วันเสาร์, พฤษภาคม 19, 2561

Oscar 2018: Best Picture


Call Me by Your Name

เมื่อผู้กำกับชาวอิตาเลียนวัย 46 ถูกถามว่าเคยมีประสบการณ์แบบเดียวกับสองตัวละครเอกใน Call Me by Your Name หรือไม่ ลูก้า กัวดานีโน หยุดคิดไปพักหนึ่ง ผมไม่เคยมีประสบการณ์แบบนั้น” เขากล่าวขึ้นในที่สุด “แต่ผมเข้าใจความรู้สึก ผมรู้จักกลิ่นของมัน เป็นกลิ่นแบบฤดูร้อน และกลิ่นของค่ำคืนที่คุณนอนไม่หลับเพราะกระวนกระวายหนังมีฉากหลังเป็นเมืองทางตอนเหนือของอิตาลีในปี 1983 เล่าถึงชีวิตช่วงเปลี่ยนผ่านของเด็กหนุ่มวัย 17 ปี เอลิโอ (ทิโมธี ชาลาเมต์ที่ตกหลุมรัก โอลิเวอร์ (อาร์มี แฮมเมอร์หนุ่มหล่อวัย 24 ที่ย้ายมาอยู่ในบ้านเดียวกันเพื่อช่วยงานคุณพ่อศาสตราจารย์ของเขา (ไมเคิล สตูห์ลบาร์กเป็นเวลาสองเดือนระหว่างช่วงฤดูร้อน ไม่นานเกมหมาหยอกไก่เริ่มพัฒนาเป็นสัมพันธ์รักอันยิ่งใหญ่ ซึ่งย่อมจบลงด้วยการพลัดพรากอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงเมื่อโอลิเวอร์ต้องเดินทางกลับอเมริกา วายร้ายสำคัญของหนังไม่ใช่อคติทางสังคม หรือความหึงหวง แต่เป็นเวลา

กัวดานีโนเริ่มต้นด้วยการรับตำแหน่งที่ปรึกษาของหนัง ขณะเขากำลังวุ่นกับการเตรียมงานสร้าง I Am Love หนังปี 2009 ที่จะสร้างชื่อเสียงในระดับโลกให้กับเขา จากนั้นก็เริ่มพัฒนาไปสู่การเขียนบทร่วมกับ เจมส์ ไอวอรี ด้วยความหวังว่าผู้กำกับชาวอังกฤษ เจ้าของผลงานดังๆ อย่าง A Room with a View, Howards End, The Remains of the Day รวมถึงหนังเกย์พีเรียดอย่าง Maurice จะรับหน้าที่กุมบังเหียน โดยระหว่างนั้นกัวดานีโนก็ค้นพบสองนักแสดงที่จะมารับบทนำในหนัง ชาลาเมต์ได้รับคำแนะนำผ่านเอเยนต์ “เขา (เอเยนต์ของชาลาเมต์บอกว่าเพิ่งเซ็นสัญญากับเด็กหนุ่มคนนึง และผมควรลองไปคุยดูเพราะเขาเหมาะจะเล่นเป็นเอลิโอกัวดานีโนเล่า ทั้งสองพบกันครั้งแรกขณะชาลาเมต์อายุ 17 ปีเท่ากับอายุตัวละครพอดี “ทุกอย่างเกือบจะเริ่มต้นได้ฤดูร้อนนั้น แต่สุดท้ายก็ล่มนักแสดงหนุ่มกล่าว แต่เขายังไม่ยอมถอนตัวจากโครงการนี้ “บทหนังเต็มไปด้วยความซับซ้อนหลายระดับ เข้าถึงอารมณ์คน และสะท้อนภาพของประสบการณ์วัยเยาว์ได้ซื่อตรงอย่างเหลือเชื่อ

สำหรับแฮมเมอร์ การรอคอยเนิ่นนานกว่านั้นอีก “ผมเจอลูก้าครั้งแรกเมื่อ 7 ปีก่อน เราพูดคุยกันอย่างถูกคอมากเขาเล่า นัดดังกล่าวไม่ใช่การเจรจาเพื่อให้รับบทใดเป็นพิเศษ เป็นแค่การทำความรู้จักกันทั่วๆ ไป “ผมไปหาเขาที่บ้าน เรานั่งคุยกันหลายชั่วโมงเกี่ยวกับวรรณกรรม งานศิลปะ และภาพยนตร์ ตอนเดินกลับออกมา ผมรู้สึกว่าตัวเองทำคะแนนได้ดีในการสอบสัมภาษณ์ครั้งนี้ แต่ผมไม่ได้ข่าวจากเขาอีกเลยเป็นเวลา 6 ปีครึ่ง จากนั้นวันหนึ่งจู่ๆ เขาก็โทรหาผม บอกว่ามีบทที่เขาอยากให้ผมเล่น

กัวดานีโนเล่าถึงครั้งแรกที่พบสองนักแสดงนำว่า “ผมเจอพวกเขาครั้งแรกต่างสถานที่ต่างเวลากัน ผมเจออาร์มีในปี 2010 ผมเคยดูผลงานเขาใน The Social Network ของ เดวิด ฟินเชอร์ และคิดว่าเขาสุดยอดมาก ผมหลงใหลเขาในทันที ผมเจอทิโมธีในปี 2012 ที่นิวยอร์ก เขาเป็นคนเปี่ยมชีวิตชีวา ผมเชื่อมั่นตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เจอเลยว่าเขาเป็นตัวเลือกเดียวสำหรับบทเอลิโอ ถึงแม้ตอนนั้นผมจะยังไม่ได้เป็นผู้กำกับหนังเรื่องนี้ก็ตาม ทิโมธีเดินทางมาเครมา เมืองที่เราจะถ่ายทำกัน ล่วงหน้าหนึ่งเดือน เขาอยากทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม ฝึกภาษาอิตาเลียน ขี่จักรยาน และเล่นเปียโน จากนั้นหนึ่งสัปดาห์ก่อนเปิดกล้องอาร์มีก็ตามมาสมทบ ครั้งแรกที่พวกเขาเจอกันเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก เพราะพวกเขาพูดคุยกันถูกคอ ทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด

กว่าจะถึงปี 2016 กัวดานีโนก็มีผลงานกำกับสองเรื่องแล้ว นั่นคือ I Am Love และ A Bigger Splash โปรดิวเซอร์จึงเสนอให้เขารับหน้าที่คุมบังเหียน Call Me by Your Name เพราะเขารู้รายละเอียดโครงการนี้อย่างทะลุปรุโปร่ง “ตอนนั้นผมวางแผนจะทำ Suspiria การถ่ายหนังสองเรื่องติดต่อกันในปีเดียวถือเป็นความท้าทายอย่างสูง” ผู้กำกับชาวอิตาเลียนกล่าว ถึงแม้งานกำกับครั้งนี้จะให้อารมณ์เหมือนตกกระไดพลอยโจรอยู่เล็กน้อย แต่โดยเนื้อหาแล้วมันกลับสอดคล้องกับผลงานสองชิ้นก่อนหน้าเขาอย่างแนบเนียน เป็นการปิด “ไตรภาคแรงปรารถนา” ที่สมบูรณ์แบบ “ทางซันแดนซ์อยากได้คำบรรยายหนังสำหรับนำไปตีพิมพ์กัวดานีโนอธิบาย “ระหว่างครุ่นคิดอยู่ว่าจะเขียนอะไรดี จู่ๆ ผมก็นึกขึ้นได้ว่าหนังทั้งสามเรื่องล้วนพูดถึงแรงปรารถนา ซึ่งฟังดูแล้วน่าสนใจกว่าการบอกว่าทั้งหมดเป็นหนังเกี่ยวกับเศรษฐีมีอันจะกินที่ใช้เวลาพักผ่อน ดื่มด่ำชีวิตในบ้านพักตากอากาศ

กัวดานีโนพาทีมนักแสดงไปยังเมืองเครมาทางตอนเหนือของอิตาลีเพื่อเตรียมการถ่ายทำแบบเรียงตามซีน ซึ่งพบเห็นได้ไม่บ่อยนักในกองถ่ายหนัง “หนังของลูก้าจะปราศจากเส้นแบ่งชาลาเมต์กล่าว เขาไม่เคยต้องอ่านบทให้ลูก้าฟังเลย เพราะผู้กำกับชาวอิตาเลียนเชื่อในสัญชาตญาณตัวเองว่าเขาเหมาะจะรับบทนี้ “ทุกอย่างที่ปรากฏในช็อตเหมือนจะหลั่งไหลเชื่อมโยงไปยังอีกช็อตได้อย่างอิสระ บ้านเป็นเหมือนตัวละครอีกตัว เมืองเป็นเหมือนตัวละครอีกตัว ทุ่งหญ้าก็ด้วย มีอยู่ฉากหนึ่งใน I Am Love ที่ ทิลด้า สวินตัน ร่วมรักบนทุ่งหญ้า มันเป็นส่วนผสมที่สวยงามระหว่างธรรมชาติกับความเป็นมนุษย์แบบที่ผมไม่เคยเห็นในหนังมาก่อนหนังฉบับร่างแรกมีความยาว ชั่วโมง ก่อนจะถูกตัดเหลือ 2 ชั่วโมง 10 นาที โดยมีไคล์แม็กซ์ตรงบทพูดอันน่าตะลึงของสตูห์ลบาร์ก สั่งสอนลูกชายให้เชื่อฟังหัวใจตัวเอง นักแสดงชายวัย 49 ปีซึ่งโด่งดังจากหนังของสองพี่น้อง โจเอล และ อีธาน โคน เรื่อง A Serious Man ยังจำวันที่เอเยนต์ส่งบทมาให้อ่านพร้อมกับบอกว่า “อ่านให้ถึงตอนจบนะ ทีเด็ดอยู่ตรงนั้นบทพูดของศาสตราจารย์เพิร์ลแมนในตอนท้ายกินใจผู้คนมากมาย ซึ่งสตูห์ลบาร์กเองก็คาดไม่ถึง “มันช่วยกระตุ้นบทสนทนาเกี่ยวกับเลี้ยงลูก ความเมตตา และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

Call Me by Your Name จบลงด้วยอารมณ์หม่นเศร้า เมื่อฤดูร้อนสิ้นสุดลงพร้อมกับหัวใจที่แตกสลาย แต่ในนิยายของ อองเดร อาซิมัน เรื่องราวระหว่างเอลิโอกับโอลิเวอร์ยังคงดำเนินต่อไปอีก 15-20 ปีต่อมา แฮมเมอร์บอกว่ากัวดานีโนเคยพูดเหมือนเป็นมุกตลกว่าอยากทำภาคต่อ “แต่ตอนนี้ดูท่าเหมือนเขาจะคิดจริงจัง” กัวดานีโนได้พูดคุยกับอาซิมันเกี่ยวกับโอกาสในการสร้างภาคต่อ และเกริ่นโครงการดังกล่าวกับ ดาโกตา จอห์นสัน ไว้แล้ว ซึ่งเธอตอบตกลงว่ายินดีจะมาร่วมงานด้วย... ความรักฤดูร้อนของเอลิโอกับโอลิเวอร์สิ้นสุดลงแล้วก็จริง แต่เรื่องราวชีวิตของพวกเขาอาจกลับมาโลดแล่นบนจออีกครั้งในไม่กี่ปีข้างหน้า


Get Out

หลังจากหนังดำเนินเรื่องไปได้ 30 นาที คริส (เดเนียล คาลูยา) หนุ่มผิวดำที่เดินทางมาเยี่ยมครอบครัวของแฟนสาวผิวขาวที่บ้านในชานเมือง ก็เริ่มตระหนักว่ามีบางอย่างไม่ชอบมาพากลในครอบครัวอาร์มิเทจ คนสวนผิวดำประจำบ้าน วอลเตอร์ (มาร์คัส เฮนเดอร์สัน) พุ่งตรงเข้าหาเขากลางดึกราวกับกำลังวิ่งไล่ล่าศัตรูที่มองไม่เห็น แม่บ้านผิวดำ จอร์เจียนา (เบ็ตตี้ เกเบรียลจ้องดูตัวเองในกระจกอย่างเหม่อลอยเหมือนซอมบี้ จริงอยู่สองสามีภรรยาผิวขาวเจ้าของบ้าน มิสซี (แคทเธอรีน คีเนอร์กับ ดีน (แบรดลีย์ วิทฟอร์ด) ตระหนักดีว่าในยุคสมัยนี้การมีคนรับใช้ผิวดำในบ้านสุดหรูอาจดูประหลาด และไม่ค่อย ถูกต้องทางการเมืองมากนัก แต่พวกเขายืนกรานว่าทั้งจอร์เจียนาและวอลเตอร์เป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัว ไม่ใช่แค่คนรับใช้ หลังจากยังไม่หายงุนงงและเสียวสันหลังกับพฤติกรรมแปลกๆ ของวอลเตอร์กับจอร์เจียนา คืนหนึ่งคริสได้แอบดอดออกจากห้องนอนมาสูบบุหรี่ แต่ถูกมิสซีจับได้ ก่อนหน้านี้มิสซี ซึ่งเป็นจิตแพทย์ เคยเสนอจะช่วยรักษาอาการติดบุหรี่ของคริสด้วยการสะกดจิต ซึ่งแน่นอนทำให้คนดู รวมถึงคริสตระหนักได้ถึงลางร้ายบางอย่าง แต่เขาจะทำอะไรได้ในเมื่อนี่เป็นบ้านของเธอ และแฟนสาวเขาก็เป็นลูกสาวเธอ

มิสซีฉกฉวยประโยชน์จากสถานการณ์ บีบบังคับให้คริสมานั่งพูดคุยถึงอันตรายของบุหรี่ ก่อนจะเปลี่ยนไปหัวข้อไปยังเรื่องส่วนตัวที่เจาะลึกขึ้น (ถึงตอนนี้เสียงช้อนขูดกับถ้วยชาจะดังชัดเจนอยู่ในแบ็คกราวด์) เช่น การตายของแม่คริสในอุบัติเหตุรถชน ตลอดจนความทรงจำของคริสว่าเขาไม่สามารถช่วยเหลือเธอได้ เขาเริ่มต้นร้องไห้ แม้ใจหนึ่งจะพยายามห้ามตัวเองไม่ให้เปิดเผยความรู้สึกกับคนแปลกหน้า แต่เขาได้ก้าวข้ามเส้นไปแล้ว เขาถูกสะกดจิตอย่างสมบูรณ์แบบ จากนั้นเมื่อมิสซีสั่งว่า “จมลงไปในพื้น” ภาพที่ตามมานอกจากจะชวนสะดุ้งแล้ว ยังน่าสะพรึงจนขนหัวลุก คริสหล่นจากเก้าอี้สู่ความมืดมิดไร้ขอบเขต ล่องลอยท่ามกลางหลุมดำอันว่างเปล่า จ้องมองขึ้นไปยังจอเล็กๆ ซึ่งเชื่อมต่อกับโลกภายนอก จอที่ค่อยๆ ห่างไกลออกไปทุกขณะ เช้าวันรุ่งขึ้นคริสพยายามปัดเหตุการณ์ทั้งหมดว่าเป็นแค่ฝันร้าย แต่ฉากดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นว่ามิสซีมีอำนาจควบคุมคริสอย่างสมบูรณ์ เป็นหลักฐานมัดตัวชิ้นแรกว่าบ้านอาร์มิเทจมีเจตนาที่จะมุ่งร้ายหมายขวัญ และขณะเดียวกันก็ช่วยยกระดับ Get Out ขึ้นไปอีกขั้น เหนือหนังสยองขวัญเพื่อความบันเทิงทั่วไป หลุมดำมีความหมายในวงกว้างด้วย มันเป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนประสบการณ์ของคนผิวดำในประเทศอเมริกา การถูกผลักดันให้เป็นพลเมืองชั้นสอง สิ้นไร้ทางออก และไม่ว่าจะตะโกนดังแค่ไหน สุดท้ายระบบจะหุบปากพวกเขาให้เงียบ

หนังใช้แนวทางสยองขวัญเป็นกลยุทธ์ในการส่องขยายอคติทางเชื้อชาติในอเมริกาให้ยิ่งเด่นชัด สำรวจประเด็นเกี่ยวกับการกลืนกินทางวัฒนธรรม ตลอดจนประวัติศาสตร์อันเลวร้ายของการค้าทาส การแบ่งแยกสีผิว รวมไปถึงการใช้กำลังรุนแรงของตำรวจผิวขาวกับคนผิวดำ ผ่านการต่อสู้ระหว่างคริสกับครอบครัวของแฟนสาว Get Out เป็นหนังที่มีส่วนช่วยนิยามภาพรวมทางสังคมของปี 2017 และจะยืนหยัดอยู่คู่โลกภาพยนตร์ไปอีกนาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฉากสะกดจิตอันน่าจดจำ ซึ่งจะกลายเป็นฉากคลาสสิกตลอดกาลในหนังสยองขวัญอย่างไม่ต้องสงสัย ความน่ากลัวของฉากดังกล่าวเป็นผลมาจากความสิ้นไร้กำลังที่จะขัดขืนของคริส จริงๆ ก็ตั้งแต่ก่อนมิสซีจะควบคุมเขาด้วยซ้ำ รวมไปถึงความรู้สึกในวันต่อมา เมื่อเขาไม่อาจอธิบาย หรือบอกกล่าวใครได้ถึงการถูกล่วงละเมิด ความชั่วร้ายในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่พลังเหนือธรรมชาติ หรือฆาตกรต่อเนื่อง แต่เป็นแนวคิดเหยียดเชื้อชาติของเหล่าตัวละครผิวขาว “คุณจะพบด้านมืดแม้กระทั่งในพวกลิเบอรัลผิวขาว หมัดเด็ดของหนังเรื่องนี้อยู่ตรงการบอกว่าทัศนคติเหยียดเชื้อชาติฝังแน่นในตัวมนุษย์ และพวกคนที่เปิดกว้างจริงๆ ย่อมจะไม่ยกหางตัวเองพีลกล่าว “หลุมดำดิ่งเปรียบเสมือนเรือนจำที่เราจับคนผิวดำใส่ลงไปนอกจากนี้พีลยังบอกอีกว่าหลุมดำดิ่งอาจเป็นสัญลักษณ์แทนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในฮอลลีวู้ดได้อีกด้วย เมื่อเหล่าคนดำนั่งดูเรื่องราวบนจอ แต่กลับไม่เห็นตัวเองปรากฏอยู่บนนั้นเพราะทุกอย่างถูกควบคุมโดยคนผิวขาว อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในอนาคตดูเหมือนจะดีขึ้น สังเกตได้จากความสำเร็จของหนังอย่าง Get Out และ Hidden Figures เมื่อปีก่อน “เมื่อใดก็ตามที่คุณนำความจริงมาถ่ายทอดแบบที่คนไม่เคยเห็นมาก่อน ความสำเร็จก็เป็นเรื่องที่คาดหวังได้

ในช่วงเวลาที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เลือกจะไม่ประณามกลุ่มขวาจัดที่เดินขบวนพร้อมธงสวัสดิกะเพราะพวกเขาเป็นฐานเสียงสำคัญ Get Out เข้าฉายได้ถูกจังหวะและเวลา ความสำเร็จของมันพิสูจน์ให้เห็นว่าคนดูหิวกระหายบทสำรวจอันซับซ้อน ลงลึกเกี่ยวกับประเด็นจริงจังอย่างอคติทางเชื้อชาติ “มันสะท้อนความรู้สึกลึกๆ ของผมจากการเป็นคนผิวสีในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ซึ่งควบคุมโดยคนผิวขาว” เดเนียล คาลูยา นักแสดงนำชาวอังกฤษกล่าว “ทุกอย่างไม่ได้เปิดเผยชัดเจน ปกติเวลาดูหนังดูละคร เราจะเห็นท่าทีเหยียดเชื้อชาติแบบสุดโต่ง คนส่วนใหญ่จะคิดว่าการเหยียดสีผิวเป็นสิ่งที่คุณทำหรือพูด แทนที่จะคิดว่ามันเป็นความเชื่อข้างในต่างหากแต่ที่สำคัญกว่านั้น Get Out ยังเป็นหนังสยองขวัญชั้นยอด เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง Guess Who’s Coming to Dinner กับ The Stepford Wives และ Rosemary’s Baby “เคล็ดลับ คือ อย่าเปิดเผยความบ้าคลั่งเร็วเกินไปจนคนดูไม่เชื่อว่าทำไมตัวละครถึงไม่หนีออกมาพีลอธิบาย “ผมอยากไม่อยากให้ตัวเอกในหนังทำอะไรโง่ๆ แบบที่เราจะไม่ทำ หากตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ความรู้สึกไม่ชอบมาพากลเริ่มต้นเมื่อคริสได้พบกับเหล่าคนรับใช้ในบ้านอาร์มิเทจ เพราะพวกเขาดูพิลึก ไม่เหมือนคนผิวดำปกติทั่วไป

เช่นเดียวกับหนังสยองขวัญชั้นยอดอีกหลายเรื่อง อาทิ Dawn of the Dead ของ จอร์จ โรเมโร ที่สำรวจสภาวะสังคมขณะสงครามเวียดนามกำลังร้อนระอุ หรือ The Last House on the Left ของ เวส คราเวน ที่เจาะลึกความรุนแรงในสันดานมนุษย์ จุดเด่นของ Get Out อยู่ตรงที่มันเป็นหนังสยองขวัญกระตุ้นความคิดคนดู จนนำไปสู่การวิเคราะห์ ถกเถียง มากกว่าจะมอบแค่ความบันเทิงอันฉาบฉวย


Dunkirk

ครั้งแรกที่ คริสโตเฟอร์ โนแลน กับภรรยารับรู้เกี่ยวกับการอพยพทหารออกจากดันเคิร์ก พวกเขารู้สึกประหลาดใจว่าทำไมเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์แบบนี้ เหตุการณ์ซึ่งช่วยปลุกกระแสสำนึกเกี่ยวกับตัวเรา รวมไปถึงอารมณ์แห่งความเป็นชาติ ถึงไม่เคยถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในยุคหลังๆ เลย (ล่าสุด คือ หนังเรื่อง Dunkirk เมื่อปี 1958 นำแสดงโดย ริชาร์ด เอทเทนโบโรห์ และ จอห์น มิลส์) สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะดันเคิร์กถือเป็นความพ่ายแพ้ ไม่ใช่ชัยชนะ และการจะระดมเงินทุนฮอลลีวู้ดเพื่อมาสร้างหนังเกี่ยวกับความพ่ายแพ้จึงเป็นเรื่อง “ท้าทายอย่างยิ่ง โชคดีที่โนแลนสั่งสมแต้มบุญเอาไว้ท่วมหัวขณะอายุเพียง 46 ปี หนังทุกเรื่องของเขาประสบความสำเร็จทางรายได้อย่างท่วมท้น ไม่ใช่แค่ไตรภาคแบทแมนเท่านั้น เช่น Inception ทำเงินสูงถึง 825 ล้านทั่วโลกจากทุนสร้าง 160 ล้านเหรียญ ดังนั้นเขาไม่จำเป็นต้องนำไอเดียไปเสนอกับสตูดิโอก่อนเพื่อขอไฟเขียว แต่สามารถเริ่มขั้นตอนเขียนบทได้เลย ซึ่งก็ใช้เวลาไม่นาน เพราะบทเรื่อง Dunkirk มีความยาวแค่ 76 หน้า และมีบทสนทนาเพียงประปราย (สัญญาที่เขาตกลงทำกับสตูดิโอ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส รับประกันค่าตอบแทนมหาศาล นั่นคือ ค่าจ้าง 20 ล้านบวกกับส่วนแบ่งรายได้ 20%)

Dunkirk แบ่งเรื่องเป็นสามส่วนเท่าๆ กัน ส่วนแรกเล่าเหตุการณ์หนึ่งสัปดาห์บนชายหาด ติดตามชีวิตนายทหารหนุ่มชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งที่พยายามดิ้นรนเพื่อหลบหนีออกจากดันเคิร์ก หลังกองทัพนาซีเริ่มบุกเข้ามาประชิดทุกขณะ ส่วนที่สองเล่าถึงความพยายามจะแล่นเรือไปดันเคิร์กของพลเรือน (มาร์ค ไรแลนซ์กับลูกชาย (ทอม กลินน์-คาร์นีย์) และเพื่อนของเขา (แบร์รี โคแกน) เพื่อรับนายทหารบางส่วนกลับมาอังกฤษ เหตุการณ์ทั้งหมดกินเวลาราวๆ หนึ่งวัน ส่วนที่สามโฟกัสไปยังภารกิจหนึ่งชั่วโมงของนักบินรบอังกฤษ (ทอม ฮาร์ดี้ขณะไล่ล่าถล่มกองบินทิ้งระเบิดของเยอรมัน ซึ่งพยายามจะตามเก็บเหล่าทหารบนชายหาดและจมเรือที่แล่นมาช่วยเหลือ หนังตัดสลับสามเหตุการณ์ไปมา เล่นสนุกกับเวลา และหลายครั้งเรื่องราวในแต่ละส่วนก็ซ้อนทับกัน หรือมีผลต่อเนื่องกัน ช่วยกระตุ้นคนดูให้ลุ้นระทึกยิ่งกว่าการเล่าเรื่องเรียงตามลำดับเวลา นอกจากนี้การตัดสลับไปมายังช่วยจำลองอารมณ์ของความโกลาหลวุ่นวาย ทำให้คนดูรู้สึกเหมือนถูกจับโยนเข้าไปอยู่ในภาวะสงครามอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็ช่วยตอกย้ำผลกระทบบางอย่างที่ตามมาให้เข้มข้นขึ้น เช่น นายทหารที่รับบทโดย ซิลเลียน เมอร์ฟีย์ อยู่ในสภาพสติแตกจากพล็อตส่วนที่สอง แต่เมื่อหนังตัดไปยังพล็อตส่วนแรกคนดูกลับเห็นเขาในสภาพเข้มแข็ง ไม่หวั่นเกรง

เหล่าตัวละครทหารหนุ่มในพล็อตแรกรับบทโดยนักแสดงหน้าใหม่เกือบทั้งหมด นำทีมโดย ฟินน์ ไวท์เฮด ความสดใหม่ (นี่เป็นหนังเรื่องแรกของเขาและบุคลิกแบบเด็กหนุ่มข้างบ้านทำให้เขาคว้าบทนี้มาครอง เนื่องจากโนแลนต้องการนักแสดงมือใหม่ ซึ่งอาจประหม่า ตื่นเต้นกับการมาร่วมงานในหนังฟอร์มยักษ์ เต็มไปด้วยดาราดังๆ มากมาย ความตระหนกดังกล่าวจะทำให้พวกเขาดูเปราะบางเวลาอยู่บนจอ “มันยากลำบากมากไวท์เฮดกล่าว “แต่เขาอยากได้คนที่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วแบบเดียวกับเหล่าทหารในเรื่อง อย่างไรก็ตาม ข่าวที่สร้างความฮือฮาสูงสุดคงหนีไม่พ้นการเลือก แฮร์รี สไตลส์ ดาวเพลงป็อปสุดหล่อจากวงบอยด์แบนด์ชื่อดัง ขวัญใจเด็กสาวทั่วโลก One Direction มารับบทอเล็กซ์ นายทหารหนุ่มอีกคนที่พยายามจะหนีตายจากดันเคิร์ก โนแลนบอกเขาไม่รู้จักสไตลส์มาก่อน และคัดเลือกจากทักษะการแสดงล้วนๆ “เขาทำให้ผมรู้สึกประทับใจได้ไม่ลืม” โนแลนกล่าว

โนแลนต้องการให้หนังสร้างประสบการณ์สมจริง เขาจึงตัดสินใจถ่ายทำโดยใช้กล้องไอแม็กซ์ ไม่เปิดเผยให้เห็นทหารเยอรมัน (เช่นเดียวกับทหารบนชายหาด คนดูจะสัมผัสได้ถึงเสียงระเบิด กระสุนปืนดังไปมารอบตัว แต่ไม่เห็นว่ามาจากจุดไหน หรือใครเป็นคนยิง) และถ่ายทำบนชายหาดดันเคิร์กจริงๆ ในช่วงเวลาเดียวกับตอนเกิดเหตุ กำแพงกันคลื่น ซึ่งจะช่วยให้เรือสามารถเข้าเทียบท่าในเขตน้ำตื้นได้ ถูกสร้างขึ้นใหม่ เครื่องบินรบของจริงจากยุคสมัยนั้นถูกนำมาใช้เข้าฉาก และตัวโนแลนเองก็ถือโอกาสขึ้นไปนั่งบนนั้นเพื่อสัมผัสความรู้สึกของนักบิน ในบรรดาเรือที่นำมาเข้าฉาก มีหลายลำเป็นเรือที่ใช้จริงในเหตุการณ์เมื่อปี 1940 และถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีโดยสมาคมเรือเล็กแห่งดันเคิร์ก ทั้งหมดนี้เป็นเพราะโนแลนต้องการหลีกเลี่ยงการใช้เทคนิคพิเศษด้านภาพให้มากที่สุด โดยในฉากบนชายหาดซึ่งมีตัวประกอบเข้าฉากมากถึง 6,000 คน เขาก็ยังเลือกใช้กระดาษแข็งตัดเป็นรูปทหาร หรือพาหนะ แทนการใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิก

ความแตกต่างของ Dunkirk จากหนังสงครามทั่วไปอยู่ตรงโนแลนไม่สนใจจะหวนรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต ตรงข้ามเขามองว่านี่เป็นหนังเกี่ยวกับการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดมากกว่าหนังสงคราม จนแทบจะใกล้เคียงกับการเป็นหนังสยองขวัญ โดยเน้นย้ำไปยังขั้นตอนการอยู่รอด แทนที่จะพูดถึงภาพรวมทางการเมืองในมุมกว้าง (ซึ่งคนดูสามารถหาชมได้จาก Darkest Hour ที่โฟกัสไปยังเหตุการณ์เดียวกัน แต่ถ่ายทอดในมุมมองของนักการเมืองที่บัญชาความเป็นความตายของเหล่าทหาร) “นี่เป็นเรื่องราวที่เข้าถึงคนทุกหมู่เหล่า ใครๆ ก็สามารถเข้าใจได้ เหมือนตอนที่เหล่าชาวยิวถูกทหารของอียิปต์ไล่ต้อนมาจนมุมที่ทะเลแดงโนแลนกล่าว นอกจากนี้มันยังอาจสร้างอารมณ์ร่วมสมัยได้อย่างเหลือเชื่ออีกด้วย เมื่อพิจารณาจากวิกฤติผู้อพยพในยุโรปช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรือลำแล้วลำเล่าขนคนจากประเทศหนึ่งมายังอีกประเทศหนึ่งเพื่อหนีตายจากภัยสงคราม

โนแลนยอมรับว่านี่เป็นหนังที่เต็มเปี่ยมด้วยความหวังมากที่สุดเรื่องหนึ่งของเขา “Interstellar ก็เปี่ยมความหวัง แต่มันเริ่มต้นมาจากจุดจบของโลก ผมพยายามจะไม่คิดในแง่ประเด็นเนื้อหามากนักเวลาทำหนัง เพราะถ้าผมสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดง่ายๆ ได้แล้ว ผมคงไม่จำเป็นต้องทำหนังออกมา แต่เมื่อได้มองย้อนกลับไปยังหนังที่เสร็จสมบูรณ์ สำหรับผมนี่เป็นหนังที่เกี่ยวกับประสบการณ์ที่ดันเคิร์ก เกี่ยวกับการร่วมมือร่วมใจของชุมชนเพื่อผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมแห่งปัจเจกภาพที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะพูดถึงมหาเศรษฐีที่ ซิลิคอน วัลเลย์ หรือนักการเมือง เรากำลังอาศัยอยู่ในยุคสมัยของแนวคิดตัวใครตัวมัน ซึ่งทำลายแนวคิดเกี่ยวกับชุมชน เรากำลังเอนเอียงเข้าหาฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากไป บางครั้งความสมัครสมานสามัคคีก็ช่วยให้เราสามารถสร้างปาฏิหาริย์ได้


Darkest Hour

การเล่าเรื่องราวของ วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีชาวอังกฤษที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สร้างความประหม่าให้กับมือเขียนบท/โปรดิวเซอร์ แอนโทนีย์ แม็คคาร์เทน “เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้คำนักทำหนังที่เกิดในนิวซีแลนด์กล่าว “ฉะนั้นคุณต้องระมัดระวังอย่างมากเวลาจะยัดคำพูด มุกตลก หรือคำพังเพยใส่ปากเขา ผมเลยพับเก็บโครงการไปพักใหญ่ ผมไม่แน่ใจว่าตัวเองมีความมั่นใจพอจะเขียนถึงเขาไอเดียแรกแวบเข้ามาในหัวแม็คคาร์เทนเมื่อ 10 ปีก่อน แต่กว่าเขาจะได้เริ่มต้นเขียนก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปีต่อมาตามคำขอของเพื่อน หลังจากเขาเพิ่งปิดจ๊อบ The Theory of Everything เล่าถึงประวัติชีวิตของ สตีเวน ฮอว์กิง นักฟิสิกส์ชื่อดังระดับโลก ซึ่งทำให้เขาได้เข้าชิงออสการ์สองสาขาในฐานะคนเขียนบทและโปรดิวเซอร์ “ผมอยากสะท้อนให้คนดูเห็นภาวะผู้นำ รวมไปถึงการวิเคราะห์พลังของคำพูดแม็คคาร์เทนกล่าว “ตอนแรกผมคิดว่าคงต้องรอดูกันไปอีกสักพักว่าเราจะสามารถหาใครที่สนใจอยากสร้างหนังเรื่องนี้ได้ไหม แต่โชคชะตาดูเหมือนจะเป็นใจ คำถามว่าผู้นำประเทศควรต้องมีคุณสมบัติเช่นไรบ้างเริ่มกลายเป็นคำถามร่วมสมัยที่ทุกคนให้ความสนใจ นั่นเป็นสิ่งที่ผมไม่ทันคาดเดาจริงๆ แน่นอน เขาหมายถึงชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์

ประสบการณ์อันน่าประทับใจจากการสร้าง The Theory of Everything ทำให้แม็คคาร์เทนนำโครงการไปเสนอกับ เอริค เฟลเนอร์ ของสตูดิโอ เวิร์คกิ้ง ไทเทิล ซึ่งไม่เสียเวลาลังเลใดๆ ในการตัดสินใจโดดมานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการสร้าง ใครก็ตามที่ได้อ่านบทหนังของแม็คคาร์เทนพากันต้องมนตร์เสน่ห์ เปิดอ่านหน้าต่อหน้าชนิดวางไม่ลง เชอร์ชิลของแม็คคาร์เทนไม่เพียงจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่เปี่ยมวาทศิลป์จนสามารถโน้มน้าวเหล่านักการเมืองให้สนับสนุนเขาในการยืดหยัดต่อสู้กับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เท่านั้น แต่บทหนังยังสะท้อนให้เห็นมุมมองด้านที่คนส่วนใหญ่ไม่ทันตระหนักอีกด้วย “มีอีกหลายด้านที่ไม่เคยถูกสำรวจเกี่ยวกับเชอร์ชิลแม็คคาร์เทนกล่าว “คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักเขาในมาดตาแก่ขี้ตะหนี่ สูบซิการ์จัด ชอบดื่มสก็อตช์กับโซดา เป็นผู้ชายอารมณ์บูดมาตั้งแต่เกิด แต่ปรากฏว่านั่นเป็นแค่เศษเสี้ยวของตัวตนที่แท้จริงหลังจากผมได้ศึกษาข้อมูลหลายๆ ทาง อารมณ์ขันและไหวพริบของเขาไม่เคยถูกถ่ายทอดบนจอหนังมาก่อน เขาเป็นคนโรแมนติกและอ่อนโยนกับภรรยาอย่างมาก เธอเป็นรักแท้ของชีวิตเขา

ยังอีกด้านหนึ่งที่มือเขียนบท/โปรดิวเซอร์เพิ่งจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเชอร์ชิล และถูกถ่ายทอดออกมาบนจอได้อย่างงดงาม เข้มข้น และทรงพลังโดย แกรี โอลด์แมน จนทำให้เขากลายเป็นตัวเต็งบนเวทีออสการ์ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม แม็คคาร์เทนค้นพบว่าเชอร์ชิลหาใช่ “นักรบหัวดื้อที่ชอบหาเรื่องคนและกระสันต์อยากกระโจนเข้าสู่สงครามเหมือนอย่างที่บางคนเข้าใจ แต่ชายคนนี้ยังถูกกลืนกินด้วยความคลางแคลงใจไม่รู้จบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางสภาวการณ์อันคับขัน เพราะการตัดสินใจของเขาจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อชะตากรรมของประเทศอังกฤษ “การได้เห็นความโลเลในตัวเขาทำให้ผมรู้สึกเหมือนตาสว่างเป็นครั้งแรก มันพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเป็นตัวละครที่น่าสนใจ และยิ่งใหญ่กว่าที่ผมเคยคิดไว้เสียอีก ในความเห็นผมคุณสมบัติสำคัญของการเป็นผู้นำ คือ ความสามารถที่จะเปลี่ยนจุดยืน เพราะคนที่หัวรั้น ดันทุรัง ไม่เคยยอมรับฟังความเห็นของใครอื่นมักจะฉุดรั้งให้โลกของเราต้องพบกับหายนะไม่รู้จักจบจักสิ้น

บางทีนี่เองอาจเป็นหนึ่งในความสำเร็จของหนังเรื่อง Darkest Hour เปิดเผยคุณสมบัติที่สำคัญ จำเป็นอย่างคาดไม่ถึงของผู้นำ โดยในเวลาเดียวกันก็ช่วยมอบความเป็นมนุษย์ เปี่ยมเลือดเนื้อและจิตใจให้กับเขา การจะดึงความสนใจของคนดูเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆเฟลเนอร์กล่าว “ถ้าคุณอยากจะถ่ายทอดเรื่องราวของคนที่มีตัวตนอยู่จริง คุณจำเป็นต้องหาแง่มุมที่เปี่ยมชีวิตชีวา แง่มุมที่คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้ ซึ่งจะทำให้มันแตกต่างจากหนังชีวประวัติดาษๆ และ Darkest Hour ตอบโจทย์เหล่านั้นได้อย่างครบถ้วน” จุดแรกที่คนเขียนบทและทีมผู้สร้างเดินหมากได้อย่างถูกต้อง คือ การเลือกโฟกัสไปยังช่วงเวลาไม่กี่วัน แต่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เป็นจุดพลิกผันของสงครามโลกครั้งที่สอง แทนที่จะลากยาวชีวิตของเชอร์ชิลตั้งแต่เด็กยันแก่ นอกจากนี้หนังยังเลือกก้าวข้ามรายละเอียดเกี่ยวกับการอพยพทหารที่ดันเคิร์ก แล้วหันไปโฟกัสยังแง่มุมการเมืองที่เชอร์ชิลต้องเผชิญ รับมือ และแก้ปัญหาไปทีละเปลาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกกดดันจากฝ่ายตรงข้ามในพรรคตัวเองให้เจรจาสันติภาพกับฮิตเลอร์

สาเหตุหนึ่งที่แม็คคาร์เทนเลือกที่จะไม่ลงลึกเกี่ยวกับการอพยพทหารออกจากดันเคิร์กเนื่องจากเขาตระหนักว่ามีหนังอีกเรื่องกำลังพูดถึงเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว “เรารู้ว่า คริส โนแลน มีเงินทุนมากกว่าเราหลายเท่าตัว และเขาวางแผนจะเจาะลึกเกี่ยวกับการอพยพทหารที่ดันเคิร์ก มันฟังดูเป็นเรื่องไม่เข้าท่า ถ้าเราจะพยายามจำลองฉากนั้นแบบเผินๆ แตะแค่เศษเสี้ยวของสิ่งที่เขาวางแผนจะสร้าง และท้ายที่สุดมันไม่จำเป็นต่อเรื่องราวที่เราจะถ่ายทอด

อย่างไรก็ตาม ฉากสำคัญฉากหนึ่งที่แม็คคาร์เทนตัดสินใจเก็บไว้ นั่นคือ ฉากที่เชอร์ชิลหลบไปขึ้นรถไฟใต้ดินในลอนดอนเพื่อรับฟังเสียงของชาวบ้านร้านตลาดแล้วนำมาช่วยประกอบการตัดสินใจว่าควรจะนำพาประเทศไปยังทิศทางใด แน่นอน ฉากนี้ถูกนำขึ้นมาถกเถียงทุกครั้งที่ Darkest Hour เดินสายฉายตามเทศกาลหนัง “บางคนวิพากษ์ฉากดังกล่าวว่าเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ เป็นความจงใจเร้าอารมณ์เกินไปจนเห็นนักเขียนชักใยอยู่ข้างหลังเขากล่าว “สัญชาตญาณแรกของคนจะคิดว่ามันไม่มีทางเกิดขึ้นจริงหรอก แต่เราไม่พบข้อมูลครบถ้วนเกี่ยวกับกิจกรรมของเชอร์ชิลในวันนั้น ด้วยเหตุนี้จึงอาจเป็นไปได้ที่เขาจะทำเรื่องอะไรแบบนั้น เขาขึ้นชื่อเรื่องชอบหายตัวไปโดยไม่บอกใคร หนังจำเป็นต้องมีฉากดรามาที่จะสะท้อนให้เห็นว่าเสียงของประชาชน โดยเฉพาะชนชั้นแรงงาน มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจไม่ยอมแพ้ของเขา รัฐบาลจัดทำแบบสอบถาม และชนชั้นแรงงานยืนกรานที่จะสู้ ถามว่าเหตุการณ์ในรถใต้ดินเกิดขึ้นจริงไหม คำตอบคือเราไม่รู้แน่ ภาพยนตร์ไม่ใช่ความจริงแท้


Three Billboards Outside Ebbing, Missouri

ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้น 20 ปีก่อน เมื่อผู้กำกับ/เขียนบทชาวไอริช มาร์ติน แม็คโดนาห์ (In Bruges, Seven Psychopaths) ได้แรงบันดาลใจในการสร้าง Three Billboards Outside Ebbing, Missouri จากการเห็นป้ายบิลบอร์ดเขียนข้อความใกล้เคียงกับในหนัง ขณะเขานั่งรถทัวร์ตระเวนอเมริกา “มันช่างเจ็บปวด มืดหม่น และเศร้ามากๆ ตอนนั้นผมคิดในใจว่า ‘ใครกันนะที่จ้างให้เขียนข้อความที่เจ็บปวดและเต็มไปด้วยความโกรธแค้นแบบนี้’ ผมเลิกคิดถึงมันไป 10 หรือ 11 ปีได้ แต่มันยังแทรกตัวอยู่ในจิตสำนึกผมเสมอมาแม็คโดนาห์เล่า จนในที่สุดแรงบันดาลใจดังกล่าวก็เดินทางมารวมตัวกับแรงปรารถนาที่จะทำหนังซึ่งมีตัวเอกเป็นผู้หญิง “หนังสองเรื่องก่อนหน้านี้ของผมมีตัวเอกเป็นผู้ชาย แต่บทละครเวทีเรื่องแรกๆ ของผมไม่ใช่แบบนั้น ผมตั้งใจว่าหนังเรื่องนี้จะต้องมีผู้หญิงเป็นตัวนำที่โดดเด่น

นั่นกลายเป็นจุดกำเนิดของ มิลเดร็ด เฮย์ส คุณแม่ของเด็กสาววัยรุ่นที่โดนฆ่าข่มขืนเมื่อหลายเดือนก่อน แต่ตำรวจกลับนิ่งเฉย ปล่อยให้มันกลายเป็นอีกหนึ่งคดีที่ไม่อาจคลี่คลายได้ ด้วยความโกรธแค้นเธอจึงลุกขึ้นมาเช่าป้ายบิลบอร์ดสามป้าย เขียนข้อความโจมตีนายอำเภอ “พอไอเดียเริ่มต้นบังเกิด ผมก็เขียนเรื่องราวได้อย่างไหลลื่น เธอเป็นตัวละครที่เข้มแข็ง มุ่งมั่น แต่ในเวลาเดียวกันก็เต็มไปด้วยความโศกเศร้า เจ็บปวด โกรธแค้น ผมอยากสำรวจถึงประเด็นเหล่านั้นผ่านตัวละครที่ไม่เกรงกลัวใคร ไม่ก้มหัวให้ใคร และไม่ยอมหยุดจนกว่าจะตายกันไปข้างเหมือนในหนังเรื่อง Jaws เธอพุ่งเข้าชนจนกว่าจะมีใครยอมลงมือทำอะไรสักอย่างแม็คโดนาห์กล่าว อย่างไรก็ตาม แม้ความโกรธแค้นของมิลเดร็ดจะเป็นพลังหลักในการผลักดันเรื่องราว แต่หนังมีประเด็นมากกว่าแค่การล้างแค้น “นอกจากจะเต็มไปด้วยความโกรธแล้ว ยังมีอย่างอื่นอีกที่ผสมเอาไว้ ผมว่านั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้หนังได้เสียงตอบรับอย่างอบอุ่น มันสะท้อนความโกรธแค้น ซึ่งคนดูสามารถอินได้ไม่ยากโดยเฉพาะกับบริบทของโลกในมุมกว้าง แต่มันก็สะท้อนให้เห็นความหวังไปในตัวด้วย

ความขัดแย้งระหว่างมิลเดร็ด (ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์) กับนายอำเภอวิลโลห์บี (วู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน) และลูกน้องหัวร้อน ชอบใช้กำลัง ดิ๊กสัน (แซม ร็อกเวล) เป็นเหมือนสงครามระหว่างสองกองทัพซึ่งต่างก็มีเหตุผลและความชอบธรรมในระดับหนึ่ง นำไปสู่ความตึงเครียดที่เริ่มขยายผลเป็นวงกว้าง สร้างความเดือดร้อนไปยังบุคคลอื่นที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เมื่อไม่มีสิ่งใดจะสามารถดับไฟแค้นในใจมิลเดร็ดได้ เช่นเดียวกับความเกลียดชังในใจของดิ๊กสัน ทันใดนั้นเส้นศีลธรรมก็เริ่มเลือนลาง ตัวละครที่คนดูเอาใจช่วยเริ่มก้าวข้ามเส้นไปสู่ดินแดนสีเทา ขณะตัวละครที่คนดูชิงชังกลับเริ่มเดินหน้าสู่เส้นทางของการไถ่บาป “นี่ไม่ใช่หนังฮอลลีวู้ดทั่วไปเกี่ยวกับฮีโร่เอาชนะผู้ร้าย ความดีชนะความเลว แต่เป็นหนังที่ต่างฝ่ายต่างฟาดฟันกันเละเทะจนแยกไม่ออกว่าใครดีใครร้าย ซึ่งผมหวังว่าจะทำให้มันน่าสนใจมากกว่า” แม็คโดนาห์กล่าว ก่อนจะเสริมว่า “เป็นคุณจะทำยังไงเมื่อพบว่าความสูญเสีย ความโศกเศร้า และความโกรธที่บ่มเพาะขึ้นภายในตัวคุณไม่สามารถระบายออกไปได้ คุณจะเลือกหนทางสร้างสรรค์ หรือทำลายล้างเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้เกิดความก้าวหน้า มันเป็นไอเดียที่น่าสนใจในการสำรวจว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อคุณตกอยู่ในสภาวการณ์ที่สิ้นไร้ความหวัง จึงตัดสินใจก่อกวนให้เกิดแรงกระเพื่อมจนกว่าแสงแห่งความหวังจะกลับมาอีกครั้ง ผมคิดว่านี่เป็นเหตุผลที่หนังเรื่องนี้แตกต่างจากหนังอาชญากรรมส่วนใหญ่ คำถามที่ดังก้องอยู่ในหัวตลอดเวลา คือ ‘ถ้าเกิดคดีนี้ไม่อาจสะสางให้กระจ่างได้ล่ะ

แม็คโดนาห์และคนตัดต่อ จอห์น เกรกอรี ตระหนักดีว่าตัวละครมิลเดร็ด แม้จะมีความชอบธรรมในการทวงถามความรับผิดชอบผ่านป้ายบิลบอร์ด แต่การกระทำอันรุนแรงและบ้าระห่ำของเธอในเวลาต่อมาก็สุ่มเสี่ยงต่อการผลักไสคนดูออกห่าง แม้ว่าเธอเองก็โดนปฏิกิริยาโต้กลับอย่างรุนแรงไม่แพ้กันจากเหล่าชาวเมืองบางคน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกรมตำรวจ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงตัดสินใจขยับฉากแฟล็ชแบ็ค ซึ่งบอกเล่าบทสนทนาครั้งสุดท้ายระหว่างเธอกับลูกสาว ก่อนฝ่ายหลังจะถูกข่มขืนและฆ่าตาย ให้เร็วขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อตัวละครอย่างมิลเดร็ดอย่างใหญ่หลวง เกรกอรีบอกว่าในบทดั้งเดิม ฉากแฟลชแบ็คปรากฏในช่วงท้าย แต่เขาและทีมงานกลัวว่าคนดูจะสูญสิ้นความเห็นใจต่อผู้หญิงคนนี้ไปเสียก่อน การเลื่อนฉากดังกล่าวให้เร็วขึ้น (ครั้งสุดท้ายที่มิลเดร็ดได้พูดคุยกับลูกสาวจบลงด้วยการมีปากเสียงกันรุนแรง) ทำให้เห็นว่าแรงผลักดันของมิลเดร็ดไม่ใช่เพื่อตอบโต้ความรุนแรงที่สาดกระหน่ำเข้าใส่เธอ แต่เพื่อความหวังที่จะสามารถทำใจยอมรับความผิดพลาดในวันนั้น วันที่เธอจะไม่ได้เห็นหน้าลูกสาวอีกต่อไป “ถ้าคนดูได้เห็นเหตุการณ์เร็วขึ้น พวกเขาจะรู้สึกเห็นใจไม่ว่าเธอจะทำอะไรก็ตาม

Three Billboards Outside Ebbing, Missouri เป็นหนังเกี่ยวกับการแก้แค้น ความรุนแรง และการยอมรับความตาย ถ่ายทอดออกมาด้วยลีลาลุ่มลึกในบางจังหวะและกระแทกหน้าคนดูในบางจังหวะ เหตุการณ์ดำเนินในเมืองสมมุติชื่อเอ็บบิง รัฐมิสซูรี (แต่ถ่ายทำจริงที่เมืองซิลวา รัฐนอร์ทแคโรไลนา) ทางตอนใต้ของอเมริกา ซึ่งให้บรรยากาศเหมือนเมืองที่โดนสูบชีวิตชีวาออกหมดจนแทบจะเหือดแห้ง มันเป็นเมืองที่ติดแหง็กอยู่ในอดีต ดังจะเห็นได้จากสถาปัตยกรรม รวมไปถึงวิถีชีวิตที่คล้ายจะถูกแช่แข็งมานานหลายปี อารมณ์ขัน ความเจ็บปวด และบาดแผลในใจถูกคลุกเคล้าเข้ากับความรุนแรง ตลอดจนความคลั่งแค้น ซึ่งแทงทะลุขึ้นมาอย่างกะทันหันจนอาจทำให้หลายคนนึกถึงผลงานของสองพี่น้อง โจเอล และ อีธาน โคน อย่าง Fargo และ No Country for Old Man (นอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าเรื่องแรกนำแสดงโดยแม็คดอร์มานด์เช่นกัน) ตำรวจในเรื่องไม่ใช่คนร้าย หรือคนดี และน่าสนใจว่าเมื่อตำรวจนายหนึ่งถูกปลดจากตราและตำแหน่ง เขากลับเริ่มทำหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ได้ดีขึ้น ตัวละครที่เราคิดว่าแบนราบเหมือนตัวการ์ตูนกลับค่อยๆ มีเลือดเนื้อลมหายใจอย่างคาดไม่ถึง นี่คือความแปลกประหลาดและมหัศจรรย์ของ Three Billboards Outside Ebbing, Missouri หนังที่เข้มข้นในอารมณ์ตึงเครียดมากพอๆ กับแง่มุมตลกร้ายจนคนดูไม่อาจแน่ใจว่าควรจะร้องไห้ หัวเราะ หรือโกรธแค้นกันแน่


The Post

ใครๆ ก็คงสามารถเก็ทประเด็นของ The Post ได้ไม่ยาก แม้ว่าหนังจะดำเนินเรื่องในปี 1971 โดยเหล่าพระเอกของเรื่องเป็นสื่อมวลชน ถ้าจะกล่าวให้จำเพาะเจาะจงลงไป ก็คือ นักข่าวหนังสือพิมพ์ วอชิงตัน โพสต์ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นแค่หนึ่งในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ส่วนตัวร้ายของเรื่อง คือ ทำเนียบขาว หรือถ้าจะกล่าวให้จำเพาะเจาะจงลงไป คือ ริชาร์ด นิกสัน ซึ่งรับบทเป็นตัวเอง (ผ่านเทปบันทึกเสียง) เช่นเดียวกับ นิวยอร์ก ไทมส์ หนังสือพิมพ์ วอชิงตัน โพสต์ พยายามจะตีพิมพ์ข้อมูลจากเอกสารลับเพนตากอนซึ่งระบุข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของอเมริกาในสงครามเวียดนาม ทำให้รัฐบาลนิกสันตั้งหน้าตั้งตาหาทุกวิถีทางปิดกั้นไม่ให้เอกสารถูกเผยแพร่สู่สาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ้างเหตุผลว่าเป็นเรื่องความมั่นคงระดับชาติ

หนังของผู้กำกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก เป็นเหมือนบทเพลงสดุดีความสำคัญจำเป็นของเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งเป็นสารที่เขาเห็นว่าควรได้รับการตอกย้ำอย่างยิ่งในปีนี้ เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามสร้างกระแส fake news และข่มขู่ คุกคามสื่ออยู่ตลอดนับแต่เขาก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งใหญ่ในทำเนียบขาว “ผมรู้สึกว่ามันเป็นหนังที่ควรจะเดินหน้าสร้างทันทีสปีลเบิร์กอธิบายความฉุกละหุกของผลงานชิ้นล่าสุด “เราใช้เวลาทั้งหมดแค่ 9 เดือนนับจากผมได้อ่านบทของ ลิซ ฮันนาห์ ครั้งแรกจนถึงการเปิดฉายรอบสื่อมวลชน (เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน)” จากนั้นเขาพูดเสริมว่า “ผมเองก็ต้องการแรงบันดาลใจในการสร้างหนังด้วย ตอนได้อ่านบทร่างแรก ผมรู้สึกเลยว่าเราไม่อาจรอไปอีก 2-3 ถึงค่อยสร้างได้ แต่จำเป็นต้องเล่าในช่วงเวลานี้ และโชคดีที่ผมมีทีมงานชั้นยอดที่เคยร่วมงานกันมานานตลอด 22 ปีคอยสนับสนุน” ถึงหนังจะดำเนินเหตุการณ์เมื่อหลายสิบปีก่อน แต่คนดูยุคนี้ก็สามารถอินกับประเด็นของหนังได้ เนื่องจากภาพสะท้อนที่ยั่วล้อกันอย่างน่าพรั่นพรึงของอดีตกับปัจจุบัน “บางครั้งเรื่องเลวร้ายก็เกิดขึ้นซ้ำสองได้สปีลเบิร์กสรุป

แต่ The Post ไม่ใช่แค่หนังเชิดชูสื่อมวลชนที่ยืนหยัดต่อกรกับอำนาจบาตรใหญ่ของนิกสัน เพราะไม่งั้นหนังคงหันไปโฟกัสยังบทบาทของ นิวยอร์ก ไทมส์ ตลอดจนการต่อสู้ของพวกเขาในศาลฎีกา หรืออาจจะเน้นย้ำไปยังขบวนการสืบหาข้อมูลของทีมนักข่าวในแบบเดียวกับ All the President Men หรือ Spotlight หนังเชิดชูนักหนังสือพิมพ์ที่คว้ารางวัลออสการ์ไปครองเมื่อสองปีก่อน แต่ The Post เลือกจะเล่าเรื่องราวของ แคทเธอรีน แกรม (เมอรีล สตรีพ) สตรีที่ได้รับมอบกิจการมาจากพ่อผู้ก่อตั้งและสามี ซึ่งฆ่าตัวตายและทิ้งภาระหนักอึ้งไว้บนบ่าเธอ มันเป็นธุรกิจครอบครัวที่กำลังง่อนแง่น เธอพยายามจะประคับประคองให้อยู่รอดปลอดภัยด้วยการนำเข้าตลาดหุ้น แต่การงัดข้อกับรัฐบาลอาจทำให้ขั้นตอนเปลี่ยนผ่านที่ว่าหยุดลงกลางคัน เพราะนักลงทุนเกิดหวาดกลัวความเสี่ยง ถึงแม้จะถูกเล่าในสไตล์หนังเขย่าขวัญทางการเมืองแบบยุค 70 เต็มไปด้วยการเคลื่อนกล้องหวือหวา เร้าอารมณ์ แต่หัวใจหลักของหนังจริงๆ อยู่ตรงฉากแกรมก้าวขึ้นมาใช้อำนาจในมืออย่างเด็ดเดี่ยว จนกระทั่งเหล่าผู้ชายใต้บังคับบัญชายังประหลาดใจ แกรมไม่ใช่ตัวละครเดียวที่สำคัญสุดในปรากฏการณ์ “เอกสารลับเพนตากอนแต่ในปี 2017 เธอเป็นตัวละครหลักที่ “คู่ควร” และ “เหมาะสม” หลังความพ่ายแพ้ของ ฮิลลารี คลินตัน รวมไปถึงกระแส #MeToo

ปมขัดแย้งสำคัญในบทหนังได้แรงบันดาลใจจากข้อมูลในหนังสืออัตชีวประวัติของแกรมที่ชนะรางวัลพูลิทเซอร์เรื่อง Personal History ตีพิมพ์เมื่อปี 1997 เกี่ยวกับการที่บริษัท วอชิงตัน โพสต์ กำลังจะเข้าตลาดหุ้นในสัปดาห์เดียวกับที่บรรณาธิการข่าว เบน แบรดลี (ทอม แฮงส์) ได้เอกสารลับเพนตากอนมาอยู่ในมือ แล้วเริ่มต้นวางแผนเขียนข่าวใหญ่หน้าหนึ่งโดยไม่เชื่อฟังคำสั่งห้ามของกระทรวงยุติธรรม ในฉากไคล์แม็กซ์ แกรมถูกลากออกจากงานเลี้ยงสังคมไฮโซที่เธอเป็นเจ้าภาพ เพื่อมาประชุมคู่สายกับแบรดลี ที่ปรึกษาซึ่งเธอไว้วางใจ ฟริทซ์ บีบี (เทรซี เล็ตส์) และสมาชิกคณะกรรมการบริหาร อาร์เธอร์ พาร์สันส์ (แบรดลีย์ วิทฟอร์ดซึ่งไม่เห็นด้วยกับการตีพิมพ์ข่าวนี้ เพราะมันไม่เพียงจะทำให้หนังสือพิมพ์เสี่ยงถูกปิด แต่ยังอาจทำให้แกรมต้องเข้าคุกในข้อหาละเมิดคำสั่งศาลอีกด้วย

คำถาม คือ วอชิงตัน โพสต์ ควรตีพิมพ์ข่าวนี้หรือไม่ แบรดลียืนกรานให้พิมพ์ แถมขู่จะลาออกหากหนังสือพิมพ์ยอมตามอำนาจของนิกสัน ขณะที่พาร์สันส์ ซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายบริหาร ยืนกรานให้ทบทวนอย่างรอบคอบ รอดูลาดเลาไปก่อน บีบียังไม่แสดงจุดยืนชัดเจน แต่ในหลายฉากก่อนหน้า คนดูจะเห็นแกรมหันไปพึ่งพาคำแนะนำจากเขาเพื่อให้เสียงของเธอเป็นที่รับฟังในห้องที่เต็มไปด้วยผู้ชาย ผู้บริหารหวั่นเกรงว่าการตีพิมพ์เอกสารเพนตากอนจะทำให้บริษัทเข้าตลาดหุ้นไม่สำเร็จ แบรดลีไม่แคร์เรื่องพวกนี้ “หนทางเดียวที่จะยืนหยัดเคียงข้างเสรีภาพของสื่อมวลชนคือต้องตีพิมพ์ข่าวนี้เขาประกาศ ก่อนจะพูดเสริมว่าหากเรายอมตามคำเรียกร้องของนิกสัน ชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือของหนังสือพิมพ์จะพังทลายจนไม่อาจกอบกู้กลับมาได้

ฟริทซ์ ฟังอยู่หรือเปล่าแกรมถามด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ “คุณว่าฉันควรทำยังไง” บีบีตอบกลับด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่าเขาเข้าใจจุดยืนของแบรดลี แต่เขาขอแนะนำว่าอย่าตีพิมพ์ กล้องจับภาพใบหน้าแกรมในชุดงานเลี้ยง เมอรีล สตรีพ ถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครขณะกำลังจะตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตได้อย่างเฉียบคม ทั้งความหวาดกลัว ลังเล สับสน นี่อาจกลายเป็นจุดจบของธุรกิจครอบครัว “เอาเลย ตีพิมพ์เลยเธอประกาศในที่สุด จากนั้นสปีลเบิร์กก็ตัดภาพไปยังช็อตมุมสูง ฉายภาพใบหน้าอิ่มเอิบและมั่นใจของแกรม ช่วงเวลานั้นเองที่ชื่อของเธอถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์ หนังใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงบิวด์ความรู้สึกคนดูเพื่อนำมาสู่ไคล์แม็กซ์นี้ แจกแจงให้เห็นเดิมพัน ความไม่มั่นใจในตัวเอง เหตุผลของความจำเป็นที่จะต้องยืนหยัด ไม่ยอมจำนนต่อนิกสัน

อาจไม่ใช่ฉากที่ลุ่มลึก แต่ก็ทรงพลังทางอารมณ์ มองในแง่หนึ่ง The Post เป็นหนังเกี่ยวกับขั้นตอน เวลาจำนวนไม่น้อยถูกอุทิศไปยังการนำเสนอให้เห็นว่านักข่าวได้เอกสารเพนตากอนมาอย่างไร ต้องอ่านข้อมูลจำนวนมากแค่ไหนกว่าจะย่อยออกมาเป็นข่าวให้เราเห็นบนหน้าหนังสือพิมพ์ มันใกล้เคียงกับหนังเรื่อง Spotlight แต่ขณะที่หนังเรื่องนั้นสอนเกี่ยวกับขั้นตอนการทำข่าว หนังของสปีลเบิร์กกลับสอนเกี่ยวกับขั้นตอนการบริหารธุรกิจ ภายใต้เรื่องราวการเจาะข่าว หาข้อมูล มันยังพูดถึงความกดดันของคนระดับสูงที่กล้าพอจะตัดสินใจโดยคำนึงถึงจรรยาบรรณ ความถูกต้อง ไม่ใช่แค่ตัวเลขผลกำไร นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม The Post จึงดึงดูดอารมณ์คนดูอย่างได้ผล แม้ว่ามันจะเต็มไปด้วยบทสนทนามากมาย เพราะมันยึดติดอยู่กับตัวละคร ไม่ใช่แค่ข้อมูล ทำให้คนดูเข้าใจความกดดันของผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่ในอำนาจ รวมไปถึงอิทธิพลในวงกว้างอันเกิดจากการตัดสินใจที่กล้าหาญของเธอ  


Phantom Thread

ในหนังเรื่อง Phantom Thread ตัวละครที่ แดเนียล เดย์-ลูว์อิส รับบทมีชื่อว่า เรยโนลด์ส วู้ดค็อก ซึ่งเป็นไอเดียของเดย์-ลูว์อิส คงมีเพียงนักแสดงเจ้าของสามรางวัลออสการ์เท่านั้นที่สามารถเอาตัวรอดได้กับนามสกุล “วู้ดค็อก” (Woodcock) “เราคิดชื่อแล้วส่งข้อความหากันไปมา เขาตั้งชื่อนี้ขึ้นมา เล่นเอาผมแทบสำลักคอร์นเฟลกผู้กำกับ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน เล่า “ผมว่ามันตลกดี รู้สึกผมจะตอบกลับว่า ‘เราทำได้ด้วยเหรอ ” ชื่อดังกล่าวให้ความรู้สึกภูมิฐาน เข้มงวด แต่ก็แฝงอารมณ์ขันร้ายๆ เช่นเดียวกับตัวละคร

เป็นเวลานานเกือบหนึ่งปีที่รายละเอียดเกี่ยวกับพล็อตเรื่องของ Phantom Thread หรือนักแสดงคนไหนร่วมแสดงอยู่บ้างถูกปกปิดเป็นความลับสุดยอด ถือเป็นกลยุทธ์ปกติของแอนเดอร์สัน ซึ่งพยายามจะเก็บข้อมูลเป็นความลับจนกระทั่งนาทีสุดท้าย แต่ผู้กำกับหนุ่มชาวอเมริกันบอกว่าจุดประสงค์ดังกล่าวไม่ใช่เพื่อปกปิดปมหักเหบางอย่าง แต่เพื่อยืดอายุให้กับมนตร์เสน่ห์ของผลงานเสียมากกว่า ในตอนแรกที่เขาเริ่มต้นเขียนบท “คุณจะคิดว่ามันต้องกินเวลานานแน่นอนเขากล่าว “แต่ก่อนที่คุณจะทันได้เลือก มันก็สายไปแล้ว มันควรจะเป็นแบบนั้น คุณควรดำดิ่งจนกู่ไม่กลับ” แฟชั่น เช่นเดียวกับน้ำมัน ไม่ใช่ตัวเลือกที่ใครมักจะคาดคิดเมื่อนึกถึงชื่อแอนเดอร์สัน ผู้ชื่นชอบสวมเสื้อเชิ้ตสีขาวยับย่นอายุอานามนับ 20 ปี แต่ขณะเดินทางไปอินเดีย เขาเห็นภาพถ่ายของนักออกแบบชาวสเปน คริสโตบัล บาเลนเซียกา ที่สนามบิน ซึ่งเผอิญสอดคล้องกับบทสนทนาระหว่างเขากับเพื่อนสอง 2-3 สัปดาห์ก่อนเกี่ยวกับ โบ บรัมเมล ชายชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ผู้คิดค้นสูทร่วมสมัยของผู้ชาย “แล้วในหัวผมก็ผุดเรื่องราวการงัดข้อทางพลังระหว่างชายหญิงคู่หนึ่ง ซึ่งต่างเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นไม่แพ้กันเดย์-ลูว์อิสจะรับบทเป็นผู้ชาย วิคกี้ ครีปส์ นักแสดงหญิงค่อนข้างโนเนมจากลักเซมเบิร์ก จะรับบทเป็นผู้หญิง จากนั้นแอนเดอร์สันก็เริ่มหาอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับบาเลนเซียกา ก่อนจะได้ข้อสรุปว่าเขาช่างเปี่ยมรสนิยม ทักษะ และพรสวรรค์ครบถ้วน เขาสามารถตัดเย็บชุดกระโปรงที่ซับซ้อนได้อย่างสวยงาม แอนเดอร์สันบอกว่าสิ่งสำคัญสุดเกี่ยวกับตัวละครวู้ดค็อก คือ เขาไม่อยากให้ใครมายุ่งเกี่ยวกับผลงานของเขา

ตัวละครผู้ชายในหัวของแอนเดอร์สันต้องเป็นคนซับซ้อน ไม่ประนีประนอม คลั่งไคล้ในงาน จะเกิดอะไรขึ้นถ้าชายคนนั้น ซึ่งใช้เวลาทั้งชีวิตพบปะและเปลี่ยนคู่เป็นว่าเล่นเหมือนเปลี่ยนเสื้อผ้า ได้พบหญิงสาวซึ่งเหมาะสมกับเขาอย่างที่สุด เขานึกถึงหนังเรื่อง Rebecca ของ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก ซึ่ง โจน ฟอนเทน ต้องแต่งงานกับชายที่น่าเกรงขาม รับบทโดย ลอว์เรนซ์ โอลิเวียร์ แต่เขาดูเหมือนจะซุกซ่อนบางอย่างไว้ข้างใน จะเป็นยังไงถ้า Rebecca ดำเนินเรื่องไปครึ่งทาง แล้วจู่ๆ โจน ฟอนเทน ก็ลุกขึ้นมาพูดว่า “พอกันที ฉันทนไม่ไหวแล้ว” แอนเดอร์สันเลือกนักแสดงชาวอังกฤษ เลสลีย์ แมนวิลล์ มารับบทพี่สาววู้ดค็อก อีกหนึ่งตัวละครที่สะท้อนอิทธิพล Rebecca ซึ่งพาคนดูไปสำรวจอดีตรักของชายหนุ่มที่ดูเหมือนจะมีเงื้อมเงาครอบคลุมมายังชีวิตของเขาในปัจจุบัน ผลลัพธ์ที่ตามมา คือ ส่วนผสมระหว่างหนังรักกับหนังสยองขวัญ Phantom Thread เต็มไปด้วยงานด้านอันวิจิตรบรรจงดุจภาพวาดของ โยฮันเนิส เฟอร์เมร์ แต่ขณะเดียวกันก็ยังเปี่ยมอารมณ์ขัน แม้จะเป็นอารมณ์ขันร้ายๆ ในแบบที่แอนเดอร์สันชื่นชอบก็ตาม

ในแง่หนึ่ง Phantom Thread เป็นผลงานที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมาที่สุดของแอนเดอร์สันในรอบหลายปี เหมือนได้ย้อนเวลากลับไปยังหนังเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของผู้คนในยุคแรกๆ เช่น เมื่อเขาสร้าง Sydney หนังเรื่องแรกเกี่ยวกับกลุ่มคนหลงทางในคาสิโนแห่งหนึ่งที่เรโน ตอนนั้นแอนเดอร์สันอายุเพียง 24 ปี สตูดิโอเจ้าของทุนยึดหนังไป พยายามจะตัดต่อใหม่ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Hard Eight หลังจากหายนะดังกล่าวแอนเดอร์สันก็ตัดสินใจว่าจะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก เมื่อการงัดข้อกับเหล่าผู้บริหารสตูดิโอ ซึ่งเรียกร้องสิทธิ์ในการตัด Magnolia เวอร์ชั่นสุดท้ายกลายเป็นข่าวดังและจบลงด้วยชัยชนะของแอนเดอร์สัน เขาถูกตีตราว่าเป็นคนทำงานด้วยยาก “ประสบการณ์เลวร้ายจากหนังเรื่องแรกทำให้ผมรู้สึกหวงแหนผลงานเป็นพิเศษในหนังสองสามเรื่องต่อมา ผมอยากจะกันคนทั้งโลกออกไป ทุกคนที่ไม่ได้มีสวนเกี่ยวข้องโดยตรงกับหนังเขาอธิบาย “ผมกลัวว่าจะต้องเจ็บซ้ำสองอีก กลัวว่าจะมีใครมาทำร้ายผมหรือหนังของผมอีก นั่นเป็นเหตุผลให้ผมแสดงพฤติกรรมแย่ๆ หลายอย่าง ซึ่งผมคงไม่มีทางทำซ้ำอีก และหวังว่าจะไม่จำเป็นต้องทำซ้ำอีก แต่ในตอนนั้นมันเหมือนเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอด

หนึ่งวันหลังวันหยุดขอบคุณพระเจ้า แอนเดอร์สันจัดฉาย Phantom Thread รอบปฐมทัศน์ที่ เบเวอร์ลีย์ ฮิลส์ เขาเพิ่งปิดงานเสร็จเมื่อสามวันก่อน และไม่รู้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายจะออกมาเป็นยังไง ระหว่างนั่งชมร่วมกับคนดู เขารู้สึกเหมือนหนังจะอ้อยอิ่ง แต่แล้วเมื่อเหตุการณ์ดำเนินไปเรื่อยๆ อะดรีนาลีนในร่างเขาเริ่มสูบฉีด คนหัวเราะถูกจุด หนังร่ายเวทมนตร์ได้อย่างที่เขาคาดหวังไว้ เสียงตอบรับอย่างอบอุ่นทำให้สตูดิโอคาดหวังว่ามันจะมีชื่อติดอยู่ในกระแสออสการ์ แต่ปัญหาคือแอนเดอร์สันมักจะชอบร่วมงาน ไม่ว่าจะด้วยบังเอิญ หรือเพราะมันเป็นนิสัยที่ตรงกับเขาก็ตาม กับดาราชายที่ไม่สามารถ หรือไม่ชอบการเดินสายขายหนัง “อดัม แซนด์เลอร์ ไม่ชอบให้สัมภาษณ์สื่อ แดเนียล เดย์ ก็เหมือนกัน ผมทำหนังสองเรื่องกับวาควิน และเขาเป็นคนสุดท้ายที่คุณอยากจะให้เดินสายโปรโมตหนังคุณ” ฉะนั้นภาระดังกล่าวจึงตกอยู่บนบ่าของแอนเดอร์สันไปโดยปริยาย

ไม่ต่างจากหนังแทบทุกเรื่องของแอนเดอร์สัน หัวใจหลักของ Phantom Thread พูดถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งต่างคนแทบจะทนขี้หน้ากันไม่ไหว แต่ในเวลาเดียวกันก็ขาดกันไม่ได้ วู้ดค็อกกับอัลมาหลงรักกัน แต่บางครั้งก็ชิงชังกัน ซีริล พี่สาวของวู้ดค็อก กลับยิ่งเลวร้ายกว่า แต่เธอเป็นคนสอนพวกเขาให้รู้จักเอาตัวรอด เช่นเดียวกับตัวละครเอกใน Boogie Nights วู้ดค็อกขาดแคลนความรักจากผู้เป็นแม่ และมีพรสวรรค์หนึ่งเดียวซึ่งชักพาเขาไปพบกับเคราะห์ร้ายพอๆ กับการไถ่บาป และเช่นเดียวกับตัวละครเอกใน Punch-Drunk Love วู้ดค็อกโหยหาจะเป็นที่รัก แต่ไม่รู้จักว่าจะขออย่างไร ศูนย์กลางของ Phantom Thread พูดถึงผู้ชายที่บกพร่อง เว้าแหว่ง แต่ไม่สามารถสร้างสะพานเชื่อมโยงไปหาคนอื่นได้ 


Lady Bird

สิ่งสำคัญที่ทำให้ Lady Bird ยกระดับเหนือสถานะหนัง “ก้าวข้ามวัย” ทั่วๆ ไปอยู่ตรงเอกลักษณ์เฉพาะตัว เสน่ห์จากมุมมองอันไม่เหมือนใครของคนทำหนัง ซึ่งสามารถสัมผัสได้ในทุกๆ เฟรม จังหวะจะโคน รวมไปถึงบุคลิกของหนังดูจะสะท้อนภาพลักษณ์ของ เกรตา เกอร์วิก บนจอภาพยนตร์ได้อย่างเหมาะเจาะ (โดยเฉพาะในหนังที่เธอร่วมงานกับ โนอาห์ บอมบาค) ผสมผสานเข้ากับการบริหารงานช่างในแต่ละส่วนด้วยความมั่นใจเพื่อสร้างรูปแบบเฉพาะตัว จนไม่น่าแปลกใจว่าทำไมงานกำกับชิ้นแรกของเธอถึงกวาดคำชมจากนักวิจารณ์ รวมไปถึงผู้ชมทั่วไปอย่างเป็นเอกฉันท์ ไม่เชื่อก็ดูได้ฉากเปิดเรื่อง ขณะ เลดี้ เบิร์ด (เซอร์ชา โรแนน) กับแม่ (ลอรี เม็ทคาล์ฟกำลังขับรถกลับจากการไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัย ทั้งสองร่วมแบ่งปันน้ำตากันหลังหนังสือเสียงเรื่อง The Grapes of Wrath จบลง ทุกอย่างเริ่มต้นได้อย่างสวยงาม อบอุ่น จนกระทั่งค่อยๆ พัฒนาไปสู่สงครามโลกแบบกะทันหัน พร้อมกับแนะนำคนดูให้ตระหนักถึงประเด็นที่หนังกำลังจะนำเสนอต่อไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเงินของครอบครัว หรือแรงผลักดันที่จะไปอยู่นิวยอร์กของ เลดี้ เบิร์ด ก่อนความขัดแย้งจะจบลงด้วยการที่เด็กสาวกระโดดลงจากรถที่กำลังวิ่ง ท่ามกลางเสียงกรีดร้องของแม่เธอ จากนั้นฉากถัดมาหนังตัดภาพไปยัง เลดี้ เบิร์ด ในโบสถ์ของโรงเรียนคาทอลิกพร้อมเฝือกที่แขน

เหตุการณ์ข้างต้นให้ความรู้สึกเหมือนคุณกำลังนั่งดูหนังของ เปรโด อัลโมโดวาร์ หรือไม่ก็ เวส แอนเดอร์สัน แต่เกอร์วิกไม่ได้เน้นสไตล์ฉูดฉาดจนดูบ้าคลั่งเหมือนอัลโมโดวาร์ หรือเน้นการประดิษฐ์อย่างชัดเจนแบบแอนเดอร์สัน เธอถ่ายทอดเรื่องราวตรงไปตรงมาในลักษณะของตัวตลกหน้าตาย ความร้ายแรงไม่ได้ถูกบิวด์อารมณ์ หรือบีบคั้น แต่นำเสนออย่างชื่นมื่นเหมือนเป็นอีกวันที่แสนธรรมดา ส่วนหนึ่งเพื่อเรียกอารมณ์ขัน ซึ่งได้ผลยอดเยี่ยม แต่ขณะเดียวกันเธอไม่ได้ส่อนัยยะล้อเลียน ประชด หรือถอยห่างอย่างเย็นชา ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่ทำให้หนังของเกอร์วิกแตกต่างจากหนังของ โนอาห์ บอมบาค ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นแม่แบบของ Lady Bird คงอยู่ตรงความอบอุ่น ชุ่มชื่นหัวใจ ท่ามกลางน้ำกรดที่ตัวละครสาดเข้าใส่กัน

หัวใจหลักของหนัง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาว ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของทั้งเสียงหัวเราะ น้ำตา บาดแผล และฉากที่เปิดเปลือยทางอารมณ์ได้อย่างหมดเปลือก ชาญฉลาดผ่านการปะทะคารมชนิดไม่มีใครยอมใครระหว่าง เลดี้ เบิร์ด กับแม่เธอ ถ้าตัวละครผู้หญิงที่เปี่ยมไปด้วยชีวิต ลมหายใจ และเลือดเนื้อช่างหาได้ยากยิ่งในโลกภาพยนตร์ ลองคิดดูว่ามีหนังสักกี่เรื่องกันเชียวที่สามารถสร้างตัวละครสองแม่ลูก (สาวได้ลุ่มลึกในระดับนั้น เมื่อถูกถามว่าชอบหนังเกี่ยวกับแม่และลูกสาวเรื่องใดบ้าง เกอร์วิกยกตัวอย่างสามเรื่อง คือ Secrets & Lies ของ ไมค์ ลีห์ Terms of Endearment ของ เจมส์ แอล บรู้คส์ และ Fish Tank ของ แอนเดรีย อาร์โนลด์ การที่ตัวอย่างมีอยู่ไม่มากเกอร์วิกบอกว่านั่นเป็นเพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ขาดแคลนนักเขียนบทและผู้กำกับเพศหญิง แม่ในหนังมักถูกวาดภาพให้เป็นแม่พระ ไม่ก็ปีศาจร้าย มีน้อยเรื่องมากที่พวกเธอจะเป็นมนุษย์ที่มีข้อบกพร่อง และไม่ใช่ข้อบกพร่องแบบน่ารักน่าชัง แต่เป็นข้อบกพร่องแบบจริงๆ... ฉันไม่เคยเจอคนเป็นแม่ที่ไหนพูดว่า ‘ทุกอย่างดีไปหมดเลยพ่อแม่ส่วนใหญ่จะมีบางอย่างที่พวกเขารู้สึกว่าดี กับบางอย่างที่พวกเขารู้สึกเสียใจ คุณไม่สามารถก้าวข้ามวัยพร้อมความรู้สึกเหมือนกับว่าทุกอย่างช่างสมบูรณ์แบบไปหมด

แต่เกอร์วิกไม่ได้ให้ความสำคัญกับแค่ตัวละครผู้หญิงเท่านั้น เธอยอมรับว่าเธออินไปกับทุกตัวละครในเรื่อง “ฉันคิดว่าสิ่งที่ทำให้ตัวละครแม่ พ่อ เพื่อนสนิท ครู ในหนังวัยรุ่นให้ความรู้สึกเหมือนซ้ำซาก น้ำเน่า เป็นเพราะพวกเขาปราศจากชีวิตส่วนตัว แต่ถือกำเนิดขึ้นเพียงเพื่อรับใช้ตัวละครเอก ฉันไม่อยากให้ตัวละครใน Lady Bird มีลักษณะแบบนั้น ฉันอยากให้คนดูรู้สึกว่าถ้าพวกเขาติดตามตัวละครใดสักตัว เขาคนนั้นสามารถจะเป็นตัวเอกในหนังอีกเรื่องได้

ในหนังเรื่อง Mistress America ผลงานชิ้นที่สองที่ เกรตา เกอร์วิก ร่วมเขียนบทกับแฟนหนุ่ม โนอาห์ บอมบาค ตัวละครหนึ่งในหนังประกาศว่า “บางทีฉันคิดว่าตัวเองเป็นอัจฉริยะ และอยากกดปุ่มเร่งชีวิตให้ไปถึงจุดที่ทุกคนรู้ความจริงข้อนี้สักทีปีนี้ดูเหมือนเกอร์วิกจะกดปุ่มเร่งมาถึงจุดนั้นจนได้ เธอเป็นขวัญใจในวงการหนังอินดี้มาเกือบทศวรรษ นำแสดงในหนังทุนต่ำหลายเรื่อง ซึ่งเต็มไปด้วยตัวละครติงต๊อง เด๋อๆ แต่น่ารัก บางเรื่องเธอก็ร่วมเขียนบท เช่น Frances Ha และหนังที่อาจไม่ค่อยมีใครรู้จักอย่าง Hannah Takes the Stairs กับ Lola Versus จนกระทั่งเริ่มบุกเข้าสู่วงการหนังฟอร์มใหญ่ขึ้นในปี 2016 ผ่านบทในหนังอย่าง Jackie และ 20th Century Women ก่อนจะประสบความสำเร็จสูงสุดเมื่อหันมากำกับหนังขนาดยาวเรื่องแรก Lady Bird ซึ่งส่งผลให้เธอกลายเป็นผู้หญิงแรกที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมนับจาก แคทธีน บิเกโลว์ คว้ารางวัลไปครองจาก The Hurt Locker ในปี 2009

มันเหนือความคาดหมายอย่างมาก เป็นสิ่งที่ฉันไม่เคยคิดฝันมาก่อนเกอร์วิกพูดถึงความสำเร็จของหนังทั้งในแง่คำวิจารณ์และบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ (จนถึงขณะนี้หนังทำเงินในอเมริกาไปแล้ว 45 ล้านเหรียญ) “ฉันไม่อยากเชื่อเลยว่าคนจะอ้าแขนต้อนรับหนังอย่างอบอุ่นอย่างที่เป็นอยู่ มันมีความหมายกับฉันอย่างมากเพราะฉันฝันที่จะเป็นนักเขียนบทและผู้กำกับมาตลอด การที่ผลงานได้เสียงตอบรับแบบนี้ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่สุด ที่ดียิ่งไปกว่านั้น คือ มันทำให้เป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับฉันที่จะสร้างหนังเรื่องต่อไป นี่ละประเด็นสำคัญหนังสร้างสถิติด้วยการเก็บสกอร์ 100% จากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ซึ่งเกอร์วิกบอกว่ามัน “เหลือเชื่อมากและเหมือน “ฝันที่เป็นจริงแม้เรื่องราวในหนังจะมีส่วนคล้ายชีวิตจริงของเกอร์วิกอยู่ไม่น้อย แต่เจ้าตัวปฏิเสธว่ามันไม่ใช่ผลงานแนวอัตชีวประวัติแต่อย่างใด “ไม่มีเหตุการณ์ใดในหนังที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตฉัน แต่มันมีส่วนที่พ้องกับความจริงอยู่บ้าง” เกอร์วิกกล่าว


The Shape of Water

ใครก็ตามที่ได้ชม The Shape of Water ย่อมตระหนักดีว่าจุดเด่นอย่างหนึ่งของหนังอยู่ตรงงานสร้างอันวิจิตร โทนสีอันโดดเด่นระหว่างสีเขียวกับสีน้ำเงินซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศอันสมจริงของยุคต้น 60 ไปพร้อมๆ กับปลุกมนตร์เสน่ห์ของจินตนาการราวกับเป็นภาพฝัน โดยเฉพาะโรงหนังเก่าซึ่งตัวละครเอกอาศัยอยู่บนห้องใต้หลังคา หนังไม่เพียงจะช่วยเติมเต็มความอิ่มเอมให้กับหัวใจ แต่ยังเป็นอาหารตาชั้นเลิศอีกด้วย นั่นคือเหตุว่าทำไมทุกคนจึงพากันตกใจ เมื่อผู้กำกับ กิลเลอร์โม เดล โทโร เปิดเผยข้อเท็จจริงว่าเขาเกือบจะถ่ายทำหนังเรื่องนี้เป็นหนังขาวดำ ซึ่งน่าจะยิ่งทำให้อิทธิพลจากหนังขาวดำเรื่อง Creature From the Black Lagoon ยิ่งโดดเด่นชัดเจน แต่แล้วแผนการดังกล่าวก็ต้องพับเก็บไป เมื่อ ฟ็อกซ์ เซิร์จไลท์ ยื่นคำขาดว่าพวกเขายินดีจะให้เงินทุน 20 ล้านเหรียญสำหรับถ่ายทำเป็นหนังสี แต่ถ้าเดล โทโรยืนยันจะถ่ายเป็นหนังขาวดำ พวกเขาจำเป็นต้องลดทุนสร้างลงเหลือ 17 ล้านเหรียญ

แม้สุดท้ายผู้กำกับชาวเม็กซิกันวัย 53 ปีจะเลือกทุนสร้างที่เพิ่มขึ้น 3 ล้านเหรียญ แต่นั่นไม่ได้ช่วยให้ขั้นตอนการถ่ายทำหนังดำเนินไปอย่างราบรื่นสักเท่าไหร่ “มันเลวร้ายมากเดล โทโรเล่า “หากพูดในเชิงศิลปะ ทุกอย่างยอดเยี่ยม ทั้งนักแสดง กล้อง ฉาก ทุกอย่างสวยงามไปหมด แต่ในเชิงเทคนิคเราต้องเร่งทำงานแข่งกับเวลาทุกวัน เงินขาดมือเป็นประจำ ถ้าวันไหนคุณต้องสร้างฉาก ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีมากกว่าแค่ผนังสองด้าน เราก็จะสร้างแค่นั้น เฉพาะที่จำเป็นจริงๆ เราต้องใช้ทุกอย่างให้คุ้มค่าสูงสุด เช่น เราใช้รถคาดิลแล็กแค่คันเดียว ปกติเราต้องมีสองคันที่เหมือนกันเป๊ะสำหรับใช้เวลาถ่ายฉากรถชน แต่เราไม่มีเงินพอ ฉะนั้นถ้ารถคาดิลแล็กมีฉากถูกชน เราก็จำเป็นต้องถ่ายเรียงตามลำดับเวลา เพราะเราไม่มีปัญญาจะเอามันไปซ่อม” 

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ข้อดีของการถ่ายหนังฟอร์มเล็กลงมา คือ อิสรภาพในความคิดสร้างสรรค์โดยไม่ถูกก้าวก่ายจากสตูดิโอ ประสบการณ์ที่เดล โทโรไม่อยากจะเดินซ้ำรอยนับจากฝันร้ายของการต้องร่วมงานกับ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ใน Mimic “นับแต่ปี 1997 เป็นต้นมา ผมไม่มีปัญหากับเรื่องการเซ็นเซอร์เลย แต่บางครั้งการถ่ายหนังทุนสูงก็ย่อมมีความรับผิดชอบสูงตามมาด้วย หนังเรื่องนี้ใช้ทุนสร้างในระดับเดียวกับ Pan’s Labyrinth เพราะผมอยากได้อิสรภาพเต็มที่ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวในแบบของผมเดล โทโรกล่าว

หนังเล่าถึงชีวิตอันโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาของพนักงานทำความสะอาด (แซลลี ฮอว์กินส์) ซึ่งประจำอยู่ห้องทดลองลับของรัฐบาลที่มีการคุ้มกันแน่นหนาในปี 1962 ชีวิตเธอเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อได้พบกับสัตว์ประหลาดลึกลับจากอเมริกาใต้ ที่ถูกจับล่ามโซ่เอาไว้ในแท็งก์น้ำของห้องทดลอง เดล โทโรบอกว่าหนังเรื่องนี้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อเฉลิมฉลองความไม่สมบูรณ์แบบ ความเป็นอื่น ความแตกต่าง การตกหลุมรัก และในขณะเดียวกันก็เป็นหนังที่ให้กำลังใจกับชีวิต “ประเด็นของหนังไม่ใช่แค่การเรียนรู้ที่จะยอมรับคนอื่น แต่ยังรวมไปถึงความรักอีกด้วย นี่เป็นหนังที่ยืนกรานในรากฐานแห่งมนุษยนิยม มันให้ความหวังกับชีวิต ซึ่งปกติไม่ใช่แนวทางผม

เนื่องจากตัวละครเอกทั้งสองใน The Shape of Water พูดไม่ได้ หนังจึงต้องสื่อสารผ่านเสียงเพลง ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศโรแมนติกอย่างได้ผล ในแง่หนึ่งเดล โทโรบอกว่านี่เป็นเหมือน “จดหมายรักถึงความรักและภาพยนตร์ดังจะเห็นได้จากความหลงใหลในหนังเพลงคลาสสิกของอีไลซา (ฮอว์กินส์กับเพื่อนสนิทเธอ กิลส์ (ริชาร์ด เจนกินส์ส่งผลให้คนดูมีโอกาสได้ชมคลิปหนังเก่าหลายเรื่อง อาทิ The Little Colonel, Coney Island และ Mister Ed ซึ่งเรื่องหลังสุดถือว่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะเจาะเพราะตัวเอกของหนังเป็นสัตว์พูดได้

แต่หนังเรื่องที่ติดตาติดใจอีไลซามากที่สุด คือ Hello, Frisco, Hello โดยเฉพาะเมื่อ อลิซ เฟย์ ร้องว่า “เธอไม่รู้ว่าฉันคิดถึงเธอแค่ไหน แคร์เธอแค่ไหนความรักไม่อาจสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้ นั่นคือประเด็นหลัก แต่เพลงดังกล่าวยังสื่อความหมายทับซ้อนเข้าไปอีกขั้นสำหรับสาวใบ้อย่างอีไลซา ซึ่งไม่อาจพูดจาสื่อสารกับมนุษย์ปลาได้ว่าเธอรู้สึกอย่างไรกับเขา การตระหนักรู้ดังกล่าวทำให้ฉากความฝันในหนังอบอวลไปด้วยอารมณ์ทุกข์ระทมยิ่งนัก เมื่อเธอนั่งอยู่ฟากตรงข้ามเขาที่โต๊ะอาหาร รู้ดีว่าจะต้องส่งเขากลับไปยังผืนน้ำ ถึงแม้ทั้งสองจะมีความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง จากนั้นเธอก็อ้าปาก แล้วเปล่งเสียงเป็นเพลงรักออกมาอย่างน่าอัศจรรย์ แรกทีเดียวเสียงของเธอยังติดขัดอยู่ในลำคอ แต่สักพักน้ำเสียงเธอก็เริ่มแจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สีในหนังค่อยๆ ซีดจาง ก่อนจะพาคนดูล่องลอยไปยังโลกขาวดำของหนังเพลงที่ตัวละครหลงใหลได้ปลื้ม ทันใดนั้นอีไลซากับมนุษย์ปลาก็กลายเป็น เฟร็ด แอสแตร์ กับ จิงเจอร์ โรเจอร์ส เต้นรำอย่างสง่างามท่ามกลางวงออร์เคสตรา ฉากดังกล่าวกินเวลาเพียงชั่วครู่ แต่กลับตราตรึงอยู่ในความทรงจำของคนดู

เมื่ออีไลซาอธิบายความสัมพันธ์ของเธอกับมนุษย์ปลาให้กิลส์ฟังว่า “ตอนที่เขามองฉัน เขาไม่รู้ว่าฉันขาดอะไร หรือไม่สมบูรณ์ยังไงแต่ในโลกของภาพยนตร์ เธอหาได้ “ไม่สมบูรณ์อีกต่อไป เธอไม่ได้ขาดแคลนเสียง (เสียงเพลงกับดนตรีประกอบเข้ามาช่วยเติมเต็ม) สิ่งเดียวที่เธอขาด คือ ความรัก ซึ่งสุดท้ายเธอก็ค้นพบมันจนได้ในตอนจบของหนัง การไม่มีเสียงถูกมองว่าเป็นข้อบกพร่อง เพราะเหล่าสัตว์ประหลาดในโลกของเธอยืนกรานเช่นนั้น ตรงกันข้าม ข้อเท็จจริงที่ว่าสองตัวละครเอกใน The Shape of Water ไม่สามารถพูดได้ หาได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใดในการโน้มนำผู้ชมให้มีอารมณ์ร่วมกับพวกเขา เพราะยังมีเสียงอีกมากมายให้คนดูได้ฟัง ได้อ่าน ได้ทำความเข้าใจ เช่นเดียวกับเวลาเรานั่งชมหนังเงียบ ซึ่งส่งผ่านอารมณ์ผ่านแววตา ท่าทาง รวมไปถึงเสียงดนตรี ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อเรื่องราวเดินทางมาถึงบทสรุป คนดูจึงอดไม่ได้ที่จะตกหลุมรักไปกับเรื่องราวน่าอัศจรรย์ของสาวใบ้กับสัตว์ประหลาดจากใต้น้ำ

ไม่มีความคิดเห็น: