วันอังคาร, ธันวาคม 21, 2553

The Social Network: เมื่อเงินไม่ใช่ประเด็น



ในหนังเรื่อง Zodiac เหล่าตัวละครเอกต่างทุ่มเทเวลาและแรงกาย (บางคนหมกมุ่นจนถึงขั้นครอบครัวแตกแยก) ให้กับการค้นหาความจริง โดยหลายครั้งพวกเขาก้าวเข้าใกล้เป้าหมายแค่เอื้อม แต่สุดท้ายหลักฐานสำคัญที่จะพิสูจน์ว่าใครกันแน่ คือ ฆาตกรจักรราศี กลับหลุดลอยเกินไขว่คว้าและนำไปสู่บทสรุปอันคลุมเครือ

เช่นเดียวกัน The Social Network ก็ดัดแปลงมาจากเรื่องจริงของกลุ่มบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริง แต่การเปิดเผย “ความจริง” ยังคงไม่ใช่จุดประสงค์หลักของผู้กำกับ เดวิด ฟินเชอร์ และคนเขียนบท แอรอน ซอร์กิน (ฉะนั้นเสียงวิพากษ์ว่าหนังบิดเบือนข้อเท็จจริงจึงถือเป็นการเล็งผิดเป้า) ตรงกันข้าม พวกเขาพยายามจะบอกด้วยซ้ำว่าความจริงแท้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าถึง มีเพียงความจริงซึ่งผสมปนเประหว่างข้อมูล การคัดสรร และการตีความ

ด้วยเหตุนี้กระมัง หลากหลายปมปัญหาใน The Social Network จึงลงเอยไม่ต่างจากบทสรุปของ Zodiac เช่น คำถามที่ว่าใครเป็นคนสร้างเรื่องการทรมานสัตว์ของเอดัวร์โด ใครเป็นคนจัดฉากจุดจบของ ฌอน พาร์คเกอร์ หรือกระทั่ง มาร์คขโมยไอเดียในการสร้าง Facebook มาจากสองพี่น้องวิงเคิลวอสจริงหรือ

คนดูได้เห็นเพียงความจริงผ่าน “มุมมอง” ของแต่ละฝ่าย และจำเป็นต้องตัดสินข้อมูลเหล่านั้นไม่ต่างจากลูกขุนในศาล ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยจำพวกเสื้อผ้าหน้าผม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความถูกชะตา” (Likability) ย่อมเข้ามามีบทบาทอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงดังคำกล่าวของทนายสาว มาริลิน เดลพี ในตอนท้าย ก่อนเธอจะแนะนำให้มาร์คยอมความ ทั้งนี้เพราะปัจจัยแวดล้อมช่างไม่เอื้อประโยชน์ต่อจำเลยหากคดียืดเยื้อไปถึงชั้นศาล เช่น ลูกขุนบางคนคงไม่ปลื้ม หากรับทราบว่ามาร์คคิดเปรียบเทียบผู้หญิงกับวัวควาย และเขียนด่าอดีตแฟนสาวลงอินเตอร์เน็ท

ตั้งแต่ฉากแรก หนังได้พาคนดูไปรู้จักกับ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ในแง่มุมที่ไม่ค่อยสวยงามนัก (ต่อมาในฉากสอบปากคำ มาร์คตอบโต้ว่าคำบอกเล่าของเอริกาเกี่ยวกับเหตุการณ์ในบาร์เต็มไปด้วยการยกเมฆเพื่อให้เขาดูเลวร้าย) แน่นอน เขาฉลาดเป็นกรด แต่ก็อวดดี หลงตัวเอง และชอบยกตนข่มท่าน ดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมสลับหัวข้อสนทนาทุกสองวินาทีจนเอริกา (รวมไปถึงคนดู) ตามไม่ทันและรู้สึกเหมือนเป็นคนโง่ หรือการที่เขาหลุดปากพูดอะไรประเภท “(จะอ่านหนังสือไปทำไม) คุณก็แค่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยบอสตัน (ไม่ใช่ฮาร์วาร์ดเหมือนผม อ้อ อีกอย่าง ผมได้คะแนน SAT 1600 นะจะบอกให้)” กล่าวคือ บุคลิกและการพูดจาของมาร์คล้วนทำให้เขาดู “ไม่น่าคบหา” ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องเกินจริง เมื่อมาริลินขู่ว่า “แค่สิบนาทีคณะลูกขุนก็จะรู้สึกไม่ถูกชะตาคุณแล้ว”

บางสิ่งบอกเราว่า มาร์คตระหนักถึงปมด้อยข้อนั้นดี และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเพียรบริหารความถูกชะตาของตนอย่างไม่หยุดยั้ง อาทิ การตัดสินใจบริจาคเงิน 100 ล้านเหรียญเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาผ่านรายการ Oprah ก่อนหนัง ซึ่งเขาพูดออกสื่ออยู่เสมอว่านำเสนอเรื่องราวอย่าง “อยุติธรรม” จะเข้าฉายในวงกว้างเพียงไม่กี่สัปดาห์

แม้จะยอมรับตรงไปตรงมาว่ามืดบอดต่อความจริงแท้ และพยายามนำเสนอเรื่องราวผ่านหลายมุมมองอย่างเป็นกลาง แต่ขณะเดียวกัน The Social Network ก็สอดแทรกนัยยะ หรือรหัสระหว่างบรรทัดไว้ชัดเจนว่ามาร์คโหยหาการยอมรับ ไม่ต่างจากเด็กเรียนที่ไม่ค่อยมีเพื่อนเฝ้ามองนักกีฬาสุดป็อปปูล่าด้วยแววตาริษยากึ่งหมั่นไส้ (ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เอริกาพูดว่าเธอชอบนักกีฬาพายเรือแบบเดียวกับที่เด็กสาวใฝ่ฝันถึงคาวบอย) และหลายครั้งความเจ็บแค้น ขมขื่นนั้นก็สะท้อนผ่านหลากหลายคำสบประมาทของมาร์คระหว่างขั้นตอนการสอบสวน เช่น เมื่อเขาพูดกับมาริลินว่า “พวกวิงเคิลวอสไม่ได้ฟ้องผมด้วยข้อหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แต่พวกเขาฟ้องผมเพราะนี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่โลกไม่ยอมหมุนไปตามทิศทางที่พวกเขาต้องการ” หรือตอนที่เขาตอบโต้ข้อกล่าวหาว่าอิจฉาเพื่อนรักที่ได้รับเลือกให้เข้าชมรมฟีนิกซ์ว่า “ตอนนี้ผมมีเงินมากพอจะซื้อฮาร์วาร์ด แล้วเปลี่ยนชมรมฟีนิกซ์ให้กลายเป็นห้องตีปิงปอง” มันเป็นคำอวดอ้างแบบกร่างๆ ที่เล็งผิดเป้าเพราะเงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการได้รับเลือกให้เข้าชมรมฟีนิกซ์ ซึ่งตัวมาร์คเองก็ยอมรับในจุดนี้ตั้งแต่ฉากแรก

The Social Network อาจไม่ให้ราคาค่างวดต่อข้อเท็จจริงรอบด้านเกี่ยวกับ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก หรือ Facebook (บทหนังเลือกจะมองข้ามข้อมูลที่ว่าในชีวิตจริงมาร์คมีแฟนสาวเป็นตัวเป็นตนตอนอยู่ปีสอง เป็นสาวเอเชียชื่อ พริสซิลลา ชาน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเพื่อผลกระทบทางอารมณ์ของฉากจบ) ทว่าท่ามกลางการตีไข่ใส่สี หนังกลับตีแผ่ความจริง หรือสัจธรรมบางอย่างในสังคมได้ชนิดบาดลึก

บทของซอร์กินจงใจเน้นย้ำให้เห็นความแตกต่างทางชนชั้นระหว่างมาร์คกับสองพี่น้องวิงเคิลวอสในหลากหลายมิติ (ซึ่งไม่ใช่ช่องว่างในลักษณะคนจน-คนรวย เพราะฝ่ายหลังอาจมีฐานะดีกว่าก็จริง แต่มาร์คก็หาใช่ลูกชาวนาเสียทีเดียว) คนแรกเป็นเด็กเนิร์ดชาวยิว รูปร่างผอมแห้ง ชอบแต่งตัวด้วยเสื้อแจ๊กเก็ตมีฮูด สวมรองเท้าแตะ ส่วนคนหลังเป็นนักกีฬารูปร่างสูงใหญ่ พร้อมโครงหน้าหล่อเหลาแบบอารยันที่ฮิตเลอร์จะต้องภูมิใจ และนิยมสวมสูทผูกเน็กไท คนแรกมีเพื่อนไม่กี่คน และขาดทักษะในการคบหาสมาคมจนกระทั่งแฟนสาวต้องโพล่งขึ้นว่า “การเดทกับเธอก็เหมือนการเดทกับเครื่องออกกำลังกาย” ส่วนคนหลังเป็นสมาชิกสโมสรชื่อดังของฮาร์วาร์ดที่ใครๆ ก็อยากเข้าร่วม มีเส้นสายใหญ่โต (ผ่านทางพ่อผู้ทรงอิทธิพล) ขนาดสามารถขอนัดพูดคุยกับผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยเป็นการส่วนตัว และมั่นใจในสถานะทางสังคมของตนขนาดคิดจะเปิดเว็บไซต์บนพื้นฐานที่ว่า “สาวๆ อยากได้หนุ่มฮาร์วาร์ดเป็นแฟน”

โลกของอภิสิทธิ์ชนและโลกของสามัญชนห่างไกลกันขนาดไหน ฟินเชอร์ได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนผ่านฉากการแข่งเรือในประเทศอังกฤษซึ่งโฟกัสของขอบภาพโดยรอบถูกทำให้เบลอราวกับเป็นฉากความฝัน หลังจากนั้นในงานเลี้ยงฉลองถ้วยรางวัล ทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ต่างมีโอกาสได้พบปะกับเจ้าชายอัลเบิร์ต

พวกเขา ซึ่งนิยมเรียกตัวเองว่าสุภาพบุรุษ มักอวดอ้างถึงความ “พิเศษเฉพาะตัว” (Exclusivity) เพราะมีกลุ่มคนเพียงจำนวนไม่มากที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วม รวมถึงความเก่าแก่ยาวนานของประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติ หรือกระทั่งอาคารสถานที่ เช่น เมื่อเลขาฯ หน้าห้องผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดบรรยายถึงความโบราณของตึกทำการ คำถามเชิงประวัติศาสตร์ที่เหล่าสมาชิกใหม่ของสโมสรฟีนิกซ์ต้องตอบให้ถูก และเมื่อเจ้าชายอัลเบิร์ตอ้างว่าปู่ของพระองค์ก็เคยอยู่ร่วมทีมแข่งเรือ ส่วนพระองค์เองก็มาเฝ้าชมการแข่งที่เมืองเฮนรีตลอด 30 ปี

การยึดติดกับอดีตและทะนงตนว่าเหนือกว่าผู้อื่นเป็นเหตุให้เต่าล้านปีเหล่านี้ถูกใครต่อใคร “พายแซง” ไปกันหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกทุนนิยมซึ่งการแข่งขันเข้มข้นและกว้างขวาง หากมัวแต่ยึกยักชักช้า กว่าจะรู้ตัวอีกทีคุณก็โดนทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่นแล้ว ฉากที่สะท้อนแนวคิดดังกล่าวได้อย่างเจ็บแสบ คือ เมื่อสองพี่น้องวิงเคิลวอสพยายามร้องเรียนเรื่องมาร์คต่อผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่กลับถูกตีแสกหน้าให้ไปคิดหาไอเดียใหม่ๆ แทน แลร์รี ซัมเมอร์ส ก็ไม่ต่างจาก มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ตรงบุคลิกยโสแบบเด็กนักเรียนที่ฉลาดที่สุดในคลาส พวกเขาเป็นตัวแทนของโลกยุคใหม่ซึ่งปราศจากความเห็นใจใดๆ ต่อผู้พยายามอ้างถึงศีลธรรมและจรรยาบรรณหลังถูกแซงหน้าโดยนักคิดที่หลักแหลมกว่า นอกจากนี้ฉากข้างต้นยังแดกดันฝาแฝดวิงเคิลวอสไปในตัวตรงที่พวกเขาวิ่งโร่มาฟ้องครูเพื่อเรียกร้อง “ความยุติธรรม” (ซึ่งโดยหลักการแล้วหมายถึงทุกคนควรได้รับการปฏิบัติแบบเท่าเทียมกัน) โดยอาศัยเส้นสายของบิดา

Facebook มีจุดมุ่งหมายไม่ต่างกับการก่อการร้ายในฉากจบของหนังเรื่อง Fight Club นั่นคือ เพื่อทำลายระบบระเบียบและรูปแบบดั้งเดิมทางชนชั้น จากนี้ไปทุกคนสามารถเป็นประธานสโมสรส่วนตัว แล้วเลือกเชิญใครให้มาเข้าร่วมก็ได้ หรือพูดอีกอย่าง มันเปิดโอกาสให้เหล่าเด็กเนิร์ด พวกขี้แพ้ ขบถ หรือคนชายขอบของสังคมได้สัมผัสประสบการณ์แบบเดียวกับสองพี่น้องวิงเคิลวอส

แต่น่าเศร้าตรงที่อินเตอร์เน็ทนั้นเป็นแค่โลกเสมือนจริง และอารมณ์ตื่นเต้นของการได้เป็นคนดัง มีสิทธิ์ที่จะรับหรือไม่รับใครเป็น “เพื่อน” ก็เป็นแค่อารมณ์เสมือนจริง ซึ่งเกิดขึ้นในห้องมืดๆ ขณะคุณนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ที่สำคัญผลข้างเคียงของการปฏิวัติดังกล่าวกลับทำให้มนุษย์ยุคใหม่ยิ่งห่างไกลจากโลกแห่งความเป็นจริง (รวมถึงจากกันและกัน) มากขึ้น บทเรียนอันเจ็บปวดที่บิดาแห่ง Facebook ได้รับ คือ ในโลกแห่งความเป็นจริงหลายสิ่งหลายอย่างยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เช่น อคติดั้งเดิมในการตัดสินจากรูปร่างหน้าตา การพูดจา อิริยาบถว่าใครน่าจะเป็นคนดี/คนร้าย และมาร์คก็ดูจะเอนเอียงไปยังกลุ่มหลังมากกว่ากลุ่มแรก... เห็นได้ชัดว่าเงินพันล้านไม่อาจเปลี่ยนเขาให้กลายเป็นพี่น้องวิงเคิลวอสได้ (บทเรียนเดียวกันนี้อาจนำไปใช้พูดถึงเศรษฐีพลัดถิ่นบางคนของเมืองไทยได้เหมือนกัน)

นอกจากจะมองความสัมพันธ์จอมปลอมของโลกอินเตอร์เน็ทในแง่ร้ายแล้ว The Social Network ยังวิพากษ์ระบบทุนนิยมผ่านโศกนาฏกรรมของ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ซึ่งเริ่มต้นด้วยภาพลักษณ์ของเด็กเนิร์ดที่โหยหาการยอมรับ เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุดสำหรับมาร์ค ดังจะเห็นได้จากการที่เขาปฏิเสธข้อเสนอของไมโครซอฟท์ แล้วหันมาแจกซอฟท์แวร์ฟรีทางอินเตอร์เน็ท (เพื่อสร้างเรตติ้งให้ตัวเอง?) เขาริเริ่มก่อตั้ง Facebook ลึกๆ แล้วเพื่อสร้างชื่อเสียงให้สโมสรอย่างฟีนิกซ์ หรือพอร์เซลเลียนหันมาสนใจ เขาพยายามรักษาสถานะความ “เจ๋ง” ของเว็บไซท์โดยปฏิเสธข้อเสนอของเอดัวร์โดในการหากำไรผ่านโฆษณาเพราะเงินไม่ใช่สิ่งที่เขาไล่ล่า จนกระทั่งเหตุการณ์เริ่มบานปลายพร้อมๆ กับการมาถึงของ ฌอน พาร์คเกอร์ เจ้าของสโลแกน “เงินล้านน่ะไม่เจ๋งหรอก ต้องพันล้านต่างหาก” ฌอนฉลาด มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีเส้นสายในโลกแห่งธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็ไร้ความปราณีต่อใครก็ตามที่ก้าวมาขวางทาง เขา ก็เช่นเดียวกับระบบทุนนิยม นำมาซึ่งความยิ่งใหญ่ เจริญรุ่งเรือง... พร้อมๆ กับความฟอนเฟะ การทรยศหักหลัง และยาเสพติด

แม้จะพูดถึงโลกแห่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่บทเรียนศีลธรรมของ The Social Network นั้นเก่าแก่และเรียบง่าย นั่นคือ เงินไม่อาจซื้อความสุขหรือกระทั่งการยอมรับ (แต่นั่นก็ไม่หยุดมาร์คให้พยายามต่อไป) มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ก็ไม่ต่างจากตัวละครอย่าง ไมเคิล คอลิโอเน หรือ ชาร์ลส์ ฟอสเตอร์ เคน เขาร่ำรวยเงินตราและอำนาจ แต่กลับปราศจากเพื่อนสนิท คนรัก หรือกระทั่งครอบครัว เพราะเหล่านั้นคือราคาที่เขาต้องจ่ายเพื่อให้มายืนอยู่ ณ จุดนี้... ในฉากจบหนังได้ตอกย้ำให้เห็นว่าท่ามกลางทรัพย์สินจำนวนมหาศาล สุดท้ายแล้ว มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ก็เป็นแค่เด็กเนิร์ดหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่พยายามจะ “เชื่อมโยง” กับใครสักคน

วันศุกร์, กันยายน 03, 2553

ลุงบุญมีระลึกชาติ: คน สัตว์ สถานที่


แนวคิดเกี่ยวกับกฎแห่งกรรมและการกลับชาติมาเกิดดูเหมือนจะสอดแทรกอยู่เนืองๆ ในหนังหลายเรื่องของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ก่อนสุดท้ายจะกลายมาเป็นแก่นหลักอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงในผลงานชิ้นล่าสุดซึ่งคว้ารางวัลปาล์มทองจากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาครอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถ้า แสงศตวรรษ เปรียบเสมือนบทเกริ่นในเชิงนามธรรมของการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งเป็นทุกข์ที่มนุษย์ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยง (นอกจากจะหลุดพ้นสู่นิพพาน) ผ่านฉากปล่องดูดควัน/วิญญาณในช่วงท้ายเรื่อง หรือการแบ่งหนังออกเป็นสองส่วนที่ซ้ำซ้อน ยอกย้อนกันไปมา (1) ลุงบุญมีระลึกชาติ ก็คงไม่ต่างจากภาพสะท้อนที่เป็นรูปธรรมขึ้นของภาวะดังกล่าว

เช่นเดียวกับหลวงตาใน แสงศตวรรษ ที่เชื่อว่าตนมีอาการปวดเข่าเพราะสมัยเด็กๆ ชอบหักขาไก่ ลุงบุญมี (ธนภัทร สายเสมา) เชื่อว่าความทรมานทางกายของตนนั้น (โรคไตวายเรื้อรัง) เป็นผลกรรมจากการฆ่าคอมมิวนิสต์ไปหลายคน ขณะเดียวกัน หนังคล้ายจะฉายภาพให้เห็น “ชาติก่อน” ของลุงบุญมีผ่านลักษณะของเรื่องสั้นซึ่งตัดแทรกเข้ามาในโครงเรื่องหลักโดยปราศจากการเชื่อมโยงที่ชัดเจน นั่นคือ ฉากเปิดเรื่อง เมื่อควายตัวหนึ่งดิ้นหลุดจากต้นไม้ แล้ววิ่งหายเข้าไปในป่า ก่อนจะถูกชาวนาตามมาลากกลับไป และฉากช่วงกลางเรื่อง เมื่อเจ้าหญิงขี้เหร่ (วัลลภา มงคลประเสริฐ) ผู้โหยหารักแท้ยอมสละทรัพย์สินและเรือนร่างแด่ “เทพแห่งน้ำ” เพื่อแลกกับความงาม

อย่างไรก็ตาม หนังไม่ได้บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าทั้งสองฉากเป็นอดีตชาติของลุงบุญมี นอกเหนือจากนัยยะจางๆ ผ่านชื่อหนังและข้อความเปิดเรื่อง (“เวลาหันหน้าเข้าป่าเขาลำเนาไพรเมื่อใด ภาพอดีตชาติแต่ปางก่อนหนหลังคอยเตือนขึ้นในดวงจิตเสมอมิได้ขาด”) คนดูจึงต้องตีความเอาเองล้วนๆ ว่าลุงบุญมีเป็นใคร หรืออะไรในอดีตชาติโดยคาดเดาจาก “จุดศูนย์กลาง” ของเรื่องราว กระนั้นหากใครจะทึกทักว่าลุงบุญมีไม่ใช่ไอ้เขียว ไม่ใช่เจ้าหญิง หากแต่เป็นปลาดุก ชาวนา หรือหนุ่มรับใช้ก็คงไม่ถือว่าผิดแต่อย่างใด เพราะทั้งหมดล้วนเป็นความตั้งใจของผู้กำกับที่จะคงความคลุมเครือไว้ และเหลือช่องว่างให้ผู้ชมใช้จินตนาการอย่างอิสระ (2)

การก้าวกระโดดระหว่างเรื่องเล่า ฉากหลัง หรือกระทั่งระหว่างช็อตเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยในหนังของอภิชาติพงศ์เนื่องจากพวกมันไม่ยึดเกาะหลักการเล่าเรื่องตามธรรมเนียม ที่ต้องมีจุดเริ่มต้น ปมขัดแย้ง และบทคลี่คลาย ตรงกันข้ามหนังของอภิชาติพงศ์นิยมถ่ายทอดห้วงแห่งความทรงจำของตัวศิลปิน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่ถูกเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ แล้วกล่อมผู้ชมให้รู้สึกเหมือนอยู่กึ่งกลางมิติระหว่างความจริงกับจินตนาการ ผ่านการคัดเลือกช็อตและทิ้งจังหวะอย่างพิถีพิถัน ด้วยเหตุนี้เอง ภาพสะท้อนชีวิตอันสมจริงของผู้คนจึงผสานกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับตำนานพื้นบ้านอย่างน่าทึ่งในหนังของอภิชาติพงศ์ จนอาจกล่าวได้ว่าพวกมันสะท้อนคุณลักษณะของ “ความฝัน” ได้ชัดเจนกว่าหนังอย่าง Inception ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน เสียอีก นั่นคือ กลุ่มก้อนความคิด จิตสำนึก ความทรงจำ ฯลฯ ที่บิดเบือน ผันแปร และเปลี่ยนรูปได้อย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันกลับให้ความรู้สึกเหมือนจริงอย่างมาก

คำว่า “เหมือนจริง” ในที่นี้หาใช่ “สมจริง” (ซึ่งคงไม่ใช่เป้าหมายของอภิชาติพงศ์อย่างแน่นอนดังจะเห็นได้จากเทคนิคโบราณที่เขานำมาใช้สร้างภาพวิญญาณและลิงผีตาแดงโพลง) แต่หมายถึงความรู้สึกเหมือนกำลังตกอยู่ในสถานการณ์นั้นจริงๆ เฉกเช่นเวลาเราฝัน โดยองค์ประกอบสำคัญที่อภิชาติพงศ์นำมาใช้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว คือ เสียงประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเสียงป่า เสียงน้ำตก เสียงลม ซึ่งให้ความรู้สึก “ชัดเจน” และ “สม่ำเสมอ” จนค่อยๆ ดึงคนดูให้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ หาใช่เพียงเฝ้าสังเกตอยู่รอบนอก

เทคนิคดังกล่าว (ผนวกกับมุมกล้องแทนสายตา) ปรากฏให้เห็นหลายครั้ง แม้กระทั่งฉากสั้นๆ ซึ่งดูไม่สลักสำคัญ เมื่อลุงบุญมีเดินทางกลับมาต่างจังหวัดพร้อมเจน (เจนจิรา จันทร์สุดา) และ โต้ง (ศักดิ์ดา แก้วบัวดี) ในช็อตหนึ่งที่กินเวลาพักใหญ่ กล้องถ่ายผ่านกระจกหน้ารถให้คนดูรู้สึกเหมือนร่วมเป็นหนึ่งในผู้โดยสาร เสียงเครื่องยนต์ดังกระหึ่มอย่างต่อเนื่องขณะรถหักเลี้ยวไปตามเส้นทาง (มันเป็นมุมกล้องสุดฮิตสำหรับฉากนั่งรถไฟเหาะ) ส่วนในฉาก “เสพสังวาสข้ามสายพันธุ์” กล้องก็พาคนดูเข้าไปสำรวจระยะประชิด (ซึ่งพบเห็นไม่บ่อยนักในหนังของอภิชาติพงศ์ที่นิยมถ่ายภาพระยะปานกลางและระยะไกล) จนได้ยินเสียงปลาดีดน้ำดังถนัด แถมบางคราวกล้องยังดำดิ่งลงใต้น้ำราวกับแทนสายตาของปลาในลำธารด้วย

คงเพราะเหตุนี้กระมัง นักวิจารณ์เมืองนอกบางคนจึงตั้งข้อสังเกตว่าการนั่งชม ลุงบุญมีระลึกชาติ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็น “ประสบการณ์” มากกว่าภาพยนตร์ ทั้งนี้เพราะอภิชาติพงศ์ไม่เพียงต้องการเล่าเรื่องราวของลุงบุญมีเท่านั้น (หากเป้าหมายเขาหยุดอยู่แค่ “เล่าเรื่อง” การตัดส่วนที่เป็นจุดเชื่อมโยง หรือรายละเอียดต่างๆ ออกหมดจนเกิดความคลุมเครือในเรื่องเล่าก็คงถือว่าเป็นข้อผิดพลาด) แต่ยังต้องการพาคนดูไปไกลถึงขั้นสัมผัสประสบการณ์แบบเดียวกับลุงบุญมี หรือที่เขาคิดว่าลุงบุญมีกำลังเผชิญระหว่างขั้นตอนการระลึกชาติอีกด้วย

จากคำบอกเล่าของอภิชาติพงศ์ ลุงบุญมีตัวจริงสามารถระลึกชาติก่อนๆ ของตนได้จากการฝึกนั่งสมาธิ ซึ่งนั่นถือเป็นขั้นตอนปกติของคนส่วนใหญ่ (ที่อ้างว่าระลึกชาติได้) แต่นอกจากการฝึก “จิต” จนเกิด “ญาณ” ในระดับสูงแล้ว อีกหนึ่งวิธีที่เชื่อว่าสามารถทำให้คนสามารถระลึกชาติได้ คือ การสะกดจิต ซึ่งมีมานานและได้รับการยอมรับทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเรื่องจริง หาใช่ปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติแต่อย่างใด โดย อาจารย์ชนาธิป ศิริปัญญาวงศ์ ประธานชมรมนักสะกดจิตแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงประเด็นข้างต้นว่า “การสะกดจิตถ้าเอาแบบฝรั่ง เขาบอกสะกดจิตมีมาพร้อมโลก เพราะในคัมภีร์ไบเบิ้ลเขียนว่า พระเจ้าสร้างอดัมกับอีฟ และตอนสร้างอดัมพระเจ้าสะกดจิตอดัมให้นอนเพื่อให้เรียนรู้จากวิธีการนอน ทีนี้ในศาสนาพุทธผมสังเกตว่าแม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็สะกดจิตนะ โดยวิธีสวดมนต์นี่แหละ เสียงสวดมนต์เป็นเสียงสะกดจิต การสวดมนต์ในพุทธศาสนา การทำละหมาดในอิสลาม การร้องเพลงในโบสถ์ก็ถือเป็นการสะกดจิต” (3)

นอกจากเสียงและดนตรีประกอบใน ลุงบุญมีระลึกชาติ จะช่วย “สะกดจิต” คนดูแล้ว มันยังแว่วสะท้อนและล่องลอยจากฉากหนึ่งสู่อีกฉากหนึ่งดุจวิญญาณเร่ร่อนที่หลุดออกจากร่าง เช่น เมื่อโต้งนอนเอกเขนกบนเปลญวน คนดูจะได้ยินเสียงดนตรีต่างแดนดังแว่วมาล่วงหน้า ก่อนภาพจะตัดไปยังเรื่องราวของเจ้าหญิง หรือเมื่อลุงบุญมีนอนสิ้นใจอยู่ในถ้ำ เสียงของป่ายังคงดังก้องอย่างสม่ำเสมออีกพักใหญ่ แม้ภาพจะตัดมายังฉากงานศพแล้ว

หากเทียบกับ สัตว์ประหลาด! และ สุดเสน่หา จะเห็นว่าการเชื่อมโยงเรื่องราวใน ลุงบุญมีระลึกชาติ (และอาจรวมถึง แสงศตวรรษ) ค่อนข้างราบรื่น นุ่มนวล ไม่เรียกร้องความสนใจจากคนดูมากเท่า (ผ่านการขึ้นเครดิตหนัง) ความลื่นไหลซ้อนทับกันของเรื่องเล่าสอดคล้องกับแนวคิดในพุทธศาสนาว่าทุกอย่างล้วนเกิดแต่เหตุ ทุกความเป็นไปในปัจจุบันล้วนเป็นผลกรรมมาจากอดีต และทุกชีวิตล้วนเกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ ด้วยเหตุนี้ เพื่อตอกย้ำว่าวิญญาณสามารถผลัดเปลี่ยนไปมาระหว่างสิ่งมีชีวิต (กระทั่งพระพุทธเจ้าก็ทรงเคยเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานในชาติก่อนๆ) โดยปราศจากข้อจำกัด คนดูจึงได้เห็นการก้าวข้ามสายพันธุ์ไปมาในหนัง ตั้งแต่คนกับปลาดุก (เจ้าหญิง) ไปจนถึงคนกับลิง (บุญส่ง) และที่สำคัญ มันถูกนำเสนออย่างเรียบง่าย เหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ราวกับจะบอกว่านี่คือธรรมดาแห่งชีวิต เป็นวงจรวิถีที่เราควรน้อมรับ การปรากฏตัวขึ้นของ ฮวย (ในสภาพวิญญาณ) และ บุญส่ง (ในสภาพครึ่งคนครึ่งลิง) อาจสร้างความตกใจ/แปลกใจให้ลุงบุญมีกับแขกเหรื่อบ้างเล็กน้อย แต่สุดท้ายอารมณ์ดังกล่าวก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว โดยคนแรกถึงขั้นวนเวียนอยู่ไม่ห่างเพื่อคอยดูแลสามีในช่วงสุดท้ายของชีวิต และเตรียมเขาให้พร้อมสำหรับการลาจากโลกด้วยซ้ำ

กฎแห่งการเวียนว่ายตายเกิดส่งผลให้วิญญาณไม่ต่างจากแก่นหลัก ส่วนร่างกายเปรียบเสมือนเสื้อผ้าอาภรณ์ และความตายก็เพียงแค่พรากวิญญาณจากร่างหนึ่งเพื่อรอเวลาไปสิงสู่อีกร่างหนึ่ง (สะท้อนเป็นรูปธรรมผ่านฉากโต้งกับป้าเจน “หลุดออกจากร่าง” ในช่วงท้ายเรื่อง) เปลี่ยนจากสถานะหนึ่งสู่อีกสถานะหนึ่ง หรือกระทั่งจากสายพันธุ์หนึ่งสู่อีกสายพันธุ์หนึ่ง เฉกเช่นเมื่อโต้งพลิกผันตัวตนตามเสื้อผ้าที่เขาสวมใส่ จากหลวงพี่เป็นไอ้ลูกหมา จากพระสู่สามัญชน และจากการห้ามฉันหลังเที่ยงสู่การกินข้าวรอบดึกที่ร้านคาราโอเกะ

อีกฉากที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์บ่งชี้วงจรแห่งธรรมชาติ คือ เมื่อลุงบุญมีกับคณะพากันเดินทางเข้าไปในป่าลึก มุดเข้าถ้ำซึ่ง (ตามเสียงบอกเล่า) ให้ความรู้สึกคล้ายกลับมาอยู่ในครรภ์มารดา ก่อนทั้งหมดจะพากันหยุดพักในถ้ำ เพื่อให้ลุงบุญมีในสภาพเจ็บหนักใกล้ตาย ได้ขับถ่ายของเสียออกมาทางสายยาง จนกระทั่งเมื่อรุ่งอรุณมาเยือน วิญญาณของชายชราก็ผละออกจากร่างไปแล้ว และพร้อมกันนั้นคนดูก็จะได้เห็นโต้งค่อยๆ ปีนป่ายตามก้อนหินเพื่อขึ้นสู่ปากถ้ำเบื้องบน แล้วเกิดใหม่ในสภาพนุ่งเหลืองห่มเหลืองที่งานศพของลุงบุญมี

บทเกริ่นเปรียบเปรยเกี่ยวกับอาชีพหมอใน แสงศตวรรษ (หมอสูติฯ = การเกิด หมอมะเร็ง = ความตาย หมอโรคเลือด = ความทุกข์) ถูกนำมาขยายความเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้นใน ลุงบุญมีระลึกชาติ ว่ามนุษย์ทุกคนย่อมหนีไม่พ้นความทุกข์ของการเวียนว่ายตายเกิด โดยเรื่องราวในแต่ละชาติของลุงบุญมีอาจแตกต่างกันทางยุคสมัย สถานะทางสังคม เพศ หรือกระทั่งสายพันธุ์ แต่สิ่งเดียวที่เหมือนกัน (นอกเหนือไปจากฉากหลังของป่าภาคอีสาน) คือ ทุกชีวิตล้วนต้องเผชิญความทุกข์อันหลากหลาย ทุกข์เพราะโหยหาอิสรภาพ แต่กลับถูกสนตะพายให้ทำงานหนัก ทุกข์เพราะโหยหาความรักและรูปกายอันสวยงาม ทุกข์เพราะเจ็บป่วยทางกายและความรู้สึกผิดบาปทางใจ

กระนั้น หนังหาได้มองชีวิตด้วยสายตาหดหู่ สิ้นหวัง หากแต่ด้วยความเข้าใจมากกว่า อารมณ์ขันและความอิ่มเอิบในแบบ “อภิชาติพงศ์” ยังคงปรากฏให้เห็นเช่นเคย โดยความสุขสามารถเกิดขึ้นจากสิ่งเรียบง่ายรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยหยอกล้อกับคนงาน การลองลิ้มน้ำผึ้งสด การเด็ดมะขามจากต้นมาป้อนสุนัข หรือการได้นั่งล้อมวงกินข้าวแบบพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว แม้คนหนึ่งจะเป็นวิญญาณ ส่วนอีกคนก็ผิดมนุษย์มนา แต่ทั้งหมดเชื่อมโยงกันด้วยความผูกพันทางใจ จนคนงานที่มาช่วยล้างไตให้ลุงบุญมีถึงกับเอ่ยว่าตนรู้สึกเหมือนตัวประหลาดซะเอง ทว่าแน่นอน ความสุขเหล่านั้นย่อมผ่านมา แล้วก็ผ่านไป หาได้จิรังยั่งยืน เช่นเดียวกับร่างกายของมนุษย์ที่ย่อมแตกดับไปตามอายุขัย

หากพิเคราะห์ให้ลึกลงไปแล้ว เราอาจแบ่ง ลุงบุญมีระลึกชาติ ออกได้เป็นสองแง่มุมด้วยกัน ส่วนแรกเป็นการถ่ายทอดเรื่องเล่าเกี่ยวกับชายที่สามารถจดจำอดีตหนหลังได้ยาวนาน (เค้าโครงจากหนังสือ คนระลึกชาติ โดย พระศรีปริยัติเวที) อีกส่วนเป็นการถ่ายทอดความทรงจำของตัวผู้กำกับเกี่ยวกับสถานที่ซึ่งเขาหลงใหล ภาพยนตร์ซึ่งเขาคุ้นเคย ชื่นชอบ รวมถึงผู้คนซึ่งเขาผูกพัน (พ่อของอภิชาติพงศ์เสียชีวิตด้วยโรคไต) จนนำไปสู่ซีเควนซ์ชวนพิศวงของชุดภาพถ่ายกลุ่มทหารวัยรุ่นกับลิงผี พร้อมเสียงเล่าของลุงบุญมีถึงเมืองในอนาคตที่สามารถทำให้คนหายไปได้ มันอาจเชื่อมโยงหยอกล้อกับเรื่องเล่าหลักของหนังอยู่บ้าง (ชาติหนึ่งลุงบุญมีเป็นเหมือนลุงผีที่ถูกตามล่า ขณะที่ชาตินี้เขากลับรับบทนายทหารที่คอยเข่นฆ่าเหล่าคอมมิวนิสต์หนุ่มสาว) แต่น้ำหนักดูจะโอนเอียงไปยังส่วนที่สองอย่างเห็นได้ชัด (4)

กล่าวได้ว่านอกจากจะถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดและจิตวิญญาณแล้ว หนังยังเป็นบทบันทึกความทรงจำของอภิชาติพงศ์อีกด้วย เพื่อไม่ให้อดีตเลือนหายไปในอนาคต และการกระทำดังกล่าวก็ส่งผลให้ ลุงบุญมีระลึกชาติ ไม่เพียงท้าทายขนบการเล่าเรื่องของภาพยนตร์แบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่ยังก้าวไปไกลด้วยการสร้างรูปแบบแปลกใหม่ ที่ผสมผสานเรื่องเล่าเข้ากับประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปินได้อย่างกลมกลืน ชวนค้นหา และน่าตื่นตะลึง

หมายเหตุ

1. อ่านรายละเอียดจากบทวิจารณ์ “แสงศตวรรษ: วงเวียนมนุษย์”
2. อภิชาติพงศ์เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาตัดหลายฉากที่จะช่วยอธิบายเรื่องราวให้ชัดเจนออก ซึ่งนั่นช่วยไขข้อข้องใจว่าเหตุใดเรื่องย่อตามเอกสารเพื่อการประชาสัมพันธ์หนังจึงแตกต่างจากผลลัพธ์สุดท้ายบนจอค่อนข้างมาก เช่น ตอนหนึ่งเขียนบรรยายว่า “ระหว่างอาหารมื้อเย็นลุงบุญมีเล่าให้ฟังถึงความมหัศจรรย์ของการนั่งสมาธิ ซึ่งทำให้เขาระลึกชาติได้ เขาใช้เวลายามค่ำคืนเล่าเรื่องต่างๆ ในอดีตชาติให้แขกผู้มาเยือนฟัง”
3. ข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org/ ในหัวข้อ “การระลึกชาติ”
4.“ผมอยากสอดแทรกความทรงจำเกี่ยวกับการสร้างหนัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Primitive Project เข้ามาด้วย โดยโครงการดังกล่าวผมตั้งใจจะบันทึกความทรงจำต่างๆ เกี่ยวกับภาคอีสาน ผมลงเอยด้วยการร่วมงานกับเด็กวัยรุ่นหลายคนในหมู่บ้าน ซึ่งในอดีตมีประวัติทางการเมืองที่รุนแรง นอกจากนี้ เรายังทำหนังสั้นเรื่อง A Letter to Uncle Boonmee พร้อมกับตระเวนไปทั่วหมู่บ้านเพื่อหาบ้านที่เหมาะสำหรับใช้ในการสร้างหนังขนาดยาว ประสบการณ์ของผมในหมู่บ้านแห่งนี้เกี่ยวโยงกับประสบการณ์ของลุงบุญมี มันเป็นสถานที่ซึ่งความทรงจำถูกเก็บกดไว้ ผมอยากจะเชื่อมโยงมันเข้ากับเรื่องราวของผู้ชายที่สามารถจดจำทุกสิ่งทุกอย่างได้ ฉากภาพถ่ายในหนังทำให้ความทรงจำของผมกับของลุงบุญมีประสานเป็นหนึ่งเดียว” อภิชาติพงศ์กล่าว

วันอังคาร, มิถุนายน 15, 2553

The Idiot’s Guide to Apichatpong’s Films


เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่คนไทยสามารถคว้ารางวัลสูงสุดจากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาครองเป็นครั้งแรก ผมอยากจะขอแนะนำเหล่านักดูหนังรุ่นใหม่ (หรือรุ่นเก่าแล้วก็ตาม แต่นิยมเสพแค่ผลงานจากฮอลลีวู้ดเป็นหลักเท่านั้น) ที่อาจจะยังไม่คุ้นเคยกับภาพยนตร์ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล สักเท่าไหร่ (สัตว์ประหลาด! เป็นหนังเรื่องเดียวของเขาที่ได้เข้าฉาย –แบบจำกัดโรง- โดยสมบูรณ์) เพื่อเตรียมเปิดใจพวกเขาให้พร้อมสำหรับ ลุงบุญมีระลึกชาติ ด้วยความหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัลปาล์มทองอันทรงเกียรติจะทำให้หนังเรื่องนี้ได้เข้าฉายในเมืองไทยแบบไม่ตัด ไม่หั่น ไม่เบลอ ไม่จอมืด และมากกว่าแค่หนึ่งหรือสองโรง... กระนั้นอีกใจหนึ่งก็นึกหวาดหวั่นเล็กน้อย เพราะตระหนักดีว่าหนังของอภิชาติพงศ์ไม่ใช่อาหารที่จะถูกปากคนกลุ่มใหญ่

เพื่อนคนหนึ่งของผมเคยถูกหลอกให้ไปดู สัตว์ประหลาด! โดยไม่รู้มาก่อนว่ามันเป็นหนังประเภทไหน หรือเกี่ยวกับอะไร (ปกติเธอเป็นคอหนังแอ็กชั่นตัวยง และอาจปันใจให้ผลงานแนวตลก-โรแมนติกเป็นครั้งคราว) จากคำบอกเล่าของเพื่อนอีกคนที่หลอกให้เธอไปดูหนังเรื่องนี้ เธอแสดงท่าทีรำคาญ กระสับกระส่ายเกือบตลอดเวลา ก่อนจะเดินออกจากโรงหนังด้วยอารมณ์หงุดหงิด พลางก่นด่ากับทุกคนถึงความเลวร้ายของหนัง กระทั่งปัจจุบันความเจ็บแค้นก็ยังไม่จางหายทุกครั้งที่ได้ยินชื่อหนังเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าความไม่ชอบของเธอเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ขณะเดียวกันสาเหตุแห่งความเจ็บแค้นส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการเดินเข้าไปชมโดยปราศจากเกราะป้องกันใดๆ

บทความชิ้นนี้จึงเป็นเสมือน คู่มือฉบับเริ่มต้น เพื่อให้ข้อมูลคร่าวๆ ในมุมกว้าง ก่อนแวบเข้าไปชมภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ (ไม่ว่าจะเพื่อเกาะติดกระแสรางวัล หรือแค่อยากรู้อยากเห็น หรืออาจจะถูกหลอกไปเหมือนอย่างเพื่อนของผม) เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ยังไม่คุ้นชินกับภาพยนตร์แนว “อาร์ต” ผมหวังว่ามันจะช่วยติดเกราะให้กับความคาดหวังของคุณ แล้วเปิดใจสู่รูปแบบภาพยนตร์ที่แตกต่าง

“เรื่อง” ไม่ใช่จุดหมาย

หลากหลายข้อกล่าวหาจากกลุ่มคนดูทั่วไปต่อหนังของอภิชาติพงศ์ นอกจาก “น่าเบื่อ” แล้ว (ซึ่งยากจะเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไข เพราะมันเป็นเรื่องของอัตวิสัย) ที่ฮิตสุดคงหนีไม่พ้น “ดูไม่รู้เรื่อง” ทั้งนี้เพราะหนังของเขาส่วนใหญ่แทบไม่มี “เรื่อง” และปราศจากการสร้างปมขัดแย้ง เผชิญหน้าตามสูตรการเล่าเรื่องแบบคลาสสิกของฮอลลีวู้ด ซึ่งนิยมแบ่งหนังออกเป็นสามองก์ คือ ปูพื้น-ปัญหา-คลี่คลาย

หากไม่นับ ดอกฟ้าในมือมาร และ หัวใจทรนง จะเห็นได้ว่าโครงสร้างหนังของอภิชาติพงศ์แบ่งแยกออกเป็นสององก์อย่างชัดเจน ระหว่างเหตุการณ์ในเมืองกับเหตุการณ์ในป่า (สุดเสน่หา) ระหว่างเรื่องรักของชายสองคนกับตำนานพรานล่าเสือสมิง (สัตว์ประหลาด!) และระหว่างโรงพยาบาลชนบทกับโรงพยาบาลในเมือง (แสงศตวรรษ) หนังเปิดโอกาสให้คนดูตีความอย่างอิสระถึงความหมายเชื่อมโยงระหว่างเรื่องราวสององก์ ซึ่งแม้จะดูเหมือนแยกเป็นเอกเทศ แต่ก็มีรายละเอียดบางอย่างซ้ำซ้อน ยอกย้อน และยั่วล้อกันไปมา

การไม่มอบคำอธิบายที่ชัดเจน ไม่มีบทสรุปที่จับต้องได้ คือ เหตุผลหลักที่ทำให้หนังของอภิชาติพงศ์โดนกล่าวหาว่า “ดูไม่รู้เรื่อง” ซึ่งจะว่าไปก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับข้อกล่าวหาต่องานจิตรกรรมแนวแอบสแตรกทั้งหลาย ที่มักนำเสนอลายเส้น รูปทรง สีสัน แต่ปราศจากระบบระเบียบตามแบบแผนปฏิบัติจนดูไม่เป็นรูปเป็นร่าง

ทันทีที่ทัศนคติของคุณผูกติดอยู่กับแนวคิด “ดูหนังเพื่อเอาเรื่อง” คุณจะพบกับความหงุดหงิดใจ ตลอดจนคำถามไม่รู้จบเวลานั่งชมหนังของอภิชาติพงศ์ ดังเช่นเพื่อนคนที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้น เธอนึกสงสัยตลอดเวลาว่าผู้กำกับจะแช่กล้องถ่ายภาพต้นไม้ใบหญ้าไปทำไม มันมีประโยชน์อะไรกับเนื้อเรื่องงั้นหรือ เป็นเพราะเขามัวเสียเวลากับช็อตประเภทนี้ใช่ไหม เรื่องราวมันถึงไม่เดินไปข้างหน้าเสียที คำถามดังกล่าวมีรากเหง้ามาจากการที่เราถูกปลูกฝังโดยหนังฮอลลีวู้ดจำนวนมากว่าทุกช็อตต้องช่วยผลักดันเรื่อง แต่หนังของอภิชาติพงศ์เลือกจะไม่เดินตามกฎเกณฑ์นั้น (เช่นเดียวกับการแหวกธรรมเนียมการเล่าเรื่องแบบสามองก์) เพราะ “เรื่อง” ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

แม้จะไม่มีประโยชน์ต่อเรื่องโดยตรง แต่ก็ใช่ว่าจะปราศจากความจำเป็นและสามารถตัดทิ้งได้ เพราะหลายครั้งผู้กำกับอาจจงใจใส่ช็อตเหล่านั้นเข้ามาเพียงเพื่อช่วยเสริมสร้างบรรยากาศ เร่ง/ชะลอจังหวะหนัง สื่อสารสัญลักษณ์ หรือบางทีก็อาจใช้เป็นช็อต “เชื่อมโยง” ดังเช่น วิธีที่ ยาสุจิโร่ โอสุ ชอบตัดภาพการก่อสร้างตึก (ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องหรือฉากหลัง) มาแทรกระหว่างการเปลี่ยนฉากแทนการตัดภาพแบบทันทีทันใด

In cinema only

หากเลือกได้ ผมขอแนะนำให้คุณเริ่มต้นดูหนังของอภิชาติพงศ์ในโรงภาพยนตร์เท่านั้น เพราะมันเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะสุดสำหรับดื่มด่ำภาพยนตร์ในลักษณะนี้ จอขนาดใหญ่ ระบบเสียงรอบทิศทาง ตลอดจนความมืดที่ล้อมรอบจะทำให้คุณสามารถจมดิ่งไปกับโลกเสมือนได้อย่างเต็มร้อย แล้วไม่นาน “เรื่อง” ก็จะค่อยๆ ลดทอนความสำคัญลง ส่วน “บรรยากาศ” กลับกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง นอกจากนี้ ความงามของการจัดองค์ประกอบภาพ การวางมุมกล้องอย่างประณีตในแต่ละช็อตจะยิ่งโดดเด่น และกลายเป็นความเพลิดเพลินอีกอย่างหนึ่ง

ผมยังจำได้ดีถึงความรู้สึกแตกต่าง เมื่อครั้งชม แสงศตวรรษ บนจอใหญ่ครั้งแรก และการชมจากดีวีดีในครั้งต่อๆ มา ช็อตที่หมอเตย (นันทรัตน์ สวัสดิกุล) เดินถือถ้วยชามาชมวิวทุ่งนาตรงหน้าต่างห้องทำงานในช่วงต้นเรื่อง ซึ่งเคยทำให้ผมถึงกับตะลึงในความงามจากการชมครั้งแรก ดูเหมือนจะลดผลกระทบทางอารมณ์ลงกว่าครึ่งเมื่อได้ชมผ่านจอโทรทัศน์ขนาด 21 นิ้ว และมันคงเป็นเรื่องน่าเศร้า หากสิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับมนตร์เสน่ห์ (ขณะหลายคนอาจมองว่าชวนสะพรึง) ของป่าในยามค่ำคืนตลอดช่วงครึ่งหลังของ สัตว์ประหลาด!

เขตปลอดดารา

อย่าคาดหวังว่าจะได้เห็น ฉัตรชัย เปล่งพานิช หรือ พัชราภา ไชยเชื้อ ในหนังของอภิชาติพงศ์ เพราะเขานิยมใช้บริการของนักแสดงสมัครเล่นเท่านั้น (ยกเว้นเพียง หัวใจทรนง) อันที่จริง ส่วนใหญ่ล้วนไม่เคยแสดงหนังมาก่อนด้วยซ้ำ ที่สำคัญ พวกเขายังไม่ได้หน้าตาสวยหล่อ หุ่นดี หรือมีราศีดาราโดดเด่น ตรงกันข้าม เกือบทั้งหมดดูไม่ต่างจากชาวบ้านที่เราพบเห็นตามท้องถนนทั่วไป และหลายครั้งอาจเคยเดินผ่านโดยไม่เหลียวหลังมองด้วยซ้ำ (อย่างไรก็ตาม หลายคนได้กลายเป็น “ขาประจำ” เช่น เจนจิรา พงพัศ และ ศักดิ์ดา แก้วบัวดี ซึ่งเราคงไม่อาจเรียกว่ามือสมัครเล่นได้อีกต่อไป)

หนังของอภิชาติพงศ์มักเป็นส่วนผสมอันน่าประหลาดระหว่างความสมจริง (realism) ดุจสารคดี (ผลงานขนาดยาวเรื่องแรกของเขา ดอกฟ้าในมือมาร มีรูปแบบสารคดีค่อนข้างชัดเจน) กับความเหนือจริง (surrealism) ดุจภาพฝัน ฉะนั้น หลายฉากหลายตอนของหนังจะให้ความรู้สึกใสซื่อ จริงใจ ปราศจากการปรุงแต่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าปราศจากอารมณ์เสมอไป เพียงแต่คนดูอาจต้องใช้จินตนาการมากหน่อย เพราะอารมณ์ดังกล่าวไม่ได้ถูกตักใส่ช้อนแล้วป้อนเข้าปากคุณเหมือนในหนังปกติ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คนดูจะไม่มีโอกาสเห็นฉากจงใจบีบเค้น ขยี้หัวใจ หรือฉากตัวละครระเบิดอารมณ์แบบในหนัง ไมค์ ลีห์ (Happy-Go-Lucky, Vera Drake) ผู้ขึ้นชื่อว่าเน้นความสมจริงเหนืออื่นใดเช่นกันผ่านกลวิธีด้นสดบทสนทนา เลือกใช้นักแสดงไม่ค่อยดัง และพล็อตเรื่องทำนอง “เล่าไปเรื่อย” เพราะการจะทำเช่นนั้นได้ นักแสดง แม้ว่าจะโนเนมแค่ไหนก็ตาม ย่อมต้องอาศัยทักษะขั้นสูง

ตรงกันข้าม การแสดงในหนังของอภิชาติพงศ์มักจะดูแข็งๆ เหมือนเล่นหนังไม่เป็น แต่ก็ดูกลมกลืนกับบทอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งนี้เพราะบทไม่ได้เรียกร้องให้นักแสดงต้องบีบเค้นอารมณ์มากมาย (ขณะเดียวกันหนังก็ไม่ค่อยนิยมถ่ายโคลสอัพใบหน้าตัวละครอยู่แล้ว และเมื่อมันเกิดขึ้น เช่น ในฉากเปิดเรื่องของ แสงศตวรรษ มันก็ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อขับเน้นอารมณ์คนดู หรือสะท้อนความรู้สึกบางอย่างของตัวละคร)

เตรียมร่างกายให้พร้อม

พักผ่อนอย่างเพียงพอ และถ้าเป็นไปได้ก็ดื่มกาแฟสักแก้วก่อนเข้าโรง เพราะหนังของอภิชาติพงศ์ไม่ใช่ Avatar ที่จะกระตุ้นคนดูให้ตื่นตัวอยู่เสมอผ่านเอฟเฟ็กต์สุดอลังการ แอ็กชั่นเร้าใจ หรือฉากระเบิดภูเขาเผากระท่อม จนคุณสามารถนั่งดูได้สบายๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งที่เพิ่งอดนอนมาทั้งวัน... แต่อย่างว่าเรื่องของรสนิยมก็พูดยาก หลายคนอาจรู้สึกตื่นเต้นตลอดเวลาที่นั่งดู สัตว์ประหลาด! ขณะที่บางคนอาจเผลอหลับทุกทีเวลานั่งดูหนังแอ็กชั่นยิงกันสนั่นจอและเต็มไปด้วยเสียงระเบิดตูมตาม โดยไม่สนใจว่าเงินทุนจะถูกผลาญไปกี่พันล้านกับฉากเหล่านั้น

หนังของอภิชาติพงศ์มักเรียกร้องให้คนดูใช้สมาธิสูง ไม่ใช่เพราะการผูกเรื่องซับซ้อน (กลับไปอ่านข้อแรก) แต่เพราะคุณต้องคอยทำหน้าที่เชื่อมโยงรายละเอียดต่างๆ อยู่ตลอดเพื่อพยายามค้นหาความหมาย หรือบางครั้งก็ตั้งคำถามว่าคุณควรรู้สึกอย่างไรกับฉากนั้นๆ โดยส่วนตัวแล้ว ผมแอบสัปหงกในช่วงครึ่งหลังของ สัตว์ประหลาด! จากการชมรอบแรก ซึ่งเป็นรอบสองทุ่มของวันทำงาน (ตอนนั้นได้แต่โทษตัวเองว่าเพราะความเหนื่อยล้า จนต้องหาโอกาสไปดูรอบสองและสามในช่วงบ่ายของวันหยุดราชการ) แต่กลับนั่งชม แสงศตวรรษ ได้อย่างมีความสุขตลอดทั้งเรื่อง แม้จะเป็นการฉายในรอบดึกมาก

ในเมื่อไม่มีทางรู้ว่าหนังเรื่องไหนจะถูกจริตคุณมากเป็นพิเศษ ทางที่ดี (และนี่เป็นข้อแนะนำซึ่งผมเองยังคงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ เวลาจะหยิบหนังของ โหวเสี่ยวเฉียน หรือ ไฉ่หมิงเลี่ยง มาดูทุกครั้ง) คุณจึงควรเตรียมร่างกายให้พร้อม เพื่ออรรถรสอันเต็มเปี่ยมในการชม

หัวใจทรนง: เมื่ออภิชาติพงศ์ทำหนังกระแสหลัก?


ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ หัวใจทรนง หรือ The Adventure of Iron Pussy มักถูกหลงลืมว่าเป็นหนึ่งในผลงานกำกับของผู้ชนะรางวัลปาล์มทองคนล่าสุด อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล สาเหตุสำคัญคงเป็นเพราะมันช่างแตกต่างจากภาพยนตร์สร้างชื่อในระดับนานาชาติเรื่องอื่นๆ ของอภิชาติพงศ์ค่อนข้างมาก เริ่มตั้งแต่แนวทางหนังตลก/แอ็กชั่น/เพลงชนิดเต็มรูปแบบ (ใครก็คงคาดไม่ถึงว่าจะได้เห็นฉากยิงสนั่นและระเบิดภูเขาในหนังของอภิชาติพงศ์) ไปจนถึงการเล่าเรื่องที่เป็นเส้นตรง (พูดง่ายๆ คือ ตามเรื่องได้ตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่ต้องตีความหลายตลบ) และท่วงทำนอง “เอามัน” โฉ่งฉ่าง และสุดขอบ ซึ่งห่างไกลลิบลับกับลีลานุ่มเนิบดุจบทกวีของหนังอย่าง สุดเสน่หา, สัตว์ประหลาด และ แสงศตวรรษ

คาดว่าคุณสมบัติหลังสุดน่าจะเป็นอิทธิพลของ ไมเคิล เชาวนาศัย สังเกตได้จากอารมณ์โดยรวมของหนังสั้น 3 เรื่องก่อนหน้าที่เปรียบเสมือนจุดกำเนิดของ หัวใจทรนง อันประกอบไปด้วย The Adventure of Iron Pussy, Banzai Chaiyo และ To be, or not to be ซึ่งไมเคิลรับหน้าที่กำกับ/นำแสดง

ดูเหมือนความตั้งใจแต่แรกของ Iron Pussy ในยุคหนังสั้น คือ ล้อเลียนภาพยนตร์แนวสปายสายลับ รวมถึงซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลายโดยพลิกตาลปัตรให้วีรบุรุษ (นามว่านายมงคล) เป็นอดีตอะโกโก้บอยย่านสีลม ที่ในยามปกติดูเหมือนชายหนุ่มธรรมดาทั่วไป แต่เมื่อใดที่พบเห็นเหล่าน้องๆ ร่วมอาชีพขายบริการถูกชาวต่างชาติรังแก หรือเอารัดเอาเปรียบ เขาก็จะแปลงร่างเป็นหญิงสาวมาดทะมัดทะแมงนามว่าไอออนพุสซี แล้วใช้อาวุธเด็ดเป็นปืนฉีดน้ำอสุจิต่อกรกับเหล่าร้าย!? โดยความฮาไม่ได้หยุดอยู่แค่พล็อตสไตล์ “กะเทยพิทักษ์โลก” เท่านั้น แต่มันยังเสียดสี “ความเป็นชาย” ที่มักทะลักล้นในหนังซูเปอร์ฮีโร่ด้วย (เหล่าวีรบุรุษทั้งหลายมักนิยมสวมชุดรัดรูปเพื่อเน้นให้เห็นกล้ามเนื้อแข็งแกร่งอย่างชัดเจน) เมื่อผู้ชายบ้านๆ จะครอบครองพลังอำนาจก็ต่อเมื่อเขาแต่งกายเป็นหญิง

อันที่จริงมองในแง่หนึ่ง โลกของซูเปอร์ฮีโร่กับโลกของรักร่วมเพศก็ไม่ได้ห่างไกลกันมากนัก หากพิจารณาถึงประเด็นการปลอมแปลงและภาวะสองสถานภาพ หลายคนอาจคิดว่า สไปเดอร์แมน และ ซูเปอร์แมน เป็นความพยายามจะปกปิดตัวตนไม่ให้ใครรู้ เป็นร่างสมมุติ หรือนามแฝง แต่แท้จริงแล้ว ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ และ คลาก เคนท์ ต่างหาก คือ หน้ากากที่พวกเขาต้องสวมใส่เวลาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเพื่อไม่ให้ตัวเองแปลกแยกจากมาตรฐานทั่วไป เพื่อปกปิด “เอกลักษณ์” ภายในผ่านรูปลักษณ์เฉิ่มๆ ภายนอกที่ใครเห็นก็มองข้าม ทั้งนี้เพราะคอสตูมหลากสีสันนั้นไม่ได้มอบพลังวิเศษใดๆ แก่พวกเขา พลังดังกล่าวติดตัวพวกเขามาแล้วนับแต่กำเนิด (กรณีซูเปอร์แมน) หรือนับแต่โดนแมงมุมกัด (กรณีสไปเดอร์แมน) และเมื่อใดก็ตามที่สวมชุด พวกเขาจะสามารถ “เป็นตัวของตัวเอง” ได้อย่างเต็มที่

เช่นเดียวกัน รักร่วมเพศจำนวนไม่น้อยต้องดำรงตนสองสถานะกว่าครึ่งค่อนชีวิต เนื่องจากแรงกดดันของลัทธิบูชารักต่างเพศ โดยตอนกลางวัน ในออฟฟิศหรือที่บ้านกับพ่อแม่พี่น้อง พวกเขาอาจสวมบทเป็นนายมงคล ผู้ชายธรรมดา ดูเรียบร้อย ไม่มีปากเสียง แต่ในยามค่ำคืน ตามแหล่งบันเทิงเริงรมย์ เช่น ย่านสีลม พวกเขาจะแปลงกายเป็นไอออนพุสซี ผู้หญิงมาดมั่น ไม่เกรงกลัวใคร พร้อมกับวาดฝันถึงวันที่จะสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องมีนายมงคล

นอกจากแง่มุมที่ชัดเจน ค่อนข้างเป็นรูปธรรมข้างต้นแล้ว หนังสั้นชุด Iron Pussy ยังสะท้อนนัยยะเกี่ยวกับการปลอมแปลงและบุคลิกซ้อนที่ย้อนแย้งกันในแง่มหภาคอีกด้วย (และนี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมมันจึงสร้างกระแสฮือฮาในยุคนั้น หากไม่นับรวมความแรงแบบกระจะตา อาทิ ปืนฉีดน้ำอสุจิ หรือฉากรักอันโจ่งครึ่ม) กล่าวคือ ภายใต้ความพยายามส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยในแง่วัฒนธรรมงดงาม ยิ้มสยาม รำไทย ฟ้าใสทะเลสวย ฯลฯ ดังคำพูดของมาดามปอมปาดอย (ดารุณี กฤตบุญญาลัย) ใน หัวใจทรนง ที่ว่า “เมืองไทยน่าอยู่ อาหารอร่อย ผู้คนน่ารัก” ยังมีอีกตัวตนหนึ่งของประเทศไทยที่เหล่าคนใหญ่คนโต หรือชนชั้นกลางจำพวกมือถือสากปากถือศีลทั้งหลายจงใจซุกซ่อนไว้ในซอกหลืบ นั่นคือ เมืองไทยเป็นดินแดนที่ธุรกิจทางเพศเจริญรุ่งเรือง โดยคนส่วนใหญ่ที่เข้ามากอบโกย เอารัดเอาเปรียบเรือนร่างของทั้งหญิงไทยและชายไทยล้วนเป็นชาวต่างชาติจากประเทศพัฒนาแล้ว

เรามักถูกปลูกฝังให้ภาคภูมิใจเสมอมาว่าในอดีตประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นใคร อย่างน้อยก็เชิงภูมิศาสตร์/การเมือง แต่ปัจจุบันเมืองไทยกลับยินยอมโก้งโค้ง (ทั้งความหมายตรงตัวและความหมายเชิงสัญลักษณ์) แก่ฝรั่ง หรือญี่ปุ่นเพื่อแลกเงินตรา ดังจะเห็นได้จากความเจริญรุ่งเรืองของธุรกิจทางเพศจนมันสร้างชื่อกระฉ่อนไปทั่วโลก (น่าตลกที่ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น ณ ประเทศที่การค้าประเวณีผิดกฎหมาย ไม่ใช่หลายประเทศแถบยุโรป หรือแคนาดาที่อนุญาตให้ค้าประเวณีได้) โดยต้นเหตุอาจสาวไปถึงความล้มเหลวของรัฐในการกระจายรายได้ ส่งเสริมการศึกษา เพื่อให้ประชาชนสามารถยืนหยัดบนลำแข้งของตนเอง นอกจากนี้ ขณะที่ปากตะโกนปาวๆ ว่าธุรกิจทางเพศเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เป็นเรื่องน่าละอาย และอาจถึงขั้นไม่ต้องการยอมรับว่ามีอยู่จริงในสังคม (เช่น กรณีร้องแรกแหกกระเชอ เมื่อพจนานุกรมฉบับลองแมนนิยาม “กรุงเทพ” ว่าเป็นเมืองแห่งโสเภณี) แต่ลับหลังรัฐกลับก้มหน้ารับเม็ดเงินที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างเต็มใจ สุดท้าย ผู้รับกรรมจึงกลายเป็นบรรดาชายหญิงขายบริการ ซึ่งนอกจากไม่มีใครยอมรับ ช่วยเหลือแล้ว ยังถูกเอารัดเอาเปรียบรอบด้าน1

ด้วยเหตุนี้ หนังสั้นชุด Iron Pussy จึงมีลักษณะคล้ายแฟนตาซี Rape/Revenge ของประเทศโลกที่สาม ของชนชั้นล่างในสังคม หลังถูกนักล่าอาณานิคม (สวาท) และเหล่าอภิสิทธิ์ชนกระทำชำเราครั้งแล้วครั้งเล่า2... และจากมุมมองดังกล่าว คนดูอาจรู้สึกไม่ประหลาดใจว่าทำไมอาวุธเด็ดของไอรอนพุสซีจึงได้แก่ ปืนฉีดน้ำอสุจิ

อย่างไรก็ตาม เมื่อดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ขนาดยาว กลิ่นอายเกี่ยวกับเซ็กซ์ เพศสภาพ รวมไปถึงประเด็นวิพากษ์ลัทธิล่าอาณานิยมถูกลดทอนลงอย่างเห็นได้ชัด จริงอยู่ ตัวร้ายยังคงเป็นชาวต่างชาติ (คราวนี้คืออินเดีย) และช่วงต้นเรื่องเรายังได้เห็นไอออนพุสซีแปลงกายจากหญิงเป็นชายและชายเป็นหญิงอยู่สองสามครั้ง แต่ทั้งหมดทำหน้าที่เพียงช่วยย้ำเตือนให้คนดูสามารถนึกเชื่อมโยงไปถึงหนังสั้นได้เท่านั้น หาใช่เพื่อนำเสนอสารแบบเดิม3 เพราะภาพโดยรวมของหนังแตกต่างและแยกเป็นเอกเทศอย่างสิ้นเชิงผ่านการตีความใหม่ของอภิชาติพงศ์ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมสอดแทรกเครื่องหมายการค้าของเขาเอาไว้ตลอดทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นฉากเดินลุยป่า เข้าถ้ำ ฉากย้อนอดีตในสไตล์หนังเงียบ หรือการปรากฏตัวขึ้นของเสือ (และบทพูดเปรียบเทียบคนกับสัตว์ หรือสัตว์ร้ายในคราบมนุษย์)

เป้าหมายหลักในการล้อเลียน/คารวะถูกเปลี่ยนมาเป็นหนังไทยยุค 1970 ผ่านการพากย์เสียง ย้อมสีภาพ บทพูดเชยๆ ภาษาโบราณๆ และการวางพล็อตให้เดินตามรอยทุก “ท่าบังคับ” ที่เราคุ้นเคย โดยไฮไลท์ซึ่งเรียกเสียงฮาได้อย่างยอดเยี่ยมน่าจะเป็นฉากเปิดเรื่อง เมื่อไอออนพุสซีโผล่มาช่วยลูกสาวจอมแก่นของอาแปะร้านขายกาแฟ (จุฑารัตน์ อัตถากร) ไม่ให้ถูกกลุ่มจิ๊กโก๋รุมทำร้าย ที่สำคัญ หนังยังตอกย้ำภาพลักษณ์ “นางเอก” ยุคนั้นด้วยอารมณ์ขันหยิกเชิงหยอก เมื่อไอออนพุสซีในคราบลำดวนถูกกลั่นแกล้ง เยาะเย้ยสารพัดราวกับ พจมาน สว่างวงศ์ แต่เธอก็เอาความดี (... และใบหน้าอันสวยงาม) เข้าสยบตามลักษณะของพุทธศาสนิกชนที่ดี (สังเกตได้จากฉากปล่อยปลาปล่อยเต่าและเดินเข้าวัดไปกราบไหว้พระพุทธ) พลางโชว์ทักษะสารพัน ตั้งแต่ทำขนมไทย ตัดหญ้า รีดผ้า ร้อยพวงมาลัย ร้องเพลง ไปจนถึงศิลปะป้องกันตัว

ทว่าความดีดังกล่าวกลับกลายเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติภารกิจเพื่อชาติ หลังจากไอออนพุสซี/ลำดวนค้นพบว่าศัตรูของเธอ คือ ชายหนุ่มรูปหล่อพ่อรวยที่เพิ่งเรียนจบจากเมืองนอก เนื่องจากเธอ “ทำร้ายคนที่ฉันรักไม่ได้” แม้กระทั่งในช่วงเวลาคับขัน เมื่อบาทาของชายคนรักนั้นประทับแนบแน่นอยู่บนใบหน้าเธอ

แม้จะสลัดทิ้งรายละเอียดหลายอย่างจากหนังสั้น แต่ธีมสำคัญที่ หัวใจทรนง ยังคงเก็บรักษาไว้อย่างเหนียวแน่น คือ ประเด็นการปลอมแปลง หน้ากาก และความแตกต่างระหว่างภาพลักษณ์ภายนอกกับเนื้อแท้ภายใน ไม่ว่าจะแบบที่เห็นชัดๆ เช่น การสวมรอยมาเป็นหญิงรับใช้ของไอออนพุสซีเพื่อสืบข้อมูลเกี่ยวกับมิสเตอร์เฮนรี การเปิดเผยตัวตนและสถานะอันแท้จริงของ สมจินตนา (เจนจิรา พงพิศ) หัวหน้าแม่บ้าน... หรือแบบที่ต้องมองให้ลึกลงไปอีกนิด เช่น การที่ชายหนุ่มรูปหล่ออย่างคุณแทง (กฤษดา สุโกศล) มีจิตใจคดเคี้ยวยิ่งกว่าสัตว์ป่า ตรงกันข้ามกับมอเตอร์ไซค์รับจ้างหน้าตาบ้านๆ แต่น้ำใจงามอย่าง ผิว (ธีรวัฒน์ ทองจิตติ) การที่งานเลี้ยงไฮโซและคฤหาสน์ใหญ่โตกลับกลายเป็นแหล่งซ่องสุมสินค้าผิดกฎหมาย... หรือกระทั่งแบบความนัยทางอ้อม เช่น เมื่อหนังเอ่ยอ้างถึงรัฐบาลของนายก ทักษิณ ชินวัตร (ผู้ว่าจ้างไอออนพุสซีด้วยงบเสื้อผ้าไม่จำกัด บัตรทองสุขภาพ และการโอนเงินเข้าบัญชีในวันหวยออก) ผ่านทีมนักแสดงหน้าเหมือน ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เมื่อปมสำคัญของหนังเกี่ยวพันถึงขบวนการผลิตยาเสพติด4

จริงอยู่ว่าพล็อตของ หัวใจทรนง ค่อนข้างยอกย้อนและอบอวลด้วยอารมณ์สไตล์โศกนาฏกรรมกรีก (คู่รักถูกเปิดเผยว่าเป็นพี่น้องฝาแฝด ซึ่งพรากจากกันแต่วัยเยาว์เพราะแม่เชื่อคำทำนายของหมอดูยิปซีว่าโตขึ้นพวกเขาจะเข่นฆ่ากันเอง) แต่ดูเหมือนสาร หรือคติสอนใจที่หนังต้องการสื่อกลับเรียบง่าย และบางทีอาจสามารถสรุปได้ด้วยประโยคเด็ดของหนัง ซึ่งคนดูคงจดจำได้ไม่ลืม และปัจจุบันน่าจะกลายเป็นประโยคคลาสสิกประจำวงการภาพยนตร์ไทยไปแล้ว นั่นคือ “อย่าตัดสินลำดวนด้วยหน้าตาที่สวยงามเพียงอย่างเดียวสิคะ”

หมายเหตุ

1. ไมเคิล เชาวนาศัย เคยให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่เลือกให้ไอรอนพุสซีออกมาปกป้องเหล่าอะโกโก้บอยว่า “ก็เพราะน้องๆ เหล่านั้นไม่มีใครเป็นปากเป็นเสียงให้เขา ก็ทำงานไปสิ ก็โดนเหยียบย่ำอยู่นั่นแหละ ทำไมคนที่ทำงานอย่างนั้น ซึ่งมันก็ถือว่าเป็นงานสุจริต ไม่ได้ไปลักขโมยใครกิน มีคนปกป้องไม่ได้หรือ” (นิตยสาร Starpics ปักษ์แรก สิงหาคม 2547 หน้า 93)

2. หนึ่งในตระกูลย่อยของหนังสยองขวัญที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงช่วงยุค 1970-1980 คือ Rape/Revenge Films มักเล่าเรื่องเกี่ยวกับชาวเมืองเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนในชนบท แล้วถูกชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง (แน่นอนว่าโดนวาดภาพให้ดูป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม) รุมโทรม ก่อนเธอจะลุกขึ้นแก้แค้นด้วยการไล่ฆ่าพวกมันทีละคน โดยผลงานที่เรียกได้ว่าเป็น “ตัวแม่” ของตระกูลย่อยนี้ ได้แก่ I Spit on Your Grave (เวอร์ชั่นรีเมคกำลังจะเข้าฉาย) Rape/Revenge Film มักสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างสังคมเมืองกับชนบท ผ่านนัยยะว่าสังคมเมืองข่มขืนชนบทในแง่เศรษฐกิจก่อน (กอบโกยทรัพยากร ทำลายล้างทัศนียภาพ) เหล่าคนชนบทจึงต้องแก้แค้นด้วยการข่มขืนคนเมืองในแง่กายภาพ

3. การณ์ปรากฏว่าตัวร้ายสำคัญกลับกลายเป็นคนไทย ส่วนไอออนพุสซีก็แปลงร่างเป็นหญิงสาวสมบูรณ์แบบในบ้านของมาดามปอมปาดอย ราวกับเธอหลุดเข้าไปอยู่อีกมิติหนึ่ง ซึ่งเพศสภาพปรับเปลี่ยนได้ตามใจปรารถนา โดยเฉพาะเมื่อหนังเฉลยปมว่าไอออนพุสซีเป็น “ลูกสาว” ของมาดามปอมปาดอย

4. เป็นที่ทราบกันดีว่านโยบายหนึ่งที่โด่งดังและเรียกคะแนนนิยมได้อย่างท่วมท้นของรัฐบาลทักษิณ ได้แก่ สงครามยาเสพติด จนก่อให้เกิดมายาคติว่ายาเสพติดหมดไปจากประเทศไทยแล้ว แต่อย่างที่ทราบกันดีอีกเช่นกัน เบื้องหลังแรงโหมประชาสัมพันธ์ของฝ่ายรัฐถึงความสำเร็จอันน่ายินดี กลับเต็มไปด้วยคราบเลือด หยาดน้ำตา และการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงผ่านปรากฏการณ์ฆ่าตัดตอนและวิสามัญฆาตกรรมกันอย่างเอิกเกริก (เชื่อว่าจำนวนผู้ตายมีมากถึง 2400 รายในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน) ในหนังผิวได้กล่าวกับไอออนพุสซีว่า หากเธอไม่ยื่นมือมาช่วยเหลือเขาในวันที่เขาเมายาบ้า แล้วจับหญิงคนหนึ่งเป็นตัวประกัน เขาก็อาจตกเป็นเหยื่อการฆ่าตัดตอนไปแล้ว

วันพุธ, มิถุนายน 02, 2553

Precious: Based on the novel Push by Sapphire: เธอผู้ไม่แพ้


ตลอดช่วงเทศกาลออสการ์ หนังเรื่อง Precious: Based on the Novel Push by Sapphire มักถูกหยิบยกไปเปรียบเทียบในแง่ความคล้ายคลึงทางพล็อต (หรืออาจรวมเลยถึงทัศนคติต่อคนผิวดำ) กับ The Blind Side เพราะทั้งสองล้วนโฟกัสไปยังชีวิตของเด็กวัยรุ่นผิวดำที่ไม่ค่อยรู้หนังสือ น้ำหนักเกิน ถูกกระทำทารุณ และเกลือกกลั้วอยู่กับความยากจนข้นแค้นมาตลอดชีวิต แต่สุดท้ายกลับค่อยๆ กระเสือกระสนขึ้นจากหุบเหวแห่งความเลวร้ายด้วยความช่วยเหลือของคนแปลกหน้าผู้เปี่ยมเมตตา

นอกจากนี้ข้อสรุปของหนังยังคล้ายคลึงกันด้วย นั่นคือ โยงใยก้นบึ้งแห่งปัญหาไปยังสถาบันครอบครัว (โดยเฉพาะคนเป็นแม่) พร้อมทั้งเสนอทางออกอันเรียบง่ายผ่านการค้นหาครอบครัวใหม่ที่ดีกว่า หรือพูดให้ชัดๆ คือ แม่คนใหม่ที่มอบความรัก ความอบอุ่น และแรงผลักดันเพื่อพัฒนาศักยภาพได้มากกว่า โดยในกรณีของ The Blind Side ได้แก่ ลี แอนน์ ทูอี้ ส่วนในกรณีของ Precious ได้แก่ มิสเรน (พอลา แพตตัน)

แต่น่าแปลกที่ Precious กลับทำให้ผมนึกถึงหนังเข้าชิงออสการ์อีกเรื่องอย่าง A Serious Man (บางทีอาจเป็นเพราะผมมีโอกาสได้ชมผลงานล่าสุดของ โจเอล และ อีธาน โคน ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน) ทั้งที่พล็อตก็ไม่ได้ใกล้เคียงกัน นอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าตัวละครเอกทั้งสองบังเอิญเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ในโลกอันคุ้นเคยและปิดแคบ แล้วตลอดทั้งเรื่องต้องประสบวิบากกรรมหนักหนาสาหัสระลอกแล้วระลอกเล่าจนเข้าขั้นโอชินเรียกพี่ (พึงสังเกตว่าเนื่องจากตัวละครมีสถานะทางสังคมที่แตกต่าง ปัญหาของ แลร์รี่ ก็อบนิค ใน A Serious Man จึงส่งกลิ่นอายชนชั้นกลาง เช่น ชีวิตคู่ ความก้าวหน้าทางอาชีพการงาน ฯลฯ ส่วนปัญหาของพรีเชียส ใน Precious จะโอนเอียงไปทาง “ปากกัดตีนถีบ” เสียมากกว่า เช่น อาหาร การศึกษาขั้นพื้นฐาน และกระทั่งที่ซุกหัวนอน)

Precious ถ่ายทอดเรื่องราวด้วยท่วงทีขึงขัง จริงจัง แต่ก็แฝงอารมณ์ขันเอาไว้พอตัว เช่น ฉาก พรีเชียส (แกบาเร ซิเดเบ) จินตนาการตัวเองกับแม่ (โมนีก) เป็นตัวละครเอกใน Two Women (ซึ่งยั่วล้อหนังอยู่กลายๆ เนื่องจากผลงานคลาสสิกในสไตล์นีโอเรียลริสต์ของ วิททอริโอ เดอ ซิก้า เล่าถึงคราวเคราะห์ของคุณแม่แสนดีที่พยายามจะปกป้องลูกสาววัยรุ่นจากความสยองแห่งสงคราม) ขณะที่ A Serious Man ถ่ายทอดเรื่องราวด้วยท่าทีค่อนข้างเบาสบายกึ่งเยาะหยัน แต่ลึกๆ กลับแฝงอารมณ์ขึงขัง หนักแน่น จนอาจถึงขั้นสยองขวัญ!

ถ้า โซเฟีย ลอเรน ใน Two Women เปรียบได้กับแม่พระ โมนีก ใน Precious ก็คงไม่ต่างจากนางมาร ดังจะเห็นได้จากสารพันความเลวร้ายของเจ้าหล่อน ไม่ว่าจะเป็นการดุด่า ตบตีลูกสาวเป็นกิจวัตร เรียกใช้งานดุจทาสในเรือนเบี้ย หรือปล่อยให้ลูกสาวถูกสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “พ่อ” ข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่คิดห้ามปรามจนเธอตั้งท้องถึงสองครั้ง แถมยังมีหน้ามาริษยา กล่าวหาว่าพรีเชียสแย่งสามีตัวเองไปอีก (คิดได้เนาะ!) ซ้ำร้ายวันดีคืนดีหล่อนก็จะเรียกลูกสาวมาช่วยบำบัดความใคร่ให้ซะงั้น (หนังสือบรรยายฉากพรีเชียสถูกแม่บังคับให้ “ใช้ปาก” เอาไว้อย่างชัดเจน แต่เวอร์ชั่นหนังเลือกจะนำเสนอเป็นนัยเท่านั้น) อย่างไรก็ตาม สุดยอดความแรงชนิดช็อกคนดูคงหนีไม่พ้นฉากแมรีเกิดอาการสติแตกถึงขั้นทุ่มทีวีลงมาจากชั้นบนใส่หัวลูกสาว เรียกว่ากะเอาให้ตายกันไปข้างเลยทีเดียว

เทียบกับพรีเชียสแล้ว วิกฤติของแลร์รี่ใน A Serious Man แทบจะกลายเป็นเรื่องจิ๊บๆ แต่น่าสนใจว่า ขณะที่หนังของสองพี่น้องโคนเฝ้าวนเวียนอยู่กับการตั้งคำถามต่อพระเจ้าถึงความทุกข์ยากนานา ซึ่งบางครั้งก็ดูเหมือนจะปราศจากเหตุผลและระบบระเบียบ (ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่หนังวางตัวละครเอกให้มีอาชีพเป็นครูสอนวิชาฟิสิกส์) หนังของ ลี เดเนียลส์ กลับแทบไม่เอ่ยนามพระเจ้าเลยสักครั้ง ส่วนตัวละครเอกก็แทบไม่เคยตัดพ้อ หรือขวนขวายหาคำตอบจากเบื้องบนต่อวิบากกรรมอันแสนสาหัส โดยครั้งเดียวที่พรีเชียสแสดงข้อกังขาต่อชะตากรรม (เมื่อเธอเขียนว่า “ทำไมต้องเป็นฉัน” ลงในสมุดโน้ตหลังทราบผลการตรวจเลือด) กลับไม่ได้มุ่งเน้นไปยังพระเจ้าโดยตรง และนาทีแห่งอารมณ์น้อยเนื้อต่ำใจก็ผ่านเลยไปอย่างรวดเร็ว ไม่ถูกตอกย้ำมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับฉากเปิดใจตรงสระว่ายน้ำร้างระหว่างแลร์รี่กับพี่ชายใน A Serious Man ซึ่งถ่ายเป็นช็อตมุมสูง ราวกับจะแทนสายตาของพระเจ้าที่เรียกขอการยอมรับแบบปราศจากข้อแม้

ถ้าหนังของสองพี่น้องโคนต้องการพูดว่า มนุษย์ควรทำใจยอมรับทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอย่างดุษณี อย่าดิ้นรนหาคำตอบให้กับทุกคำถาม ทุกความลึกลับ ดำมืด หรือตรวจสอบตรรกะเชื่อมโยงใดๆ ด้วยความเชื่อว่าพระเจ้าพยายามจะสื่อสารอะไรบางอย่างถึงมนุษย์ เพราะสุดท้ายแล้วการค้นหานั้นรังแต่จะนำไปสู่ทางตัน ทำให้เราเสียเวลา เสียพลังงาน และบางทีอาจถึงขั้นประสาทแดกโดยเปล่าประโยชน์ดุจเรื่องเล่าของแรบไบคนที่สองเกี่ยวกับทันตแพทย์ที่ค้นพบข้อความบนฟันของคนไข้แล้วละก็ พรีเชียสคงเป็นตัวละครที่เข้าใจสารดังกล่าวอย่างถ่องแท้ เพราะเธอกัดฟัน ก้มหน้ารับความซวยที่ประดังเข้ามาโดยไม่ปริปาก ขณะเดียวกันเธอก็ตระหนักถึงความอยุติธรรมทางสังคมระหว่างคนผิวดำกับคนผิวขาว (นั่นคือสาเหตุว่าทำไมเธอถึงชอบฝันเห็นตัวเองเป็นหญิงสาวผิวสีอ่อนเวลาส่องกระจก) รวมเลยไปถึงโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนผอมกับคนอ้วน คนรวยกับคนจน และคนที่มีการศึกษากับคนที่อ่านหนังสือไม่ออก แต่เธอไม่เคยต่อว่าต่อขานพระเจ้าที่ “เมตตา” เธอน้อยกว่าคนอื่นเหมือนพี่ชายแลร์รี่ใน A Serious Man เช่นเดียวกับที่เธอไม่เคยพยายามขวนขวายหาคำตอบว่าพระเจ้าต้องการบอกอะไร (แบบเดียวกับแลร์รี่) ถึงได้ประทานความเลวร้ายมาอย่างไม่หยุดหย่อน สิ่งเดียวที่เธอทำก็แค่ยอมรับชะตากรรมที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง แก้ไข แล้วเดินหน้าต่อไป

ด้วยเหตุนี้อาจกล่าวได้ว่า A Serious Man เป็นดังบทเกริ่นว่าด้วยความล้มเหลวของมนุษย์ในอันที่จะต่อกรหรือแสวงหาเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์กับชะตากรรม หรือวิถีแห่งพระเจ้า ส่วน Precious ก็เปรียบเสมือนคำตอบต่อคำถามที่ว่า ในเมื่อมนุษย์ไม่อาจงัดข้อกับประสงค์ของพระเจ้าได้แล้ว เขาควรจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร

หนึ่งในความแตกต่างที่เด่นชัดระหว่างพรีเชียสกับแมรีอยู่ตรงที่ คนแรกเพียงแค่ยอมรับในชะตากรรม แต่ไม่เคยยอมจำนนต่อชะตากรรมเหมือนคนหลัง เธอไม่เคยหยุดคาดหวังถึงชีวิตที่ดีกว่า ทรงคุณค่า และเปี่ยมสุข แม้จะโดนคุณแม่จอมมารตอกย้ำใส่สมองทุกวันว่า ผู้หญิงอ้วนดำสมองทึบอย่างพรีเชียสนั้นอย่าได้วาดฝันว่าจะไปไกลกว่าวิถีชีวิตของการใช้เบี้ยเลี้ยงคนตกงานไปวันๆ (เหมือนเธอ) อย่างเด็ดขาด

แมรีเป็นมนุษย์ประเภทที่ชอบก่นด่าระบบสองมาตรฐาน ความอยุติธรรมต่างๆ นานา ซึ่งแน่นอนว่ามีอยู่จริง ไม่อาจปฏิเสธ และคงไม่อาจหลีกเลี่ยงตราบใดที่โลกยังมีมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่เคยคิดจะลุกขึ้นมาทำอะไรให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้นนอกจากนอนรอเงินสวัสดิการรัฐทุกเดือนๆ เมื่อเจ้าหน้าที่แวะมาเยี่ยม แล้วสอบถามว่าเธอได้ออกไปหางานทำบ้างหรือไม่ แมรีกลับโกหกหน้าตายเพื่อรักษาท่อน้ำเลี้ยงเอาไว้ เธอโวยวายใหญ่โตเมื่อทราบว่าพรีเชียสถูกไล่ออกจากโรงเรียน ไม่ใช่เพราะห่วงการศึกษาของลูกสาว แต่เพราะหวาดกลัวว่าตัวเองจะถูกรัฐตัดเงินช่วยเหลือ เวลาส่วนใหญ่ของเธอหมดไปกับการนั่งแหมะอยู่หน้าจอทีวี แล้วชี้นิ้วสั่งลูกสาวให้ทำโน่นทำนี่ ตลอดเวลาสองชั่วโมงของหนัง แมรีได้แต่เรียกร้อง โดยไม่เคยคิดจะมอบอะไรให้ใครตอบแทน เธอต้องการเงิน แต่ไม่อยากทำงาน เธอต้องการความรักจากสามี แต่กลับไม่เหลือกระทั่งเมตตาธรรมเบื้องต้นให้แก่เลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเอง... เห็นได้ชัดว่าสภาพอันน่าสังเวชของเธอหาได้เกิดจากน้ำมือของพระเจ้าเพียงฝ่ายเดียว

ในทางตรงกันข้าม ทันทีที่มีโอกาสแก้ตัวในโรงเรียนทางเลือก พรีเชียสก็ตัดสินใจคว้ามันไว้ ด้วยความหวังว่าจะพัฒนาทักษะอ่านเขียนจนสอบผ่านชั้นมัธยมปลาย และกระทั่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สำเร็จ สำนึกใฝ่ดีส่งผลให้เธอได้รับสิ่งตอบแทนจากที่นั่นมากมายกว่าแค่การศึกษา โดยหากบ้านสอนพรีเชียสให้รู้จักความเกลียดชัง โรงเรียนทางเลือกก็สอนให้เธอรู้จักความรัก ทั้งจากมิตรภาพของเหล่าเพื่อนฝูง ซึ่งล้วนประสบปัญหา “วงเวียนชีวิต” มากน้อยต่างกันไป และความช่วยเหลือของมิสเรน ครูผิวสีที่พูดจาและใช้ชีวิตเหมือนชนชั้นกลางผิวขาว

ถึงตรงนี้คงไม่ผิดนักหากจะพูดว่า Precious เป็นภาพยนตร์ที่เชิดชูแนวคิดมนุษยนิยม ด้วยมันยืนกรานถึงความสง่างามและคุณค่าแห่งมนุษย์ ซึ่งสามารถขีดเส้นกำหนดชีวิตตัวเองตามศักยภาพโดยไม่ปล่อยให้ชะตากรรม หรือสิ่งเหนือธรรมชาติใดๆ มีอิทธิพลสูงสุด เส้นทางชีวิตอันแตกต่างของแมรีกับพรีเชียส คือ บทพิสูจน์ให้เห็นว่าที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน ล้วนเนื่องมาจากเรา “เลือก” เช่นนั้น ชะตากรรมอาจมีส่วนกำหนดจุดหมายอยู่บ้าง แต่อิสรภาพและชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพรีเชียสสะท้อนให้เห็นว่ามันหาได้ทรงอิทธิพลเหนือความมุ่งมั่นของมนุษย์แต่อย่างใด

ในช่วงท้ายของ A Serious Man เมื่อชีวิตที่เริ่มคลี่คลายของ แลร์รี่ ก็อบนิค กลับทำท่าพลิกตาลปัตรสู่หายนะอีกครั้งพร้อมการมาถึงของเสียงโทรศัพท์จากคลินิกและพายุทอร์นาโด หนังเหมือนจะเสนอทางออกอันเรียบง่ายอย่างเหลือเชื่อเอาไว้เช่นกัน (หรืออันที่จริงอาจเป็นเพียงมุกตลกร้ายๆ ของสองพี่น้องโคน) สำหรับความหงุดหงิดคับข้องใจ ผ่านคำสอนของแรบไบคนที่สาม ซึ่งใครๆ ต่างก็นับถือยกย่อง (และแลร์รี่พยายามขอพบ แต่ไม่สำเร็จ) โดยคำพูดของเขาสอดคล้องกับเนื้อร้องเพลงร็อกสุดฮิต Somebody to Love ของวง Jefferson Airplane ชนิดคำต่อคำ

คงเป็นเรื่องง่าย และอาจถึงขั้นหลงทางอยู่สักหน่อย หากจะพูดว่า “ความรักคือคำตอบ” เปรียบดังบทสรุปตบท้ายของ A Serious Man เมื่อพิจารณาจากโทนอารมณ์โดยรวมของหนัง รวมถึงทัศนคติต่อชีวิตในผลงานชิ้นก่อนๆ ของสองพี่น้องโคน แต่น่าแปลกตรงที่วลีดังกล่าวเหมาะเจาะกับ Precious อย่างสมบูรณ์แบบ ความรักช่วยมอบพลังให้พรีเชียสกล้าลุกขึ้นยืนหยัดเพื่อตัวเองและลูกๆ แล้วสลัดหลุดจากวงจรอุบาทว์ที่แมรีพยายามยัดเยียดให้ แต่มันหาใช่ความรักที่มองเห็นอย่างชัดเจนเท่านั้น เช่น ความรักที่มิสเรนมอบให้นักเรียนของเธอ ความรักที่เพื่อนๆ มอบให้พรีเชียส หรือกระทั่งความรักความห่วงใยที่บุรุษพยาบาลรูปหล่อมอบให้คนไข้สาวร่างใหญ่ หากแต่ยังรวมไปถึงความรักและเคารพในตัวเองอีกด้วย

ถ้าบทเรียนที่เลวร้ายที่สุดจากแมรี คือ การสั่งสอนให้ลูกสาวมองตัวเองว่าไร้ค่า โง่เง่าไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉานแล้วละก็ บทเรียนที่ล้ำค่าที่สุดจากมิสเรนคงหนีไม่พ้นการสั่งสอนให้พรีเชียสตระหนักว่าเธอเปี่ยมศักยภาพไม่แพ้ใครอื่น สามารถทำอะไรก็ได้ หรือเป็นอะไรก็ได้ที่เธอต้องการหากมุ่งมั่น พากเพียรมากพอ และที่สำคัญ มิสเรนยังสอนให้พรีเชียสมองเห็นความงามแห่งปัจเจก เพื่อที่วันหนึ่งเด็กสาวจะได้เลิกฝันเห็นตัวเองเป็นหญิงผิวขาว รูปร่างระหง หรือมีเส้นผมยาวสลวย แล้วยอมรับตัวตนของเธออย่างเปี่ยมสุข... วันนั้นเองจะเป็นวันที่พรีเชียสประสบชัยชนะอย่างแท้จริง

วันพุธ, มีนาคม 17, 2553

Oscar 2010: Money Can't Buy Me Love


ไม่รู้ว่าเป็นตลกร้ายของชะตากรรมหรือไร เพราะท่ามกลางความพยายามสุดแรงเกิดที่จะเพิ่มเรตติ้งให้รายการของทีมผู้จัดงานประกาศผลรางวัลออสการ์โดยมุ่งเน้นเข้าหามวลชนกระแสหลัก (เพิ่มหนังเยี่ยมเป็น 10 เรื่อง, เชิญนักแสดงวัยรุ่นมาร่วมงาน, สดุดีหนังสยองขวัญ, ตัดส่วนของการแจกรางวัลออสการ์เกียรติยศออก ฯลฯ) สุดท้ายแล้ว หนังที่กวาดรางวัลออสการ์ไปครองมากสุดในปีนี้กลับกลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินน้อยที่สุดอย่าง The Hurt Locker

ก่อนประกาศผล หลายคนเชื่อว่า Avatar จะคว้าชัยในสาขาใหญ่สุดมาครองเนื่องจากจำนวนเงินมหาศาลที่มันกอบโกยมาจากกระเป๋าคนดูทั่วโลก รวมไปถึงกระแส “สาดโคลน” จำนวนมากที่ The Hurt Locker ต้องทนรับตลอดหนึ่งสัปดาห์สุดท้ายก่อนกำหนดส่งใบลงคะแนน ไม่ว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์นายทหารในกองทัพที่คัดค้านหนัง ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง ลอสแองเจลิส ไทม์ หรือเรื่องที่ผู้อำนวยการสร้าง นิโคลัส ชาร์เทียร์ อีเมลหาคณะกรรมการหลายคน เรียกร้องให้โหวตเลือกหนังทุนต่ำเกี่ยวกับกลุ่มนายทหารปลดระเบิดในสงครามอิรักของตนแทนที่จะเลือกหนังมหากาพย์ทุนสูงบางเรื่อง (เขาไม่ได้ระบุชื่อ แต่ส่วนใหญ่คงเดาได้ไม่ยากว่าชาร์เทียร์หมายถึงเรื่องใด) จนส่งผลให้เขาถูกแบนไม่ได้มาร่วมงานออสการ์ (เป็นเหตุบังเอิญไหมที่ประธานสถาบันออสการ์ ทอม ชาเรค รวมถึงสมาชิกระดับบริหารของสถาบันอย่าง อดัม แชงค์แมน และ บิล เมคานิค ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องลึกซึ้งกับ ฟ็อกซ์ สตูดิโอ เจ้าของหนังเรื่อง Avatar ทั้งสิ้น บ้างในฐานะอดีตผู้บริหาร บ้างก็ดำรงตำแหน่งกรรมการระดับสูงอยู่)

ต่อมานายทหารคนหนึ่งก็เลือกจังหวะเหมาะที่จะประกาศฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากทีมงาน The Hurt Locker โดยอ้างว่าตัวละครเอกในเรื่อง ซึ่งรับบทโดย เจเรมี เรนเนอร์ นั้นเห็นได้ชัดเจนว่าดัดแปลงมาจากเรื่องราวชีวิตของเขา และเขาก็ไม่ค่อยปลื้มนักกับการที่หนังวาดภาพให้ตัวละครดังกล่าวดู “จิตป่วย” (คำแก้ต่างของ มาร์ค โบว คนเขียนบท คือ เขารวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์นายทหารนับร้อยคน ไม่ใช่จากคนๆ เดียว)

การถูกโจมตีจากรอบด้านจนเกิดอาการเมาหมัดของ The Hurt Locker ทำให้เซียนออสการ์หลายคนเริ่มไม่แน่ใจว่าหนังเล็กๆ เรื่องนี้จะสามารถยืนหยัดบนตำแหน่งผู้นำไปจนถึงวันประกาศผลได้ แม้ว่าทุกลางบอกเหตุทั้งหมดก่อนหน้าล้วนบ่งชี้มายังจุดหมายเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น BAFTA, WGA, PGA, DGA และสมาคมนักวิจารณ์ทั้งหลาย (การมอบรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมให้ Avatar จะทำให้ออสการ์มีรสนิยมสอดคล้องกับลูกโลกทองคำเท่านั้น!) แต่ก็เช่นเดียวกับ A Beautiful Mind และ Slumdog Millionaire สุดท้ายแล้วหนังแอ็กชั่น-ดรามาของผู้กำกับหญิง แคธรีน บิเกโลว์ ก็สามารถฝ่าด่านเทศกาลสาดโคลน ซึ่งบรรดา “ตัวเก็ง” ทั้งหลายต้องเผชิญ ไปได้อย่างปลอดภัย... และอาจถึงขั้นแข็งแกร่งเหนือความคาดหมายด้วยซ้ำ เมื่อปรากฏว่ามันคว้ารางวัลมาครองมากถึง 6 สาขา ทั้งแบบ “นอนมา” อย่างสาขาผู้กำกับ และแบบขับเคี่ยวกันมันหยดอย่างสาขาตัดต่อ, บันทึกเสียง, ตัดต่อเสียง, บทดั้งเดิม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

สาเหตุหลักแห่งความพ่ายแพ้ของ Avatar น่าจะมาจากการขาดเสียงสนับสนุนของกลุ่มนักแสดง ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มใหญ่สุดของออสการ์ และตัวแปรสำคัญที่เคยผลักดันให้ Crash พลิกฟ้าพลิกแผ่นดินบนเวทีออสการ์มาแล้ว ขณะเดียวกัน จะเห็นได้ว่าสมาชิกกลุ่มเทคนิคก็ไม่ได้เทคะแนนให้ Avatar อย่างหมดใจเสียทีเดียว เพราะหลายสาขาที่หนังสองเรื่องนี้ขับเคี่ยวกันมาล้วนลงเอยด้วยชัยชนะของ The Hurt Locker คงเหลือเพียงสาขากำกับภาพเท่านั้นที่หนังของ เจมส์ คาเมรอน เฉือนชนะไปได้อย่างหวุดหวิด

โดยรวมแล้วผลรางวัลส่วนใหญ่ล้วนปราศจากเซอร์ไพรซ์ สาขาเดียวที่ถือว่า “พลิกล็อก” คือ บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม ซึ่งตกเป็นของ เจฟฟรีย์ เฟลทเชอร์ (Precious) ชนิดหักปากกาเซียน ผลดังกล่าวทำให้ Up in the Air กินแห้วไปแบบเต็มปากจากการเข้าชิงทั้งหมด 6 รางวัล ส่วนอาการ “วืด” ของ The White Ribbon และ A Prophet ก็ถือว่าเป็นไปตามคาด เพราะ The Secret in Their Eyes เป็นหนังที่ได้ “ใจ” คณะกรรมการแบบเดียวกับ Depatures เมื่อปีก่อน

Oscar’s Best Moments


* หลายคนอาจกังขาต่อคุณภาพงานแสดงใน The Blind Side ว่ายอดเยี่ยมที่สุดแห่งปีจริงหรือ แต่ดูเหมือนทุกคนจะเห็นตรงกันว่าสุนทรพจน์ของ แซนดร้า บูลล็อค บนเวทีออสการ์ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งปี... หรืออาจจะในรอบหลายปีเลยด้วยซ้ำ เธอไม่ได้ออกอาการสติแตกแบบ ฮัลลี เบอร์รี (Monster’s Ball) หรือร้องไห้สะอึกสะอื้นราวญาติเสียแบบ กวิเน็ธ พัลโทรว (Shakespeare in Love) หรือพูดอะไรแปลกๆ แบบ แซลลี่ “คุณชอบฉัน” ฟิลด์ (Places in the Heart) แต่กลับผสมผสานความจริงใจและอารมณ์ขันได้อย่างกลมกลืน ซึ่งเป็นคุณสมบัติหลักที่ทำให้เธอกลายเป็นขวัญใจแฟนหนังและเหล่าเพื่อนร่วมงาน ดังคำแซวของ สตีฟ มาร์ติน ที่ว่า “มีใครบ้างที่ไม่รัก แซนดร้า บูลล็อค” นอกจากนี้ ชุดสุดหรูแสนคลาสสิกของเธอยังได้รับเสียงชื่นชมจากเหล่าแฟชั่นกูรูทั่วสารทิศว่ายอดเยี่ยมที่สุดชุดหนึ่งอีกด้วย ต้องเรียกว่าค่ำคืนนี้เป็นค่ำคืนของเธออย่างแท้จริง

* เบน สติลเลอร์ มักจะโผล่มาขโมยซีนในงานออสการ์หลายครั้งหลายครา ปีนี้ก็เช่นกัน เมื่อเขาเดินมาประกาศรางวัลแต่งหน้ายอดเยี่ยมในมาดของมนุษย์ตัวฟ้า (แรกเริ่มเดิมทีเขาวางแผนมาประกาศรางวัลร่วมกับ ซาชา บารอน โคเอน ซึ่งจะแต่งเป็นชาวนาวีเพศเมีย ขณะที่สติลเลอร์จะรับทำหน้าที่เป็นล่ามสุดป่วย ซึ่งแปลภาษาได้ห่วยแตกจนโคเอนเริ่มมีน้ำโห แล้วเปิดเผยกลางเวทีว่าลูกในท้องเธอเป็นลูกของ เจมส์ คาเมรอน และต้องการเผชิญหน้าเขาในลักษณะแฉแหลกแบบแขกรับเชิญในรายการ เจอร์รี่ สปริงเกอร์ แต่หนึ่งในโปรดิวเซอร์งานออสการ์เกรงว่าแก๊กตลกดังกล่าวอาจคุกคามความรู้สึกของ เจมส์ คาเมรอน มากไป เลยตัดสินใจตัดออกในนาทีสุดท้าย... นี่คงเป็นอภิสิทธิ์ที่คุณได้รับไม่ว่าจะโดยต้องการหรือไม่ก็ตาม หากหนังของคุณทำเงินเกินสองพันล้านเหรียญทั่วโลก) พร้อมกับปล่อยมุกว่า เขาจะยืนห่างๆ จากผู้ชนะ เพราะไม่อยากให้คนได้รางวัลเสียความมั่นใจจากเมกอัพระดับสุดยอดของตน โดยในคืนก่อนหน้าสติลเลอร์ก็เพิ่งเรียกเสียงฮาได้มากสุดจากงาน Independent Spirit Award... บางทีออสการ์น่าจะติดต่อให้เขามาเป็นพิธีกรซะเลย

* รูปแบบนักแสดงห้าคนออกมาแนะนำนักแสดงที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ถูกหยิบยืมมาจากปีก่อน แต่คราวนี้แทนที่จะใช้บริการของ “อดีตเจ้าของรางวัลออสการ์” พวกเขากลับเลือก “อดีตเพื่อนร่วมงาน” มากล่าวเปิดตัว ส่งผลให้หลายครั้งมันดูน่าอึดอัด ขัดเขิน หรือบางทีก็ถึงขั้นไร้สาระ (แม้เราจะได้ทราบเกร็ดสนุกๆ บางอย่างซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับทักษะการแสดงแต่อย่างใด เช่น รอยสักบนมือของ เฮเลน เมียร์เรน หรือ เหตุการณ์ร่วมเรียงเคียงหมอนของ โคลิน ฟาร์เรล กับ เจเรมี เรนเนอร์) คนเดียวที่ดูเหมือนจะ “รู้งาน” และกล่าวแนะนำผู้เข้าชิงได้อย่างสมศักดิ์ศรี คือ โอปรา วินฟรีย์ ซึ่งก็ไม่ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดเมื่อพิจารณาจากงานหลักของเธอ “เธอเป็นนักเรียนที่ต้องการจะหารายได้พิเศษมาจ่ายค่าเทอม วันจันทร์เธอตัดสินใจโดดเรียนเพื่อมาทดสอบหน้ากล้องหนังเรื่อง Precious วันอังคารเธอถูกเรียกให้มาพูดคุยกับผู้กำกับ ลี เดเนียลส์ วันพุธเธอคว้าบทนี้ไปครอง” วินฟรีย์กล่าวแนะนำนักแสดงนำหญิง แกบาเร ซิเดเบ “และคืนนี้เธอได้มานั่งอยู่ในงานแจกรางวัลออสการ์เพราะถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาเดียวกับ เมอรีล สตรีพ... เวลาเรามองดูเธอ เราจะเห็นภาพของซินเดอเรลลาแห่งฮอลลีวู้ด ยืนอย่างสง่างามอยู่ตรงจุดเริ่มต้นของอนาคตอันรุ่งโรจน์ และคำว่า ‘ล้ำค่า’ ก็เป็นแค่หนึ่งในคำคุณศัพท์แรกที่เธอได้รับ... ส่วนคำอื่นๆ ที่เหลือก็ล้วนแล้วแต่ยอดเยี่ยมทั้งนั้น” ไม่น่าแปลกใจเลยที่ซิเดเบจะนั่งปาดน้ำตาระหว่างรับฟังคำชมจากปากจากของราชินีทอล์คโชว์ เพราะขนาดพวกเราคนดูเองก็ยังแทบจะกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่

* เมื่อปีก่อนเธอจับคู่กับ สตีฟ มาร์ติน มาเรียกเสียงฮาได้อย่างเหมาะเจาะ พอมาปีนี้มือเขียนบทและนักแสดงหญิงเจ้าของรางวัลเอ็มมี่ ทีน่า เฟย์ (30 Rock) ก็ได้คู่หูที่สมน้ำสมเนื้ออีกเช่นเคย นั่นคือ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ และการปะทะคารมกันระหว่างคนทั้งสองก่อนประกาศรางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมก็ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์อันน่าชื่นใจของงานออสการ์ --- เฟย์: “หนังชั้นยอดเริ่มต้นด้วยบทชั้นเยี่ยม” ดาวนีย์: “สิ่งที่นักแสดงมองหาในบทหนัง คือ ความซื่อตรงและฉากระเบิดอารมณ์” เฟย์: “สิ่งที่นักเขียนต้องการจากนักแสดง คือ การท่องจำแบบคำต่อคำและความหวาดกลัวที่จะด้นสด” ดาวนีย์: “นักแสดงต้องการบทที่สะท้อนปัญหาสังคม ฉากหลังอากาศอบอุ่น ฉากโทรศัพท์ซึ่งสามารถแยกถ่ายเจาะ เพื่อเขาจะได้ไม่ต้องเจอยายนักแสดงสติแตกที่เขาเกลียดขี้หน้า และบทพูดยาวๆ โดยไม่ถูกขัดจังหวะ ก่อนจะเปิดบทหน้าถัดไปแล้วพบวลีว่า ‘โทนี่ สตาร์ค พูดต่อ’ ” เฟย์: “นักเขียนใฝ่ฝันให้นักแสดงถูกแทนที่โดย คอมพิวเตอร์ กราฟฟิก เพื่อพวกเขาจะได้สร้างสรรค์การแสดงชั้นยอดได้จากคอมพิวเตอร์แลปทอปโดยลำพัง” ดาวนีย์: “มันเป็นการร่วมงานกันระหว่างคนหน้าตาดีที่เปี่ยมด้วยพรสวรรค์กับคนโรคจิตที่ชอบใช้ชีวิตอยู่ในรู!”

* แคธรีน บิเกโลว (The Hurt Locker) สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นผู้กำกับหญิงคนแรกที่คว้ารางวัลออสการ์มาครอง หลังจากก่อนหน้านี้มีผู้หญิงเพียง 3 คนเท่านั้นที่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิง นั่นคือ ลีนา เวิร์ทมูลเลอร์ (Seven Beauties) เจน แคมเปี้ยน (The Piano) และ โซเฟีย คอปโปล่า (Lost in Translation)

What the Hell Happened?


* ใครก็ตามที่ได้ชมการถ่ายทอดสดคงพากันสงสัยว่า ขณะผู้กำกับ/อำนวยการสร้าง โรเจอร์ รอส วิลเลียมส์ กำลังกล่าวสุนทรพจน์รับรางวัลภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยม (Music by Prudence) ยายผู้หญิงผมแดงสวมชุดสีส้ม ที่สวมวิญญาณ คานเย่ เวสต์ ด้วยการขึ้นมาแย่งพูดนั้นเป็นใคร จากการสืบหาข้อมูล ผลปรากฏว่าเธอชื่อ อีเลนอร์ เบอร์เก็ตต์ เป็นอดีตผู้อำนวยการสร้างของหนัง ซึ่งถูกถอดชื่อออกจากเครดิตหลังมีปัญหาฟ้องร้องกันเกี่ยวกับทิศทางของสารคดี เธออ้างว่าในงานออสการ์ แม่ของวิลเลียมส์ใช้ไม้เท้ากันเธอไม่ให้เดินไปถึงเวทีอย่างรวดเร็ว ขณะลูกชายรีบวิ่งไปรับรางวัล ส่วนเขาโต้กลับว่า “แม่ผมลุกขึ้นมากอดผม ท่านอายุ 85 ปี และตื่นเต้นมาก”

* ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่ Twilight กับ New Moon ถือเป็นภาพยนตร์ “สยองขวัญ” นอกเสียจากการนั่งฟังบทสนทนาแข็งทื่อ ไร้อารมณ์สามารถทำให้คุณขนหัวลุกได้ ด้วยเหตุนี้เอง การคัดเลือกสองนักแสดงสุดฮ็อตวัยขบเผาะอย่าง คริสเตน สจ๊วต และ เทย์เลอร์ เลาท์เนอร์ มากล่าวเปิดตัวคลิปสดุดีหนังสยองขวัญ จึงถือเป็นเรื่องชวนพิศวงพอๆ กับสาเหตุว่าทำไมจู่ๆ ออสการ์ถึงตัดสินใจมาสดุดีหนังสยองขวัญ (หรือนี่คืออีกหนึ่งความพยายามอันสิ้นหวังของผู้จัดรายการที่จะดึงดูดกลุ่มคนดูวัยรุ่น?) นอกจากนี้ บทกล่าวเปิดตัวยังระบุว่าหนังสยองขวัญไม่ได้รับเกียรติบนเวทีออสการ์นับแต่ The Exorcist คว้าสองรางวัลมาครองเมื่อ 37 ปีก่อน... หา? อืมม บางทีพวกเขาอาจหมายถึงหนังสยองขวัญแบบ “ฮาร์ดคอร์” ก็ได้ แต่พอคลิปเริ่มฉาย มันกลับปรากฏภาพของ The Silence of the Lambs (ได้ออสการ์ห้าสาขาสำคัญมาครองแบบครบถ้วน) และ Misery (ได้ออสการ์สาขานักแสดงนำหญิง) รวมอยู่ด้วย (เช่นเดียวกับ Edward Scissorhands และ Beetlejuice !!!??? บอกมาสิ เป็นเพราะ ทิม เบอร์ตัน กำลังมีหนังเข้าฉายที่ทำเงินขึ้นอันดับหนึ่งอยู่ใช่ไหม) ... ตกลงคนเขียนบทกับคนตัดต่อคลิปได้ทำการบ้านและประสานงานกันบ้างหรือเปล่า

* จอห์น ฮิวจ์ ไม่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สักครั้ง แต่พอเขาเสียชีวิต กลับมีการเพิ่มช่วงเวลาพิเศษอุทิศให้เจ้าของผลงานอย่าง The Breakfast Club และ Sixteen Candles พร้อมทั้งยังเชิญอดีตนักแสดงกลุ่ม “แบรท แพ็ค” อย่าง อัลลี ชีดี้, มอลลี ริงวอลด์ และ จัดด์ เนลสัน มาร่วมกล่าวสดุดีด้วย... อย่าเข้าใจผิด Ferris Bueller’s Day Off เป็นหนังสุดโปรดของผมสมัยเด็กๆ แต่ในปีที่เราสูญเสียนักทำหนังระดับตำนานอย่าง อีริค โรแมร์ (Claire’s Knee, Tales of Four Seasons) ไป มันคู่ควรแล้วหรือที่ออสการ์จะให้สิทธิพิเศษแก่ฮิวจ์เพียงเพราะเขาทำหนังเอาใจตลาดและเคยเป็นขวัญใจวัยรุ่นในช่วงยุค 1980 มันให้ความรู้สึกราวกับทีมผู้จัดงานแจกรางวัลออสการ์อยากตะโกนบอกทุกคนว่า “เราไม่ได้เชิดใส่หนังกระแสหลักหรอกนะ!” ให้ตายสิ กระทั่งตอน โรเบิร์ต อัลท์แมน เสียชีวิต เขาก็แค่ถูกรวมไว้ในคลิป “แด่บุคคลที่จากไป” เท่านั้น การตัดสินใจดังกล่าวดูจะสอดคล้องกันดีกับกลยุทธ์ดึงปลั๊ก “ออสการ์เกียรติยศ” แล้วปิดโอกาสฉายแสงของ ลอเรน เบคอล, โรเจอร์ คอร์แมน และ กอร์ดอน วิลลิส... ช่างหัวพวกคนแก่ปะไร เด็กวัยรุ่นเท่านั้นที่เราอยากให้ความสำคัญ จริงมั้ย

* งานแจกรางวัลออสการ์ปีนี้ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงที่ “น่ากังขา” หนึ่งในนั้น ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจไม่ทันสังเกต คือ การเปลี่ยนวลี And the Oscar goes to… มาเป็น And the winner is… เหตุผลหนึ่งคงเพื่อรักษาธีม “เรโทร” แบบการเสนอชื่อหนัง 10 เรื่องเข้าชิงแทน 5 เรื่อง แต่เห็นได้ชัดว่าการตัดสินใจดังกล่าวใช่จะเป็นที่เห็นชอบของทุกคน โดยหนึ่งในคนที่ไม่ยอมเปลี่ยนสถานะออสการ์มาเป็นการแข่งขัน ซึ่งย่อมต้องมีคน “แพ้” และ “ชนะ” คือ เคท วินสเล็ท ผู้ยืนกรานใช้วลี And the Oscar goes to… ตอนขึ้นมาประกาศรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

* หลังจากหลายคนพากันงุนงงเป็นไก่ตาแตกว่า ฌอน เพนน์ บ่นพึมพำอะไรก่อนประกาศรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (“ผมไม่เคยเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของสถาบันฯ แต่ทั้งสถาบันฯ และผมต่างมีบางอย่างเหมือนกัน นั่นคือ เราลืมที่จะให้เกียรตินักแสดงหญิงคนเดียวกัน... ดังนั้น ผมขอเริ่มต้นใหม่พร้อมกับสถาบันด้วยการให้เกียรตินักแสดงหญิงที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้”) ในที่สุดประชาสัมพันธ์ของเพนน์ก็ออกมาเฉลยในภายหลังว่า บทพูดที่ฟังดูเหมือนจะไม่เมคเซนส์ใดๆ นั้นเป็นการพูดถึงภรรยา โรบิน ไรท์ ซึ่งเพนน์ลืมกล่าวขอบคุณตอนเขาก้าวขึ้นรับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก Milk ส่วนสถาบันฯ ก็ดันมองข้ามการแสดงอันน่าทึ่งของเธอใน The Private Lives of Pippa Lee

สรุปรายชื่อผู้ชนะรางวัลออสการ์

ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม – The Hurt Locker
กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม – แคธรีน บิเกโลว (The Hurt Locker)
นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม – เจฟฟ์ บริดเจส (Crazy Heart)
นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม – แซนดร้า บูลล็อค (The Blind Side)
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม – คริสตอฟ วอลซ์ (Inglourious Basterds)
นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม – โมนีก (Precious: Based on the Novel Push by Sapphire)
บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม – The Hurt Locker
บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม – Precious: Based on the Novel Push by Sapphire
ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม – The Secret in Their Eyes (อาเจนตินา)
ภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยม – Up
ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม – The Cove
กำกับภาพยอดเยี่ยม – Avatar
กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม – Avatar
ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม – The Young Victoria
ลำดับภาพยอดเยี่ยม – The Hurt Locker
ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม – Up
เพลงประกอบยอดเยี่ยม – The Weary Kind (Crazy Heart)
แต่งหน้ายอดเยี่ยม – Star Trek
เทคนิคพิเศษด้านภาพยอดเยี่ยม – Avatar
ตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม – The Hurt Locker
บันทึกเสียงยอดเยี่ยม – The Hurt Locker
ภาพยนตร์แอนิเมชั่นขนาดสั้นยอดเยี่ยม – Logorama
ภาพยนตร์ขนาดสั้นยอดเยี่ยม – The New Tenants
ภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยม – Music by Prudence

วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 16, 2553

The Men Who Stare at Goat: ฝันร้ายสไตล์อเมริกัน


หลังจากดู The Men Who Stare at Goats จบ ผมได้แต่คาดหวังว่าคำอ้างตอนต้น (“นี่เป็นเรื่องจริงจนคุณไม่อยากเชื่อ”) เป็นเพียงหนึ่งในแก๊กตลกร้ายกาจแบบเดียวกับคำอ้างของสองพี่น้อง โจเอล และ อีธาน โคนในตอนต้นของหนังเรื่อง Fargo แต่จากการสืบเสาะเพิ่มเติม ผมกลับพบว่าเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับ “หน่วยเจได” ประจำกองทัพสหรัฐนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ผ่านการสัมภาษณ์นายทหารระดับสูงและการค้นคว้าหาข้อมูลเชิงลึกของนักข่าว/นักทำสารคดีชาวอังกฤษ จอน รอนสัน ก่อนจะรวบรวมมาเป็นหนังสือขายดีชื่อเดียวกัน และถูกจัดให้อยู่ในหมวด Non-Fiction

สาเหตุที่ผมไม่อยากเชื่อว่าสิ่งที่เห็นบนจอจะตั้งอยู่บนรากฐานของ “เรื่องจริง” ก็เพราะทุกอย่างช่างดูโง่เง่า ไร้สาระ และอาจถึงขั้นบ้าบอคอแตก (ด้วยเหตุนี้กระมังหลายคนถึงชอบพูดว่าบางครั้งเรื่องจริงก็แปลกยิ่งกว่านิยายเสียอีก) ไม่ว่าจะเป็นนายพลที่พยายามจะวิ่งทะลุกำแพง หรือกองทัพสหรัฐที่ก่อตั้ง “หน่วยทหารพลังจิต” ขึ้น แล้วปล่อยให้อยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของอดีตทหารผ่านศึกเวียดนาม ซึ่งได้อิทธิพลทางความคิดจากลัทธินิวเอจมากพอๆ กับยาแอลเอสดี โดยแบบฝึกหัดของเขาประกอบไปด้วยการเดินลุยไฟ การเต้นเพื่อปลดปล่อยจิตวิญญาณ การท่องบทสวดคารวะจักรวาล และการปิดตาขับรถหักหลบกรวยถนน หรือสายลับมือหนึ่งประจำหน่วยที่สามารถเพ่งโทรจิตค้นหาบุคคล (หรือกระทั่งสลายก้อนเมฆ) ใช้ “ดวงตาพิฆาต” สะกดใจคู่ต่อสู้ และสังหารแพะด้วยการจ้องมองมันเท่านั้น

นอกจากนี้ สองนักแสดงที่จบการศึกษาจาก โคน อคาเดมี ด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่งอย่าง จอร์จ คลูนีย์ (Burn After Reading, O Brother, Where Art Thou? Intolerable Cruelty) และ เจฟฟ์ “เดอะ ดู๊ด” บริดเจส (The Big Lebowski) ยังสลับคิวกัน “ปล่อยของ” เพื่อเรียกเสียงฮาแบบไม่เกรงกลัวว่าคนดูจะมองพวกเขาเป็นตัวการ์ตูน เพราะมันดูจะสอดคล้องกันดีกับมุกตลกอ้างอิงป็อปคัลเจอร์ตั้งแต่ Star Wars ไปจนถึง The Manchurian Candidate และ The Silence of The Lambs

ด้วยท่าที “เน้นเล่นมากกว่าเอาจริง” ดังกล่าว ผมจึงไม่คาดคิด (หรืออาจถึงขั้นช็อกเลยด้วยซ้ำ) เมื่อปรากฏว่าหลากหลายรายละเอียดในหนังอ้างอิงมาจากเรื่องจริง

แต่เนื่องจากหนังสือของ จอน รอนสัน ขาด “พล็อต” ที่จับต้องได้ มือเขียนบท ปีเตอร์ สตรอแฮน จึงตัดสินใจสร้างเรื่องราวของ บ็อบ วิลตัน (ยวน แม็คเกรเกอร์) ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนคนดูในการเข้าไปทำความรู้จักกับโลกอันเหนือจริงของกองทัพเจได เขาเป็นนักข่าวชาวอเมริกัน (การเลือกใช้บริการนักแสดงเชื้อสายสก็อตอย่างแม็คเกรเกอร์ ซึ่งคนส่วนใหญ่คุ้นหน้าจากบทบาท โอบี-วัน เคโนบี ใน Star Wars Trilogy เป็นอีกหนึ่งแก๊กตลกวงในของทีมงาน เพื่อช่วยให้ประโยค “นักรบเจไดคืออะไร” ของบ็อบฟังดูชวนหัวขึ้นไปอีกขั้น) ที่พยายามจะพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชายด้วยการกระโดดเข้าร่วมสงครามในตะวันออกกลาง หลังถูกภรรยาทอดทิ้งไปอยู่กินกับเจ้านายของเขา บ็อบโหยหาข่าวใหญ่ เรื่องราวชวนตะลึงที่ยังไม่มีใครเคยค้นพบมาก่อน และเขาก็ขุดเจอขุมทองบ่อยักษ์ในรูปของ ลิน แคสซิดี้ (คลูนีย์) อดีต “สายลับพลังจิต” มือหนึ่งที่กำลังจะเดินทางข้ามทะเลทรายในอิรักเพื่อไปปฏิบัติภารกิจลับสุดยอด

เหตุการณ์ต่อจากนั้นดำเนินไปตามกรอบของแนวทาง road movie เมื่อบ็อบ (และคนดู) ได้เรียนรู้ (ผ่านฉากแฟลชแบ็ค) เกี่ยวกับต้นกำเนิดของหน่วยพลังจิตในกองทัพสหรัฐ รวมไปถึงจุดจบซึ่งเริ่มต้นขึ้นพร้อมๆ กับการมาถึงของ แลร์รี ฮูเปอร์ (เควิน สเปซีย์) นักรบเจไดที่ก้าวเข้าสู่ด้านมืดจนกลายสภาพเป็น ดาร์ท เวเดอร์ ในที่สุด ขณะเดียวกันระหว่างทาง ชายทั้งสองยังถูกโจรชาวอิรักจับเป็นตัวประกัน แต่สุดท้ายก็หนีรอดมาได้โดยอาศัย “ทักษะพิเศษ” ของนักรบเจได ซึ่งลินเพียรอธิบายให้บ็อบฟัง (อันที่จริงสาเหตุน่าจะเป็นเพราะโชคช่วยเสียมากกว่า) พร้อมกันนั้นพวกเขาก็ได้ช่วยเหลือพ่อค้าท้องถิ่นไว้คนหนึ่ง ก่อนทั้งสามจะพบเจอกับนักธุรกิจชาวอเมริกัน (โรเบิร์ต แพ็ทริค) และกองทัพองครักษ์ติดอาวุธครบมือที่วางตัวกร่างเหมือนเป็นเป็นเจ้าของประเทศ โดยตลอดเวลาลินปกปิดจุดมุ่งหมายในการเดินทางมายังทะเลทราย ด้วยเชื่อว่าบ็อบมีบทบาทสำคัญต่อภารกิจนี้เช่นกัน และไม่ใช่แค่ความบังเอิญที่ชักนำทั้งสองมาร่วมการผจญภัย หากแต่เป็นชะตาฟ้าลิขิตต่างหาก

ในช่วงแรกหนังเชิญชวนให้คนดูหัวเราะเยาะแนวคิดอันเหนือจริงของหน่วยเจได เช่นเดียวกับบ็อบที่มองพฤติกรรมประหลาดของลินว่าเลื่อนลอย ไร้เหตุผล และอาจถึงขั้นเสียสติ แต่จู่ๆ ในช่วงท้ายเรื่องหนังกลับปรับเปลี่ยนท่าที ทำให้นักข่าวหนุ่มเริ่มสัมผัส “แก่นสาร” ของพฤติกรรมบ้าๆ เหล่านั้น และจุดมุ่งหมายแท้จริงของหน่วยเจได ซึ่งมีขึ้นเพื่อขับเน้นสันติภาพและความสำคัญของจิตใจเหนืออาวุธยุทโธปกรณ์ บางทีอาจเพราะชีวิตที่มืดหม่น ไร้จุดหมายต่อการดำรงอยู่ของบ็อบ ซึ่งไม่แตกต่างจากคนกรุงในสังคมยุคใหม่อีกจำนวนมาก กำลังต้องการหลักยึดเหนี่ยวท่ามกลางความโกลาหลแห่งโลกทุนนิยมและความรุนแรงทางอคติ บางทีการจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างที่ยิ่งใหญ่อาจเรียกร้องให้คุณต้องกล้าหาญและมุ่งมั่นพอจะก้าวพ้นจากกรอบแห่งมาตรฐาน

ดูเหมือนเนื้อหาส่วนนี้ถูกเพิ่มเข้ามาเพื่อผลักดัน “พล็อต” ไปสู่จุดหมาย ทำให้บ็อบได้เรียนรู้บางอย่างจากการผจญภัย ก่อนจะโยงเข้าสู่ฉากจบที่ทอประกายความหวังเป็นนัยๆ เพราะแม้ลินและ บิล แจงโก้ (บริดเจส) ผู้ก่อตั้งกองทัพเจไดจะจากไป ส่วนแลร์รี่ก็ถูกด้านมืดครอบงำจนหาทางออกไม่เจอ แต่อย่างน้อยคบเพลิงก็ถูกส่งต่อมายังบ็อบได้ทันเวลา

การพลิกผันมาเล่นท่า “เอาจริง” ในช่วงท้ายเรื่องให้ความรู้สึกแร้นแค้น ขาดชีวิตชีวา และที่สำคัญดูขัดเขิน ขัดแย้งกับโทนเย้ยหยัน เสียดสีในช่วงครึ่งแรก ตรงกันข้าม The Men Who Stare at Goats กลับลื่นไหลอย่างสวยงาม ขณะเดินหน้าล้อเลียนกองทัพผ่านอารมณ์ขันอันร้ายกาจ เช่น เมื่อนายพลฮอปกู๊ด (สตีเฟน แลง) อธิบายจุดกำเนิดของหน่วยวิจัยโทรจิตว่าเริ่มต้นจากความเข้าใจผิดของรัสเซีย ซึ่งคิดว่าสหรัฐกำลังค้นคว้าเรื่องนี้อยู่ จนสุดท้ายสหรัฐต้องกระโจนเข้าร่วมวงด้วยเพราะ “เราไม่อาจปล่อยให้รัสเซียกลายเป็นผู้นำด้านพลังเหนือธรรมชาติได้” (สำหรับประชากรผู้เสียภาษีชาวอเมริกัน คุณคงไม่รู้ว่าควรจะหัวเราะหรือร้องไห้ดี ที่เห็นเงินของคุณถูกใช้ไปอย่างรอบคอบเช่นนี้!) หรือวิพากษ์บทบาทของสหรัฐในอิรัก รวมถึงนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช เช่น เมื่อกลุ่มองครักษ์ของพ่อค้าชาวอเมริกันระดมกราดกระสุนไปรอบทิศเพื่อตอบโต้ศัตรูซึ่งไม่มีอยู่จริง

หนังเชื่อมโยงความหวาดวิตกของอเมริกาหลังเหตุการณ์ 11 กันยายนเข้ากับความบอบช้ำในอดีตจากสงครามเวียดนาม ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในแสนยานุภาพของกองทัพสหรัฐ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนใหญ่คนโตในเพนตากอนจะเริ่มหันมาสนใจ “พลังทางจิต” (แล้วเออออห่อหมกไปกับโครงการบ้าๆ บวมๆ อย่างหน่วยวิจัยโทรจิต) หลังจากค้นพบว่ากำลังเงิน กำลังคน และกำลังอาวุธเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอจะเอาชนะกลุ่มคนเอเชียตัวเล็กๆ ที่มีทุกอย่างน้อยกว่าในเชิงปริมาณ แต่เหนือกว่าในแง่ความมุ่งมั่นเป็นหนึ่งเดียว

ฉากที่พบเห็นอยู่บ่อยๆ ในหนังสงครามเวียดนาม คือ ภาพทหารอเมริกันถูกซุ่มโจมตีโดยศัตรูที่มองไม่เห็น (ดังเช่นครึ่งหลังของหนังเรื่อง Full Metal Jacket) หรือตกอยู่ในภาวะหวาดระแวงเพราะไม่อาจแยกศัตรูจากชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ได้ จนสุดท้ายต้องลงเอยด้วยการกราดกระสุนไปทั่ว (หรือระเบิดทุกอย่างให้ราบเป็นหน้ากลองเหมือนในฉากเด็ดของ Apocalypse Now) ด้วยความหวังว่าจะถูกเป้าหมายเข้าบ้าง

ความต่างของสงครามครั้งใหม่ ณ ดินแดนตะวันออกกลาง ถูก The Men Who Stare at Goats นำมาล้อเลียนอย่างเจ็บแสบในฉาก “ปั๊มน้ำมัน” กล่าวคือ การกราดกระสุนไปทั่วของอเมริกันชนนั้นปราศจากหลักฐานที่หนักแน่น ขาดความรอบคอบ (อเมริกาบุกอิรักด้วยข้อหาว่าครอบครองอาวุธร้ายแรง แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนเพื่อยืนยันข้ออ้างดังกล่าว เสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ ณ เวลานั้นเป็นผลจากอารมณ์หวาดระแวง ตื่นตระหนกหลังโศกนาฏกรรมที่ตึก เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ เมื่อเครื่องบินโดยสารถูกนำมาใช้เป็นอาวุธทำลายล้าง เมื่อผู้โดยสารข้างๆ คุณผันตัวเป็นนักรบบ้าคลั่ง อเมริกันชนในเวลานั้นคงมีความรู้สึกไม่ต่างจากทหารอเมริกันในสงครามเวียดนาม นั่นคือ ไม่สามารถแยกศัตรูจากชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ได้ จนส่งผลไปสู่ปรากฏการณ์ “ล่าแม่มด” และการล่วงละเมิดสิทธิชาวอาหรับจำนวนมาก) เพราะปฏิบัติการตอบโต้อย่างบ้าระห่ำทั้งหลายแหล่ถือกำเนิดขึ้นเนื่องจากเสียงท่อไอเสียระเบิดเท่านั้น!

นอกจากนี้ หนัง (และหนังสือ) ยังบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาอีกว่าแนวคิดอันพิลึกพิลั่นของ “หน่วยพลังจิต” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นหลังความพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม ยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดสารพันเทคนิคสำหรับทรมานนักโทษระหว่างสงครามต่อต้านการก่อการร้ายด้วย เช่น การเปิดเพลง I Love You ของไดโนเสาร์บาร์นีย์ให้นักโทษฟังเป็นเวลาติดต่อกัน 24 ชม. ก่อนเริ่มต้นสอบปากคำ และการใช้ยาแอลเอสดีในปริมาณสูงแทนสัจจะเซรุ่ม

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่สุดท้ายแล้วการผจญภัยของบ็อบกับลินจะไปลงเอยยังค่ายกักกันนักโทษกลางทะเลทราย ซึ่งแลร์รี่รับผิดชอบควบคุมภายใต้การอนุมัติงบประมาณโดยรัฐบาลสหรัฐ ไม่ต้องสงสัยว่าค่ายดังกล่าวเปรียบเสมือนตัวแทนของเรือนจำอาบูกราอิบ ที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวจากการทรมานนักโทษอย่างสาหัสและด้วยกลวิธีแปลกประหลาด จนนักโทษหลายคนเสียถึงขั้นเสียชีวิตทั้งที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายแต่อย่างใด (ติดตามรายละเอียดส่วนหนึ่งได้ในหนังสารคดีชนะรางวัลออสการ์เรื่อง Taxi to the Dark Side) และการร่วมมือกันวางแผน “ปล่อยแพะ” ของอัศวินเจไดสามคนจากสามรุ่นในช่วงท้ายเรื่องก็แสดงให้เห็นจุดยืนอย่างชัดเจนของ The Men Who Stare at Goats ต่อสงครามในประเทศอิรักและนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของประธานาธิบดีบุช

Oscar Nominees in a Supporting Role


แม็ท เดมอน (Invictus)

เมื่อแอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งรักบี้เวิลด์คัพ ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศหลังยุคแบ่งแยกสีผิวมองเห็นโอกาสที่จะสร้างความเป็นหนึ่งให้คนในชาติจากการคว้าถ้วยชนะเลิศมาครอง และคนที่จะช่วยทำฝันนั้นในกลายเป็นจริง คือ ฟรังซัวส์ พีนาร์ กัปตันทีมชาติรักบี้ของประเทศแอฟริกาใต้ รับบทโดย แม็ท เดมอน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำชายจาก Good Will Hunting และคว้ารางวัลมาครองในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิม

ซูเปอร์สตาร์จากหนังไตรภาค เจสัน บอร์น ที่ทำเงินทั่วโลกรวมกันมากกว่า 900 ล้านเหรียญ ยอมรับว่าเขาไม่ค่อยรู้จักกฎกติกาของกีฬารักบี้สักเท่าไหร่ “เพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยสองสามคนของผมเล่นรักบี้ ผมเคยไปดูการแข่งสองสามครั้ง ซึ่งดูเหมือนจะมีกฎหลักๆ แค่ ‘จัดการฆ่าไอ้คนถือบอลซะ’ นั่นเป็นความทรงจำเท่าที่ผมพอจะนึกออก มันเป็นกีฬาที่โหดเหี้ยม... มันเป็นกีฬาที่ยิ่งใหญ่”

เนลสัน แมนเดลา (มอร์แกน ฟรีแมน) เรียกตัวฟรังซัวส์เข้าพบ พร้อมกับมอบภารกิจให้เขาพาทีมคว้าถ้วยเวิลด์คัพมาครอง ซึ่งถือเป็นภารกิจสุดหิน เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าคนผิวดำส่วนใหญ่ในแอฟริกาใต้เกลียดทีมชาติรักบี้ (และมักจะเชียร์ทีมตรงข้ามให้ชนะ) เพราะมันเป็นตัวแทนของยุคสมัยแห่งการแบ่งแยก “นั่นแหละ อัจฉริยภาพของแมนเดลลา” เดมอนกล่าว “และถือเป็นปริศนาประการสำคัญเกี่ยวกับแมนเดลลา ชายคนนี้ถูกจองจำเป็นเวลา 27 ปี แต่ทันทีที่เขาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี สิ่งแรกที่เขาทำ คือ ให้อภัยกลุ่มคนที่สั่งจองจำเขา”

เพื่อรับบทนี้เดมอนจะต้องแปลงโฉมตัวเองด้วยการเพิ่มน้ำหนักและกล้ามเนื้อให้ดูน่าเชื่อถือ พร้อมทั้งฝึกพูดสำเนียงแอฟริกาใต้ ซึ่งตามความเห็นของเดมอน “เรียกร้องให้ต้องเปลี่ยนทิศทางการวางตำแหน่งลิ้น เหมือนการเล่นยิมนาสติกภายในปาก” โดยเขามีเวลาฝึกฝนแค่หกเดือน แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาถือว่าไร้ที่ติ

2009 ถือเป็นปีที่ประสบความสำเร็จของเดมอน โดยนอกจาก Invictus แล้ว เขายังกวาดคำชมมาไม่น้อยจากการแสดงนำในหนังตลกเรื่อง The Informant! ของ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก ส่วนปีหน้าก็ทำท่าว่าจะไปได้สวยเช่นกัน เมื่อเขาเริ่มต้นเปิดตัวด้วยหนังแอ็กชั่นเรื่อง The Green Zone ซึ่งเป็นการมาร่วมงานกันอีกครั้งกับ พอล กรีนกราส

วู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน (The Messenger)

หลายฉากในหนังเรื่อง The Messenger ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวของนายทหารสองคนที่ต้องรับหน้าที่นำข่าวร้ายไปแจ้งกับครอบครัวของนายทหารที่เสียชีวิต คนดูจะได้เห็น โทนี่ สโตน (วู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน) หนึ่งในสองนายทหาร นิ่งงันท่ามกลางความเศร้าโศก โกรธแค้นรอบข้าง แต่เรากลับสัมผัสได้ถึงความตึงเครียดภายในของตัวละคร ซึ่งไม่เคยผ่านสนามรบและกำลังพยายามจะเลิกเหล้า หลากหลายอารมณ์ที่พร้อมจะระเบิดออกมากลับถูกเก็บกดไว้ภายใต้ภาพลักษณ์อันแข็งแกร่ง เย็นชา และดูเหมือนจะคุมสถานการณ์อยู่

กระนั้นไฮไลท์ที่แท้จริงในผลงานการแสดงระดับทอปฟอร์มของฮาร์เรลสัน คือ ฉากในช่วงท้ายเมื่อสโตนอยู่ตามลำพังและปราศจากบทพูด มันเป็นช่วงเวลาเดียวที่เขายอมลดการ์ดลง แล้วระเบิดความอัดอั้นทั้งหลายออกมาเป็นน้ำตาและเสียงสะอื้น น้ำตาสำหรับนายทหารที่ต้องจากไป น้ำตาสำหรับความเจ็บปวดของวิล (เบน ฟอสเตอร์) คู่หูคนใหม่ของเขา รวมถึงน้ำตาสำหรับตัวเขาเอง... นายทหารที่ไม่เคยผ่านบททดสอบความเป็นลูกผู้ชาย

ฮาร์เรลสันเดินทางออกจากบ้านเกิดในรัฐโอไฮโอตั้งแต่อายุ 12 ปีเพื่อมาเรียนการแสดง ข้อเท็จจริงที่ว่าเขาเขียนบทละครและมักจะแบ่งเวลามาแสดงละครเวทีเป็นครั้งคราวช่วยพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเอาจริงกับอาชีพในวงการบันเทิงขนาดไหน ชื่อเสียงของเขาเขาดูจะพุ่งถึงจุดสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อเขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์จาก The People vs. Larry Flint นำแสดงในหนังสุดอื้อฉาวของ โอลิเวอร์ สโตน เรื่อง Natural Born Killers ประกบ เดมี มัวร์ ในหนังฮิต Indecent Proposal และเข้าคู่กับ เวสลีย์ สไนป์ ได้อย่างลงตัวใน White Man Can’t Jump

แต่แล้วเขากลับเริ่มห่างหายจากจอภาพยนตร์ไปพักหนึ่ง โดยบอกว่าต้องการเกษียณตัวเองชั่วคราวเพราะรู้สึกไม่สนุกกับงานแสดงอีกต่อไป ก่อนจะกลับมาด้วยการรับบทสมทบมากขึ้น เช่น ในหนังดังอย่าง 2012 และ No Country for Old Men ก่อนจะขุดเจอขุมทองในรูปของ The Messenger “มันเป็นบทหนังที่งดงามที่สุดบทหนึ่งเท่าที่ผมเคยอ่านมา เต็มไปด้วยพลัง และเปี่ยมอารมณ์ขัน และเมื่อผมได้พบกับ โอเรน มูฟแมน ผู้กำกับ ผมก็ประทับใจในความเฉียบคมของเขา เขาเตรียมพร้อมและเข้าใจทุกอย่างถี่ถ้วนจนผมคิดว่าเราน่าจะสร้างหนังดีๆ ได้สักเรื่อง แต่ผมไม่คิดว่าเขาจะทำมันออกมาได้ยอดเยี่ยมขนาดนี้” นักแสดงวัย 38 ปีกล่าว

คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ (The Last Station)

ฉากตายเป็นสิ่งหนึ่งที่ คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ โปรดปราน และเขาก็มีโอกาสได้บอกลาโลกอย่างสวยงามในผลงานชิ้นล่าสุด The Last Station ซึ่งเขารับบทเป็น ลีโอ ตอลสตอย นักเขียนนามอุโฆษชาวรัสเซีย ฉากดังกล่าวสร้างอารมณ์หลอกหลอนได้สมจริงเนื่องจากความใส่ใจในรายละเอียดของพลัมเมอร์ ตั้งแต่ลมหายใจของคนใกล้ตาย ไปจนถึงภาวะฟื้นและหมดสติเป็นพักๆ ตลอดจนรอยยิ้มจางๆ ที่มุมปากขณะวิญญาณของเขาหลุดออกจากร่าง

“พวกมันแตกต่างกันไป” เขากล่าวถึงฉากการตาย “ผมเคยตายโดยที่ไม่หลับตาซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจกว่า เช่น ในละครเรื่อง Cyrano de Bergerac มันวิเศษมากเพราะแสงไฟของโรงละครจะส่องตรงมายังดวงตาคุณ ทำให้ทุกอย่างดูน่ากลัวชั่วแวบ แต่ซีราโนจากโลกไปอย่างมีความสุขเพราะเขาได้ค้นพบรักแท้ ฉะนั้นในแววตาเขาจึงทอประกายอิ่มเอม”

น่าประหลาดที่ความตายดูเหมือนจะอยู่ห่างไกลจากเส้นทางนักแสดงของพลัมเมอร์เสียเหลือเกิน แม้เขาจะเวียนว่ายอยู่ในวงการมานานกว่า 50 ปี ผ่านการรับบทดังๆ มาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น กัปตัน ฟอน แทรป ในหนังเพลงสุดฮิต The Sound of Music หรือ ไมค์ วอลเลซ ในผลงานมาสเตอร์พีซของ ไมเคิล มาน The Insider โดยปีนี้นอกจากบทตอลสตอยซึ่งทำให้เขาได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรกแล้ว พลัมเมอร์ยังร่วมแสดงในหนังอีกสามเรื่องและพากย์เสียงหนังการ์ตูนอีกสองเรื่อง ขณะหนังสืออัตชีวประวัติ In Spite of Myself เพิ่งถูกตีพิมพ์ไปไม่นาน จู่ๆ เจ้าของสองรางวัลโทนี่จาก Cyrano และ Barrymore ดูจะกลายเป็นที่ต้องการตัวของทุกคน

แรกทีเดียวพลัมเมอร์ไม่แน่ใจว่าควรจะแสดงเป็น ลีโอ ตอลสตอย ดีไหม เนื่องจากเขาไม่มั่นใจว่าจะสามารถสรุปความยิ่งใหญ่ของบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์เอาไว้ในหนังเรื่องเดียวได้ “แต่ผู้กำกับ ไมเคิล ฮอฟฟ์แมน ฉลาดเลือก โดยพุ่งประเด็นความสนใจไปยังเรื่องราวความรักในช่วงบั้นปลายชีวิตของตอลสตอย พร้อมกับสำรวจบทบาทของภรรยาเขา ซอฟยา ผมคิดว่ามันเป็นการตัดสินใจที่เฉียบคม เลือกโฟกัสไปยังเสี้ยวหนึ่งของชีวิตเขา แล้วเจาะรายละเอียดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้สำหรับหนังหนึ่งเรื่อง ดังนั้นผมจึงตอบตกลง” นักแสดงเชื้อสายแคนาดากล่าว ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าอีกสาเหตุที่เขาตกลงใจรับเล่นก็เพราะมันเป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์ “ผมชื่นชอบความท้าทายของตัวละครจริง ผมสนุกกับการค้นคว้าหาข้อมูล”

ฉากทีเด็ดของหนังคงเป็นตอนที่ตอลสตอยปลุกปล้ำกับภรรยาบนเตียง ท่ามกลางเสียงกรีดร้องและเสียงหัวเราะลั่น “ฮอฟฟ์แมนอาจเป็นคนเขียนบท แต่เฮเลนกับผมเป็นคนเพิ่มความสนุกสนานให้กับฉากนั้น” พลัมเมอร์กล่าวยิ้มๆ (อายุจริงของเขาและ เฮเลน เมียร์เรน ซึ่งรับบทเป็นซอฟยาค่อนข้างใกล้เคียงตัวละครจริง “มันยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดโดยเฉพาะสำหรับตอลสตอย เพราะเขาเป็นคนที่มีอารมณ์ทางเพศสูง แม้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับซอฟยาจะเริ่มเลวร้ายลงในช่วงท้าย แต่พอเขาพาเธอไปยังเตียงนอน คนดูยังคงสัมผัสได้ถึงความรักที่ซ่อนอยู่ภายใน แม้คนทั้งสองจะไม่ยอมรับก็ตาม”

หนังดัดแปลงจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ช่วงปี 1910 เมื่อตอลสตอยกลายเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมกันทางสังคม เขาคิดจะลบชื่อภรรยาและครอบครัวออกจากพินัยกรรม เพื่อมอบนิยายทั้งหมดให้เป็นสมบัติของชาวรัสเซีย แต่นั่นเป็นสิ่งที่ซอฟยายอมไม่ได้อย่างเด็ดขาด “นี่เป็นหนังรักไม่ใช่หนังประวัติศาสตร์” พลัมเมอร์ย้ำ “ถ้าเราเลือกจะทำอย่างหลัง มันคงต้องออกฉายทางทีวีและใช้เวลาออกอากาศนาน 26 สัปดาห์”

สแตนลีย์ ทุคชี (The Lovely Bones)

อดีตภรรยาที่เพิ่งเสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็งของ สแตนลีย์ ทุคชี่ เคยแนะนำไม่ให้เขารับบทฆาตกรโรคจิต จอร์จ ฮาร์วีย์ ในหนังซึ่งดัดแปลงจากนิยายขายดีของ อลิซ ซีโบลด์ เรื่อง The Lovely Bones เนื่องจากเธอได้อ่านนิยายแล้วและเห็นว่าเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กสาววัยรุ่น ซึ่งถูกฆ่าข่มขืนโดยเพื่อนบ้านและเฝ้ามองผลกระทบอันเกิดแก่ครอบครัวเธอลงมาจากสวรรค์ มันชวนให้รู้สึกหดหู่และทรมานจิตใจมากเกินไป แต่ทุคชี่ไม่ฟังเสียงทัดทานของเธอ แล้วตอบตกลงรับเล่นร่วมกับ มาร์ค วอห์ลเบิร์ก, ซารีส โรแนน และ ซูซาน ซาแรนดอน

หลังจากนั้นทุคชี่จึงลองหยิบหนังสือมาอ่าน แต่ไม่สามารถอ่านจนจบได้เพราะมัน “ปวดใจเกินไป” อย่างไรก็ตามในหนังผู้กำกับ ปีเตอร์ แจ๊คสัน เลือกจะไม่แสดงให้เห็นภาพเหตุการณ์อันเลวร้ายดังกล่าวแบบจะๆ โดยคนดูจะได้เห็นแค่วิญญาณของ ซูซี่ (โรแนน) วิ่งหนีออกจากไร่ข้าวโพดซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ

“ตอนแรกสแตนลีย์ลังเลที่จะเล่นบทนี้” แจ๊คสันเล่า “เหตุผลชัดเจน คือ เขาคงไม่อยากเดินไปตรงจุดนั้น เพราะในฐานะนักแสดง ผมคิดว่ามันคงไม่ใช่ประสบการณ์น่าพิสมัยในการใช้เวลานานสามหรือสี่เดือนดิ่งเข้าไปในหัวของตัวละครอย่าง จอร์จ ฮาร์วีย์” ข้อมูลจากทุคชี่ช่วยยืนยันสันนิษฐานดังกล่าว “ผมไม่ชอบดูหนังหรืออ่านหนังสือที่เด็กๆ ในเรื่องถูกทำอันตราย และผมก็ไม่ใช่คนที่ชอบดูสารคดีเกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่องด้วย” นักแสดงหนุ่มวัย 39 ปีสารภาพ

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนดูตกตะลึงกับการแสดงของทุคชี่ใน The Lovely Bones ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างดรามา (ชีวิตครอบครัวหลังความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่) เขย่าขวัญ (พ่อพยายามจะตามหาฆาตกรมาลงโทษ) และแฟนตาซี (วิญญาณของลูกสาวบนสวรรค์เฝ้ามองชีวิตเบื้องล่างโดยไม่อาจยื่นมือเข้ามาช่วยได้) อาจเป็นเพราะคนส่วนใหญ่มักคุ้นเคยเขาในบทตลก หรือผู้ชายแสนดีดังเช่นการประกบ เมอรีล สตรีพ ใน The Devil Wears Prada และ Julie & Julia แต่ด้วยความช่วยเหลือของวิกผม หนวด และฟันปลอม เขาแทบจะกลายเป็นคนอีกคนหนึ่ง “เราพยายามทำให้ตัวละครดูธรรมดาๆ ที่สุด จนแทบไม่มีใครสังเกตเห็นเขา” แจ๊คสันกล่าว “เพราะทุกอย่างที่เราทราบเกี่ยวกับชายคนนี้คือเขากลมกลืนไปกับชุมชนละแวกนั้น และสำหรับสแตนลีย์ ผมคิดว่ามันช่วยได้มากเหมือนกัน เพราะเวลาที่เขาส่องกระจก เขาจะเห็น จอร์จ ฮาร์วีย์ ไม่ใช่สแตนลีย์” แต่สิ่งที่ทำให้จอร์จดูไม่ใช่เพื่อนบ้านธรรมดา (นอกเหนือจากงานอดิเรกที่ชวนหลอนอย่างการสร้างบ้านตุ๊กตา) คือ ทักษะการแสดงอันลุ่มลึกของทุคชี่ ซึ่งอาจจะทำให้พ่อแม่หลายคนกลับไปนอนฝันร้ายได้หลายคืน

คริสตอฟ วอลซ์ (Inglourious Basterds)

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วในกรุงเบอร์ลิน มีนักแสดงชายวัยกลางคนเชื้อสายออสเตรียผู้ใช้ชีวิตตลอด 30 ปีเล่นละครทีวีของเยอรมันที่ไม่น่าจดจำไปวันๆ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว มันเป็นงานที่มั่นคง แต่หาได้นำความปลาบปลื้มปีติมาสู่เขา ทั้งนี้ เนื่องจากลึกๆ ภายใน เขาตระหนักดีว่าตนมีพรสวรรค์ ทักษะ และความสามารถที่จะก้าวไกลไปกว่านั้น จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง ผ่านการแนะนำของหัวหน้าแผนกคัดเลือกนักแสดงชาวเยอรมัน เขาก็ได้พบผู้กำกับอเมริกันนาม เควนติน ตารันติโน ซึ่งกำลังมองหาใครสักคนที่พูดภาษาอังกฤษ อิตาเลียน ฝรั่งเศส และเยอรมันได้อย่างคล่องแคล่วเพื่อมาสวมบทนาซีจอมโหดในหนังใหม่เรื่อง Inglourious Basterds แต่ยังไม่เจอคนที่ถูกใจสักที จนเขาเริ่มคิดว่าบางทีบท ฮันส์ ลันดา อาจไม่สามารถถ่ายทอดเป็นภาพที่สมจริงและทรงพลังเหมือนในจินตนาการของเขาได้

“ผมทดสอบหน้ากล้องนักแสดงไปมากมายหลายคน แต่คริสตอฟเป็นคนเดียวที่ถ่ายทอดบุคลิกของตัวละครออกมาตรงตามที่ผมวาดฝันไว้ คงต้องยกความดีความชอบให้ฝ่ายคัดเลือกนักแสดง ผมไม่รู้จักเขา ผมได้ยินว่าเขาเคยเล่นมินิซีรีย์มาบ้าง แต่ทันทีที่เขาเริ่มอ่านบท ผมถึงกับหยุดหายใจ” ตารันติโนกล่าว

ก่อนหน้านี้ตารันติโนขึ้นชื่อเรื่องการปลุกชีวิตให้อดีตดาราดัง เช่น จอห์น ทราโวลต้า (Pulp Fiction) และ แพม เกียร์ (Jackie Brown) แต่กรณี คริสตอฟ วอลซ์ ต้องถือเป็นการค้นพบเพชรในตมขนานแท้ และจากคำบอกเล่าของตารันติโน นอกจาก อูมา เธอร์แมน (Kill Bill: Vol. 1 & 2) แล้ว เขาไม่เคยทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักแสดงคนใดขนาดนี้มาก่อน เนื่องจากวอลซ์ไม่เป็นที่รู้จักของนักแสดงคนอื่นๆ ในเรื่อง ตารันติโนจึงตัดสินใจจะใช้เขาเป็นเซอร์ไพรซ์ทีเด็ด โดยนัดเขามาซักซ้อมอ่านบทเป็นการส่วนตัวและแนะนำให้เขา “เบามือ” ระหว่างการซ้อมบทแบบกลุ่ม กลยุทธ์ดังกล่าวได้ผลน่าพอใจ

“ฉันไม่เคยได้ยินชื่อคริสตอฟมาก่อน” ไดแอน ครูเกอร์ ผู้รับบทนักแสดงสาวชาวเยอรมัน กล่าว “แต่พอเราเข้าฉากด้วยกัน เขากลับยอดเยี่ยมอย่างเหลือเชื่อ ทุกคนรู้สึกเหมือนกันหมด เขาทำเอาพวกเราไม่ทันตั้งตัวเลยทีเดียว”

อัจฉริยภาพทางการแสดงของวอลซ์ปรากฏชัดตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง เมื่อเขาข่มขู่ชาวนา (รวมไปถึงคนดู) จนขวัญกระเจิงและยอมปริปากบอกที่ซ่อนของเหล่าชาวยิว โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นเสียงสักคำ หรือใช้กำลังบังคับ แถมหลายครั้งเขากระทั่งโปรยยิ้ม รวมถึงรักษามารยาทอันดีอย่างเหลือเชื่ออีกด้วย แต่เพียงแค่จ้องมองแววตา คุณจะพลันตระหนักในทันทีว่าฮันส์พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ และเมื่อหนังดำเนินเรื่องต่อไป คุณก็จะค้นพบอีกหลายแง่มุมของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นความเฉลียวฉลาด อารมณ์ขัน ตลอดจนความเหี้ยมเกรียมจนชวนขนหัวลุก

ก่อนหน้านี้นักดูหนังนอกประเทศเยอรมันอาจไม่คุ้นหน้าวอลซ์ แต่ทันทีที่ Inglourious Basterds เปิดตัว ณ เทศกาลหนังเมืองคานส์ ตามด้วยการคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมมาครอง ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนแปลง ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี นักแสดงวัย 52 ปีมีเอเยนต์ที่อเมริกา ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ และกำลังตัดสินใจอยู่ว่าจะเลือกรับบทไหนดีในบรรดาข้อเสนอจากสามแหล่ง “ผมไม่เกี่ยงเรื่องสถานที่ถ่ายทำ แต่ใช่ว่าผมจะตอบรับทุกข้อเสนอ นี่คือข้อดีของชื่อเสียง คุณมีโอกาสเลือกมากขึ้น” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงไม่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตส่วนตัวของคริสตอฟมากนัก เขาลูกสามคนที่โตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันหมดแล้ว และปัจจุบันกำลังเลี้ยงดูบุตรสาววัย 5 ขวบกับภรรยา จูดิธ โฮลสเตอ ซึ่งทำงานเป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกาย “หลายคนคิดว่าป่านนี้ผมคงเดินเท้าไม่ติดดิน เงินทองไหลมาเทมา นั่นมันไร้สาระสิ้นดี ผมหงุดหงิดเสมอเวลาเห็นคนหลงเชื่อแฟนตาซีตามหน้านิตยสารทั้งหลาย” วอลซ์กล่าว “ผมยังไปเดินพิพิธภัณฑ์และเข้าโรงหนังตามปกติ ผมยังเล่นกับลูกๆ สู้รบตบมือกับครูโรงเรียนอนุบาล และพยายามตามช่างมาซ่อมระบบอินเตอร์เน็ต เพราะมันไม่เคยใช้งานได้ซะที”


เวรา ฟาร์มิกา (Up in the Air)

คุณอาจเคยเห็น เวรา ฟาร์มิกา มาก่อน แต่คงน้อยครั้งที่คุณจะได้เห็นเธอยิ้ม ทั้งนี้เพราะนักแสดงสาวสวยดวงตาสีฟ้ามักเลือกเล่นแต่บทดรามาหนักๆ ไม่ว่าจะเป็นบทอดีตขี้ยาใน Down to the Bone ซึ่งทำให้เธอคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์แอลเอมาครอง หรือบทนักจิตวิทยาใน The Departed บทคุณแม่ของเด็กนรกใน The Orphan บทโสเภณีใน Breaking and Entering และบทภรรยานาซีใน The Boy in the Striped Pajamas

แต่ในผลงานเรื่องล่าสุด Up in the Air ที่ผลักดันให้เธอได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก ฟาร์มิการับบทเป็นนักธุรกิจสาวที่เข้ามาทำให้ชีวิตหนุ่มโสดของ จอร์จ คลูนีย์ ต้องสั่นคลอน เธอสวยสง่า มั่นใจ เปี่ยมเสน่ห์เย้ายวน และที่สำคัญ บทดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้ฟาร์มิกาโปรยยิ้มอยู่หลายครั้ง “ฉันแทบช็อกตอนได้อ่านบทหนังเรื่องนี้” เธอเล่า “ดูเหมือนว่าสำหรับฉันบทที่ไม่ต้องตะโกน กรีดร้อง อาเจียน หรือร้องไห้ช่างหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร”

โชคดีแบบสองเด้ง คือ ฟาร์มิกาอยากร่วมงานกับ เจสัน ไรท์แมน มาหลายปีแล้ว นับแต่เธอไปทดสอบหน้ากล้องหนังเรื่องแรกของเขา Thank You for Smoking แต่ไม่ผ่าน สี่ปีต่อมา เธอจึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เอ่ยบทพูดอันเฉียบคมของเขา “เขาเป็นมือเขียนบทชั้นยอด” เธอกล่าว “คุณแทบจะไม่ต้องทำอะไรมาก นอกจากพูดบทออกมา มันมีจังหวะจะโคน และพอคุณคุ้นเคย มันก็จะให้ความรู้สึกเหมือนการอ่านบทละครเชคสเปียร์ เต็มไปด้วยการเล่นคำ ทำให้บทสนทนาโต้ตอบระหว่างตัวละครดูสนุก เพลิดเพลิน”

การเตรียมตัวเพื่อรับบทของเธอค่อนข้างเรียบง่าย “ชีวิตฉันเต็มไปด้วยเรื่องราวความรัก ส่วนอาชีพฉันก็ต้องเดินทางอยู่เป็นประจำ ฉะนั้น ฉันจึงเข้าใจตัวละครอย่างอเล็กซ์ สิ่งที่ยากกว่าคือการปรับตัวตามสถานะคุณแม่คนใหม่ (ฟาร์มิก้าคลอดลูกคนแรกสองเดือนก่อนเปิดกล้อง.... สองสัปดาห์ก่อนลองสวมเครื่องแต่งกาย) อเล็กซ์เป็นสาวมั่น เซ็กซี่ ส่วนฉันได้นอนไม่ค่อยเต็มอิ่มเช่นเดียวกับคุณแม่เด็กอ่อนทั้งหลาย ฉันต้องตื่นมากลางดึกห้าถึงหกครั้งเพื่อให้นมลูก จากนั้นก็แต่งตัว และล้างหน้าตาให้สดชื่นเพื่อเตรียมเข้าฉาก มันไม่ง่ายเลย”

เมื่อเทียบกับหนังสือต้นฉบับของ วอลเตอร์ เคิร์น บทอเล็กซ์มีเนื้อมีหนังขึ้นมากในเวอร์ชั่นหนัง เธอเป็นผู้หญิงที่ลื่นไหลกับการใช้ชีวิตใน “โลกของผู้ชาย” ได้อย่างยอดเยี่ยม เธอเข้มแข็งและเป็นคนกุมบังเหียนสถานการณ์โรแมนติก ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องไม่แปลกในหนังไรท์แมน ผู้เคยเข้าชิงออสการ์มาแล้วจาก Juno

ฟาร์มิกาชื่นชอบทัศนคติของอเล็กซ์ และเห็นข้อบกพร่องของเธอเป็นจุดแข็ง หาใช่จุดอ่อน “นี่คือผู้หญิงที่ซับซ้อน มีความต้องการ และโหยหาบางสิ่ง ฉันไม่อยากตัดสินการกระทำของเธอ แค่พยายามทำให้เธอดูมีเลือดเนื้อและเป็นมนุษย์มากที่สุด นั่นคือความน่าอัศจรรย์ของตัวละครในหนัง เจสัน ไรท์แมน คุณไม่จำเป็นต้องเห็นชอบ หรือแก้ต่างให้พฤติกรรมพวกเขา แต่ทุกตัวละครล้วนเป็นมนุษย์ที่เปี่ยมเอกลักษณ์และข้อบกพร่องเช่นเดียวกับเราทั้งหลาย” นักแสดงหญิงวัย 36 ปีกล่าว

เพเนโลปี้ ครูซ (Nine)

แม้จะเปิดตัวครั้งแรกในหนังเรื่อง Jamon, Jamon ของผู้กำกับ บิกัส ลูนา แต่คนส่วนใหญ่กลับจดจำ เพเนโลปี้ ครูซ ได้จากการร่วมงานกับ เปรโด อัลโมโดวาร์ ซึ่งประทับใจความงามและฝีมือการแสดงของนักแสดงสาวผู้นี้มานาน แต่ไม่สบโอกาสใช้บริการเธอสักทีจนกระทั่ง Live Flesh ในปี 1997 “เพเนโลปี้มักจะเด็กเกินไปสำหรับตัวละครที่ผมเขียน แม้กระทั่งใน Volver และ Broken Embraces แต่สุดท้ายผมกลับเลิกกังวล เพราะเธอสามารถเล่นบทอะไรก็ได้ เธอกลายเป็นเหมือนผู้หญิงอมตะ ซึ่งไม่อาจนิยามด้วยตัวเลขได้” เจ้าของรางวัลออสการ์จาก Talk to Her กล่าว

หลังวนเวียนเล่นหนังฮอลลีวู้ดมาหลายเรื่อง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเสียที ส่วนภาษาอังกฤษติดสำเนียงสเปนของเธอก็มักจะถูกยกขึ้นมาถากถางอยู่บ่อยครั้ง ในที่สุดครูซก็พลิกฟื้นสถานการณ์ได้สำเร็จด้วยความช่วยเหลือของ วู้ดดี้ อัลเลน ในหนังเรื่อง Vicky Cristina Barcelona ซึ่งทำให้เธอคว้าออสการ์มาครอง

ครูซเป็นดาราคนแรกที่ได้นัดพูดคุยกับผู้กำกับ ร็อบ มาร์แชล เกี่ยวกับโครงการหนังเรื่อง Nine และลงเอยด้วยการตอบตกลง “เล่นบทไหนก็ได้” แต่ปัญหาอยู่ตรงที่มาร์แชลเองก็ไม่แน่ใจว่าควรมอบบทไหนให้เธอดี เนื่องจาก Nine ซึ่งดัดแปลงจากละครเพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังคลาสสิกเรื่อง 8 ½ ของ เฟเดอริโก้ เฟลลินี อีกที มีตัวละครผู้หญิงมากมายหลายคน หนังเล่าถึงผู้กำกับหนังชื่อดังชาวอิตาเลียน กุยโด คอนตินี (เดเนียล เดย์-ลูว์อีส) ที่กำลังพยายามมองหาสมดุลระหว่างอาชีพอันวุ่นวายกับชีวิตส่วนตัว ขณะเหลือเวลาแค่อาทิตย์เดียวก่อนเปิดกล้องหนังเรื่องใหม่ เขาตัดสินใจหนีความกดดันทั้งปวงไปยังเมืองตากอากาศ พลางทบทวนความสัมพันธ์กับผู้หญิงรอบข้างไม่ว่าจะเป็นภรรยา ชู้รัก หรือดาราคู่ใจ

“ต้องยกเครดิตให้ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์” มาร์แชลเล่า “เขาเป็นคนถามผมว่า คุณเคยดูหนังอิตาเลียนเรื่อง Don’t Move หรือเปล่า เพเนโลปี้รับบทเมียน้อยในหนังเรื่องนั้น ผมเลยคิดว่า ‘จริงสิ!’ เธอทดสอบหน้ากล้องโดยเลือกเล่นบทนั้นเหมือนกัน เธอส่งวีดีโอมาให้เราดู มันเป็นฉากที่คาร์ลาห่มผ้าคลุมเตียงปกปิดร่างอันเปลือยเปล่า เธอดูเซ็กซี่มาก ไม่มีใครจะห่มผ้าคลุมเตียงแล้วดูดีเท่า เพเนโลปี้ ครูซ อีกแล้ว”

ปัญหาที่ตามมา คือ Nine เป็นหนังเพลง ซึ่งย่อมเรียกร้องให้นักแสดงต้องร้องและเต้น “ฉันเคยเรียนบัลเลต์มาก่อนตอนยังเล็ก แต่ฉันไม่เคยเต้นแบบที่เห็นในหนังหรอก” นักแสดงสาววัย 35 ปีกล่าว “วันแรกที่ฉันได้เห็นท่าเต้น ฉันแทบเป็นลม พลางพูดว่า ‘ฉันไม่มีทางทำได้แน่!’ ” แต่ด้วยความเป็นมืออาชีพ ครูซซ้อมหนัก (“ฉันเริ่มมองเห็นความหวังที่ปลายอุโมงค์ พอคุณทำได้ คุณจะรู้สึกเหมือนได้ปลดปล่อยอย่างน่าอัศจรรย์ นี่เป็นสาเหตุที่ฉันชอบอาชีพนักแสดง เมื่อคุณมีเวลาเตรียมตัว ทุกอย่างก็จะเข้าที่เข้าทาง มันเหมือนรางวัลตอบแทนความทุ่มเทอย่างหนักของคุณ”) นอกจากนี้ ในฉากร้องเพลง A Call from the Vatican ซึ่งมีเชือกเป็นเครื่องประกอบฉาก ครูซยังปฏิเสธที่จะใส่ถุงมือเข้าฉาก ส่งผลให้ผิวหนังของเธอเริ่มด้านและฉีกขาดจนเลือดไหลซิบๆ “เดเนียล เดย์-ลูว์อีส ตั้งฉายานักรบให้เธอซึ่งก็เหมาะสมอย่างยิ่ง” มาร์แชลกล่าว

แล้วเรื่องร้องเพลงล่ะ? “เธอก็เหมือน เรเน เซลเวเกอร์ ใน Chicago ทั้งสองชอบร้องเพลง แต่ไม่เคยร้องหน้ากล้องมาก่อน เพเนโลปีมีความเป็นนักร้องโดยธรรมชาติ เธอถ่ายทอดอารมณ์ผ่านน้ำเสียงได้ดี”

แม็กกี้ จิลเลนฮาล (Crazy Heart)

ในชีวิตจริง แม็กกี้ จิลเลนฮาล คงไม่มีวันยอมให้ลูกสาววัย 3 ขวบของเธอ ราโมนา อยู่ตามลำพังกับนักดนตรีขี้เหล้า แต่นั่นเป็นสิ่งที่ จีน แครดด็อก ตัวละครซึ่งเธอสวมบทบาทใน Crazy Heart ทำ และสุดท้ายก็นำไปสู่หายนะ “การเป็นแม่คนบีบให้ฉันต้องรับผิดชอบ ฉันค่อนข้างหวงลูกและพยายามจะกันเธอจากความวุ่นวายของฮอลลีวู้ด” นักแสดงสาววัย 32 ปีกล่าว “มีบทหลากหลายที่ฉันอยากเล่น แต่ต้องชั่งใจว่ามันจะส่งผลกระทบอย่างไรกับราโมนา”

จิลเลนฮาลยอมรับว่ามีปัญหาในการรักษาสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัว (สามีเธอคือนักแสดงหนุ่ม ปีเตอร์ ซาร์สการ์ด) กับแรงปรารถนาที่จะทำงาน (หนังสตูดิโอเรื่องล่าสุดของเธอ คือ The Dark Knight) นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอสนใจบทจีน นักข่าวสาวเรือพ่วงที่ลงเอยสร้างความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนักร้องเพลงคันทรี (เจฟฟ์ บริดเจส) ซึ่งเธอต้องเดินทางมาสัมภาษณ์เพื่อนำไปเขียนบทความ

“ตอนอ่านบท ฉันกำลังอยู่ในช่วงอยากทำงานหลังจากต้องเสียสละหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อครอบครัว มันเป็นความรู้สึกเห็นแก่ตัวเล็กๆ ฉันกำลังหิวกระหายเพราะตลอดสองปีที่ผ่านมาฉันทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปกับการเลี้ยงลูก มันเป็นช่วงเวลาแสนวิเศษ ลูกเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในชีวิตคุณ แต่ขณะเดียวกันฉันก็สัมผัสได้ถึงแรงกระตุ้นที่จะทำบางอย่างเพื่อตัวเองบ้าง แต่ฉันไม่เจอบทที่ถูกใจจนกระทั่ง Crazy Heart ฉันไม่แคร์ว่ามันเป็นแค่หนังอินดี้เล็กๆ มันเป็นบทที่ดีมากและฉันก็ตัดสินใจว่าจะต้องเล่นหนังเรื่องนี้ให้ได้” เธอกล่าว “จีนกำลังมีความรู้สึกแบบเดียวกับฉัน หลังใช้เวลาตลอดสี่ปีเลี้ยงดูลูกตามลำพัง ฉันคิดว่าเธอคงกำลังเผชิญแรงกระตุ้นแบบเดียวกัน เธอต้องการอะไรสักอย่างเพื่อตัวเธอเอง หรือใครสักคน เธอไม่สนว่าเขาจะเป็นคนแย่แค่ไหน เขาทำให้เธอรู้สึกเหมือนกลับมาเป็นผู้หญิงอีกครั้ง”

บริดเจสได้รู้จักกับจิลเลนฮาลเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2003 ที่รอบปฐมทัศน์หนังของฝ่ายหญิงเรื่อง Mona Lisa Smile “แม็กกี้เป็นคนอ่อนหวาน เธอเปิดเผยและพูดจาดีกับทุกคน แต่ก็ซ่อนความเข้มแข็งเอาไว้ภายใน” บริดเจสกล่าว เป็นส่วนผสมระหว่างความเปราะบางและแกร่งกร้าวในแบบเดียวกับตัวละครที่เธอรับเล่น จิลเลนฮาลยอมรับว่าการเป็นแม่คนทำให้เธออ่อนหวานขึ้น นุ่มนวลขึ้น และเข้าหาคนมากขึ้น “ก่อนหน้านี้ฉันมีความคิดว่าจะต้องเข้มแข็ง ดุดัน ทั้งในแง่การทำงานและชีวิตส่วนตัว ปัจจุบันฉันไม่คิดแบบนั้นแล้ว คุณต้องกล้าเผชิญหน้ากับความรู้สึกของคุณ มันเป็นความเข้มแข็งอีกแบบหนึ่ง กล้าที่จะเปิดเผยแง่มุมอันเปราะบางภายใน ความหวาดกลัว หรือสิ่งที่คุณละอายใจ จีนมีคุณสมบัติดังกล่าวชัดเจนที่สุดในบรรดาทุกตัวละครที่ฉันเคยรับเล่นมา”

แอนนา เคนดริค (Up in the Air)

ก่อนจะเข้าสู่วงการภาพยนตร์ แอนนา เคนดริก เป็นมือโปรในวงการละครเวทีตั้งแต่อายุ 12 ขวบ หลังเธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโทนี่จากละครเรื่อง High Society พร้อมทำสถิติเป็นผู้เข้าชิงอายุน้อยสุดอันดับสาม “วงการภาพยนตร์ไม่ใช่สิ่งที่ฉันให้ความสำคัญสูงสุด ฉันโชคดีที่มีโอกาสแสดง Camp เป็นหนังเรื่องแรก เพราะมันเล่าเรื่องราวของกลุ่มเด็กวัยรุ่นในละครเพลง แถมยังได้ โทนี่ กรัฟฟ์ พี่ชายของนักแสดงที่ฉันเคยร่วมงานด้วยใน High Society มาเป็นคนกำกับ เขาคลุกคลีในแวดวงบรอดเวย์มานาน เช่นเดียวกับนักแสดงคนอื่นๆ เราทุกคนต่างไม่คุ้นเคยกับกองถ่ายภาพยนตร์ และมักจะตั้งคำถามอยู่ตลอด เช่น ไอ้นั่นใช้ทำอะไร ทำไมฉันถึงต้องยืนตรงนี้ ทำไมฉันต้องมองไปทางนั้น สภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้ฉันรู้สึกปลอดภัยที่จะตั้งคำถามและเรียนรู้ขั้นตอนการสร้างภาพยนตร์” เคนดริกเล่า

อย่างไรก็ตาม หนังที่ช่วยกรุยทางให้เธอมุ่งหน้าสู่ความรุ่งโรจน์ได้แก่ Rocket Science หนังอินดี้เกี่ยวกับการแข่งขันโต้วาทีซึ่งอาจไม่ค่อยมีใครได้ดู แต่กลับเตะตาผู้กำกับหลายคน เริ่มจาก แคทเธอรีน ฮาร์ดวิค หนึ่งในคณะกรรมการของเทศกาลหนังซันแดนซ์ที่มอบรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมให้ เจฟฟรีย์ บลิทซ์ เธอประทับใจการแสดงของเคนดริกถึงขนาดขอร้องให้เธอมาทดสอบหน้ากล้องบทเพื่อนสนิทของเบลลาใน Twilight ตามมาด้วย เจสัน ไรท์แมน ซึ่งเขียนบทนาตาลีใน Up in the Air ขึ้น (หนังสือไม่มีบทนี้) เพื่อเธอโดยเฉพาะ

“ฉันได้อ่านบท Up in the Air ผ่านทางเอเยนต์” เคนดริกเล่า “ฉันตกหลุมรักมันในทันที มันเป็นบทที่ยอดเยี่ยมมากๆ ฉันทดลองอ่านบทกับเจสันเป็นเวลา 10 นาที และนึกว่าทำได้ไม่ดีนัก แต่จู่ๆ ทีมงานกลับตอบตกลงรับฉันหลังจากเพิ่งทดสอบหน้ากล้องแค่ครั้งเดียว ฉันสับสนอย่างบอกไม่ถูก เจสันเก็บอาการได้เนียนมาก ฉันคิดว่าเขาไม่ชอบฉันเสียอีก” ไรท์แมนอธิบายสาเหตุที่เขาไม่บอกเธอว่าเขาเขียนบทนี้ให้เธอ เพราะไม่ต้องการสร้างความกดดันแก่นักแสดงสาว

สำหรับเคนดริก บทนาตาลี หญิงสาวรุ่นใหม่ไฟแรงที่ถูกว่าจ้างมาวางระบบเลิกจ้างพนักงานแบบใหม่เพื่อบริษัทจะได้ลดค่าใช้จ่ายในการส่งเจ้าหน้าที่ไปตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ เปรียบเสมือนความนึกคิดเบื้องลึกอีกด้านของ ไรอัน บิงแฮม (จอร์จ คลูนีย์) คอยซักไซ้ ไล่บี้ให้เขาอธิบายตัวเอง ตลอดจนปรัชญาในการดำเนินชีวิต ขณะเดียวกัน เคนดริกยังรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับสถานการณ์ที่นาตาลีต้องเผชิญในหนัง เนื่องจากเธอเป็นสมาชิกที่อายุน้อยสุดในกองถ่าย Up in the Air และแน่นอนต้องการพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเธอมีความเป็นมืออาชีพพอ แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว เคนดริกไม่คิดว่าเธอมีอะไรคล้ายคลึงกับเด็กสาวที่มุ่งมั่นและวางแผนทุกอย่างไว้ละเอียดลออแบบนาตาลี

“ฉันอาจคาดหวังอะไรที่เกินจริงและไร้สาระไปบ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องความรัก ที่แน่ๆ คือ ฉันไม่คิดอยากจะแต่งงานมีลูกตอนอายุ 23 ปี และฉันคงไม่ระบุเจาะจงขนาดเธอเกี่ยวกับผู้ชายที่จะแต่งงานด้วย กระนั้นบางอย่างเกี่ยวกับบุคลิกดังกล่าวของนาตาลีก็น่ารักดี ฉันชื่นชมเธอที่รู้ว่าต้องการอะไรและเชื่อมั่นจริงจัง” เคนดริกกล่าว

โครงการต่อไปของเคนดริก คือ หนังตลกร้ายซึ่งเธอต้องแสดงประกบ เจมส์ แม็คอะวอย เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงโชคดีได้เล่นหนังกับผู้ชายหล่อๆ อยู่เรื่อย ไม่ว่าจะเป็นคลูนีย์ ใน Up in the Air หรือ โรเบิร์ต แพ็ททินสัน ใน Twilight (หนังทั้งสองเรื่องเปิดกล้องในช่วงเวลาเดียวกันทำให้เคนดริกต้องเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างสองกองถ่าย) เคนดริกหัวเราะก่อนจะตอบว่า “อันที่จริง กองถ่าย Twilight เต็มไปด้วยคนหน้าตาดีจนบางทีคุณก็รู้สึกแย่เหมือนกัน”

โมนีก (Precious: Based on the novel ‘Push’ by Sapphire)

ตอนสี่ทุ่มของคืนวันหนึ่ง โมนีกได้รับโทรศัพท์จากผู้กำกับ ลี เดเนียลส์ บอกว่าเขามีบทอยู่บทหนึ่งที่จะ “สร้างความฉิบหายให้อาชีพคุณ” ดาวตลกหญิงชื่อดังจำได้แม่นยำว่าคำตอบของเธอคือ “ลงชื่อฉันไว้ได้เลย ที่รัก” ถึงตอนนี้ หากนับจากบรรดารางวัลต่างๆ ที่โมนีกได้รับตลอดช่วงสองเดือนที่ผ่านมา รวมถึงการถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรก ดูเหมือนหนังเรื่อง Precious: Based on the Novel ‘Push’ by Sapphire จะสร้างความรุ่งโรจน์ให้อาชีพเธอเสียมากกว่า

ใครก็ตามที่ได้ดูหนังเรื่องนี้คงไม่แปลกใจว่าทำไมเดเนียลส์ถึงมองว่าบท แมรี่ โจนส์ เป็นความเสี่ยงครั้งยิ่งใหญ่ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอทำกับลูกสาวแท้ๆ โดยเฉพาะการปล่อยให้สามีข่มขืน พรีเชียส (แกบาเร ซิเดเบ) หรือความพยายามจะฆ่าลูกสาวด้วยการโยนโทรทัศน์ลงมาจากชั้นบน ถือเป็นความชั่วร้ายขั้นรุนแรงในระดับ 8.5 ริกเตอร์ ซึ่งกระทั่งโมนีกยังยอมรับว่าบางฉากเรียกร้องให้เธอต้องสั่งสมความเกลียดเคียดแค้นเอาไว้ภายในมากเสียจนเธอนึกหวาดกลัว เพราะไม่คิดว่าจิตใจเธอจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้

แต่ความยอดเยี่ยมของงานแสดงชิ้นนี้ไม่ได้อยู่ตรงการช็อก หรือทำให้คนดูเกลียดชังตัวละครผ่านพฤติกรรมที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ หากเป็นการเปลือยอารมณ์อย่างหมดเปลือกของแมรี่ในฉากสุดท้ายต่างหาก ซึ่งทั้งดิบและทรงพลังจนไม่อาจละสายตา จริงอยู่ทุกอย่างที่เธอพูดอาจไม่สามารถหักล้างกับการกระทำอันเลวร้ายเหล่านั้นได้ คนดูยังคงไม่อาจให้อภัยเธอ แต่อย่างน้อยเราก็เข้าใจเธอมากขึ้น มองเห็นก้นบึ้งแห่งความเกลียดชังทั้งหลายว่าเริ่มต้นมาจากไหน “ตอนได้อ่านหนังสือฉันเกลียดสิ่งที่แมรี่ทำ แต่ฉันไม่ได้เกลียดเธอ และในฉากสุดท้าย ฉันรู้สึกเหมือนเข้าใจเธอ มันอาจฟังดูบ้าบอ แต่คุณไม่คิดจะตัดสินเธอ เพราะมันเป็นเรื่องง่ายที่จะกล่าวหาใครสักคนเป็นนางปีศาจ แต่ขณะเดียวกัน มีใครบ้างสนใจที่ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบของเธอ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงทรงคุณค่า มันบีบให้เราคิดถึงกลุ่มคนที่ถูกสังคมหลงลืม” โมนีกกล่าว

การเลือกดาวตลกหญิงและพิธีกรรายการทอล์คโชว์มารับบทหนักอึ้งแบบนี้ถือเป็นความเสี่ยงสำหรับเดเนียลส์เช่นกัน แต่เขาเคยร่วมงานกับเธอมาแล้วใน Shadowboxer (ซึ่งเธอรับบทเป็นแฟนขี้ยาของ โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิทท์ ที่ชื่อว่า “พรีเชียส”) เขาจึงมั่นใจว่าเธอมีทักษะมากพอ ความสำเร็จของ Precious: Based on the Novel ‘Push’ by Sapphire ส่งผลให้โมนีกเริ่มหันมาเอาจริงทางด้านการแสดงบทดรามา (“พวกเขาย้ำว่าฉันเป็นนักแสดง ฉันพร่ำตอบไปว่าฉันเป็นตัวตลก พวกเขาชอบส่งบทหนังแบบนี้มาให้ ฉันเลยตอบไปว่า ‘แน่ใจนะ? ก็ได้!’ ”) แต่โครงการหนังที่เธออยากทำมากที่สุดในเวลานี้ คือ การถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของ แฮ็ตตี้ แม็คเดเนียล เจ้าของรางวัลออสการ์นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก Gone with the Wind “ผู้หญิงคนนี้ช่างน่าอัศจรรย์” โมนีกอธิบาย “เธอต้องยืนหยัดท่ามกลางความขัดแย้งในยุคสมัยที่คนผิวดำยังไม่เป็นที่ยอมรับ ฉันถือลิขสิทธิ์ชีวประวัติของเธออยู่ และแน่นอน ฉันอยากให้ ลี เดเนียลส์ เป็นผู้กำกับ”