วันพุธ, มิถุนายน 21, 2549

Over the Hedge: เมื่อไหร่มนุษย์จะรู้จักพอ



เมื่อไม่นานมานี้ นายกรัฐมนตรีของประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่งได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า “ผมพอแล้ว” ซึ่งหากวิเคราะห์ตามสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น มันคงจะหมายความเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากว่าท่านต้องการวางมือจากอำนาจ หลังถูกประชาชนเรือนแสนออกมาเดินขบวนขับไล่เพราะพวกเขาเห็นว่าท่านกำลังสร้างความฉิบหายวายป่วงให้กับประเทศชาติ

แต่ประชาชนจะเชื่อถือคำพูดของท่านหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่อง เนื่องจากก่อนหน้านี้ สมัยที่ท่านยังเป็นแค่พ่อค้าเหลี่ยมจัดธรรมดาคนหนึ่ง ท่านก็เคยให้สัญญาเพื่อเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนมาแล้วในทำนองว่า ท่านจะไม่โกงกินเพราะท่านร่ำรวยและมีเงินมากพอแล้ว

ห้าปีผ่านไป เมื่อทรัพย์สินร้อยล้านของท่านกลับเพิ่มมูลค่าเป็นหลายพันล้านภายในเวลาอันรวดเร็วผ่านการฉ้อฉลทางนโยบาย การใช้อำนาจเพื่อเอาเปรียบคู่แข่ง ตลอดจนการขายสมบัติส่วนรวมแล้วนำเงินเข้ากระเป๋าตัวเองอย่างหน้าด้านๆ เหล่าประชาชนผู้เคยไร้เดียงสาทั้งหลายจึงเริ่มตระหนักในสัจธรรมข้อหนึ่ง นั่นคือ ขึ้นชื่อว่ามนุษย์แล้ว พวกมันไม่เคยรู้จักคำว่า “พอ”

หายนะของนายกรัฐมนตรีท่านนั้นเริ่มต้นขึ้นจากความไม่รู้จักพอ เช่นเดียวกับเจ้าแร็คคูน อาร์เจ (บรูซ วิลลิส) ซึ่งแอบเข้าไปขโมยเสบียงอาหารของหมีจอมโหด วินเซนต์ (นิค โนลตี้) ถึงในถ้ำ แต่กลับถูกจับได้เพราะความโลภในมันฝรั่งอบกรอบแสนอร่อยยี่ห้อ สปัดดี้ (ที่ถูกออกแบบให้ดูเหมือนพริงเกิ้ลส์) ซึ่งมีสโลแกนเหมาะเจาะกับสังคมบริโภคนิยมเป็นอย่างยิ่งว่า “Because enough just isn’t enough”

หลายคนอาจเห็นเป็นเรื่องประหลาดที่หนังการ์ตูนอย่าง Over the Hedge ซึ่งมีรายได้ก้อนโตจากการทำ cross-promotion ร่วมกับร้านฟาสต์ฟู้ด ซูเปอร์มาร์เก็ต และบริษัทผลิตอาหารหลายแห่งเช่นเดียวกับหนังฮอลลีวู้ดส่วนใหญ่ กลับตั้งป้อมวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมบริโภคนิยม ทั้งที่ตัวของมันเองก็มีส่วนกระตุ้นการบริโภคของผู้คนแบบเกินพอดีเช่นกัน แต่อย่างน้อยแง่มุมดังกล่าวก็น่าจะสร้างความเพลิดเพลินให้กลุ่มคนดูผู้ใหญ่ได้บ้างไม่มากก็น้อย เมื่อเทียบกับมุกตลกประเภทเสียงเรอเป็นเอบีซี ซึ่งพุ่งเป้าไปยังเด็กเล็กๆ มากกว่า โดยแก๊กทีเด็ดของหนังอยู่ตรงตอนที่อาร์เจแนะนำอุปกรณ์ต่างๆ ของมนุษย์ให้เหล่าสัตว์ป่าเข้าใจ ตั้งแต่เครื่องออกกำลังกาย (เพื่อมนุษย์จะได้กินได้มากขึ้น) ไปจนถึงรถ SUV (ปรกติแล้วจะใช้บรรทุกคนแค่คนเดียว)

ความเหมือนกันอีกประการระหว่างอาร์เจกับนายกรัฐมนตรีท่านนั้น นอกเหนือจากนิสัยเจ้าเล่ห์เหลี่ยมจัดชนิดเหนือเมฆแล้ว ก็คือ ทั้งสองล้วนมีภาพลักษณ์ของ “คนรุ่นใหม่” ที่ปรับตัวเข้ากับกระแสโลกาภิวัฒน์ได้อย่างกลมกลืน หรือจะพูดว่าพวกเขาล้วนตกเป็นทาสของระบบทุนนิยมอย่างหน้ามืดตามัวก็ได้เช่นกัน นั่นขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน

ในอเมริกาและแคนาดา แร็คคูนถือเป็นสัตว์ป่าที่ปรับตัวเข้ากับชีวิตชานเมืองได้อย่างราบรื่น เมื่อมนุษย์เริ่มลุกไล่เข้าไปในอาณาเขตของสัตว์ป่ามากขึ้น จนคนส่วนใหญ่มองเห็นพวกมันไม่ต่างจากหนู หรือแมลงสาบ เพราะนิสัยชอบคุ้ยถังขยะเพื่อหาเศษอาหาร ในฉากแรกของ Over the Hedge คนดูจะได้เห็นอาร์เจหาของกินจากเครื่องขายขนมอัตโนมัติ แทนการกินแมลง เบอร์รี่ หรือไข่เฉกเช่นแร็คคูนทั่วไป ต่อมาไม่นานเราก็เริ่มค้นพบว่ามันเป็นแร็คคูนที่เสพติดอาหารขยะจำพวกขนมถุงกรุบกรอบและชอบแบกถุงกอล์ฟใส่สัมภาระส่วนตัวไปไหนมาไหน (คงเป็นแค่ความบังเอิญที่กอล์ฟดันเป็นกีฬาสุดโปรดของนายกฯ ท่านนั้นเช่นกัน) มันใช้ชีวิตใกล้ชิดกับพวกมนุษย์และเริ่มตกเป็นทาสของวัตถุเช่นเดียวกับมนุษย์ยุคใหม่ทั่วๆ ไป

หลังจากถูกวินเซนต์ หมีโลกาภิวัฒน์ ยื่นคำขาดให้หาอาหารขยะทั้งหมดมาคืนภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์ อาร์เจจึงวางแผนล่อหลอกให้บรรดาสัตว์ป่าไร้เดียงสากลุ่มหนึ่งมาเป็นผู้ช่วยขโมยอาหารจากเหล่ามนุษย์ พวกมันประกอบไปด้วยพ่อเม่น (ยูจีน เลวี่ย์) แม่แม่น (แคทเธอรีน โอ’ฮาร่า) กับลูกๆ อีกสามตัว กระรอกไฮเปอร์ (สตีฟ คาเรลล์) สกั๊งค์สาว (วันดา ไซคส์) พอสซั่มพ่อ (วิลเลี่ยม แชทเนอร์) กับลูกสาว (เอวิล ลาวีน) และเต่า เวิร์น (แกร์รี่ แชนด์ลิ่ง) ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่ม

ภายใต้การนำของสัตว์อายุยืนที่นิยมหดหัวเข้ากระดองเวลาเจอภัย มันจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่สัตว์ป่ากลุ่มนี้จะเป็นตัวแทนของโลกยุคเก่า ซึ่งให้ความสำคัญกับความรัก ความสามัคคีภายในครอบครัว แล้วใช้ชีวิตเรียบง่าย พอเพียง แทนความฟุ้งเฟ้อ หรูหรา และมันก็ไม่น่าแปลกอีกเช่นกันที่จู่ๆ พวกมันจะรู้สึกตะลึงลานกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันทันที หลังลืมตาตื่นจากการจำศีลช่วงฤดูหนาว แล้วพบว่าพื้นที่ป่าได้ถูกตัดถางมาสร้างเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่พร้อมรั้วพุ่มไม้ซึ่งสูงลิ่วและกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา

“วิสัยทัศน์” คือ จุดขายเพื่อเอาชนะใจมวลชนของอาร์เจแบบเดียวกับนายกฯ ท่านนั้น เขาช่วยอธิบายปรากฏการณ์รั้วพุ่มไม้ให้พวกสัตว์ป่าไร้เดียงสาเข้าใจ เขาพูดถึงสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครได้ยินมาก่อน เขาเสนอไอเดียหวือหวาแหวกแนวจนใครๆ ต่างพากันเชื่อว่าเขา “เก่งกาจ” และเหมาะกับการเป็นผู้นำมากกว่าตาเฒ่าเวิร์น แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็เริ่มปลูกฝังวัฒนธรรมบริโภคนิยมให้กับเหล่าสัตว์ป่า ดังจะเห็นได้ว่าทันทีที่พวกมันลิ้มลองรสชาติของ “ชิป” หรือข้าวโพดอบกรอบ และบรรดาสารพันอาหารขยะอีกมากมาย เปลือกไม้ที่พวกมันเคยกินเป็นประจำก็ไม่ “พอ” อีกต่อไป เช่นเดียวกัน โพรงท่อนซุงอันเรียบง่ายและเคยเป็นบ้านอันอบอุ่นมาตลอดเวลาหลายปีก็เริ่มถูกแทนที่ด้วยโซฟา ทีวีจอยักษ์ เกมกด ฯลฯ

ปากของเขาบอกว่าจะทำเพื่อกลุ่ม (วางแผนขโมยอาหารจากพวกมนุษย์สำหรับใช้เป็นเสบียงในช่วงฤดูหนาว) แต่ใจของเขากลับหวังเพียงประโยชน์ส่วนตน (นำอาหารเหล่านั้นไปคืนให้วินเซนต์เพื่อตัวเองจะได้ไม่ถูกกิน) จริยธรรมและคุณธรรมไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับเขา แถมเขายังโน้มนำคนอื่นให้เห็นชอบตามบรรทัดฐานอันเว้าๆ แหว่งๆ ดังกล่าวอีกด้วยจนนำไปสู่ความแตกแยกแห่งหมู่คณะ เช่น เมื่อเวิร์นพยายามจะนำอาหารกลับไปคืนเจ้าของที่แท้จริง พร้อมทั้งตั้งข้อสงสัยต่อพฤติกรรมไม่ชอบมาพากลของอาร์เจ แต่ไม่มีหลักฐานชี้ชัดนอกจากสัญชาตญาณ เขากลับถูกทุกคนตำหนิและถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกขี้อิจฉา จนสุดท้าย กระทั่งตัวเวิร์นเองก็ยังพาลเห็นด้วยว่าตนทำผิดที่พยายามจะนำอาหารพวกนั้นไปคืน

ทุกอย่างดูจะวิปริตพลิกแพลงไปหมด จากขาวเป็นดำ จากถูกเป็นผิด ภายใต้การนำของเจ้าอาร์เจจอมเหลี่ยมจัด!!

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างประการหนึ่งระหว่างแร็คคูนเจ้าเล่ห์กับนายกฯ เจ้าเล่ห์ คือ อย่างน้อยอาร์เจก็ตระหนักในบาปกรรมของตน รู้สึกขัดแย้ง สับสนในใจ ก่อนจะเริ่มสำนึกผิดและพยายามไถ่บาปในท้ายที่สุด เมื่อเขาค้นพบว่าอาหาร/สมบัติมากมายเพียงใดก็หาได้สำคัญเทียบเท่าความรัก ความไว้วางใจซึ่งเหล่าสัตว์ป่าตัวอื่นๆ มอบให้เขา ความไว้วางใจซึ่งถูกเขานำไปใช้หาประโยชน์ใส่ตนอย่างเห็นแก่ได้

แน่นอน สุดท้ายแล้วทุกอย่างก็ลงเอยอย่างสุขสันต์ใน Over the Hedge เมื่อหมีใจร้ายผู้หลงใหลอาหารขยะถูกจับเข้ากรง ส่วนเหล่ามนุษย์ใจร้ายผู้หลงใหลการบริโภคสิ่งของฟุ่มเฟือยก็ถูกตำรวจจับเข้าคุกโทษฐานใช้เครื่องมือดักจับสัตว์ที่ผิดกฎหมาย และวิถีชีวิตดั้งเดิมอันเรียบง่ายของเวิร์นก็ได้รับการฟื้นฟู เชิดชู เหนือวิถีแห่งโลกาภิวัฒน์และทุนนิยม ที่เน้นย้ำประโยชน์สุขแห่งวัตถุภายนอกเหนือคุณค่าทางจิตใจ (พวกสัตว์ป่าทั้งหลายไม่เรียกร้องต้องการขนมกรุบกรอบ หรือน้ำอัดลม และถั่วที่เจ้ากระรอก แฮมมี่ หามาได้ก็น่าจะมากพอสำหรับการจำศีลตลอดฤดูหนาว)

แต่การคาดหวังตอนจบแบบเดียวกันในโลกแห่งความจริงคงเป็นเรื่องยาก ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่รู้จักคำว่าพอ

ไม่มีความคิดเห็น: