วันเสาร์, พฤษภาคม 19, 2561

Oscar 2018: Best Actress


ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์ (Three Billboards Outside Ebbing, Missouri)

นี่เป็นปีที่เต็มไปด้วยบทบาทของผู้หญิงแกร่ง แต่คงยากจะหาใครที่แข็งแกร่งได้เทียบเท่า มิลเดร็ด เฮย์ส คุณแม่ซึ่งพยายามเรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูกสาวที่ถูกฆ่าข่มขืน แต่ตำรวจไม่สามารถหาคนผิดมาลงโทษได้ คนดูสามารถสัมผัสได้ถึงความโกรธแค้นในตัวมิลเดร็ด หลั่งไหลออกมาผ่านแววตา น้ำเสียง และแทบจะทุกลมหายใจ ไม่น่าแปลกใจเมื่อ ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์ นักแสดงหญิงเจ้าของรางวัลออสการ์จาก Fargo บอกว่าเธอได้รับแรงบันดาลใจจาก จอห์น เวย์น ในการถ่ายทอดจิตวิญญาณของตัวละคร “ตอนฉันเริ่มมองหาตัวละครคลาสสิกที่อาจนำมาใช้เป็นต้นแบบให้กับมิลเดร็ด ฉันเจอแต่ตัวละครผู้ชาย” แม็คดอร์มานด์กล่าวถึงบทคุณแม่ปากเปราะ โมโหร้าย แต่แฝงความเมตตาและความเศร้าเอาไว้ข้างใต้เกราะอันแข็งแกร่ง “ทีแรกฉันนึกถึง แพม เกรียร์ ในหนังแอ็กชั่นช่วงยุค 70 แต่ตัวละครของเธอดูเซ็กซี่ ยั่วยวน ซึ่งต่างจากมิลเดร็ด ฉันเลยเบนเข็มไปหา จอห์น เวย์น หากมองข้ามเรื่องแนวคิดทางการเมืองและความเชื่อส่วนตัวของเขา ฉันคิดว่าเขาได้สร้างภาพลักษณ์ตัวละครแบบอเมริกันที่เหนือกาลเวลา และนั่นเป็นสิ่งที่ฉันพยายามเลียนแบบ ไม่ต้องสงสัยว่าบทบาทการแสดงของเธอในหนังเรื่องนี้จะเป็นที่จดจำของคนดูไม่ต่างจาก Fargo ทั้งสองอาจมองหาความยุติธรรมเหมือนกัน แต่ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว มิลเดร็ดเป็นผู้หญิงที่ภายนอกแข็งกระด้าง ไม่เกรงกลัวใคร และมีข้อจำกัดด้านการผูกมิตรกับผู้คน เธอพาตัวเองไปอยู่ในจุดอับ โดดเดี่ยวเช่นเดียวกับ แกรี คูเปอร์ ใน High Noon หลังจากลงมือแก้แค้นด้วยความบ้าคลั่งจนทำให้คนดูรู้สึกลำบากใจที่จะยืนหยัดเคียงข้างเธอ

Three Billboards Outside Ebbing, Missouri มิลเดร็ดจงใจกวนน้ำให้ขุ่นด้วยการเช่าป้ายบิลบอร์ดสามป้าย เพื่อกระทุ้งตำรวจในเมืองให้ลุกขึ้นมาสืบสวนหาตัวคนร้าย กลายเป็นชนวนจุดประกายความรุนแรงให้ลุกลามบานปลายไม่ต่างจากไฟป่า แม็คดอร์มานด์เปรียบเทียบตัวละครที่เธอรับเล่นว่าไม่ต่างจากฮีโร่ในหนังคาวบอยตะวันตกสุดคลาสสิก “เธอเป็นเหมือนชายนิรนามในหนังคาวบอยสปาเก็ตตี้สมัยก่อน ที่เดินมาหยุดยืนกลางถนน แล้วชักปืนออกมากราดยิงทุกคนกระจุยกระจาย แต่อาวุธเดียวที่มิลเดร็ดใช้คือไหวพริบบุคลิกแบบยอมหักไม่ยอมงอของมิลเดร็ดทำให้เธอต้องงัดข้อกับชาวเมืองจำนวนไม่น้อย รวมไปถึงนายอำเภอ (วู้ดดี้ ฮาร์เรลสันซึ่งเป็นคนดี เป็นที่รักใคร่ชื่นชมของชุมชน และมีปัญหาส่วนตัวให้กลัดกลุ้มมากพอแล้ว กับนายตำรวจเลือดร้อนที่ชอบทรมานคนดำเป็นงานอดิเรก (แซม ร็อคเวล)

ต้องใช้เวลาอยู่นานกว่าแม็คดอร์มานด์จะกลายเป็นนักแสดงหญิงในระดับแถวหน้า ไม่ใช่เพราะเธอขาดพรสวรรค์ แต่ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรสนิยมในการเลือกบทของเธอไม่เหมือนใคร สมัยยังเป็นวัยรุ่น แม็คดอร์มานด์เคยได้รับข้อเสนอให้เลือกระหว่างบทนำในละครโรงเรียนกับบทตัวประกอบที่จะได้ใส่ชุดคาวเกิร์ลและร้องเพลงบนเวที “ฉันตัดสินได้อย่างไม่ลังเล ฉันอยากเล่นเป็นคาวเกิร์ลแม็คดอร์มานด์เล่า จากนั้นสามทศวรรษต่อมา แม่หนูคาวเกิร์ลได้สั่งสมผลงานและการยอมรับจนกลายเป็นนักแสดงชั้นยอดที่ทุกคนเทิดทูน บูชา เธอเริ่มต้นเป็นที่รู้จักจากผลงานกำกับ/เขียนบทชิ้นแรกของสามีเธอในปัจจุบัน โจเอล โคน เรื่อง Blood Simple (1984) ตามมาด้วยบทบาทเข้มข้นในหนังเขย่าขวัญการเมืองของ เคน โลช เรื่อง Hidden Agenda (1990) และเป็นหนึ่งในทีมดารากลุ่มใหญ่ใน Short Cuts (1993) ของ โรเบิร์ต อัลท์แมน บางครั้งเธออาจหันมารับเล่นบทสมทบจอมขโมยซีน เช่น ในหนังเรื่อง Mississippi Burning (1988) และ Almost Famous (2000) ซึ่งช่วยให้เธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ทั้งคู่ แต่แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่จดจำเธอได้จากบท มาร์จ กุนเดอร์สัน ตำรวจหญิงท้องแก่ชาวมินเนโซตาที่ต้องมาสืบคดีฆาตกรรมในหนังตลกร้ายสุดคลาสสิกของสองพี่น้องโคนเรื่อง Fargo ซึ่งทำให้คว้ารางวัลออสการ์มาครอง

ถึงแม้เธอจะถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์อีกสองครั้งหลังจากนั้น แต่แม็คดอร์มานด์ตระหนักดีว่าบทบาทของเธอใน Fargo จะตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้คนตลอดไป “ฉันคงจะตายไปโดยที่ทุกคนรู้จักฉันจากบท มาร์จ กุนเดอร์สัน อาจถูกสลักไว้บนป้ายหลุมศพด้วยซ้ำ ถ้าฉันมีหลุมศพนักแสดงสาววัย 60 ปีกล่าว “ฉันไม่ถือหรอก เพราะมันเป็นตัวละครที่สุดยอด แต่มิลเดร็ดคือมาร์จในภาคผู้ใหญ่

เช่นเดียวกับผลงานกำกับชิ้นก่อนๆ ของ มาร์ติน แม็คโดนาห์ อย่าง In Bruges และ Seven Psychopaths ซึ่งอัดแน่นด้วยอารมณ์ขัน แต่ก็หม่นเศร้าในเวลาเดียวกัน Three Billboards Outside Ebbing, Missouriไม่เคยพลาดจังหวะที่จะเรียกเสียงฮาจากคนดู ก่อนต่อมาจะค่อยๆ พลิกตลบไปสู่ความซาบซึ้ง ความเศร้าหมองอย่างคาดไม่ถึง เมื่อเรื่องราว ตลอดจนตัวละครเริ่มพัฒนาไปสู่ทิศทางที่เหนือความคาดหมาย “เป็นเรื่องถนัดของมาร์ตินเลย ความสลดหดหู่กับตลกขบขันแม็คดอร์มานด์กล่าว “เป็นส่วนผสมที่ลงตัวมาก และเป็นแก่นของความเป็นมนุษย์” แม็คดอร์มานด์กล่าว หนังพูดถึงความเจ็บปวดที่ไม่อาจอธิบายเป็นคำพูดได้ของการสูญเสียลูก “ถ้าคู่ชีวิตเราตาย เราก็จะกลายเป็นแม่หม้าย หรือพ่อหม้าย ถ้าพ่อแม่เราตาย เราก็จะกลายเป็นเด็กกำพร้า แต่ถ้าลูกเราตาย กลับไม่มีคำนิยามใดๆ

แม็คโดนาห์เขียนบทมิลเดร็ดขึ้นโดยมีภาพของแม็คดอร์มานด์อยู่ในหัว เขาให้เหตุผลว่าสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเธอสามารถถ่ายทอดคุณลักษณะแบบชนชั้นแรงงานได้อย่างที่นักแสดงหลายคนทำไม่ได้ โดยปราศจากกลิ่นอายของการดูถูก เหยียดหยาม หรือใส่ความน่าสงสารเข้าไปจนเกินงาม เขาไม่อยากให้มิลเดร็ดกลายเป็นตัวละครชาวบ้านที่ดูบ้าคลั่งจนแบนราบ “หนึ่งในจุดมุ่งหมายหลักของหนังเรื่องนี้ คือ ถ่ายทอดความจริงในชีวิตของผู้หญิงชนชั้นแรงงานแม็คโดนาห์ ซึ่งไม่เคยพิจารณานักแสดงหญิงคนอื่นสำหรับบทนี้ กล่าว “เธอต้องดูเป็นผู้หญิงจริงๆ ดูเป็นแม่คนจริงๆ และโกรธแค้นจนไม่อาจนั่งเฉยได้อีกต่อไป ผมคิดไม่ออกว่าจะมีนักแสดงหญิงคนไหนในอเมริกาที่พร้อมสรรพด้วยคุณสมบัติดังกล่าว และมีทักษะในการส่งรับอารมณ์ขัน แต่ไม่เรียกเสียงฮาจนเกินพอดี คนที่สามารถเล่นตลกหน้าตายได้ โดยยังรักษาความสัตย์จริง แง่มุมมนุษย์ของตัวละครไว้อย่างครบถ้วน เธอน่าจะเป็นนักแสดงหญิงที่ถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละครได้จริงที่สุดแล้ว ไม่มีใครเทียบเคียงได้


มาร์โกต์ ร็อบบี (I, Tonya)

บทหนังเรื่อง I, Tonya ของ สตีเวน โรเจอร์ส ถูกส่งผ่านมือกันมาสักพักแล้วก่อน มาร์โกต์ ร็อบบี กับเพื่อนร่วมงานจะซื้อลิขสิทธิ์มาสร้างเป็นหนัง ความรุนแรงในครอบครัวมีบทบาทสำคัญมากในบทร่างแรก ถูกถ่ายทอดแบบก้ำกึ่งระหว่างขึงขัง จริงจัง กับบ้าๆ บอๆ “ตั้งแต่อ่านบทครั้งแรกนักแสดงสาวชาวออสซีให้สัมภาษณ์ “ฉันกังวลเรื่องการถ่ายทอดความรุนแรงในครอบครัว ไม่แน่ใจว่าโทนอารมณ์ควรจะออกมาเป็นแบบใดถึงแม้เธอจะไม่ได้คุยกับ ทอนยา ฮาร์ดิง จนกระทั่งสองสามสัปดาห์ก่อนเปิดกล้อง แต่ร็อบบีเชื่อว่าการหั่นประเด็นความรุนแรงในครอบครัวทิ้งไปจะเป็นเหมือนการเซ็นเซอร์ตัวเอง “เหมือนเป็นการทรยศต่อทอนยาและทุกคนที่เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวแต่ในเวลาเดียวกันพวกเขาอยากให้หนังออกแนวตลกขบขันมากกว่าเมโลดรามาบีบน้ำตา ผู้กำกับ เกร็ก กิลเลสปี เสนอให้ตัวละครหันมาพูดกับกล้อง สำหรับฉันมันฟังดูเข้าท่ามาก เพราะทอนยาแปลกแยกทางอารมณ์จากทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น คนดูจะเห็นตัวละครยอมรับความรุนแรงว่าเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นวงจรอุบาทว์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเธอสามารถนำมาพูดถึงได้เหมือนเป็นเรื่องปกติธรรมดาเพื่อมีส่วนในการตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นสำคัญๆ แบบนี้ ร็อบบีจึงไม่ได้แค่นำแสดงเท่านั้น แต่ยังนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการสร้างด้วย

ตำแหน่งดังกล่าวมาพร้อมกับความรับผิดชอบใหญ่หลวง หนึ่งในนั้น คือ “ได้รับอีเมลทุกวัน แจ้งเตือนว่าส่วนแบ่งรายได้ของเมืองไหนขึ้นหรือลง คนดูกลุ่มไหนให้การต้อนรับหนัง พวกนักวิจารณ์เขียนถึงหนังว่าไง มันน่าตื่นเต้นมาก และก็เครียดมากด้วย ฉันไม่เคยเกี่ยวข้องกับส่วนนี้มาก่อนร็อบบีกล่าว อันที่จริงอาจพูดได้ว่านี่เป็นการรับบทนำเต็มตัวครั้งแรกหลังจากนักแสดงสาววัย 27 ปีเคยเล่นร่วมหนังซูเปอร์ฮีโร (Suicide Squad) หนังออสการ์ (บทรับเชิญใน The Big Short บทสมทบใน The Wolf of Wall Street) “ถือเป็นก้าวกระโดดที่ฉันลังเลอยู่นาน คุณต้องแบกความรับผิดชอบบนบ่า ถ้าหนังล้ม ก็เป็นเรื่องยากที่คุณจะได้บทนำอีกครั้ง ในฮอลลีวู้ดผู้ชายสามารถเล่นหนังเจ๊งได้ 2-3 ครั้ง แต่ถ้าคุณเป็นผู้หญิงแล้วหนังเจ๊ง คุณจะไม่ได้โอกาสแก้ตัว

ร็อบบีเติบโตมาพร้อมกับพี่น้องอีกสามคนในเมืองโกลด์โคสต์ ประเทศออสเตรเลีย แม่เธอเป็นนักกายภาพบำบัด ส่วนพ่อเธอทำงานในไร่ พวกเขาแยกทางกันตั้งแต่สมัยร็อบบียังเด็ก ผลการเรียนของเธอน่าประทับใจตอนจบมัธยม ทุกคนต่างเสนอให้เธอไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย แล้วเป็นทนายความ แต่เธอสังเกตเห็นว่าเวลาแม่เธอพูดถึงช่วงวัยรุ่น เธอจะพูดถึงแต่เรื่องน่าตื่นเต้น เช่น การแบ็คแพ็คท่องเที่ยว แต่ไม่เคยพูดถึงตอนเรียนเลย “ฉันไม่อยากเอาเงินอนาคตมาลงเรียนวิชาที่ฉันไม่อยากเรียน แล้วตามชดใช้หนี้ด้วยเหตุนี้ ร็อบบีจึงเดินทางไปเมลเบิร์น ทำงานในร้านซับเวย์ แล้ววางแผนหางานแสดง หรือไม่ก็เก็บเงินไปท่องเที่ยว สุดท้ายเธอประสบความสำเร็จทั้งสองอย่าง เธอแบ็คแพ็คทั่วยุโรประหว่างร่วมแสดงในละครทีวีเรื่อง Neighbours นานสองปี (327 ตอนแต่เมื่อสถานียื่นข้อเสนอต่อสัญญา เธอกลับปฏิเสธ แล้วนั่งเครื่องบินมาอเมริกา เธอได้รับเลือกให้เล่นซีรีส์ใหม่เกี่ยวกับแอร์โฮสเตจในยุค 60 เรื่อง Pan Am

นักแสดงบางคนผ่านประสบการณ์จากโรงเรียนศิลปะชื่อดังอย่าง ราดา หรือ จูลีอาร์ด แต่ร็อบบีผ่านการฝึกฝนที่โรงเรียน แรมซี สตรีท (ฉากหลังของ Neighbours) ที่นั่นสอนเธอให้รู้จักชีวิตนักแสดงมืออาชีพ “กองถ่าย Neighbours ไม่มีรถเทรลเลอร์เธอเล่า “คุณต้องนั่งรวมกันกับนักแสดงและทีมงานคนอื่นๆ ใช้ห้องครัวด้วยกัน พูดคุยสังสรรค์กันตอนเธอได้เล่นละครเรื่อง Pan Am ซึ่งออกอากาศอยู่สองสามเดือนก่อนจะถูกสั่งปิดในปี 2012 ร็อบบีพบว่าประสบการณ์ในกองถ่ายฮอลลีวู้ดช่างแตกต่างจากออสเตรเลีย “คุณถูกแยกออกจากกันเป็นสัดส่วน ซึ่งฉันว่ามันแปลกๆ จำได้ว่าฉันชอบเดินไปเคาะตามประตูเพื่อชวนคนโน้นคนนี้คุยกลุ่มเป้าหมายสุดโปรดของเธอ คือ พวกทีมงาน เช่น แผนกแต่งหน้า หรือเหล่าผู้ช่วยผู้กำกับ “ฉันรู้สึกว่าพวกเขาอายุใกล้ๆ กับฉัน ให้อารมณ์เหมือนกลุ่มเพื่อนที่ออสเตรเลีย

แม้ละครจะถูกยกเลิก แต่ร็อบบีก็ไม่ย่อท้อ เธอเดินหน้าออดิชั่นบท ก่อนจะเจอขุมทอง เมื่อผู้กำกับ มาร์ติน สกอร์เซซี เลือกเธอมาเล่นเป็นภรรยา ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ใน The Wolf of Wall Street จากนั้นก็ได้ร่วมงานกับ ริชาร์ด เคอร์ติส ใน About Tim ตามมาด้วยหนังรวมดารา Suite Francaise ซึ่งถ่ายทำกันที่ประเทศเบลเยียม ถึงจะเริ่มมีชื่อเสียงบ้างแล้ว แต่ร็อบบียังติดนิสัยชอบผูกมิตรกับเหล่าทีมงานหลังกล้องโดยเฉพาะพวกผู้ช่วยผู้กำกับซึ่งส่วนใหญ่มาจากลอนดอน ทำให้เธอได้รู้จักกับสามี ทอม แอ็คเคอร์ลีย์ (ทั้งสองแต่งงานในเดือนธันวาคม 2016) เขากลายมาเป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์ของ I, Tonya หนังที่เล่าถึงเหตุการณ์จริงปี 1994 เมื่อ แนนซี เคอร์ริแกน นักสเก็ตน้ำแข็งหญิง โดนทำร้ายจนกลายเป็นข่าวอื้อฉาว เพราะผู้ต้องสงสัยว่าอยู่เบื้องหลัง คือ ทอมยา ฮาร์ดิง นักสเก็ตน้ำแข็งคู่แข่งที่โดนสื่อมวลชนสร้างภาพให้เป็นวายร้าย

หนังเปิดเผยให้เห็นอีกด้านว่าฮาร์ดิงตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากน้ำมือของแม่ใจโหด (อัลลิสัน แจนนีย์) และสามีหยาบกระด้าง (เซบาสเตียน สแตน) ขณะเดียวกันบุคลิกชนชั้นแรงงานทำให้เธอถูกตราหน้าว่าไม่เหมาะกับกีฬาสเก็ตน้ำแข็ง ตอนร็อบบีอ่านบทครั้งแรก เธอนึกว่าทั้งหมดเป็นเรื่องแต่ง (เหตุการณ์เกิดขึ้นตอนร็อบบีเพิ่งจะอายุแค่ 4 ขวบ) “ฉันโตมาในเมืองชายทะเล เรานั่งดูการแข่งโต้คลื่นทางทีวี ไม่ใช่สเก็ตน้ำแข็ง แต่ฉันหลังรักบทหนังเรื่องนี้ มันไม่ได้เดินตามสูตรสำเร็จร็อบบี ซึ่งใช้เวลา เดือนฝึกฝนทักษะการเล่นสเก็ตน้ำแข็ง กล่าว หนังอาจพูดถึงเหตุการณ์ในอดีต แต่แก่นสาระสำคัญของ I, Tonya ยังคงร่วมสมัยไม่เสื่อมคลายในสายตาของผู้กำกับกิลเลสปี “ฮาร์ดิงถูกทำให้กลายเป็นตัวร้ายในสังคม เป็นมุกล้อเลียนตลอด 25 ปี นอกจากหนังจะมองเธอเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีข้อดีข้อเสียแล้ว มันยังเป็นกระจกที่สะท้อนกลับมายังพวกเราซึ่งชอบตัดสินคนอีกด้วย หนังไม่เพียงวิจารณ์สื่อมวลชน แต่ยังพูดถึงวิธีบริโภคข่าว เสพติดดรามา เราโดนป้อนข้อมูลโดยไม่มีโอกาสมองให้รอบด้านจนทุกอย่างลุกลามเหนือการควบคุม เราเมาท์เรื่องราวของคนๆ หนึ่งอย่างสนุกปากโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ ผมอยากให้หนังเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าบางครั้งขาวกับดำก็ไม่อาจแบ่งแยกได้ชัดเจนเสมอไป รวมถึงวิพากษ์ระบบชนชั้นในอเมริกา ตลอดจนการบีบบังคับให้ผู้หญิงต้องอยู่ในกรอบภาพลักษณ์ของสังคมชายเป็นใหญ่


เซอร์ชา โรแนน (Lady Bird)

ตอนที่ เซอร์ชา โรแนน ทราบข่าวว่าเธอต้องพักอยู่ลอสแอนเจลิสเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์เพื่อเดินสายโปรโมตหนังใหม่ Lady Bird เธอเรียกร้องขออยู่อพาร์ตเมนต์แทนที่จะเป็นโรงแรม เพราะจะได้จุดเทียนหอม ซักผ้า และชงชาสมุนไพรกินก่อนนอน “ฉันอยากหัดดูแลตัวเองหลังเสร็จจากงานในแต่ละวันนักแสดงสาววัย 23 ปีกล่าว แต่แล้วพอเธอกลับมาถึงห้องพักก็พบถุงใส่เสบียงอาหารเพื่อสุขภาพวางรออยู่ แม่เธอสั่งของทางออนไลน์ให้เธอจากประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 5,000 ไมล์ “แม่ซื้อผักมาให้ฉันทำกับข้าวกินโรแนนกล่าว “แม่ฉันประเสริฐสุดๆ เธออยากให้ฉันกินอาหารที่มีประโยชน์ แม้จะอยู่คนละฟากของมหาสมุทร

โรแนนสนิทกับแม่ เธอเป็นลูกคนเดียว เติบโตมาที่คาร์โลว์ เมืองเทศมณฑลที่เล็กที่สุดอันดับสองของไอร์แลนด์ เธอมีความทรงจำดีๆ มากมายจากการมีแม่เป็นแม่บ้านและพ่อเป็นนักแสดง พวกเขาจะชอบนั่งดู Seinfeld ด้วยกันในวันว่าง ส่วนตัวโรแนนเองก็เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย เธอยินดีจะล้างจานเพราะเธออยากให้พ่อแม่มีความสุข “พวกเราเข้ากันได้ดีโรแนนพูดถึงแม่ “จะเรียกว่าเหมือนถูกหวยก็คงได้

ใครก็ตามที่ได้ดู Lady Bird อาจรู้สึกแปลกใจ เพราะตัวละครที่เธอแสดงในหนังเรื่องนี้ ซึ่งเขียนบทและกำกับโดย เกรตา เกอร์วิก เป็นเหมือนไม้เบื่อไม้เมากับแม่ของเธอ (ลอรี เม็ทคาล์ฟ) คริสตินเป็นสาวมัธยมที่ฮอร์โมนกำลังพลุ่งพล่าน เธอปฏิเสธที่จะใช้ชื่อจริง แล้วยืนกรานให้ทุกคนเรียกเธอว่า เลดี้ เบิร์ด เธออยากลงเรียนศิลปะในมหาวิทยาลัยที่นิวยอร์ก แต่แม่เธอคิดว่าเด็กหัวสมองปานกลางอย่างเธอควรเรียนแถวบ้านในมหาวิทยาลัยท้องถิ่นของซาคราเมนโตก็น่าจะพอ ในฉากหนึ่งเมื่อ เลดี้ เบิร์ด ลองสวมชุดที่เธอชอบสำหรับงานพรอม แม่กลับวิจารณ์ว่ามัน “สีชมพูแปร๋นโรแนนเล่าว่า “เพื่อนฉันหลายคนมีความสัมพันธ์แบบนั้นกับแม่ นี่เป็นคนที่ให้กำเนิดคุณ แต่พออายุมากขึ้น คุณก็จะเริ่มขบถ ปรารถนาอิสรภาพ แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องการความรัก ความเอาใจใส่ มันเป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน

เกอร์วิกเจอโรแนนครั้งแรกในปี 2015 เมื่อนักแสดงสาวเดินทางมาโปรโมตหนังเรื่อง Brooklyn ซึ่งเธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงเป็นครั้งแรกในเวลาต่อมา เธอมั่นใจว่าโรแนนเหมาะกับบทนี้ และยินดีจะเลื่อนการถ่ายทำออกไป 6 เดือนเพื่อให้สอดคล้องกับตารางงานของนักแสดงสาวชาวไอริช ซึ่งขณะนั้นกำลังอยู่ระหว่างช่วงซ้อมเล่นละครบรอดเวย์เรื่อง The Crucible “พูดแล้วน้ำตาจะไหลเกอร์วิกกล่าวถึงนักแสดงนำหญิงของเธอ “เธอเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างสมบูรณ์แบบจนคุณแทบไม่สังเกตเห็นเสียด้วยซ้ำ มองไม่เห็นรอยต่อเลย จู่ๆ คุณกลับนึกภาพไม่ออกว่าเธอจะเป็นคนอังกฤษ หรือคนไอริชได้อย่างไร มันให้ความรู้สึกเหมือนคุณเพิ่งค้นพบนักแสดงหน้าใหม่ แม้จริงๆ เธอจะเคยเข้าชิงออสการ์มาแล้วสองครั้ง และทุกคนรู้จักเธอเป็นอย่างดี เธอทำให้คุณต้องร้องว่า ‘โห บทแบบนี้เธอก็เล่นได้เหรอ

หลังโด่งดังตั้งแต่เด็ก (เข้าชิงออสการ์จาก Atonement ขณะอายุเพียง 13 ปีโรแนนรู้สึกว่าหนังเรื่อง Brooklyn ทำให้ฮอลลีวู้ดเริ่มมองเห็นเธอเป็นผู้ใหญ่เสียที ก่อนหน้านี้เธออยู่ในช่วงรอยต่อที่น่าอึดอัด เด็กเกินกว่าจะเล่นเป็นสาวทำงาน แก่เกินกว่าจะรับบทวัยรุ่นทั่วไป แต่ตอนนี้เธอเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้วทั้งบนจอและนอกจอ เธอตัดสินใจย้ายจากไอร์แลนด์มาลอนดอนตอนอายุ 19 ปี เช่าอพาร์ตเมนต์ตามลำพังเป็นครั้งแรก เธอบอกว่ามันเป็นประสบการณ์ที่น่าหวาดหวั่นไม่น้อย เธอต้องหัดซื้อข้าวของ ทำอาหาร และทำงานบ้านทุกอย่างเอง “ตอนเป็นดาราเด็กมักจะมีคนคอยช่วยทำโน่นทำนี่ให้คุณตลอดโรแนนยอมรับ “มีคนบอกว่าต้องยืนตรงไหน คอยรีดผ้า ชงชาให้ ฉันจำได้ว่าในกองถ่าย Atonement ผู้ช่วยผู้กำกับจะเดินมาถามว่าฉันอยากได้อะไรไหม ฉันเลยบอกว่าอยากดื่มชา พอรู้เรื่องเข้าแม่ฉันรีบโทรกลับมากองถ่ายแล้วบอกว่า ‘อย่าตามใจ ให้เธอไปชงชาเองมันช่วยย้ำเตือนฉันว่าชีวิตจริงกับในกองถ่ายแตกต่างกัน

เพื่อถ่ายทอดภาพวัยรุ่นให้สมจริงโรแนนฝึกสำเนียงอเมริกันจนเชี่ยวชาญ และยินดีที่จะไม่ใช้เมคอัพปกปิดสิวบนใบหน้า “วันก่อนมีคนพูดกับฉันว่า ‘สิวที่แต่งขึ้นในหนังดูเหมือนจริงมากนั่นมันสิวฉันจริงๆ” โรแนนกล่าว “ถ้าฉันอายุ 17 แล้วได้ยินแบบนี้คงแอบกลับไปร้องไห้อันที่จริง ตอนเป็นวัยรุ่นโรแนนไม่เคยมีปัญหาเรื่องสิวเลย แต่หลายเดือนของการออกงานเดินพรมแดงเพื่อโปรโมต Brooklyn และอาบแสงไฟบนเวทีละครเรื่อง The Crucible ทำให้เธอเริ่มเจอปัญหา “ตอนเราทดสอบหน้ากล้อง ช่างแต่งหน้าถามว่า ‘จะเป็นไรไหมถ้าเราไม่แต่งหน้ากลบสิวและรอยแดงจนหมดฉันเห็นด้วย ไม่ใช่เพราะอยากอวดว่าฉันกล้าเล่นหนังโดยไม่แต่งหน้าหรืออะไรนะ แต่เพราะนี่เป็นใบหน้าของฉันในตอนนี้ มันให้ความรู้สึกเหมือนเป็นวัยรุ่น” หนึ่งในฉากโปรดของโรแนนตอนถ่าย Lady Bird คือ ฉากงานพรอม เพราะที่ไอร์แลนด์ไม่มีการจัดงานแบบนี้ และเธอก็เริ่มสนิทสนมกับ บีนี เฟลด์สไตน์ ซึ่งรับบทเป็นเพื่อนซี้ของ เลดี้ เบิร์ด “เราเล่นมุกโควทคำพูดจาก Broad City กับ Bridesmaids กันไปมา แล้วก็ขำกลิ้งเฟลด์สไตน์เล่า “เราจูนกันติดตั้งแต่วันแรก ฉันรู้สึกเหมือนเราตกหลุมรักกันระหว่างถ่ายหนังเรื่องนี้เลยสามารถอินตามบทได้ไม่ยาก

แม้จะเริ่มต้นเข้าวงการตั้งแต่เด็ก แต่โรแนนบอกว่าเธอไม่เคยลังเลว่านี่เป็นอาชีพที่เหมาะกับเธอหรือเปล่า “ฉันเคยคิดว่านี่เป็นสิ่งเดียวที่เราทำได้ จะให้ไปทำอะไรอย่างอื่น ฉันไม่ได้อ่านหนังสือมาพักใหญ่แล้ว ไม่ได้เดินทางท่องเที่ยว เวลาทำงาน ฉันทำอย่างอื่นไม่ได้เลย โลกคุณเหมือนจะแคบลง ล่าสุดฉันเริ่มมีความฝันอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เรียนภาษาต่างด้าว หรือทำเหมือน แดเนียล เดย์-ลูว์อิส เรียนตัดรองเท้าแต่ตอนนี้ดูเหมือนตารางเวลาเธอจะแน่นเอี้ยด เธอมีหนังสองเรื่องวางกำหนดฉายภายในปี 2018 นั่นคือ The Seagull ดัดแปลงจากบทละครคลาสสิกของ อันตอน เชคอฟ ซึ่งเธอจะแสดงประกบ แอนเน็ตต์ เบนิง และ Mary Queen of Scots ประกบ มาร์โกต์ ร็อบบี คู่แข่งของเธอบนเวทีออสการ์ปีนี้


แซลลี ฮอว์กินส์ (The Shape of Water)

ถ้าเป็นเรื่องจริงที่ว่าคุณไม่สามารถเป็นที่รักของทุกคนได้ตลอดเวลา ก็ต้องถือว่า แซลลี ฮอว์กินส์ นักแสดงสาวที่คล่องแคล่ว เปี่ยมชีวิตชีวา เริ่มเข้าใกล้จุดนั้นมากที่สุด เก้าปีนับจากโด่งดังเป็นพลุแตกจากหนังเรื่อง Happy-Go-Lucky ของ ไมค์ ลีห์ ซึ่งเธอรับบทป็อปปี้ ครูสาวที่มองชีวิตเหมือนการวิ่งเล่นอยู่บนทุ่งลาเวนเดอร์ นักแสดงสาววัย 41 ปีได้กลายเป็นที่ยอมรับในระดับโลกจากการร่วมงานกับลีห์สามครั้ง และ วู้ดดี้ อัลเลน สองครั้งในหนังที่ไม่ค่อยมีใครอยากจะจดจำอย่าง Cassandra’s Dream และหนังที่ทำให้เธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก Blue Jasmine 

ใน Maudie (หนึ่งในสามผลงานแสดงของเธอในปีนี้นอกจาก The Shape of Water และ Paddington 2) หนังดรามาเกี่ยวกับศิลปินแคนาเดียน ม็อด ลูว์อิส ฮอว์กินส์เลือกจะถ่ายทอดอารมณ์ด้วยความลุ่มลึก ไม่พยายามจะเรียกร้องความเห็นใจจนเกินพอดี “ผมไปกองถ่ายก่อนเปิดกล้องหนึ่งสัปดาห์อีธาน ฮอว์ค เล่า เขารับบทเป็นสามีของลูว์อิส “แซลลีฝึกวาดภาพวันละ 3-4 ชั่วโมง เธอมีครูสอนเต้นรำ คนสอนการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยข้อต่ออักเสบ เธอฝึกพูดสำเนียงแคนาเดียนได้อย่างสมบูรณ์แบบ ผมตระหนักทันทีว่ากำลังร่วมงานกับนักแสดงที่เอาจริงเอาจังเพื่อให้ผลงานออกมายอดเยี่ยมที่สุด

ฮอว์กินส์เล่าว่าเธอตอบตกลงเล่น The Shape of Water ก่อนจะได้อ่านบทเสียอีก หลังจากเห็นชื่อผู้กำกับ “ฉันไม่จำเป็นต้องอ่านบทก็รู้ว่าฉันอยากเล่นหนังเรื่องนี้ กิลเลอร์โมเป็นอัจฉริยภาพในทุกมิติและพอได้อ่านบท เธอยอมรับว่ารู้สึกประหลาดใจไม่น้อย “ภายนอกมันเหมือนหนังสัตว์ประหลาด แต่จริงๆ แล้วมันเป็นหนังรักในสไตล์โฉมงามกับเจ้าชายอสูร เขาไม่ใช่อสูร แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่งดงามซึ่งเธอตกหลุมรัก เขาเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งปลา นี่เป็นหนังที่พิเศษสุดมากๆ ฉันรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้ร่วมงานกับกิลเลอร์โมหนังเล่าเรื่องราวของ อีไลซา สาวใบ้ที่ใช้ชีวิตโดดเดี่ยว ตามลำพัง เธอมีอาชีพเป็นพนักงานทำความสะอาดให้ห้องทดลองลับสุดยอดของรัฐบาลที่เมืองบัลติมอร์ปี 1962 ชีวิตเธอต้องพลิกผันอย่างคาดไม่ถึง เมื่อเธอค้นพบสัตว์ประหลาดลึกลับจากอเมริกาใต้ในอ่างน้ำของห้องแล็บ

เพื่อเตรียมรับบทอีไลซา ฮอว์กินส์ต้องรื้อฟื้นภาษามือซึ่งเธอเคยเรียนตอนเล่นละครเวที Constellations เมื่อ 5 ปีก่อน เธอให้ความสำคัญกับรายละเอียดตรงนี้มาก เพราะเธออยากให้คนดูรู้สึกว่าสมจริง ถึงแม้ภาษามือของอีไลซาจะเป็นส่วนผสมของหลากหลายต้นแบบ “มันไม่ต่างกับการเรียนภาษาใหม่ คุณไม่อาจทำให้เนียนได้ 100% จากการฝึกฝนแค่ชั่วระยะเวลาสั้นๆ แต่ฉันรู้สึกว่าถ้าทำการบ้านมาไม่ดี คนดูจะจับไต๋ได้ ที่จริงต่อให้มีเวลาเป็นปีก็คงไม่พอ เช่น คุณอาจเรียนฝรั่งเศสจนพูดคล่อง แต่สำเนียงคุณก็ยังไม่ได้อยู่ดีฮอว์กินส์กล่าว ก่อนจะเสริมว่าการรับบทคนใบ้ถือเป็นความฝันอย่างหนึ่งของเธอ “เพราะคุณไม่ต้องกลัวว่าจะทำบทพูดของนักเขียนพัง หรือไปไม่ถึงเป้าที่เขาตั้งใจไว้

เช่นเดียวกับตัวละครเอกที่เธอเล่นใน Maudie ซึ่งได้แรงผลักดันจากแม่ตั้งแต่วัยเด็กให้วาดรูปบนการ์ดคริสต์มาส ฮอว์กินส์เติบโตมาในครอบครัวที่ห้อมล้อมด้วยผลงานศิลปะ พ่อแม่เธอเป็นคู่หูนักเขียนนักวาดภาพประกอบ มีผลงานเป็นหนังสือเด็กนับร้อยเล่ม และจำนวนไม่น้อยก็ได้แรงบันดาลใจจากหนูน้อยแซลลี เช่น วันหนึ่งเธอกลับจากโรงเรียนมาเล่าถึงเกมที่เล่นกับเพื่อนๆ ในสนามเด็กเล่น พ่อเธอจึงเก็บไปจินตนาการต่อเป็นหนังสือป็อปอัพ แล้วขายสิทธิ์ให้สำนักพิมพ์ในสัปดาห์ถัดมา หรือบางครั้งเธอกับแม่จะวาดภาพแม่มดเล่นกัน ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นหนังสือสำหรับเด็ก “เราวาดรูปกันแทบทุกวัน มันยอดเยี่ยมมากที่ห้อมล้อมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ฮอว์กินส์เล่า “ฉันได้แรงกระตุ้นให้วาดภาพ ระบายสีเพื่อบอกเล่าความรู้สึก หรือสร้างสรรค์เรื่องราว พ่อแม่ไม่กดดันฉันให้ต้องเรียนหนังสือเก่งๆ ฉันสามารถอยากเป็นอะไรก็ได้ ทัศนคติต่อชีวิต หรือปรัชญาของพวกเขา คือ ทำแล้วมีความสุข

ภาพวาดและการเล่นละครเป็นกิจกรรมสุดโปรดของเธอในวัยเด็ก อิทธิพลด้านการแสดงของเธอได้มาจากพ่อ ซึ่งชอบเล่นเป็นตัวละครที่เขาเขียน ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกว่าทำไมเธอถึงลงเอยเป็นนักแสดงเมื่อเติบใหญ่ เธอจบการศึกษาที่ ราดา โรงเรียนศิลปะชื่อดัง ในปี 1998 ฮอว์กินส์เขียนจดหมายไปหาหัวหน้าฝ่ายจัดหานักแสดง นีนา โกลด์ ซึ่งต่อมาแนะนำให้เธอรู้จักกับ ไมค์ ลีห์ เขาให้เธอรับบทวัยรุ่นตกงานใน All or Nothing โดยหนึ่งในนักแสดงที่เธอได้ร่วมงานและสนิทด้วย คือ เจมส์ คอร์เดน สมัยยังไม่เป็นพิธีกรรายการทอล์คโชว์ ทั้งสองให้สัญญากันว่าถ้าอายุ 35 แล้วยังโสด พวกเขาจะแต่งงานกัน (ปัจจุบันคอร์เดนแต่งงานแล้ว แต่ฮอว์กินส์ยังโสด) หลังจากนั้นฮอว์กินส์ยังมีงานสม่ำเสมอ เช่น Layer Cake ประกบ แดเนียล เครก สมัยก่อนเป็น เจมส์ บอนด์ และกลับมาร่วมงานกับ ไมค์ ลีห์ อีกครั้งใน Vera Drake โดยเล่นบทสมทบเล็กๆ เป็นหญิงสาวบ้านรวยในกรุงลอนดอนยุค 50 ที่อยากทำแท้งเพราะถูกข่มขืน แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปในพริบตาเมื่อลีห์เลือกเธอมารับบทนำใน Happy-Go-Lucky ซึ่งทำให้เธอกวาดรางวัลทางการแสดงมาครองมากมาย “คนอย่างป็อปปี้ ถ้าคุณไม่รักเธอไปเลย ก็จะรำคาญเธอสุดๆฮอว์กินส์ตั้งข้อสังเกตถึงตัวละครที่สร้างชื่อเสียงให้กับเธอ “แต่ไม่ว่ายังไงฉันก็ดีใจที่เธอทำให้คนดูรู้สึกอะไรบางอย่าง

ความสำเร็จของหนังทำให้ทุกคนหันมาจับตามอง แต่ฮอลลีวู้ดเหมือนยังไม่รู้ว่าจะใช้งานเธอยังไง โครงการหนังเขย่าขวัญที่นำแสดงโดย บรูซ วิลลิส ถูกพับเก็บไป (“นั่นเป็นสิ่งสุดท้ายที่ฉันอยากทำ และนึกภาพไม่ออกเหมือนกันว่าบรูซจะอยากเล่นหนังประกบฉัน”) ฮอว์กินส์ตัดสินใจเดินทางตามปรัชญาของพ่อกับแม่ นั่นคือ ทำแล้วมีความสุข เธอเดินหน้ารับเล่นบทสมทบในหนังอาร์ต (Never Let Me Go, An Education) และหนังอินดี้ (Submarine, The Double) ไปพร้อมๆ กับหนังเอาใจตลาดอย่าง Made in Dagenham ก่อนจะได้เข้าชิงออสการ์จาก Blue Jasmine อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงไม่ใช่สิ่งที่เธอโหยหา ในโลกแห่งความเป็นจริงเธอชอบเวลาไม่มีใครจำเธอได้ “เนื่องจากเป็นคนตัวเล็ก ฉันจะซ่อนตัวโดยสวมเสื้อคลุมไซส์ใหญ่ และฉันผมหนา เลยจะใช้มันเหมือนหมวก ฉันตกใจทุกครั้งเวลามีคนจำฉันได้ แต่ฉันดีใจนะถ้ามีคนมาทัก อย่างน้อยพวกเขาก็ไม่ได้ปาของใส่หน้า หรือตะโกนด่า


เมอรีล สตรีพ (The Post)

สตีเวน สปีลเบิร์ก อยากร่วมงานกับ เมอรีล สตรีพ มาตลอด แต่เธอ “ไม่เหมาะ” กับหนังสงคราม/ดรามาเรื่อง War Horse นักทำหนังระดับตำนานฮอลลีวู้ดวัย 71 ปีให้เหตุผลทีเล่นทีจริงว่าทำไมถึงใช้เวลานานกว่าจะมาร่วมงานกับนักแสดงหญิงเจ้าของ 3 รางวัลออสการ์ (Kramer vs. Kramer, Sophie’s Choice, The Iron Lady) ซึ่งหลายคนยกย่องให้เป็นนักแสดงหญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอเมริกา “ผมหาบทให้เธอไม่ได้ในหนังเรื่อง Lincoln กระทั่ง แดเนียล เดย์-ลูว์อิส ซึ่งได้ออสการ์นำชายจากหนังเรื่องนี้ยังบอกว่าเมอรีลเป็นตัวเลือกแรกของผม ฉะนั้นพอบทหนังเรื่องนี้มาตกอยู่ในมือ ผมรู้สึกว่าไม่มีใครบนโลกอีกแล้วที่จะเล่นเป็น แคทเธอรีน เกรแฮม ได้ดีไปกว่าเมอรีล ในที่สุด เมอรีล สตรีพ กับ ทอม แฮงค์ เลยมีโอกาสได้เล่นหนังร่วมกันจนได้ และผมก็ดีใจที่ได้มานั่งเก้าอี้ผู้กำกับ

หนังเขย่าขวัญการเมืองเรื่อง The Post เล่าถึงเรื่องจริงในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการตีพิมพ์เอกสารลับเพนตากอน โดยหนังสือพิมพ์ วอชิงตัน โพสต์ ภายใต้การนำของ แคทเธอรีน เกรแฮม ซึ่งในยุคนั้นเป็นบรรณาธิการบริหารหญิงคนแรก แต่ในเวลาเดียวกันหนังยังพูดถึงมิตรภาพระหว่างเกรแฮมกับ เบน แบรดลี ที่รับผิดชอบเรื่องควบคุมเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ เกรแฮมก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของบริษัทหลังจากสามีเธอฆ่าตัวตายในช่วงเวลาที่เสียงของผู้หญิงยังถูกปิดปาก เธอกำลังวางแผนจะนำหนังสือพิมพ์เข้าตลาดหุ้นตอนที่ นิวยอร์ก ไทมส์ ตีพิมพ์ข่าวว่ารัฐบาลปิดบังข้อเท็จจริงจากประชาชนเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม เมื่อประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน เล่นงาน นิวยอร์ก ไทมส์ ให้เลิกขุดคุ้ยโดยอ้างความมั่นคงของชาติ การตัดสินใจหยิบไม้มาวิ่งต่อของเกรแฮมจึงถือเป็นความเสี่ยงขั้นสูงสุดต่อข้อหากบฎ ซึ่งอาจนำไปสู่ความล่มสลายของธุรกิจที่ครอบครัวเธอก่อตั้งขึ้นมา นอกจากนี้อาจกล่าวได้ว่าชัยชนะของเธอยังเป็นเสมือนบทโหมโรงของมหากาพย์วอเตอร์เกทซึ่งถูกเปิดโปงโดยทีมนักข่าวของ วอชิงตัน โพสต์ เช่นกัน

นักแสดงวัย 68 ปีเคยได้ยินเรื่องราวของเกรแฮมมาบ้าง แต่เธอไม่รู้รายละเอียดมากนักเกี่ยวกับผู้หญิงคนนี้ “ฉันยึดถือหนังสือชีวประวัติชนะรางวัลพูลิทเซอร์ของเธอเรื่อง Personal History เป็นเหมือนไบเบิลนำทาง ทั้งเวอร์ชั่นหนังสือเล่มและเวอร์ชั่นหนังสือเสียงซึ่งเธออ่านเอง มันสะท้อนให้เห็นความสง่างามและความเปราะบาง ไม่มั่นคงของเธอได้อย่างชัดเจน ความมุ่งมั่นของเธอที่จะพูดถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งเธอมีส่วนร่วมอยู่ด้วย รวมถึงแง่มุมส่วนตัวแบบเจาะลึก ตรงไปตรงมาเกี่ยวกับข้อบกพร่องของตัวเองทั้งในฐานะผู้นำ ภรรยา และแม่ มันเล่าถึงการเดินทางอันน่าตื่นตะลึงผ่านจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตช่วงต่างๆ นอกจากนี้ฉันได้พูดคุยกับ ลิซ ฮิลตัน ผู้ช่วยที่ร่วมงานกับเธอมานาน 30 ปี เอเวอลีน สมอล นักวิจัยที่ทำงานร่วมกับเธอ 16 ปีระหว่างเขียนหนังสือ แซลลี ควินน์ ภรรยาม่ายของ เบน แบรดลี รวมทั้ง ลัลลี เวย์เมาท์ ลูกสาวของเกรแฮม และ ดอน เกรแฮม ลูกชายเธอ สิ่งน่าสนใจที่ฉันพบ คือ มีรายละเอียดบางอย่างไม่ตรงกัน แต่ก็มีบางอย่างที่สอดคล้อง ฉันเก็บเกี่ยวทั้งหมด แล้วพยายามถ่ายทอดแก่นของผู้หญิงคนนี้ออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ขณะเดียวกันสตรีพยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าน้ำเสียงของเกรแฮมเปี่ยมเอกลักษณ์ เต็มไปด้วยอารมณ์ เป็นวิธีการพูดแบบผู้หญิงที่มีการศึกษาตามลักษณะของชนชั้นกลางระดับสูงในยุคสมัยนั้น

ถึงจะเล่นหนังมาแล้วมากมาย คว้ารางวัลการแสดงมาแล้วนับไม่ถ้วน แต่สตรีพสารภาพว่าเธอยังรู้สึกประหม่าทุกครั้งตอนเปิดกล้อง “ฉันกลัวโน่นกลัวนี่ไปหมด รู้สึกเหมือนสิ้นไร้ความมั่นใจทั้งปวงเธอเล่า “สามีฉันตั้งข้อสังเกตว่าฉันชอบทำแบบนี้ ชอบพูดว่า ‘ไม่เอา ฉันไม่เคยเล่นบทแบบนี้มาก่อน ฉันคงเล่นไม่ได้หรอก ฉันว่าฉันโทรไปขอถอนตัวดีกว่าเขาจะพูดว่า ‘มาอีหรอบเดิมตอนนี้เลยรู้สึกว่าฉันอาจจงใจทำเพื่อให้เหมือนเริ่มต้นจากศูนย์ เวลาเริ่มถ่ายทำจะได้ให้อารมณ์สมจริงและสดใหม่ ทุกครั้งคุณต้องพิสูจน์ตัวเองให้คนดูเชื่อ” หลังเวียนว่ายอยู่ในวงการมานาน 40 ปี การได้ร่วมงานกับสปีลเบิร์กทำให้สตรีพรู้สึกทึ่ง “ฉันไม่เคยร่วมงานกับใครที่มีสัญชาตญาณด้านการเล่าเรื่องด้วยภาพเก่งกาจเท่าเขา ไม่มีเลย มันน่าตื่นเต้นเหลือเกิน เขาไม่นิยมซ้อมก่อนถ่ายจริง ฉะนั้นมันจึงทำให้ฉันเครียดและตื่นเต้นไม่น้อย แต่ทอมรู้ข้อเท็จจริงข้อนี้ดี (ทั้งคู่เคยร่วมงานกันมาแล้วใน Saving Private Ryan, The Terminal, Catch Me If You Can และ Bridge of Spies) เขาจึงเตรียมพร้อมเต็มที่ ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ฉันรู้สึกแย่

นอกจากสปีลเบิร์กแล้ว นี่ยังเป็นการร่วมงานกันครั้งแรกระหว่างสตรีพกับแฮงค์อีกด้วย แน่นอนฝ่ายแรกตระหนักดีว่าฝ่ายหลังขึ้นชื่อในฐานะผู้ชายที่นิสัยดีที่สุดคนหนึ่งของฮอลลีวู้ด แต่พอได้มาร่วมงานกันจริงๆ สตรีพยังตระหนักอีกว่าเขามีไหวพริบเฉียบคม “นั่นยิ่งทำให้เขาเหมือนเบน (แบรดลี) ความเฉลียวฉลาดแบบที่ทำให้รู้สึกว่าเขาจะก้าวนำหน้าทุกคนสองสามก้าวเสมอ

สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงเกี่ยวกับ แคทเธอรีน เกรแฮม และสตรีพถ่ายทอดออกมาได้อย่างเฉียบขาด ได้แก่ แง่มุมอ่อนแอ ไม่มั่นใจในตัวเอง ซึ่งสตรีพมองว่าเป็นผลพวงจากสังคมยุคนั้นที่ยังเหยียบย่ำผู้หญิงให้เป็นเพียงพลเมืองชั้นสอง ไม่มีสิทธิมีเสียง ความเห็นของพวกเธอไม่ถูกให้ค่าความสำคัญเท่าความเห็นของผู้ชาย (มีอยู่ฉากหนึ่งหลังจบงานเลี้ยงอาหารเย็น คนดูจะเห็นพวกผู้ชายนั่งถกการเมืองกันต่อในห้องอาหาร ขณะที่พวกผู้หญิงเดินไปรวมตัวในห้องติดกัน พูดคุยเรื่องสัพเพเหระ) อีกส่วนหนึ่งสตรีพมองว่าเป็นผลมาจากครอบครัว จากการเติบโตมาในบ้านที่พ่อทรงอิทธิพล ส่วนแม่ของเธอก็มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตไม่แพ้กัน แต่เมื่อหนังเริ่มต้น เธอสูญเสียทั้งพ่อแม่และสามี ปราศจากเสาหลักใดๆ ให้พึ่งพิง เลยจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะยืนหยัดเพื่อตัวเอง สำหรับนักแสดงสาววัย 68 นี่คือจุดต่างสำคัญระหว่าง All the President’s Men ซึ่งเอ่ยถึงเกรแฮมแบบผ่านๆ แต่เน้นย้ำไปยังการสืบสวนคดีวอเตอร์เกทของ บ็อบ วู้ดเวิร์ด (โรเบิร์ต เรดฟอร์ดกับ คาร์ล เบิร์นสตีน (ดัสติน ฮอฟฟ์แมนและ The Post “จนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัยฉันถึงสามารถทำบัตรเครดิตได้โดยไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกครอบครัวผู้ชายเป็นคนเซ็นรับรองสตรีพรำลึกความหลัง  

ไม่มีความคิดเห็น: