วันจันทร์, เมษายน 18, 2559

10 Cloverfield Lane: อันตรายจากความกลัว


โครงการสร้างหนังเรื่อง 10 Cloverfield Lane ถูกเก็บงำเป็นความลับสุดยอด ชนิดที่ไม่มีใครรู้ว่ามีหนังเรื่องนี้อยู่ด้วยซ้ำจนกระทั่งสตูดิโอปล่อยทีเซอร์ตัวแรกออกมา ซึ่งเก็บงำบทเฉลยความลับเกี่ยวกับหายนะไว้อย่างมิดชิด คนดูไม่รู้ว่ามี หรือไม่มี อะไรข้างนอกนั่นกันแน่ และขณะเดียวกันก็สื่อนัยยะว่าอาจจะมีเซอร์ไพรส์บางอย่างที่คุณไม่ควรรู้จากใครจนกว่าจะได้เห็นด้วยตาตัวเองบนจอ แต่ไม่นานต่อมาเมื่อตัวอย่างที่สองกับโปสเตอร์หนังชุดใหม่ถูกปล่อย เสียงโวยวาย จนถึงขั้นก่นด่าก็เริ่มดังสนั่นโดยเฉพาะจากตัวผู้กำกับว่าพวกมันเฉลยปมสำคัญของหนังอย่างน่าละอาย

หลังจากชมภาพยนตร์จบ สิ่งที่ผมสงสัยอย่างหนักไม่ใช่ว่าทำไมสตูดิโอถึงทำลายหนังด้วยการเฉลยตอนจบในตัวอย่าง หรือโปสเตอร์หนัง ตรงกันข้าม ผมนึกสงสัยว่าทำไมผู้กำกับ แดน แทรชเทนเบิร์ก ถึงคิดว่าไคล์แม็กซ์ของหนังเปรียบเสมือนจุดหักมุมที่จะทำให้คนดูตื่นตะลึง หรือไม่คาดคิดมาก่อนในระดับเดียวกับ The Sixth Sense จนการรู้ตอนจบก่อนดูหนังจะเป็นการทำลายความสนุกลงไปเกือบครึ่ง เพราะพูดกันตามตรง ตอนจบของหนังเรื่องนี้หมดเซอร์ไพรส์ (ที่อาจพอมีอยู่บ้าง) ไปแล้วตั้งแต่การตั้งชื่อหนัง แทรชเทนเบิร์กจะเป็นเดือดเป็นร้อนทำไมในเมื่อคนดูคาดเดาตอนจบได้อยู่แล้วตั้งแต่เห็นชื่อหนัง และนั่นนำไปสู่ข้อสงสัยต่อมาที่ว่าทำไมชื่อเรื่องต้องผูกโยงไปยัง Cloverfield ทั้งที่มันไม่ใช่ภาคต่อ หรือภาคก่อนหน้า หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ ต่อกันเลยในเชิงเนื้อเรื่อง รวมทั้งยังแตกต่างสุดขั้วในแง่สุนทรียะทางภาพยนตร์อีกด้วย (บทหนังดั้งเดิมใช้ชื่อว่า The Cellar และชื่อใหม่ก็ไม่ถูกเปิดเผยจนกระทั่งทีเซอร์ตัวแรกเปิดตัว) หรือสตูดิโอต้องการเกาะกระแสความดังของหนังเมื่อ 8 ปีก่อน ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขนาดนั้น (ทำเงินทั่วโลกราว 170 ล้านเหรียญ) ลำพังแค่ชื่อเสียงของ เจ.เจ. อับราฮัมส์ ในฐานะผู้อำนวยการสร้างก็น่าจะช่วยอัพเครดิตให้หนังได้มากพอแล้ว แทรชเทนเบิร์กไม่รู้จริงๆ หรือว่าการตีตรา Cloverfield ลงบนชื่อหนังถือเป็นการเฉลยตอนจบไปในตัว

อย่างไรก็ตาม จากทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ได้หมายความว่าการรู้ตอนจบจะทำให้ความสนุกของหนังเรื่องนี้ลดน้อยลงแต่อย่างใด อันที่จริงดีเสียอีกถ้าคุณรู้ว่าตอนจบเป็นอย่างไรตั้งแต่ก่อนเข้าโรง เพราะคุณจะไม่รู้สึกผิดหวังเมื่อพบว่ามันไม่ได้พลิกไปจากความคาดหมายดั้งเดิมเหมือนที่ผมรู้สึก (หลังตัวเอกหลุดมาข้างนอก ผมได้แต่คิดเสมอว่ามันต้องมีอะไรมากกว่านี้สิ ไม่งั้นผู้กำกับจะเป็นเดือดเป็นแค้นขนาดนั้นทำไม) ซึ่งนั่นถือว่าไม่ยุติธรรมต่อหนังสักเท่าไหร่ เพราะอาจพูดได้ว่าบทเฉลยราวๆ 15 นาทีสุดท้ายของหนังถือเป็นส่วนที่อ่อนปวกเปียกที่สุดของหนังจนเกือบจะเป็นแอนตี้ไคลแม็กซ์ โดยความสนุกแท้จริงของหนังอยู่ตรงช่วงเวลาหนึ่งชั่วโมงก่อนหน้านั้น

นอกเหนือจาก เจ.เจ. อับรัมส์ ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง และบทเฉลยของหนังแล้ว 10 Cloverfield Lane แทบจะไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับผลงานเมื่อ 8 ปีก่อนเลย จะว่าไปแล้วหนังสองเรื่องนี้เป็นขั้วตรงข้ามของกันด้วยซ้ำ เพราะ Cloverfield ดำเนินรอยตามแนวทางหนังหายนะถล่มโลก โดยใช้รูปแบบของ ฟุตเตจจริง มาถ่ายทอดและสร้างความแปลกใหม่ (ในช่วงเวลานั้น) ซึ่งนั่นหมายถึงเต็มไปด้วยภาพสั่นไหว ส่ายไปส่ายมาเพื่อความสมจริง และตัวละครพูดกับกล้องโดยตรง ขณะที่ผลงานชิ้นล่าสุดเป็นหนังในตระกูลเขย่าขวัญ ที่เน้นการเลือกช็อตอย่างพิถิพิถันเพื่อปลุกเร้าอารมณ์คนดูให้ลุ้นเอาใจช่วยตัวละคร กล้องเคลื่อนที่อย่างลื่นไหล ภาพส่วนใหญ่ค่อนข้างนิ่ง และไม่มีการให้ตัวละครพูดกับกล้องโดยตรง มันถือเป็นการ ปรุงแต่ง แบบคลาสสิก ดั้งเดิม (แต่ไม่ได้หมายความว่าหนังแนวฟุตเตจจริงจะไม่เน้นการปรุงแต่ง เพราะแน่นอนความพยายามทำให้ทุกอย่างดู เหมือนจริง ที่สุดก็ถือเป็นการปรุงแต่งในอีกรูปแบบหนึ่ง) จนไม่น่าแปลกใจที่นักวิจารณ์หลายคนจะนึกเปรียบเทียบหนังกับผลงานอันเลื่องชื่อในอดีตของบิดาหนังเขย่าขวัญสั่นประสาทอย่าง อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก

ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะพล็อตหนังส่งกลิ่นอาย Psycho อยู่จางๆ (นอกเหนือจากช็อต กุญแจดอกสำคัญในกำมือ ซึ่งชวนให้นึกถึงช็อตดังจากหนังเรื่อง Notorious อยู่ไม่น้อย) เริ่มจากเรื่องราวของหญิงสาวที่หนีเสือปะจระเข้ โดยใน Psycho แมเรียน เครน ขโมยเงินบริษัทเพื่อหวังจะนำไปใช้หนี้ให้แฟนหนุ่ม แต่ระหว่างขับรถออกนอกเมือง เธอต้องหลบฝนเข้าไปพักในโรงแรมข้างทางแห่งหนึ่ง ส่วน 10 Cloverfield Lane มิเชล (แมรี อลิซาเบ็ธ วินสตีด) มีปัญหาระหองระแหงกับแฟนหนุ่ม (ให้เสียงโดย แบรดลีย์ คูเปอร์) เธอตัดสินใจเก็บเสื้อผ้าลงกระเป๋า แล้วขับรถหนีออกนอกเมือง แต่ระหว่างทางเธอประสบอุบัติเหตุและตื่นขึ้นมาอยู่ในห้องปิดทึบใต้ดินพร้อมโซ่ล่ามขา ซึ่งชั่วแวบหนึ่งทำให้คนดูนึกไปถึงหนังสยองขวัญตระกูล Saw กับ Hostel ก่อนไม่กี่ฉากต่อมาบทหนังจะคลี่คลายให้เห็นว่านี่ไม่ใช่ภารกิจจับคนมาทรมาน

โฮเวิร์ดคล้ายคลึงกับ นอร์แมน เบทส์ ตรงที่มองจากภายนอก เขาดูเหมือนน่าคบหาและไม่คุกคาม แต่ในเวลาเดียวกันก็สามารถสะท้อนความบิดเบี้ยว ดำมืดของจิตใจได้อย่างน่าเชื่อ (คนแรกมีปมเรื่องลูกสาว ส่วนคนหลังมีปมเรื่องแม่) ซึ่งในจุดนี้การคัดเลือก จอห์น กู๊ดแมน มารับบทโฮเวิร์ดถือเป็นความฉลาดอย่างหนึ่ง เพราะมันใช้ประโยชน์จากทั้งภาพลักษณ์อบอุ่นน่ารักของเขาในหนังส่วนใหญ่ (นิยามที่ชัดเจนสุดน่าจะเป็นซัลลีในอนิเมชันเรื่อง Monsters, Inc.) และภาพลักษณ์ของความลึกลับ บ้าคลั่ง ชวนสะพรึงแบบในหนังของสองพี่น้องโคนอย่าง Barton Fink

หนังมีจุดเด่นตรงการเร้าอารมณ์คนดูให้จิกเบาะแบบลุ้นระทึกผ่านทักษะภาพยนตร์ที่ได้ผลในหลายๆ ฉาก ความเงียบ (รวมถึงการแสดงอันยอดเยี่ยมของสามดารานำ) ช่วยรักษาระดับความตึงเครียดของฉากบนโต๊ะอาหารได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อมิเชลต้องระวังไม่ให้กุญแจที่เธอขโมยมาส่งเสียงกระทบกันจนโฮเวิร์ดรู้ตัว แต่ความลับดังกล่าวจะได้เก็บรักษาไว้ได้นานแค่ไหน หากโฮเวิร์ดเคลื่อนไหวแล้วไม่ได้ยินเสียงกุญแจที่เขาห้อยติดตัวตลอดเวลา บทหนังเองก็เล่นเอาล่อเอาเถิดกับการคาดเดาของคนดูได้อย่างสนุกสนาน โฮเวิร์ดเริ่มต้นด้วยภาพลักษณ์ของชายสติหลุดที่หวาดระแวง หมกมุ่นอยู่กับทฤษฎีสมคมคิด ก่อนจะผันแปรไปเป็นคุณพ่อน่าสงสารที่ต้องเหินห่างจากลูกสาว แล้วพลิกตลบมาเป็นฆาตกรโรคจิตอย่างสมบูรณ์แบบในตอนท้าย จนคนดูอดนึกสงสัยไม่ได้ว่าเขาขับรถชนมิเชลเพราะกำลังรีบร้อน ไม่ได้สติอย่างที่บอก หรือว่าจริงๆ แล้วเขากำลังมองหาเหยื่อรายใหม่ที่จะมารับบทเป็นลูกสาวของเขากันแน่ (กรณี นอร์แมน เบทส์ เขาปลุกวิญญาณแม่ที่ตายจากไปด้วยการสวมเสื้อผ้าของเธอ ส่วนในกรณีโฮเวิร์ด เขาสร้างตัวแทนด้วยการให้มิเชลสวมเสื้อผ้าของลูกสาวเขา)

ไม่เพียงโฮเวิร์ดเท่านั้นที่มีปม เสียดายในอดีต แต่ยังรวมถึง เอ็มเม็ท (จอห์น กัลเลเกอร์ จูเนียร์) กับ มิเชล โดยคนแรกหวาดกลัวเกินกว่าจะลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงชีวิต ขณะที่คนหลังหวาดกลัวเกินกว่าจะหยืนหยัดเผชิญปัญหา และแน่นอนในท้ายที่สุดบทหนังเปิดโอกาสให้พวกเขาได้พิสูจน์ความกล้า โดยเฉพาะในกรณีของคนหลัง ซึ่งไม่เพียงต้องยืนหยัดต่อกรกับโฮเวิร์ดเท่านั้น (เธอทำได้อย่างน่าชื่นชมจนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นผู้หญิงคนเดียวกับเรื่องราวความหลังที่เธอเล่าให้เอ็มเม็ทฟัง) แต่ยังพบโชคสองชั้นหลังออกจากหลุมหลบภัยด้วย 

น่าสังเกตว่า Cloverfield ออกฉายในปี 2008 ซึ่ง บารัค โอบามา ได้รับเลือกให้เข้าทำเนียบขาวเป็นสมัยแรก และแปดปีต่อมา 10 Cloverfield Lane ก็ออกฉายในปีแห่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง ที่สำคัญยังเป็นปีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ กินพื้นที่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือรายงานข่าวทางโทรทัศน์มากกว่าผู้สมัครแทบทุกคนจากคำพูดอวดกร่าง หยาบกระด้าง (ซึ่งบางคนมองว่าเป็นความตรงไปตรงมา) ตลอดจนทัศนคติเหยียดผู้หญิง เหยียดผู้อพยพ เหยียดคนต่างด้าว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หนังทั้งสองเรื่องจะถูกมองว่ามีนัยยะสะท้อนวิกฤติการเมืองในอเมริกา เรื่องแรกเปรียบดังภาพจำลองเหตุการณ์ 9/11 เมื่อนิวยอร์กโดนทำลายล้างโดยสัตว์ประหลาดจากต่างดาว ศัตรูถูกแทนที่เป็นรูปธรรมชัดเจน มีขนาดใหญ่โต มโหฬาร น่าหวาดหวั่น น่าเกรงขามแทนที่จะเป็นกลุ่มแนวคิด อุดมการณ์ ความเชื่อ ซึ่งปราศจากรูปร่างหน้าตาอย่าง “ผู้ก่อการร้ายแม้ว่าประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช จะพยายามเรียกเสียงสนับสนุนจากประชาคมโลกด้วยการชี้นิ้วกล่าวโทษไปยังบุคคล หรือประเทศหนึ่งประเทศใดมากแค่ไหนก็ตาม จนนำไปสู่สงครามในประเทศอิรักและอัฟกานิสถาน

เช่นเดียวกัน 10 Cloverfield Lane นำเสนอให้เห็นภัยคุกคามจากต่างดาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในรูปแบบหนึ่งแทนความเป็นอื่น ความแตกต่าง ในลักษณะของ พวกเขากับ “พวกเรา เทียบง่ายๆ ได้กับมุสลิม หรือผู้อพยพ ซึ่งเป็นประเด็นร้อนแรงตลอดการหาเสียงปีนี้ (ทรัมป์เสนอให้สร้างกำแพงตลอดแนวชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโกเพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขามาแย่งงานพวกเรา) ความแตกต่างสำคัญอยู่ตรงที่ 10 Cloverfield Lane ไม่ได้เน้นย้ำให้เห็นอันตรายจากภายนอกมากเท่ากับจากภายใน จริงอยู่ 15 นาทีสุดท้ายของหนังพิสูจน์ให้เห็นว่าคำกล่าวอ้างของโฮเวิร์ดเป็นจริง มีภัยคุกคามนอกห้องหลบภัยจริง และเกิดจากสิ่งอื่นที่ แตกต่างที่เราไม่คุ้นเคย หรือเคยพบเห็นมาก่อน ซึ่งสะท้อนสถานการณ์ในยุโรปตลอดช่วงสามสี่เดือนที่ผ่านมาได้ไม่น้อย จากการโจมตีปารีสและบรัสเซลส์ของกลุ่มไอเอส แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าตลอดหนึ่งชั่วโมงก่อนหน้านี้ หนังมุ่งเน้นที่จะสร้างความหวาดกลัวให้คนดูจากสิ่งที่เราไม่รู้

ตัวละครอย่างโฮเวิร์ดแทบไม่ต่างจาก โดนัลด์ ทรัมป์ (แม้ภาพรวมอาจดูมีความเป็นมนุษย์มากกว่า) ตรงที่เขาปราศจากข้อเท็จจริงแน่ชัด เขาไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเป็นระเบิดนิวเคลียร์ สงครามโลก หรือการโจมตีจากต่างดาว แต่กลับไม่ลังเลที่จะปลูกฝังความหวาดกลัวในหมู่สมาชิกร่วมหลุมหลบภัย ในลักษณะเดียวกับการแอบอ้างโดยปราศจากข้อมูลแน่ชัดถึง “อาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างรุนแรงของรัฐบาลบุชเพื่อสร้างความชอบธรรมในการรุกรานประเทศอิรัก เพราะสุดท้ายแล้วอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างรุนแรงก็เป็นแค่สัตว์ประหลาดในนิทานโบราณ ซึ่งพ่อแม่นำมาเล่าสืบต่อกันเพื่อหลอกเด็กให้หวาดกลัวจนไม่กล้าเดินเข้าไปในป่า (เอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน เคยนำประเด็นคล้ายกันนี้มาใช้เป็นจุดหักมุมใน The Village เมื่อสังคมอนุรักษ์นิยมขีดกรอบจำกัดประชาชนเพื่อป้องกันภัยจากภายนอก) เป็นแค่เครื่องมือที่จะ ควบคุม ไม่ให้ประชาชนแตกแถว ใครที่คิดต่าง หรือตั้งข้อสงสัยจะถูกตราหน้าเป็นคนไม่รักชาติในทันที

น่าตลกตรงที่เมื่อมิเชลต้องเผชิญหน้ากับภัยจากนอกโลกจริงๆ เธอกลับรับมือได้แบบไม่ยากเย็นนัก อย่างน้อยก็เหมือนจะง่ายกว่าการดิ้นรนให้หลุดรอดจากเงื้อมมือของคนแบบโฮเวิร์ดหลายเท่า... บางทีความหวาดกลัวที่ถูกโหมกระพือจนเกินกว่าเหตุอาจมีอันตรายยิ่งกว่าภัยคุกคามโดยตรงเสียอีก เพราะมันไม่เพียงบิดเบือนข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่ยังปิดกั้นการค้นหาหนทางเพื่อแก้ปัญหาอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: