสองจะตามมา โดยแบ่งคะแนนจากหนัง 4 เรื่องนั้นให้กับหนังอันดับสอง สาม หรือสี่ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ของสถานการณ์ดังกล่าวค่อนข้างต่ำ เพราะกรรมการมักโหวตหนังอันดับหนึ่งแตกกระจายเกินกว่าแค่ 4 เรื่อง

ทั้งหมดนี้ฟังดูสับสนดีไหม... สิ่งหนึ่งที่เราสามารถฟันธงได้แน่นอน คือ เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาว่าปีนี้จะมีหนังเข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมทั้งหมด 5 เรื่อง หรือ 10 เรื่อง หรือตัวเลขระหว่างนั้นกันแน่


อารมณ์ ความรัก ความรู้สึก

ปีก่อนอาจมีหนัง “เข้าทาง” ออสการ์ไม่มากนัก (นับๆ แล้วก็น่าจะแค่ The King’s Speech, The Fighter และ True Grit) ตรงกันข้าม ปีนี้แต่ละสตูดิโอจัดหนัก จัดเต็มในความพยายามจะโน้มน้าวคนดูให้ซาบซึ้ง อบอุ่น อิ่มเอม จนอาจกล่าวได้ว่าในกลุ่มตัวเก็ง คงมีเพียง The Tree of Life, The Girl with the Dragon Tattoo และ Young Adult เท่านั้นที่ไม่น่าจะถูกรสนิยมกรรมการส่วนใหญ่ เรื่องแรกก็อย่างที่ทราบกันดี มันชวนเหวอ ไร้พล็อตให้จับต้อง เรื่องที่สอง ตัวผู้กำกับ เดวิด ฟินเชอร์ บอกเองว่ามัน “เต็มไปด้วยการข่มขืนทางทวารหนักมากเกินกว่าจะเป็นหนังออสการ์” ส่วนเรื่องสุดท้าย ตัวละครเอกช่างน่าชิงชัง ขณะเรื่องราวก็เป็นตลกร้าย มืดหม่น เกินกว่ากรรมการจะทำใจตกหลุมรักได้

ในกลุ่มตัวเก็งแถวหน้า อย่าแปลกใจหาก War Horse จะเป็นเรื่องเดียวที่ไม่ได้รับแรงผลักดันจากรางวัลนักวิจารณ์ เนื่องจากผลงานชิ้นนี้ของสปีลเบิร์กจงใจขยี้อารมณ์คนดูอย่างชัดเจน ทั้งภาพ ทั้งดนตรีประกอบ ทั้งงานสร้างอันเน้นความสวยงาม อลังการแบบหนังสตูดิโอ (บางคนถึงขั้นครหาว่ามันใกล้เคียงกับการเป็นหนังดิสนีย์เพื่อความบันเทิงสำหรับทุกคนในครอบครัวมากกว่าจะเป็นหนังรางวัล) จึงไม่น่าจะถูกรสนิยมของกลุ่มคนที่เคยโหวตให้กับหนังเย็นชาและไม่น่าโอบกอดแบบ The Social Network

แต่ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างมากมายในอดีต หนังไม่จำเป็นต้องได้แรงสนับสนุนของนักวิจารณ์ในการก้าวขึ้นไปเข้าชิงออสการ์รางวัลใหญ่ เพราะนักวิจารณ์ไม่ใช่คณะกรรมการออสการ์ ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากตัวเนื้อหา ตลอดจนเครดิตของผู้สร้าง และแน่นอนเสียงตอบรับจากคนที่ได้ดูหนังแล้ว ก็ต้องถือว่าสถานะของ War Horse ค่อนข้างมั่นคง ที่สำคัญ อย่าลืมว่ากรรมการออสการ์มีรสนิยมค่อนข้างแตกต่างจากนักวิจารณ์ เพราะหนังอย่าง Crash ซึ่งถูกนักวิจารณ์จำนวนไม่น้อยจิกกัดว่าหนักมือและจงใจบีบคั้นคนดูอย่างออกนอกหน้าก็เคยคว้ารางวัลใหญ่มาครองเหนือขวัญใจนักวิจารณ์อย่าง Brokeback Mountain มาแล้ว

ปัญหาบนเส้นทางสู่หลักชัยของ War Horse อยู่ตรงที่ปีนี้คู่แข่งสำคัญเรื่องอื่นๆ ก็เป็นหนังเร้าอารมณ์ไม่แพ้กัน (แต่อาจแนบเนียน และได้ผลกว่าในสายตาของนักวิจารณ์) ไม่ได้เย็นชาแบบ The Social Network และไม่ได้ลุ่มลึกจนเกือบจะเป็นอุเบกขาแบบ Brokeback Mountain

เมื่อผนวกกับแรงผลักดันของ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ คงต้องบอกว่า ณ เวลานี้ The Artist เปรียบเสมือนตัวเก็งอันดับหนึ่ง ไม่เฉพาะแค่การได้เข้าชิงในสาขาสำคัญๆ จำนวนมากเท่านั้น แต่ยังอาจคว้ารางวัลสูงสุดไปครองเลยด้วยซ้ำ หนังได้แรงสนับสนุนอย่างแข็งขันจากนักวิจารณ์ (พิสูจน์ได้จากรางวัลของสมาคมนักวิจารณ์นิวยอร์ค) แต่ขณะเดียวกันก็เป็นหนังขวัญใจคนดูในแทบทุกแห่งที่ไปเปิดฉาย คล้ายคลึงกับสถานการณ์ของ Slumdog Millionair เมื่อสามปีก่อน ขาดก็แต่ มิเชล ฮาซานาวิเชียส ผู้กำกับ ไม่ได้มีเครดิตสวยหรูเป็นกองหนุนที่เข้มแข็งเหมือน แดนนี่ บอยล์ (อีกหนึ่งจุดอ่อนที่บางคนอาจเห็นเป็นจุดแข็ง คือ การที่หนังถ่ายทำในลักษณะเดียวกับหนังเงียบยุคก่อน) แต่ก็นั่นแหละ “ปมด้อย” ดังกล่าวหาได้หยุดยั้ง ทอม ฮูเปอร์ ไม่ให้ปาดหน้าเค้ก เดวิด ฟินเชอร์ เมื่อปีก่อน

หนังเพียงเรื่องเดียวที่เป็นปริศนาดำมืด เนื่องจากยังไม่มีใครได้ดู คือ Extremely Loud and Incredibly Close แต่ขณะเดียวกันกลับถูกจัดเอาไว้ในกลุ่มที่มีโอกาสเข้ารอบสุดท้ายค่อนข้างสูง เนื่องจากปัจจัยรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้กำกับ ซึ่งยังไม่เคยพลาดการเข้าชิงออสการ์จากการทำหนังมาทั้งหมด 3 เรื่อง (และสองในนั้นก็ได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สมัยที่ยังมีผู้เข้าชิงแค่ 5 เรื่อง คือ The Hour และ The Reader) หรือตัวเนื้อหาของหนัง ที่เกี่ยวกับเด็กชายผู้สูญเสียพ่อไปกับเหตุการณ์ 9/11 สังเกตจากตัวอย่างแล้ว หนังน่าจะ “เข้าทาง” ออสการ์ค่อนข้างมาก (แถมยังได้นักแสดงขวัญใจออสการ์อย่าง แซนดร้า บูลล็อค กับ ทอม แฮงค์ มาร่วมแสดง) เหลือก็แค่ว่าหนังจะออกมา “กินใจ” พอหรือไม่

ในกรณีผู้กำกับ ดูเหมือนมือใหม่อย่างฮาซานาวิเชียสจะถูกล้อมรอบด้วยขาใหญ่ระดับตำนานอย่างสกอร์เซซี่, อัลเลน, สปีลเบิร์ก, มาลิค และขาใหญ่ที่เคยผ่านเวทีกันมาแล้วไม่มากก็น้อยอย่างเพย์น, มิลเลอร์ และดัลดรี้ งานนี้คงต้องรอดูกันต่อไปว่าเขาจะฝ่าด่านอรหันต์แล้วสร้างชื่อในชั่วข้ามคืนได้แบบเดียวกับ ทอม ฮูเปอร์ หรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ คู่แข่งของฮาซานาวิเชียสดูท่าจะ “หิน” กว่าฮูเปอร์หลายเท่า

หนัง : (นำลิ่ว) The Artist, The Descendants, War Horse (ตามมาติดๆ) Extremely Loud and Incredibly Close, Moneyball, Hugo, The Help, Midnight in Paris, The Tree of Life (เผื่อฟลุค) The Girl with the Dragon Tattoo, Young Adult

ผู้กำกับ : (นำลิ่ว) มิเชล ฮาซานาวิเชียส จาก The Artist, อเล็กซานเดอร์ เพย์น จาก The Descendants, สตีเวน สปีลเบิร์ก จาก War Horse (ตามมาติดๆ) สตีเฟน ดัลดรี้ จาก Extremely Loud and Incredibly Close, มาร์ติน สกอร์เซซี จาก Hugo, เบนเน็ท มิลเลอร์ จาก Moneyball (เผื่อฟลุค) วู้ดดี้ อัลเลน จาก Midnight in Paris, เทอร์เรนซ์ มาลิค จาก The Tree of Life, นิโคลัส วินดิ้ง แรฟฟิน จาก Drive


การรวมตัวของบรรดาขาใหญ่

พูดถึงขาใหญ่ ไม่ใช่แต่หนังและผู้กำกับเท่านั้นที่เต็มไปด้วยคนหน้าเดิมๆ ในสาขานักแสดงนำชายและหญิงก็เช่นกัน นำโด่งมาก่อนหน้าใคร คือ เมอรีล สตรีพ ซึ่งจองตั๋วเข้ารอบสุดท้ายเป็นครั้งที่ 17 ค่อนข้างแน่นอนแล้วกับบทบาท มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ในหนังเรื่อง The Iron Lady และคู่แข่งสำคัญของเธอก็ไม่ใช่หน้าใหม่มาจากไหน แต่ล้วนเคยผ่านการเข้าชิงมาแล้วทั้งสิ้น นั่นคือ มิเชลล์ วิลเลียมส์ (สมทบหญิงจาก Brokeback Mountain นำหญิงจาก Blue Valentine) กับ วิโอลา เดวิส (สมทบหญิงจาก Doubt)

แต่ละคนล้วนมีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันไป สตรีพกับวิลเลียมส์กวาดคำชมไปอย่างท่วมท้นจากการสวมบทคนจริงในประวัติศาสตร์ ซึ่งเข้าทางออสการ์และเปิดโอกาสให้ได้โบนัสพิเศษจากการเลียนแบบท่าทาง น้ำเสียง และบุคลิกอันเป็นเอกลักษณ์ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่หนังของพวกเธอไม่ได้มีคุณภาพในระดับเดียวกับงานแสดง จนถึงเวลานี้ สตรีพดูเหมือนจะเสียเปรียบหนักสุดเนื่องจากเธอเคยได้ออสการ์มาแล้วสองครั้ง และแม้ว่า Sophie’s Choice จะผ่านมานานมากแล้ว จนหลายคนพยายามเรียกร้องให้มีการมอบออสการ์ตัวที่สามแก่นักแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งยุคนี้เสียที แต่ในเวลาเดียวกันกรรมการส่วนใหญ่อาจคิดว่าเธอคงมีโอกาสได้เข้าชิงอีกแน่นอนในอนาคตอันใกล้ (ซึ่งเป็นการคาดเดาที่แม่นยำทีเดียว เพราะเมื่อสองปีก่อนพวกเขาก็คงคิดแบบเดียวกัน จึงมอบรางวัลให้แก่ แซนดร้า บูลล็อค) แล้วเปิดโอกาสให้กับสองนักแสดงที่ยังไม่เคยได้ออสการ์มาก่อนแทน

ออสการ์ของเดวิสเรียกได้ว่าอยู่ใกล้แค่เอื้อม เธอมีเครดิตน่านับถือ หนังของเธอเป็นที่รักมากพอ และมีโอกาสสูงที่จะหลุดเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ปัญหาเล็กๆ อยู่ตรงวิลเลียมส์มีวัยสอดคล้องกับรสนิยมของออสการ์มากกว่า เธอยังสาว เธอยังสวย แถมบทของเธอก็เปิดโอกาสให้แสดงอารมณ์หลากหลายมากกว่า ทั้งมาริลีนในมาดซูเปอร์สตาร์ และมาริลีนในคราบเด็กสาวที่อ่อนแอ เปราะบาง และปรารถนาความรักเหนือสิ่งอื่นใด

ความแน่นขนัดของนำหญิงในปีนี้ทำให้อีกสี่คนที่เหลือต้องเบียดกันแย่งอีกสองตำแหน่งว่าง เท่าที่ฟังจากเสียงลือเสียงเล่าอ้างในเบื้องต้น รูนีย์ มารา อาจแซงโค้งสุดท้ายได้อย่างไม่ยากเย็นกับบทเด่นใน The Girl with the Dragon Tattoo จุดอ่อนของ เกล็น โคลส อยู่ตรงที่หนังของเธอค่อนข้างเล็ก และบทบาทการแสดงของเธอเองก็ค่อนข้างลุ่มลึก นิ่ง เรียบจนไม่น่าจะเข้าทางออสการ์ ทางด้านสวินตันเองก็เคยถูกมองข้ามมาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากดันไปแสดงดีในหนังที่ไม่ค่อยมีใครได้ดู สุดท้ายคนที่คว้าชิ้นปลามันไปครองน่าจะเป็น ชาร์ลิซ เธรอน เพราะถึงแม้ตัวละครที่เธอรับเล่นจะปราศจากความดีงาม หรือพัฒนาการในลักษณะไถ่บาป กล่าวคือ นังนี่เลวร้ายตั้งแต่ต้นยันจบ แต่ความแข็งแกร่งของหนังและทีมผู้สร้างน่าจะช่วยผลักดันให้เธอได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่สาม

เช่นเดียวกับสาขานำหญิง ตัวเต็งแถวหน้าจำนวนสามคนของสาขานำชายนั้นน่าจะล็อกตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว อีกคนที่ไม่น่าพลาด คือ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ลูกรักของกรรมการออสการ์ แม้ว่าหนังของเขาจะโดนนักวิจารณ์กระแสหลักกระทืบติดดิน ที่สำคัญ บทของเขาใน J. Edgar นั้นถือว่าเข้าทางออสการ์มากๆ (เช่นเดียวกับบทของสตรีพ รวมไปถึง มาริยง โกติญาร์ ก่อนหน้านี้) และเขาก็ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม ไร้ที่ติ (สิ่งเดียวที่นักวิจารณ์จิกกัดคงจะเป็นเมคอัพตอนแก่ ซึ่งงานนี้หนังของสตรีพถือว่ากินขาด) ส่วนตำแหน่งสุดท้ายคงต้องเป็นการฟาดฟันกันระหว่าง วู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน ซึ่งเคยเข้าชิงมาแล้วสองครั้ง กับ แกรี่ โอลด์แมน ซึ่งยังไม่เคยเข้าชิง แต่เป็นที่นับถือของคนในวงการมานานนับสิบปี ข้อเสียเปรียบของคนหลังอยู่ตรงบทบาทการแสดงที่เน้นความลุ่มลึก เก็บกด และแสดงออกแต่น้อยแบบเดียวกับ เกล็น โคลส

นำชาย : (นำลิ่ว ) ฌอง ดูฌาร์แดง จาก The Artist, แบรด พิทท์ จาก Moneyball, จอร์จ คลูนีย์ จาก The Descendants (ตามมาติดๆ) ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ จาก J. Edgar, วู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน จาก Rampart, แกรี่ โอลด์แมน จาก Tinker Tailor Soldier Spy (เผื่อฟลุค) ไมเคิล แชนนอน จาก Take Shelter, ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ จาก Shame, ไรอัน กอสลิง จาก The Ides of March

นำหญิง : (นำลิ่ว) เมอรีล สตรีพ จาก The Iron Lady, มิเชลล์ วิลเลียมส์ จาก My Week with Marilyn, วิโอลา เดวิส จาก The Help (ตามมาติดๆ) เกล็น โคลส จาก Albert Nobbs, ชาร์ลิซ เธรอน จาก Young Adult, ทิลด้า สวินตัน จาก We Need to Talk about Kevin, รูนีย์ มารา จาก The Girl with the Dragon Tattoo (เผื่อฟลุค) คีรา ไนท์ลีย์ จาก A Dangerous Method, เคียสเตน ดันส์ จาก Melancholia


ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

เช่นเคย สาขานักแสดงสมทบดูเหมือนจะอัดแน่นไปด้วยความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุด คงต้องรอหลังจากรางวัลนักวิจารณ์และลูกโลกทองคำทยอยประกาศกันอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเดือนธันวาคม ถึงจะมองเห็นภาพรวมได้ชัดเจนขึ้น แต่สำหรับตอนนี้ เครดิตความเก๋า ตลอดจนผลงานมากมายในอดีตที่ผ่านมา น่าจะช่วยเสริมโหงวเฮ้งของ คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ และ อัลเบิร์ต บรูคส์ ให้โดดเด่นขึ้น นอกเหนือไปจากตัวเนื้องานที่น่าประทับใจ

หากกรรมการออสการ์ชื่นชอบ The Tree of Life มากพอจะปล่อยให้มันหลุดเข้าชิงสาขาใหญ่ๆ อย่างหนังและผู้กำกับ นอกเหนือไปจากสาขาย่อยๆ อย่าง กำกับภาพซึ่งเชื่อขนมกินว่าได้เข้าชิงแน่ๆ (หนังของมาลิคไม่เคยพลาดการเข้าชิงในสาขานี้ ยกเว้นเพียงผลงานเรื่องแรกของเขาอย่าง Badlands) นักแสดงก็น่าจะเก็บเกี่ยวผลพลอยได้ไปด้วย นั่นหมายความว่า แบรด พิทท์ จะกลายเป็นผู้เข้าชิงพร้อมกันสองสาขาในทันที (ความแน่นอนอยู่ตรงสาขานักแสดงนำชายมากกว่า)

พ้นจากสามคนนี้ไปแล้ว โอกาสของทุกคนถือว่าแทบจะเท่าเทียมกัน แพตตัน ออสวอลท์ ได้รับเสียงชื่นชมว่าเป็นสิ่งเดียวที่ “น่ารัก” ในหนังเรื่อง Young Adult ฉะนั้น เขาจึงมีโอกาสค่อนข้างสูง เมื่อพิจารณาว่าตัวหนังค่อนข้างแข็ง (แต่คงต้องรอคำวิจารณ์ในวงกว้างอีกที) ข่าวลือแว่วมาว่านักแสดงคนเดียวที่มีโอกาสเข้าชิงจาก Extremely Loud and Incredibly Close สูงสุด คือ แม็กซ์ ฟอน ซีโดว์ ในบทเหยื่อใบ้ที่รอดชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่สอง ข้อจำกัดของตัวละครบีบให้นักแสดงต้องสื่อสารผ่านดวงตา ท่าทาง และอิริยาบถเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเรียกได้ว่าเข้าทางออสการ์แบบจังเบอร์ ทั้งนี้เราคงต้องรอดูต่อไปว่าหนังมีคุณภาพทัดเทียมกับความคาดหวัง และบทของฟอน ซีโดว์ ซึ่งเคยเข้าชิงนำชายจาก Pelle the Conqueror (1987) เด่นและน่าสนใจพอจะติดหนึ่งในห้าหรือไม่

โจนาห์ ฮิล อาจขี่กระแสหนังและ แบรด พิทท์ เข้าชิงในลักษณะเดียวกับ แม็กกี้ จิลเลนฮาล ใน Crazy Heart ส่วน วีโก้ มอร์เทนเซน ก็อาจอาศัยความเก๋า และเครดิตจากในอดีตเบียดเข้าชิงได้สำเร็ต แม้ว่าหนังอย่าง A Dangerous Method จะไม่น่าโดนใจกรรมการออสการ์มากนัก (เต็มไปด้วยความผิดปกติทางจิต ความวิปริตทางเพศ และความบิดเบี้ยวทางใบหน้ามากไป) ส่วน เคนเน็ธ บรานาห์ ในบท เซอร์ ลอว์เรนซ์ โอลิเวียร์ และ นิค นอลตี้ ซึ่งขโมยซีนจากกล้ามของเหล่านักแสดงหนุ่มแน่นใน Warrior มาได้อย่างน่าทึ่ง ก็ถือว่ามีโอกาสไม่แพ้กัน

ถ้ามีการมอบตำแหน่งนักแสดงสุดขยันแห่งปี คนชนะคงหนีไม่พ้น เจสซิก้า แชสเทน ซึ่งนอกจากจะฝากฝีมือน่าประทับใจในหนังสามเรื่องที่ NYFCC ให้เครดิตไว้แล้ว เธอยังร่วมแสดงใน The Debt, Coriolanus, Texas Killing Fields และ Wilde Salome อีกด้วย (เรื่องหลังสุดยังไม่มีกำหนดเข้าฉายในอเมริกา แต่เปิดตัวที่เวนิซไปแล้ว เป็นผลงานกำกับของ อัล ปาชิโน) มองจากตอนนี้ โอกาสเข้าชิงจาก The Help หรือ The Tree of Life น่าจะมากกว่า Take Shelter ซึ่งเป็นหนังอินดี้เล็กๆ และมีคนได้ชมไม่มากเท่า อย่างไรก็ตาม แนวทางความเป็นไปน่าจะชัดเจนมากขึ้น เมื่อลูกโลกทองคำและสมาพันธ์นักแสดงประกาศรายชื่อในช่วงปลายปีถึงต้นปีหน้า

ส่วนนักแสดงจาก The Help อีกคนที่ไม่ต้องลุ้น เพราะคงถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขานี้อย่างแน่นอน คือ ออกเทเวีย สเปนเซอร์ เนื่องจากบทของเธอโดดเด่น เปี่ยมอารมณ์ขัน และเรียกได้ว่าเป็นสีสันสำคัญของหนังเลยทีเดียว ไชลีน วู้ดลีย์ ในบทลูกสาววัยรุ่นของ จอร์จ คลูนีย์ ที่เพิ่งคว้ารางวัลจาก NBR และกวาดคำชมอย่างเป็นเอกฉันท์ ก็น่าจะเป็นตัวยืนหลักในสาขานี้ เช่นเดียวกับ วาเนสซา เรดเกรฟ จาก Coriolanus ผลงานกำกับของ เรล์ฟ ไฟนส์

เมื่อพิจารณาจากสถานะเต็งหนึ่งของ The Artist เบเรนิซ เบโจ ก็อาจลอยลมติดเข้าชิงออสการ์กับเขาด้วย แม้ว่าบทของเธอจะไม่ค่อยโดดเด่น และเป็นที่น่าจดจำมากนัก ส่วน แครี มัลลิแกน ก็คงต้องฮึดสู้หนักหน่อยเพราะ Shame เป็นหนังอื้อฉาวที่ได้เรท NC-17 แต่การพลิกบทบาทชนิดหน้ามือเป็นหลังมือจากเด็กสาวอินโนเซนต์ใน An Education (ซึ่งทำให้เธอโด่งดังและเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก) มาเป็นสาวกร้านโลกเจ้าปัญหา (แถมยังมีฉากเด่นให้โชว์ทักษะการร้องเพลงและฉากเปลือยกายทุ่มทุนสร้าง) ก็อาจช่วยเพิ่มคะแนนพิเศษได้ไม่น้อย

สมทบชาย : (นำลิ่ว) คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ จาก Beginners, อัลเบิร์ต บรูคส์ จาก Drive, แบรด พิทท์ จาก The Tree of Life
(ตามมาติดๆ) แม็กซ์ ฟอน ซีโดว์ จาก Extremely Loud and Incredibly Close, โจนาห์ ฮิล จาก Moneyball, , แพตตัน ออสวอลท์ จาก Young Adult (เผื่อฟลุค) นิค นอลตี้ (Warrior), เคนเน็ธ บรานาห์ จาก My Week with Marilyn, วีโก้ มอร์เทนเซน จาก A Dangerous Method


สมทบหญิง
: (นำลิ่ว) ออกเทเวีย สเปนเซอร์ จาก The Help, วาเนสซา เรดเกรฟ จาก Coriolanus, ไชลีน วู้ดลีย์ จาก The Descendants (ตามมาติดๆ) เจสซิกา แชสเทน จาก The Help หรือ The Tree of Life, แครี มัลลิแกน จาก Shame, เจเน็ท แม็กเทียร์ จาก Albert Nobbs (เผื่อฟลุค) จูดี้ เกรียร์ จาก The Descendants, อีวาน ราเชล วู้ด จาก The Ides of March, เบเรนิซ เบโจ จาก The Artist

ไม่มีความคิดเห็น: