วันเสาร์, มิถุนายน 25, 2559

Where to Invade Next: แรงบันดาลใจเหนือภววิสัย


เสน่ห์และความบันเทิงจากหนัง “สารคดี” ของ ไมเคิล มัวร์ มักไม่ได้เกิดจากเนื้อหา ข้อมูลความรู้ หรือซับเจ็กต์ (ผู้ถูกสัมภาษณ์/เจ้าของเรื่องราว) เป็นหลักเท่านั้น แต่กินความไปถึงทักษะการเล่าเรื่อง ตลอดจนบุคลิกอันโดดเด่นของตัวผู้สร้างหนังด้วย อารมณ์ขันอันเจ็บแสบเป็นสิ่งที่ไม่เคยขาดแคลน แม้กระทั่งเมื่อเขาเดินหน้าสำรวจประเด็นตึงเครียดอย่างการสังหารหมู่ในโรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ (Bowling for Columbine) หรือสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (Fahrenheit 9/11)

ความยียวนกวนบาทาของมัวร์ยังอยู่ครบถ้วน และอาจเพิ่มระดับขึ้นด้วยซ้ำในผลงานชิ้นล่าสุดอย่าง Where to Invade Next เริ่มตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง ซึ่งมัวร์เล่าว่าเขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม 4 เหล่าทัพที่เพนตากอน ทั้งนี้เพราะบรรดาผู้นำกองทัพทั้งหลายต่างต้องการคำแนะนำจากมัวร์ว่าควรจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร หลังจากพวกเขาทุ่มเทเงินทองจำนวนมหาศาลในการซื้อและพัฒนาอาวุธ แต่สุดท้ายอเมริกากลับไม่เคยชนะสงครามอย่างแท้จริงเลยสักครั้งนับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง แถมยังมีส่วนก่อให้เกิดกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงอย่างไอซิสอีกด้วย สิ่งเดียวที่พวกเขาได้จากสงครามเหล่านั้น (เกาหลี/เวียดนาม/เลบานอน/อิรัก/อัฟกานิสถาน/ซีเรีย) คือ สงครามเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ มัวร์จึงเสนอทางออกว่ากองทัพควรประกาศให้เหล่าทหารได้พักรบ และเขาจะเข้ามาทำหน้าที่แทนด้วยการบุกเดี่ยวไป รุกรานประเทศของคนผิวขาวที่ผมสามารถอ่านชื่อพวกเขาออก แล้วนำสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการกลับมายังอเมริกา (หลังจากกองทัพไม่สามารถนำน้ำมันกลับมาจากอิรักได้ตามสัญญา)

โดย “สิ่งต่างๆ” ที่ว่าหมายความถึงแนวคิดหลากหลาย ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือชักนำประเทศไปสู่มาตรฐานที่ดีกว่า ตั้งแต่การออกกฎหมายให้ลูกจ้างหยุดพักร้อนแบบได้ 8 สัปดาห์ต่อปี ไปจนถึงนโยบายเรียนมหาวิทยาลัยฟรี หรือยกเลิกโทษประหารชีวิต

การเริ่มต้นสารคดีด้วยมุกตลกเสียดสีและจินตนาการข้ามขอบฟ้า (โอกาสที่นักทำหนังหัวเอียงซ้ายและต่อต้านการส่งทหารไปอิรักอย่าง ไมเคิล มัวร์ จะได้รับเชิญจากบรรดาผู้นำกองทัพคงเป็นไปได้ยากในชั่วชีวิตนี้) ในแง่หนึ่งได้ช่วยปูพื้นให้คนดูลดกำแพงแนวคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับความเป็นหนังสารคดี ซึ่งต้องนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างหนักแน่น รอบด้าน และพยายามตัดทอนหรือซุกซ่อนอัตวิสัยของนักทำหนังให้แนบเนียนที่สุด ฉากเปิดเรื่องดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ามัวร์ไม่ลังเลที่จะใช้อารมณ์ขันและเทคนิคการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ปกติทั่วไปมาสนับสนุนข้อคิดที่เขาต้องการถ่ายทอด ฉะนั้นการตั้งแง่ในความเอียงกระเท่เร่ทางด้านข้อมูลอาจเรียกได้ว่าเป็นการมองข้ามจุดมุ่งหมายแท้จริงของหนังไปอย่างน่าเสียดาย เพราะมัวร์เองก็ออกตัวตั้งแต่ต้นแล้วว่าเขาตั้งใจมา เด็ดดอกไม้ ไม่ใช่วัชพืช

ตัวอย่างแรกที่เด่นชัด ได้แก่ เมื่อเขาพาคนดูไปรู้จักสองผัวเมียชนชั้นแรงงานชาวอิตาเลียน คนหนึ่งมีอาชีพเป็นตำรวจ อีกคนทำงานแผนกจัดซื้อเสื้อผ้าในห้างสรรพสินค้า ทั้งคู่ดูมีความสุข ผ่อนคลาย และไม่เคร่งเครียด (คุณเคยสงสัยไหมว่าทำไมคนอิตาเลียนถึงดูเหมือนเพิ่งมีเซ็กซ์อยู่ตลอดเวลา มัวร์ตั้งคำถามลอยๆ กับคนดู) หนึ่งในเหตุผลที่เขาค้นพบ คือ คนงานในอิตาลีมีวันหยุดพักร้อนมากถึง 8 สัปดาห์ต่อปี (รวมกับวันหยุดราชการ) โดยบริษัทจะจ่ายค่าจ้างให้ตามปกติ แถมในเดือนสุดท้ายของปีพวกเขายังได้เงินโบนัสเพิ่มอีกหนึ่งเดือน ยิ่งไปกว่านั้นกฎหมายยังกำหนดให้ลูกจ้างสามารถลาคลอดได้นานถึง 5 เดือนอีกด้วย แน่นอน หลายคนมองการยกข้อมูลดังกล่าวขึ้นมาเปรียบเทียบกับคนงานในอเมริกาว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม หรือบางคนอาจถึงขั้นก่นด่ามัวร์ว่าจงใจแหกตาประชาชน เพราะไม่เขาคิดจะนำเสนอข้อมูลในด้านตรงข้ามว่าอิตาลีมีอัตราคนว่างงานมากกว่าอเมริกาถึงสองเท่า และครึ่งหนึ่งของวัยรุ่นอิตาเลียนไม่มีงานทำ (นอกเหนือจากภาระหนี้สินของประเทศที่อยู่ในระดับน้องๆ กรีซ) โดยสาเหตุหนึ่งอาจมาจากสวัสดิการอันเลิศหรูดังที่กล่าวมาแล้วก็ได้

แต่ วันหยุด 8 สัปดาห์ที่ได้ค่าจ้างเป็นแค่รางวัลบังหน้า เป็นโอกาสให้มัวร์สร้างความบันเทิงกับคนดู ล้อเลียน เรียกเสียงหัวเราะจากการเปรียบเทียบความแตกต่างราวฟ้ากับเหวระหว่างแนวคิดของประเทศเหล่านั้นกับอเมริกา เช่นเดียวกับระบบการศึกษา (ฟินแลนด์) และโครงการอาหารกลางวันของเด็กๆ (ฝรั่งเศส) ในเวลาต่อมา ส่วนประเด็นจริงๆ ที่สะท้อนถึง ปัญหา ของอเมริกาอยู่ตรงบทสัมภาษณ์เหล่าเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ในอิตาลี ซึ่งไม่รู้สึกว่าพวกเขาสูญเสียกำไรจากการให้พนักงานได้หยุดพักผ่อน มีสวัสดิการ หรือพักทานกลางวันนานสองชั่วโมงที่บ้านของตัวเอง บรรดาผู้บริหารไม่ได้มองว่าพนักงานของพวกเขาเป็นเครื่องจักร แต่เป็นมนุษย์ที่จำเป็นต้องเอ็นจอยชีวิต ซึ่งในแง่หนึ่งก็จะช่วยให้พวกเขาสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมระบบการศึกษาในฟินแลนด์จึงก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้า เพราะเหล่าผู้ใหญ่ที่มีอำนาจตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง หรือครูบาอาจารย์ทั้งหลายตระหนักร่วมกันว่าเด็กๆ ควรได้ใช้เวลาในช่วงชีวิตนี้อย่างเต็มที่ อยู่กับครอบครัว เล่นกีฬา เรียนรู้จากผู้คน สภาพแวดล้อม แทนการนั่งหมกมุ่นอยู่ในห้องเรียนครึ่งค่อนวัน ก่อนจะกลับมานั่งสะสางการบ้านกองพะเนินจนถึงดึกดื่น

ที่สำคัญการกำจัดช่องว่างทางด้านมาตรฐานระหว่างโรงเรียนเอกชนกับโรงเรียนรัฐ (ฟินแลนด์แทบจะไม่มีโรงเรียนเอกชนเลย และกฎหมายระบุห้ามเก็บเงินค่าเล่าเรียน) ทำให้ทุกคนสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า โรงเรียนที่ดีที่สุด คือ โรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้าน เพราะทุกแห่งมีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งผลลัพธ์ทางอ้อม (จากมุมมองของมัวร์) ยังมีส่วนช่วยลดช่องว่างทางชนชั้นอีกด้วยเพราะลูกๆ ของพ่อแม่ที่ร่ำรวยจะต้องเข้าเรียนในโรงเรียนเดียวกับลูกๆ ของพ่อแม่ที่ยากจน เติบโตมาด้วยกัน ฉะนั้นเมื่อเติบใหญ่เป็นเศรษฐี พวกเขาต้องทบทวนสองตลบก่อนคิดจะเอาเปรียบเพื่อนตัวเอง มัวร์สรุป

จากอิตาลีสู่ฝรั่งเศสสู่ฟินแลนด์ บทเรียนที่เราได้ไม่ใช่เพียงแค่รูปธรรมของสิ่งต่างๆ เช่น วันหยุดพักร้อน อาหารเปี่ยมโภชนาการ หรือการศึกษาที่เน้นความสุขของเด็กเป็นหลัก แต่ยังรวมถึงวิถีปฏิบัติและทัศนคติระหว่างผู้คนที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้รูปธรรมเหล่านั้น ความนุ่มนวล อ่อนโยนที่นายจ้างมอบให้ลูกจ้าง การดูแลเอาใจใส่ของครูต่อนักเรียน การดำรงอยู่ของมนุษย์ไม่ใช่เพียงเพื่อเอาตัวรอด เพื่อไต่เต้าให้บรรลุ ความฝันแบบอเมริกัน ความสุขสบายทางด้านวัตถุ โดยไม่สนใจใยดีคนรอบข้างอีกต่อไป สังคมที่ดีไม่ใช่สังคมแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา คุณอยู่เป็นสุขได้อย่างไร เมื่อรู้อยู่แก่ใจว่ายังมีคนอีกหลายคนอดอยาก ไม่มีปัญญาหาหมอ ไม่มีเงินเรียนหนังสือ ผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งกล่าวกับมัวร์ในช่วงท้ายเรื่อง

แนวคิดดังกล่าวถูกพัฒนาไปสู่ภาพรวมที่กว้างขึ้น พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง เพื่อนมนุษย์ เมื่อหนังเดินทางไปยังประเทศโปรตุเกส ซึ่งยกเลิกการเอาผิดผู้ใช้ยาเสพติดมานาน 15 ปี แล้วใช้ระบบประกันสังคมถ้วนหน้าเพื่อช่วยเหลือคนเหล่านั้น (ผลคือตัวเลขคนติดยาเสพติดลดลง) ตามด้วยประเทศนอร์เวย์ ซึ่งกฎหมายกำหนดโทษสูงสุดไว้ที่การจำคุก 21 ปี และระบบคุมขังนักโทษก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อ ฟื้นฟูไม่ใช่เพื่อแก้แค้น (ผลคือนักโทษส่วนใหญ่ไม่กลับมากระทำผิดซ้ำซากและอัตราการก่ออาชญากรรมลดลง)

ศักดิ์ศรีความเป็นคนคือกระดูกสันหลังของสังคมเรา กฎหมายต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพหลักการดังกล่าว นายตำรวจชาวโปรตุเกสให้สัมภาษณ์กับมัวร์ หลักการเดียวกันนั้นถูกนำมาใช้ที่นอร์เวย์ ซึ่งคุกมีสภาพแทบไม่ต่างจากรีสอร์ตริมทะเล สิ่งเดียวที่พวกเขาแย่งชิงจากเหล่านักโทษ คือ อิสรภาพ นั่นถือว่ามากพอแล้ว ในฉากหนึ่งที่กระทบจิตใจคนดูอย่างรุนแรง มัวร์ได้นั่งพูดคุยกับคุณพ่อที่สูญเสียลูกชายจากการสังหารหมู่ในปี 2011 เขาตระหนักดีว่าคนร้ายจะติดคุกไม่เกิน 21 ปี แต่ก็ไม่เคยคิดอยากฆ่าเขาเองกับมือแม้จะมีโอกาส ถึงจะรู้ว่าเขาเลวแค่ไหน แต่มันไม่ได้ทำให้ผมมีสิทธิ์ปลิดชีวิตเขา หนุ่มใหญ่กล่าว อีกหนึ่งเหตุผลที่ไม่ถูกพูดถึง แต่ทุกคนตระหนักดี คือ การแก้แค้นย่อมไม่ช่วยให้เขาได้ลูกชายกลับคืนมา

จุดเด่นของหนังไม่ได้อยู่ตรงการแจกแจงข้อมูลรอบด้าน หรือละเอียดรอบคอบ จึงไม่น่าแปลกใจหากใครจะโจมตีหนังว่านำเสนอความจริงเพียงด้านเดียว แต่เป้าประสงค์ของมัวร์อยู่ตรงการกระตุ้นแรงบันดาลใจ แรงผลักดันเพื่อการพัฒนามากกว่านำเสนอข้อเท็จจริงด้วยความเป็นกลางแบบเดียวกับการนำเสนอข่าว สมมุติฐานดังกล่าวยิ่งเด่นชัด เมื่อหนังในครึ่งหลังเริ่มโน้มเอียงไปยังการกระแสการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในตูนีเซีย (ประเทศเดียวในหนังที่นับถืออิสลามและไม่ได้อยู่ในยุโรป) หลังรัฐบาลตั้งท่าจะกีดกันความเท่าเทียมกันในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และไอซ์แลนด์ ซึ่งสถาบันการเงินแห่งเดียวที่รอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจบริหารงานโดยผู้หญิงภายใต้กฎเหล็กว่า ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็ไม่ซื้อ จนนำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะผู้ชายถูกควบคุมด้วยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ทำให้พวกเขามั่นใจเกินควร กล้าได้กล้าเสียเพื่อหวังผลกำไรก้อนโต จนนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจทางการเงินครั้งยิ่งใหญ่

มองเผินๆ การที่หนังออกฉายในปีแห่งการเลือกตั้งอาจเป็นการแสดงจุดยืนของ ไมเคิล มัวร์ สนับสนุนให้ผู้หญิง (อย่าง ฮิลลารี คลินตัน) ก้าวขึ้นเป็นผู้นำ เมื่อสังเกตจากโทนสดุดีสิทธิสตรีในช่วงครึ่งหลัง แต่ความจริงแล้วมัวร์สนับสนุน เบอร์นี แซนเดอร์ส คู่แข่งคลินตันในพรรคเดโมแครต แบบสุดลิ่มทิ่มประตูมานานหลายปี เนื่องจากนโยบายของแซนเดอร์สเน้นการเก็บภาษีเหล่าชนชั้นสูงเพื่อนำมาส่งเสริมสวัสดิการสังคม ปฏิรูปสถาบันการเงิน ซึ่ง ใหญ่เกินกว่าจะล้ม จนรัฐต้องเข้ามาอุ้มในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ และแซนเดอร์สยังสนับสนุนรูปแบบการบริหารประเทศแบบเดียวกับแถบสแกนดิเนเวีย (เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, นอร์เวย์, สวีเดน, ไอซ์แลนด์) ซึ่งผสมผสานทุนนิยมเสรีเข้ากับระบบรัฐสวัสดิการ

ในอเมริกาคุณมีแนวคิดเรื่องความฝันแบบอเมริกา มันเป็นดินแดนแห่งโอกาส ทุกคนต่างมีโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัวผู้บริหารหญิงคนหนึ่งตอบคำถามมัวร์ว่าทำไม เรา อเมริกาถึงไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างไอซ์แลนด์หลังวิกฤติ ทำไมคนร้ายที่อยู่เบื้องหลังการล่มสลายทางการเงินถึงลอยนวลอยู่ได้ในวอลสตรีท ทำไมเราถึงมีแบบที่พวกคุณมีไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่แบบนั้น เด็กทุกคนควรมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือการรักษาพยาบาล มันไม่ใช่สังคมนิยม แค่เป็นสังคมที่ดี

Where to Invade Next เปรียบเสมือนคำตอบของ ไมเคิล มัวร์ ต่อการโจมตีของพวกฝ่ายขวาที่กล่าวหาว่าเขาไม่รักชาติ ไม่เคยเห็นแง่มุมดีงามของอเมริกา แล้วพยายามจะชักนำประเทศให้ตกต่ำด้วยการวิพากษ์กฎหมายควบคุมอาวุธปืน (Bowling for Columbine) ความโลภในตลาดหุ้นวอลสตรีท (Capitalism: A Love Story) และความล้มเหลวของระบบประกันสุขภาพ (Sicko) ในหนังเรื่องใหม่ มัวร์อาจตั้งข้อสงสัยต่อหลากหลายนโยบาย หรือการแก้ปัญหาของรัฐบาล แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็แจกแจงให้เห็นว่า สิ่งดีๆ ในประเทศต่างๆ ที่เขาไปรุกรานนั้น ส่วนใหญ่ล้วนได้ไอเดียมาจากอเมริกาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการสอนให้เด็กรู้จักคิดตั้งคำถาม ความกล้าหาญในการเล่นงานนายธนาคารจอมโลภ การดิ้นรนต่อสู้ของสหภาพแรงงานเพื่อให้ลูกจ้างมีชีวิตที่ดีขึ้น การเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกันของสตรี หรือกระทั่งการยกเลิกโทษประหาร

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ไอเดียของยุโรป ไม่ใช่ไอเดียแปลกใหม่ เราไม่ได้จำเป็นต้องรุกรานใครเพื่อขโมยไอเดียเหล่านี้ เพราะพวกมันเป็นไอเดียของเราอยู่แล้ว มัวร์สรุปในฉากสุดท้าย พร้อมกับแทรกฉากจากหนังเรื่อง The Wizard of Oz เข้ามาเพื่อเน้นย้ำให้เห็นว่าสิ่งที่อเมริกาต้องการนั้น แท้จริงแล้วอยู่ใกล้ตัวเพียงนิดเดียว แต่กลับถูกมองข้าม หรือหลงลืมไปชั่วขณะ เช่นเดียวกับ แคนซัส สำหรับโดโรธี

ขณะเดียวกันเขายังตอกกลับใส่หน้าคนที่ตั้งท่าจะยิ้มเยาะไอเดียต่างๆ เหล่านั้นว่าโลกสวย เป็นไปไม่ได้ ใช้กับเราไม่ได้เพราะเราแตกต่าง  หรือมีข้อจำกัดโน่นนี่นั่น (ข้ออ้างซึ่งมักได้ยินบ่อยๆ ในบ้านเรา) ด้วยหนึ่งในฉากที่ดีที่สุดของหนัง นั่นคือ เมื่อเขากับเพื่อนอีกคนเดินทางมาร่วมระลึกถึงการทลายกำแพงเบอร์ลินเมื่อปี 1989 ซึ่งเริ่มต้นจากคนสองสามคนพยายามเจาะกำแพงด้วยสิ่วกับค้อน ก่อนจะค่อยๆ จุดประกายเป็นกระแสมวลชน และภายในช่วงเวลาไม่กี่วันทุกอย่างก็จบสิ้น กำแพงที่เหล่าผู้คนในยุคสงครามเย็นเชื่อว่าถูกสร้างขึ้นเพื่อคงอยู่ตลอดไป เพื่อแบ่งแยก เรา กับ เขา ถูกทำลายลงในที่สุด สุดท้ายแล้วสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้กลับเป็นไปได้ การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินพิสูจน์ให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้ บางครั้งจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ... ที่เราต้องการก็แค่สิ่วกับค้อน  

ไม่มีความคิดเห็น: