วันศุกร์, ธันวาคม 14, 2550

เพิ่มความเคลื่อนไหวให้ภาพ (2)


นอกเหนือจากการตั้งกล้องบนขาไทรพ็อดแล้วหันกล้องซ้ายขวา (pan) หรือขึ้นลง (tilt) แล้ว คุณยังสามารถเพิ่มความเคลื่อนไหวให้ภาพได้ด้วยการตั้งกล้องบนพาหนะ ซึ่งสามารถแล่นเข้าหา ออกจาก หรือตามติดตัวละครที่กำลังเคลื่อนที่ได้ เราเรียกช็อตดังกล่าวว่า dolly shot บางครั้งคุณอาจติดตั้งรางเลื่อนบนพื้นเพื่อให้กล้องเคลื่อนไหวได้อย่างนุ่มนวล นั่นกลายเป็นที่มาของคำว่า tracking shot ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกัน และถ้าช็อตดังกล่าวกินระยะไกล ทีมงานอาจต้องคอยติดตั้งราง หรือถอดเก็บรางไปพร้อมๆ กับการเคลื่อนกล้องเข้าหาหรือออกจากตัวละคร ทุกวันนี้ การเคลื่อนกล้องใดๆ บนพาหนะสามารถเรียกว่า dolly shot ได้ทั้งนั้น เช่น กล้องที่ติดตั้งอยู่บนรถ รถไฟ หรือกระทั่งรถจักรยาน อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวขึ้นของกล้องน้ำหนักเบาและสเตดิแคมส่งผลให้นักทำหนังในปัจจุบันไม่ค่อยนิยมติดตั้งรางดอลลี่สำหรับถ่ายทำอีกต่อไป

Tracking เป็นเทคนิคเปี่ยมประโยชน์ในการสะท้อนมุมมองของตัวละคร แทนสายตาและความรู้สึกของพวกเขาขณะเดินเข้าหรือออกจากฉาก ถ้านักทำหนังต้องการเน้นย้ำ “จุดหมายปลายทาง” ของการเคลื่อนไหว เขามักจะใช้การตัดภาพจากช่วงเริ่มต้นการเคลื่อนไหวไปยังบทสรุปทันที แต่ถ้าประสบการณ์ของการเคลื่อนไหวเป็นสิ่งสำคัญ ผู้กำกับจะเลือกใช้ ดอลลี่ ช็อต เช่น หากตัวละครกำลังมองหาสิ่งของสำคัญบางอย่าง ดอลลี่ ช็อต แทนสายตาตัวละครที่กินเวลามากกว่าการตัดภาพตรงๆ จะช่วยเพิ่มอารมณ์ตื่นเต้น ส่วนการถอยกล้องออกมา (dolly out) เป็นเทคนิคที่เหมาะสำหรับการเซอร์ไพรซ์คนดูด้วยการเปิดเผยข้อมูลใหม่ หรือฉากหลังที่กว้างขึ้นและเต็มไปด้วยรายละเอียด เพราะการเคลื่อนกล้องถอยออกไปจะส่งผลให้คนดูได้มองเห็นบางอย่างที่ก่อนหน้านี้อยู่นอกเฟรมภาพ ดังเช่นฉากเปิดเรื่องของ A Clockwork Orange ซึ่งเริ่มต้นช็อตด้วยภาพโคลสอัพใบหน้าตัวละคร ก่อนจะค่อยๆ ถอยออกมาเพื่อสะท้อนให้เห็นฉากหลังในมุมกว้าง


บางครั้ง tracking shot อาจใช้สร้างความขัดแย้งอันน่าขัน ดังเช่นฉากหนึ่งในหนังเรื่อง The Pumpkin Eater เมื่อภรรยา (แอนน์ แบนครอฟท์) หวนกลับมาสร้างสัมพันธ์รักกับอดีตสามีที่บ้าน และขณะทั้งสองกำลังนอนพูดคุยอยู่บนเตียง เธอก็ถามเขาว่าเขาทุกข์ใจกับการหย่าและเคยคิดถึงเธอบ้างไหม เขายืนยันหนักแน่นว่าไม่ได้คิดมากเกี่ยวกับการหย่า แต่ระหว่างที่บทสนทนายังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กล้องกลับค่อยๆ ดอลลี่ผ่านห้องรับแขกของฝ่ายชาย เผยให้เห็นภาพของอดีตภรรยาและบรรดาสิ่งของอันเป็นตัวแทนเธออีกมากมาย ภาพบนจอขัดแย้งกับคำพูดของตัวละครอย่างสิ้นเชิง มันถือเป็นการสื่อสารโดยตรงระหว่างผู้กำกับและคนดูโดยที่ตัวละครไม่รับรู้

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้ว dolly shot มักใช้เพื่อจุดมุ่งหมายในเชิงจิตวิทยามากกว่า การค่อยๆ เคลื่อนกล้องเข้าหาตัวละครเป็นเหมือนสัญญาณบอกใบ้ให้คนดูทราบว่าพวกเขากำลังจะพบเห็นบางอย่างที่สำคัญ การตัดภาพไปยังช็อตโคลสอัพจะให้ความรู้สึกฉับพลันทันที ส่วนการดอลลี่อย่างเชื่องช้าจะสร้างอารมณ์แบบค่อยเป็นค่อยไปของการค้นพบ

หากคุณต้องการเคลื่อนกล้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเปลี่ยนมุมภาพไปพร้อมๆ กัน อุปกรณ์ที่เรียกว่าเครน (crane) จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ โดยพื้นฐานแล้ว crane shot ก็เป็นเหมือน dolly shot ที่ถ่ายลงมาจากอากาศ เครนสามารถยกตัวกล้องและตากล้องขึ้นหรือลงได้ตามใจปรารถนา มีลักษณะคล้ายๆ กับเครนที่ช่างซ่อมสายโทรศัพท์ใช้นั่นแหละ มันสามารถเคลื่อนไหวไปได้แทบจะทุกทิศทาง ความยืดหยุ่นในการเคลื่อนไหวของเครนส่งผลให้ตากล้องสามารถถ่ายทำช็อตอันซับซ้อนได้อย่างสะดวกสบาย เช่น ฉากคลาสสิกในหนังเรื่อง Notorious ของ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก ซึ่งกล้องเคลื่อนจากภาพระยะไกลมากในมุมสูงลงมายังงานบอลรูมเบื้องล่างแล้วค่อยๆ โคลสอัพไปยังมือของนางเอก (อินกริด เบิร์กแมน) ที่กำกุญแจไขห้องไวน์เอาไว้

crane shot อันลือลั่นจากหนังเรื่อง Notorious ของ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก เมื่อกล้องโฉบลงจากภาพมุมสูงระยะไกลมากมาโคลสอัพยังสิ่งของภายในมือของ อินกริด เบิร์กแมน

เช่นเดียวกับเครน เฮลิคอปเตอร์ก็สามารถเคลื่อนไหวไปได้ทุกทิศทาง มีประโยชน์อย่างยิ่งในกรณีที่เครนไม่สามารถครอบคลุมทัศนียภาพอันกว้างใหญ่ไพศาลได้อย่างทั่วถึง การบินโฉบของ aerial shot จะให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ อลังการ ส่งผลให้บ่อยครั้งมันมักถูกนำมาใช้สะท้อนอิสระและเสรีภาพ ในหนังเรื่อง Jules and Jim ช็อตที่ถ่ายทำจากเฮลิคอปเตอร์ถ่ายทอดความรู้สึกตื่นเต้น ดีใจ และเต็มตื้นของจิมได้อย่างยอดเยี่ยม เมื่อเขาเดินทางมาเยี่ยมเยียนเพื่อนรัก จูลส์ กับภรรยาของเขาที่เยอรมันหลังจากเหินห่างกันไปนานหลายปี ในทางตรงกันข้าม ผู้กำกับ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า เลือกใช้ aerial shot ในหนังสงครามคลาสสิกเรื่อง Apocalypse Now เพื่อสะท้อน “มุมมองดุจพระเจ้า” ขณะเฮลิคอปเตอร์ของอเมริกันทิ้งระเบิดถล่มหมู่บ้านของชาวเวียดนาม ซีเควนซ์ดังกล่าวผสมผสานความรู้สึกตื่นตะลึง งดงาม และชวนสยดสยองได้อย่างกลมกลืน

ในฉากเปิดเรื่องของ The Sound of Music สะท้อนให้เห็นบุคลิกรักอิสระของตัวละครเอก และตอกย้ำความงามแห่งทัศนียภาพของประเทศออสเตรียให้โดดเด่น ในแง่หนึ่งมันยังช่วยสร้างความประหลาดใจแก่คนดูอีกด้วย เนื่องจากหนังเพลงในยุคนั้นส่วนใหญ่มักนิยมถ่ายทำกันในสตูดิโอ

เลนส์ซูมจะช่วยให้คุณสร้างความรู้สึกของการเคลื่อนไหวได้โดยไม่จำเป็นต้องขยับกล้อง zoom shot จะทำให้คนดูรู้สึกเหมือนถูกโยนเข้าไปในเหตุการณ์ หรือถูกกระชากออกจากฉากอย่างรวดเร็ว ซูมช็อตอาจถูกเลือกใช้แทนการดอลลี่หรือการใช้เครนด้วยเหตุผลหลากหลาย หนึ่ง คือ มันเคลื่อนเข้าหาหรือออกจากฉากได้อย่างรวดเร็วกว่า สอง หากมองในแง่ของงบประมาณ มันถูกกว่าการใช้เครนหรือดอลลี่ เนื่องจากคุณไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์เสริมใดๆ และสาม เหมาะสำหรับการถ่ายทำตามสถานที่อันพลุกพล่าน คุณสามารถตั้งกล้องระยะไกลแล้วใช้เลนส์ซูมในการจับภาพโดยไม่เป็นที่สังเกตของผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา

ผู้กำกับระดับตำนาน สแตนลีย์ คูบริค ใช้ประโยชน์จากเลนส์ซูมได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพในฉากหนึ่งของหนังเรื่อง Barry Lyndon เมื่อเขาค่อยๆ พาคนดูออกห่างจากการมีส่วนร่วม “ใน” ขบวนพาเหรดของทหารอังกฤษ แล้วเปลี่ยนมาเป็นมุมมองในระยะไกลของคนที่เฝ้าดูขบวนพาเหรดอยู่ เลนส์ซูมมักได้รับความนิยมอย่างสูงในการถ่ายทำสารคดี เมื่อทีมงานไม่มีเวลา หรือทุนสร้างในการติดตั้งอุปกรณ์อย่างรางดอลลี่ หรือเปลี่ยนเลนส์ เมื่อบุคคลที่พวกเขาเฝ้าติดตามเข้าถึงได้ยาก หรือเมื่อพวกเขาไม่ต้องการให้คนถูกถ่ายรู้ตัว

การใช้เลนส์ซูมและการเคลื่อนกล้องจะให้ผลกระทบที่แตกต่างกันในเชิงจิตวิทยา กล่าวคือ ดอลลี่ ช็อต มีแนวโน้มจะทำให้คนดูรู้สึกเหมือนกำลังเดินเข้าหรือออกจากฉาก เฟอร์นิเจอร์และผู้คนค่อยๆ แล่นผ่านไปตามด้านข้างของจอภาพ ขณะกล้องพุ่งตรงไปยังพื้นที่ว่างแบบสามมิติ แต่เลนส์ซูมกลับทำให้ภาพดูแบนและผู้คนดูหดสั้น ฉะนั้น แทนที่จะให้ความรู้สึกเหมือนการเดินเข้าไปในฉาก เรากลับรู้สึกเหมือนบางส่วนของฉากถูกขยายใหญ่ และพุ่งเข้าใส่เรา หากช็อตนั้นๆ กินเวลาเพียงเล็กน้อย ความแตกต่างข้างต้นอาจไม่ปรากฏเด่นชัด แต่ในช็อตที่กินเวลายาวนาน การตัดสินใจเลือกใช้เลนส์ซูมหรือรางดอลลี่จะส่งผลกระทบกับคนดูแตกต่างกันไป

ในหนังเรื่อง Barry Lyndon ผู้กำกับ สแตนลีย์ คูบริก ใช้เทคนิคการซูมบ่อยครั้ง (นับรวมแล้วประมาณ 36 ช็อต) ซึ่งส่งผลให้ตัวละครของเขาดูเหมือนถูกขังไว้ภายในเฟรมและช็อตดูแบนราบเหมือนภาพวาด

เทคนิคการซูมและดอลลี่บางครั้งอาจถูกนำมาผสมผสานกันเพื่อสร้างผลกระทบแปลกใหม่ เราเรียกเทคนิคดังกล่าวว่า dolly zoom ซึ่งเริ่มต้นใช้อย่างโดดเด่นเป็นครั้งแรกในหนังเรื่อง Vertigo เพื่อสะท้อนความรู้สึกวิงเวียนหน้ามืดของตัวละครที่เป็นโรคกลัวความสูงขั้นรุนแรง โดยมาก dolly zoom เกิดจากการดอลลี่กล้องเข้าหาตัวละครแล้วซูมเลนส์ออกห่างจากตัวละครพร้อมๆ กัน ฉะนั้น ภาพที่ปรากฏจึงเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวในแบ็คกราวด์ แต่ระยะห่างระหว่างกล้องกับตัวละครยังคงเท่าเดิม บ่อยครั้งช็อตดังกล่าวเหมาะสำหรับการแสดงให้เห็นอันตรายร้ายแรงที่กำลังคืบคลานเข้ามา หรือการตระหนักถึงภยันตราย หรือเพื่อสร้างความรู้สึกสับสน มึนงงของตัวละคร ในหนังเรื่อง Jaws ผู้กำกับ สตีเว่น สปีลเบิร์ก ใช้เทคนิคดังกล่าวกับฉากที่นายอำเภอนั่งอยู่บนชายหาด แล้วมองเห็นคีบของปลาฉลามกำลังพุ่งเข้าหาเด็กๆ ที่กำลังว่ายน้ำอยู่ในทะเล อีกหนึ่งตัวอย่างที่โดดเด่นของการใช้ dolly zoom คือ ฉากไคล์แม็กซ์ในหนังเรื่อง Goodfellas เมื่อ เฮนรี่ ฮิล (เรย์ ลิอ็อตต้า) กำลังนั่งพูดคุยกับ จิมมี่ คอนเวย์ (โรเบิร์ต เดอ นีโร) ในร้านอาหาร ก่อนฝ่ายแรกจะเริ่มตระหนักว่าฝ่ายหลังกำลังวางกับดักเขาและทรยศต่อมิตรภาพอันยาวนาน

เทคนิค dolly zoom ถูกนำมาใช้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพในตอนที่ ซินเธีย (ลอรา แซน จิอาโคโม) ถึงจุดสุดยอดในหนังเรื่อง Sex, Lies and Videotape

ไม่มีความคิดเห็น: