วันเสาร์, พฤษภาคม 19, 2561

The Beguiled: ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ


ใครก็ตามที่เคยชม The Beguiled ฉบับ ดอน ซีเกล เมื่อปี 1971 ย่อมตระหนักดีว่าถึงแม้พล็อตโดยรวมจะมีลักษณะคล้ายหนังตระกูล ผู้หญิงล้างแค้นผู้ชายเจ้าชู้แต่มันกลับไม่ได้สร้างความรู้สึกฮึกเหิมในหมู่เพศหญิง หรือเจืออารมณ์ของสตรีนิยมในสไตล์ The First Wives Club (เหล่าเมียหลวงร่วมกันวางแผนแก้เผ็ดสามีที่หนีไปมีเมียน้อย) สักเท่าไหร่ ตรงกันข้าม หนังดูจะพุ่งเป้าไปยังการสะท้อนความหวาดกลัวของเพศชายมากกว่าในสไตล์ Fatal Attraction เกี่ยวกับสามีที่แอบคบชู้ มีเพศสัมพันธ์แบบชั่วข้ามคืนกับผู้หญิงผิดคนและโดนเธอตามเอาคืนอย่างถึงเลือดถึงเนื้อ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้กำกับหญิงอย่าง โซเฟีย คอปโปลา จะสนใจดัดแปลงเรื่องราวดังกล่าว โดยบิดผันมานำเสนอผ่านมุมมองของเพศหญิงแทน ลดทอนอารมณ์เขย่าขวัญลงและเพิ่มสัมผัสนุ่มนวล ตลอดจนความรุ่มรวยอารมณ์ขัน

โครงเรื่องหลักๆ ของหนังยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ความแตกต่างสำคัญประการหนึ่งระหว่าง The Beguiled สองฉบับอยู่ตรงวิธีนำเสนอตัวละครครูใหญ่ ซึ่งในเวอร์ชั่นใหม่รับบทโดย นิโคล คิดแมน ส่วนในเวอร์ชั่นเก่ารับบทโดย เจอรัลดีน เพจ คุณมาร์ธาฉบับซีเกลเปิดไพ่ในมือให้คนดูรับทราบตั้งแต่ฉากแรกผ่านเสียงวอยซ์โอเวอร์ ขณะสั่งเด็กนักเรียนให้มาช่วยกันยกร่างของนายทหารหนุ่มแยงกี้ที่ได้รับบาดเจ็บระหว่างสู้รบในสงครามกลางเมือง “ถ้าสงครามยังดำเนินต่อไปแบบนี้ ฉันคงลืมว่าตัวเองเคยเป็นผู้หญิง” เสียงความคิดเธอดังขึ้น บ่งบอกชัดเจนถึงอารมณ์สั่นไหวจากการได้ใกล้ชิดกับเพศชาย หลังจากห่างหายไปนาน นอกจากนี้เธอยังมีลักษณะคุกคามที่ชัดเจนกว่าจากบุคลิกดุดัน ไม่ค่อยเป็นมิตร จนถึงขั้นชวนให้สะพรึงจากภาพย้อนอดีตที่แวบเข้ามาเพื่อบอกกล่าวให้คนดูทราบว่าเธอแอบมีสัมพันธ์ทางเพศกับพี่ชายตนเอง ที่สำคัญหนังบ่งบอกชัดเจนว่าเธอปรารถนาในตัวนายทหารหนุ่ม อยากให้เขามาทำหน้าที่แทนพี่ชายเธอทั้งในเรื่องบนเตียงและในการดูแลเรือกสวนไร่นา เธอเป็นคนปลดล็อกห้องนอน/ห้องขังของนายทหาร และเฝ้ารอเขาอย่างกระสับกระส่ายในค่ำคืนแห่งชะตากรรมนั้นไม่แตกต่างจากเอ็ดวีนา

เปรียบไปแล้วคอปโปลา (รวมถึงคิดแมน) เป็นนักเล่นโป๊กเกอร์ที่เหนือชั้นกว่า เธอตัดเสียงวอยซ์โอเวอร์ซึ่งเฉลยความนึกคิดของตัวละครออกจนหมด เช่นเดียวกับซับพล็อตการสมสู่ร่วมสายโลหิต คุณมาร์ธาของคอปโปลายากที่จะอ่านใจกว่ามาก แน่นอนเธอโหยหาสัมผัสแห่งเพศชาย รวมไปถึงร่างกายกำยำที่จะช่วยแบกรับภาระในเรือกสวนไร่นาได้ดีกว่าเหล่าเด็กนักเรียนหญิง แต่ขณะเดียวกันเธอก็ไม่เคยปล่อยปละให้ความต้องการภายในเอาชนะมารยาท หรือการถูกอบรมสั่งสอนให้เป็นกุลสตรีแห่งแดนใต้ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของโรงเรียนเธอ หนังไม่มีฉากใดที่บ่งบอกชัดแจ้งว่าเธอหื่นกระหายในตัวนายทหารหนุ่ม ฉะนั้นข้อกล่าวหาของแม็คเบอร์นีย์ว่าเธอจงใจตัดขาเขาเพื่อเป็นการแก้แค้นที่เขาไม่ยอมเข้าไปหาเธอในห้องจึงขาดน้ำหนักอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นของซีเกล

รายละเอียดหลายอย่างที่คอปโปลาตัดออกทำให้คนดูไม่อาจแน่ใจได้ว่าที่คุณมาร์ธาตัดสินใจเลื่อยขาแม็คเบอร์นีย์เพราะมันเป็นทางเดียวที่จะช่วยชีวิตนายทหารหนุ่มจริงๆ หรือส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการลงโทษเขา ในเวอร์ชั่นของซีเกล เห็นได้ชัดว่าชื่อหนังมีความหมายทั้งสองด้าน กลุ่มผู้หญิงในโรงเรียนหลายรุ่นหลากอายุถูกแม็คเบอร์นีย์ “ล่อลวง” ให้หลงเสน่ห์ เขาสร้างภาพว่าตัวเองเป็นนายทหารกล้าผู้เสียสละ ไม่ทอดทิ้งเพื่อน แต่ภาพแฟลชแบ็คกลับสะท้อนข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำพูดของเขาอย่างชัดเจน (คอปโปลาเลือกจะตัดภาพแฟลชแบ็คออกทั้งหมด) นี่ยังไม่รวมถึงคำปลิ้นปล้อนที่เขาใช้กล่อมสาวๆ หล่อเลี้ยงความหวัง เพื่อพวกเธอจะได้ไม่ส่งตัวเขาให้กับทหารของฝ่ายใต้ แต่พร้อมๆ กันนั้นภาพลักษณ์ของโรงเรียนสตรีล้วน เต็มไปด้วยสาวสวยหลากวัยก็ ล่อลวง” ให้นายทหารหนุ่มเชื่อว่าตนเองเจอขุมทรัพย์ ได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น เพราะไม่เพียงจะมีคนคอยดูแล เอาใจใส่ ประคบประหงมเท่านั้น แต่ยังอาจจะได้บำรุงบำเรอแรงกระหายทางเพศที่อัดอั้นมานานในช่วงสงครามอีกด้วย (หนังของซีเกลมีการแทรกภาพแฟนตาซีเพศชายเข้ามาในรูปของเซ็กซ์หมู่/เลสเบี้ยนในระหว่างช่วงที่แม็คเบอร์นีย์ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเข้าห้องใครดี และฉากหนึ่งคนดูจะเห็นนายทหารชาวใต้กระหายอยากจะขอพักค้างคืนที่โรงเรียนด้วยความหวังว่าอาจ โชคดี”) แต่การณ์กลับปรากฏว่าสวรรค์ที่เขาฝันใฝ่กำลังจะกลายเป็นนรกภายในชั่วเวลาแค่ไม่กี่วัน จากการตัดสินใจผิดพลาดเพียงครั้งเดียว

นอกจากทอนความแรงในตัวคุณมาร์ธาลงแล้ว คอปโปลายังค่อนข้างผ่อนมือในการสะท้อนแง่มุมชั่วร้ายของแม็คเบอร์นีย์ด้วย (ต่างจากซีเกลซึ่งเปิดเผยความต่ำตมของตัวละครตั้งแต่ฉากแรก เมื่อเขาบอกกับเด็กสาววัย 12 ปีว่าเธอแก่พอจะจูบผู้ชายแล้ว พร้อมกับก้มลงขโมยจูบเธอ ในขณะที่เวอร์ชั่นคอปโปลา ความสัมพันธ์ระหว่างเอมีกับแม็คเบอร์นีย์ปราศจากนัยยะทางเพศชัดเจน) จริงอยู่เขาอาจโปรยคำหวานกรอกหูสาวๆ เพราะรู้ว่านั่นเป็นสิ่งที่พวกเธอต้องการจะได้ยิน แต่ก็ไม่ใช่การตอแหลซึ่งๆ หน้าเหมือนในเวอร์ชั่นเดิม ซึ่งใช้ภาพแฟลชแบ็คเปิดโปงเนื้อแท้ของตัวละครหนุ่มหล่อแบบทันควัน พร้อมกันนั้นคอปโปลายังเลือกจะลดความโจ่งแจ้งในสัมพันธภาพระหว่างทหารหนุ่มกับสาวร่านแรกรุ่นประจำโรงเรียนอย่าง อลิเซีย (แอล แฟนนิงให้เหลือเพียงการแอบขโมยจูบ การทิ้งสายตาชะม้อยชะม้าย ไม่ได้ออกตัวแรงชนิดเหยียบจนมิดคันเร่งดุจนางอิจฉาในละครหลังข่าวเหมือน แครอล (โจ แอนน์ แฮร์ริสในเวอร์ชั่นเก่า ซึ่งทำให้ฉากค้นพบความจริงของเอ็ดวีนาสร้างผลกระทบทางอารมณ์ได้รุนแรงกว่า อย่างไรก็ตาม คอปโปลาไม่ปิดบังที่จะเปิดเผยด้านที่ไม่ได้น่าชื่นชมสักเท่าไหร่ของตัวละครเช่นกัน เมื่อนายทหารหนุ่มชาวไอริชยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าเขาเข้าร่วมสงครามเพราะเงิน ไม่ใช่เพราะเชื่อมั่นในอุดมการณ์ใดๆ

ผลลัพธ์จากทั้งหมดทั้งมวลข้างต้นทำให้ The Beguiled ของคอปโปลาเต็มไปด้วยตัวละครสีเทาๆ ผู้ชายไม่ได้ปลิ้นปล้อน เลวร้ายสุดขั้ว ผู้หญิงไม่ได้เจ้าคิดเจ้าแค้น หรือเข้าขั้นวิปริต แต่ทุกคนต่างลงมือทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด หรือเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองเท่านั้น ส่วนหายนะที่ตามมาหาได้เกิดจากความจงใจ แต่เป็นโชคชะตาอันพลิกผันอย่างแท้จริง ไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อเรื่องราวถูกนำเสนอผ่านมุมมองผู้กำกับหญิง ภาพลักษณ์ของผู้หญิงโรคจิตภายใต้รูปแบบหนังเขย่าขวัญเตือนใจเพศชายแบบในเวอร์ชั่นซีเกล หรือใน Play Misty for Me หนังเรื่องแรกที่ คลินต์ อีสตวู้ด กำกับและออกฉายในปีเดียวกับ The Beguiled ที่เขานำแสดง จะถูกตัดออกจนแทบไม่เหลือ ในมุมมองของคอปโปลาการวางแผนปรุงเห็ดพิษในตอนท้ายเป็นผลมาจากความกลัว ความต้องการเอาตัวรอดมากกว่าเพื่อแก้แค้น หรือเอาคืน

ไม่ใช่แค่ดัดแปลงเรื่องราว หรือรายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครเท่านั้น คอปโปลายังตัดทอนมุมกล้องแทนสายตาของตัวละครชายในเวอร์ชั่นแรกออกจนหมดสิ้นอีกด้วย เช่นเดียวกับภาพโป๊เปลือยของหน้าอกหน้าใจหญิงสาว ซึ่งถูกใส่เข้ามาในหนังของซีเกลเพียงเพื่อเอาใจกลุ่มคนดูหลัก จากนั้นก็จัดแจงเปลี่ยนการจ้องมองของเพศชายมาเป็นการจ้องมองของเพศหญิงด้วยการปล่อยให้กล้องโคลสอัพอย่างอ้อยอิ่งตามเรือนร่างอันเปลือยเปล่าของแม็คเบอร์นีย์ ขณะคุณมาร์ธาค่อยๆ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเขา อันที่จริง อาจพูดได้ว่าคอปโปลาไม่สนใจที่จะพาคนดูเข้าไปลุ้นเอาใจช่วยตัวละครคนใดคนหนึ่ง แต่กันเราไว้ให้เป็นเพียงแค่ผู้สังเกตการณ์ห่างๆ เมื่อหนังแทบจะปราศจากฉากโคลสอัพใบหน้า หรือดนตรีเร้าอารมณ์ ซึ่งเป็นสองสิ่งที่หนังเวอร์ชั่นเก่าหยิบมาใช้แบบไม่เพลามือ

The Beguiled ของคอปโปลาให้ความรู้สึกบางเบา นุ่มนวล เหมือนนิทานที่สอดแทรกแง่มุมอัปลักษณ์ของมนุษย์เอาไว้ภายใน ไม่ได้เผ็ดร้อน รุนแรงในลักษณะเดียวกับหนังของซีเกล ซึ่งก้าวไปสัมผัสประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากสงครามระหว่างเพศ คอปโปลาถูกวิจารณ์อย่างหนักด้วยข้อหา “ฟอกขาว” จากการที่เธอเลือกตัดตัวละครทาสหญิงผิวดำออก แล้วรวบรัดประเด็นค้าทาสที่สอดแทรกไว้ในเวอร์ชั่นเก่าผ่านคำอธิบายสั้นๆ แค่ว่า “พวกทาสหนีไปกันหมดแล้ว” เธอบอกว่าเธอไม่อยากพูดถึงประเด็นหนักหน่วงอย่างฉาบฉวยและขณะเดียวกันก็ต้องการให้เหล่าตัวละครหญิงในเรื่องถูกทอดทิ้งให้ต้องกัดฟันสู้ชีวิตกันเองตามลำพัง การตัดสินใจดังกล่าวทำให้เธอต้องตัดฉากหนึ่งที่น่าสนใจจากหนังเวอร์ชั่นเก่า เมื่อทาสหญิงผิวดำ (เม เมอร์เซอร์ตั้งข้อสังเกตว่าพวกทหารก็ไม่ต่างอะไรกับทาส แม็คเบอร์นีย์ ซึ่งวางมาดสูงส่งในฐานะทหารฝ่ายเหนือที่จะมาช่วยปลดปล่อยทาสให้ได้รับอิสรภาพตอบว่า “ฉันไม่เคยเป็นทาสใคร” แต่คำอ้างของเขาถูกตอกกลับอย่างเจ็บแสบ แปลว่าคุณยินดีออกไปวิ่งหนีกระสุนเพราะชอบที่จะโดนไล่ยิงอย่างนั้นเหรอ” ฉากดังกล่าวปอกเปลือกความเป็นชายในช่วงสงครามได้อย่างโจ่งแจ้ง พิสูจน์ให้เห็นว่าแม็คเบอร์นีย์ ซึ่งเย่อหยิ่งและจองหอง หาได้มีสิทธิ์ควบคุมชะตากรรมของตนเองมากไปกว่าทาสทางตอนใต้สักเท่าไหร่

ถึงที่สุดแล้วคอปโปลาไม่ได้สนใจที่จะกะเทาะเปลือกเพศชาย หรือการเมืองเรื่องเชื้อชาติ สีผิว แต่กลับพุ่งเป้าไปยังความโหยหา หื่นกระหายของเพศหญิงภายใต้กรอบของสังคมที่สั่งสอน บีบรัด (ไม่ต่างจากชุดคอร์เซ็ตที่พวกเธอต้องสวมใส่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันให้ต้องเก็บกดไว้ข้างในด้วยข้ออ้างของความเป็นกุลสตรี เช่นเดียวกับโรงแรมหรูใน Lost in Translation กับ Somewhere พระราชวังใน Marie Antoinette  หรือย่านชานเมืองใน The Virgin Suicides กับ The Bling Ring ตัวละครผู้หญิงของคอปโปลามักติดกับอยู่ในโลกที่แปลกแยก โดดเดี่ยว ซึ่งฉกฉวยผลประโยชน์จากคุณ แต่ไม่เห็นคุณค่า หรือเข้าใจคุณอย่างแท้จริง สถานที่เหล่านั้นกลายเป็นทั้งแหล่งหลบภัยและกรงขังในเวลาเดียวกัน

โรงเรียนสตรีใน The Beguiled ถูกล้อมรอบด้วยโลกแห่งชายเป็นใหญ่ ซึ่งนำเสนอผ่านเสียงปืนและระเบิดที่ดังแว่วมาเป็นพักๆ เหล่าครูและนักเรียนต้องใช้ชีวิตจำเจอยู่กับบทเรียน งานบ้าน ตลอดจนกิจวัตรซ้ำซาก มีอยู่สองสามครั้งที่คนดูจะเห็นตัวละครหยิบกล้องส่องทางไกลมาสำรวจสภาพโดยรอบ ราวกับเพื่อจะค้นหาบางอย่างที่น่าสนใจ แต่กลับพบเห็นเพียงทิวทัศน์เดิมๆ ของหมู่ไม้และม่านหมอก แรงปรารถนาที่จะหลบหนีจากสภาพน่าเบื่อหน่ายงอกเงย รกชัฏไม่ต่างจากวัชพืชและพุ่มไม้รอบบ้านที่ปราศจากการดูแลรักษา การปรากฏตัวขึ้นของนายทหารหนุ่มหล่อในแวบแรกดูเหมือนจะช่วยตอบโจทย์ เป็นทางออกต่อสภาพอันน่าเวทนาในปัจจุบันโดยเฉพาะกรณีของเอ็ดวีนา ซึ่งนั่นทำให้เธอตกเป็นเหยื่อที่ถูกล่อลวงได้อย่างง่ายดาย แต่สุดท้ายสวรรค์กลับเป็นเพียงภาพฝันลมๆ แล้งๆ และในที่สุดหนังปิดฉากลงด้วยการที่เหล่าสาวน้อยสาวใหญ่ในโรงเรียนต้องหวนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ขณะที่เพศชายถูกกันไว้ให้อยู่นอกรั้ว


2 ความคิดเห็น:

Jenny กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
ก๋วยจั๊บญวนอุบล กล่าวว่า...

บทความน่าสนใจครับ